Documentation of Oct 6

หญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519

แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 4 มีนาคม 2562

วัชรี เพชรสุ่น     ขณะเสียชีวิตอายุ 20 ปี เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร ครอบครัวอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ (ข้อมูลจากเอกสารลงทะเบียน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์) แต่เอกสารชันสูตรพลิกศพระบุว่าอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี

เมื่อเดือนกันยายน 2560 โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ได้เขียนรายงานเรื่อง “ปริศนาความตายกรณี 6 ตุลา” โดยระบุว่าเราไม่รู้ว่าหญิงสาวที่เสียชีวิตในสภาพเปลือยเปล่า มีไม้หน้าสามวางอยู่ข้างกาย เสมือนถูกล่วงละเมิดทางเพศคือใคร เพราะเมื่อดูเอกสารชันสูตรพลิกศพแล้ว ไม่มีเอกสารใดระบุว่ามีผู้หญิงถูกข่มขืนหรือถูกทำร้ายทางเพศ  แต่ ณ วันนี้เมื่อหนึ่งในทีมงานได้พิจารณาเอกสารชันสูตรฯ ของวัชรีอีกครั้ง ก็พบว่าเธอมีใบหน้าคล้ายกับหญิงสาวคนดังกล่าวอย่างมาก ทั้งในแง่โครงหน้า รูปกราม ดวงตาและปากที่ปิดไม่สนิท (ดูรูปที่ 1-3)  ณ ปัจจุบันเราจึงสรุปข้อมูลบางส่วนได้ดังนี้   (ดูรายงานชันสูตรฯ ได้ ที่นี่)

  1. วัชรีเสียชีวิตด้วยกระสุน 3 นัดที่เข้าด้านหลังตรงกับบริเวณช่องอก กระสุนไม่ได้ทะลุมาด้านหน้า ด้วยเหตุนี้ในรูปที่เธอถูกเปลือยจึงไม่เห็นคราบเลือดตรงด้านหน้าของเธอ
  2. วัชรีจึงไม่ได้ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศจนเสียชีวิต
  3. การล่วงละเมิดทางเพศต่อเธอเกิดขึ้นจริง นั่นคือจับเธอเปลื้องผ้า แต่เกิดหลังจากวัชรีเสียชีวิตแล้ว นี่คือความโหดเหี้ยมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “ไม่ใช่ไทย” ด้วยการทำร้ายทารุณอย่างอุจาดกับร่างไร้ชีวิตของเธอ เหยียดหยามความเป็นเพศหญิงของเธอ ราวกับเธอไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับเราและเป็นผู้หญิงที่ไร้ศักดิ์ศรี
  4. รายงานชันสูตรพลิกศพไม่ได้ระบุว่าวัชรีถูกข่มขืนหรือถูกทำร้ายบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้สองประการคือ
    • เป็นไปได้ว่าวัชรีไม่ได้ถูกกระทำทารุณขนาดนั้น ไม้หน้าสามที่วางอยู่ข้าง ๆ กายเธออาจทำให้คนตีความเช่นนั้นได้ อีกทั้งรอยปื้นสีดำบริเวณอวัยวะเพศก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นรอยเลือด (ปรากฏในรูปเปลือย แต่ในที่นี้เราขอเบลอภาพดังกล่าว) ถ้าเช่นนั้นจะทำให้คนตีความไปในทำนองนั้นทำไมกัน หรือนี่เป็นการจัดแสดง (staged) อย่างอุจาดกับร่างไร้ชีวิตของเธอเพื่อปฏิเสธความเป็นคนและเหยียบย่ำความเป็นหญิงของเธอ?
    • หรือวัชรีอาจถูกทำร้ายบริเวณอวัยวะเพศจริง แต่แพทย์ไม่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบรายงานชันสูตรพลิกศพระหว่างรพ.ศิริราชและรพ.ตำรวจ (ผู้เสียชีวิตถูกส่งไปชันสูตรฯที่สองโรงพยาบาลนี้) จะพบว่าแพทย์ของ รพ.ศิริราชชันสูตรพลิกศพและบันทึกการตายอย่างละเอียด และมักมีการผ่าศพพิสูจน์ ขณะที่รายงานของ รพ.ตำรวจจะสั้นมาก ไม่มีการผ่าศพพิสูจน์ ในกรณีของวัชรี แพทย์ไม่ระบุด้วยซ้ำว่ากระสุนเข้าไปทำลายอวัยวะภายในส่วนใด บอกแต่เพียงว่าพบรูกลม ๆ บริเวณอกด้านหลัง 3 จุด สันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากกระสุนเข้าช่องอก

นอกจากนี้ ทีมงานได้พบภาพของหญิงสาวอีกภาพหนึ่งที่มีใบหน้าคล้ายวัชรี นอนอยู่บนเปลหาม  ลักษณะของเสื้อแขนสั้นที่เปื้อนเลือดดูเหมือนรอยเลือดลามมาจากด้านหลัง วัชรีถูกยิงจากด้านหลัง (ดูรูปที่ 4 ภาพจากหนังสือ “บันทึกภาพและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519” โดย อรุณ เวชสุสรรณ, บก. ) เมื่อบทความนี้ออกเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2561 ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าผู้หญิงในรูปที่ 4 คือวัชรีหรือไม่ แต่ล่าสุดในปลายปี 2560 หนึ่งในทีมงานได้รับการติดต่อจากเพื่อนของวัชรี อดีตนักศึกษารามคำแหง เพื่อนของวัชรียืนยันว่าผู้หญิงในรูปนี้คือวัชรี

รูปที่ 4 นี้บอกอะไรกับเรา รูปนี้ชี้ว่าวัชรีเสียชีวิตภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่างของเธออยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่และลูกเสือชาวบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่กำลังเคลื่อนย้ายศพของเธอ การทำร้ายร่างที่ไร้ชีวิตของเธอจึงน่าจะเกิดขึ้นในบริเวณธรรมศาสตร์หรือสนามหลวงนี่เอง ไม่ได้เกิดขึ้นในที่ลับตา และจะต้องมีคนร่วมรับรู้จำนวนไม่น้อย  วัชรีเป็นหนึ่งในเหยื่อของการทำร้ายศพจำนวนมากที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ผู้ที่สนใจประเด็นนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา 2519: ใคร อย่างไร ทำไม” โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ และธงชัย วินิจจะกูล

 

หมายเหตุ โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของการเสนอภาพและข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต หากกรณีนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางโครงการจะไม่มีทางเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด แต่กรณี 6 ตุลาชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงและอัปลักษณ์อย่างถึงที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย แต่ถูกปฏิเสธและละเลยมาโดยตลอดโดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่มีการจัดงานรำลึกตลอดมาแต่เราแทบไม่สนใจที่จะรู้จักพวกเขาเลย

ตลอดกว่า 40 ปีผ่านมาไป สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นคือ เราให้คุณค่ากับผู้เสียชีวิต 6 ตุลาน้อยเกินไป ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวเมื่อหลายปีก่อนว่า “ความไม่รู้เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตเป็นปรากฏการณ์น่าละอายที่สุดอย่างหนึ่งที่แสดงว่า 6 ตุลาถูกทอดทิ้งละเลยปราศจากความเคารพผู้เสียชีวิตขนาดไหน แม้กระทั่งฝ่ายผู้ถูกกระทำเองก็ไม่สนใจหาความจริงเกี่ยวกับจำนวนและรายชื่อของเพื่อนผู้เสียชีวิต รายละเอียดว่าแต่ละรายเสียชีวิตอย่างไร ในสภาพอย่างไร ไม่เคยมีการเปิดเผยแม้แต่ต่อญาติผู้เสียชีวิต ตลอดเวลา 20 กว่าปีกลับเต็มไปด้วยเสียงเล่าลือว่าจมน้ำบ้าง โดนข่มขืนบ้าง ถูกแขวนคอบ้าง แต่ไม่เคยมีข้อมูลที่เชื่อถือได้มายืนยัน” (6 ตุลา ลืมไม่ได้จำไม่ลง, 2558, หน้า 194-195)