Documentation of Oct 6

2.6 ขบวนการทางสังคมอื่น ๆ

ผลจากการเคลื่อนไหวกรณี 14 ตุลาคม 2516 นอกจากจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชประชาธิปไตยและความพยายามในการแก้ไขปัญหาของกรรมกรชาวนาแล้ว ยังก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการสภาพแวดล้อม

ขบวนการสิทธิสตรีนั้น เริ่มพัฒนาก่อน 14 ตุลาเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการคัดค้านการประกวดนางสาวไทยเมื่อ พ.ศ.2515 เหตุผลสำคัญของการคัดค้านคือ ความไม่เหมาะสมในการจัดงานในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างมาก เมื่อ พ.ศ.2515 ในขณะที่ประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสาน ต้องเผชิญภาวะความอดอยากและหนาวตาย แต่คณะกรรมการจัดงานวชิราวุธ ก็ยังคงจัดให้มีการประกวดนุ่งน้อยห่มน้อยต่อไป กลุ่มนักศึกษาหญิงจากหลายสถาบันจึงได้รวมตัวกันคัดค้านการประกวดดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้การประกวดนางงามต้องถูกยกเลิกไปอีกหลายปี

ผลที่ติดตามมาคือ การเกิดของกลุ่มผู้หญิงสถาบันต่างๆ ซึ่งมุ่งจะสร้างองค์กรเพื่อเรียกร้องสิทธิให้สตรีมีความเสมอภาคเท่าเทียมชาย และให้ชายยุติการพิจารณาสตรีในฐานะวัตถุบำเรอความใคร่ ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2516 ชุมนุมนิสิตหญิงคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้พิมพ์หนังสือชื่อ ขบวนการดอกไม้บาน ออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมทัศนะที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับสตรี และปกหลังของหนังสือนี้ ได้ตีพิมพ์บทกวี มีใจความว่า

ดอกไม้มีหนามแหลม มิใช่แย้มคอยคนชม
บานไว้เพื่อสะสม ความอุดมแห่งดินดาน
ดอกไม้ถูกเหยียบย่ำ ความเจ็บช้ำย้ำผสาน
ดอกใหม่ใกล้จะบาน เลือดแดงฉานส่งดอกชู

นอกจากนี้ยังตีพิมพ์บทความเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย” ของจิตร ภูมิศักดิ์ เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง บทความนี้ได้วิจารณ์การกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในยุคศักดินาและทุนนิยมอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้สตรีทั้งหลายสามัคคีกันต่อสู้เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการของการกดขี่ทางเพศ บทความของจิตรก้าวไปไกลกว่าการเรียกร้องสิทธิให้แก่สตรีธรรมดา แต่เรียกร้องให้สนใจสตรีด้อยโอกาสที่ถูกกดขี่อย่างถึงที่สุด นั่นคือกรรมกรหญิง และหญิงบริการโสเภณี ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมที่มีฐานะต่ำต้อยที่สุด ต้องขายตัวเป็นสินค้า และสิทธิความเป็นมนุษย์ของตนเองถูกทำลาย บทความของจิตรก่อให้เกิดการตื่นตัวในหมู่สตรีอย่างมาก ในที่สุดกลุ่มสตรีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มารวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้หญิง 10 สถาบัน และกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในเรื่องเกี่ยวกับสตรี ซึ่งจะมีประเด็นครอบคลุมตั้งแต่การเรียกร้องให้ปรับปรุงสถานะทางกฎหมายของสตรีให้เสมอภาคกับบุรุษ และการรณรงค์ในเรื่องสิทธิของสตรีระดับล่าง

ผลงานสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการนักศึกษาสตรีของสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็คือ การรณรงค์ให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล ทำให้สังคมไทยได้รู้ความสำคัญของวันนี้เป็นครั้งแรก ด้วยการจัดงานสตรีสากล 8 มีนาคม เมื่อ พ.ศ.2518 ในงานนี้ จิระนันท์ พิตรปรีชา ก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสตรีออกเผยแพร่อีกเล่มหนึ่ง คือ โลกที่สี่ เพื่อสะท้อนถึงฐานะที่ต่ำต้องของสตรีในสังคม และกระตุ้นให้สตรีเกิดความตื่นตัว สำนึกในสถานะของตนเอง ในระยะนี้เองที่คำขวัญ “สตรี เสมอภาค สร้างสรรค์” เป็นที่แพร่หลายกันทั่วไป ต่อมาในวันสตรีสากล พ.ศ.2519 ก็ได้มีการเผยแพร่หนังสือแนวเรื่อง ปัญหาและทางการต่อสู้ของผู้หญิง ของฤดี เริงชัย เป็นต้น

ส่วนขบวนการสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นพัฒนาเนื่องมาจากในฤดูแล้งของปี พ.ศ.2516 เกิดเหตุการณ์ครั้งแรกกรณีแม่น้ำแม่กลองเน่า เพราะผลจากน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดความตระหนกถึงภัยอันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย นักศึกษามหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งจึงก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมขึ้น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากกรณี 14 ตุลาคม 2519

ปรากฏว่า ปัญหาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมกลายเป็นกรณีหนึ่งที่นำขบวนการนักศึกษามาปะทะในเรื่องผลประโยชน์กับอเมริกาโดยตรง เพราะปลายปี พ.ศ.2516 นี้เอง ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติทราบว่ากองทัพอากาศไทยได้ขอใช้พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นเขตป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อสร้างเรดาร์สำหรับสหรัฐฯ ที่จะใช้ในการสอดส่องประเทศจีนและประเทศอินโดจีน นักศึกษาชมรมอนุรักษ์ได้ประมวลว่า การสร้างฐานเรดาร์นี้เกิดความเสียหายถึง 5 ประการ คือ

  1. ทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะแหล่งซับน้ำ
  2. ทำลายทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงาม
  3. ทำลายป่าไม้
  4. ทำลายพืชพันธุ์ที่หายาก และ
  5. ทำลายความสำคัญทางโบราณคดี

การประท้วงครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ 37 สถาบัน มีการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างที่เชียงใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2517 ขณะที่กองทัพอากาศได้อ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงโจมตีว่า กลุ่มนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ที่คัดค้าน เป็นพวกที่มีความสัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผ.ก.ค.) ในวันที่ 24 มีนาคม กลุ่มนักศึกษาได้ยื่นหนังสือคัดค้านที่สถานทูตสหรัฐฯ เพื่อส่งคำคัดค้านไปยังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ประสบผล เพราะมติคณะรัฐมนตรียังคงอนุมัติให้กองทัพอากาศสร้างฐานเรดาร์ได้ตามต้องการ ข้อสังเกตจากการเคลื่อนไหวเรื่องนี้คือการมองผลประโยชน์ของชาติที่ต่างกันอย่างตรงข้ามของคนสองกลุ่ม ขณะที่กองทัพอากาศเห็นว่า การสร้างเรดาร์เป็นความมั่นคงของชาติ แต่กลุ่มนักศึกษาเห็นว่า การทำลายป่าที่ดอยอินทนนท์เป็นการทำลายเอกลักษณ์แห่งชาติ

ปัญหาเรื่องทรัพยากรกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อมาที่สะท้อนถึงลักษณะชาตินิยมในสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้แก่ กรณีเทมโก ซึ่งสืบเนื่องจากตั้งแต่ พ.ศ.2506 กลุ่มนายทหารและข้าราชการระดับสูงที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตั้งบริษัทธุรกิจชื่อ บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ เพื่อมาขอรับสัมปทานสำรวจและขุดแร่ในอ่าวไทยเป็นเนื้อที่ถึง 101,724 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กรมทรัพยากรธรณี ก็อนุมัติประทานบัตรให้ ต่อมาใน พ.ศ.2511 บริษัทนี้ไม่มีความสามารถที่จะขุดแร่ได้ จึงได้ร่วมมือกับบริษัทยูเนียนคาร์ไบน์ของสหรัฐฯ ตั้งบริษัทชื่อไทยแลนด์เอ็กพลอเรชั่นแอนด์ไมนิง หรือ เทมโก (TEMCO) และรับโอนกรรมสิทธิ์ในการทำเหมืองแร่ในทะเลมาจากบริษัทบูรพาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์การทำเหมืองแร่ในทะเลของบริษัทรายย่อยทั้งหมด ในระยะต่อมาบริษัทบูรพาเศรษฐกิจก็ยุบตัวลง ผู้ถือหุ้นบริษัทเทมโกกลายเป็นบริษัทต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้นขบวนการนักศึกษาจึงได้ต่อสู้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเลิกประทานบัตรของบริษัทเท็มโก และให้นำตัวข้าราชการที่คบคิดกับบริษัทกระทำผิดกฎหมายมาลงโทษ โดยการต่อสู้ขึ้นสู่กระแสสูงเมื่อต้นปี พ.ศ.2518 โดยมีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชนเพื่อคัดค้านสัมปทานเทมโกที่สนามหลวงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2518 จนในที่สุดรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องยอมถอนประทานบัตรของบริษัทในวันที่ 17 เมษายน ปีเดียวกันนั้น

โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จังหวัดชลบุรี เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เกิดปัญหา จากการที่กรมชลประทานจะสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมเนื้อที่นาของชาวบ้านจำนวนหลายหมู่บ้าน ทำให้ราษฎรเดือดร้อนกว่า 2,000 ครอบครัว และน้ำในโครงการนี้ก็มิได้นำมาใช้เพื่อการชลประทาน แต่เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงเมืองพัทยา ซึ่งกำลังจะมีการสร้างโรงแรมขึ้นมาอีกหลายแห่ง ตลอดจนมีโครงการสนามกอล์ฟริมอ่างเก็บน้ำ ดังนั้น ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ชาวบ้านมาบประชันเดินทางเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ และได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงความจริง กลุ่มนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยประสานงานให้แก่ชาวบ้าน และได้ออกบอร์ดชี้แจงถึงปัญหาของการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน หลังจากนั้นชาวบ้านได้เข้ามาชุมนุมอีกหลายครั้ง และผลของการรณรงค์ทำให้กรมชลประทานต้องระงับโครงการไประยะหนึ่ง แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 11 สิงหาคม นายเมตตา อุดมเหล่า ผู้นำชาวนาแห่งมาบประชันกลับถูกคนร้ายสังหารชีวิต โดยไม่สามารถที่จะจับคนร้ายได้

ในด้านปัญหาป่าไม้ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติหลายสถาบันได้พยายามรณรงค์ให้มีการรักษาป่าไม้ของชาติ ในระยะแรกตั้งชมรมอนุรักษ์เมื่อ พ.ศ.2516 การรณรงค์ของนักศึกษาจะเป็นการร่วมมือกับกรมป่าไม้ เพื่อขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของฝ่ายนักศึกษา ได้มีการเปลี่ยนการมองปัญหา เพราะนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติเริ่มไม่เห็นด้วยที่ว่าชาวบ้านเป็นตัวการทำลายป่า และการขับไล่ชาวบ้านจากป่าจะเป็นการแก้ปัญหา เพราะความจริงแล้วป่าไม้ที่ถูกตัดทำลายจำนวนมากเป็นผลิตผลจากระบบทุนนิยม เพราะชนชั้นนายทุนต้องการไม้ปริมาณมากไปจำหน่าย ในขณะที่ชาวบ้านต้องการเพียงที่ทำกินเล็กน้อย การทำลายป่ามิได้มีปริมาณมากนัก และถ้าให้การศึกษาที่ดี ชาวบ้านจะช่วยรักษาป่าด้วยซ้ำ ความขัดเแย้งระหว่างนักศึกษากับฝ่ายกรมป่าไม้ จะเห็นได้ชัดเมื่อ พ.ศ.2519 ในกรณีเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ส่วนที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับการไฟฟ้า ที่รับผิดชอบในการสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์ เพราะฝ่ายนักศึกษาหันไปให้การสนับสนุนแก่ชาวบ้านซึ่งถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า

นอกเหนือจากนั้น กลุ่มนักศึกษาอนุรักษ์ธรรมชาติยังได้ทำการรณรงค์อีกหลายประเด็น เช่น การคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าปรมาณู ในประเทศไทย ที่มีโครงการจะตั้งขึ้นที่อ่าวไผ่ และการคัดค้านการตั้งโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างมาก และได้เริ่มมีการตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่ทำลายสภาพแวดล้อม การรณรงค์เรื่องอากาศเสีย น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย และแม้กระทั่งการผลักดันให้มีการปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่หนังสือเรื่อง การวิจัยเพื่อขายชาติ ซึ่งเปิดเผยให้เห็นว่า จักรพรรดินิยมอเมริการ่วมมือกับกลุ่มผู้นำของไทยในการทำลายป่าไม้แห่งชาติอย่างไรนับตั้งแต่ พ.ศ.2493 เป็นต้นมา และได้เสนอว่า จักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นศัตรูตัวใหญ่และสำคัญที่สุดของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผู้ที่รักธรรมชาติ รักความเป็นธรรม รักประชาชนทั้งหลาย ต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าประชาชนจะมีเอกราช และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปรากฏว่าการรณรงค์ของนักศึกษาอนุรักษ์ธรรมชาติมักไม่ค่อยได้ผล หากแต่เริ่มมีการโต้แย้งแล้วว่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ต่อต้านการพัฒนาประเทศมากเกินไป และมีแนวโน้มที่จะเป็นคอมมิวนิสต์