ผมมีความคิดที่จะเขียนบทความในทำนอง “ใครเป็นใคร (Who’s Who) ในกรณี 6 ตุลา” มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ความตั้งใจดั้งเดิมคือ อยากจะให้เป็นความเรียงในเชิงเสนอข้อเท็จจริง ไม่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ต้องการเพียงจะหาว่าใครทำอะไรบ้างในเหตุการณ์นั้น โดยรวบรวมและวิเคราะห์จากหลักฐานประเภทต่างๆเท่าที่มีอยู่โดยวิธีวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์ (historical criticism) แต่เมื่อลงมือเขียนจริงๆ ผมพบว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะ “ความเป็น กลางหรือภววิสัยแท้ๆไม่มีในโลก” (ซึ่งจริงแต่เป็นการสรุปแบบทั่วไปเกินไป too generalized) เท่านั้น แต่เพราะโดยธรรมชาติของหลักฐานเอง เรียกร้องให้ต้องตัดสินตีความถูกผิดในทุกประเด็น อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่เขียน ผมได้พยายามยึดติดอยู่กับหลักฐานข้อเท็จจริงให้มากที่สุด พยายาม “ให้ความเป็นธรรม” แม้กับผู้ที่เห็นได้ชัดว่าได้ทำผิดในเหตุการณ์นั้น ด้วยการฟังข้ออ้างของพวกเขาอย่างเต็มที่ และที่สำคัญ ผมจะกล่าวโทษ ไม่ใช่บนบรรทัดฐานอุดมการณ์ส่วนตัวของผม แต่บนบรรทัดฐานของกฎหมายที่ผู้ทำผิดอ้างว่ายึดมั่นอยู่เอง
ผมได้เตรียมข้อมูลสำหรับเขียนครอบคลุมถึงบุคคลและกลุ่มต่างๆที่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ตั้งแต่พรรคการเมืองถึงขบวนการนักศึกษา, ทหารถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นอกเหนือจากที่เขียนไปแล้ว ความเรียงนี้ควรจะมีอีก 3 ตอน คือ ว่าด้วยการชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้า, จำลอง ศรีเมือง, ยังเตอร์ก และนวพล; ว่าด้วยราชสำนักกับ 6 ตุลา ซึ่งจะรวมบทวิเคราะห์เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้”; และ ว่าด้วยขบวนการนักศึกษาและพคท. ซึ่งจะอภิปรายถึงปัญหาการตัดสินใจไม่สลายการชุมนุมในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ผมคิดว่าใน 2 ตอนหลัง ผมมีแง่มุมการมองที่เรียกได้ว่า “ใหม่” และน่าสนใจบางอย่างจะนำเสนอ แต่เท่าที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาไปค่อนข้างมากแล้ว จึงเห็นว่าควรจะหยุดพักหรือ “จบชั่วคราว” เพียงเท่านี้ก่อน เมื่อมีโอกาสเหมาะจึงค่อยกลับมาเขียนใหม่ใน 3 ตอนที่เหลือ*
* บางส่วนของข้อมูลที่เดิมตั้งใจจะเขียนเป็น 2 ตอนสุดท้าย ได้นำไปเขียนไว้ใน “เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519” และ “คืนที่ยาวนาน: การไม่ตัดสินใจสลายการชุมนุมในธรรมศาสตร์คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519” ในหนังสือเล่มนี้