Documentation of Oct 6

2.5 การปรับตัวของขบวนการนักศึกษา

กระแสวิพากษ์วัฒนธรรมของขบวนการนักศึกษายังก่อให้เกิดการปรับขบวนภายในด้วย เนื่องจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 ได้สร้างผลสะเทือนให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงทำให้เกิดพรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าในทุกมหาวิทยาลัย และได้มีการขยายงานมวลชนในหมู่นักศึกษา จนหลายพรรคได้รับเลือกตั้งให้เป็นพรรคบริหารมหาวิทยาลัย ในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานอันมั่นคงของฝ่ายนักศึกษาก้าวหน้าที่มีแนวโน้มสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน กลุ่มนักศึกษาที่ก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันตั้งพรรคนักศึกษาชื่อ พรรคพลังธรรม ตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาฯ และได้ส่งพีรพล ตริยะเกษม ลงสมัครเลือกตั้งได้รับชัยชนะมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 ต่อมาใน พ.ศ.2517 ได้ส่งวิจิตร ศรีสังข์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นพรรคบริหารองค์การนักศึกษาต่อมาอีกสมัยหนึ่ง

ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ก่อตั้งเป็นพรรคสัจจธรรมใน พ.ศ.2517 แต่พ่ายแพ้การการเลือกตั้งองค์การนักศึกษา แม้ว่าจะคุมเสียงในสภาไว้ได้ โดยพรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรครามธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายกลาง จนถึงเดือนมกราคม 2518 พรรคสัจจธรรมจึงชนะเลือกตั้งทั้งองค์การบริหารและสภา และใน พ.ศ.2519 พรรคสัจจธรรมก็ชนะอีกครั้งหนึ่ง โดยมีมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม เป็นนายกองค์การ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้ตั้งพรรคแนวร่วมมหิดลขึ้นมาสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับชัยชนะ เช่นเดียวกันที่มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มีการตั้งพรรคพลัง ซึ่งชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย สำหรับที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าชื่อ พรรคประชาธรรม ชนะการเลือกตั้งเช่นกัน และใน พ.ศ.2519 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การ

สำหรับที่จุฬาลงกรณ์กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ตั้งพรรคจุฬาประชาชนขึ้น แต่ใน พ.ศ.2518 นั้น พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคอิสราธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายกลาง จนในการเลือกตั้ง พ.ศ.2519 พรรคจุฬาประชาชนได้รณรงค์แข่งกับพรรคน้องพี่จุฬาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา และได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรก โดยผลักดันให้เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกสโมสร นอกจากนี้ก็คือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มั่นของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายล้าหลัง พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าคือ พรรครวมพลังสามัคคี ก็ชนะเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2519 นอกจากนี้ยังมีการตั้งพรรคนักศึกษาก้าวหน้าในวิทยาลัยครูหลายแห่ง และชนะเลือกตั้งเช่นกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในทุกมหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2519 สำหรับในระดับโรงเรียนมัธยม แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในลักษณะเช่นนี้ แต่กลุ่มนักเรียนที่ก้าวหน้าก็ขยายองค์กรของตนเองได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

การขยายอิทธิพลที่ก้าวหน้าของฝ่ายนักศึกษานั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อการเสื่อมสลายของระบบโซตัส ระบบอาวุโส และประเพณีรับน้องอันเหลวไหลของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นกระแสของนักศึกษาในระยะก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516 มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ไม่มีระบบรับน้องเช่นนั้น ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เลิกระบบเช่นนั้นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ โดยจะเรียกนักศึกษาใหม่ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยคำว่า เพื่อนใหม่ แทนคำว่า น้องใหม่ และใน พ.ศ.2517 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการรับเพื่อนใหม่ด้วยการจัดสัมมนาเรื่องปัญหาของประเทศไทยในด้านต่างๆ จากนั้นใน พ.ศ.2518 ก็จัดงานรับเพื่อนใหม่ โดยการนำนักศึกษาใหม่ไปฝึกการใช้แรงงานเพื่อให้รู้จักชีวิตชาวนาที่อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ต่อมามหาวิทยาลัยวิชาการศึกษา หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนิสิตที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ก็ล้มเลิกการจัดรับน้องใหม่เช่นเดียวกัน ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงแรกได้ยกเลิกพิธีรับน้องใหม่เป็นบางคณะ คณะอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์นั้นเริ่มต้นก่อน จากนั้นคณะอื่นๆ ก็ทยอยเลิกรับน้องตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2519 คณะวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นคณะสุดท้ายที่เลิกงานรับน้อง หลังจากที่นิสิตฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งภายในคณะ และในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และขอนแก่นก็เลิกการรับน้องเช่นกัน คงเหลือแต่เพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ยังดำรงพิธีรับน้องไว้มากที่สุด แต่กระนั้น ใน พ.ศ.2519 คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เลิกรับพิธีรับน้องเช่นกัน เหลือแต่เพียงคณะวนศาสตร์ ที่ยังคงเป็นคณะสุดท้ายที่คงประเพณีการรับน้องไว้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ประเพณีที่ล้าหลัง ไร้สาระ และฟุ่มเฟือยชนิดต่างๆ ลดจำนวนลงอย่างมาก และมักจะไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาส่วนใหญ่ กิจกรรมที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำในช่วงนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีสาระ เช่นการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ที่ก้าวหน้า ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการประสานและมุ่งรับใช้ประชาชนระดับล่าง การจัดงานอภิปรายถึงปัญหาสำคัญของชาติ การตั้งกรรมการขึ้นให้คำปรึกษาหรือรับร้องทุกข์ของประชาชนในด้านต่างๆ งานออกค่ายของนิสิตนักศึกษาก็แปรเปลี่ยนจากงานสร้างถาวรวัตถุเป็นการใช้แรงงานและดัดแปลงตนเองให้เข้ากับกรรมกรชาวนา การแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ได้ถูกรื้อฟื้นมาจัดใหม่อีกครั้งในเดือนมกราคม 2519 โดยที่นิสิตนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัย ล้มเลิกรูปแบบกิจกรรมที่ล้าหลังทั้งหมด และริเริ่มใช้กิจกรรมที่เป็นประโยชน์แทน เช่น การไปทำความสะอาดวัดในตอนเช้า และการสอดแทรกเนื้อหาที่ก้าวหน้าลงไปในการจัดขบวนพาเหรด จึงทำให้ฟุตบอลประเพณี พ.ศ.2519 มีรูปแบบที่แตกต่างจากงานที่จัดในปีก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง

ด้านศูนย์นิสิตที่มีสถานะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวนั้น ในช่วงแรกหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 เกิดความขัดแย้งภายใน เนื่องจากนักศึกษากลุ่มอิสระจำนวนหนึ่งไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการศูนย์นิสิต ที่นำโดยสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ดังนั้น ในการประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน 2516 คณะกรรมการศูนย์ได้ถูกซักฟอกอย่างหนัก จากนั้น กลุ่มนักศึกษาส่วนหนึ่งจึงได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรี โดยมีเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นผู้นำ การแยกตัวดังกล่าวก็ด้วยเหตุผลว่าจะให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น โดยคำแถลงกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีอธิบายลักษณะการทำงานของกลุ่มว่า

ดำเนินงานเหมือนศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ แต่โครงสร้างในการทำงานเป็นอิสระกว่า… มีนโยบายที่จะให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งเร่งเร้านักเรียน นิสิต นักศึกษาให้สนใจต่อปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง รับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านความฟุ้งเฟ้อ

ผลจากความขัดแย้ง ทำให้กรรมการชุดของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ลาออกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2516 แต่ปรากฏว่าในการเลือกตั้งวันที่ 6 ธันวาคม ชุดของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก จึงทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไป กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีจึงได้เป็นแกนรวมกลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งเป็นสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย มีองค์กรนำที่แตกต่างไปจากศูนย์นิสิต นอกจากนี้กลุ่มของธีรยุทธ บุญมี ก็แยกตัวไปตั้งกลุ่มชื่อ ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช.) เคลื่ือนไหวเป็นอิสระเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าขบวนการนักศึกษายังเป็นเอกภาพในแง่ของเป้าหมาย ที่มุ่งจะต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยเป็นเอกราชอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าผลจากความแตกแยกในองค์กร ทำให้ศูนย์นิสิตสูญเสียบทบาทนำในช่วงปี พ.ศ.2517 เพราะองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ได้เป็นเอกภาพกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีครบรอบปี 14 ตุลาคม เมื่อ พ.ศ.2517 กลุ่มอิสระ 13 กลุ่มนำโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานมหกรรมการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าศูนย์นิสิตไม่เข้าร่วมการจัดงานครั้งนี้ จากนั้นต่อมา ในการเคลื่อนไหวขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ครั้งแรก หลังจากที่จอมพลถนอมลอบกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2517 โดยอ้างว่าจะมาเยี่ยมพ่อที่ป่วยหนัก นักศึกษาได้จัดการชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้มีการจับกุมและดำเนินคดีจอมพลถนอม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ศูนย์นิสิตซึ่งชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ รักษาการเลขาธิการ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว ดังนั้น องค์กรนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าต่างๆ 23 กลุ่ม จึงได้จัดตั้งกันขึ้นเป็นแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยมีสุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาธิการ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทำให้จอมพลถนอมต้องหนีออกนอกประเทศอีกครั้งในวันที่ 29 ธันวาคมนั้นเอง

ต่อมา คำนูญ สิทธิสมาน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามารักษาการตำแหน่งเลขาธิการศูนย์นิสิต ตั้งแต่เดือนมกราคม 2518 แต่การนำของศูนย์นิสิตก็ยังไม่เป็นเอกภาพ จนถึงเมื่อเดือนมิถุนายน 2518 เมื่อพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นส่วนข้างมาก และสามารถผลักดันให้เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการศูนย์นิสิต จึงทำให้การนำในขบวนการเป็นเอกภาพกันมากที่สุด และถือได้ว่ากลุ่มนักศึกษาก้าวหน้ามีบทบาทนำในขบวนการนักศึกษาอย่างชัดเจน

ปรากฏว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2517 ได้เกิดความขัดแย้งในขบวนการ เนื่องจากกระแสการวิพากษ์ลัทธิแก้ผิน บัวอ่อน กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่วิจิตร ศรีสังข์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ ของอำนาจ ยุทธวิวัฒน์ เพื่อประกอบนิทรรศการมหกรรมการเมืองในโอกาสครบรอบปี 14 ตุลา เมื่อเดือนตุลาคม 2517 ชื่ออำนาจ ยุทธวิวัฒน์ เป็นนามปากกาของนายผิน บัวอ่อน อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่หันมาทำงานให้กับฝ่ายอำนาจรัฐ และพยายามขยายการจัดตั้งของฝ่ายตนเข้ามาในขบวนการนักศึกษา ข้อเสนอในหนังสือเล่มนี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมาก เพราะในส่วนนำของพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะเชิดชูแนวทาง 14 ตุลาคม อันจะนำมาซึ่งการลุกขึ้นสู้ในเมือง และจะเป็นการง่ายแก่ชนชั้นปกครองในการปราบปราบ กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าในพรรคพลังธรรมได้นำเสนอว่า สิ่งที่จะต้องเชิดชูคือ เจตนารมณ์ 14 ตุลา ที่รักประชาธิปไตย และ จิตใจ 14 ตุลาที่กล้าเสียสละ ยิ่งกว่าที่จะเชิดชูแนวทาง 14 ตุลา ดังนั้น จึงได้มีการนำเอาหนังสือ แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ มาเผาทิ้ง และได้มีการออกหนังสือชื่อ ศึกษา 14 ตุลา และวิพากษ์หลิวส้าวฉีไทย ของดรุณใหม่ ออกมาตอบโต้ โดยมีการวิพากษ์ผิน บัวอ่อน ว่าเป็นนักปล้นทฤษฎี และเป็นหัวโจกลัทธิแก้ ของไทย

การวิวาทะในขบวนการนักศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดผลคือความแตกแยก เพราะนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนำนักศึกษาที่วิพากษ์ผิน บัวอ่อน ได้แยกตัวไปตั้งพรรคนักศึกษาใหม่ชื่อ พรรคแนวประชา ในการเลือกตั้งภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนกันยายน 2518 จึงกลายเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคแนวประชาฝ่ายหนึ่ง กับพรรคพลังธรรม ซึ่งสามารถสร้างแนวร่วมสามัคคีกับพรรคยูงทอง เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง พรรคแนวประชาได้เสนอคำขวัญเพื่อจูงใจนักศึกษาว่า ไม่นำไม่ตามใคร เราจะไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแสดงนัยถึงการวิจารณ์พรรคพลังธรรมว่า เอาแต่เคลื่อนไหวภายนอกมากเกินไป จนไม่สนใจนักศึกษาส่วนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายพรรคพลังธรรม-ยูงทองได้ใช้ยุทธวิธีเคาะประตูนักศึกษา ด้วยแบ่งกลุ่มย่อยไปพูดคุยกับนักศึกษา จึงทำให้ฝ่ายพรรคพลังธรรมยังคงชนะการเลือกตั้ง แต่กระนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2519 พรรคแนวประชาได้สละแนวทางของผิน บัวอ่อน และกลับมาสามัคคีกับพรรคพลังธรรมอีกครั้ง พรรคทั้งสามจึงส่งคนสมัครรับเลือกตั้งร่วมกัน แข่งกับกลุ่มฝ่ายขวาซึ่งตั้งพรรคโดมขึ้นมา ปรากฏว่าแนวร่วม 3 พรรคได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา

กรณีความขัดแย้งและกระแสวิพากษ์แนวทางของผิน บัวอ่อน นี้ น่าจะเป็นประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้แผ่เข้ามาในขบวนการนักศึกษาแล้ว เพราะปรากฏว่า กระแสผลักดันการวิพากษ์ผิน บัวอ่อน ส่วนหนึ่งมาจากกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ใน พ.ศ.2518 มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง โต้ลัทธิแก้ไทยและวิจารณ์แห่งวิจารณ์ ของอุทิศ ประสานสภา ซึ่งเป็นนามปากกาของอัศนี พลจันทร หรือ นายผี กรรมการกลางพรรค ซึ่งเป็นหนังสือที่วิพากษ์แนวทางของผิน บัวอ่อน อย่างหนัก ต่อมา ผิน บัวอ่อน ก็เขียนหนังสือตอบโต้ ในชื่อว่า วิพากษ์นายผี วิจารณ์ข้อเสนอของอุทิศ ประสานสภา ถึง 11 ข้อ และท้ายที่สุดก็ได้เสนอหนังสือเรื่อง การต่อสู้สองแนวทาง เพื่อชี้แจงให้เห็นความแตกต่างของแนวทางของเขา และแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนัั้น ในทัศนะของผิน บัวอ่อน มิได้ถือว่าเขาต่อสู้อยู่กับขบวนการนักศึกษา แต่กำลังสู้กับฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ผลแห่งการวิวาทะนี้ ท้ายที่สุดต้องถือว่าฝ่ายของผิน บัวอ่อน พ่ายแพ้ กลับกลายเป็นว่า ขบวนการนักศึกษาได้รับรู้และยอมรับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น นั่นคือแนวทางการต่อสู้ในชนบทและใช้ชนบทล้อมเมือง ในหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์นิสิตในปี พ.ศ.2518 ได้ลงบทความอีกหลายครั้ง กล่าวถึงความชัดเจนในแนวทางการต่อสู้เช่นนี้ เช่นบทความของวิจารณญาน เรื่อง “แนวทางปฏิวัติหรือแนวทางปฏิรูป” ใน อธิปัตย์ (28-31 มีนาคม 2518) ชี้ว่า การต่อสู้โดยใช้แนวทางปฏิรูป แนวทางอหิงสา และการต่อสู้ทางรัฐสภา ต่างก็ไม่อาจแก้ปัญหาของสังคมได้ มีแต่จะต้องเข้าร่วมการปฏิวัติของประชาชนเท่านั้น จึงจะสร้างประเทศไทยใหม่ได้อย่างแท้จริง

อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเผยแพร่เข้ามาในขบวนการนักศึกษาโดยผ่านลูกหลานของผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่เข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษา แต่ต่อมาหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 เกิดการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม การขยายตัวขององค์กรพรรคในขบวนการนักศึกษาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขบวนการนักศึกษาเริ่มเห็นชอบกับแนวทางสังคมนิยมมากขึ้นทุกที และเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาของประเทศไทย การยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผลจากความเชื่อที่ว่า พรรคเป็นองค์กรจัดตั้งของฝ่ายสังคมนิยมอย่างแท้จริง และมีเกียรติประวัติการต่อสู้มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 จึงสามารถเป็นองค์กรที่นำการสร้างสังคมใหม่ให้เป็นจริงได้ นอกจากนี้ วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.)ของพรรคอมมิวนิสต์ ยังเป็นกระบอกเสียงที่เสนอและวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยทฤษฎีสังคมนิยมอย่างมั่นคงที่สุด ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงปราบปรามของฝ่ายกลไกรัฐก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนไม่น้อยยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ในฐานะทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลปฏิกิริยา แต่ในด้านของตัวบุคคลนั้น ปรากฏว่าฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นอยู่ไกลเกินไปที่จะเข้าใจและชี้นำสถานการณ์แห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาได้ จึงกลายเป็นว่าคนของขบวนการนักศึกษานั่นเอง ที่เข้าไปมีบทบาทภายในองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง และคนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีบทบาทชี้นำในขบวนการนักศึกษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์กรพรรคคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเพียงผู้นำในเชิงแนวคิดทางยุทธศาสตร์ แต่คนของขบวนการนักศึกษาเองที่เป็นฝ่ายกำหนดแนวทางการต่อสู้

เมื่อปลายปี พ.ศ.2518 กระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมในขบวนการนักศึกษาได้ครอบคลุมไปถึงการสร้างประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ในกรอบเดิม โดยเริ่มจากการจัดงานลอยกระทงรักไทยซึ่งเป็นงานลอยกระทงในรูปแบบใหม่ ไม่มีการประกวดนางนพมาศ แต่เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน นอกจากนี้ เมื่อปีใหม่ พ.ศ.2519 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้จัดงานปีใหม่ อรุณแห่งชัย โดยสร้างความหวังให้ปี พ.ศ.2519 เป็นปีแห่งชัยชนะของประชาชน ขณะที่ทางกลุ่มนิสิตที่ก้าวหน้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จัดงานปีใหม่ชูไทขึ้นเช่นกัน และในเดือนมกราคม 2519 นี้เอง งานฟุตบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ถูกนำมาจัดใหม่ โดยสอดแทรกเนื้อหาที่ก้าวหน้าลงไป ต่อมาในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2519 ขบวนการนักศึกษาก็จัดงานสงกรานต์เบิกฟ้าประเพณีเพื่อสะท้อนประเพณีใหม่ที่รับใช้ชีวิต รับใช้มวลมหาประชาชน ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดโฉมหน้าใหม่ทางวัฒนธรรมของไทยด้วย

ในระยะที่การต่อสู้แหลมคมมากขึ้นและแนวความคิดสังคมนิยมเป็นที่ยอมรับมากขึ้นนั้น นอกจากจะมีการเสนอแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม ทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแล้ว ยังได้มีการเสนอหลักเกณฑ์ในการเป็นนักปฏิวัติ เพื่อปรับปรุงขบวนการนักศึกษาให้มีลักษณะปฏิวัติมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงชีวทัศน์ครั้งใหญ่ โดยสาระนั้น การจัดตั้งก็คือการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีวินัยและมีจิตใจสู้รบมากขึ้น ส่วนการปรับปรุงชีวทัศน์ก็คือความพยายามที่จะผลักดันว่าผู้ปฏิบัติงานในขบวนการนั้น จะมีโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีชีวทัศน์ที่ก้าวหน้าด้วย ตัวแบบของบุคคลที่ก้าวหน้าและก่อให้เกิดความประทับใจแก่ขบวนการนักศึกษาคือจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งมีลักษณะการใช้ชีวิตที่น่ายกย่องและเสียสละท่ามกลางการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2509 หลังจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 ชีวิตของเขาถูกนำมาศึกษา นำมากล่าวสดุดี มาแต่งเป็นเพลง ควบคู่กับการเขียนของเขาที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างมากมาย จนสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยถึงกับจัดการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ (2517)

นอกจากการสร้างบุคคลตัวแบบขึ้นมาแล้ว การปรับปรุงชีวทัศน์ยังได้มาจากการศึกษา โดยหนังสือเล่มสำคัญที่ใช้ในการศึกษาเพื่อปรับปรุงชีวทัศน์ก็เช่น ชีวทัศน์เยาวชน ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมข้อเสนอแนะและการชี้นำต่อการใช้ชีวิตที่ก้าวหน้าของเยาวชน เสริมทฤษฎี ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมมาจากบทความที่เคยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เสียงใหม่ เป็นเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับวิธีคิดวิธีการทำงานของเยาวชนนักศึกษา ศีลธรรมสังคมนิยม ของอนุช อาภาภิรม ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้เห็นว่า โลกสังคมนิยมก็สามารถที่จะมีศีลธรรมได้ และศีลธรรมใหม่นั้นไม่ได้วางรากฐานอยู่ที่ศาสนาซึ่งเป็นจิตนิยม แต่เป็นศีลธรรมที่วางอยู่บนรากฐานแห่งการเสียสละและรับใช้ประชาชน พลังชีวิต เรียกร้องให้เยาวชนกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เป็นต้น นอกจากนั้น วรรณกรรมจากจีนจำนวนมากก็มีลักษณะเสนอทัศนะในการดัดแปลงตนเองเช่นกัน เช่นเรื่องของนอร์แมน เบธูน นายแพทย์และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แคนาดา ที่เข้าไปช่วยเหลือการปฏิวัติจีน ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เป็นแบบอย่างของจิตใจสากลนิยม และเรื่องของจางซือเต๋อ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เสียสละตนเอง ทำงานทุกชนิดเพื่อการปฏิวัติ และแสดงให้เห็นจิตใจที่เสียสละ

ในกระแสแห่งการนำเสนอให้มีการปรับปรุงชีวทัศน์นั้น ส่วนหนึ่งเรื่องทัศนะใหม่ต่อความรักก็เป็นที่สนใจไม่น้อย ซึ่งเป็นเพราะนักศึกษาที่ยังเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวมีความอ่อนไหวต่อเรื่องความรักได้ง่าย จึงมีหนังสือที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องความรักตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม เช่นเรื่อง สารแด่…นิด ของประสาน พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2517 และกลายเป็นหนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ต่อมาก็ได้มีการตีพิมพ์เรื่อง บนเส้นทางรัก ของลือชัย รังสรรค์ ซึ่งเป็นหนังสือที่เคยตีพิมพ์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ชีวทัศน์หนุ่มสาว ซึ่งเป็นเอกสารศึกษาทัศนะความรักภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และเรื่องที่โด่งดังมากเมื่อ พ.ศ.2519 ก็คือ ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ของอารยา แสงธรรม และ พิทักษ์ ชัยสูงเนิน พิมพ์โดยพรรคจุฬาประชาชน การนำเสนอในเรื่องปัญหาความรักนี้ เกือบทุกเรื่องจะมีเนื้อหาที่คล้ายกัน คือเสนอให้มองความรักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเรียกร้องให้แปรความรักส่วนตัวมาขึ้นกับผลประโยชน์ของประชาชน หรือขึ้นต่องานปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีงามเสียก่อน