Documentation of Oct 6

ตำรวจปราบจลาจลและสล้าง บุนนาค

ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 คนหนึ่ง เขาให้การแก่ศาลทหารว่า ได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม เมื่อเวลาตีหนึ่งของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจลไป “รักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เขาจัดกำลังได้ประมาณ 200 คน นำไปถึงธรรมศาสตร์เมื่อเวลาตีสาม ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ก็ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมตำรวจ “ให้เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุมและให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร” (อย่างไรก็ตาม “ที่ข้าฯได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้จากอธิบดีตำรวจนั้น ได้รับคำสั่งโดยมีนายตำรวจมาบอกด้วยวาจา จำนายตำรวจนั้นไม่ได้ว่ามียศเป็นอะไร…มาบอกกันหลายคน”)

ขณะที่สล้าง ทั้งในคำให้การต่อศาลทหารและในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่เขาเผยแพร่หลังจากนั้น (เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้) พยายามเสนอภาพตัวเองว่าเป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติตามกฎหมายและตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คำให้การและบันทึกความจำของเขาเองมีช่องโหว่และจุดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งชวนให้สงสัยได้ว่าพฤติกรรมของเขาในวันนั้นมีเบื้องหลังทางการเมือง คือ มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มุ่งกวาดล้างทำลายขบวนการนักศึกษาเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหาร

สล้างอ้างว่าในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง เขาเดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตัวเอง โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ แล้วจู่ๆในระหว่างที่เดินอยู่บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยด้านวัดมหาธาตุ ก็มี “ผู้หญิง 3 คนซึ่งข้าฯไม่เคยรู้จักมาก่อนมาพบข้าฯ…บอกข้าฯว่าเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…บอกว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการแสดงละครการเมืองดังกล่าวซึ่งน่าจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ ทางตำรวจไม่ดำเนินการอย่างไรบ้างหรือ” เขาจึงพาทั้งสามไปรายงานพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต เพื่อให้ปากคำที่กองปราบ แล้วจึงเดินทางไปแผนก 5 “เพื่อเตรียมกำลังตามคำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์” จัดกำลังได้ 200 คนนำกลับมาที่ธรรมศาสตร์

นี่เป็นความบังเอิญอันเหลือเชื่อ อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลาใกล้เที่ยงคืน      สล้างไม่ได้แต่งเครื่องแบบ “อาจารย์ธรรมศาสตร์” ทั้งสามจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นใคร? (สล้างอ้างว่า “เชื่อว่าคงมีอาจารย์คนใดคนหนึ่งรู้จักหน้าข้าฯ”) อย่าว่าแต่ “อาจารย์” ทั้งสามไปทำอะไรดึกดื่นเที่ยงคืนขนาดนั้นในบริเวณนั้น? ยิ่งถ้าไม่พอใจการแสดงละครของนักศึกษาทำไมไม่ไปแจ้งความที่ สน. สักแห่งตั้งแต่กลางวัน หรือตั้งแต่วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันแสดงละคร กลับมาเดินท่อมๆในยาม วิกาลให้เจอสล้างโดยบังเอิญเพื่อร้องเรียนได้เช่นนั้น?

เรื่องประหลาดของสล้างในวันที่ 5 ตุลาคม ยังมีอีก: ในระหว่างตอบคำถามโจทก์ในศาลทหาร เขาไม่ยอมเล่าถึงการกระทำอย่างหนึ่งของตัวเอง  จนกระทั่งเมื่อทนายจำเลยซักค้าน จึงได้ยอมรับว่า หลังจากพา “อาจารย์ธรรมศาสตร์” ทั้งสามไปให้ปากคำที่กองปราบ แต่ “ก่อนที่ข้าฯจะนำเอากำลังตำรวจ 200 คนออกไปปฏิบัติการนั้น ข้าฯได้ไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่บ้านในซอยเอกมัยก่อน ข้าฯไปเองไม่มีใครสั่งให้ไป ข้าฯไปดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯ”

อย่าลืมว่าขณะนั้น (ตี 1-2) ตามคำให้การของเขาเอง สล้างอยู่ภายใต้ “คำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์” ให้นำกำลังไปที่ธรรมศาสตร์ แต่แทนที่จะรีบไปปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา กลับเถลไถลแวะไปบ้านเสนีย์โดย “ไม่มีใครสั่งให้ไป” เพียงเพื่อ “ดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชา” ทนายจำเลยเสนอเป็น       นัยยะว่าแท้จริงสล้างไปเพื่ออาสานำกำลังไปปราบนักศึกษา (ในฐานะของความเป็นฝ่ายขวา แบบเดียวกับที่จำลอง ศรีเมืองและพวก “ยังเตอร์ก” เคยแอบเข้าพบเสนีย์ที่บ้านเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในปีนั้น) แต่สล้างปฏิเสธ “โดยส่วนตัว ข้าฯไม่ได้ขออนุญาตต่อท่านนายกรัฐมนตรีนำกำลังออกปฏิบัติการ” อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า “ได้พบกับนายกรัฐมนตรีและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังด้วย เมื่อข้าฯได้เล่าเหตุการณ์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟังแล้ว ท่านได้บอกกับข้าฯว่า เรื่องนี้สั่งการไปทางอธิบดีกรมตำรวจแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษแก่ข้าฯในขณะนั้น” ซึ่งชวนให้สงสัยว่าคนระดับนายกรัฐมนตรีจะต้องมาชี้แจงให้นายตำรวจระดับรองผู้กำกับที่แวะมาหาตอนตีสองโดยไม่บอกล่วงหน้าและเป็นการส่วนตัวทำไม?

ในบันทึก “กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่เกี่ยวข้องกับดร.ป๋วย” ที่สล้างเผยแพร่ในโอกาสการถึงแก่กรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เขาเล่าว่า  ในวันที่ 6 ตุลา หลังจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์ “มอบตัว” ต่อตำรวจแล้ว เขา “ได้รับวิทยุจากผู้บังคับการกองปราบฯ…สั่งการให้ผมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน เนื่องจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้นบุกเข้าไปใน   ทำเนียบ โดยมีคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยหรือหาทางพาท่านนายกฯม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออกจากทำเนียบรัฐบาลให้ได้” เมื่อไปถึงทำเนียบ “ทราบว่า ฯพณฯนายกฯมีความประสงค์จะลาออก เพื่อให้เกิดความสงบสุข มีส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ตัวคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ก็ถูกคุมเชิงอยู่ ไม่กล้านำใบลาออกที่พิมพ์เสร็จแล้วไปเสนอนายกฯ”

สล้างอ้างต่อไปว่า

หลังจากหารือกับคุณสราวุธ, ม.ล.เสรี ปราโมช กับพวก ส.ส. เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ท่านนายกฯลาออก ได้ข้อยุติดังนี้

  1. มอบหมายให้ผมเป็นผู้นำใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม
  2. จัดรถปราบจลาจลมาจอดหน้าทำเนียบเพื่อให้ท่านนายกฯประกาศลาออกต่อหน้าประชาชนที่บุกเข้ามาในทำเนียบ
  3. จัดกำลังคุ้มกันนายกรัฐมนตรีไปที่บก.ร่วมซึ่งตั้งอยู่ในบก.สูงสุด (เสือป่า) ปัจจุบันนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาคลี่คลายสถานการณ์

เมื่อได้รับการขอความร่วมมือและเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ดีที่สุด คือให้ผู้นำ ทั้ง 2 ฝ่าย คือท่านนายกฯและฝ่ายทหารได้เจรจาหรือแก้ไขร่วมกันก็คงจะเป็นประโยชน์ ผมจึงได้ปฏิบัติ

ผลการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย….

เป็นเรื่องประหลาดที่นายตำรวจระดับรองผู้กำกับการจะมีบทบาทมากมายเพียงนี้ ถึงขนาดที่ทั้งทำเนียบรัฐบาลไม่มีใครเหมาะสมพอจะ “เอาใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม” และ “นำนายกฯไปพบกับคณะทหาร” ต้องพึ่งพาให้เขาทำ ตั้งแต่ไปพบอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เห็นเหตุการณ์ละคร “แขวนคอ” โดยบังเอิญกลางดึกที่สนามหลวง, นำไปให้ปากคำที่กองปราบฯ, แล้วได้รับคำสั่งให้ไปจัดกำลังไป “รักษาความสงบ” ที่ธรรมศาสตร์, แวะไปบ้านนายกรัฐมนตรีในซอยเอกมัยตอนตีสอง, ปฏิบัติการที่ธรรมศาสตร์, เดินทางไปทำเนียบ จัดการให้นายกฯเซ็นใบลาออกแล้วพาไปพบผู้นำทหาร – บทบาทของสล้าง บุนนาคในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แน่นอนว่าบทบาท  ของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน เขายัง “ได้รับคำสั่ง” ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จน     ทุกวันนี้:

ประมาณ 2 ทุ่ม (ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519) ได้ขออนุญาตกลับบ้านถนนแจ้งวัฒนะ เพื่ออาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เนื่องจากไม่ได้กลับบ้านมา 3-4 วันแล้ว ระหว่างที่เดินทางมาถึงสี่แยกบางเขน ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมืองโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน  พวกนวพลและกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง….

กระผมจึงได้รีบเดินไปที่ดร.ป๋วยที่กำลังโทรศัพท์อยู่ โดยบอกว่า อาจารย์ครับเข้าไปโทรข้างใน พูด 2 ครั้ง ท่านก็ยังพยายามต่อโทรศัพท์อยู่ ผมจึงปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน เมื่อเข้าไปในห้องและเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกราบท่านและแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์ ดร.ป๋วยได้บอกกับพวกผมและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ศุลกากร ตม. ว่าที่ต้องโทรก็เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย….เจ้าหน้าที่หลายนายได้บอกว่าผมเป็นลูกศิษย์และมีหลายคนรวบรวมเงินมอบให้อาจารย์ ท่านก็รับไป…

บันทึกดังกล่าวของสล้างได้รับการตอบโต้จากนักวิชาการบางคน รวมทั้งผมด้วย (ดู “ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สล้าง บุนนาค, ธานินทร์ กรัยวิเชียร” ในหนังสือเล่มนี้; สล้างเริ่มเผยแพร่เหตุการณ์ที่ดอนเมืองเวอร์ชั่นนี้ในปี 2534) ทุกคนใช้วิธีอ้างความทรงจำของอาจารย์ป๋วยเองทั้งที่อยู่ในบทความ “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” และที่อาจารย์เล่าให้ลูกชายฟัง ซึ่งมีแต่กล่าวถึงการที่สล้าง “ตรงเข้ามาจับผู้เขียน [ป๋วย] โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด” ไม่มีตอนใดที่บอกว่าสล้างได้กราบขอโทษ “ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์” เลย

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้แบบนี้ ถึงที่สุดแล้ว เป็นการใช้ความทรงจำของคนหนึ่งไปหักล้างกับความทรงจำของอีกคนหนึ่ง และแม้ว่าคนทั่วไปอาจจะเลือกที่จะเชื่อป๋วยมากกว่า (ดังที่ผมเขียนว่า “ถ้าจะให้เลือกระหว่างอาจารย์ป๋วยกับสล้าง บุนนาค ว่าใครพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดอนเมือง ผมเลือก อาจารย์ป๋วยโดยไม่ลังเล”) แต่หากสล้างยืนกรานใน “ความทรงจำ” ของตัวเอง แม้ว่าจะฟังดูเหลือเชื่อเพียงใด ในระยะยาวก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความจริง จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมพบว่าเรามี “บุคคลที่สาม” ที่สามารถเป็น “พยาน” พิสูจน์ได้ว่า “ความทรงจำ” ของสล้างเกี่ยวกับ 6 ตุลา รวมทั้งที่เกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยที่ดอนเมือง เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย

“บุคคลที่สาม” ที่ว่านี้ก็คือ ตัวสล้าง บุนนาค เอง!

เพื่อที่จะเขียนบทความชุดนี้ ผมได้กลับไปอ่านคำให้การต่อศาลทหารของพยานโจทก์ทุกคนในคดี 6 ตุลา (ซึ่งผมเป็นจำเลยคนหนึ่ง) อย่างละเอียด  รวมทั้งของสล้าง บุนนาคด้วย ผมพบว่าสล้างได้ให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดอนเมืองแตกต่างกับที่เขานำมาเขียนถึงในระยะไม่กี่ปีนี้อย่างมาก ดังนี้:

เย็นวันที่ 6 ต.ค. 19 ข้าฯไม่ได้ไปห้ามสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ให้ทำการบิน หรือเลื่อนเวลาทำการบินออกไป ข้าฯไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทยโดยทางเครื่องบินที่ดอนเมือง และมีประชาชนจำนวนมากได้ติดตามไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเข้าทำการแย่งตัวเพื่อจะทำร้าย ข้าฯจึงไปและกันให้ด็อกเตอร์ป๋วยไปอยู่เสียที่ชั้นล่างของท่าอากาศยานกรุงเทพ       เพื่อให้ห่างจากฝูงคนที่จะเข้าไปทำร้าย จนทำให้ด็อกเตอร์ป๋วยรอดชีวิตอยู่ได้จนถึงบัดนี้…ในวันนั้นข้าฯไปเพียงคนเดียว ไม่มีกำลังตำรวจไปด้วย ในวันนั้นข้าฯยังพูดกับด็อกเตอร์ป๋วยว่า มหาวิทยาลัยกำลังยุ่งอยู่ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว ขณะที่พูดมีคนอื่นได้ยินกันหลายคน เพราะข้าฯมีความเห็นว่าขณะนั้นด็อกเตอร์ป๋วยควรจะอยู่อย่างยิ่งถ้ามีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ด็อกเตอร์ป๋วยไม่ได้ขอพูดโทรศัพท์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และข้าฯก็ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย

ยกเว้นเรื่องที่สล้างอ้างว่าช่วยไม่ให้ป๋วยถูกฝูงชนทำร้ายแล้ว จะเห็นว่าคำให้การปี 2521 กับบันทึกปี 2542 มีสาระและน้ำเสียงที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงที่สำคัญที่สุดคือการที่สล้างปฏิเสธอย่างชัดถ้อยชัดคำในศาลเมื่อปี 2521 ว่า “ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย” แต่มายอมรับในปี 2542 (2534) ว่า “ปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้อง”

แสดงว่าสล้างให้การเท็จต่อศาลทหาร (ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา น่าเสียดายที่อายุความสิ้นสุดเสียแล้ว)

ขณะเดียวกันทัศนะของสล้างต่อป๋วยที่แสดงออกในคำให้การปี 2521 น่าจะใกล้เคียงกับความรู้สึกของเขาสมัย 6 ตุลามากกว่า (“ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว…” ฯลฯ) ซึ่งแสดงว่า ข้ออ้างในปีหลังที่ว่าเขา “กราบ” ป๋วยก็ดี ช่วยเหลือในการเรี่ยไรเงินให้ก็ดี เป็นเรื่องโกหก  และสุดท้าย การที่สล้างมาอ้างเมื่อเร็วๆนี้ว่า ไปดอนเมืองเพราะ “ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก…ผู้บังคับการกองปราบฯ” ก็น่าจะไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะในปี 2521 เขาเองบอกว่า “ไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่า               ด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทย”

การที่สล้างยอมรับออกมาเองในปี 2521 ว่า เขาได้พูดจากล่าวหาใส่หน้าป๋วยว่า “หนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว” ไม่สมกับ “ฐานะที่เป็นผู้ใหญ่” เช่นนี้ มีความสำคัญอย่างมาก อย่าลืมว่า ขณะนั้นสล้างเป็นเพียงรองผู้กำกับการยศพันตำรวจโทอายุ 40 ปี ถึงกับกล้าต่อว่าป๋วยซึ่งอายุ 60 ปีและมีฐานะระดับอธิบดีกรม (ความจริงสูงกว่าเพราะอธิการบดีเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ในระบบราชการต้องนับว่าเป็นการบังอาจเสียมารยาทอย่างร้ายแรงเข้าข่ายผิดวินัย ในลักษณะเดียวกับที่ สุรินทร์ มาศดิตถ์ กล่าวถึงพฤติกรรมของ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ในที่ประชุมครม.ในเช้า      วันนั้น (“บังอาจโต้ นายกรัฐมนตรี…ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี”) ความ “กล้า” แสดงออกของสล้างขนาดนี้ชี้ให้เห็นอย่างไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เขารีบไปดอนเมืองเพราะได้ฟัง  การ “ออกข่าว” (ชี้นำ?) จากยานเกราะนั้น จะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังจะยับยั้งการลี้ภัยของป๋วยอย่างแน่นอน เมื่อบวกกับความจริง ซึ่งเขาให้การเท็จต่อศาลแต่เพิ่งมายอมรับในปี 2534 ที่ว่าเขาได้ “ปัดโทรศัพท์ออกจากมือ” และ “กระชาก” ตัวป๋วย ซึ่งเป็นเรื่องผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา เราก็น่าจะสรุปได้ (เช่นเดียวกับที่สุรินทร์สรุปได้เมื่อเห็นพฤติกรรมของเจริญฤทธิ์: “พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่”) ว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สล้างไม่ได้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นหนึ่งในการระดมกำลังของฝ่ายขวาเพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาและทำรัฐประหาร

ข้อสรุปเช่นนี้ ทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าทำไมในวันนั้นสล้าง บุนนาคจึงมีบทบาทอย่างมากมายในลักษณะ “วิ่งรอก” ทั่วกรุงเทพ – จากการไปพบ “อาจารย์ธรรมศาสตร์” 3 คนที่สนามหลวงอย่าง “บังเอิญ” ตอนใกล้เที่ยงคืน, นำมาให้ปากคำที่กองปราบปราม, แล้วไปจัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล,ไปบ้านเสนีย์ซอยเอกมัยตอนตีสอง โดย “ไม่มีใครสั่งให้ไป”, กลับมานำกำลังตำรวจปราบจลาจลไปธรรมศาสตร์, ทำการปราบปรามผู้ชุมนุม, ไปทำเนียบรัฐบาล, เอาใบลาออกไปให้เสนีย์ลงนามแล้วพาไปพบผู้นำทหารที่สนามเสือป่า, จนถึงการไปสะกัดกั้นป๋วยที่ดอนเมืองเมื่อได้ข่าวจากยานเกราะในที่สุด. ขณะนั้น เฉพาะกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ก็มีรองผู้กำกับถึง 6 คน และเฉพาะแผนก 3 (รถวิทยุศูนย์รวมข่าว) และแผนก 5 (ปราบจลาจล) ที่สล้างคุมอยู่ ก็มีรองผู้กำกับอื่นช่วยดูแลด้วยอีก 2 คน ทุกคนแม้แต่ตัวผู้กำกับการ (พ.ต.อ.จิระ      เครือสุวรรณ) ก็ดูจะไม่มีบทบาทในวันนั้นมากเท่าสล้าง

ผมได้เสนอความเห็นข้างต้นว่า สล้างและตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่เขาคุมเป็นหนึ่งในสองกำลังหลักที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ขอให้เรามาพิจารณากำลังหลักอีกกลุ่มหนึ่ง