Documentation of Oct 6

ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน

“ตำรวจพลร่ม” หรือชื่อที่เป็นทางการว่า กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตามคำให้การของ ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักร พยานโจทก์คดี 6 ตุลา เขาและตำรวจพลร่มอย่างน้อย 50-60 คนจากค่ายตำรวจพลร่มนเรศวรมหาราช หัวหิน ได้รับคำสั่งเมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้เดินทางมากรุงเทพ โดยที่”ขณะนั้นข้าฯยังไม่ทราบว่าที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปครั้งนี้เพื่อจุดประสงค์อะไร” พวกเขาขึ้นรถบรรทุก 2 คัน รถจี๊บเล็ก 1 คัน เดินทางถึงกองบัญชาการตชด.ถนนพหลโยธินเวลา 6 นาฬิกา รับประทานข้าวห่อ 15 นาที แล้วเดินทางต่อมายังโรงแรมรอยัล รองผู้กำกับการที่ควบคุมการเดินทางมาจากหัวหินจึงได้ “แจ้งสถานการณ์พร้อมวิธีที่จะปฏิบัติให้ทราบ โดยแจ้งว่าที่ให้มาที่นี้ก็เพื่อมารักษาสถานการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เขากล่าวว่า “ที่นำกำลังมา 50-60 คนเป็นเฉพาะตำรวจในหน่วยที่ข้าฯประจำอยู่เท่านั้น….ข้าฯไม่ทราบว่าจะมีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นไปปฏิบัติการด้วยหรือไม่”

ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาหลายภาพที่แสดงให้เห็นคนในเครื่องแบบคล้ายทหารถืออาวุธปืนขนาดใหญ่ (ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส.) และปืนครก กำลังทำท่าโจมตีเข้าไปในมหาวิทยาลัย คือภาพของตำรวจตระเวนชายแดนนั่นเอง (“อาวุธปืนในภาพที่มีคนแบกอยู่กับอาวุธปืนที่ติดกล้องเล็งขนาดใหญ่นั้น เป็นอาวุธปืน ปรส. ภาพตำรวจที่แบกอาวุธปืน ปรส.นั้นเป็นตำรวจตระเวนชายแดน”, ส.ต.อ.อากาศ ให้การ)

ถ้านับจำนวนตำรวจหน่วยพลร่มเฉพาะในสังกัดเดียวกับ ส.ต.อ.อากาศ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการ 50-60 คน รวมกับตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่สล้าง   บุนนาคนำมา และตำรวจแผนกอาวุธพิเศษ หรือหน่วย “สวาท” ทั้งแผนกอีก 45 คน (ตามคำให้การในคดี 6 ตุลาของพ.ต.ต.สพรั่ง จุลปาธรณ์ สารวัตรประจำแผนก ซึ่งขึ้นต่อกองกำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) ก็เท่ากับว่าในเช้าวันนั้นเฉพาะกำลังส่วนที่ติดอาวุธหนักและร้ายแรงที่สุดของกรมตำรวจ 3 หน่วยนี้ที่ถูกใช้ในการโจมตีก็มีถึง 300 คน ถ้ามีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นนอกจากหน่วยพลร่มเข้าร่วมด้วย   ตัวเลขนี้ก็จะสูงขึ้นและ “อำนาจการยิง” (fire power) ก็ย่อมเพิ่มขึ้นอีกมาก (ดูข้างล่าง) นอกจากนี้ยังมีตำรวจจาก สน.และหน่วยงานอื่นๆอีกไม่ทราบจำนวนแต่น่าจะเป็นไปได้ที่มีตั้งแต่ 50 ถึง 100 คน (ผมคิดว่านี่เป็นการประเมินแบบต่ำที่สุดแล้ว) รวมแล้วแสดงว่ามีตำรวจอย่างต่ำ 400 คน

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุม ที่ถูกจับได้ 3,000 คน และที่หนีไปได้ซึ่งน่าจะไม่เกิน 1,000-2,000 คน (ประเมินแบบสูง) ก็หมายความว่า สัดส่วนของตำรวจต่อผู้ชุมนุมอยู่ในระดับที่สูงมากในฝ่ายตำรวจ คือ ตำรวจ 1 คนพร้อมอาวุธครบครันสำหรับผู้ชุมนุมเพียง 10-12 คน โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุดของผู้ชุมนุมเป็นเพียงนักศึกษา และแทบทุกคนไม่มีอาวุธ และนี่ยังไม่นับรวมพวกไม่ใส่เครื่องแบบ (ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิงแดง, ฯลฯ) ที่เข้าร่วม “ปฏิบัติการ” กับตำรวจด้วย

เฉพาะการเปรียบเทียบตัวเลขง่ายๆแบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่ากรณี 6 ตุลา เป็นการ “ล้อมปราบ” หรือ “รุมทำร้าย” อย่างแท้จริง

ขอให้เรากลับมาพิจารณาตำรวจพลร่มตระเวนชายแดนกันต่อ ตำรวจพลร่มเป็นหน่วยงานระดับกองกำกับการ (sub-division) ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีชื่อทางการว่า “กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ” เราไม่มีหลักฐานว่าตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นได้ถูกระดมเข้าร่วมในการโจมตีด้วยหรือไม่ (หน่วยงานหลักที่เหลืออีก 7 หน่วยของ บช.ตชด. เป็นระดับกองบังคับการ (division) ได้แก่กองบังคับการ ตชด.ภาคต่างๆ เช่น ภาค 1 คุมพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด) ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักรยอมรับในคำให้การของตนว่าตำรวจในรูปถ่ายที่แบกปืน ปรส.เล็งยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้นเป็น ตชด. แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าเป็นหน่วยของตน จึงมีเหตุผลที่เราจะตั้งสมมุติฐานได้ว่าคงมีหน่วยตชด.อื่นเข้าร่วมด้วย

ในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีก่อน (มติชนสุดสัปดาห์, 7 ตุลาคม 2537) มนัส สัตยารักษ์ นายตำรวจนักเขียนที่รู้จักกันดี ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ ตชด. ที่เขาเห็นในเช้าวันนั้นไว้อย่างน่าสนใจ ขณะเกิดเหตุ มนัสเป็นสารวัตรคนหนึ่งของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม นั่นคืออยู่ภายใต้สล้าง บุนนาค ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการ 2 โดยตรง สล้างเองกล่าวไว้ในคำให้การของตนว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯที่วางกำลังไว้ที่สนามหลวง มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรกว่า 10 คน [เช่น]….ร้อยตำรวจเอกมนัส สัตยารักษ์” แต่มนัสไม่เพียงแต่ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลนี้หรือชื่อสล้างไว้ในบันทึกของเขาเลย       เท่านั้น ยังเขียนทำนองว่าเขาไปที่นั่นเอง ไม่มีใครสั่ง ซึ่งน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่าง มนัสเขียนว่า:

ผมพบ พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ผู้บังคับการกองปราบปราม กับกำลัง ตำรวจจำนวนหนึ่งที่ระเบียงด้านหน้าหอประชุม เมื่อเสียงปืน ค. ของ ตชด.   คำรามขึ้นทีไร กระจกหอประชุมจะแตกหล่นกราวลงมาใส่ท่านทีนั้น ผมภูมิใจมากที่มีโอกาสได้นอนทับตัวท่านเพื่อบังเศษกระจกไว้

ผมขอให้ท่านสั่งหยุดยิง

“ผมสั่งแล้ว!” ท่านตอบทันที “มนัส คุณวิ่งไปบอกด้วยตัวเองอีกที”

ผมวิ่งไปยังกลุ่มตำรวจชายแดน 4-5 นายที่ดูเหมือนจะบันเทิงอยู่กับอาวุธปืน ค. ซึ่งปลายลำกล้องชี้ไปทางอาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผมบอกว่าผู้บังคับการกองปราบปรามสั่งให้หยุดยิง

“กระสุนดัมมี่ครับ ไม่ใช่กระสุนจริง” พวกเขาไม่ฟังเสียงหันไปทางปืนและเสียงปืนก็คำรามขึ้นอีก

ผมย้ำอีกครั้ง “ผู้การสั่งให้หยุดยิง!”

สิ้นเสียงผมเสียงปืนสนั่นในทันที! เราต่อปากต่อคำกันไม่นานผมก็ถอย พวกเขาเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย อ้างว่าผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งให้ยิง ยศ พ.ต.ต. ของผมกับคำสั่งของพล.ต.ต.นอกหน่วยไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา

ผมวิ่งกลับมาที่ระเบียงหอประชุม ถึงไม่รายงานท่านผู้การก็รู้ว่าสภาพของเหตุการณ์มันถึงขั้นอยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว การปฏิบัติการต่างๆกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเสียแล้ว….

การระดมเอาตำรวจพลร่มและ(อาจจะ)ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆมาช่วยในการโจมตีธรรมศาสตร์นี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปรกติอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติของราชการด้วย เพราะหน้าที่ของหน่วยพลร่มคือการทำสงครามนอกแบบในชนบท อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาประวัติความเป็นมาของทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนโดยทั่วไป ก็จะพบว่านี่เป็นหน่วยงานตำรวจที่อาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุด

ทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นในระยะพร้อมๆกันในช่วงที่พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีตำรวจในทศวรรษ 2490 ในทางยุทธการ ตำรวจพลร่มจะขึ้นต่อ บช.ตชด. แต่ในทางปฏิบัติ มีความเป็นเอกเทศสูง อันที่จริง พลร่มเป็น (ตามคำของ พิมพ์ไทย สมัย 2500) “กำลังตำรวจสำคัญที่สุดในยุคจอมอัศวินเผ่า” ถูกสร้างขึ้นด้วยคำแนะนำและการช่วยเหลือด้านเงิน, การฝึกและอาวุธจากองค์การซีไอเอ โดยผ่านบริษัท      บังหน้า “ซีซับพลาย” (SEA Supply) ที่ซีไอเอตั้งขึ้น ทำให้มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทันสมัยยิ่งกว่าทหารบกภายใต้สฤษดิ์คู่ปรับของเผ่าในสมัยนั้น เผ่าสร้าง      หน่วยงาน “ตำรวจ” ที่เป็นมากกว่าตำรวจในลักษณะนี้อีกหลายหน่วย เช่น   “ตำรวจยานยนต์” (ซึ่งมีรถถังใช้!), ตำรวจรักษาดินแดน (ร.ด.) และกองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดน (บช.รช.) สองหน่วยหลังนี้ถูกรวมเข้าเป็นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในปี 2498

เมื่อสฤษดิ์รัฐประหารในปี 2500 ก็ทำการแยกสลายและยุบกำลังเหล่านี้ บช.ตชด.ถูกยกเลิกแล้วจัดตั้งเป็น “กองบัญชาการชายแดน” แทน ต่อมาก็ย้ายตำรวจชายแดนไปขึ้นต่อกองบัญชาการตำรวจภูธร ในส่วนตำรวจพลร่ม  ในสัปดาห์แรกหลังรัฐประหารเกือบจะเกิดการปะทะกับทหารบกของสฤษดิ์ที่พยายามไปปลดอาวุธ “กองพันตำรวจเสือดำ (ฉายาที่นสพ.ตั้งให้พลร่ม) ตั้งป้อมฝังระเบิดเวลารอบค่ายเตรียมรับทหาร ยกกองหนีเข้าป่า ทหารไม่กล้าตาม” เป็นพาดหัวข่าวของ พิมพ์ไทย สมัยนั้น แต่ในที่สุด กำลังของหน่วยพลร่มก็ถูกโยกย้ายกระจายกันไปตามหน่วยงานอื่นๆ (ไม่แน่ชัดว่าหน่วยงานพลร่มถูกเลิกไปเลยหรือลดฐานะไปขึ้นกับหน่วยอื่น)

เมื่อคณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศรื้อฟื้นจัดตั้ง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นใหม่ในปี 2515 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป   เกิดองค์ประกอบใหม่หลายอย่างขึ้นในการเมืองไทย เช่น การต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท. แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สฤษดิ์ในระหว่างครองอำนาจได้รื้อฟื้นและขยายสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างใหญ่หลวง (ดูรายละเอียดในหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ)บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มในสมัยนั้นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทและการต่อต้านการก่อการร้าย เช่น ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ชาวเขาในเขตยุทธศาสตร์ด้วยพระองค์เอง ในปี 2509 เริ่มมีการบริจาคเงินทูลเกล้าฯถวายเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก เข้าใจว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าไปใกล้ชิดกับตำรวจตระเวนชายแดน

สมัยนี้เองที่มีการพยายามสร้างภาพ “โรแมนติก” ให้กับตชด. เช่น ด้วยเพลง “โอ้ชีวิตเรา อยู่ตามเขาลำเนาป่า ตระเวนชายแดน เหมือนดังพรานล่องพนา ต้องนอนกลางดิน ต้องกินล้วนอาหารมีในป่า…” (ในลักษณะเดียวกับที่ภายหลังมีการพยายามสร้างภาพ “โรแมนติก” ให้เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยเพลง “จากยอดดอยแดนไกลใครจะเห็น ยากลำเค็ญเพียงใดใจยังมั่น จะปกป้องผองไทยชั่วนิรันดร์ สิ้นชีวันก็ยังห่วงหวงแผ่นดิน…”)

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับตชด. แสดงออกอย่างรวมศูนย์ที่สุดที่การจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านในปี 2514 ในฐานะกิจกรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ที่ดำเนินงานโดยตชด. เมื่อถึงปี 2519 รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการลูกเสือชาวบ้านก็คือ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เข้าไปประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ตามคำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์) ว่า “จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” นั่นเอง

ผมขอทบทวนสิ่งที่ได้เสนอไปแล้ว ดังนี้ กำลังติดอาวุธที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีทั้งส่วนที่มีเครื่องแบบและไม่มีเครื่องแบบ ในขณะที่พวกไม่มีเครื่องแบบ (ซึ่งอาจเป็นเพียงอยู่นอกเครื่องแบบหรือเป็นอดีตทหารตำรวจ) เป็นผู้รับผิดชอบต่อทารุณกรรมต่างๆที่นิยาม 6 ตุลา ในความทรงจำของคนทั่วไป, พวกมีเครื่องแบบคือกำลังหลักที่แท้จริงที่เปิดฉากการฆ่าหมู่นองเลือด ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ต่างกับกรณี 14 ตุลาและ 17 พฤษภา พวกมีเครื่องแบบในเช้าวันนั้นล้วนแต่เป็นตำรวจทั้งสิ้นไม่ใช่ทหาร เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า ตำรวจเกือบทุกหน่วยถูกระดมมาร่วมรุมทำร้ายผู้ชุมนุมในเช้าวันนั้น อย่างไรก็ตาม ผมเสนอว่ากำลังที่สำคัญที่สุดคือตำรวจแผนกปราบจลาจล 200 คนที่นำโดยสล้าง บุนนาค, ตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆอีกไม่ต่ำกว่า 50-60 คน ซึ่งใช้อาวุธหนัก เช่น ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังและปืนครก และตำรวจหน่วย “สวาท” ทั้งแผนกอีก 45 คน

ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่าบทบาทของสล้างในวันที่ 6 ตุลาไม่ใช่บทบาทของเจ้าพนักงานระดับล่างที่ทำตามคำสั่งแต่เป็นบทบาทของนักเคลื่อน ไหวฝ่ายขวาที่มุ่งทำลายขบวนการนักศึกษา (แบบเดียวกับจำลอง ศรีเมืองในช่วงนั้น) เช่นเดียวกัน การระดมตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรหัวหินซึ่งมีหน้าที่ในการทำสงครามนอกแบบในชนบทเข้ามาปราบนักศึกษาในกรุงเทพเป็นเรื่องที่ผิดปกติและผิดวิธีปฏิบัติราชการอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถ้าดูจากวิวัฒนาการของตำรวจตระเวนชายแดนที่มีลักษณะการเมืองสูง (highly politicized) จากการเป็นกำลังที่เผ่า ศรียานนท์ตั้งขึ้นเป็นฐานอำนาจตัวเอง จนกลายมาเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกิจการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุ-เคราะห์

เหนืออื่นใดเราต้องไม่ลืมว่าการโจมตีธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เป็นคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช เป็นความจริงที่ว่า ในค่ำวันที่ 5 ตุลาคม รัฐบาลเสนีย์ได้ “สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน” การแสดงที่ธรรมศาสตร์ที่ “มีลักษณะไปในทางดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท…อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย….เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้” (คำแถลงของเสนีย์ทางสถานีโทรทัศน์เวลา       22.15 น. น่าสังเกตว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลา 21.40 น. กล่าวเพียงว่า “ให้กรมตำรวจดำเนินการสืบสวนและสอบสวนกรณีนี้โดยด่วน” ไม่มี “อันเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ…” และ “เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้”)

แต่หาก “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ปฏิบัติหน้าที่ “สืบสวนสอบสวน” ตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ ก็ย่อมไม่เกิดกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม เพราะผู้ที่อยู่ในข่ายเป็น “ผู้ต้องหา” คือกรรมการศูนย์นิสิตและผู้จัดการแสดงละครก็ได้แสดงความจำนงยินดีเข้าพบกับรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการ “สืบสวนสอบสวน”ได้ตั้งแต่คืนวันที่ 5 แล้ว ไม่เฉพาะแต่บทบาทอันน่าสงสัยของสล้างและการสั่งเคลื่อนกำลัง ตชด.เข้ากรุงเทพเท่านั้น การระดมกำลังทั้งกรมตำรวจเข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ ไม่สามารถอ้างได้เลยว่าเป็นการ “สืบสวนสอบสวน” ตามกฎหมาย ใครคือผู้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นนั้น?

ทั้งสล้าง บุนนาค และมนัส สัตยารักษ์ ได้เล่าไว้ในคำให้การและบันทึกความทรงจำของแต่ละคนว่า เช้าวันนั้นอธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ ได้มีคำสั่งให้ตำรวจ “เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุมและให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร” สล้างอ้างว่าศรีสุข “สั่งมาทางวิทยุ” แต่ “มีนายตำรวจมาบอก (ผม) ด้วยวาจา” ที่หน้าธรรมศาสตร์ ส่วนมนัสอ้างว่าได้ยินการทบทวนคำสั่งทางวิทยุในรถสายตรวจที่เขาโดยสารมา อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวถ้ามีจริง ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนสายมากแล้ว (สล้าง: “เวลาประมาณ 8 นาฬิกา”) ในลักษณะที่เป็นคำสั่ง “ตรายาง” ที่ประทับ “ความชอบธรรม” ให้กับการล้อมปราบที่ได้ดำเนินไปแล้วหลายชั่วโมง ในความเป็นจริง หลักฐานที่มีอยู่     บ่งชี้ว่า บทบาทของศรีสุขในวันนั้นถ้าจะมี ก็เป็นแบบ “ตรายาง” มากกว่า ตัวศรีสุขเองไม่ได้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุด้วยซ้ำ

ตามการแถลงยอมรับด้วยตัวเองและตามคำให้การและบันทึกความ  ทรงจำของคนอื่น ผู้สั่งการที่แท้จริงในเช้าวันนั้นไม่ใช่ศรีสุข แต่คือพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ ผู้มีตำแหน่งทางการเป็นเพียงรองอธิบดีกรมตำรวจ

จดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ได้บรรยายถึงเหตุการณ์เล็กๆอันหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงบทบาทที่ต่างกันของสองคนในเช้าวันนั้นอย่างเห็นภาพดังนี้:

ก่อนเที่ยงที่การโต้เถียงเรื่องจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ  ทั้งๆที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร้องไห้โฮๆว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรงระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายแยะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและตชด.เข้าไปปราบปราม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า “ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี” อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า “ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน” รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้า สงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมอง พล.ต.ท.ชุมพลนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป

ก่อนเข้าไปแสดงบท “ร้องไห้โฮๆ” ในที่ประชุม ครม. ชุมพลอยู่ควบคุมการโจมตีธรรมศาสตร์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตลอดเวลา สล้าง บุนนาคเองกล่าวว่า “พล.ต.ท.ชุมพล เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ณ ที่นั้น”

เพียง 30 ชั่วโมงเศษหลังการปราบปราม (21.30 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2519) ชุมพลได้มาออกรายการ “สนทนาประชาธิปไตย” ของดุสิต ศิริวรรณทางทีวีอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าขณะนั้นจะอยู่ในช่วงบรรยากาศของความดีอกดีใจของกลุ่มพลังฝ่ายขวาและนัยยะและผลสะเทือนของความโหดเหี้ยมทารุณของวันก่อนหน้านั้นยังไม่เป็นที่รู้สึกกันมากนัก ก็เห็นได้ว่าชุมพลเริ่มพยายามวาดภาพ “การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” ให้กับการกระทำที่ผิดกฎหมายของตำรวจ แต่ช่องโหว่และความไม่สมเหตุสมผลในภาพที่วาดขึ้น ยิ่งทำให้มองเห็นบทบาทอันแท้จริงของชุมพลเอง

ในขณะที่มีการยิงตอบโต้กันอยู่ เป็นเวลาเดียวกับที่มีคนบาดเจ็บวิ่งกระเสือกกระสนออกมา ที่ถูกประชาทัณฑ์นั้น ผมเศร้าใจมากที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เหตุการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตำรวจไม่ได้รู้เห็นเป็นใจให้ฝูงชนเหล่านั้นรุมประชาทัณฑ์ผู้บาดเจ็บเลย

ทุกคนรู้ดีว่า ต่อให้ตำรวจ “ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ” จริงๆ การ “รุมประชาทัณฑ์ผู้บาดเจ็บ” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การที่ตำรวจปล่อยให้ “เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น” โดยไม่มีความพยายามที่จะเข้าจับกุม “ฝูงชน” เหล่านั้นเลย ก็เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดทั้งทางกฎหมายและทางวินัย ถ้าจะอ้างว่ายากจะจับใครใน “ฝูงชน” เหล่านั้นได้ก็ย่อมฟังไม่ขึ้น: ชายที่เอาเก้าอี้ฟาดศพที่ห้อยแขวนคออยู่หลายครั้ง หรืออีกคนที่เอาลิ่มตอกอกหลายศพ ไม่มีเวลาหรือตัวตนแน่นอนให้จับ? ต่อให้ไม่จับทันทีในวันนั้น มีภาพถ่ายที่เห็นชัดเจนขนาดนั้นก็สามารถตามจับได้ง่ายๆในภายหลัง

ชุมพลเล่าว่า:

ได้รับรายงานจากตำรวจเมื่อเช้าวันที่ 5 ว่ามีประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจกับการที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาจัดแสดงล้อเลียนการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม    โดยบุคคลที่นำมาเป็นตัวแสดงนั้น มีหน้าตาคล้ายพระพักตร์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ดังภาพที่ปรากฏจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จึงได้ไปดูภาพแขวนคอที่ธรรมศาสตร์จากหนังสือพิมพ์ หลายฉบับ ก็เห็นว่ามีลักษณะคล้ายๆกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจริง  จึงรีบเดินทางไปหานายกรัฐมนตรีที่บ้านพร้อมกับอธิบดีกรมตำรวจ ตอนนั้นเห็นจะเป็นเวลาสัก 15 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีท่านก็ร้อนใจเหมือนกัน และได้พยายามตามหาตัวผม ท่านต้องการให้ผมรับเอาเอาสารมาให้ดู เราก็นำภาพมาดูกัน ทุกคนก็มีความเห็นว่าเหมือนมาก และการที่เล่นนั้นก็มิใช่มีแต่เพียงการแขวนคอ ยังมีการใช้ถ้อยคำว่า “ยังจำได้ไหม..หนี้เลือดที่ยังไม่ชดใช้” อยู่ด้วย ก็เห็นกันว่าการที่เล่นละครล้อในลักษณะเช่นนี้ น่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายกรัฐมนตรีท่านก็สั่งการให้ตำรวจดำเนินการทันที ผมเองก็รู้สึกว่าต้องดำเนินการแน่ แต่จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการสอบสวน สุจริตยุติธรรม ถึงแม้ว่าในกรณีนี้จะเป็นการหมิ่นต่อสมเด็จพระบรมฯ ในทางปฏิบัติเราก็ต้องพยายาม ทำให้ดี ก็ได้คิดกันว่าในเรื่องนี้ควรจะแถลงทางโทรทัศน์ว่ารัฐบาลตกลงใจจะทำอะไร

ทางตำรวจได้รีบดำเนินการเรื่องนี้ในคืนวันนั้นทันที โดยได้ติดตามสอบคนที่รู้เห็นทันทีว่าเขาทำอะไรกัน เขามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ที่ทำนั้นมีความประสงค์อย่างไร ได้สอบอาจารย์ที่เกี่ยวข้องมีส่วนรู้เห็นในวันที่เกิดเหตุ…โดยเชิญอาจารย์ผู้หญิงสองสามท่านมาสอบในตอนตีหนึ่ง ได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ก็เห็นว่า การแต่งหน้าให้เหมือนทำไปทำไม การแต่งกายให้เหมือนสมเด็จพระบรมฯทำไม คนอื่นที่เห็นแล้วมีความรู้สึก แม้แต่อาจารย์ที่เชิญมาสอบก็มีความรู้สึกว่าแบบนี้ทนไม่ได้ บอกว่าถ้ามีระเบิดอยู่ในมืออยากจะขว้างฆ่าเสียให้ตาย นี่เป็นความคิดของอาจารย์ที่เชิญมาสอบ และเมื่อดูภาพประกอบต่างๆแล้วก็วินิจฉัยว่า เป็นการจงใจที่จะทำให้เหมือน สมเด็จพระบรมฯ

ไม่ใช่ความลับอะไรที่พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ คือผู้ควบคุมการโจมตี ธรรมศาสตร์ของตำรวจในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ที่ผ่านมางานเขียนเกี่ยวกับ 6 ตุลาไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับข้อเท็จจริงนี้ เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่ว่ากำลังในเครื่องแบบที่โจมตีในเช้าวันนั้นเป็นตำรวจล้วนๆไม่ใช่ทหาร บางครั้งถึงกับมีการพูดถึง “การใช้กำลังทหารตำรวจปราบปรามประชาชนในวันที่ 6 ตุลา” ผมขอเสนอว่าการเคร่งครัดในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการหาความจริงของเหตุการณ์ในวันนั้น (ในลักษณะเดียวกับการหาความจริงของการปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาในเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “วันมหาวิปโยค”; ดู “การชำระ  ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ในหนังสือเล่มนี้)

ประการต่อมา ดังที่ผมได้กล่าวแล้วว่า สิ่งที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไปคือทารุณกรรมต่างๆต่อผู้ชุมนุมซึ่งเป็นฝีมือของกำลังที่ไม่อยู่ในเครื่องแบบ (ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิงแดง) ทำให้งานเขียนเกี่ยวกับ  6 ตุลามีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับพวกนี้ จนถึงกับ (ในความเห็นผม) เกิดเป็นภาพรวมที่คลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น ในบทความที่มีชื่อเสียงของเบน แอนเดอร์สัน นักวิชาการอเมริกัน (ซึ่งเพิ่งได้รับการแปลเป็นไทยเมื่อเร็วๆนี้) เมื่อกล่าวถึง “คนร้าย…ผู้ก่อความป่าเถื่อนในวันที่ 6 ตุลาคมโดยตรง” ก็กล่าวถึงแต่เพียงกระทิงแดงกับลูกเสือชาวบ้าน หรือในสารคดี “ย้อนรอย 6 ตุลาคม 2519” ที่นำออกฉายทางไอทีวีในโอกาสครบรอบ 23 ปีของเหตุการณ์ก็ให้ความรู้สึกว่าเน้นที่กลุ่มพลังฝ่ายขวามากกว่าตำรวจ

ประการสุดท้ายซึ่งต่อเนื่องมาคือบทบาทของชุมพลเอง แม้จะมีการกล่าวถึงในจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นกับแผนรัฐประหารและ/หรือเป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งของขบวนการฝ่ายขวาที่ต้องการทำลายล้างขบวนการนักศึกษา (การแสดงบท “ร้องไห้โฮๆ”) แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับความสนใจเลยในงานที่พูดถึง 6 ตุลา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายขวาคนอื่นๆ เช่น สุดสาย หัสดิน, อุทาร สนิทวงศ์, ผู้นำพรรคชาติไทย (ประมาณ, ชาติชาย), หรือแม้แต่สมัคร สุนทรเวช ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดไม่เคยมีการสัมภาษณ์หรือพยายามสัมภาษณ์หรือกระทั่งพูดพาดพิงถึงชุมพลในลักษณะเดียวกับที่ทำกับคนเหล่านั้น ผมคิดว่านี่เป็นความผิดพลาด เพราะถ้าเราจะมองในลักษณะว่ามีใครสักคนหรือไม่ที่สมควรต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่อการฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์ ก็มีเหตุผลอันหนักแน่นที่จะเสนอว่าชุมพล โลหะชาละคือคนผู้นั้น นอกจากนี้ ถ้าเราพิจารณาประวัติความเป็นมาของชุมพล จะพบว่าเขามีสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่ช่วยให้เราเข้าใจเบื้องหลังของเหตุการณ์ 6 ตุลาได้ชัดเจนขึ้น

ผมจะกลับมาที่ประเด็นหลังสุดนี้ข้างล่าง ก่อนอื่น ขอให้เรากลับไปฟังคำชี้แจงของชุมพลเองเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ต่อจากที่ยกมาข้างต้น ชุมพลเล่าว่า หลังจากได้ “วินิจฉัยว่า (การแสดงละครวันที่ 4 ตุลาคม) เป็นการจงใจที่จะทำให้เหมือนสมเด็จพระบรมฯ” แล้ว…ได้เรียนหารือกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีนายสุธรรม แสงประทุมกับผู้แสดง ซึ่งถ้าจะบุกเข้าจับกุมตัวในธรรมศาสตร์ก็กระทำได้ ซึ่งถ้าถึงขั้นแตกหักก็พร้อมที่จะดำเนินการ แต่ก็ได้เรียนนายกฯว่าให้ทำตามขั้นตอน ให้แจ้งดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมามอบตัว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงขอให้ดร.นิพนธ์ ศศิธรไปติดต่อให้ ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ ผมจึงเสนอว่าถ้าหากติดต่อไม่ได้ ขอเสนอหลักเกณฑ์ 2 ประการคือ กำหนดเส้นตาย 7 โมงเช้า โดย 7 โมงเช้าก็จะโทรศัพท์ติดต่อกับ ดร.ป๋วย ให้ดร.ป๋วยทำงานให้เสร็จใน 7 โมงเช้าให้ได้ มิฉะนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปขอตัวผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในตอนดึกก็ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อย เป็นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่และตำรวจกองปราบ ไปปิดประตูทางเข้าออกธรรมศาสตร์ทุกประตูและที่พิพิธภัณฑ์ เรือตำรวจน้ำป้องกันทางออกด้านริมน้ำ

พอถึง 05.00 น. ซึ่งในคืนนั้นประชุมอยู่ตลอดคืนและประจำที่พิพิธภัณฑ์ ตั้งกองอำนวยการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ได้จัดรถดับเพลิง เรือดับเพลิง รถพยาบาล เตรียมไว้ ก็รอเวลาอยู่ พอ 05.00 น. อาจารย์เจริญ คันธวงศ์ โทรศัพท์มาถึงผมและแจ้งให้ทราบว่า กรรมการศูนย์นิสิตคนหนึ่งมาแจ้งให้อาจารย์เจริญติดต่อผม เพื่อที่จะให้นายสุธรรมและคณะได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับนายกรัฐมนตรี….เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ผมก็จัด พ.ต.ท.ธีรชัย เหรียญเจริญ กับผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ให้แต่งตัวนอกเครื่องแบบไปรออยู่ที่ประตูท่าพระจันทร์ นัดกันเวลา 07.00 น. ในช่วง 06.00 น. ผมเดินทางทางไปพบนายกฯที่บ้านพร้อมกับอตร.

ขณะเดินทางไปหานายกฯเวลา 06.00 น.เศษใกล้ 07.00 น. ฟังวิทยุรายงานว่ามีกลุ่มคนบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ ทางข้างในจึงยิงตอบโต้ออกมา ก็กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะทำเกินกว่าเหตุ ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่อย่าไปยิงโต้ตอบ พอไปถึงบ้านนายกฯก็ทราบว่านายสุธรรมกับพวก กำลังเดินทางมาพบนายกฯ  เกิดยิงเป็นการใหญ่ (ที่ธรรมศาสตร์) จึงตกลงกับอตร.ดูแลเรื่องนายสุธรรม  ส่วนผมรีบเดินทางกลับธรรมศาสตร์

พอถึงธรรมศาสตร์ก็มีประชาชนเริ่มเข้าไปบ้างแล้ว ผมก็เห็นว่าคงจะไม่ได้แล้ว ถ้ามัวเจรจากันอยู่ มันคงเจรจาไม่ได้ในที่สุด ผมก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าธรรมศาสตร์ เพราะถ้าปล่อยให้ชาวบ้านบุกเข้าไปแล้วถูกยิง ก็จะกลายเป็นว่าแทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคุ้มครองสถานที่ราชการหรือรีบเข้าไปแก้ไขปัญหาก็กลายเป็นว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าที่จะคุ้มครองประชาชนที่จะเข้าไปข้างใน เหตุการณ์รุนแรง ก่อนจะเข้าไปเราก็จะขอร้องทางสถานีวิทยุกระจายเสียงขอให้ทางข้างในอย่ายิงตอบโต้ออกมา ขอให้ออกมามอบตัวโดยดี ก็ได้พูดทางวิทยุขอร้อง แต่ก็มีการยิงปืนโต้ตอบออกมา ตำรวจก็บุกเข้าไป  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีแต่อาวุธปืนพก ปืนคาร์ไบน์ ส่วนทางบ้านนายกฯ อตร.ก็เอาตัวนายสุธรรมไปสอบสวนที่กองปราบ ผมก็คอยบัญชาการ (ที่ธรรมศาสตร์) ไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ในขณะที่มีการยิงโต้ตอบกันอยู่ เป็นเวลาเดียวกับที่มีคนบาดเจ็บวิ่งกระเสือกกระสนออกมา ที่ถูกประชาทัณฑ์นั้น ผมเศร้าใจมากที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น เหตุการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตำรวจไม่ได้รู้เห็นเป็นใจให้ฝูงชนเหล่านั้นรุมประชาทัณฑ์ ผู้บาดเจ็บเลย….

ใครที่เคยอ่านจดหมายของสุรินทร์แล้วรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่” อายุมากขนาดชุมพลจะไปแสดงบท “ร้องไห้โฮๆ” หลอกครม.ได้ ขอให้อ่านคำชี้แจงของเขาเองข้างต้น: “เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแต่อาวุธปืนพก ปืนคาร์ไบน์”!เช่นเดียวกับที่สล้างโกหกต่อศาลทหารว่าไม่ได้กระชากโทรศัพท์จากมือป๋วย (แต่เพิ่งมายอมรับเมื่อเร็วๆนี้) การโกหกของชุมพลในเรื่องอาวุธที่ตำรวจใช้ในวันนั้น ทำให้เราสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่า ส่วนอื่นๆในคำชี้แจงของเขาน่าจะไม่จริงด้วย เช่น ที่เขาอ้างว่าเพิ่งได้รับแจ้งจากเจริญ คันธวงศ์ เมื่อเวลาตีห้าว่าสุธรรมกับพวกยินดีเข้าพบรัฐบาลเพื่อชี้แจงเรื่องการแสดงละคร ทั้งๆที่สุธรรมได้ติดต่อกับเจริญไปตั้งแต่คืนก่อนหน้านั้นซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็รับทราบแล้ว (ดูจดหมายสุรินทร์ฉบับแรก สุรินทร์ได้รับโทรศัพท์จากเจริญเรื่องสุธรรมเมื่อประมาณสี่ทุ่มเศษ แล้วสุรินทร์ให้เจริญโทรศัพท์ไปแจ้งเสนีย์) แต่ต่อให้เพิ่งได้รับแจ้งตอนตีห้าจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเหลืออยู่สำหรับการที่ตำรวจจะต้องปิดล้อมธรรมศาสตร์อีกต่อไป อย่าว่าแต่การบุกเข้าโจมตี

อันที่จริง วิธีการปิดล้อมที่ชุมพลใช้ (“ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อย….ไปปิดประตูทางเข้าออกธรรมศาสตร์ทุกประตูและที่พิพิธภัณฑ์ เรือตำรวจน้ำป้องกันทางออกด้านริมน้ำ”) ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าชุมพลต้องการสืบสวนสอบสวนเรื่องการแสดงละครตามระเบียบจริงๆก็เพียงแต่เดินเข้าไปติดต่อขอพบตัวสุธรรมหรือกรรมการศูนย์นิสิตในธรรมศาสตร์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ “บุกเข้าจับกุมตัวในธรรมศาสตร์…ถึงขั้นแตกหัก” หรือ “กำหนดเส้นตาย” ให้ป๋วย (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเลย) “นำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมามอบตัว” แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ที่แย่ที่สุดในคำชี้แจงของชุมพล คือเหตุผลที่ให้ว่าทำไมตำรวจจึงต้องบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยทั้งๆที่ได้ตัวสุธรรมกับพวกแล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ชุมพลและกำลังตำรวจภายใต้การบัญชาของเขาในเช้าวันนั้นไม่ใช่ “ผู้รักษากฎหมาย” แต่เป็น “พวกเดียวกัน” กับกลุ่มพลังฝ่ายขวา: “ผมก็เห็นว่าคงจะไม่ได้แล้ว ถ้ามัวเจรจากันอยู่ มันคงเจรจาไม่ได้ในที่สุด ผมก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าธรรมศาสตร์ เพราะถ้าปล่อยให้ชาวบ้านบุกเข้าไปแล้วถูกยิง ก็จะกลายเป็นว่า….ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าที่จะคุ้มครองประชาชนที่จะเข้าไปข้างใน”

แต่นักศึกษาประชาชนที่อยู่ข้างในซึ่ง “ชาวบ้าน” พวกนั้นจะเข้าไปเล่นงานไม่ต้องคุ้มครอง?

สรุปแล้ว หลักฐานที่มีอยู่ส่อไปในทางที่ว่า ชุมพลเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการ “ปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” แบบเดียวกับเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และ “ให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยถูกลบชื่อหายไป” แบบเดียวกับประมาณ อดิเรกสาร แต่ยิ่งกว่าสองคนนั้น เขาคือผู้ออก  คำสั่งให้ตำรวจลงมือปฏิบัติการให้ความต้องการดังกล่าวบรรลุผล. ทำไม?

ก่อนที่จะพิจารณาประวัติความเป็นมาของชุมพล เพื่อพยายามหาว่าเขามีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอะไรที่จะช่วยให้เราเข้าใจเบื้องหลังของเหตุการณ์  6 ตุลา ได้ชัดเจนขึ้นหรือไม่ ผมขอบันทึกประเด็น “เล็กๆ” ประเด็นหนึ่ง ซึ่งได้จากคำชี้แจงของชุมพลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2519

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผมมักจะสงสัยว่าผู้ที่ถูกจุดไฟเผาที่บริเวณสนามหลวง ในเช้าวันนั้นได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้วหรือถูกจับ “เผาทั้งเป็น” ขบวนการนักศึกษามักจะบอกว่าเป็นกรณีหลัง แต่ผมมักจะหวังอย่างเงียบๆว่าเป็นกรณีแรก และถ้าเข้าใจไม่ผิดก็ไม่เคยมีหลักฐานที่แน่ชัดลงไปว่าเป็นกรณีไหน จนเมื่อได้อ่านคำชี้แจงของชุมพล (ซึ่งตามความเข้าใจของผม ไม่เคยถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานกรณี 6 ตุลามาก่อน) จึงได้รับการยืนยันว่ามีการ “เผาทั้งเป็น” จริงๆ ชุมพลกล่าวถึงยอดคนตายในเหตุการณ์ที่เป็น “นักศึกษาประชาชน” ไว้ว่า “ตายในที่เกิดเหตุ 23 คน มาตายที่โรงพยาบาล…14 คน” ซึ่งในจำนวนที่ตายในที่เกิดเหตุนั้น “ตายแล้วฝูงชนเอามาเผา 2 คน ฝูงชนเอามาเผาเลย 2 คน”

ขอให้เรากลับไปที่ตัวชุมพลเอง สิ่งแรกที่ชวนให้สะดุดใจที่สุดในประวัติของเขาคือ ภูมิหลังที่มาจากครอบครัวคนจีนแบบเดียวกับทั้งป๋วย อึ๊งภากรณ์และธานินทร์ กรัยวิเชียร อีก 2 คนที่ชะตาชีวิตผูกพันอยู่กับ 6 ตุลาอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะกรณีป๋วยนั้นจัดได้ว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน ชุมพลเกิดเมื่อ  ปี 2461 หลังป๋วยเพียง 2 ปี มีชื่อเดิมเป็นภาษาจีน (แบบเดียวกับป๋วย) ว่า หงส์ ตามคำบอกเล่าของชุมพลเอง ครอบครัวของเขา (เช่นเดียวกับของป๋วย) “ฐานะไม่ดีนัก” บิดาของชุมพล (เช่นเดียวกับบิดาของป๋วย) เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก อย่างไรก็ตาม ต่างกับป๋วยซึ่งเป็นนักเรียนที่เก่งมาก (แต่เหมือนธานินทร์) ชุมพลดูเหมือนจะเรียนได้ในระดับปานกลางหรือไม่ดีนัก เขาจบประถมที่วัดสระเกศแล้วมาต่อมัธยมที่เทพศิรินทร์ เมื่อจบแล้วก็พยายามสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่ต้องสอบถึง 3 ครั้งจึงเข้าได้ ที่พยายามจะเข้าให้ได้เพราะ “มีใจรักเครื่องแบบอยู่….นึกว่าการได้แต่งเครื่องแบบสวยๆไปไหนก็มีคนต้อนรับ” จบจากโรงเรียนนายร้อยในปี 2483 เลือกรับราชการมาทางสายงานตำรวจ  สองปีต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้รัฐนิยม ชื่อหงส์ถูกถือว่าเป็นชื่อผู้หญิงจึงเปลี่ยนเป็นชุมพล

สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจในประวัติของชุมพลอย่างที่สองคือ วิถีชีวิตการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของเขามีทิศทางแบบเดียวกับวิวัฒนาการของตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการโจมตีธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาที่ผมนำมาเสนอข้างต้น (แม้ตัวชุมพลเองจะไม่เคยเป็นตำรวจพลร่มหรือตระเวนชายแดนเลย) กล่าวคือ เริ่มจากการใกล้ชิดกับ  จอมพล ป. แต่มาลงเอยที่การใกล้ชิดกับราชสำนัก

ในช่วงปีก่อนเกิดรัฐประหาร 2500 ชุมพลเป็นตำรวจสันติบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นตำรวจประจำตัวนายกรัฐมนตรี วันที่สฤษดิ์ยึดอำนาจ (16 กันยายน) จอมพล ป. รีบขับรถหนีจากกรุงเทพมุ่งหน้าไปทางเขมร ชุมพลได้ติดตามอารักขาไปด้วยถึงชายแดน จอมพล ป. ข้ามแดนไป ส่วนชุมพลเดินทาง กลับมารายงานตัวที่กรุงเทพ (ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนเล่าประสบการณ์ “หนีไปกับจอมพล” ได้อย่างน่าอ่าน ลงในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปตัย ที่มีชื่อเสียง)

อาจเป็นด้วยในขณะนั้นชุมพลเป็นเพียงตำรวจอาชีพชั้นผู้น้อย เขาจึงไม่ถูกเล่นงานจากสฤษดิ์ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2502 เมื่อสฤษดิ์เริ่มดำเนิน นโยบายรื้อฟื้นสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นระบบและอย่างขนานใหญ่ โดยหนึ่งในวิธีการที่ใช้คือสนับสนุนให้ทรงเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศ ชุมพลได้เป็นหนึ่งในผู้ตามเสด็จฯแทบจะทุกครั้งในฐานะนายตำรวจราชสำนักที่ติดตามไปในขบวนเสด็จฯ ตั้งแต่ครั้งแรก เสด็จฯ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนาม, อินโดนีเซีย, พม่า 2502-3), ครั้งสำคัญที่สุด เสด็จฯ 14 ประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา (2503-4) และการเสด็จฯออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (2505 ครั้งหลังนี้ไม่ได้ไปในขบวนเสด็จฯ แต่ไปในฐานะตำรวจสันติบาลถวายการอารักขา) ชุมพลได้นำเอาประสบการณ์ตามเสด็จฯเหล่านี้มาเขียนเล่าในสารคดีชุด “สันติบาล ตามเสด็จฯ” ความยาวหลายตอน

นอกจากนี้ เข้าใจว่า ชุมพลยังได้ตามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในประเทศด้วยหลายครั้ง เห็นได้จากในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2515 เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า “ในชีวิตการปฏิบัติราชการของท่านมีเรื่องใดที่ท่านรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดครับ” ชุมพลตอบว่า:

สิ่งที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดคือในระหว่างปี พ.ศ.2504 ผมมีหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จไปเยี่ยมราษฎรภาคใต้ ขณะที่ไปถึงจังหวัดสงขลาเขตติดต่อระหว่างอำเภอหาดใหญ่กับอำเภอสะเดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯในระหว่างเดินทางให้ผมเป็นนายตำรวจราชสำนักพิเศษซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าในกรณี 14 ตุลา ในหลวงได้ทรงเข้าแทรกแซงขอให้ถนอม-ประภาสลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ แล้วทรงตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้รัฐบาลสัญญาได้รับการขนานนามว่า “รัฐบาลพระราชทาน” อีกทั้งรัฐมนตรีบางคนก็เป็นผู้ที่ถูกเข้าใจกันทั่วไปว่าทรงไว้วางพระราชหฤทัย (เช่น นายประกอบ หุตะสิงห์) ชุมพล โลหะชาละเองได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งในสมัยสัญญา 1 (ตุลาคม 2516 – พฤษภาคม 2517) และ สัญญา 2 (พฤษภาคม 2517 – มกราคม 2518) นี่นับเป็นเรื่องค่อนข้างประหลาด เพราะขณะนั้นชุมพลยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางซึ่งต้องฟังคำสั่งและอยู่ภายใต้อธิบดีกรมตำรวจ แต่การเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยก็คือเป็นผู้บังคับบัญชาและออกคำสั่งต่ออธิบดีกรมตำรวจ! ภาวะอิหลักอิเหลื่อนี้ไม่น่าจะอธิบายได้ด้วยความ สามารถหรือคุณสมบัติของชุมพลที่ทำให้เขาก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นเจ้านายของเจ้านายตัวเอง มากเท่ากับการที่เขา, เช่นเดียวกับสัญญาและคนอื่นในคณะรัฐบาล, เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

เมื่อหมดยุคสัญญา ชุมพลกลับเป็นตำรวจอย่างเดียว (ซึ่งเท่ากับลด ตำแหน่งลงมา!) และได้เลื่อนขึ้นเป็นรองอธิบดีตำรวจในที่สุดในปี 2519 ในปีนั้นเองเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้คุมคดีฆาตกรรมการเมือง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน นิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ได้เขียนเสียดสีว่าขณะที่คดีบุญสนอง ไม่สามารถจับคนร้ายได้ คดีการเมืองอื่นที่ชุมพลคุมโดยมีนักศึกษาถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น คดี 9 นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย กลับจับผู้ต้องหาได้หมด คดีการเมืองสุดท้ายที่ชุมพลคุม ก็คือคดีฆ่าแขวนคอพนักงาน     ไฟฟ้า 2 คนที่นครปฐมขณะติดโปสเตอร์ประท้วงถนอม อันเป็นชนวนนำไปสู่ 6 ตุลานั่นเอง ราวกับเป็นการพยากรณ์ ประชาชาติ ฉบับเดียวกันนั้นซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย (ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 เข้าใจว่าน่าจะออกวันที่ 5 หรือ 6) ได้เอาภาพถ่ายโคลสอัพหน้าชุมพลขึ้นเป็นปกเต็มหน้า และพาดหัวว่า “ตำรวจ: ฆาตกรเจ้าเก่า”!