Documentation of Oct 6

การประเมินสถานการณ์ของขบวนการนักศึกษาในปี 2519: ประเมินจากปัจจุบัน

ผมจำได้แน่ๆว่าในช่วงปี 2519 ก่อน 6 ตุลา ได้รับการบอกเล่าว่า มีผู้วางแผนจะทำรัฐประหารโดยจะใช้ชื่อว่าเป็น “การปฏิรูป” น่าเสียดายที่จำไม่ได้เสียแล้วว่าใครเป็นผู้บอก แต่ที่จำได้ว่ามีการบอกแบบนี้เพราะ หนึ่ง ชื่อ “การปฏิรูป” เป็นชื่อที่แปลกและสะดุดใจที่จะใช้สำหรับการรัฐประหาร และ สอง เมื่อผมได้ยินข่าว “การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม ระหว่างที่ถูกขังอยู่ในคุกโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ผมนึกขึ้นได้ทันทีว่าเป็นสิ่งที่ตรงกับที่เคยถูกบอกไว้ ผมยังจำได้ด้วยว่าผู้ที่บอกว่าจะมีการใช้ชื่อ “การปฏิรูป” สำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไป อธิบายว่าเนื่องจากชื่อ “การปฏิวัติ” เสียเครดิตไปแล้ว ชื่อใหม่มีขึ้นเพื่อ “หลอกลวงประชาชน”

ในช่วงปี 2519 นั้น ภายในขบวนการนักศึกษาเรา มีการพูดถึงการรัฐประหารตลอดเวลา เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในขบวนการว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ “ชนชั้นปกครอง” ไม่มีทางที่จะปล่อยให้บรรยากาศประชาธิปไตยเช่นนั้นดำรงอยู่ต่อไปอีกนานนัก ผมไม่คิดว่าข่าวเรื่องจะมีการทำรัฐประหารภายใต้ชื่อ “การปฏิรูป” สร้างความตื่นเต้นหรือมีผลกระทบต่อขบวนการเป็นพิเศษอะไร แน่นอนว่า ปัจจุบันเราได้ทราบจากคำให้การของสงัด ชลออยู่ และธานินทร์ กรัยวิเชียรข้างต้นแล้วว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนั้นเป็นต้นมา มีการวางแผนจะยึดอำนาจโดยใช้ชื่อ “การปฏิรูป” จริงๆ ซึ่งแสดงว่าแม้แผนแม่บทของธานินทร์จะถูกสงัด “เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ” แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นความลับทั้งหมด (อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ต่อมาก็พิสูจน์ว่าการได้รู้ล่วงหน้าเช่นนั้นไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย)

คำให้การของสงัดและธานินทร์ยังได้ทำให้เกิดปัญหาที่น่าสนใจข้อหนึ่ง คือ ในปี 2519 ขบวนการนักศึกษาคาดการณ์กลุ่มปกครองที่จะทำรัฐประหารผิดกลุ่มหรือไม่?

ตามการประเมินของพวกเราในขณะนั้น, “ชนชั้นปกครองไทย” แบ่งออกเป็นกลุ่มสำคัญใหญ่ๆ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มกฤษณ์ สีวะราเก่า (หรือกลุ่มสี่เสาเทเวศม์), กลุ่มพรรคชาติไทย (หรือกลุ่มซอยราชครู), กลุ่มถนอม-ประภาสเก่า, และ กลุ่มที่เราเรียกว่า “ศักดินา” ซึ่งได้แก่ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และแวดวงอื่นๆที่พรรคนี้มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย.

เรามองว่าสืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา, กลุ่มกฤษณ์เก่า เป็นกลุ่มที่กุมอำนาจรัฐ โดยมีกลุ่มศักดินาเป็นพันธมิตร พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ หลัง 14 ตุลา พรรคของศักดินาอย่างกิจสังคมและประชาธิปัตย์ เล่นการเมืองเป็นรัฐบาลอยู่หน้าฉาก ขณะที่กฤษณ์ สีวะรากับพวก กุมกองทัพสนับสนุนอยู่หลังฉาก เรามองว่าที่สองกลุ่มนี้ได้ครองอำนาจก็เพราะร่วมกัน “หักหลัง” ถนอม-ประภาส ในระหว่างที่เกิด 14 ตุลา กลุ่มกฤษณ์นั้นถัดจากตัวกฤษณ์ลงมาได้แก่ บุญชัย บำรุงพงศ์ ซึ่งกฤษณ์ตั้งให้สืบตำแหน่ง ผบ.ทบ.เมื่อ 1 ตุลาคม 2518, กมล เตชะตุงคะ, เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และสงัด ชลออยู่. เสริม ณ นคร และเปรม ติณสูลานนท์ที่เป็นผบ.ทบ.ต่อจากบุญชัยตามลำดับ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้. ที่เรียกว่ากลุ่มกฤษณ์เก่า ก็เพราะตัวกฤษณ์เองตายอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 เพียงไม่กี่วันหลังจากรับตำแหน่งรมต.กลาโหมให้รัฐบาลเสนีย์ที่เพิ่งตั้งใหม่หลังการเลือกตั้ง 4 เมษายน

กลุ่มถนอม-ประภาสหรือกลุ่ม “ทรราช” เก่า คือนายทหารกุมกำลังส่วนน้อยที่เรามองว่ายังให้การสนับสนุนถนอม-ประภาสอยู่ ที่สำคัญคือ ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ในปี 2519 และเทพ กรานเลิศ กลุ่มนี้ซึ่งสูญเสียอำนาจให้กับกลุ่มกฤษณ์ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพรรคชาติไทยซึ่งเป็นกลุ่มการเมือง (ไม่ได้กุมกำลังทหาร) ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นหลัง 14 ตุลาภายใต้การนำของประมาณ อดิเรกสาร และ ชาติชาย ชุณหะวัณ

เรามองต่อไปว่า ในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกฤษณ์-ศักดินาฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มราชครู-ทรราชเก่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ฝ่ายหลังเป็น “ด้านรองของความขัด   แย้ง” คือไม่ได้เป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ทำให้มีลักษณะที่ก้าวร้าวเป็นฝ่ายรุก, เป็น “ขวา” มากกว่าฝ่ายแรก (ขอให้นึกถึงคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” ของประมาณ อดิเรกสาร) โดยเฉพาะกลุ่มพรรคชาติไทยนั้น อาศัยอำนาจทางการเมืองที่เติบโตเข้มแข้งขึ้นอย่างรวดเร็ว พยายามเข้าไปสร้างฐานอำนาจในกองทัพ  เราวิเคราะห์ว่านายทหารระดับสูงอย่างพลเอกฉลาด หิรัญศิริ เป็นคนที่ชาติไทยดึงเป็นพวกได้ แม้แต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ของกลุ่มศักดินาเอง พวกที่เราเรียกว่าประชาธิปัตย์ปีกขวา คือธรรมนูญ เทียนเงิน, สมัคร สุนทรเวช และส่งสุข ภัคเกษม ก็จัดเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของชาติไทย

ตลอดปี 2519 ขบวนการนักศึกษาเรามองว่าฝ่ายกฤษณ์เก่า-ศักดินาเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการทำรัฐประหารเพราะครองอำนาจอยู่แล้ว ขณะที่ฝ่ายชาติไทย-ทรราชเก่าพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อการรัฐประหารอยู่เสมอ ที่สำคัญที่สุดคือ การนำเอาประภาสกลับเข้าประเทศในเดือนสิงหาคม และถนอมในเดือนกันยายน

คำให้การของสงัด ชลออยู่และธานินทร์ กรัยวิเชียรข้างต้น ขณะที่ยืนยัน “ข่าวกรอง” และความเชื่อของขบวนการนักศึกษาที่ว่ามีการวางแผนจะทำรัฐประหารจริงๆในปี 2519 ก็ดูเหมือนจะชี้ให้เห็นว่า เรามองความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะมาจากกลุ่มกฤษณ์เก่า (สงัด-บุญชัย) น้อยไป (ถ้าผมจำไม่ผิดเราเกือบจะไม่ได้มองเลย) แน่นอนว่าการที่กลุ่มกฤษณ์เก่าเตรียมทำรัฐประหารไม่ได้แปลว่าฝ่ายชาติไทย-ทรราชเก่าจะไม่ได้เตรียมทำเหมือนกัน และการเข้ามาของถนอมและ 6 ตุลาจะไม่ใช่การกระทำของกลุ่มนี้ สงัดได้บอกทั้งธานินทร์และเสนีย์ ปราโมชเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าสองหรือสี่ทุ่มของคืนวันนั้นจะมี “อีกฝ่ายหนึ่ง” ทำรัฐประหาร จึงต้องชิงลงมือทำเสียเองก่อนตอนหกโมงเย็น เพื่อทำความกระจ่างในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องหันไปพิจารณาหลักฐานอื่นที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทำเช่นนั้น ยังมีสองประเด็นที่ผมจำได้ว่าการวิเคราะห์ของเราในสมัยนั้น มีความ ไม่ลงตัวนัก ซึ่งควรกล่าวถึงในที่นี้

ประเด็นแรก ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มที่เราเรียกว่า “ศักดินา” ซึ่งผมอธิบาย ข้างต้นว่าหมายถึง “ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และแวดวงอื่นๆที่พรรคนี้มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย” ปัญหาอยู่ตรงที่ส่วนหลังของคำนิยามนี้ กล่าวคือ ขณะที่ด้านหนึ่งเรามองว่ากลุ่มศักดินาโดยรวมเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา ตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และ “สภาสนามม้า” จนถึงรัฐบาลคึกฤทธิ์ ในปี 2518 และเสนีย์ในปี 2519 เรามองว่า การที่กลุ่มนี้เป็นฝ่ายได้ครองอำนาจ และโดยที่ตัวเองไม่มีกองทัพในมือโดยตรง แต่อาศัยการสนับสนุนจากกลุ่มสี่เสาเทเวศม์ (กฤษณ์-บุญชัย) ที่ขึ้นมาคุมกองทัพได้จากเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้พวกเขาไม่น่าจะเป็นพวกที่ทำรัฐประหาร (รัฐประหารเกิดจากพวกที่ยังไม่มีอำนาจ) มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มจะ “พึ่งพากำลังประชาชน” คือเอาประชาชนเป็นฐานสนับสนุนในการต่อสู้กับกลุ่มอื่นๆด้วย ซึ่งแสดงออกที่ท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะตัวคึกฤทธิ์ที่มีนโยบาย “ก้าวหน้า”, “เอียงข้างประชาชน” บางอย่าง (กรณีให้อเมริกาถอนฐานทัพ, การเปิดสัมพันธ์กับจีน, การให้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง)

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งในช่วงปี 2518-2519 ดูเหมือนว่า บางส่วนของกลุ่มศักดินา โดยเฉพาะพวกที่อยู่นอกพรรคการเมืองกิจสังคม-ประชาธิปัตย์ จะมีแนวโน้มไปทางขวามากขึ้นทุกที คือไปในทางเดียวกับพรรคชาติไทย และกลุ่มทรราชเก่า ซึ่งอันที่จริงเป็นกลุ่มที่พวกเขา “หักหลัง” โค่นอำนาจไปเองเมื่อ 14 ตุลา ตัวอย่างเช่น บทบาทของลูกเสือชาวบ้าน และการเกิดขึ้นของกลุ่มนวพล (แปลว่า “กำลังที่เก้า”: “เก้ากำลังไม่ร่นก้าวเวลา” เป็นชื่อบทกวีปี 2518 เกี่ยวกับนวพลของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์)

ประเด็นที่สอง ปัญหา “ปีกซ้ายประชาธิปัตย์” คือกลุ่มของสุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์, ชวน หลีกภัย และวีระ มุสิกพงศ์ เท่าที่ผมจำได้ เราไม่เคยอธิบายพฤติกรรมของกลุ่มนี้ได้อย่างน่าพอใจ คือไม่สามารถจัดพวกเขาให้อยู่ในกรอบทางทฤษฎีของเราในขณะนั้นได้อย่างแท้จริง ดูเหมือนจะมีการพูดๆกันว่า พวกเขาเป็น “นายทุนชาติ” ซึ่งตามทฤษฎีวิเคราะห์สังคมไทยแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาของเราในขณะนั้น จัดเป็นพวกที่มีทั้งลักษณะก้าวหน้าและปฏิกิริยาอยู่ในตัวพร้อมๆกัน แต่หลายคนก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะจัดเช่นนั้นได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ร่ำรวยเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแบบนายทุน และดูเหมือนพวกเขาจะมีความ “ก้าวหน้า” มากกว่าภาพลักษณ์นายทุนชาติที่เรามีอยู่ ผมคิดว่าปัญหาของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นคือ ในทางทฤษฎีเรามองว่าทุกคนในรัฐบาลเป็น “ชนชั้นปกครอง” ซึ่งเป็น “ศัตรูประชาชน” ที่เราต้องโค่นล้ม แต่ในทางเป็นจริงหลายคนรู้สึกว่า กลุ่มปีกซ้ายประชาธิปัตย์มีการกระทำที่เป็น “ฝ่ายประชาชน”

ผิน บัวอ่อน เคยเขียนวิพากษ์ขบวนการนักศึกษาในบทความชิ้นหนึ่งทำนองว่า ที่เกิดการนองเลือดฆ่าหมู่เมื่อ 6 ตุลาเพราะเราตัดสินใจชุมนุมยืดเยื้อตามการ “ผลักดันอย่างสำคัญ” ของปีกซ้ายประชาธิปัตย์ “การยอมให้แนวร่วมนำและไม่ยืนหยัดนำแนวร่วมในปัญหาสำคัญครั้งนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวก้าวเข้าสู่ประตูแพ้” ผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมประชุมตัดสินใจในครั้งนั้นด้วย ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเลย ไม่มีการผลักดันอะไรจากใครภายนอกขบวนการและเราก็ไม่เคยเอาความต้องการของใครภายนอกมาเป็นเหตุแห่งการตัดสินใจของเราด้วย แต่เรื่องที่เรามีปัญหาว่าควรจะมองปีกซ้ายประชาธิปัตย์อย่างไรนั้น ผมจำได้ว่ามีอยู่จริงๆ