Documentation of Oct 6

2.4 การเปลี่ยนแปลงในด้านวัฒนธรรม

อิทธิพลของแนวคิดสังคมนิยม ทำให้นักศึกษากลายเป็นแนวหน้าในการวิพากษ์วัฒนธรรมเก่าด้วยการเสนอคำขวัญ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” มาหักล้างแนวทางศิลปะแบบเก่า โดยการวิพากษ์ว่า แนวทางศิลปวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่นั้น เป็นศิลปะที่มุ่งรับใช้ชนชั้นปกครองศักดินาและทุนนิยม เพื่อจะมอมเมาให้ประชาชนพร่ามัวอยู่กับความล้าหลัง และยอมรับการครอบงำของชนชั้นปกครอง ศิลปะแนวใหม่จึงไม่ควรที่จะเป็นเช่นนั้น หากแต่จะต้องเป็นศิลปะที่รับใช้ประชาชน โดยการสะท้อนภาพความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนคนชั้นล่าง แล้วเสนอทางออกหรือแนวทางการต่อสู้ต่อคนเหล่านั้น กระแสศิลปะเพื่อชีวิตนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่องานด้านวรรณกรรม ส่วนหนึ่งก็คือการนำเอาวรรณกรรมเพื่อชีวิตเดิมที่เคยตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2490 มาตีพิมพ์ซ้ำ ต่อมาใน พ.ศ.2517 ก็ได้มีการจัดนิทรรศการเผาวรรณคดี โดยสาระคือการนำเอาวรรณคดีทั้งหลาย ที่ถือกันว่าทรงคุณค่ามาวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นด้านที่เป็นวรรณกรรมรับใช้ชนชั้นศักดินา ส่วนนิยายประโลมโลกทั้งหลายก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า มอมเมา เสนอแต่เรื่องไร้สาระ ดังนั้นขบวนการนักศึกษาจึงได้พยายามที่จะเสนอรูปแบบใหม่แห่ง “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” เข้าแทนที่ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มุ่งจะสะท้อนถึงความทุกข์ยาก และการต่อสู้ของประชาชนที่ถูกกดขี่

กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นการรื้อฟื้นกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เริ่มพัฒนาในทศวรรษที่ 2490 มีการรื้อฟื้นและตีพิมพ์ซ้ำงานเขียนของกลุ่มอักษรสาส์น งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์และนักเขียนอื่นในสมัยนั้น เช่น การตีพิมพ์งานเรื่อง ข้อคิดจากวรรณคดี ของอินทรายุธ (อัศนี พลจันทร) เรื่อง ศิลปวรรณคดีกับชีวิต ของบรรจง บรรเจิดศิลป์(อุดม สีสุวรรณ) รวมทั้งนวนิยายเพื่อชีวิต เช่น แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ปีศาจ และ ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เมืองนิมิตร ของม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ เป็นต้น แต่กระนั้น กระแสแห่งวัฒนธรรมของยุคหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็มีการลักษณะพิเศษของยุคสมัยตนเอง กรณีหนึ่งก็คือ เกิดการเฟื่องฟูของนวนิยายและหนังสือเด็กจากจีน โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ออกเป็นภาษาไทยจำนวนมาก เช่น พายุ ซึ่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเอเชียวิเคราะห์ข่าว ก่อนมีการรวมเล่ม เรื่องอื่นๆ ได้แก่ ตะเกียงแดง รุกเหนือรบใต้ เกาอี้เป่า ทหารน้อยจางก่า เดินทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เข้าโรงเรียน หยางกินซือวีรชนอมตะ และ หลิวหูหลาน เป็นต้น ซึ่งลักษณะของทุกเรื่องจะต้องสะท้อนให้เห็นซึ่งจิตใจที่เสียสละและกล้าหาญของประชาชนจีน ที่อุทิศชีวิตเพื่อชาติและเพื่อการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมอันดีงาม อันเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง

ไม่เพียงแต่การรับอิทธิพลจากช่วงทศวรรษ 2490 และการรับอิทธิพลจากจีน กระแสวัฒนธรรมเพื่อชีวิตในสมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็ได้ก่อให้เกิดการสร้างวรรณกรรมเพื่อชีวิตแห่งยุคสมัยตนเองเช่นกัน เช่น ได้เกิดการเขียนเรื่องสั้นใหม่ โดยนักเขียนรุ่นใหม่ เช่น สถาพร ศรีสัจจัง วัฒน์ วรรลยางกูร นอกจากนี้ ด้านนวนิยาย เช่น พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ของสันติ ชูธรรม พิราบแดง ของสุวัฒน์ วรดิลก ไผ่ตัน ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ตำบลช่อมะกอก ของวัฒน์ วรรลยางกูร หรือการเกิดงานแปลใหม่ เช่น คนขี่เสือ ของภวาณี ภัฏฏาจารย์ ซึ่งเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตอินเดีย เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ของนิโคไล ออฟตรอฟสกี แต่ที่เฟื่องฟูอย่างมากคือ บทกวีใหม่ที่แต่งโดย รวี โดมพระจันทร์ วิสา คัญทัพ ซึ่งได้มีการรวมเล่มตีพิมพ์ออกเป็นเล่ม

ควบคู่กับการเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรม คือการวิพากษ์ระบบการศึกษาแบบเก่าว่า เป็นการศึกษาแบบล้าหลัง รับใช้สังคมทุนนิยม และใช้ระบบแพ้คัดออก ซึ่งทำให้ชนชั้นล่างมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ยาก จึงได้มีการจัดนิทรรศการโฉมหน้าการศึกษา และชำแหละหลักสูตร เมื่อต้นปี พ.ศ.2518 ซึ่งวิพากษ์เนื้อหาการศึกษาแบบเก่า และเสนอให้จัดการศึกษาเพื่อมวลชนขึ้นแทนที่ ในขณะเดียวกัน ก็มีการพิมพ์หนังสือออกมามากมายเพื่อนำเสนอแนวคิดเช่นนี้ เช่น เรื่อง การศึกษาเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความพิมพ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2517 โรงเรียนตายแล้ว ของ ช.เขียวพุ่มพวง พิมพ์ใน พ.ศ.2518 ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี ผลสะเทือนจากการวิพากษ์แนวทางการศึกษา และการเสนอการศึกษาเพื่อมวลชน ทำให้รัฐบาลต้องยอมรับ และตั้งกรรมการพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2518

ในด้านบทเพลงและดนตรีก็เช่นเดียวกัน เพลงแบบเก่าจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพลงไม่มีเนื้อหาสาระ สะท้อนแต่เรื่องความรักส่วนตัว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ขบวนการนักศึกษาจึงได้ให้กำเนิดเพลงแบบใหม่ ที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งเป็นบทเพลงที่สะท้อนชีวิตและความทุกข์ยากของประชาชน ได้เกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตขึ้นมาในขบวนการนักศึกษามากมาย วงดนตรีเพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นมาเป็นวงแรกก็คือ วงดนตรี ท.เสนและสัญจร ใน พ.ศ.2516 ซึ่งนำโดย สุรชัย จันทิมาธร และเล่นเพลง คนกับควาย ที่แต่งโดย สมคิด สิงสง และเพลง เปิบข้าว ที่นำมาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ วงนี้ต่อมาพัฒนามาเป็นวงดนตรีคาราวาน นอกจากนี้ ก็เช่น วงดนตรีกรรมาชน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่นำเอาเพลงที่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้มาร้อง วงดนตรีโคมฉาย และวงดนตรีลูกทุ่งสัจจธรรม ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง วงดนตรีคุรุชน ของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร นอกจากนี้วงดนตรีที่มีเอกลักษณ์อันน่าสนใจคือ วงดนตรีต้นกล้า ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง

เพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากขบวนการนักศึกษา และได้กลายเป็นอาวุธอันสำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ ตลอดจนปลุกเร้าจิตใจนักศึกษาให้มีความรู้สึกกล้าต่อสู้ เพลงหลายเพลงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างจิตสำนึกรับใช้ประชาชนและความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่แก่นักศึกษา เช่น เพลง เพื่อมวลชน ที่เสนอให้นักศึกษาพลีตนเพื่อรับใช้ประชาชน เพลง ฟ้าใหม่ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวังต่อสังคมใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพลง อเมริกันอันตราย สะท้อนถึงภาระหน้าที่ในการต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา เพลง ความตายอย่างมีค่า ปลุกใจให้นักศึกษากล้าเสียสละเพื่ออุดมการณ์ และ เพลง ต้นมะขามสนามหลวง ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเผชิญหน้ากับชนชั้นปกครองที่แหลมคมมากขึ้น ส่วนเพลง อินโดจีน ก็แต่งขึ้นเพื่อสดุดีชัยชนะของประชาชนอินโดจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชนชั้นนำได้ควบคุมการเผยแพร่เพลงเพื่อชีวิตอย่างยิ่ง โดยไม่ยอมให้เพลงเหล่านี้ได้ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เลย ดนตรีเพื่อชีวิตจึงกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของขบวนการนักศึกษา จนกระทั่งถึงเวลาเมื่อเกิดกรณี 6 ตุลาคม 2519

ในวงการละครก็เช่นเดียวกัน ละครเพื่อชีวิตซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็คือ ละครพระจันทร์เสี้ยว ต่อมาก็เกิด วงตะวันเพลิง ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงแฉกดาวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ.2518 ชมรมศิลปะการละครของทุกมหาวิทยาลัย ก็หันมาจัดแสดงละครเพื่อชีวิตทั้งสิ้น จากนั้น เมื่อมีการจัดนิทรรศการหรือมีการชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ละครเพื่อชีวิต จินตลีลา และงิ้วที่ก้าวหน้า ก็จะกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจของการแสดงบนเวทีเสมอ

กลุ่มจิตรกรรมและประติมากรรมเพื่อชีวิต ที่พัฒนาขึ้นมาหลังจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็ก่อให้เกิดการการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งศิลปินฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลายได้รวมกันและได้เลือก พนม สุวรรณนาถ เป็นประธานแนวร่วมคนแรก จากนั้น ก็ได้จัดนิทรรศการชื่อ ศิลปวัฒนธรรมทาส ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2518 เพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่รับใช้ชนชั้นที่กดขี่ และเสนอศิลปวัฒนธรรมใหม่ที่รับใช้ประชาชน ต่อมาจิตรกรกลุ่มนี้เขียนภาพสะท้อนถึงปัญหาสังคมการเมืองอย่างชัดเจน ชุดภาพที่เด่นมากคือการแสดงภาพเมื่อครบรอบ 2 ปี 14 ตุลา เมื่อเดือนตุลาคม 2518 กลุ่มศิลปินได้วาดภาพคัทเอาท์ทางการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนจำนวน 48 ภาพ ออกแสดงบนเกาะกลางถนนราชดำเนินตลอดสาย ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพศิลป์ขนาดใหญ่ครั้งแรก และสร้างผลสะเทือนอย่างมากต่อวงการศิลปะในประเทศไทย