Documentation of Oct 6

5. บทบาทของสหรัฐอเมริกากับ 6 ตุลาคม

การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาได้สั่นคลอนผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีการคัดค้านการตั้งฐานทัพในประเทศไทย การต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจและการขูดรีดทรัพยากรของสหรัฐฯ รวมทั้งการเปิดโปงโทษกรรมของอเมริกาในส่วนอื่นๆ ของโลก ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ความจริงแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2493 หลังการรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยและสหรัฐฯ ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก สหรัฐฯ ได้เริ่มนำเอาระบบอุปถัมภ์เข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยการให้ความช่วยเหลือและค้ำจุนอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศไทย เช่น การที่องค์การสืบราชการลับซีไอเอ สนับสนุน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และกระทรวงกลาโหมอเมริกาสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ในสมัยจอมพลถนอมกิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร สหรัฐฯ ก็ได้ใช้ระบบดังกล่าวค้ำจุนอำนาจเผด็จการไว้เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างผู้นำทางการทหารของไทยกับสหรัฐฯ ตลอดมา

หลัง 14 ตุลาคม 2516 องค์การของอเมริกาเช่น ซีไอเอ ยังคงมีบทบาทในประเทศไทยอย่างมาก จากการที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการ กอ.รมน. เคยให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.2517 ยอมรับว่า ซีไอเอยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน และ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมตำรวจก็ให้สัมภาษณ์ว่า ซีไอเอกำลังให้ความช่วยเหลือประเทศไทยอย่างจริงจัง และตัวเขาเองยังได้รับรายงานจากซีไอเออย่างสม่ำเสมอ แต่ได้กล่าวแก้ต่างว่าซีไอเอเป็นหน่วยงานประชาธิปไตยและเกลียดเผด็จการ อีกทั้งเป็นที่เปิดเผยรู้กันทั่วไปว่า ซีไอเอเป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุน พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าหน่วยเสือพรานซึ่งไปรบในลาวในระยะก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อ กอ.รมน.ของไทย และรวมทั้งเงินทุนในการก่อตั้งนวพลด้วย ในวันที่ 17 สิงหาคม 2518 นายจอห์น รัสกิน ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ สตาร์ทรีบูน ในเมืองมีนิอาโปลิส ในสหรัฐฯ ว่า ซีไอเอได้ให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่นวพลและกระทิงแดงถึง 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสำหรับการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังมอบเงินให้เปล่ากับรัฐบาลไทยถึง 566 ล้านบาท

ดังนั้น แม้ว่ากรณี 6 ตุลาคมจะไม่ปรากฏหลักฐานว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดของสหรัฐฯ จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารโหด ส่วนการเกี่ยวข้องทางอ้อมหรือท่าทีอย่างลับๆ ของสหรัฐฯ ต่อกรณี 6 ตุลานั้นยังต้องศึกษาต่อไป