ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการบริหารประเทศเมื่อ พ.ศ.2501 ได้เรียกคณะของตนที่ยึดอำนาจว่า “คณะปฏิวัติ” ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างเข้าใจว่า การมีการปฏิวัติประเทศไทยให้มุ่งไปสู่ความก้าวหน้า ต่อมาเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตนเองเมื่อ พ.ศ.2514 ก็นำคำว่าคณะปฏิวัติมาใช้อีกครั้ง ดังนั้น เมื่อหลัง 14 ตุลาคม 2516 คำว่าปฏิวัติจึงเสื่อมค่าแห่งการใช้ลง คณะทหารที่คิดการยึดอำนาจจึงต้องคิดหาคำใหม่ คำว่า “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก่อนหน้านี้หมายถึง การปรับปรุงการบริหารประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแผ่นดิน โดยใช้แนวความคิดและวิธีการแบบตะวันตกมาดำเนินการ ดังนั้น แนวโน้มที่จะมีการรัฐประหารครั้งใหม่ในนามของคณะปฏิรูป เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว
ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2518 ก็มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และผู้นำกรรมกรฝ่ายขวา ได้นัดประชุมที่สโมสรสีลม และตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มนี้คือนายประสิทธิ์ ไชยทองพันธ์ ข้าราชการกรมแรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกรรมกรฝ่ายขวา กลุ่มขบวนการปฏิรูปได้แถลงเป้าหมายที่จะต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยโจมตีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยว่า เป็นรัฐบาลที่อ่อนเกินไป ปล่อยให้คอมมิวนิสต์เพ่นพ่านเต็มแผ่นดิน จึงได้เสนอให้มีการเก็บหนังสือฝ่ายสังคมนิยมทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่าการสร้างกระแสของขบวนการยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่กลุ่มขบวนการปฏิรูปยังคงเคลื่อนไหวต่อมา จนกระทั่งถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2519 ก็มีคำว่า “สภาปฏิรูป” ลงในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ แล้วในคอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” จากนั้น การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มทหารที่ยึดอำนาจจึงเรียกคณะของตนว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกอบด้วย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมี พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ พล.อ.อ.กมล เตชะตุงคะ พล.อ.เสริม ณ นคร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นต้น แต่กลุ่มทหารที่จะนำมาสู่การรัฐประหารนี้มิได้รวมตัวกันในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มทหารได้แบ่งออกเป็นกำลังต่างๆ 3 กลุ่มใหญ่ นั่นคือ กลุ่มพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา หรือกลุ่มสี่เสากลุ่มหนึ่ง กลุ่มทหารอำนาจเดิมของจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งจะมี พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นแกนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มที่สามที่จะมีบทบาทมากคือ กลุ่มซอยราชครู ซึ่งนำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ร่วมด้วย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ เลขาธิการพรรค และ พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน รองหัวหน้าพรรค และมีการเชื่อมประสานเข้ากับข้าราชการทหารตำรวจคนสำคัญที่ยังอยู่ในประจำการ เช่น พล.ท.ไพฑูรย์ อิงคตานุวัตร พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ เป็นต้น กลุ่มนี้ แสดงบทบาทเป็นปีกขวาของคณะรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังในวันที่ 11 พฤษภาคม 2518 พล.ต.ประมาณ เป็นผู้เสนอคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” เรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เห็นว่าเป็นฝ่ายขวาลุกขึ้นพิฆาตฝ่ายซ้าย คือ ขบวนการนักศึกษา
กลุ่มทหารทั้งสามกลุ่มนี้มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก แต่กลุ่มที่มีบทบาทสูงที่สุดก็คือกลุ่ม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แต่ พล.อ.กฤษณ์เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2518 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน ขณะที่ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สำหรับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้รับตำแหน่งเสนาธิการทหาร ปรากฏว่าในเดือนเมษายน 2519 พลเอกกฤษณ์ได้ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำ หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เพียงสองสัปดาห์ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ขึ้นมามีบทบาทในกลุ่มนี้แทนโดยรับช่วงอำนาจต่อมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2519 และ พล.อ.เสริม ณ นคร ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อมา
อย่างไรก็ตาม นายทหารส่วนมากจะมีบทบาทที่ไม่เปิดเผยนัก ในการประกาศตัวเป็นศัตรูกับขบวนการนักศึกษา นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนองค์กรฝ่ายขวาต่างๆ และแสดงบทบาทในการทำลายขบวนการนักศึกษาผ่าน กอ.รมน. ส่วนการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้แต่อย่างใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เสริม ณ นคร และพล.อ.อ.กมล เตชะตุงคะ นั้นไม่น่าที่จะเป็นตัวการใหญ่ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งนี้ เพราะถ้าหากว่านายทหารเหล่านี้เป็นแกนกลาง จะสามารถใช้กำลังทัพดำเนินการได้เลย ไม่ต้องใช้กำลังตำรวจกองปราบ และตำรวจตระเวนชายแดนเข้าสังหารนักศึกษาประชาชนอย่างที่ปรากฏ เพราะอำนาจสั่งการเหนือตำรวจตระเวนชายแดนไม่น่าจะอยู่ในมือนายทหารเหล่านี้ในระยะนั้น
ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นมีความเป็นไปได้ว่า นายทหารกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งทราบต่อมาว่าเป็น กลุ่มของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และ พล.ท.วิทูรย์ ยะสวัสดิ์ จะมีส่วนโดยตรงในการปราบปรามนักศึกษามากกว่า และเตรียมจะก่อการรัฐประหารในเวลาดึก แต่ปรากฏว่า กลุ่มของ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ร่วมกันก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเสียก่อนในตอนหัวค่ำวันนั้นเอง
หลังจากการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ ขณะนั้นอายุ 50 ปี ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้ยินชื่อในวงการเมืองมาก่อนเลย นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีแนวคิดทางการเมืองขวาตกขอบ นายชวน หลีกภัย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอหลักฐานว่า สภาปฏิรูปได้มีการเตรียมการมาล่วงหน้า อย่างน้อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2519 และรวมทั้งมีการเตรียมตัวบุคคลที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และมีความเป็นไปได้ว่า บุคคลนั้นก็คือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั่นเอง ดังที่บุญชนะ อัตถากร ได้อธิบายถึงคำบอกเล่าของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูป ดังมีใจความส่วนหนึ่งว่า
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ… เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิม และรบกวนความสงบสุขอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวง ซึ่งประทับอยู่ที่ภูพิงค์ราชนิเวศในขณะนั้น… คุณสงัดจึงได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ… อยากได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงมิได้รับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่า ให้คิดเอาเองว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป
คุณสงัดเห็นว่า เมื่ือไม่รับสั่งตรงๆ ก็คงจะดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว… ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี… ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ…แต่ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด… เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคล และเวลาก็ล่วงเลยไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย คุณสงัดบอกว่า ไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้บอกพรรคพวกทางกรุงเทพฯ ให้ทราบ และเชิญคุณธานินทร์มาพบ