Documentation of Oct 6

ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519

มิถุนายน 2519

สุธรรม แสงประทุม ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในช่วงนั้นได้มีการประเมินสถานการณ์ว่ากำลังก้าวเดินไปสู่ความเลวร้ายทุกขณะ โดยมีการทำลายล้างทั้งการโฆษณาและวิธีการรุนแรง แต่กลับทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดูจากผลการเลือกตั้งกรรมการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประจำปี 2519 นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะเกือบทุกสถาบัน

27 มิถุนายน 2519

กิตติวุฑโฒภิกขุ ให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.จัตุรัส ว่า “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ”

2 กรกฎาคม 2519

กรรมการ ศนท. นัดพบประชาชนที่สนามหลวง การชุมนุมครั้งนี้มีคนถูกปาด้วยเหล็กแหลมและก้อนหินจนบาดเจ็บหลายคน สุธรรมกล่าวในการชุมนุมว่ากรรมการ ศนท.ชุดนี้อาจจะเป็นชุดสุดท้าย แต่ก็พร้อมยืนตายคาเวทีต่อสู้

ในช่วงนั้น ที่ทำการ ศนท. ในตึก ก.ต.ป. ถูกล้อมและขว้างปาหลายครั้ง และยังเคยมีคนมาติดต่อกับกรรมการ ศนท.เสนอให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับจะสนับสนุนเงินทองและที่อยู่ให้ โดยบอกว่าจะมีรัฐประหารแน่นอน แต่ไม่อยากให้นักศึกษาลุกขึ้นต่อต้าน แต่กรรมการ ศนท.ตอบปฏิเสธ

6 สิงหาคม 2519

คณะรัฐมนตรีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาคำขอของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่จะเดินทางเข้าประเทศ ปรากฏว่าความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรอนุมัติเพราะจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมขับไล่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรอนุมัติเพราะจอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

10 สิงหาคม 2519

มีข่าวลือว่าจอมพลถนอม กิตติขจรเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวว่าจอมพลถนอมทำบุญเลี้ยงพระที่วัดไทยในสิงคโปร์

16 สิงหาคม 2519

มีข่าวแจ้งว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร หนึ่งในสามทรราชที่ถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ และหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว

19 สิงหาคม 2519

นักศึกษาจำนวนหนึ่งจัดขบวนแห่รูปวีรชน 14 ตุลา ไปที่สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาให้ตำรวจดำเนินคดีกับจอมพลประภาส

15.00 น. นักศึกษาชุมนุมที่ลานโพธิ์ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีคำสั่งห้ามแล้ว

17.00 น. ศนท.จัดชุมนุมที่สนามหลวง

22.00 น. นักศึกษาประชาชนประมาณหมื่นคน เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเข้ามายังสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ และมีการชุมนุมกันตลอดคืน

21 สิงหาคม 2519

กลุ่มกระทิงแดงเริ่มปิดล้อมมหาวิทยาลัย
14.00 น. นักศึกษารามคำแหง 3,000 คน เดินขบวนเข้ามาทางประตูมหาวิทยาลัยด้านพิพิธภัณฑ์ กระทิงแดงปาระเบิดและยิงปืนเข้าใส่ท้ายขบวน มีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป
20.30 น. ฝนตกหนัก กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัดอยู่ในสนามฟุตบอล จนฝนหยุด จึงเคลื่อนเข้าไปในหอประชุมใหญ่ และอยู่ข้างในตลอดคืน

22 สิงหาคม 2519

จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศ นักศึกษาประชาชนสลายตัว

28 สิงหาคม 2519

ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศไทย โดยแถลงว่าเข้ามาเพื่อปรนนิบัติบิดาของจอมพลถนอม และมารดาของท่านผู้หญิง รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานเพื่อนของบุตรชายด้วย

29 สิงหาคม 2519

บุตรสาวจอมพลถนอม 3 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยเอกมัย เพื่อเจรจาขอให้จอมพลถนอมเข้ามาบวชและรักษาบิดา นายกฯ ขอนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.

31 สิงหาคม 2519

ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรอนุมัติให้จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้ามา และ รมช.ต่างประเทศสั่งสถานทูตไทยในสิงคโปร์แจ้งผลการประชุม ครม.ให้จอมพลถนอมทราบ

1 กันยายน 2519

นายกรัฐมนตรีเรียกอธิบดีกรมตำรวจและรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษเข้าพบ เพื่อเตรียมการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศของจอมพลถนอม และให้นำเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดจอมพลถนอมในกรณี 14 ตุลาคม 2516 มาตรวจสอบ

5 กันยายน 2519

ในการประชุมตัวแทนของศูนย์นิสิตฯ และของกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และกรรมกร รวม 67 กลุ่ม ที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมงาน 14 ตุลา ได้ออกแถลงการณ์ร่วม สรุปว่าจะต่อต้านคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงที่สุด

19 กันยายน 2519

จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเณรจากสิงคโปร์ แล้วเดินทางถึงประเทศไทยเวลาประมาณ 10.00 น. แล้วเดินทางไปวัดบวรนิเวศฯ มีผู้ไปรอต้อนรับเณรถนอมที่ดอนเมือง เช่น พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พล.อ.ต.สุรยุทธ นิวาสบุตร เจ้ากรมการบินพลเรือน พล.อ.ต.นิยม กาญจนวัฒน์ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง

11.15 น. จอมพลถนอมอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วเดินทางไปเยี่ยมอาการป่วยของบิดา

12.00 น. ข่าวการกลับมาของจอมพลถนอมแพร่ออกไปโดยประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าจอมพลถนอมบวชเณรเข้าไทยและบวชเป็นพระเรียบร้อยแล้วที่วัดบวรนิเวศฯ ทางด้านสถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศคำปราศรัยของจอมพลถนอม ซึ่งยืนยันเจตนารมณ์ว่ามิได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง พร้อมกันนั้นยานเกราะยังเรียกร้องให้ระงับการต่อต้านพระถนอมไว้ชั่วคราวจนกว่าพระถนอมจะสึก เพื่อมิให้สะเทือนต่อพระศาสนา

สุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าที่ประชุมกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม มีมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมและมีท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
จะคัดค้านการกลับมาของพระถนอมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
โฆษณาเปิดโปงความผิดของพระถนอม
สืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 14 ตุลา
ตั้งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอ

ต่อกรณีการเคลื่อนไหว ทาง ศนท.เห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จำเป็นต้องมีความสุขุม เพราะมีความละเอียดซับซ้อน ประกอบกับมีการนำเอาศาสนาประจำชาติขึ้นมาบังหน้า ฉะนั้น ศนท.จึงจะรอดูท่าทีของรัฐบาลและให้โอกาสรัฐบาลตัดสินใจและดำเนินการก่อน อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตกันมากว่า
การเข้ามาครั้งนี้เป็นแผนการของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำรัฐประหาร
ก่อนเข้ามามีการเตรียมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง มีบุคคลบางคนในรัฐบาลไปรับถึงสนามบิน และให้ทำการบวชได้ที่วัดบวรนิเวศฯ
การเข้ามาของเณรถนอม อาศัยศาสนามาเป็นเครื่องบังหน้า ทำให้ศาสนาต้องมัวหมอง

ขณะที่ทาง ศนท.กำลังรอดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ได้เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานีวิทยุยานเกราะ ถึงกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

วันเดียวกันนี้ ตำรวจได้จับนักศึกษารามคำแหง ชื่อ นายวิชาญ เพชรจำนง ซึ่งเข้าไปในวัดบวรฯ พร้อมแผนที่กุฏิในวัด น.ส.พ.ดาวสยามพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในตอนเย็นว่า “จับ นศ.วางแผนฆ่าถนอม” แต่หลังจากนั้นตำรวจได้ปล่อยตัวนายวิชาญไปเพราะนายวิชาญเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มกระทิงแดง

20 กันยายน 2519

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหัวหน้าพรรคชาติไทย ธรรมสังคม สังคมชาตินิยม และนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และมีข้อสรุปว่า 1.จอมพลถนอมเข้ามาบวชตามที่ขอรัฐบาลไว้แล้ว 2.ในฐานะที่จอมพลถนอมเป็นทั้งจอมพลและภิกษุจึงน่าจะพิจารณาตัวเองได้หากมีความไม่สงบเกิดขึ้น

มีปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายตลอดวันนี้ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอให้ออกกฎหมายพิเศษขับพระถนอมออกนอกประเทศ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เสนอให้พระถนอมออกไปจำวัดที่ต่างแดน ทหารออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าไปยุ่งและจะไม่ปฏิวัติ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร กล่าวว่าถ้าพระถนอมเข้ามาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จะผิดได้อย่างไร ก็นักศึกษาสู้เพื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระ มีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ สถานีวิทยุยานเกราะและ น.ส.พ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ฯลฯ

ศนท.ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแทนการชุมนุม โดยให้นิสิตนักศึกษาออกไปตามบ้านประชาชนในเขต กทม. เพื่อสอบถามความรู้สึกถึงเรื่องพระถนอม ปรากฏว่าสามารถสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวได้อย่างดียิ่ง

21 กันยายน 2519

เกิดเหตุปาระเบิดบริษัททัวร์ ที เอส ที ซึ่งบริษัทนี้ถูกสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าเป็นของ ศนท. แต่ปฏิบัติการดังกล่าวพลาดไปถูกร้านตัดเสื้อข้างเคียง มีผู้บาดเจ็บ 5 คน

22 กันยายน 2519

แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประทศไทย และสหพันธ์พุทธศาสนิกแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาการบวชของพระถนอมว่าผิดวินัยหรือไม่

พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากทางวัดเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

23 กันยายน 2519

ส.ส. 4 ราย คือ นายชุมพล มณีเนตร นายแคล้ว นรปติ นายมานะ พิทยาภรณ์ และนายไพฑูรย์ วงศ์วานิช ยื่นกระทู้ด่วนเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม ผลการอภิปรายทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทน เนื่องจากไม่อาจเสนอพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ ลูกพรรคก็ขัดแย้งโต้เถียงในสภาฯ แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา ส.ส.บางคนก็อภิปรายในลักษณะไม่ไว้วางใจรัฐบาล

24 กันยายน 2519

นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรรบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม พบมีรอยมัดมือและรอยถูกรัดคอด้วยเชือกไนล่อน ตำรวจสืบสวนบิดเบือนสาเหตุว่ามาจากการผิดใจกับคนในที่ทำงานและติดสินบนนักข่าวท้องถิ่นให้เงียบ แต่มีผู้รักความเป็นธรรมนำรูปประมาณ 20 กว่ารูปพร้อมเอกสารการฆาตกรรมมาให้ ศนท. ในวันที่ 25 กันยายนตอนเช้า

(ในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส.ต.อ. ชลิต ใจอารีย์ ส.ต.ท.ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส.ต.ท.ธเนศ ลัดดากล ส.ต.ท.แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังจากนั้น)

25 กันยายน 2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ศนท.โดยสุธรรม แสงประทุม และชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม และตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ 1.จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 2.ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

29 กันยายน 2519

ศนท. และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมประท้วงพระถนอมที่สนามหลวง มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน
ระหว่างการชุมนุม มีผู้อ้างตัวว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตี ศนท.อย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย กลุ่มรักชาติพวกนี้จึงยอมกลับไป นอกจากนั้นยังมีการปล่อยงูพิษกลางที่ชุมนุมที่หาดใหญ่และมีการยิงปืนใส่ที่ชุมนุมก่อนสลายตัว (การชุมนุมจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลาฯ นายจเร ดิษฐแก้ว ถูกยิงที่กกหูบาดเจ็บ นายสมชัย เกตุอำพรชัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ถูกตีศีรษะและถูกยิงที่มือซ้าย)

1 ตุลาคม 2519

มีการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ เพียงสามทุ่มกว่าๆ ก็เลิกและประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30 น.

ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน อดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย

2 ตุลาคม 2519

สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามไชย นายวัฒนา เขียววิมล ได้นำกลุ่มนวพลไปวัดบวรฯ อวยพรวันเกิดสมเด็จพระญาณสังวร แล้วกลับไปชุมนุมที่สนามไชยอีกครั้ง เนื้อหาการอภิปรายมุ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เลิกราเดินทางกลับภูมิลำเนา

กลางดึกคืนวันนี้มีคนร้ายยิงปืน เอ็ม 79 เข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยไทยรัฐฉบับวันที่ 3 ตุลาคม หน้า 4 คอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” เขียนว่า “หากเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีใหม่อีก ทำนายทายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งในสามของคนวัย 52 เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ เกษม จาติกวณิช หรือประภาศน์ อวยชัย

ทางด้านธรรมศาสตร์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เป็นคณะแรกที่หยุดสอบประท้วง ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลแก้ไขกรณีพระถนอมโดยด่วน

ศนท.พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มพลังอื่นๆ จำนวน 10 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำตอบตามที่ยื่นข้อเรียกร้องไว้ จากนั้นนายสุธรรม แสงประทุม แถลงว่า ได้รับคำตอบไม่ชัดเจน จึงประกาศเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป โดยจะนัดชุมนุมประชาชนทั่วประเทศที่สนามหลวงในวันที่ 4 ตุลาคม

4 ตุลาคม 2519

ม.ร.ว.เสนีย์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าโหดที่นครปฐม ขณะที่พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟ้องสามทรราช กรณี 14 ตุลา

ตอนเที่ยงมีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เข้าสอบ ดร.ป๋วยให้นักศึกษาเลิกชุมนุมและเข้าห้องสอบแต่นักศึกษาไม่ยอม มีการอภิปรายและการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

15.30 น. ศนท. และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ชุมนุมประชาชนอีกครั้งที่สนามหลวง

17.30 น. มีการก่อกวนจากกลุ่มกระทิงแดง นักเรียนอาชีวะ และกลุ่มประชาชนรักชาติประมาณ 50 คน ติดเครื่องขยายเสียงพูดโจมตี ศนท.โดยนายสมศักดิ์ มาลาดี จนกระทั่งถูกตำรวจจับ (หลัง 6 ตุลา นายสมศักดิ์ได้ไปออกรายการที่สถานีวิทยุยานเกราะ) กระทิงแดงสลายตัวเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น.

18.30 น. ฝนตกหนัก แต่ท้องสนามหลวงยังมีคนชุมนุมอยู่นับหมื่น

19.30 น. เพื่อความปลอดภัยจึงย้ายการชุมนุมเข้าธรรมศาสตร์อย่างสงบ พร้อมกับประกาศว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าพระถนอมจะออกจากประเทศไทย

21.00 น. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ (ดร.ประกอบ หุตะสิงห์) ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย

นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอมและมีการเผาหุ่นพระถนอม

5 ตุลาคม 2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงรูปกรณีเล่นละครของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ มีรูป นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษา ปี 2 คณะรัฐศาสตร์ กับนายวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ นักศึกษา ปี 4 คณะศิลปะศาสตร์ แสดงละครถูกแขวนคอ ซึ่งเป็นการเสียดสีกรณีช่างไฟฟ้า ๒ คน ถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศ ตกเย็น จำนวนผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นนับหมื่นคน จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล

มหาวิทยาลัยรามคำแหงประกาศงดการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด

ราว 10.00 น. นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร โดยอ้างภาพจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพส ต่อมา สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ เสียงของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ กล่าวเน้นเป็นระยะว่า “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

13.30 น. นักศึกษารามคำแหงเตรียมออกเดินทางไปสมทบที่ธรรมศาสตร์ 25 คันรถ
หนังสือพิมพ็ดาวสยาม ออกฉบับบ่าย มีเพียง ๔ หน้า นำรูปละครแขวนคอมาเป็นเครื่องมือ และเสนอข่าวโหมปลุกระดมว่า นักศึกษาหมิ่นประบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า “ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความ หรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน” ทั้งนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า กรณีพระถนอมและผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

นับเป็นครั้งแรกที่สถานีวิทยุยานเกราะ และชมรมวิทยุเสรี เรียกกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ซึ่งแถลงการณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณี ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้” นับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวคำว่า “อาจมีการนองเลือดขึ้น”

21.00 น. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) แจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว

21.30 น. นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ ศนท.ได้แถลงที่ อมธ. พร้อมกับนำ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และกล่าวว่าการแสดงดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นความทารุณโหดร้ายอันเนื่องมาจากการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม โดยมีการแต่งหน้าให้เหมือนสภาพศพ และการที่เลือกเอาบุคคลทั้งสองก็เพราะเป็นนักแสดงในมหาวิทยาลัย อีกทั้งตัวเล็กมีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้กิ่งไม้หักง่าย การแสดงแขวนคอใช้วิธีผูกผ้าขาวม้ารัดรอบอกและผูกเชือกด้านหลังห้อยกับกิ่งไม้ จึงต้องใส่เสื้อทหารซึ่งมีตัวใหญ่เพื่อบังร่องรอยผ้าขาวม้าให้ดูสมจริง นายประยูรกล่าวว่า “ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นโดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง…”

21.40 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แจ้งว่า “ตามที่ได้มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศกนี้ มีลักษณะเป็นการหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท รัฐบาลได้สั่งให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว”

สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีออกอากาศตลอดคืนเรียกร้องให้ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ

24.00 น. กรมตำรวจประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประกอบด้วย พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายนาย

6 ตุลาคม 2519

01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามจะบุกปีนรั้วเข้าไป มีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม “ศูนย์ประสานงานเยาวชน” มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงออกรายการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตลอดทั้งคืน ส่วนภายในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปรายและแสดงดนตรีต่อไป

ราว 04.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน เดินทางมาถึง และยกกำลังเข้าล้อมมหาวิทยาลัยจากทางด้านสนามหลวง และนำกำลังติดอาวุธไปตั้งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

05.30 น. ระเบิดเอ็ม.๗๙ ลูกแรก ถูกยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ตกกลางผู้ชุมนุมที่สนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิต ๔ คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด หากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันที

สุธรรม แสงประทุม กับกรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ฯ เดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

ราว 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก จากด้านหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑ์สถาน ผู้ชุมนุมนับพันคน ต้องหนีเข้าไปหลบในอาคารรอบสนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

07.00 น. ฝูงชนที่อออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตู

07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือเตรียมบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์

08.18 น. ตชด.เข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ และมีกำลังใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 คันรถ

08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และได้พยายามเข้าจับกุมฝ่ายผู้ชุมนุมที่หลบตามอาคารรอบสนามฟุตบอล

10.30 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) มากกว่า 3,000 คน ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ระหว่างขึ้นรถก็ถูกด่าทออย่างหยาบคายและถูกขว้างปาเตะถีบจากตำรวจและอันธพาลกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ระหว่างลงจากรถไปยังที่คุมขังก็ถูกตำรวจปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่าไป

กทม.สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดโดยไม่มีกำหนด กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 กระทรวงยุติธรรมสั่งหยุดศาลต่างๆ 1 วัน

11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้แล้ว 6 คน จะดำเนินการส่งฟ้องศาลโดยเร็ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว
รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

12.30 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีการพูดกลางที่ชุมนุม โดยนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ให้ปลดรัฐมนตรี 4 คน คือนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ในที่ชุมนุมมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกับผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเฉียบขาด

นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหาร พวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ

บ่ายวันนั้นมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เข้าชี้แจงเหตุการณ์ต่อที่ประชุม ครม.

14.20 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าส่วนหนึ่ง ประมาณ 4,000 คน เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทน 5 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุง ครม. และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะพิจารณาดำเนินการ

17.00 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครอง คือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”

สรุปความเสียหายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ตามตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 คน (ในจำนวนนี้เป็นตำรวจเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 23 คน) นักศึกษาประชาชนถูกจับกุม 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน ขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 530 คน ส่วนทรัพย์สิน (จากการสำรวจของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีครุภัณฑ์และวัสดุของคณะต่างๆ เสียหายเป็นมูลค่า 50 กว่าล้านบาท ร้านสหกรณ์มีสินค้าและทรัพย์สินเสียหาย 1 ล้าน 3 แสนบาท สิ่งของมีค่าหายสาบสูญ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง เครื่องเย็บกระดาษ เสื้อผ้า เงินสด รายงานแจ้งว่า “หน้าต่างถูกทุบและโดนลูกกระสุนเสียหาย โต๊ะเก้าอี้พัง ห้องพักอาจารย์ถูกรื้อค้นกระจัดกระจาย”

24 สิงหาคม 2520

อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน

16 กันยายน 2521

ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

18 กันยายน 2521

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมธ.) ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 8 แห่ง จัดงานรับขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา” ที่ลานโพธิ์