นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์แล้ว ขบวนการนักศึกษายังได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อคัดค้านการปราบปรามของฝ่ายรัฐ เรื่องที่มีความล่อแหลมและเผชิญอำนาจรัฐโดยตรง ได้แก่ กรณีบ้านนาทราย และกรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวครั้งที่สำคัญครั้งอื่นๆ ดังจะกล่าวได้คือ
กรณีนาทราย เริ่มจากเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2517 มีการเผาหมู่บ้านนาทราย ที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีประชากรราว 1,500 คน ทางราชการได้อ้างว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นผู้เผาหมู่บ้าน แต่ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2517 เมื่อนายธีรยุทธ บุญมี ผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช.) ได้นำนายลม กาญจนสาร ผู้ใหญ่บ้านนาทรายมาเปิดเผยเรื่องการเผาหมู่บ้านว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเองเป็นผู้ปิดล้อมและเผาหมู่บ้าน ทั้งยังสังหารชาวบ้านตายอีก 3 คน ซึ่งถือว่าเป็นการเหยียบย่ำกฎหมายบ้านเมืองครั้งใหญ่ จากนั้นก็ได้นำชาวบ้านเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงความจริง ในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้เผาหมู่บ้าน แต่ก็อ้างว่าชาวบ้านเป็นผู้ก่อการร้ายจึงต้องเผา จนกระทั่งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ รัฐบาลต้องตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ ในขณะที่ฝ่ายนักศึกษาได้นัดชุมนุมที่สนามหลวง และศูนย์นิสิตได้ยื่นข้อเรียกร้องแก่รัฐบาล 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านนาทราย ให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และให้ยอมรับและเปลี่ยนแปลงนโยบายการปราบปราม
ต่อมา ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2517 พล.ท.สายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการ กอ.ปค. (กองอำนายการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์) ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่บ้านนาทราย เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ และทางราชการจะยอมชดใช้ค่าเสียหายและสร้างบ้านให้ใหม่ และจะเลิกใช้นโยบายตาต่อตาฟันต่อฟันในทางการเมือง ผลจากกรณีนี้ ชวินทร์ สระคำ จึงได้เขียนเป็นหนังสือเรื่อง พิษเพลิงร้ายที่บ้านนาทราย พิมพ์ใน พ.ศ.2517 ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ
ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลถึงปฏิบัติการทางการทหารของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่จังหวัดพัทลุง เรียกว่า กรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง นั่นคือ ในระหว่างปี พ.ศ.2514-2516 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปราบคอมมิวนิสต์ภาคใต้ ใช้นโยบายเหวี่ยงแหล้อมจับกุมประชาชนไปสอบสวนแล้วฆ่ามากกว่าสามพันคน ได้มีการเปิดอภิปรายที่ท้องสนามหลวงโดยศูนย์นิสิต และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีนี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 และต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ตัวแทนประชาชนพัทลุงก็เข้าพบและยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สำหรับความรุนแรงในกรณีถังแดง รายละเอียดที่ปรากฏคือ
เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส. เข้าล้อมหมู่บ้าน… จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวนแล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู ใช้ฆ้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีดกันคนละเล่มฆ่ากันเอง และมีราษฎรอีกจำนวนมากที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน บางคราวเมื่อมีฝนตกหนักก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่า ราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจากกลางอากาศ
ในกรณีนี้ ทางฝ่ายกลไกรัฐไม่สามารถให้ชัดเจนได้ นอกจากที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ชี้แจงในเบื้องต้นว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู ผมไม่ขอออกความเห็น แต่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ยอมรับว่า เรื่องถังแดงนั้นเกิดขึ้นจริง และจะลาออกจากตำแหน่งใน กอ.รมน. สำหรับรายงานทั้งหมดเกี่ยวกับกรณีถังแดงนี้ เรืองยศ จันทร์คีรี ได้นำมาเรียบเรียงลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และวิจารณ์ กอ.รมน.อย่างหนัก ซึ่งสอดคล้องกับกระแสสังคมในขณะนั้นที่ต่อต้าน กอ.รมน.อยู่แล้ว จนถึงขนาดเสนอยุบหน่วยงานเสีย หรือให้ย้ายไปสังกัดมหาดไทย ท้ายที่สุด ในเดือนมีนาคม 2518 พล.อ.สายหยุด เกิดผล เองกลับกลายเป็นเป้าหมาย เพราะมีคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น และให้ พล.ต.ภิญโญ วัชรเทศ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน.แทน
การเคลื่อนไหวสำคัญในระยะปิดภาคฤดูร้อนเดือนมีนาคม-เมษายน 2517 คือ การเข้าร่วมโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยโครงการนี้ได้งบประมาณมาจากรัฐบาล และศูนย์นิสิตเป็นผู้ผลักดัน ได้มีการรับอาสาสมัครนิสิตนักศึกษานับพันคน ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบทเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ปรากฏว่านักศึกษาที่ได้ออกไปสู่ชนบทในครั้งนี้ได้ไปเรียนรู้ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนที่แท้จริงของประชาชนระดับล่าง จึงก่อให้เกิดความสำนึกที่จะต้องรับผิดชอบ และช่วยแก้ปัญหาของประชาชนมากยิ่งขึ้น โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการนำนักศึกษาไปประสานกับชาวนา และจะมีส่วนอย่างยิ่งในการหนุนช่วยการต่อสู้ของชาวนาในระยะต่อมา นอกจากนี้แล้วก็คือ กลุ่มนักศึกษาส่วนมากที่ออกชนบทได้ข้อสรุปว่า การเกิดของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในชนบท เป็นปัญหาภายใน ไม่ใช่ปัญหาการแทรกแซงจากภายนอก เพราะโดยมากเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจข่มเหงราษฎร
จากนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านการพิจารณาวาระที่สองจากสภาผู้แทนราษฎร ขบวนการนักศึกษาได้เปิดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517 เพื่อแสดงความเห็นว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ใน 4 ประเด็นคือ
- ให้ประชาชนอายุ 18 ปีมีสิทธิในการเลือกตั้ง
- ให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 23 ปีขึ้นไปสมัครรับเลือกตั้งได้
- คัดค้านการมี 2 สภา โดยยังคงวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และ
- การยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาตั้งในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร
การชุมนุมครั้งนี้ดำเนินไป 3 วันก็สลายตัว หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มีบันทึกปลอบใจว่า จะช่วยเหลือผลักดัน แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีอำนาจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัยเอง
นอกจากนี้ก็คือการเคลื่อนไหวกรณี 9 ชาวนา เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2518 เมื่อฝ่ายตำรวจภูธรที่ลำพูน ได้จับผู้นำชาวนาจังหวัดลำพูน 8 คน และนักศึกษา 1 คน ด้วยข้อหามั่วสุมทางการเมือง และทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศูนย์นิสิตได้เรียกประชุมทันทีและตกลงเคลื่อนไหวคัดค้านโดยยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และขอให้รัฐบาลดำเนินจับตัวคนร้ายที่สังหารผู้นำชาวนาในขณะนั้น การชุมนุมประท้วงมีขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ และที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้คำตอบแก่ฝ่ายนักศึกษาว่า การจับกุมนั้นดำเนินไปตามหลักฐาน จึงไม่อาจปล่อยตัวได้ ดังนั้น การชุมนุมจึงยืดเยื้อต่อไป นักศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และธรรมศาสตร์ต่างหยุดเรียนประท้วงตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม เป็นต้นไป การชุมนุมยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม จนเมื่อกรมอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา การชุมนุมจึงสลายลง