Documentation of Oct 6

3.3.1 กลุ่มนวพล

กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2517 โดยความหมายของชื่อกลุ่ม แปลความได้ว่า กำลังใหม่ ตามรูปแบบการก่อตั้ง หรืออีกในความหมายหนึ่งคือ พลังเก้า อันหมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ก่อตั้งคือกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร พล.อ.สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. เป็นต้น พล.อ.วัลลภ ได้อธิบายเหตุผลในการตั้งนวพลว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ พล.อ.วัลลภ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้กำลังใจแก่ฝ่ายนวพลว่า

ทรงมีพระราชดำริห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ และเคยมีกระแสพระราชดำรัสกับบรรดาผู้ที่เข้าเฝ้าใกล้ชิดเป็นการส่วนพระองค์ นับตั้งแต่พนมเปญและไซ่ง่อนตกอยู่ในมือของคอมมิวนิสต์ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระองค์จะไม่เสด็จออกจากประเทศไทยเป็นอันขาด

ผู้นำสำคัญอื่นๆ ของนวพล ได้แก่ พล.ท.สำราญ แพทยกุล ซึ่งเป็นองคมนตรี เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทอย่างยิ่ง พล.ท.สำราญได้เป็นนวพลอันดับแรก หรือหมายเลข 001 นอกจากนี้ได้แก่นายวัฒนา เขียววิมล ปัญญาชนจากอเมริกา ซึ่งเป็นวิทยากรประจำ และเป็นผู้ประสานงานองค์การ นายวัฒนาได้ให้อธิบายว่า นวพลคือพลังใหม่ 3 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากนั้นก็คือ พระภิกษุกิตติวุฑโฒ ผู้ซึ่งประกาศต่อสาธารณชน ในเดือนมิถุนายน 2519 ว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป โดยให้เหตุผลว่า “ใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นถือว่าเป็นมาร มิใช่มนุษย์ การฆ่ามารจึงไม่บาป หากแต่เป็นภาระหน้าที่ที่คนไทยจะต้องกระทำ การฆ่าถ้าเป็นการฆ่าเพื่อประเทศชาติ แม้จะได้บาปจากการฆ่า แต่ก็ได้บุญจากการป้องกันชาติให้พ้นจากศัตรู จากนั้นก็เปรียบเทียบว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ ก็เหมือนการฆ่าปลาถวายพระ”

นวพลตั้งเป้าที่จะดำเนินการอยู่ในกลุ่มข้าราชการระดับท้องถิ่นและในหมู่นักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยยืนยันเป้าหมายและนโยบายที่จะปราบปรามฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะ จึงโฆษณาตนเองว่าเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้นมีมากจนกระทั่งฝ่ายนวพลได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 16 ธันวาคม 2518 โจมตี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นที่ทราบกันต่อมาว่า กลุ่มนวพลได้รับการสนับสนุนทางการเงินและวัสดุอุปกรณ์จากบางส่วนในกองทัพบกและกรมตำรวจ และอย่างน้อยก็ได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนตัว ปรากฏว่านวพลประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้างองค์กรและขยายสมาชิก ผู้ดำเนินงานของนวพลก็ใช้วิธีการชุมนุมประชาชนเพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุน โดยเรียกร้องให้เกิดความรักชาติและต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหวือหวา ในการดำเนินการ นวพลใช้โครงสร้างการจัดตั้งแบบกลุ่มย่อยตามแบบคอมมิวนิสต์ ผู้นำที่ส่อแววดีจะถูกคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมทางการเมืองในระดับจิตวิทยา จนถึงปลายปี พ.ศ.2518 นวพลอ้างว่ามีสมาชิกปฏิบัติการกว่าล้านคน แม้ตัวเลขนี้จะเกินจริงอยู่บ้าง แต่ก็เห็นได้ว่านวพลได้กลายเป็นองค์กรฝ่ายขวาที่ใหญ่โต และมีอิทธิพลมาก

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 กลุ่มนวพลได้จัดตั้งพรรคการเมืองลงสมัครแข่งขันด้วย คือพรรคธรรมาธิปัตย์ โดยมีนายเมธี กำเพ็ชร เป็นหัวหน้าพรรค โดยใช้คำขวัญที่ล้อคำขวัญของพรรคสังคมนิยมว่า “เมื่อท้องนาสีทองผ่องอำไพ ประชาชนไทยจะมีข้าวกิน” แต่ปรากฏว่าพรรคนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการเลือกตั้งที่มีขึ้น

ต่อมา ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มนวพลก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมกรณีสังหารดังกล่าว