Documentation of Oct 6

2.2.2 การเคลื่อนไหวของชาวนา

สำหรับการตื่นตัวของชาวนาในชนบทเมื่อ พ.ศ.2516 นั้น เป็นผลสะเทือนมาจากปัญหาความทุกข์ยากที่มีมาช้านาน เนื่องจากโครงสร้างหลักของประเทศยังเป็นภาคชนบท เกษตรกรที่เป็นชาวนาชาวไร่มีมากถึง 80% ของประชากร แต่ปรากฏว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจน ปัญหาหลักคือชาวนาไม่มีที่นาทำกิน เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีด และฉ้อโกงไป ข้าวก็ขายไม่ได้ราคา ชาวนาต้องตกอยู่ภายใต้วัฏจักรแห่งความยากจน ดังนั้น เมื่อเกิดการต่อสู้ในกรณี 14 ตุลาฯ แล้วฝ่ายนักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะ จึงสร้างผลสะเทือนแก่ชนชั้นชาวนาอย่างมาก การร้องทุกข์ของชาวนาเพิ่มทวีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีนิสิตนักศึกษาเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับรัฐบาล จนในที่สุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2517 ชาวไร่ชาวนาจึงได้ตัดสินใจเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา ชาวนาที่มาชุมนุมมีจำนวนหลายพันคน จากหลายจังหวัดในภาคกลาง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ อยุธยา นครปฐม สระบุรี ชาวนาเหล่านี้มาชุมนุมที่สนามหลวงแล้วเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาล มีสาระสำคัญคือให้รัฐบาลจัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว และควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ รับข้อเสนอ และสัญญาว่าจะหาทางแก้ไข

ต่อมาในระยะปลายเดือนพฤษภาคม 2517 ชาวนาจาก 6 จังหวัด ได้มาร้องเรียนต่อรัฐบาลเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินและที่นาที่ถูกโกงด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น ในวันที่ 4 มิถุนายน รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และได้ตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอของราษฎรต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน” (ก.ส.ส.) โดยมีนายประกอบ หุตะสิงห์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ ในที่สุดวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ชาวนาจำนวนมากจากจังหวัดต่างๆ ก็ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ อีกครั้ง และก็ได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเช่นเคย โดยร้องเรียนต่อรัฐบาลว่า การมาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจะคืนบัตรประชาชนและลาออกจากการเป็นคนไทย วันที่ 2 กันยายน ตัวแทนของชาวนาย้ำว่า ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะคืนบัตรประชาชน และจะประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเอง ห้ามราชการเข้าเกี่ยวข้อง รัฐบาลได้ขู่ว่า ถ้าชาวนาทำเช่นนั้นจะโดนข้อหากบฏ แต่กระนั้น ตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนมากกว่า 2,000 ใบเพื่อคืนให้แก่รัฐบาล

ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2517 ชาวนาก็ได้จัดการชุมนุมขึ้นอีกครั้งที่ท้องสนามหลวง และยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ชาวนาได้วางยุทธศาสตร์ว่า จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับแรก และถ้าไม่ได้ผลจะถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลรับข้อเสนอเพียง 6 ข้อ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดการเดินขบวนใหญ่ของชาวนาในวันที่ 29 พฤศจิกายน จากนั้น ชาวนาก็ได้ข้อสรุปว่า การตั้งตัวแทนแต่ละจังหวัดมิได้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลอย่างแท้จริง จึงได้นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธันวาคม 2517 โดยใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” โดยมีนายใช่ วังตะกู เป็นประธาน

วันที่ 6 พฤษภาคม 2518 ชาวนาภาคเหนือและอีสาน 23 จังหวัด จำนวนนับพันคน ได้เดินทางมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงอีกครั้ง โดยการนำของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ชาวนายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และให้ช่วยในปัญหาที่ถูกโกงที่ดิน รัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอ โดยอ้างว่าไม่อาจจะบรรจุเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรได้ ชาวนาจึงวางหรีดประท้วงที่บ้านนายกรัฐมนตรี ซอยสวนพลู และในที่สุดก็ต้องสลายตัวกลับภูมิลำเนาโดยไม่ได้ผลตามข้อเรียกร้อง

การเคลื่อนไหวของชาวนามีผลให้รัฐบาลต้องยอมปรับปรุงนโยบายหลายประการ เช่น การตราพระราชบัญญัติการเช่านา พ.ศ.2517 การจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ใน พ.ศ.2518 เพื่อหาทางตั้งโครงการปฏิรูปที่ดินแก้ปัญหาชาวนา หรือนโยบายของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในพ.ศ.2518 ที่ผันเงินไปสู่ชนบทเพื่อสร้างการจ้างงาน เป็นต้น แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมา มาตรการเหล่านี้ก็กลายเป็นเพียงมาตรการในการผ่อนปัญหา ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวนาได้อย่างแท้จริง อีกประการหนึ่ง จากการเคลื่อนไหวของชาวนาเช่นนี้ ได้สร้างความวิตกอย่างมากต่อชนชั้นนำอนุรักษนิยมและผู้นำระดับท้องถิ่น การตอบโต้กลับกลายเป็นการจับกุมและการตั้งขบวนการลอบสังหารผู้นำชาวนา ทำให้สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงมากขึ้น