นอกเหนือจากการใส่ร้ายป้ายสี ก็คือการใช้มาตรการทำร้ายและสังหารชีวิตโดยตรง โดยตั้งแต่หลังกรณีพลับพลาไชยเป็นต้นมา การใช้ความรุนแรงในการสังหารฝ่ายนักศึกษาและขบวนการประชาชนเริ่มปรากฏชัดเจน ตั้งแต่การสังหารนายชวินทร์ สระคำ และนายเมตตา เหล่าอุดม ผู้นำชาวนามาบประชันที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ต่อมา ในวันที่ 23 สิงหาคม 2517 นายแสง รุ่งนิรันดรกุล ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่บริเวณป้ายรถประจำทางริมถนนพระรามสี่ โดยไม่อาจจับคนร้ายได้
ใน พ.ศ.2518 ได้เกิดการสังหารผู้นำนักศึกษา และกรรมกร เช่น นายสนอง ปัญชาญ ผู้นำกรรมกรเทมโก ถูกยิงเสียชีวิตที่พังงาในวันที่ 25 มกราคม 2518 ต่อมา นายนิสิต จิรโสภณ หัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ถูกสังหารโดยการผลักตกรถไฟเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2518 ขณะไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกกรณีหนึ่งก็คือ นายมานะ อินทสุริยะ ผู้นำนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ถูกยิงตายขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านอเมริกาที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2518 แต่กระนั้น เป้าหมายในการสังหารอย่างจริงจัง ก็คือผู้นำชาวนาที่ทำงานให้กับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ มีการสังหารผู้นำชาวนาถึง 21 ศพ ที่พอรวบรวมได้คือ
- 5 เมษายน 2518 นายเฮียง สิ้นมาก ผู้แทนชาวนาสุรินทร์ ถูกยิงเสียชีวิต
- 10 เมษายน 2518 นายอ้าย ธงโต ถูกยิงเสียชีวิต
- 18 เมษายน 2518 นายประเสริฐ โฉมอมฤต ถูกยิงเสียชีวิต
- 21 เมษายน 2518 นายโง่น ลาววงศ์ ผู้นำชาวนาหมู่บ้านหนองบัวบาน ซึ่งนำชาวบ้านคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบศีรษะเสียชีวิต
- 5 พฤษภาคม 2518 นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนานครสวรรค์ถูกฆาตกรรม
- 20 พฤษภาคม 2518 นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่อำเภอห้างฉัตร ถูกยิงเสียชีวิต
- 22 มิถุนายน 2518 นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงรายถูกสังหาร
- 3 กรกฎาคม 2518 นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต
- 18 กรกฎาคม 2518 นายบุญทา โยธา ถูกยิงเสียชีวิตที่ลำพูน
- 31 กรกฎาคม 2518 นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชีวิต
- 4 สิงหาคม 2518 นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด ถูกยิงเสียชีวิตขณะกลับจากงานศพนายอินถา ศรีบุญเรือง
- 11 สิงหาคม 2518 นายพุฒ ทรายดำ ชาวนาตำบลแม่บอน อำเภอฝาง ถูกจ่อยิงเสียชีวิตในห้องคนไข้ ที่สถานีอนามัยอำเภอฝาง
- 22 ตุลาคม 2518 นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนาอำเภอสารภี ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ขณะเดินอยู่บนถนน
การสังหารผู้นำชาวนาเหล่านี้ ทางการตำรวจพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นว่าเป็นเรื่องชู้สาวบ้าง เรื่องขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ฝ่ายซ้ายฆ่ากันเองบ้าง แต่มิได้พยายามจะจับคนร้ายมาลงโทษ เช่น ในกรณีที่พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้นำชาวนาภาคเหนือถูกฆ่า ได้มีการปลอมจดหมายเพื่อป้ายสีว่า พ่อหลวงต้องการที่จะลาออกจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จึงถูกฝ่ายซ้ายจ้างฆ่า แต่กระนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ออกรายการพบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2518 ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ก็ยอมรับว่าการลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร
กรณีที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงอย่างมากก็คือ การชุมนุมประท้วงคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ย้ายนายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดพังงา ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ทั้งนี้เพราะนายธวัช มกรพงศ์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาในกรณีเทมโก และกรณีอื่นๆ ที่มุ่งพิทักษ์ทรัพยากรของประเทศ จึงถูกกล่าวหาเสมอว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กระนั้นเมื่อมีคำสั่งย้ายดังกล่าว นักศึกษาประชาชนชาวพังงาจึงชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อคัดค้านคำสั่งในวันที่ 23 กันยายน 2518 การชุมุนมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็เกิดเหตุร้ายเมื่อมีการวางระเบิดกลางที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 17 คน
- 3 กุมภาพันธ์ 2519 นายปรีดา จินดานนท์ นักศึกษามหิดล และนักดนตรีวงดนตรีกรรมาชน ถูกฆาตกรรมด้วยรถชนที่หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพระรามหก
- 15 กุมภาพันธ์ 2519 ได้มีคนร้ายปาระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่ในกรุงเทพฯ ปรากฏว่า การปาระเบิดผิดพลาด เกิดระเบิดขึ้นก่อน ทำให้นายพิพัฒน์ กางกั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายประจักษ์ เทพทอง บาดเจ็บสาหัสจนต้องถูกตัดแขน และได้มีการค้นพบบัตรสมาชิกกระทิงแดงในตัวของบุคคลทั้งสอง จึงทำให้มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่ากระทิงแดงคือผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการนี้ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ดำเนินการอย่างไรเลยต่อกลุ่มกระทิงแดง ในทางตรงข้าม พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงให้ร้ายว่า สงสัยว่าการที่พรรคพลังใหม่ถูกขว้างระเบิดเช่นนี้ จะเป็นการจงใจสร้างสถานการณ์เพื่อหาเสียงหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดเหตุระเบิด พรรคพลังใหม่จะได้มีข่าวลงหนังสือพิมพ์
- 18 กุุมภาพันธ์ 2519 นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปออกค่ายที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา
- 28 กุมภาพันธ์ 2519 สังหารนายบุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม โดยคนร้ายดักยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูบ้าน ขณะกลับจากงานเลี้ยง
- 3 มีนาคม 2519 มีคนร้ายวางระเบิดที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ผู้อำนวยการโรงเรียนคือนายดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล ถูกกล่าวหามาตั้งแต่ระยะก่อนหน้านี้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนต่อฝ่ายขบวนการนักศึกษา และเคยถูกลอบยิงจนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2518 คนร้ายที่มาวางระเบิดได้กล่าวว่า การวางระเบิดมีขึ้นเพื่อสั่งสอนฝ่ายซ้ายให้รู้สำนึก เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 3 คน
- 21 มีนาคม 2519 มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นายกมล แซ่นิ้ม นายนิพนธ์ เชษฐากุล นายแก้ว เหลืองอุดมเลิศ และนายธเนศร์ เขมะอุดม
- 24 มีนาคม 2519 ปาระเบิดอีกครั้งที่จังหวัดชัยนาท ในขณะที่นายสมหวัง ศรีชัย ผู้สมัครพรรคพลังใหม่ กำลังปราศรัยหาเสียงที่วัดหนองจิก อำเภอวัดสิงห์ ขณะนั้นมีผู้ฟังการปราศรัยอยู่ราว 200 คน ปรากฏว่าระเบิดไม่ถูกนายสมหวัง แต่กลับทำให้ประชาชนที่ฟังการหาเสียงเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 10 คน
- 12 มิถุนายน 2519 ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังตั้งแถวต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่มาจากกรุงเทพฯ มีเสียงระเบิดดังขึ้น ทำให้นักศึกษาเสียชีวิต 1 คน คือ นายไพโรจน์ พงษ์วิริยพงศ์
- 18 สิงหาคม 2519 นายชิด กงเพ็ชร ผู้นำชาวนาทุ่มฟ้าผ่า อำเภอแม่ลาน้อย ถูกลอบยิงเสียชีวิต
ความจริงแล้ว กรณีลอบยิงและทำร้ายมีมากกว่านี้ เพราะมีอีกหลายรายที่มีการลอบยิงหรือปาระเบิด แต่มีเพียงผู้บาดเจ็บมิได้เกิดการเสียชีวิต ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการใช้ความรุนแรงของกลุ่มกระทิงแดงทั้งปืนและระเบิดต่อขบวนการนักศึกษาก็เป็นไปอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ พ.ศ.2517 ยิ่งในระยะหลัง การลอบยิงผู้นำและนักศึกษาก็กลายเป็นเหตุการณ์ปกติ และในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาแทบทุกครั้ง จะต้องมีกระทิงแดงมาปาระเบิดหรือคุกคาม โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยจัดการดำเนินการจับกุมแต่อย่างใด กล่าวโดยสรุปคือ กลไกของรัฐได้ยินยอมให้ฝ่ายปฏิกิริยาใช้ความรุนแรงนี้ได้ ทั้งนี้ นอกจากการสังหารชีวิตแล้ว ยังมีการจับกุมนักศึกษาประชาชน ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น เช่น
- 23 เมษายน 2519 จับกุมนักศึกษาและกรรมกร 9 คน ที่อ้อมน้อยและสามพรานในข้อหาคอมมิวนิสต์ บุคคลที่ถูกจับนำโดยนายสุภาพ พัฒอ๋อง ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า นางสาวนิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ และผู้นำกรรมกรอื่นๆ
- 9 พฤษภาคม 2519 จับนักเรียน นักศึกษาและชาวนา 6 คน ที่เชียงใหม่ นำโดย นายพรเลิศ กรองแสง