เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหาร ได้ร่วมประสานงานกันโดยมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลางตั้งแต่ พ.ศ.2518 และมี พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายอาคม มกรานนท์ และนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นโฆษกสำคัญ ชมรมวิทยุเสรีนี้มีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนนักศึกษา โดยออกรายการประจำวันชื่อ “เพื่อแผ่นดินไทย” โจมตีและประณามขบวนการนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แทบทุกวัน และก็มักจะโจมตีมายังรัฐบาลพลเรือนด้วยว่าอ่อนแอ ไม่มีมาตรการเด็ดขาด ทำให้คอมมิวนิสต์เหิมเกริม หรือหลายครั้งก็วิจารณ์โจมตีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน และปลุกให้คนไทยขึ้นมาต่อต้านแนวโน้มเช่นนั้น นอกจากนั้นก็ยังเป็นแกนกลางในการประสานงานอย่างเปิดเผยในการปราบปรามนักศึกษา และบางครั้งก็มีลักษณะชี้นำการก่อการต่อต้านนักศึกษา ทั้งที่เป็นสื่อมวลชนของรัฐโดยตรง
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กรณีกระทิงแดงบุกเผาธรรมศาสตร์ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2518 โดยฝ่ายกระทิงแดงและกลุ่มศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะอ้างว่า ระหว่างที่มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรณีจับกุม 9 ผู้นำชาวนาและนักศึกษาเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนั้น มีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ คนหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายอาชีวะถูกนักศึกษาทำร้าย กระทิงแดงจึงต้องยกพวกมาแก้แค้น เป็นที่น่าแปลกใจที่วิทยุยานเกราะได้ออกข่าวเรื่องนี้ล่วงหน้า โดยอธิบายว่า กระทิงแดงต้องเผาธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาป้องกันรักษาธรรมศาสตร์แต่อย่างใด นอกจากนี้ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นโฆษกได้ออกอากาศในเชิงชี้นำ และฝ่ายกระทิงแดงก็ปฏิบัติตาม ดังเช่นการออกข่าวว่า ฝ่ายนักเรียนอาชีวะนั้นควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว และจะส่งหน่วยจู่โจมไปยังศูนย์นักเรียน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะโจมตีโรงเรียนช่างกลพระรามหก และพรรคสัจจธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ต่อมาก็ออกประกาศว่า ได้สืบทราบว่าการจู่โจมดังกล่าวได้ยกเลิกแล้ว ดังนั้น วิทยุยานเกราะจึงมีลักษณะคล้ายศูนย์บัญชาการในการปฏิบัติงานครั้งนี้ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียหายอย่างมาก ทรัพย์สินถูกปล้นสะดม และอาคารสถานที่ถูกทำลายหลายแห่ง แต่ทางมหาวิทยาลัย ได้ประกาศให้ฝ่ายนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยให้หมดเสียก่อนที่กระทิงแดงจะมาถึง จึงเลี่ยงความเสียหายไปได้อย่างมาก นายเสน่ห์ จามริก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า ความเสียหายด้านวัตถุไม่เท่าไร แต่ความเสียหายด้านจิตใจนั้นมากมายกว่า
อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ ก่อนหน้าที่ฝ่ายนักศึกษากำลังจะเคลื่อนไหวต่อต้านอเมริกาในวันที่ 20 มีนาคม 2519 กระทิงแดงได้ประกาศล่วงหน้าในวันที่ 19 มีนาคมว่า ในวันที่ 20 มีนาคม ขอให้นักเรียนอาชีวะทุกคนเตรียมพร้อมกันอยู่ในโรงเรียน คอยฟังคำสั่งจากสถานีวิทยุยานเกราะ หากสถานีวิทยุแห่งนี้สั่งให้ไปรวมกันที่ใด ก็ให้ประธานนักเรียนสั่งนักเรียนไปรวมกันที่นั่น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่วิทยุยานเกราะจะมีบทบาทสำคัญอีกครั้ง ในการชี้นำฝ่ายกระทิงแดง และกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ ในการเคลื่อนไหวต่อต้านนักศึกษาในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2519 อันนำมาซึ่งกรณี 6 ตุลาฯ