ทิศทางสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการนักศึกษาหลังกรณี 14 ตุลา คือการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาเอกราช โดยการเริ่มต่อต้านอิทธิพลต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ในประเทศไทย ปัญหาสืบเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารได้ตกลงทำสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการก่อการรุกรานเวียดนาม ยอมให้สหรัฐฯ ใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นฐานทัพในการโจมตีเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์และเงินช่วยเหลือที่ฝ่ายสหรัฐสนองให้ ดังนั้น เมื่อถึง พ.ศ.2516 จึงมีฐานทัพอเมริกาในไทยถึง 12 แห่ง คือ ที่อู่ตะเภา ตาคลี อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม น้ำพอง สัตหีบ ลพบุรี เขื่อนน้ำพุง โคราช และกาญจนบุรี โดยมีศูนย์บัญชาการใหญ่และหน่วยจัสแมกตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีเครื่องบินสหรัฐประจำในไทยถึง 550 ลำ เพื่อใช้ในการทิ้งระเบิดในลาว เขมร และเวียดนาม และมีทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ในไทยนับแสนคน สำหรับหน่วยจัสแมกในไทยก็มีหน้าที่โดยตรงในการส่งกำลังบำรุงให้ทหารอเมริกันในเวียดนาม
การผูกพันเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกายังส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศของไทย จากการที่รัฐบาลไทยดำเนินรอยตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเสมอ และในทางเศรษฐกิจ บริษัทข้ามชาติของอเมริกาก็เข้ามามีส่วนครอบงำเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ตั้งแต่สินค้าประจำวัน เช่น น้ำอัดลม ไปจนถึงยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขายอาวุธแก่กองทัพไทย นอกจากนี้ก็คือการครอบครองตลาดทรัพยากร ได้แก่ น้ำมัน ดีบุก และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่ที่สำคัญไม่น้อยคือ การที่ฐานทัพอเมริกาได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนไทย เช่น ในวันที่ 1 ธันวาคม 2516 กองทัพอเมริกาในประเทศไทยก็ใช้กฎอัยการศึกประหารชีวิตนายเทพ แก่นกล้า ซึ่งมีความผิดในข้อหาใช้ปืนยิงนายทหารอเมริกันเสียชีวิต โดยคดีนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของศาลไทยแต่อย่างใด
จากกรณีเช่นนี้ แนวคิดของขบวนการนักศึกษาไทยในสมัย 14 ตุลาคม จึงเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีเอกราชสมบูรณ์ หากแต่ต้องตกอยู่ในสถานะกึ่งเมืองขึ้น และถูกครอบงำโดยจักรพรรดินิยมอเมริกา ดังนั้น ทิศทางอันสำคัญยิ่งของขบวนการนักศึกษาคือการต่อสู้เพื่อเอกราชสมบูรณ์ ซึ่งก็คือการต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา ซึ่งถือเป็นศัตรูสำคัญของประชาชนไทย ความจริง กระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นได้จากการที่กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ออกหนังสือชื่อ ภัยขาว เมื่อ พ.ศ.2514 วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย โดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม แต่ในขณะนั้นกระแสการเรียกร้องเอกราชยังมิได้เป็นกระแสหลัก เมื่อเทียบกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ยังคงใช้อำนาจเผด็จการ
เมื่อได้รับชัยชนะในกรณี 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาจึงมุ่งเน้นเป้าหมายไปยังการรณรงค์เพื่อเอกราชมากขึ้น โดยมุ่งที่จะคัดค้านและต่อต้านลัทธิจักรพรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะให้ถอนทหารและฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย นอกจากนี้ก็คือการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นอิสระทางด้านการต่างประเทศ แทนที่จะใช้นโยบายตามหลังอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งขอให้เลิกสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ฝ่ายอเมริกา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลสหรัฐเองก็จะตระหนักเช่นกันว่าสถานการณ์ในไทยอาจไม่เหมือนเดิมในยุคเผด็จการทหาร ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2516 จึงได้ส่งนายวิลเลียม อาร์. คินเนอร์ (William R. Kinner) มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ กลุ่มนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 พฤศจิกายน มีใจความตอนหนึ่งว่า
ฉะนั้น ในโอกาสที่นายวิลเลียม อาร์ คินเนอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันคนใหม่ประจำประเทศไทย เดินทางมารับตำแหน่งนี้ เราจึงขอวิงวอนให้ พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนชาวไทย ได้ให้ความสนใจต่อการมาของบุคคลผู้นี้ให้จงดี เพราะประวัติของบุคคลผู้นี้ มีข้อน่าสังเกตหลายประการคือ
- เคยรับราชการในกองทัพบกอเมริกันเป็นเวลานาน (จาก 2483-2504)
- เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศของ PU ซึ่งเป็นหน่วยงานของ CIA โดยตรง
- เคยเขียนหนังสือร่วมกับกลุ่มที่วางแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการรบในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งทำงานรับใช้กลุ่มนายทุนวอลสตรีท ซึ่งเป็นนักค้าสงคราม
ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากกรณีจดหมายปลอมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2516 กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ขององค์การสืบราชการลับกลางของสหรัฐฯ (ซี.ไอ.เอ.) ได้ทำจดหมายปลอมเป็นของสหายจำรัส หรือนายเปลี้อง วรรณศรี ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยส่งมาถึงรัฐบาลเพื่อขอเจรจาหยุดยิง ทำให้รัฐบาลไทยเตรียมการที่จะเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 1 เดือน ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2517 องค์การซีไอเอยอมรับว่า นั่นเป็นจดหมายปลอมและขอโทษต่อรัฐบาลไทย จากกรณีนี้เอง นายชวินทร์ สระคำ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ได้ร่วมกับ กระบี่ศักดิ์ และยอดธง ทับทิวไม้ เขียนหนังสือเรื่อง เปิดหน้ากากซี.ไอ.เอ. (2517) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความชั่วร้ายของซีไอเอในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ชวินทร์ย้ำว่า เขาเขียนเรื่องนี้ “ด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้อง ผืนแผ่นดินของคนไทยและชาติไทย” และกล่าวด้วยว่า “การพิมพ์หนังสือนี้ เป็นอันตรายต่อชีวิตเขามาก” แต่เขาก็ตัดสินใจทำ เพราะ “ถ้าจะให้ผมเลือกระหว่างการมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย กับการตายเพื่อรักษาสัจจะนั้น ผมเลือกเอาอย่างหลัง” อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ชวินทร์ สระคำ ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2517
ใน พ.ศ.2517 มีการตีพิมพ์ซ้ำหนังสือเรื่อง โฉมหน้าจักรพรรดินิยม ของมณี ศูทรวรรณ ซึ่งได้เขียนลงในหนังสือ นิติศาสตร์ ฉบับต้อนรับศตวรรษใหม่เมื่อ พ.ศ.2500 ในบทความนี้ผู้เขียนได้ใช้ทฤษฎีของวลาดิมีร์ เลนิน เรื่อง “จักรพรรดินิยม: ขั้นสูงสุดของทุนนิยม” มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ โดยชี้ว่า จักรพรรดินิยมก็คือขั้นผูกขาดของระบบทุนนิยม และได้อธิบายให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกานั้นได้เข้ามารุกรานไทยทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จึงได้สรุปว่าภารกิจของประชาชนไทยนั้นจะต้อง “ร่วมมือกันผนึกกำลังให้สนิทแน่น เพื่อทำลายจักรพรรดินิยม และปลดเปลื้องพันธะที่ทำให้ไทยอยู่ในสภาพเมืองพึ่งและกึ่งเมืองขึ้นนี้ และร่วมมือกับกองทัพมหาชนคนงานทั่วโลก เพื่อทำลายลัทธิจักรพรรดินิยมระหว่างประเทศนี้เสีย” นอกจากนี้ ยังได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อเมริกัน:อันตราย ของพิรุณ ฉัตรวนิชกุล ซึ่งได้มีบทความชี้ชัดถึงการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ปรากฏว่ากระแสกดดันเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเช่นกัน เพราะเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2518 ก็ได้แถลงนโยบายว่าจะดำเนินการให้มีการถอนทหารและฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศไทยภายใน 1 ปี ซึ่งกลายเป็นเงื่อนเวลาสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาต่อมา
กรณีสำคัญต่อมา คือการเคลื่อนไหวกรณีมายาเกวซ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เรือสินค้าชื่อ มายาเกวซ ของสหรัฐถูกรัฐบาลเขมรแดงยึด ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2518 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลอบส่งนาวิกโยธิน 1,000 คน เข้ามาที่ฐานทัพอู่ตะเภาโดยไม่แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ และใช้การปฏิบัติการจากประเทศไทยโจมตีกองเรือของกัมพูชา บีบให้ทางการกัมพูชาคืนเรือมายาเกวซให้สหรัฐฯ ขบวนการนักศึกษาได้นัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อประท้วงการที่สหรัฐละเมิดอำนาจอธิปไตยไทยเช่นนั้น จากนั้นก็ได้มีการเดินขบวนประท้วงอเมริกาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่หน้าสถานทูตสหรัฐที่ถนนวิทยุ และชุมนุมกันอยู่ที่นั่น 3 วัน ในกรณีนี้ รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยการออกแถลงการณ์คัดค้านที่สหรัฐฯ ละเมิดอธิปไตย ดำเนินการอันไม่เป็นมิตร และเรียกตัวทูตไทยประจำสหรัฐฯ กลับประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายนักศึกษาจึงได้เดินขบวนกลับมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วสลายตัว แต่ได้มีการประกาศว่า จะต่อสู้ต่อไปจนกว่าสหรัฐจะถอนทหารและฐานทัพออกจากไทยทั้งหมด
จากนั้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 มีการชุมนุมใหญ่ของฝ่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อแสดงมติต่อต้านอเมริกาอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2519 ซึ่งเป็นวันกำหนดเส้นตายของรัฐบาลไทยให้สหรัฐฯ ถอนทหารและฐานทัพออกจากประเทศไทย ได้มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านอเมริกาที่สนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปรากฏว่ารัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืดกำหนดให้ฝ่ายสหรัฐอีก 4 เดือน เพื่อเก็บข้าวของออกจากประเทศ เมื่อนักศึกษาได้ทราบผลเช่นนั้นก็ได้ประณามรัฐบาลว่าไม่จริงใจ และตกลงให้มีการเดินขบวนไปยังสถานทูตอเมริกาในวันรุ่งขึ้น เพื่อกดดันให้ฝ่ายสหรัฐฯ ให้ทำตามกำหนดเวลาในครั้งนี้ได้ ดังนั้นในวันที่ 21 มีนาคม จึงมีการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนับแสนคน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานทูตสหรัฐที่ถนนวิทยุ กรณีนี้ได้กลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อคนร้ายโยนระเบิดใส่ขบวนแถวของประชาชนเมื่อเคลื่อนไปถึงหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์สยาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน แต่ขบวนของนักศึกษาก็ยังเคลื่อนต่อไปจนถึงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ และนำโปสเตอร์ผ้า “ประกาศเจตนารมย์ 20 มีนาคม” ไปประกาศไว้
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 ได้มีการจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์ อมธ. ได้ออกหนังสือชื่อ อเมริกัน อันธพาลโลก นอกจากนี้ ก็มีการชุมนุมต่อต้านอเมริกาที่ประตูธรรมศาสตร์ด้านถนนพระอาทิตย์ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการชุมนุมต่อต้านจักรพรรดินิยมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเกิดกรณีนองเลือด 6 ตุลาฯ เพราะการเคลื่อนไหวในวันที่ 20 กรกฎาคม ของขบวนการนักศึกษาไม่ได้ใช้วิธีการชุมนุม แต่ใช้วิธีการส่งนิสิตนักศึกษาราว 3,000 คนจากทุกมหาวิทยาลัยออกเคาะประตูประชาชน เพื่อพูดคุยและรับฟังข้อเสนอของประชาชนต่อกรณีขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา
ในท้ายที่สุดการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาก็ได้ผลพอสมควร เพราะหลังจาก พ.ศ.2519 สหรัฐฯ ก็ถอนทหารและฐานทัพทั้งหมดออกไปจากประเทศไทย หลังจากนั้นอิทธิพลการครอบงำของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยก็ลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นการเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐฯ ในขอบเขตทั่วโลกอีกด้วย
การต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาของขบวนการนักศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของลัทธิชาตินิยมซึ่งมีการตีความใหม่ เพราะในสายตาของรัฐบาลไทยในระยะก่อนหน้านี้ ศัตรูผู้ที่จะรุกรานประเทศไทยนั้นคือคอมมิวนิสต์ ที่มุ่งจะแทรกซึมบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชาติไทย ความรักชาตินั้น หมายถึงการที่จะต้องรังเกียจชิงชัง และต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ซึ่งโดยนัยมักจะหมายถึงคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามเหนือ ส่วนสหรัฐอเมริกาคือมหามิตรที่ทุ่มเทความช่วยเหลือประเทศไทยให้พ้นจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ปรากฏว่าขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาฯ ได้ตีความเสียใหม่ว่า ศัตรูที่รุกรานและครอบงำประเทศไทยอย่างแท้จริงนั้นคือสหรัฐอเมริกา ส่วนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเพียงผีที่ปลุกขึ้นมาสร้างภาพให้ประชาชนหวาดกลัว เพราะไม่ได้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่า มหาอำนาจคอมมิวนิสต์ คือสหภาพโซเวียตและจีน จะก่อการรุกรานประเทศไทยในทางใด หากในประเทศไทยนั้นมีแต่ครอบครองของทหารและฐานทัพอเมริกา ราวกับว่าประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครอง นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาคือผู้ก่อสงครามในอินโดจีน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย แต่ที่สำคัญก็คือ การครอบงำและรุกรานของสหรัฐอเมริกาดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความร่วมมือของชนชั้นปกครองไทยนั่นเอง ดังที่หนังสือ กุหลาบบานเมื่อปี ร.ศ.194 ได้สะท้อนว่า
พฤติกรรมของสหรัฐ ไม่มีอะไรน่าสงสัยอีกต่อไป เขาเป็นอสูรสงคราม-นักปราบปรามประชาชน อเมริกาทำให้เกิดสงครามสู้รบกันอย่างนองเลือดและยืดเยื้อ อเมริกาเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องเอกราช ต้องการสลัดให้หลุดจากแอกการครอบงำของต่างชาติ ไม่รู้จักเท่าไรต่อเท่าไร
ว่าถึงส่วนของประเทศไทยเราเอง อสูรสงครามนักปราบปรามประชาชน ไม่ได้มีแต่เฉพาะหัวโจกใหญ่อย่างจักรพรรดินิยมอเมริกาเท่านั้น ยังมีพวกชนชั้นปกครอง ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนใหญ่ และเจ้าที่ดินใหญ่ พวกเขาด้านหนึ่งมีอำนาจอยู่ได้ด้วยการพิทักษ์ค้ำชูของอเมริกา อีกด้านหนึ่งก็ได้ผลตอบแทนจากอเมริกาเป็นเศษดอลลาร์เล็กๆ น้อยๆ ดังนั้นพวกเขาจึงสมคบแนบสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอเมริกา
อสูรสงคราม-นักปราบปรามประชาชนทั้งหัวโจกและลูกสมุนนี้เหี้ยมโหดมาก ก่อหนี้เลือดไว้กับประชาชนมหาศาล จึงเป็นหน้าที่ของเยาวชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ทุกคน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันกำจัดอสูรสงคราม-นักปราบปรามประชาชนนี้ให้หมดสิ้นไป