Documentation of Oct 6

บทสรุป ความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ไม่ใช่ความผิด

จากที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นผลผลิตอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อขบวนการนักศึกษาได้รับชัยชนะในการต่อสู้ และนำมาซึ่งกระแสการตื่นตัวด้านประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งในกระแสดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของประชาชนกลุ่มต่างๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนชนชั้นล่าง ทั้งกรรมกร ชาวนา และกลุ่มสังคมอื่นๆ เกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่น นอกจากนี้ ยังมีกระแสต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา รวมทั้งกระแสแห่งการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่วิพากษ์สังคมเก่า เสนอทางออกใหม่แก่สังคม และนำมาซึ่งการเรียกร้องการปฏิวัติวัฒนธรรม สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่รับใช้ประชาชน เป็นต้น ซึ่งเป็นกระแสคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กระแสต่างๆ เหล่านี้ ผ่านเข้ามาในสังคมไทย ซึ่งเคยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างแบบอนุรักษนิยม ชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐนั้นไม่คุ้นเคยกับประชาธิปไตยที่จะเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง คุ้นเคยแต่กับการใช้อำนาจเผด็จการ คุมอำนาจเหนือประชาชนที่ภักดีและว่านอนสอนง่าย เชื่อในสิ่งเดียวกับชนชั้นนำ และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ ชนชั้นนำไทยจึงรู้สึกตระหนกและไม่เข้าใจกระแสเช่นนี้ เข้าใจไปว่ากระแสก้าวหน้าเหล่านี้ จะบั่นทอนความมั่นคงของแห่งสถานะของตน ยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกไม่มีเสถียรภาพ หวาดวิตกในกระแสการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้าน เกรงว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นตัวการก่อให้เกิดการปฏิวัติในลักษณะเดียวกันในสังคมไทย นำมาซึ่งการวางแผนที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แต่ชนชั้นนำของไทยนั้นก็ไม่มีบทเรียน ไม่รู้จักการแก้ปัญหาทางการเมืองกับฝ่ายประชาชนอย่างสันติวิธี และทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากวางแผนรัฐประหาร ดังนั้น จึงได้ใช้วิธีการที่เคยชิน คือใช้ความรุนแรงในการสกัดกั้นและปราบปราม แล้วสร้างเงื่อนไขในการยึดอำนาจโดยกองทัพ

ดังนั้น แผนการก่อการรัฐประหารและเตรียมการที่จะสังหารนักศึกษาได้เตรียมการมาตั้งแต่ก่อนแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2517 เมื่อเกิดกรณีพลับพลาไชยขึ้น กรณีนี้ก็ได้เห็นถึงความพร้อมของอำนาจรัฐที่จะใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายประชาชน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวา และกลุ่มอันธพาลการเมืองขึ้น แล้วใช้ความรุนแรงสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และได้เกิดการสังหารฝ่ายนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และผู้นำชาวนาเกือบตลอดเวลา นอกจากนี้ ก็ได้เริ่มมีการสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อหาทางปราบปรามฝ่ายนักศึกษาประชาชน รวมทั้งการปิดล้อมการประชาสัมพันธ์ของขบวนการนักศึกษา แล้วทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายนักศึกษา และแม้กระทั่งมีการเชื่อมโยงหลายครั้งว่า ฝ่ายนักศึกษามีเป้าหมายจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนรังเกียจชิงชังขบวนการนักศึกษา หรืออย่างน้อยก็สับสนไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ไม่ให้การสนับสนุนฝ่ายนักศึกษา การกระทำเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่มีการวางแผนและกำหนดการล่วงหน้าทั้งสิ้น

หลังจากที่ได้มีการเตรียมการเรียบร้อย ใน พ.ศ.2519 ก็ได้เริ่มมีการวางเงื่อนไขรัฐประหาร ในส่วนการปราบปรามก็ได้มีการเตรียมไว้ก่อนเช่นกัน จึงได้มีการนำเอาจอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามาในประเทศตามลำดับ เพื่อสร้างสถานการณ์ปราบปรามและก่อรัฐประหาร และเงื่อนไขดังกล่าวสมบูรณ์เมื่อเกิดกรณีใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงได้ปลุกระดมประชาชนขึ้นมาต่อต้านนักศึกษาในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 และใช้ความรุนแรงของอำนาจรัฐเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนในเวลาเช้าวันที่ 6 ตุลาคม และก็ก่อการรัฐประหารฟื้นเผด็จการในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง

เหตุผลหลักในการก่อการสังหารนักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็คือข้อหาที่ว่า ฝ่ายนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และนักศึกษานั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธร้ายแรง ดังที่แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ชี้แจงไว้ตอนหนึ่งว่า

ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้ทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมก็ต่อสู้ด้วยอาวุธอันร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายชาวเวียดนามต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

คำกล่าวหาเรื่องนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอาวุธร้ายแรง และใช้อาวุธดังกล่าวตอบโต้เจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นจำนวนมากเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ปราศจากหลักฐานโดยสิ้นเชิง ความจริงนั้นฝ่ายนักศึกษาในธรรมศาสตร์มีเพียงอาวุธป้องกันตัวเพียงเล็กน้อย และแทบมิได้ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตแต่ประการใด ส่วนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นข้อหาใส่ร้ายป้ายสีอย่างแท้จริง เพราะในขณะนั้นขบวนการนักศึกษากำลังอยู่ในระหว่างรณรงค์ขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร การก่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆ เลยต่อการดำเนินการกับจอมพลถนอม หรือต่อการการเรียกร้องให้นำตัวฆาตกรที่ฆ่าช่างไฟฟ้านครปฐมมาลงโทษ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ขบวนการนักศึกษาจะทำเช่นนั้น และยิ่งกว่านั้น ตลอดเวลาแห่งการเคลื่อนไหวในรอบ 3 ปี ก็ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะมีการเคลื่อนไหวหรือกระทำใดๆ ที่จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ประชาชนในวงการต่างๆ เท่านั้น ดังนั้น ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงเป็นเรื่องเหลวไหลและเกินจริง แต่กระนั้น สมมติว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษามุ่งจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สิ่งที่ควรทำก็เพียงแต่จับกุมนักศึกษากลุ่มนั้นมาพิจารณาคดีในศาลเพียงเท่านั้น การล้อมปราบและเข่นฆ่านักศึกษาที่กำลังชุมนุมต่อต้านจอมพลถนอม จึงไม่ใช่วิธีการดำเนินการสะสางคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเครื่องชี้ว่ากลุ่มชนชั้นนำที่ปราบปรามนักศึกษานั่นเอง คือผู้ใช้กฎหมู่กระทำการเหนือกฎหมายอย่างแท้จริง

ส่วนข้อหาคอมมิวนิสต์นั้นก็เป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีเช่นเดียวกัน จริงอยู่ว่าขบวนการนักศึกษาเมื่อ พ.ศ.2519 มีความโน้มนำที่ยอมรับแนวคิดแบบสังคมนิยมและมีสายจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ในขบวนการ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความชอบธรรมที่จะก่อการเข่นฆ่าสังหารนักศึกษาที่กำลังชุมนุมต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจร ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน อย่างมากนักศึกษาที่อยู่ในสายจัดตั้งของพรรคก็มีเพียงบางส่วนและเป็นส่วนน้อย ขบวนการนักศึกษาทั้งขบวนยังมีความแตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างมาก ความจริงแล้วความคิดแบบสังคมนิยมหรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ก็มิได้มีอะไรมากไปกว่าอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่มุ่งจะสร้างสังคมใหม่ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของเยาวชนคนหนุ่มสาว การคิดหรือใฝ่ฝันถึงสังคมอุดมการณ์ จึงไม่ใช่ความผิดที่จะต้องมาเข่นฆ่ากันกลางเมืองเช่นนี้ หรือแม้กระทั่งจะกวาดล้างสายงานของพรรคคอมมิวนิสต์ในขบวนการนักศึกษา ก็ไม่อาจจะทำได้ด้วยการกวาดล้างเช่นนี้ ถ้าหากเห็นว่าการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นการผิดกฎหมาย ก็ควรจะต้องใช้วิธีการหาหลักฐานมาจับกุมคนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาขึ้นศาลพิจารณาคดีตามกฎหมาย การล้อมฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่วิธีการอันถูกต้อง

กรณี 6 ตุลาคม 2519 ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้เมืองไทยจะเป็นเมืองพุทธศาสนา แต่เป็นเมืองพุทธที่ไม่มีรากฐานอหิงสาธรรม เพราะรัฐและกลไกรัฐในสมัย 6 ตุลาฯ มีความพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนตลอดเวลา หากว่าการเคลื่อนไหวที่เอียงไปทางซ้ายของขบวนการนักศึกษาก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ชนชั้นนำไทยสมัยนั้นไม่เคยคิดที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธีโดยใช้ภูมิปัญญาเป็นเครื่องมือ ดังนั้น บทเรียนที่สังคมไทยจะต้องรับจากกรณี 6 ตุลาฯ ก็คือฝ่ายรัฐและชนชั้นนำจะต้องไม่แก้ปัญหากับฝ่ายประชาชนด้วยการใช้ความรุนแรงอีกในทุกระดับ นอกจากนั้นจะต้องทำให้สังคมไทยเปิดกว้างทางความคิด โดยยอมรับว่าความคิดความเชื่อ การเทิดทูนบูชา การมีความใฝ่ฝัน หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จะต้องไม่เป็นสาเหตุในการเข่นฆ่าหรือการยอมรับการเข่นฆ่า เนื่องจากความหฤโหดของกรณี 6 ตุลาฯ มิใช่เพียงแต่การเกิดเข่นฆ่า สังหาร แขวนคอ และเผาทั้งเป็นกลางเมืองเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ว่ามีประชาชนจำนวนมากเห็นการเข่นฆ่าเช่นนี้ แล้วยังสามารถปรบมือและร้องเพลงหนักแผ่นดินต่อหน้าความตายของผู้อื่นได้อย่างหน้าชื่นตาบาน การที่สังคมไทยยอมรับความรุนแรงได้ในระดับนี้ เพียงเพราะเข้าใจไปว่าอีกฝ่ายหนึ่งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหากยังไม่มีการสรุปบทเรียนใดๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย ย่อมเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนยังใคร่ขอย้ำอีกครั้งว่า สังคมไทยควรจะต้องยอมรับว่าความใฝ่ฝันในสังคมที่ดีงามไม่ใช่ความผิด การที่ผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอุดมการณ์แบบสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรืออุดมการณ์อื่นใดที่แตกต่างจากรัฐย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งควรจะให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ความตายของนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 น่าจะทำให้สังคมไทยตื่นขึ้นมาตระหนักความจริงในข้อนี้ อีกทั้งสังคมไทยควรจะยกย่องผู้เสียสละเหล่านี้ เป็นวีรชน ผู้เป็นแบบอย่างของคนที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามอย่างแท้จริง