บุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งคือ พล.ต.ต.สมควร หริกุล ผู้กำกับตำรวจชายแดนเขต 4 ร่วมมือกับข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายคน ได้จัดการอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2514 ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ต่อมา พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก็ได้เข้าร่วมผลักดัน จุดมุ่งหมายเริ่มแรกของการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านคือ การสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการและประชาชน เพื่อให้ประชาชนช่วยส่งข่าวและรวบรวมข้อมูลให้กับทางราชการเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ต่อมาใน พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินี ก็ได้รับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และโปรดเกล้าฯ ให้สมุหราชองครักษ์ ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือของกรมราชองครักษ์ที่ กห.0204/2477 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ให้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนกิจการลูกเสือชาวบ้าน โดยให้ความร่วมมือกับตำรวจตระเวนชายแดน และต่อมายังได้พระราชทานผ้าพันคอลูกเสือ วอกเกิล (ปลอกรัดผ้าพันคอ) และหน้าเสือ แก่ลูกเสือชาวบ้านที่สำเร็จการอบรมทุกนาย ทั้งยังเสด็จไปพระราชธงลูกเสือด้วยพระองค์เองเสมอ
ดังนั้น ในระยะหลัง 14 ตุลาคม 2516 กิจการลูกเสือชาวบ้านจึงขยายตัวอย่างมากและมีนายทหารและนักการเมืองสำคัญเข้าร่วมหลายคน เช่น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร จนถึง พ.ศ.2519 ลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศจึงมีจำนวนหลายล้านคน มีทั้งเด็กผู้ใหญ่จนถึงคนชรา ส่วนมากแล้วจะถูกปลุกให้ยึดมั่นอยู่กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และกระหายจะกวาดล้างคอมมิวนิสต์หรือผู้ที่ที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จากรายงานของกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 2 มิถุนายน 2519 ระบุว่า มีผู้รับการอบรมลูกเสือชาวบ้านไปแล้ว 2,794 รุ่น เป็นจำนวน 9.1 แสนคน และยังแจ้งด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนว่า ถ้าฝึกอบรมสมาชิกลูกเสือชาวบ้านได้ถึง 5 ล้านคน บ้านเมืองของเราจะสงบเรียบร้อยมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ในกรณี 6 ตุลาคม เมื่อถูกปลุกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลูกเสือชาวบ้านก็กลายเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมชุมนุมต่อต้านนักศึกษาที่พระบรมรูปทรงม้าเมื่อเย็นวันที่ 5 ตุลาคม จากนั้น เช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม ลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และนายธรรมนูญ เทียนเงิน ก็ร่วมกับองค์กรฝ่ายขวากลุ่มอื่น เคลื่อนขบวนมายังท้องสนามหลวงในบริเวณตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกเสือชาวบ้านจึงกลายเป็นกองกำลังหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามขบวนการนักศึกษา และลูกเสือชาวบ้านยังคงชุมนุมอยู่จนถึงเวลาเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงได้สลายก่อนการรัฐประหารเพียงเล็กน้อย