Documentation of Oct 6

2.2.1 การต่อสู้ของกรรมกร

ขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญแรกสุดก็คือ การต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการ กรรมกรได้ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนัก เนื่องจากนโยบายมุ่งส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งที่จะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ จึงมุ่งที่จะกดค่าจ้างแรงงานของกรรมกรให้ต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ใช้กฎอัยการศึกห้ามการนัดหยุดงานของกรรมกรอย่างเด็ดขาด หากคนงานขัดขืน มีโอกาสที่จะถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์โดยทันที กรรมกรไทยจึงยากจนข้นแค้นและต้องทำงานในเงื่อนไขที่ยากลำบาก ค่าจ้างแรงงานต่ำ ไม่มีหลักประกันในด้านสวัสดิการและชีวิตการทำงาน ต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่งต่อนายทุนเจ้าของโรงงาน ดังนั้น ปัญหาของชนชั้นกรรมกร จึงเป็นปัญหาที่สั่งสมมากขึ้นทุกที กรรมกรจึงได้มีความพยายามในการนัดหยุดงานต่อสู้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในระยะปีก่อนหน้ากรณี 14 ตุลาคม 2516 ได้เริ่มมีการนัดหยุดงานของกรรม กรเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เริ่มใช้นโยบายผ่อนปรนบางประการ เช่น การออกกฎกระทรวงมหาดไทยวันที่ 16 เมษายน 2515 ให้มีการตั้งกรรมการพิจารณากำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปรากฏว่าในการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก เดือนกุมภาพันธ์ 2516 ให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 12 บาทต่อวัน

แต่กระนั้น มาตรการผ่อนปรนเหล่านี้ ก็มิได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของชนชั้นกรรมกร เพราะแม้ว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับการครองชีพ แต่โรงงานจำนวนมากก็ยังจ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อระบอบเผด็จการพังทลายจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 จึงได้เกิดกระแสการนัดหยุดงานเพื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมขนานใหญ่ ดังจะเห็นได้จากหลังกรณี 14 ตุลาฯ เพียง 1 เดือนเศษ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน กรรมกรนัดหยุดงานถึง 180 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วมีการนัดหยุดงานของกรรมกรถึง 4 รายต่อวัน และการนัดหยุดงานของกรรมกรนี้แผ่ขยายไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากนั้นในเดือนต่อมา กรรมกรได้นัดหยุดงานอีกเป็นจำนวน 300 ครั้ง คิดเป็นอัตราถึง 10 รายต่อวัน และในการประท้วงของชนชั้นคนงาน มีหลายครั้งที่กระทบกระเทือนอย่างมาก เช่น การนัดหยุดงานของกรรมกรท่าเรือ และกรรมกรได้เข้ายึดท่าเรือปิดการขนส่ง 1 วัน จนทำให้ทางฝ่ายบริหารการท่าเรือต้องยอมปรับค่าแรงตามข้อเรียกร้อง ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม กรรมกรรถไฟนัดหยุดงาน ทำให้การขนส่งทางรถไฟต้องชะงัก และท้ายที่สุดทางการรถไฟก็ต้องปรับค่าแรงกรรมกรเช่นกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 กระแสการหยุดงานของกรรมกรก็ยิ่งสูงขึ้นจนถึง 357 ครั้ง และมีกรรมกรที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานเพิ่มทวีมากขึ้น จากนั้น ใน พ.ศ.2518 มีการนัดหยุดงานของกรรมกรอีก 241 ครั้ง และ ใน พ.ศ.2519 จนถึงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการนัดหยุดงาน 133 ครั้ง จนกล่าวได้ว่าขบวนการกรรมกรเกือบทั้งหมดได้ผ่านการนัดหยุดงานในช่วงระยะเวลาก่อน 6 ตุลาฯ นี้แล้วแทบทั้งสิ้น การขยายตัวแห่งการนัดหยุดงานของชนชั้นกรรมกรอาจแสดงให้เห็นได้ดังตาราง

ตาราง สถิติการนัดหยุดงาน ในระยะ พ.ศ.2514-2519

ที่มา กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย

ปัญหาอยู่ที่ว่าการนัดหยุดงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากการยุยงของฝ่ายซ้ายตามที่เอกสารคณะปฏิรูปกล่าวอ้างหรือ คำตอบคือ ไม่น่าจะใช่ เพราะในระหว่างปลายปี พ.ศ.2516 จนถึง 2517 ที่กรรมกรนัดหยุดงานอย่างมากนั้น ยังไม่มีขบวนการฝ่ายซ้ายที่ไหนแข็งแกร่งพอที่จะไปยุยงกรรมกรโรงงานนับพันโรงงานให้หยุดงานได้ ดังนั้น ปัญหาการนัดหยุดงานเหล่านี้ เกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นของกรรมกรที่สั่งสมตัวมาแสนนาน จนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ข้อเรียกร้องของกรรมกรโดยมากก็มักเป็นเรื่องขอให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงงานและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกันในการทำงานต่างๆ กระแสแห่งการต่อสู้ของกรรมกรที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้เอง ได้นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรกรรมกรในรูปของสหภาพแรงงานขึ้นมากมายในวิสาหกิจต่างๆ ทั้งในภาครัฐวิสาหกิจและโรงงานเอกชน ซึ่งการรวมตัวกันของกรรมกรเข้าเป็นสหภาพแรงงาน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยภายใต้ระบอบเผด็จการก่อนหน้านี้

การเกิดขององค์กรกรรมกรเหล่านี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมกรเป็นระบบและเป็นขบวนการมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 กลุ่มกรรมกรต่างๆ 34 สมาคม ได้ร่วมมือกับขบวนการนักศึกษาจัดงานวันกรรมกรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่สวนลุมพินี มีกรรมกรเข้าร่วมนับหมื่นคน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2500 ที่มีการจัดงานวันกรรมกรยิ่งใหญ่เช่นนี้ และนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้ออกปราศรัยทางวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อสดุดีชนชั้นกรรมกรด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2517 กรรมกรโรงงานทอผ้าย่านอ้อมน้อยได้เรียกร้องให้โรงงานอื่นๆ เข้าประท้วงสมาคมสิ่งทอของกลุ่มนายทุนทอผ้า ที่ประกาศจะลดการผลิตและลดเวลาการทำงานของกรรมกร โดยอ้างเหตุผลว่ายอดขายในตลาดโลกลดลง สมาคมกรรมกร 34 แห่งได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ช่วยแก้ไข แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ในวันที่ 9 มิถุนายน กรรมกรทอผ้า 600 โรงงานทั่วประเทศจึงนัดหยุดงาน และนัดชุมนุมที่สนามหลวง ตั้งข้อเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างแรงงาน ให้มีสวัสดิการ และให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การชุมนุมขยายตัวเป็นการชุมนุมใหญ่ที่ยืดเยื้อถึง 4 วัน และมีกรรมกรหลายหมื่นคนเข้าร่วม ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ที่สุดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลรับปากที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องของกรรมกร โดยเฉพาะเรื่องค่าชดเชยเมื่อออกจากงาน และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในที่สุดรัฐบาลต้องยอมประกาศยอมประกันค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกร ซึ่งนำมาสู่การประกาศประกันค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20 บาทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนตุลาคม 2517 และต่อมารัฐบาลก็ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เมื่อ พ.ศ.2518

การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมกรครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากกลุ่มอิสระต่างๆ ในขบวนการนักศึกษา และองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงทำให้ทำให้สมาคมกรรมกรต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมกรภาคเอกชนที่ร่วมการต่อสู้ จัดตั้งองค์กรร่วมคือ “ศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ” เพื่อประสานงานการต่อสู้ของกรรมกร โดยมีผู้นำสำคัญคือ นายเทิดภูมิ ใจดี ประธานกลุ่มสหภาพกรรมกรโรงแรม และนายประสิทธิ์ ไชโย จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าสมุทรสาคร เป้าหมายของศูนย์ประสานงานกรรมกร นอกจากจากต่อสู้เพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรแล้ว ยังมุ่งที่จะประสานพลังกับกลุ่มชาวนา และขบวนการนักศึกษาเพื่อสร้างพลังสามประสานขึ้น เป็นพลังทางการเมืองสำคัญ ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของประชาชน

นอกเหนือจากกลุ่มสหภาพแรงงานเอกชนที่นำโดยศูนย์ประสานงานกรรมกร ได้มีกลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งมาจากสหภาพในกิจการสาธารณูปโภคของรัฐจัดตั้งขึ้นด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สหภาพของพนักงานการไฟฟ้า การประปา องค์การโทรศัพท์ โรงงานยาสูบ คลังสินค้า ท่าเรือ เป็นต้น หลังจากที่ได้มีการใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 กลุ่มสหภาพแรงงานส่วนนี้ ได้รวมกับสหภาพแรงงานกลาง เรียกว่า “กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย” มีผู้นำคือ นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพการไฟฟ้านครหลวง และนายอารมณ์ พงศ์พงัน จากสหภาพประปานครหลวง กลุ่มนี้เป็นแกนกลางในการจัดงานวันกรรมกรที่สวนลุมพินี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2518 และต่อมาได้มีบทบาทในการหนุนช่วยการต่อสู้ของกรรมกรเช่นเดียวกัน

ใน พ.ศ.2518 การต่อสู้ของกรรมกรยิ่งแหลมคมมากขึ้น โดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรหญิงโรงงานสแตนดาร์ดการ์เมนท์ ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตั้งอยู่ย่านถนนพระรามสี่ ประท้วงนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน ในครั้งนี้ฝ่ายนายจ้างได้ใช้วิธีการแยกสลายกรรมกรเป็นสองส่วน โดยมีส่วนหนึ่งที่ไม่ร่วมการประท้วง และต้องการเข้าทำงาน ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2518 กองกำลังตำรวจภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ยุทธนา วรรณโกวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาลใต้ ได้พยายามนำเอากรรมกรส่วนที่เข้าข้างนายจ้างเข้าทำงาน เกิดการปะทะกับฝ่ายกรรมกรที่ต้องการประท้วง ฝ่ายตำรวจตัดสินใจใช้ไม้กระบองเข้าทุบตีกรรมกรที่นัดหยุดงาน ซึ่งล้วนเป็นกรรมกรหญิงทั้งสิ้น ทำให้กรรมกรบาดเจ็บ 28 คน นับเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการใช้วิธีการแยกสลายโดยให้กรรมกรขัดแย้งกันเอง และเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตำรวจใช้ความรุนแรงกับกรรมกร

หลังจากนั้นก็คือการประท้วงของพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเคยนัดหยุดงานครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 เป็นเวลา 23 วัน เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2518 คนงาน 400 คนก็นัดหยุดงานครั้งที่สอง หลังจากที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายบริหารแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง การนัดหยุดงานยืดเยื้อเพราะฝ่ายเจ้าของโรงแรมไม่ยอมเจรจาและไล่ฝ่ายพนักงานออก 105 คน และยังได้ว่าจ้างกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มอันธพาลการเมืองเข้ามาเพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน ปรากฏว่าในวันที่ 2 มิถุนายน นายเทิดภูมิ ใจดี ผู้นำพนักงานดุสิตธานี ถูกลอบยิงแต่ไม่ได้รับอันตราย เหตุการณ์นี้จึงทำให้ฝ่ายศูนย์ประสานงานกรรมกรจัดการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่สวนลุมพินีเป็นเวลา 3 วัน ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลได้เข้ามาจัดการปัญหา ข้อเรียกร้องของฝ่ายกรรมกรได้ถูกนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งตัดสินให้ฝ่ายกรรมกรแพ้ เพราะเป็นการเรียกร้องซ้ำภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งขัดกับกฎหมายแรงงาน พ.ศ.2518

ต่อมา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2518 เกิดการนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทม์ อำเภอกระทุ่มแบน ฝ่ายนายจ้างใช้อันธพาลเข้าคุ้มครองโรงงาน เกิดการปะทะกับฝ่ายกรรมกร เป็นเหตุให้ น.ส.สำราญ คำกลั่น กรรมกรหญิงอายุ 15 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในการนัดหยุดงาน

วันที่ 9 ตุลาคม 2518 กรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน เริ่มนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ การนัดหยุดงานครั้งนี้ กลายเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและดุเดือดที่สุด เพราะฝ่ายนายจ้างไม่ยอมเจรจาและยังมีคำสั่งไล่คนงานที่ประท้วงออกจากงาน การประท้วงดำเนินไปจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2518 กรรมกรได้ยึดโรงงานและทำการผลิตสินค้าออกมาขายโดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ และตั้งชื่อโรงงานว่า “สามัคคีกรรมกร” มีการขอระดมทุนช่วยเหลือ โดยการขายหุ้นให้ประชาชนหุ้นละ 20 บาท ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม 2519 ฝ่ายตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืน และจับนักศึกษาและกรรมกรหลายคนไปคุมขังไว้ในข้อหาผิดกฎหมายโรงงาน อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาราได้กลายเป็นตำนานแห่งการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรไทย ที่ชี้ให้เห็นจิตใจที่ต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร

ในเดือนธันวาคม 2518 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ตัดสินใจจะเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูกแก่ประชาชน ดังนั้น ในวันที่ 2 มกราคม 2519 กรรมกรสังกัดสหภาพแรงงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จึงได้นัดหยุดงานพร้อมกันเพื่อคัดค้านการยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารครั้งนี้ ต่อมามีการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และกรรมกรเข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน ในที่สุด วันที่ 6 มกราคม รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องยอมรับข้อเรียกร้อง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2519 กรรมกรโรงงานลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำนวนถึง 5,000 คนนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างแรงงาน ฝ่ายนายจ้างไม่ยอม และขอให้จับผู้นำการประท้วงในข้อหาผิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ในครั้งนี้กรรมกรถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายเช่นกัน โดยกรรมกรฝ่ายที่สนับสนุนนายจ้างได้รับการคุ้มกันจากตำรวจติดอาวุธครบมือให้เข้าทำงานตามปกติ การประท้วงดำเนินต่อมาจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน จึงสามารถตกลงกันได้ กรรมกรส่วนใหญ่กลับเข้าทำงาน แต่ต่อมาฝ่ายนายจ้างก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา เพราะไม่ยอมรับผู้นำกรรมกรที่ประท้วงกลับเข้าทำงาน นอกจากนี้ยังไม่ยอมให้สวัสดิการแก่กรรมกรตามที่ตกลงไว้ โดยที่ฝ่ายกรรมกรไม่อาจจะดำเนินการใดๆ ได้ เพราะเกิดกรณี 6 ตุลาฯ ขึ้นเสียก่อน