ตั้งแต่ พ.ศ.2517 ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การกล่าวหาว่านักศึกษาก่อความวุ่นวายในสังคม ขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำนักศึกษาเป็นญวน รับเงินจากต่างประเทศ ไปฝึกอาวุธที่ฮานอย และโจมตีการชุมนุมประท้วงและการเคลื่อนไหวของฝ่ายนักศึกษาว่า เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการสร้างข่าวลือทำลายตัวบุคคล เช่นเรื่องเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนักศึกษาโกงเงินศูนย์นิสิตไปใช้ส่วนตัว เป็นต้น โดยเรื่องเหล่านี้ปราศจากหลักฐานอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ การถากถางนักศึกษาที่แต่งตัวเรียบง่ายว่า เป็นพวก 5 ย. คือ ผมยาว กางเกงยีนส์ เสื้อยับ รองเท้ายาง สะพายย่าม เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าพวกนักศึกษาเหล่านี้ เป็นตัวตลกบ้าบอ เพื่อให้ขาดความเชื่อถือในหมู่ประชาชน โดยประยูร จรรยาวงศ์ นักเขียนการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ภาพลักษณ์เช่นนี้ สำหรับศูนย์นิสิตตั้งแต่พ.ศ.2518 ก็ถูกเสียดสีว่าเป็นศูนย์เถื่อน เพราะไม่มีสถานะหรือมีการจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นศูนย์ “สทร.” หมายถึงเสือกทุกเรื่อง ซึ่งเป็นการโจมตีการเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนว่าเป็นการเสือกนั่นเอง การทำลายภาพลักษณ์ในลักษณะเช่นนี้ทางราชการได้ใช้กับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เช่นเดียวกัน โดยใช้คำเรียกว่า “สหพันธ์เถื่อน” และเรียกผู้นำสหพันธ์ว่า เป็นผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้นำชาวนา
ในกระบวนการใส่ร้ายป้ายสีนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะประสานกับการที่ทางฝ่ายรัฐเองได้ส่งคนของรัฐเข้ามาปะปน แล้วสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อทำลายภาพลักษณ์ เช่น ในระหว่างที่นักศึกษาก่อการประท้วงกรณีเรือมายาเกวซ ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2518 มีชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่ง บุกเข้าไปในบริเวณที่ฝ่ายนักศึกษานำเอาธงชาติของสหรัฐฯ มาแขวนประท้วง และปัสสาวะรดธงชาติสหรัฐฯ จากนั้นชายผู้นี้ก็หลบหายไป การใช้วิธีการประท้วงเช่นนี้ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในแผนการของฝ่ายนักศึกษาเลย และชายผู้กระทำเช่นนั้นก็มิใช่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรนักศึกษาองค์กรใด จึงมีความเป็นได้อย่างยิ่งว่าชายผู้นี้ถูกส่งปะปนเข้ามา เพื่อทำให้การประท้วงลุกลาม และวิธีการนี้เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของนักศึกษา ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและเห็นว่าเป็นวิธีการที่เกินเลย ต่อมาชายผู้นี้ได้ปรากฏตัวอีกหลายครั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายนักศึกษา และในคืนวันที่บุญสนอง บุญโยทยาน ถูกสังหาร โดยเป็นผู้มาดูศพที่โรงพยาบาลเปาโลเมื่อคืนวันที่ 1 มีนาคม 2519
การโฆษณาดังกล่าวนี้ได้แผ่ขยายออกไป ร่วมกับการโฆษณาปลุกกระแสชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และกล่าวหาว่านักศึกษาจะเป็นผู้บ่อนทำลายสถาบันเหล่านี้ ได้มีการแต่งเพลงจำนวนไม่น้อยที่แสดงถึงนัยในการต่อต้านขบวนการนักศึกษา เช่นเพลง รกแผ่นดิน เพลง ถามคนไทย ได้มีประโยคสำคัญที่กล่าวในเชิงบริภาษไปถึงเยาวชนนักศึกษาว่า “วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร” นอกจากนี้ คือ เพลง เราสู้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เนื้อร้องแต่งโดยสมภพ จันทรประภา ก็มีประโยคเน้นว่า “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ สู้จนตาย จะเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู” เพลง ทหารพระนเรศวร มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “เปรี้ยง เปรี้ยง เป็นเสียงฟ้าฟาด โครมโครมพินาศพังสลอน” แต่ที่โด่งดังและโจมตีขบวนการนักศึกษามากที่สุดได้แก่เพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งแต่งใน พ.ศ.2518 โดย พ.ต.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และร้องโดยสันติ ลุนเผ่ มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า
คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิทอง แผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดยุยงปลุกปั่นไทยด้วยกันหมายให้แตกทำลาย
ปลุกระดมมวลชน ให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง
คนใดหลงชนชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง
ได้สินทรัพย์เจือจาน ก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังชาติของมัน
(สร้อย) หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน
การโฆษณาโจมตีฝ่ายนักศึกษานั้น ส่วนหนึ่งก็อาศัยสื่อมวลชนของรัฐ อันได้แก่ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งในขณะนั้นส่วนมากยังอยู่ในมือของฝ่ายทหาร การเริ่มโจมตีและโต้กลับฝ่ายนักศึกษาเริ่มเห็นได้ตั้งแต่ต้น พ.ศ.2517 เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งเรื่องบ้านนาทราย อีกส่วนหนึ่งก็ได้อาศัยหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เช่น หนังสือพิมพ์ รายวัน ที่มีนายจรุง รักชาติ เป็นบรรณาธิการ นอกจากนี้ ก็คือ ดาวสยาม ของนายประสาน มีเฟื่องศาสตร์ บ้านเมือง ของนายมานะ แพร่พันธุ์ สยามิศร์ ของนายประหยัด ศ.นาคะนาท และในหลายคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ โดยเฉพาะ สีน้ำ หรือนายมานิตย์ ศรีสาคร นั้น ใช้หน้ากระดาษโจมตีผู้นำศูนย์นิสิตและใส่ร้ายขบวนการนักศึกษาตลอดเวลา ส่วน ดาวสยาม เป็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวใส่ร้ายและทำลายภาพลักษณ์ขบวนการนักศึกษาอยู่เสมอ และหลายครั้งถึงกับใช้คำบริภาษอันหยาบคาย จึงถูกฝ่ายนักศึกษาเดินขบวนต่อต้านและวางหรีดดำหน้าสำนักงานหลายครั้ง สำหรับ รายวัน ได้ลงรายชื่อบัญชีดำหมายหัวบุคคลว่าเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์จำนวนมาก ซึ่งส่วนมากก็เป็นชื่อผู้นำนักศึกษา ผู้รักความเป็นธรรม และนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และแม้กระทั่งผู้ที่ถึงแก่กรรมไปในระยะก่อนหน้านี้แล้ว เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยังติดในบัญชีดำนี้ด้วย
มีบางครั้งที่ชนชั้นนำใช้วิธีการสร้างข่าว เช่นในวันที่ 17 ธันวาคม 2518 พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ก็ออกมาแถลงทำลายภาพพจน์ว่า มีนักศึกษาปลอมออกไปปลุกปั่นยุยงชาวนาและกรรมกร เพื่อก่อให้เกิดความแตกแยกภายในชาติ ต่อมา ในวันที่ 27 มกราคม 2519 หลังจากที่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.บุญเลิศ ก็แถลงว่า ได้รับข่าวว่า นักศึกษาจะชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเดินขบวนไปถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้รัฐบาลชุดปัจจุบันลาออก แล้วให้แต่งตั้งนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พ.ต.ท.บุญเลิศ ไม่ได้อธิบายว่าได้รับข่าวมาจากที่ใด ฝ่ายนักศึกษาธรรมศาสตร์จึงออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามว่า พ.ต.ท.บุญเลิศให้ข่าวอย่างไม่รับผิดชอบ และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ได้ปฏิเสธว่าข่าวของ พ.ต.ท.บุญเลิศ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันก็มีการปิดกั้นการโฆษณาประชาชนสัมพันธ์ของฝ่ายนักศึกษา มิให้มีโอกาสแถลงข้อเท็จจริงใดๆ แก่ประชาชนเลย ด้วยเหตุนี้เองฝ่ายปฏิกิริยาจึงสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจสับสนต่อขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างมาก ดังนั้น ฝ่ายนักศึกษาโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดทำหนังสือพิมพ์บอร์ดขึ้นมาโดยใช้บอร์ด 2 แผ่น วางที่หน้าประตูท่าพระจันทร์และหน้าประตูหอประชุมใหญ่แห่งละแผ่น เพื่อจะได้เผยแพร่ข่าวสารของฝ่ายนักศึกษาสู่ประชาชน โดยมีการเปลี่ยนข่าวอยู่เสมอ ปรากฏว่าใน พ.ศ.2519 กลุ่มอันธพาลการเมืองจะเริ่มคุกคามและเผาทำลายบอร์ดข่าวของฝ่ายนักศึกษาหลายครั้ง แต่ฝ่ายนักศึกษาก็พยายามทำขึ้นใหม่ เพื่อทลายการปิดล้อมทางด้านข่าวสาร
การใส่ร้ายป้ายสีว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเริ่มตั้งแต่พ.ศ.2517 หลังจากวารสาร ประชาธรรม ของพรรคสัจจธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2516 ได้ตีพิมพ์บทกลอนบทหนึ่งชื่อ “ถึงชาวฟ้า จากข้าชาวดิน” แต่งโดย น.ป.น. มีใจความขึ้นต้นว่า
ชาวเอ๋ยชาวเขา เจ้าอยู่สูงสง่า
เจ้าอยู่บนฟ้า แต่ข้าอยู่บนดิน
เจ้าอยู่สูงเสียดฟ้า เจ้าค้าขายฝิ่น
ขุดพลอยขายกิน ปลูกฝิ่นปลูกกัญชา
ทั้งแบกอาวุธติดบ่า คุมลาใส่ฝิ่น
มุ่งหน้าหากิน ขนฝิ่นขนกัญชา
จึงบ่ค่อยอดอยาก บ่สิมากมีปัญหา
เพราะเจ้ามีเทวดา คอยมาเยี่ยมมาเยือน
เอาวัวมาแจก แบกแกะมาสู่
หาหมูมาให้เลี้ยง เชอะ! หาเสียงเทวดา
หลังจากวารสารนี้เผยแพร่ไปแล้วนานกว่าปี จึงได้เริ่มมีการกระพือข่าวว่า บทกลอนนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายประยูร จรรยาวงศ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเสียใจที่ว่า ในการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานสัตว์เลี้ยงต่างๆ แก่ราษฎรนั้น มีผู้เข้าใจว่าพระองค์ไปหาเสียง” จากนั้นในเดือนตุลาคม 2517 หนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงได้มีการตีพิมพ์โหมประโคมว่า นักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในที่สุดในวันที่ 26 ตุลาคม ทางการตำรวจก็จับกุมนายประเดิม ดำรงเจริญ บรรณาธิการ สัจจธรรม เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินให้ยกฟ้องคดีนี้ ทำให้การใช้เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือยังไม่บรรลุเป้าหมาย
แต่กระนั้น การโจมตีขบวนการนักศึกษาโดยพยายามโยงเข้ากับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังมีขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น กรณีหนังสือพิมพ์ สยามิศร์ รายวัน โดยนายประหยัด ศ.นาคะนาท ได้พาดหัวข่าวโจมตีการจัดงานฟุตบอลประเพณีของจุฬา-ธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ.2519 ว่า มีการบรรเลงเพลงปลุกเร้าให้คนล้มกษัตริย์ เพลงที่ถูกหยิบมาใส่ร้ายครั้งนี้คือ เพลงมาร์ช มธก. ซึ่งเอาทำนองเพลงมาซาแยซ ของฝรั่งเศสมาใช้ ฝ่ายนักศึกษาได้ก่อการประท้วงโดยการไปวางหรีดหน้าสำนักพิมพ์ และได้ชี้แจงให้ทราบว่า เพลงนี้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยมานานแล้ว และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย