Documentation of Oct 6

จดหมายสองฉบับของ สุรินทร์ มาศดิตถ์

เราได้เห็นข้างต้นว่า การที่สงัด ชลออยู่และบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเราจัดเป็นกลุ่มสี่เสาเทเวศม์วางแผนจะทำรัฐประหาร ถึงขั้นเข้าเฝ้าขอพระราชทาน “พรสวรรค์” (คำของสงัด) ให้ดำเนินการได้ แต่ในหลวงทรงเพียงแต่แนะนำให้ไปปรึกษาธานินทร์ กรัยวิเชียร และทั้งสองฝ่ายร่วมกันร่างแผนดำเนินการหลังการยึดอำนาจนั้น แสดงว่าขบวนการนักศึกษาในปี 2519 อาจจะประเมินภัยรัฐประหารจากกลุ่มสี่เสาฯต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม สงัดเองกล่าวว่า “รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆแต่ก็ไม่ได้จังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนฝูงนายทหารผู้ใหญ่ก็หาว่า…เตะถ่วง ซึ่งความจริงจะว่าจริงก็ได้” จนกระทั่ง 6 ตุลา จึงลงมือเพราะมี “อีกฝ่ายหนึ่ง” กำลังจะทำตอนสองทุ่มคืนนั้น ซึ่งแสดงว่าการวิเคราะห์ของเราในปี 2519 ที่ว่ากระแสรัฐประหารครั้งต่างๆ โดยเฉพาะการนำเอาประภาสกลับในเดือนสิงหาคมและถนอมในเดือนกันยายน(อันนำไปสู่ 6 ตุลา) เป็นการกระทำของฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ใช่ของกลุ่มสี่เสาฯนั้น อาจจะไม่ผิดก็ได้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ ขอให้เรามาพิจารณาหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี: จดหมายเกี่ยวกับ 6 ตุลา ของสุรินทร์ มาศดิตถ์

สุรินทร์เขียนจดหมาย 2 ฉบับ ถึง “เพื่อนอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรค ประชาธิปัตย์” ในเดือนตุลาคม 2520 ฉบับแรกยาว 2 หน้ากระดาษลงวันที่ 3 ฉบับที่สองยาว 3 หน้าลงวันที่ 24. ขณะที่เขียนเขายังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดในนครศรีธรรมราช (เขาอธิบายในจดหมายฉบับแรกว่า ที่บวชเพราะเมื่อเกิด 6 ตุลา แม่เขาบนพระไว้ว่า “ขอให้ลูกสุรินทร์กลับบ้านโดยความปลอดภัย แล้วจะให้บวช”) เขาต้องการ “เปิดเผยความจริง…เท่าที่คิดว่าพอเปิดเผยได้” เกี่ยวกับ 6 ตุลาแก่เพื่อนร่วมพรรค ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ความจริงจนทำให้ “เข้าใจผิดต่อตัวอาตมาก็มี”

สุรินทร์เล่าในจดหมายฉบับแรกว่าเมื่อมีการปลุกระดมโจมตีรัฐบาลของสถานีวิทยุยานเกราะและสถานีวิทยุทหารอื่นๆบางสถานี โดยเฉพาะในช่วงการกลับมาของประภาส เขาได้เสนอให้ม.ร.ว.เสนีย์ ดำเนินการ ซึ่งเสนีย์ก็ได้ออกคำสั่งไป “แต่ไม่ถึง 3 ช.ม. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยมาขอให้นายกรัฐมนตรี      แก้คำสั่งนั้น การปลุกระดมด้วยความเท็จก็ถูกดำเนินต่อไปจนถึง…วันที่ 6 ตุลาคม 2519”

สุรินทร์เขียนว่า

แผนการที่เขาจะปฏิวัติและการย้ายนายทหารผู้ใหญ่ที่สั่งในเดือนกันยายนและมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เป็นแผนที่อยู่ในแผนปฏิวัติ อาตมาได้ให้เลขานุการรัฐมนตรี (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) กราบเรียนนายกรัฐมนตรีแล้วเพื่อแก้ไข ที่ไม่กล้ากราบเรียนเองกลัวว่าจะถูกเข้าใจผิดว่ากลัวถูกออกจากรัฐมนตรีจึงคิดมากไปว่าจะมีการปฏิวัติ แต่เมื่อให้นายสัมพันธ์กราบเรียนแล้วยังไม่มีอะไรแก้ไข อาตมาจึงกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ 28 กันยายน 2519 ว่าจะมีการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลของประชาชน พร้อมกับเสนอแนะทางแก้ไขให้แก่นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหาร 2-3 คนเพื่อป้องกันการถูกยึดอำนาจของประชาชน คือการปฏิวัติ จากข้อเสนอของอาตมาในวันนั้น นายกรัฐมนตรียังคิดแล้วพูดว่า “ทำไม่ได้สุรินทร์ ทหารจะแตกแยก เพราะการย้ายทหารนั้น 3 เหล่าทัพเขาประชุมกันมาแล้ว” แสดงว่านายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เชื่อในความสุจริต เจตนาดีของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อาตมาก็พูดว่า “ก็ตามใจท่านหัวหน้า เรามานั่งรอวันถูกยึดอำนาจกันเท่านั้น และจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้” แล้วอาตมาก็ออกจากห้องนายกรัฐมนตรีไปทำงานตามปกติ

วันที่ 1 ตุลาคม 2519 มีหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักราชเลขาธิการให้รัฐมนตรีทุกคนไปรับเสด็จองค์รัชทายาทเสด็จฯกลับจากประเทศออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีเรียกอาตมาไปพบและได้พูดถึงเค้าของการปฏิวัติว่ามีขึ้นแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช นายสมบุญ ศศิธร รู้ข่าวว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการพรรคให้ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จะถูกย้ายกระทรวง         2 คนนี้ได้ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรีว่าอย่ากราบทูลแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี  หากว่าไม่ได้อยู่กระทรวงมหาดไทย หากแต่งตั้งก็จะลาออก โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ห้องรับรองของกองทัพอากาศขณะไปรอรับเสด็จฯ ในตอนที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงเค้าการปฏิวัติว่ามาจากฝ่ายไหนกับอาตมานั้น อาตมาได้กล่าวว่า “ตามใจ ใครจะปฏิวัติล่ะ หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีก เราจะแพ้คอมมิวนิสต์ นิสิตนักศึกษาปัญญาชน จะขึ้นเขารวมกับพวกบนเขามากขึ้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะถูกทำลายประชาธิปไตย” ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีพูดว่า “ผมทำงานเพื่อประชาธิปไตยและราชบัลลังก์มา 30 ปีแล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว

น่าเสียดายที่สุรินทร์ไม่ได้ขยายความว่า “เค้าการปฏิวัติ” ที่เขาพูดถึงในปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคมนั้นมาจากฝ่ายไหนกันแน่ ข้อมูลของเขาที่ว่าประมาณและสมัครขัดขวางการเล่นงานวิทยุยานเกราะดูเหมือนจะเป็นการยืนยันการวิเคราะห์ของขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้นที่ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มียานเกราะเป็นหัวหอกมีที่มาหรือได้รับแรงหนุนจากพรรคชาติไทยและปีกขวาประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพันธมิตรชาติไทย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ว่า “แผนปฏิวัติ” เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายทหารในปีนั้นและที่สุรินทร์เสนอให้แก้รายชื่อการโยกย้ายใหม่ กลับชี้ไปที่กลุ่มสี่เสาฯที่ครองอำนาจในกองทัพ  แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงปี 2519 โดยเฉพาะในเดือนท้ายๆก่อน 6 ตุลา ชนชั้นปกครองทุกกลุ่มต่างจ้องหาจังหวะทำรัฐประหารด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จดหมายเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ฉบับแรกลงวันที่ 3 ตุลาคม 2520 ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างในที่ใดมาก่อน ในทางตรงกันข้าม ฉบับที่สองลงวันที่ 24 ตุลาคม 2520 ต้องนับว่าเป็นเอกสารการเมืองไทยสมัยใหม่ที่รู้จักกันดีมากที่สุดชิ้นหนึ่ง และถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอีกเช่นกัน จดหมายฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายสัปดาห์ ข่าวไทยนิกร ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน2521 ในยุคที่มีคำนูญ สิทธิสมาน เป็นเสมือนบรรณาธิการหลังฉาก (ชื่อคำนูญ ไม่เคยปรากฏในนิตยสารเลย) หลังจากนั้นได้มีผู้นำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2531 เมื่อเกิดการโต้แย้งทางการเมืองครั้งใหญ่หลังจากมีการเปิดเผยว่าจำลอง ศรีเมืองมีส่วนร่วมในการชุมนุมของกลุ่มพลังฝ่ายขวาหน้าทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (เช่นใน มติชนสุดสัปดาห์และในหนังสือ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร? ซึ่งสมยศ เชื้อไทย เป็นบรรณาธิการ) ผมเข้าใจว่า ในการตีพิมพ์ครั้งหลังๆ ได้ใช้ฉบับที่ตีพิมพ์ใน ข่าวไทยนิกร เป็นต้นแบบ เนื่องจากในฉบับนั้นมีข้อความตกหล่นอยู่ 2 แห่ง ยาวรวมกัน 2 บรรทัด ซึ่งไม่สำคัญมากนัก และฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งหลังๆก็มีข้อความตกหล่นนั้นตามไปด้วย

ผมขออนุญาตยกเอาส่วนสำคัญของจดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมาพิมพ์ซ้ำในที่นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการวิเคราะห์ ผมมีความรู้สึกเมื่อได้กลับไปอ่านจดหมายนี้ใหม่เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีประเด็นน่าสนใจบางประเด็นที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีแนวโน้มมองข้ามไป

สุรินทร์เขียนว่า:

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาตมาถึงตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี เวลาประมาณ 7.00 น.เศษ มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยอยู่ที่บันไดและลานก่อนเข้าลิฟท์หลายคน ต่างก็ถามถึงการที่มีภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย อาตมาตอบว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดีและกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามอบตัวแล้ว ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แล้วอาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และ บ้านเมือง จึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ฯพณฯ นายกฯ เห็นด้วย และว่าเดี๋ยว 9 โมงเช้า  ประชุมคณะรัฐมนตรีจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาตมาจึงลงไปห้องทำงานชั้น 3 เห็นหนังสือที่ด่วนไม่กี่ฉบับ เวลา 9 น.เศษ จึงรีบลงไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึงคณะรัฐมนตรีเปิดประชุมไปแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวกับอาตมาว่ากำลังพิจารณาเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน อาตมาว่าก็ไม่มีปัญหาอะไรเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย และจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุร้ายในบ้านเมือง ปรากฏว่า พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีอื่นฝ่ายพรรคชาติไทยคัดค้านไม่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ห้ามการชุมนุม โดยอ้างเหตุผลว่า หากห้ามการชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเดินทางเข้ามาชุมนุมมากแล้วและกำลังเดินทางมา ก็จะเดือดร้อนชุมนุมไม่ได้ แล้วจะหันมาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

เหตุผลการคัดค้านของพลตรีชาติชายอ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉยแสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชายจึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้านเอาประชาชนไปฆ่านักศึกษาประชาชนไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยร่วมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทย และที่ไปนำพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่าพวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ

ก่อนเที่ยงที่กำลังโต้กันเรื่องจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ ทั้งๆที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรงระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษา     ก็ตายเยอะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและตชด.เข้าไปปราบปราม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า “ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี” อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า “ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน” รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมองพล.ต.ท.ชุมพล กำลังนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อมา พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล แต่อาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พล.ต.ต.กระจ่าง รายงานว่า “ปืนที่ยึดได้จากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก” คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรีถามว่าปืนอะไรที่เสียงดังมาก ดังปุดๆปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิงหรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่าง ตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น จนกระทั่งเที่ยง ปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่า มอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร อาตมาถามพล.ต.ต.กระจ่าง เป็นการส่วนตัวนอกที่ประชุมว่า ยึดอาวุธจากนักศึกษาได้เพิ่มหรือไม่ พล.ต.ต.กระจ่างวิทยุถามไปยังที่ควบคุมนักศึกษาบางเขน ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ได้รับตอบมาทางวิทยุว่า ได้ปืนจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์เพียง 3 กระบอก เป็นปืนพกขนาด .22

ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรมออกไปนอกห้องประชุมแล้ว พูดว่า ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้ว เพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีถามว่าเหตุการณ์สงบแล้วยังไม่กลับบ้านกันอีกหรือ พล.ต.ชาติชาย ตอบว่ายังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่ง จำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากเสื้อแล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (8 ตุลาคม 2519) เพื่อรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง

อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะเรื่องข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนในพรรคชาติไทยเป็นผู้ร่วมก่อเรื่องขึ้นด้วย อาตมาจึงพูดว่า….. อาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ “แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม” เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น หลังจากนั้น พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร พูดขึ้นว่า การใส่ร้ายป้ายสีกันก็มีทั้งนั้นละ นี่ก็มีข่าวว่าคุณดำรงไปพูดที่ขอนแก่นว่า ไม่ให้พรรคชาติไทยร่วมรัฐบาลอีก อาจารย์ดำรงพูดว่า ผมไม่เคยไปที่สถานีวิทยุขอนแก่น

หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นานลูกเสือชาวบ้าน และพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมัคร สุนทรเวช นายส่งสุข ภัคเกษม และพวก ได้ไปร่วมอยู่ที่นั้นด้วย ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาลขณะฝนกำลังตกหนัก  การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ15 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า “ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต”  อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย….

เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆในขบวนการนักศึกษาที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มา ผมได้อ่านจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ที่เล่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนั้น ด้วยความรู้สึกชื่นชมที่สุรินทร์นำความจริงมาเปิดเผย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อกลับไปอ่านอีกครั้งอย่างตั้งใจวิเคราะห์และวิจารณ์มากขึ้น ผมเริ่มมองเห็นว่าบางอย่างที่สุรินทร์เล่าชวนให้ตั้งคำถามกับบทบาทของสุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เองได้

ประการแรก ผมคิดว่าที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มจะมองข้ามความจริงที่ว่า การถกเถียงในที่ประชุมครม.ครั้งนั้น โดยเฉพาะมาตรการที่สุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เสนอเพื่อแก้วิกฤติ คือให้ประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ไม่มีความหมายใดๆเลยต่อชะตากรรมของผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าว่า เขาเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล “เวลาประมาณ 7 น.เศษ” และคณะรัฐมนตรีเริ่มประชุมเวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงเวลาทั้งสองนั้น การโจมตีธรรมศาสตร์โดยกำลังตำรวจและม็อบฝ่ายขวาได้ดำเนินไปแล้ว ต่อให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทันทีที่เริ่มประชุมครม.ก็จะไม่มีผลอะไรต่อการฆ่าหมู่ที่ท่าพระจันทร์ สุรินทร์เขียนว่า “อาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และบ้านเมือง จึงเสนอ ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่าให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย” เห็นได้ชัดว่า ความคิดให้ประกาศภาวะฉุกเฉินของสุรินทร์ มาจากความต้องการป้องกันการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของฝ่ายขวาที่กำลังจะมีขึ้น ไม่ใช่จากความต้องการจะปกป้องคุ้มครองการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์แต่อย่างใด

ประการที่สอง ต่อเนื่องจากประการแรก สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจที่สุดเมื่อกลับไปอ่านจดหมายสุรินทร์ คือ สุรินทร์และฝ่ายประชาธิปัตย์เองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าห่วงใยต่อการบุกโจมตีธรรมศาสตร์ของตำรวจมากนัก ในความเป็นจริง เสนีย์ได้สั่งการให้อธิบดีตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด “หมิ่นองค์รัชทายาท” เท่านั้นและตัวแทนศูนย์นิสิตฯก็ได้ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ตำรวจจะต้องใช้กำลังเข้าทำลายการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าถึงการที่ชุมพล โลหะชาละ “เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆ” แต่เขาไม่ได้เล่าว่าเขาหรือใครในประชาธิปัตย์เองตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องมีการบุกยึดธรรมศาสตร์ จับผู้ชุมนุมถึงกว่า 3 พันคน? ใครเป็นคนออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้น?

ประเด็นนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งชอบธรรมที่จะยกขึ้นมาเพียงใด ดูได้จากเหตุการณ์เล็กๆหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ห่างจากการเขียนจดหมายของสุรินทร์เท่าไรนัก คือในวันที่ 7 กันยายน 2520 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออก “แถลงการณ์เรื่องกรณีผู้ถูกจับกุมเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ฉบับหนึ่งเพื่อ “ชี้แจงข้อเท็จจริง” ในกรณีดังกล่าว (ที่รัฐบาลออกแถลงการณ์ก็เพราะก่อนหน้านั้น 2 วัน คดี 6 ตุลาได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเป็นครั้งแรก ผู้ต้องหา 19 คน – สุธรรม แสงประทุมและอีกบางคนในชุดนักโทษเด็ดขาดพร้อมตรวนที่ขาถูกนำตัวไปที่ศาลทหารในกระทรวงกลาโหม และโดยที่ไม่มีใครคาดคิด มาก่อน ผู้คนหลายพันคน รวมทั้งช่างภาพสื่อมวลชน และผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ พร้อมใจกันไปฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจผู้ต้องหา จนเบียดเสียดกันแน่นศาลและกระทรวงกลาโหม ในทางปฏิบัติเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกหลังรัฐประหาร สร้างความตกใจแก่รัฐบาลไม่น้อย) ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า:

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลชุดก่อน (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายก รัฐมนตรี) ได้จับกุมบุคคลที่ใช้กำลังและใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อก่อความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมทั้งร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่น และในข้อหาอื่นๆซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,154 คน

ทันทีที่รัฐบาลธานินทร์ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออก”คำชี้แจง” ออกมาตอบโต้ฉบับหนึ่ง ดังนี้:

ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมเฉพาะแต่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ฐานเดียวเท่านั้น ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแถลงให้ทราบทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ตอนค่ำวันที่ 5   ตุลาคม 2519 ส่วนความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง

แต่ในการประชุมครม.ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นั้นเอง – ถ้าเราเชื่อตามจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ – ไม่ว่าตัวเสนีย์, หรือสุรินทร์, หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครถามชุมพล โลหะชาละหรือศรีสุข มหินทรเทพ (อธิบดีกรมตำรวจ) ว่าเหตุใดจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเมื่อ “ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นองค์รัชทายาท” ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว? ใครสั่งให้ทำ? ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราอ่านจดหมายสุรินทร์ในแง่ที่เป็นการเปิดโปง การเข้าไป “เล่นบทโศก” ในที่ประชุมครม.ของชุมพล โดยมองข้ามความจริงไปว่าฝ่ายประชาธิปัตย์เอง (รวมทั้งตัวสุรินทร์) ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาโดยตรง อันที่จริง เสนีย์และสุรินทร์ควรจะทำอย่างที่เสนีย์เพิ่งมาทำใน “คำชี้แจง” ในต้นเดือนกันยายน 2520 คือยืนยันว่า “ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง” อาจจะแย้งได้ว่า จดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมีถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต้องการเล่าว่าตัวเองออกมาปกป้อง การชุมนุมของนักศึกษาในที่ประชุมครม.ในเช้าวันนั้น แต่ในจดหมายที่สุรินทร์เขียนถึง สุธรรม แสงประทุม ที่คุกบางขวางในเวลาไล่เลี่ยกัน (ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2520) ก็กล่าวแต่เพียงว่า “อาตมาไม่พอใจเลยในการที่นิสิตนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกล่าวร้ายโดยปราศจากความจริง เรื่องภายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้น อาตมาพยายามที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง แต่รัฐมนตรีพวกพรรคชาติไทยได้ต่อต้านคัดค้านอาตมาและร่วมแผนการปฏิวัติของพวกเขาอย่างชัดเจน” ซึ่งน่าจะหมายถึงการถกเถียงกันเรื่องจะประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินหรือไม่มากกว่า (หรือมิเช่นนั้น ก็อาจจะหมายถึง แถลงการณ์ที่ดูเหมือนจะมีการพยายามร่างกันขึ้น ในจดหมายถึงสมาชิกพรรค สุรินทร์กล่าวว่า “ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ” ผมไม่แน่ใจว่า สุดท้ายมีการออกแถลงการณ์นี้หรือไม่ เพราะไม่เคยเห็น)

ในจดหมายถึงพรรคฉบับที่สองของสุรินทร์ มีตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

พล.ต. ชาติชาย จึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่ายตชด.เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉินและกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้าน เอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้” และ “พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่สุดที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ” ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่จดหมายถึงพรรคฉบับแรกกล่าวอย่างสั้นๆว่า “วันนั้นได้มีผู้เสนอให้ฆ่านักศึกษา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดค้านไม่ให้กระทำ” แต่ทั้งสองกรณีเป็นการคัดค้านการใช้ลูกเสือชาวบ้านมากกว่า ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการกระทำของตำรวจ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะพาซื่อของเสนีย์และสุรินทร์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเห็นว่าทั้งคู่น่าจะได้ยืนยันในวันนั้น อย่างที่เสนีย์มายืนยันในภายหลัง ว่า “ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง

ความจริงก็คือ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กำลังตำรวจประเภทต่างๆได้บุกเข้าโจมตีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์โดยไม่ได้รับคำสั่งใดๆจาก รัฐบาล ปัญหาที่เราต้องพิจารณาต่อไปคือ ใครเป็นผู้สั่ง? และสั่งเพื่อผลประโยชน์ของใคร? กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ใครเป็นผู้บงการ?