Documentation of Oct 6

3. การต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปราม

การเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรชาวนาและคนยากจน การมุ่งที่จะเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์โดยคัดค้านการคงอยู่ของทหารและฐานทัพในประเทศไทย การขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยม และการเกิดของพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่ต่อสู้ทางรัฐสภา ที่เสนอคำขวัญให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนถึงการเกิดกระแสวิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ที่ดำเนินการโดยขบวนการนักศึกษาเป็นแกนกลางได้ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมากในหมู่ผู้มีอำนาจและกลุ่มอนุรักษนิยม ที่มีความหวาดกลัวว่าผลประโยชน์ของตนจะต้องถูกกระทบกระเทือน และยิ่งเกิดการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในประเทศกัมพูชาและเวียดนามเมื่อเดือนเมษายน 2518 อีกทั้งการปฏิวัติในลาวเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อันนำมาสู่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในลาว ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกอย่างยิ่งว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันในประเทศไทย แต่แทนที่ชนชั้นนำไทยจะหันมาแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้เป็นธรรมมากขึ้น หรือหันมาสร้างประเทศไทยให้มีเอกราช ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กลุ่มอนุรักษนิยมและปฏิกิริยากลับเห็นว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นความวุ่นวาย และใช้ทัศนะที่คับแคบโจมตีการเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่เป็นธรรมนี้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเหมารวมว่าขบวนการนักศึกษาจะต้องกลายเป็นปิศาจคอมมิวนิสต์ไปทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่ารัฐบาลพลเรือนสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โอนเอนไปตามเสียงของขบวนการนักศึกษามากเกินไป

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหา จึงได้ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการยุติบทบาทของขบวนการนักศึกษา และนำประเทศกลับคืนสู่เสถียรภาพเช่นเดิม โดยสร้างเงื่อนไขที่จะก่อการรัฐประหาร นำเอารัฐบาลที่เข้มแข็งและปราบปรามคอมมิวนิสต์มาบริหารประเทศแทน วิธีการที่ใช้ต่อขบวนการนักศึกษาก็คือ การแบ่งแยกขบวนการและทำลาย ใช้ความรุนแรงเข้าสกัดกั้น การตั้งองค์กรฝ่ายขวาขึ้นต่อต้านขบวนการนักศึกษา การปิดล้อมทางข่าวสารและใส่ร้ายป้ายสี และท้ายที่สุดก็คือการกวาดล้างปราบปราม และก่อรัฐประหารฟื้นเผด็จการ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เองที่นำมาสู่การเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ความพยายามที่จะกวาดล้างปราบปราม เริ่มตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2517 เมื่อกลุ่มปฏิกิริยาต่างๆ เริ่มฟื้นตัวจากการถอยร่นเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จึงเริ่มทำการเคลื่อนไหวต่อต้านพลังฝ่ายก้าวหน้า เหตุการณ์แรกที่เป็นสัญญาณแห่งการปราบปรามก็คือ กรณีพลับพลาไชย ในเดือนกรกฎาคม 2517 ขณะที่ฝ่ายขบวนการนักศึกษาจัดเตรียมการเคลื่อนไหวคัดค้านจักรพรรดินิยมในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติอเมริกานั้น ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อคืนวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเริ่มจากตำรวจจราจรสถานีตำรวจพลับพลาไชย ได้จับกุมคนขับแท็กซี่คนหนึ่งชื่อ นายพูน ล่ำลือประเสริฐ ซึ่งจอดรถในที่ห้ามจอด ตำรวจได้นำตัวไปยังสถานีตำรวจ ในระหว่างนั้นนายพูนได้ตะโกนว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน ทำให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์จึงได้รวมตัวกันประท้วง และล้อมโรงพักตำรวจพลับพลาไชย เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการปราบปรามประชาชน เมื่อตำรวจได้ยิงใส่ประชาชนที่มาชุมนุม และทางกลุ่มประชาชนก็พยายามตอบโต้ จนลุกลามเป็นการจลาจล เหตุการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม โดยรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ มีประชาชนถูกตำรวจยิงเสียชีวิตถึง 27 คน และบาดเจ็บ 120 คน เหตุการณ์นี้ทำให้การต่อต้านอเมริกาที่ขบวนการนักศึกษาดำเนินการไว้ไม่อาจกระทำได้

จากนั้น มาตรการต่างๆ ที่ใช้กับขบวนการนักศึกษาอย่างเป็นทางการพอจะสรุปได้คือ