นอกจากกรรมกรและชาวนาแล้ว ประชาชนในวงการอื่นๆ ที่ทุกข์ยากเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ประชาชนในสลัม กระเป๋ารถเมล์และพนักงานขับรถ พนักงานรถบริษัทขนส่ง (บขส.) พ่อค้าลอตเตอรี่รายย่อยและคนพิการ พนักงานไทยการ์ด กลุ่มชาวประมง และประชาชนผู้เดือดร้อนกลุ่มอื่นๆ ก็เกิดความตื่นตัวที่จะรู้จักสิทธิของตนเอง ในการร้องเรียนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่มีการเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่ เช่น
องค์กรครู เริ่มเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2517 โดยเรียกร้องให้ครูทั้งหลายรวมพลังกันด้านการทุจริตของโรงเรียน และคัดค้านการที่โรงเรียนราษฎร์ไล่ครูจำนวนมากออกอย่างไม่เป็นธรรม และได้นำมาซึ่งการตั้งองค์กรครู เช่น สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์ สมาคมครูนครหลวง สมาคมครูแคธอลิก และศูนย์พิทักษ์สิทธิครูแห่งประเทศไทย ได้มีการชุมนุมที่คุรุสภา โดยมีครูเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อต่อ นพ.บุญสม มาร์ติน รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย เรียกร้องให้แก้ปัญหาช่วยให้ครูมีงานทำ วันที่ 18 พฤษภาคม ครูที่ชุมนุมได้เดินขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และมีครูกรีดเลือดประท้วงกระทรวงศึกษาธิการ ในที่สุด นพ.บุญสม มาร์ติน รับปากว่าจะช่วยเหลือครูที่ถูกลอยแพ มิฉะนั้นจะพิจารณาตนเอง ปรากฏว่าเมื่อมาถึงวันที่ 10 พฤษภาคม นพ.บุญสมยังไม่สามารถแก้ปัญหาของครูได้ จึงได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง การลาออกของ นพ.บุญสม เป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ลาออกทั้งคณะในวันที่ 21 พฤษภาคม 2517 สำหรับปัญหาของครูที่ตกงาน กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศว่าจะแก้โดยจ้างเป็นครูพิเศษ เพื่อสอนในโรงเรียนรัฐบาล ตามแต่ที่จะเห็นสมควร
การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มพระสงฆ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2518 โดยพระภิกษุสามเณรจากวัดมหาธาตุ และวัดต่างๆ หลายร้อยรูปทั่วประเทศ มาชุมนุมกันที่ลานอโศก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ มีพระสงฆ์เข้าร่วมการชุมนุมบางรูปก็ต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา คืออดอาหาร ข้อเรียกร้องก็คือ ขอให้ทบทวนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่สร้างระบอบเผด็จการในหมู่สงฆ์ ด้วยการสร้างองค์กรมหาเถรสมาคมมาเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ก็คือการขอความเป็นธรรมแก่อดีตพระพิมลธรรม และอดีตพระศาสนโสภณ ซึ่งถูกจับสึกและถอดสมณศักดิ์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกคุมขังด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ มีการโจมตีการทำงานของมหาเถรสมาคมอย่างหนัก จนถึงขนาดที่พระสงฆ์หนุ่มรูปหนึ่งนำประท้วงต่อที่ชุมนุมสงฆ์ด้วยคำกล่าวว่า “มหาเถระสมาคมจงพินาศ” ในที่สุดสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน ซึ่งดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ต้องยอมต่อข้อเรียกร้อง เดินทางมาเยือนลานอโศกเมื่อวันที่ 17 มกราคม และสัญญาว่านิมนต์พระทั้งสองรูปกลับคืนสมณศักดิ์ พระสงฆ์ที่ชุมนุมต่างก็ขอขมาต่อการล่วงเกินที่เกิดขึ้นและสลายตัว ต่อมากลุ่มพระสงฆ์ที่ก้าวหน้าเหล่านี้ได้จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กร เรียกว่า “ยุวสงฆ์”
การเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประชาชนไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดกระแสการตื่นตัวในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชนชั้นล่างในระดับที่มากเช่นนี้ ผลกระทบอย่างหนึ่งของการต่อสู้ของฝ่ายประชาชน ก็ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบางกลุ่มนำรูปแบบการต่อสู้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน เช่น การประท้วงของกลุ่มตำรวจ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2518 โดยตำรวจภูธรระดับผู้กองทั่วประเทศจำนวนหลายร้อยคนมาชุมนุมกันที่โรงแรมนารายณ์ เพื่อคัดค้านพระราชบัญญัติโอนอำนาจสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังพนักงานฝ่ายปกครอง จากนั้นวันที่ 19 สิงหาคม กลุ่มตำรวจในนามของศูนย์กลางตำรวจแห่งประเทศไทย นัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และเดินขบวนไปที่บ้านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จำนวนหนึ่งได้บุกเข้าพังบ้านทำให้ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ก่อนจะสลายตัวไป จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องขอขมาต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นกัน