เวทีเสวนา “ความรู้และความไม่รู้เกี่ยวกับ 6 ตุลา ” เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา
ศ.ดร.สุชาติ บำรุงสุข กล่าวเรียกร้องให้คนรุ่น 6 ตุลา ช่วยกันบอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา เพื่อรวบรวมเข้า เป็นข้อมูลความรู้ ที่แม้อาจแหว่งวิ่น ก็จะไม่ถูกความไม่รู้ทำให้มันกลายเป็น 16 ตุลา !
นี่เป็นข้อเรียกร้องที่เสียดแทงเข้าสู่มโนสำนึกของฉัน จนต้องหลั่งน้ำตา
ทุกๆ ปีที่ 6 ตุลาเวียนมาบรรจบ มันนำเอาความเศร้าที่อธิบายไม่ได้เข้าครอบครองจิตใจของฉันเสมอมา
และยิ่งเศร้าหดหู่มากยิ่งขึ้น ภายหลังรัฐประหาร 2557 ที่ต้องรับรู้ข่าวสารการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมและผู้ ต่อต้านเผด็จการ
6 ตุลา 2519 ผ่านมา 40 ปี ! บัดนี้ฉันอายุ 61 แต่ลูกหลานและคนในครอบครัวฉันไม่เคยได้รับฟังเรื่องราวและเหตุการณ์ 6 ตุลาจากปากคำของฉันเลย มันอาจเป็นกลไกป้องกันทางจิต ที่ไม่อยากทนรับความเจ็บปวดจากก้อน สีดำที่จุกคอหอยทุกครั้งที่คิดถึงมัน นี่กระมังคืออาการที่ ศ.ธงชัย วินิจกูล นิยามว่า “ลืมไม่ได้ (แต่ก็)จำไม่ลง” หรือ เอาเข้าจริง ฉันก็ไม่รู้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ มันคือความทรงจำอิหลักอิเหลื่อที่ประกอบไปด้วยความไม่รู้เป็นแก่น แล้วเราจะเยียวยามันได้หรือ ? ในเมื่อเวลาเนิ่นนานมาขนาดนี้
5 ตุลาคม 2519 ฉัน-ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของ”ชมรมนาฎศิลป์และการละคร” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ห้วง เวลานั้นมี อนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ (หน่อย) เป็นประธานชมรม ฉันยังเป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่แก่กว่าเฟรชชี่คนอื่นๆสัก 3 ปี ด้วยความเป็นลูกเจ๊กจากครอบครัวยากจน ทำให้ฉันเข้าเรียนในระบบเอาเมื่อเกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ
เราประชุมวางแผนกิจกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คนที่แจกใบปลิวต่อต้านการกลับมาโดยการ ห่มผ้าเหลืองของถนอม กิตติขจร ที่นครปฐม มันเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ นับจากการชุมนุมประท้วงการกลับเข้าประเทศของถนอม ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็มีการขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุมสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จนมีผู้ ได้รับบาดเจ็บ พวกเราดูเหมือนจะรับรู้ถึงความไม่ปกติบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ตกลงใจว่าเราไม่อาจนิ่งเฉย และสรุปที่จะทำละครล้อเลียนเหตุการณ์แขวนคอเพื่อนเรา เพื่อกระตุกเตือนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ให้เข้าร่วม ประท้วงเหตุการณ์นี้ เราวางแผนจะแสดงละครนี้ที่ลานโพธิ์ หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม อันเป็นวัน สอบวันแรกของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีจำนวนนับพัน เพราะในยุคนั้น ผู้สอบเข้าธรรมศาสตร์ทุกคน จะมีสถานะ เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์กันทั้งหมด เพื่อศึกษาวิชาพื้นฐาน 101 ก่อนจะเลือกคณะและวิชาเอกกันต่อไป
ละครของเราเริ่มขึ้นเมื่อเวลาก่อนบ่ายโมง พล็อตละครมีแค่ ฉากนักศึกษา 4-5 คนแจกใบปลิวให้ผู้คนรอบๆลาน โพธิ์ ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นเราแจกใบปลิวจริงๆ ที่พิมพ์ข้อความเรียกร้องเพื่อนนักศึกษา ให้ร่วมกันประท้วงต่อต้าน การกลับมาของถนอม เรียกร้องความยุติธรรมแก่เพื่อนที่ถูกฆ่าแขวนคอ และขอให้รัฐบาลดำเนินคดี เอาคนผิดมา ลงโทษ โดยมีฉากต่อมา คือพี่ต๊อด(อดิสร พวงชมพู-ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตเสื้อผ้า แบรนด์”แตงโม”) แต่ง กายคล้ายพระสงฆ์ สวมหัวล้านจำลองและห่มผ้าสีแดงก่ำ แล้วก็มีปราโมทย์ – นศ.ปี 1 ร่างสูงโย่ง กับบุญชาติ
(จำนามสกุลไม่ได้ คนนี้พวกเราสงสัยว่าเป็นสันติบาลปลอมตัวมา ด้วยเหตุที่เขาอายุไม่น้อย ตัดผมเกรียนฯ ) แต่งชุดทหารใส่รองเท้าบู๊ท ถือปืนจำลอง เดินตามหลังพี่ต๊อดที่แต่งเป็นพระถนอม แล้วไล่ทุบตีกระทืบผู้คนและยิงปืน ใส่ผู้ชุมนุม ฉัน-ซึ่งรับบทเป็นหมอ เข้าไปช่วยปฐมพยาบาลและด่าว่าทหาร
จากนั้นฉากสำคัญก็มาถึง โมทย์กับชาติ เอาตัวผู้แสดงละคร คือเฮียวิโรจน์ ขึ้นแขวนคอกับกิ่งต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่ง ผู้รับบทถูกแขวนคอนั้น มี 2 คน คือ เฮีย-วิโรจน์ ตั้งวานิชย์ กับเจี๊ยบ – อภินันท์ บัวหะภักดี เหตุที่ต้องใช้ตัวแสดงสองคนก็เพราะในการแขวนคอนั้น เราซ้อมการแสดงมาก่อนและพบว่า นักแสดงแบกรับน้ำหนักตัวเองนานไม่ไหว แม้เราจะคัดเลือกสมาชิกชายที่รูปร่างเล็ก อย่างเฮีย และเจี๊ยบ แล้วก็ตาม วิธีการแขวนก็คือเอาผ้าขาวม้ามัดรอบ อกตัวแสดง แล้วผูกปมซ่อมไว้ใต้เสื้อ จากนั้นเอาเชือกเส้นใหญ่พันเกลียวและทำเป็นบ่วงบาศก์ คล้องคอไว้หลวมๆ แต่ดูเผินๆเหมือนถูกแขวนคอจริงๆ ทว่า น้ำหนักตัวของผู้แสดงจะถูกแบกรับไว้ด้วยผ้าขาวผ้าที่พันรอบอกอยู่ ซึ่งมันจะรัดแน่นขึ้นด้วยน้ำหนักตัวที่ถ่วงลง เมื่อตอนที่ซ้อมการแสดงกันนั้น จึงสรุปทางออกไว้ว่า ต้องใช้ตัวแสดง 2 คน คือเฮียและเจี๊ยบ ผลัดกัน นอกจากนี้ ก้อย(นักร้องวง”ฆ้อนเคียว”) และต้อม (ชลธิชา) ยังแต่งหน้าทั้งสองคน ให้แลดูฟกช้ำดำเขียว เหมือนถูกซ้อมตีมาก่อน
ละครเรื่องนี้ กลายเป็น Butterfly effect กระพือแรกคือ ใครไม่รู้นำเอาปูนขาวไปหยอดใส่รูกุญแจห้องสอบ ทั่วทั้งตึกศิลปศาสตร์ ทำให้นักศึกษาเข้าห้องสอบไม่ได้ ต้องยืนออกันอยู่หน้าห้อง จำนวนหนึ่งจึงลงมาออกันรอบๆลาน โพธิ์ด้วย กลายเป็นผู้ชมละครและผู้ร่วมประท้วงไปโดยปริยาย การแสดงจึงจบลงโดยพวกเรารู้สึกคึกคักดีใจว่า ละครประสบผลสำเร็จพอสมควร…หลังจากการแสดงจบลง ฉันก็กลับบ้าน ซึ่งเป็นร้านค้าอยู่ย่านเทเวศน์ วันนั้น มีสันติบาลปรากฎตัวบนรถเมล์ไทยประดิษฐ์สายประจำของฉัน มานั่งคู่กับฉันด้วย แถมขู่ว่าจะเอาตัวไปสอบสวนและจะเอาพ่อแม่ไปด้วย แต่วันนั้น ฉันก็เอาตัวรอดมาได้โดยการลงรถเมล์ก่อนถึงป้ายบ้าน แล้ววิ่งลัดเลาะเข้าซอย โน่นซอยนี้จนเข้าบ้านด้านประตูหลังร้านได้
บ่ายแก่เกือบเย็น ฉันยังอยู่ในชุดนักศึกษา กล่อมหลานสาวอายุราว 6 เดือนนอนหลับบนเก้าอี้ผ้าใบหลังร้าน เปิด วิทยุฟังเพลงไปด้วยเหมือนเช่นเคย แต่แล้ว ก็มีการถ่ายทอดสดจากวิทยุยานเกราะ กรมประชาสัมพันธ์ ประกาศว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์เล่นละครแขวนคอองค์รัชทายาท เป็นคอมมิวนิสต์คิดร้ายทำลายชาติ และจะล้มล้างสถาบัน กษัตริย์ ฉันเผ่นผลุงขึ้นมาทันที ในใจได้แต่เถียงว่า “ไม่จริง มึงโกหก มึงนั่นแหละคิดร้ายทำลายชาติ “…ด้วยเหตุที่ พ่อกับแม่มีภาระงานที่หน้าร้าน ฉันฉวยโอกาสนี้ ออกทางประตูหลังบ้าน มุ่งหน้ากลับไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อถึงธรรมศาสตร์ ฉันพบว่าสถานการณ์โกลาหลไปหมด มีการประชุมนักศึกษาเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่ใต้ถุนตึกกิจกรรม และที่ชมรมนาฎศิลป์ฯ ฉันถูกรุ่นพี่เรียกใช้ให้ช่วยกันฉีกทำลายเอกสาร เวลานั้น ฉันไม่เข้าใจอะไรเลย ทำไมล่ะ เอกสารก็มีแค่บทความวิเคราะห์วิจารณ์สังคมไทย มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่มีชื่อส่อไปในทางแนวคิดสังคมนิยม แล้วเอกสารส่วนใหญ่ก็เป็นของพวกเราเอง เป็นซีร็อกรายงานบ้าง ซีร็อกตำราเรียนบ้าง… ฉันนั่งฉีกเอกสารไป ฟังการประชุมไป รุ่นพี่แต่ละคนมีสีหน้าเคร่งเครียด บอกพวกเราว่า ต้องผลัดกันนอนผลัดกันเฝ้าห้องชมรม อนุพงษ์ หรือหน่อย-ประธานชมรมฯ กับเฮียวิโรจน์ รวมทั้งเจี๊ยบ-อภินันท์ ไม่อยู่แล้ว ไปประชุมที่ห้อง อมธ. จนตกเย็น ฉันก็ ยังไม่ได้กินข้าว และดูเหมือนไม่มีใครในห้องชมรมได้กินข้าวเย็น เราเอาขนมของขบเคี้ยวมาแบ่งกันกิน พวกรุ่นพี่ น่าจะเป็น สุขุม เลาหพูนรังสี และพี่ตือ(เสียชีวิตไปแล้ว) บอกว่า มีพวกกระทิงแดงและตำรวจ ปิดล้อมธรรมศาสตร์ ไว้ไม่ให้ใครเข้าออก
ตกดึก สัก 3-4 ทุ่ม เริ่มมีเสียงปืนยิงดังประปราย ฟังดูเป็นเสียงปืนสั้น และมีเสียงตะโกนด่าทอจากพวกกระทิงแดง ดังเข้ามาถึงตึก อมธ. จับความได้ว่า ด่าว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ หมิ่นพระมหากษัตริย์ ฉันกับเพื่อนๆยังคง นั่งๆนอนๆอยู่ในชมรม แต่เนื่องจากตึกกิจกรรมมีรั้วติดอยู่กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แนวรั้วนั้นเฉียงสอบเข้ามา ที่ตัวตึกกิจกรรม ฉันจึงได้สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างตรงกำแพงด้านพิพิธภัณฑ์ นั่นคือ มีผู้ชายหลายคน สวมชุดสีเขียวพื้นๆใส่หมวกสีขาวเหมือนหัวปิงปอง ซึ่งภายหลังฉันจึงรู้ว่า คนพวกนั้นเรียกกันว่า “หน่วย คอมมานโด” และกำลังพยายามทำอะไรบางอย่างที่ตีนกำแพง คล้ายๆขุดดินใต้กำแพง หรือทุบกำแพง
ฉันง่วงหลับไปและมาสะดุ้งสุดตัวตื่นขึ้น ด้วยเสียง”ตูม” ที่ดังสนั่นหวั่นไหวจนตึกสะเทือน ฉันตกใจมาก แต่ต่อม ความกลัวคงยังไม่ทำงาน เสียงกรีดร้องและเสียงตะโกนบอกกันให้วิ่งดังสับสนวุ่นวายไปหมด ขณะนั้นเป็นเวลาเช้ามืด แสงขอบฟ้าเริ่มสว่าง มีคนตะโกนเรียกฉันให้วิ่งขึ้นชั้นบนสุดของตึก อมธ. ฉันและคนอื่นๆ เบียดเสียดกันวิ่ง ขึ้นบันได หลังจากซุกตัวอยู่ข้างตู้เอกสารชั่วครู่ ก็มีเสียงปืนยิงรัวเป็นชุดอยู่เป็นระยะๆพร้อมกับเสียงกระจกหน้า ต่างแตกเปรี้ยงปร้างไปหมด คราวนี้ พี่ผู้ชายบางคนบอกให้พวกเราวิ่งกลับลงไป เพราะ “พวกมัน เอาฮอมายิง” และบอกให้ทุกคนหาทางไปที่ริมน้ำเจ้าพระยา โดยมีการแนะให้วิ่งเลียบขอบตึก ข้ามไปที่ตึกโดมก่อน ก่อนหาทางลงแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนั้น หูฉันได้ยินเสียงตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงตลอดเวลาว่า ” หยุดยิง ! หยุดยิงครับ พวกเราไม่มีอาวุธ เราไม่มีอะไร พี่ๆทหารครับ พี่ๆตำรวจครับ ให้พวกเราออกไป…” เสียงนั้นแหบแห้งสั่นเครือ บีบคั้นหัวใจฉันยิ่งนัก
ฉันวิ่งไปหมอบไปด้วยสัญชาตญาณ อย่างที่บอกว่าดูเหมือนต่อมความกลัวยังไม่ทำงาน เท้าพาวิ่งโดยอัตโนมัติ คิดไม่ทันแม้แต่น้อยว่าตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น… ในขณะที่หลายคนกำลังหาทางจะปีนหน้าต่างตึกโดมซึ่งสูงลิ่ว ฉันเหลือบเห็นเด็กผู้หญิงในชุดนักเรียนคอซอง นั่งปิดหน้าซุกตัวร้องไห้โฮๆกับมุมตึก ฉันรีบคว้าตัวน้องมากอดไว้ แล้วเราก็ร้องไห้ด้วยกัน ขณะนั้นมีพวกพี่ผู้ชายวิ่งมาถึง ได้ช่วยกันอุ้มพวกผู้หญิงขึ้นปีนหน้าต่างตึกโดม เพื่อจะวิ่งผ่านด้านในอาคารข้ามไปริมน้ำได้โดยปลอดภัย เนื่องจากตอนนั้น เสียงปืนเสียงเฮลิคอปเตอร์บินปั้ดๆ รัวปืนสนั่น หวั่นไหวอยู่เหนือตึกไม่ขาดสาย
เมื่อวิ่งมาถึงริมแม่น้ำ มีนักศึกษาชายจำนวนหนึ่ง คอยบอกทางและช่วยส่งตัวคนอื่นๆลงแม่น้ำ พวกเขาส่งเสียง ตะโกนบอกต่อๆกันว่า เกาะตลิ่งไป ๆๆ ไปขึ้นท่าพระจันทร์ เร่ว! พลันที่เท้าสัมผัสพื้นน้ำ ต่อมความกลัวของฉันก็ทำงานทันที ฉันว่ายน้ำไม่เป็น และระดับน้ำนั้นสูงแทบมิดหัว ! ฉันตะเกียกตะกายโหนตัวกับตลิ่งไปตามคนอื่นๆ รู้สึกถึงเศษปูนแหลมคมที่ถากเนื้อแขนแผลแล้วแผลเล่า เมื่อมาถึงร้านจั๊ว เพื่อนตรงหน้าฉันถูกหิ้วขึ้นตลิ่งไปทีละคน ด้วยน้ำมือทหารที่ถือปืนมาออรับพวกเราอยู่เต็มท่าน้ำ ฉันไม่มีทางเลือก ได้แต่โหนตัวเกาะตลิ่งเข้าคิว ให้พวกมันหิ้วขึ้นจากน้ำ พอมันลากตัวฉันขึ้นมาได้ ทหารตัวผอมๆดำๆคนหนึ่งก็เสยพานท้ายปืนแถมให้ฉันเข้าที่บ่า ไม่ทันจะรู้สึกอะไร ความชุลมุนเกิดขึ้นอีกจนโป๊ะแกว่งไปมา ฉันเห็นนักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกหามลงมาที่โป๊ะ เลือดอาบที่ท่อนล่าง นักศึกษาชายสองสามคนช่วยกันตะโกนเรียกเรือที่ล่องอยู่กลางน้ำ ให้มา”รับคนเจ็บด้วยๆๆๆ รับคนเจ็บส่งศิริราชด้วย” ฉันยังได้เห็นคนสองสามคน ไม่แน่ใจว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ว่ายน้ำอยู่กลางแม่น้ำ เขา คงหมายจะข้ามฝั่งไปที่ศิริราช… ทันใดนั้น เสียงโหวกเหวกโวยวายดังขึ้นพร้อมๆกับเสียงปืนจากไหนไม่รู้ และ เสียงตะโกน ” ออกไปๆ โป๊ะจะล่มๆ ” คละเคล้าเสียงปืน เสียงชุลมุนตุ้บตั้บไปหมด ฉันถูกใครไม่รู้ฉุดตัวลุกขึ้น แล้วนาทีนั้นเอง ฉันก็หมดสติไป อาจจะด้วยความหิว อาจจะด้วยความเหนื่อยล้า หรืออาจจะด้วยความตกใจกลัวที่ได้เห็นคนที่ว่ายน้ำอยู่นั้นถูกปืนยิงจมหายไปต่อหน้าต่อตา !
ฉันรู้สึกตัวอีกทีเมื่อถูกผู้ชายสองคนหิ้วตัวฉันทุลักทุเล วิ่งเข้าไปในซอยที่มีแผงเช่าพระ เรียกกันว่าซอยกลาง ฉันไม่ทันได้เห็นหน้าเพื่อจดจำบุญคุณของวีรบุรุษแปลกหน้าเหล่านั้นเลย พวกเขาพาฉันมาถึงร้านทำผมแห่งหนึ่ง กลาง ตึกแถวในซอยกลาง ซึ่งมีป้าเจ้าของร้าน ระล่ำระลักเรียกให้เอาตัวฉันเข้าไปในร้าน จากนั้น วีรบุรุษแปลกหน้าสองคนของฉันก็วิ่งจากไปยังท่าน้ำอีก (ขอกราบคารวะหัวจิตหัวใจของพวกคุณไว้ ณ ที่นี้ และหวังว่าพวกคุณจะยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในฟากฝ่ายผู้รักความเป็นธรรมตลอดไป)
ห้องแถวที่ฉันเข้าไปหลบซ่อนตัว เป็นร้านทำผม ที่ชั้นบนมีจักรเย็บผ้าหลายตัว เหมือนว่าเป็นสถานที่ตัดเย็บเสื้อ โหลด้วย ฉันพบว่า บนชั้นสองแห่งนี้ มีนักเรียนนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หลบซ่อนตัวอยู่ก่อนแล้ว นับได้สัก 10 คน ป้าเจ้าของร้านพูดไปน้ำตาไหลไปว่า ” 14 ตุลามันก็ฆ่านักศึกษา หนนี้ป้าไม่ยอมแล้ว” ป้าเอาผ้าถุงและ เสื้อผ้าของคนงานในร้านมาให้พวกเราผัดเปลี่ยน ป้ายังบอกให้พวกเราทำลายบัตรนักศึกษา รวมทั้งขอให้ฉันเก็บซ่อนแว่นตาเอาไว้ด้วย เพราะถ้าทหารเข้ามาค้น ป้าจะบอกว่าพวกเราเป็นคนงานเย็บเสื้อโหล
ฉันและคนอื่นๆ มองหน้ากันโดยปราศจากวาจาจะกล่าว เราได้แต่เงี่ยหูฟังสรรพเสียงที่เกิดขึ้นด้านนอก เวลาผ่าน ไปๆ จนใกล้เที่ยง เราได้ยินเสียงตบเท้าของทหารจำนวนมาก ได้ยินเสียงตะคอกให้เปิดประตู ได้ยินเสียงผู้หญิงร้อง ได้ยินเสียงคนปีนขึ้นกันสาด แล้วก็ได้ยินเสียงปืนพร้อมกับเสียงของหนักตกลงมา ! ป้าเจ้าของร้านบอกว่า ถัดไปสามห้องเป็นบ้านของผู้นำนักศึกษา ชื่อธงชัย วินิจจะกูล ทหารคงเข้าค้นบ้านนั้นแน่ๆ บางคนในร้านเริ่ม แสดงความกังวลว่า เดี๋ยวมันคงค้นบ้านนี้ด้วย ป้าใจเด็ดปลอบพวกเราว่า ไม่ต้องกลัว ป้าไม่ยอมหรอก
ฉันไม่รู้ว่า ทำไมทหารจึงไม่ได้เข้าค้นบ้านที่ฉันซ่อนตัวอยู่ ป้าเองก็แปลกใจแต่ก็สรุปว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเรา
ไม่มีใครกล้าออกจากที่ซ่อนจนเวลาบ่ายคล้าย ซึ่งเกิดปรากฎการณ์ฝนตก ป้าเจ้าของร้านบอกว่า สงสัยมันทำ ฝนเทียมล้างคราบเลือด… ราวบ่าย 2 ฉันตัดสินใจออกจากบ้านนั้น หิวจนตาลายและคิดแต่ว่าจะต้องกลับบ้าน จะต้องกินข้าว ตอนที่ฉันออกมา ยังได้เห็นทหารถือปืนประจำการอยู่แถวประตูธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์ ขยะเกลื่อนกราดถนนที่เฉอะแฉะ ก้อนสะอื้นจุกคอหอยฉันตลอดทางที่เดินหาตู้โทรศัพท์ ฉันโทรไปบ้านป้า (เพราะ ที่บ้านไม่มีโทรศัพท์) ฉันได้รับคำบอกเล่าจากลูกป้าว่า พ่อสั่งไว้แล้วว่า อย่ากลับบ้าน ให้เข้าป่าหาที่ปลอดภัย !
เหตุการณ์หลังจากนี้ ฉันจำไม่ได้แน่ชัดว่า พี่ชายมาพบแล้วพาฉันไปนอนบ้านเพื่อนพี่ชายแถวพระประแดง หรือ อย่างไรกันแน่ จำได้แต่ว่าคืนวันที่ 6 ตุลาและอีกสองสามคืน ฉันนอนไม่หลับเลย ทุกครั้งที่หลับตาลง น้ำตาก็ ทะลักไหล มันไม่ใช่น้ำตาแห่งความกลัวแน่ๆ แต่ก็บอกตัวเองไม่ได้ว่าร้องไห้ทำไม ภาพต่างๆที่ปรากฎทางโทรทัศน์ และคำบอกเล่าจากเพื่อนพี่ มันเกิดขึ้นจริงๆ หรือ ?! ทำไมๆๆ !?
ความคิดหนึ่งที่เกาะกินจิตใจฉันต่อมาอีกหลายปี จนแม้เมื่อออกจากป่า ก็คือความคับแค้นใจที่สื่อมวลชนอย่าง นสพ.ดาวสยามและบางกอกโพสต์ ตีพิมพ์ภาพและข่าวหน้า 1 กล่าวหานักศึกษาเล่นละครแขวนคอองค์รัชทายาท และทั้งที่ภาพนั้นปรากฎข้อเท็จจริงภายหลังว่า มีการปรับแต่งภาพ แต่ความรับผิดชอบของสื่อกลับลอยนวลหายไป นี่คือฤทธิ์เดชของสื่อที่รับใช้อำนาจ สยบยอมสมคบคิดต่อข่าวลวงที่ทำให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากันได้อย่างโหดเหี้ยม สื่อแห่งอคติและโมหะคติเหล่านี้ไม่เคยตาย ดังเห็นได้จากเหตุการณ์กรือเซะที่ภาคใต้เมื่อปีท 2547 ที่นสพ.ระดับชาติฉบับหนึ่ง ตกแต่งภาพคนไทยมุสลิมที่ถูกยิงตาย ในมือกำมีดสปาร์ต้า และเมื่อมีการทักท้วงเกิดขึ้น นสพ.ฉบับนั้นก็เพียงแต่แก้ตัวว่า เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของช่างภาพที่ทำการตกแต่งภาพเอง ! นี่คือสื่อมวลชนไทย และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฉันตัดสินใจกลับไปเรียนต่อสาขาหนังสือพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ ด้วยความปักใจที่จะทำงานสื่อ และเป็นสื่อมวลชนที่ยืนตรงเผชิญหน้ากับพวกมัน !
แต่ละปีผ่านไป ทุกๆเดือนตุลาของทุกปี ฉันเพียงแต่ระลึกว่า อืมม ตุลาอีกแล้ว…หากปีไหนมีกิจกรรมรำลึกที่ ปรากฎเป็นข่าว หรือกิจกรรมเสวนาที่เกี่ยวข้อง ฉันก็จะปลอบตัวเองว่า ชีวิตจริงภายหลัง 6 ตุลา มันก็โหดร้าย เจ็บปวดเหมือนๆกันนั่นแหละวะ บางครั้งบางปีก็มีความรู้สึกแปลกๆคล้ายแปลกแยกกับตัวเองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ธรรมศาสตร์มันเกิดขึ้นจริงๆหรือ เราผ่านมันมาจริงๆหรือ เอ๊ หลายปีในป่ากับ 8 เดือนในเขมรที่เฉียด ตาย มันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ หรือ ? แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็จะรู้สึกโกรธเวลาได้ยินคนรุ่นหลังพูดถึง 16 ตุลา ผิดๆ บิดเบี้ยวไปหมด ฉันไม่เคยพินิจดูภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาได้เลย ยิ่งภาพแขวนคอถูกเก้าอี้ฟาด ภาพผู้หญิงถูกไม้ กระทุ้งอวัยวะจนตาย ภาพการเผาด้วยยางรถฯ มันทำให้ฉันรู้สึกขย้อนในท้องจนอยากอาเจียน บทความหรืองานเสวนาฉันก็ไม่อยากไปไม่อยากอ่านไม่อยากฟัง ยกเว้นแต่ที่ ศ.ดร.ธงชัย เขียนๆ ไว้
ยี่สิบกว่าปีต่อมา เมื่อได้ทราบว่ามีคณะกรรมการจากฟากประชาชนและปัญญาชนคนเดือนตุลา ที่มีดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นประธาน จัดทำโครงการค้นหาความจริงจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยการสัมภาษณ์และจัดทำ บันทึกโดยเฉพาะจากอดีตนักศึกษาที่ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ … ฉันก็พลันฉุกใจคิดขึ้นได้ถึงเหตุการณ์บางอย่างใน คืนวันที่ 6 ตุลา ที่ฉันได้เล่าไว้ตอนต้นแล้ว ว่าเวลาประมาณ 3-4 ทุ่ม มีหน่วยคอมมานโดทำอะไรอยู่ที่กำแพงด้าน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จำได้ไหมที่ฉันบอกวากำแพงด้านนั้นมันสอบเฉียงเข้าหากำแพงธรรมศาสตร์ด้านตึกกิจกรรม ดังนั้น หากมีใครยิงปืนออกมาจากกำแพงพิพิธภัณฑ์ฯ ถ้าดูจากด้านหน้ามหาวิทยาลัยหรือฝั่งสนาม หลวง ย่อมดูเหมือนมีการยิงออกมาจากธรรมศาสตร์ใช่หรือไม่ ? แต่ฉันก็ไม่แน่ใจว่าการตีความของตัวเองนั้นถูกต้องหรือเปล่า เพราะไม่เคยได้ยินผู้นำนักศึกษา หรือใครไหนๆ ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ไว้
นี่คือบันทึกความทรงจำอันแหว่งวิ่น ที่ฉันเขียนขึ้นจากมโนสำนึกและความละอายแก่ใจว่า 40 ปีที่ผ่านมา ฉันทำได้ แค่เพียงการ”ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” เท่านั้นหรือ ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อทุกท่านที่ได้ช่วยกันจุดไฟให้ลุกโชนขับไล่ความมืดและความกลัว ด้วยกิจกรรม 40 ปี 6 ตุลา เราไม่ลืม ขอบคุณที่ทำให้ฉันพร้อมที่จะหันหน้ามาเผชิญกับฉากเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้จำไม่ลงนั้น ด้วยความรู้และความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกัน “ ทบทวน ค้นหาความจริง” กันจริงๆเสียที 6 ตุลา เราไม่ลืม !