Documentation of Oct 6

บทสัมภาษณ์พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545

ตุลาคม  2519 ถึง ตุลาคม 2545 

26 ปีที่ไม่เคยลืมลูกเกี๊ยะ (จารุพงษ์ ทองสินธุ์)

 

บทสัมภาษณ์พ่อจินดาและแม่ลิ้ม  ทองสินธุ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545 ที่บ้าน ต.อิปัน อ.พระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี                                                   

โดย…พรไทย  ศิริสาธิตกิจ

 

พรไทย             แม่ลิ้มช่วยเล่าถึงพี่เกี๊ยะช่วงในวัยเด็ก ให้ฟังสักนิดครับ

แม่ลิ้ม                เขาเป็นคนที่ปากดี อัธยาศัยดี ชอบสอนหนังสือน้องๆ เวลากินข้าว จะเรียกน้องมากินกันทั้งหมด และจะตักข้าวให้น้องๆ ทุกคน และเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ไปที่ไหนก็ต้องมีหนังสือติดตัวไปด้วยเสมอ แม้กระทั้งเวลาตำเครื่องแกงให้แม่ยังอ่านหนังสือ

ครูจินดา            ตอนเด็กๆ เขาคุยเก่ง เป็นคนชอบตั้งคำถาม เช่นเมื่อเห็นพระจันทร์ก็จะถามว่า “พ่อๆ ดวงจันทร์ นี่เขาอยู่กันพรือ (อย่างไร) น่าจะมีคนอยู่นะพ่อ พร้อมกับเอาไฟฉายมาส่องไปที่ดวงจันทร์ พ่อก็เลยพูดว่ามันจะไปได้พรือละลูก (หัวเราะ) อีกครั้งที่พ่อจำได้ เขาเคยถามคนข้างบ้านว่า ปลานี้ปลาไหร (อะไร) เขาตอบว่าปลาช่อน เขาก็ถามต่อว่าปลาช่อนไหร เพราะปลาช่อนมีหลายชนิด เขาถามต่อไปเรื่อยจนตอบไม่ได้ เลยแกล้งตอบว่าปลาช่อนหัวล้าน ลูกเกี๊ยะก็จะโกรธและหยุดถามทันทีเพราะเขารู้ว่าคำตอบนี้ล้อเลียนพ่อ ซึ่งตอนนั้นหัวล้าน

พรไทย            คุณครูจินดาและแม่ลิ้มช่วยเล่าย้อนถึงช่วงที่พี่เกี๊ยะไปเรียนที่กรุงเทพฯ ว่าช่วงนั้นทางบ้านสนับสนุนพี่เกี๊ยะให้เรียนขนาดไหนครับ

ครูจินดา            ผมสนับสนุนเต็มที่

แม่ลิ้ม                สนับสนุนแหละลูกเพราะว่าเขาสอบได้ และเราก็ต้องการให้ลูกเรียนจบที่ๆ สูงๆ และก็ได้บอกเขาแล้วว่า นุ้ยลูกเกี๊ยะไปบอกเพื่อนๆ ของนุ้ยว่าตั้งใจเรียนให้ดี เรียนให้เก่ง เรียนให้จบออกมา ส่วนเก้าอี้ที่พวกนี้นั่งอยู่แม่รับรองให้เลยว่าตายก็ไม่ได้เอาไป มันก็ต้องจากเก้าอี้พวกนี้ไปไม่ใช่มันจะนั่งได้ตลอด นุ้ยจงฟังแม่ไว้

พรไทย              แม่ลิ้มสั่งไว้แบบนั้นเลยนะครับ

แม่ลิ้ม  สั่งไว้เลยลูก แต่ว่าคนเรามันก็ไปตามกฎของธรรมชาติ และกฎแห่งกรรม มันหลีกไม่พ้น

พรไทย คุณครูคงภูมิใจมากใช่มั้ยครับที่ลูกเรียนธรรมศาสตร์

ครูจินดา ภูมิใจครับเพราะสมัยนั้นใครสอบเข้า สวนกุหลาบ สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ในรุ่นเดียวกันก็จะเป็นที่ดีใจ

พรไทย              ไปเรียนช่วงแรกพี่เกี๊ยะ เรียนเป็นอย่างไรบ้าง เขาเคยเล่าถึงบรรยากาศของธรรมศาสตร์ให้ฟังบ้างมั้ยครับ

ครูจินดา            คราวแรกไปเรียน มศ. 4- 5 ที่โรงเรียนวัดสุทธิวรารามก่อน และก็ปกติดี แต่เมื่อช่วงเรียนอยู่ มศ. 5 ก็รู้สึกว่าเขาได้เข้าไปร่วมกิจกรรม 14 ตุลาคม 2516 โดยเข้าร่วมเดินขบวนและเข้าไปช่วยในเรื่องการรับบริจาคเงินสมทบทุนให้นักศึกษา ผมว่าอันนี้แหละที่เป็นเหตุให้เขาแปลงสถานการณ์ความคิดที่จะทำเรื่องนี้แล้ว เพราะบ้านเมืองของเราไม่ได้รับความเป็นธรรมพอ เขาแอบอ้างว่าทำเพื่อชาวบ้านแต่ว่าชาวบ้านยังลำบาก โดยช่วงที่เขาอยู่ มศ. 4-5 นี้เขาไม่ได้ไปไหนเพราะเรียนอยู่ในภาควิชาการ แต่พอสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ตั้งแต่เริ่มปี 1 เขาก็เริ่มออกค่ายแล้ว พอช่วงปี 2 เขาได้เป็นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ออกค่ายไปดู เกี่ยวกับสหพันธ์ชาวนาที่เกิดขึ้นมา ทางภาคเหนือและทางภาคอีสาน ไปช่วยทำกิจกรรม

แม่ลิ้ม                เขาถ่ายรูปมา  ไปช่วยดำนา

ครูจินดา            ทำให้มีความปลูกฝังเรื่องการเปลี่ยนแปลง คือว่า คนเรามันถูกกดอยู่มาก

แม่ลิ้ม                เขาไปพูดแต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เขาว่ายังเป็นเด็กๆ

ครูจินดา            คือ เขา ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เขาเห็นด้วยนั่นแหละ แต่เขาคิดว่าไม่สามารถจะทำได้จริง

พรไทย              มีหลักการอะไรบ้างครับ

ครูจินดา            มีหลักการว่า ต้องเอากันใหม่การปกครองระบบนี้ คือมันไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เขาบอกว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องมีความคิดจากคนชั้นล่างขึ้นไป ไม่ใช่คิดจากคนชั้นบนลงมา เขาบอกว่าไม่ได้หากเป็นแบบนี้ต่อไป เขาก็ไม่ใคร่จะเห็นด้วย แต่เราจะทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ากฎหมายอยู่ที่พวกเขา ปืนก็อยู่ที่พวกเขา อยู่ที่พวกเขาทั้งหมด เขาปกครองมาเป็นเวลานานเสียแล้ว เราก็จะทำอย่างไรได้ จึงต้องออกมาคัดค้าน และช่วยตัวเองกันไปก่อน โดยการช่วยตัวเองกันไปก่อนกลายนี่เองกลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขาไปเข้าค่ายอาสา ครั้นเมื่อเรียนอยู่ปี 2 เขาได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรศาสตร์ทำให้เขาหันเหไปมาก ที่ผมคิดนะ เพราะเวลาเขากลับบ้านผมเห็นว่าเขาผิดปกติ

พรไทย             ผิดปกติอย่างไรบ้างครับ

ครูจินดา            คือเขารู้จักคนมากขึ้น หมายความว่า พูดกับคนมากขึ้น คนอยู่ตรงไหนจำนวนมากๆ เขาก็จะเข้าไปหา ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยทำแบบนี้ เวลาช่วงกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงปิดเทอม เมื่อลงรถไฟที่สถานีรถไฟบ้านส้อง (อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี) พ่อก็ไปรับเพราะ ที่ อ. พระแสงไม่มีสถานีรถไฟ และก่อนที่จะกลับบ้านเขาจะขอเวลาราว ๆ 20-30 นาที เพื่อเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ที่สถานีรถไฟบ้าง สองข้างทางรถบ้าง กว่าจะได้กลับบ้าน เดี๋ยวก็ไปพูดกับคนโน่น เดี๋ยวก็พูดกับคนนี่ รู้จักคนมาก ผมก็เลยคิดว่า การรู้จักคนมากนี่รู้สึกว่าต้องมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะรู้จัก แต่ต้องรู้จักมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ากิจกรรมเขาไปทำที่กันตรงไหน ติดต่อกันทางไหนบ้าง

พรไทย              ช่วงนั้นพี่เกี๊ยะเรียนอยู่ปีไหนครับ

ครูจินดา ปี 2 ครับ ช่วงปี 1 ก็มีการออกพื้นที่เหมือนกันแต่ส่วนมากไปในพื้นที่ภาคอื่นๆ แต่พอเรียนปี 2   เขาเริ่มลงมาทางพื้นที่ภาคใต้หลายแห่ง ตั้งแต่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี แล้วก็ปัตตานี

พรไทย              ช่วงที่ลูกเรียนอยู่ปีที่ 2 แม่ลิ้มรู้หรือไม่ครับว่าลูกเปลี่ยนไป

แม่ลิ้ม                รู้ ว่าลูกเกี๊ยะเปลี่ยนไป เพราะเวลาช่วงไปทำสวนกับแม่ เมื่อเขาเห็นกลุ่มคนอยู่ข้างทางเขาจะหยุดรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซด์) บอกว่า แม่ๆ รอนุ้ย เดี๋ยว นุ้ยจะคุยกับเขาเดี๋ยวแม่ก็หยุด แต่เริ่มคิดว่า ออ..ลูกเกี๊ยะนี่

พรไทย              ครูจินดาเคยเตือนลูกบ้างมั้ยครับ

ครูจินดา            เตือน ผมเคยเตือนว่าอย่าให้เกินเลยไปมาก เพราะผมกลัวอันตราย แต่เขาบอกว่าเค้าไม่กลัวและบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่เค้าไม่ทำเด็กๆ

พรไทย              แม่ลิ้มละครับเคยเตือนพี่เกี๊ยะบ้างไหมครับ

แม่ลิ้ม                เตือน  แต่เขาก็บอกว่าแม่ไม่ต้องเป็นห่วงนุ้ย นุ้ยจะไม่ทำให้แม่ผิดหวังในตัวนุ้ย

(หน้าเศร้า) แต่เหลง (พูด) แล้วก็ไม่เชื่อ

พรไทย              ช่วงเวลา 2516-2518 พี่เกี๊ยะมาหาทางภาคใต้บ่อยมั้ยครับ

ครูจินดา            ถ้าหากมีเหตุการณ์อะไรก็จะมา

แม่ลิ้ม              ถ้าหากมีเหตุการณ์ เมื่อเขาได้รับโทรเลขเขาจะลงมาทันที

พรไทย              อาทิเช่น เรื่องอะไรบ้างครับพี่เกี๊ยะจึงจะลงมา

ครูจินดา            แล้วแต่ว่า จะมีมวลชน หรือชุมนุมประท้วงที่ไหนเขาถึงจะลงมา

พรไทย              เวลาพี่เกี๊ยะลงมา ได้แวะที่บ้านบ้างมั้ยครับ

ครูจินดา            ได้แวะบางครั้ง บางครั้งก็พ้น (เลยไป) แต่ถ้าหากอยู่ใกล้ๆ บ้าน เช่นว่า สุราษฎร์ ก็จะมาแวะ แต่ถ้าหากว่าอยู่ไกลๆ ก็ไม่มาแวะ

พรไทย              ผมเคยทราบว่าพี่เกี๊ยะเคยซื้อผ้าถุงมาฝากแม่ลิ้มสักครั้งใช่มั้ยครับ

แม่ลิ้ม                เคย ซื้อมาฝาก ไปปัตตานีมา รูปถ่ายยังมีอยู่

พรไทย              ช่วงที่พี่เกี๊ยะไปปัตตานีอยู่ในช่วงปีไหนครับ

ครูจินดา            อยู่ในช่วงนั้นแหละครับราวๆ ปี 18 ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จำได้แต่ที่สุราษฎร์ฯ ว่ามีการล้อมศาลากลางจังหวัด และเหตุการณ์ที่ปัตตานีนั้นเกิดหลังเหตุการณ์ที่สุราษฎร์ฯ

แม่ลิ้ม                ลูกเกี๊ยะมาสุราษฎร์แล้วก็กลับ

ครูจินดา            กลับไปคืนนั้นเลย

พรไทย              พี่เกี๊ยะช่วงที่มาทางภาคใต้ จะมากับใครครับ

ครูจินดา            ไม่ทราบ

แม่ลิ้ม               เวลามาบ้านมาคนเดียวแต่ส่วนใหญ่จะมาลงที่ชุมนุมเลย

พรไทย              แล้วแม่ลิ้มกับคุณครูทราบได้อย่างไรว่าลูกมาร่วมชุมนุมด้วย

แม่ลิ้ม                รู้ มีคนมาบอก

ครูจินดา            มีคนมาบอก บอกว่าลูกผมมา ขึ้นพูดบนเวทีเสร็จแล้วเขาก็ไป

พรไทย              หมายความว่าช่วงนั้นพี่เกี๊ยะเริ่มมีชื่อเสียงอยู่บ้างแล้วคนจึงรู้จัก แล้วช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับพี่เกี๊ยะบ้างมั้ยครับ

ครูจินดา มีแต่เข้ามาพูดคุยธรรมดาไม่ได้สอบถามอะไร แต่ว่าช่วงหลังจากที่นักศึกษาเข้าป่าแล้ว ในปี 19 ก็ได้มาเพราะเขาอยากจะทราบว่านักศึกษาอยู่ไหน

พรไทย              ในที่สุดคุณครูก็ทราบแล้วว่าลูกได้เข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามก็ได้เกิดกรณี 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอย่างที่ทุกคนทราบดีแล้ว รวมทั้งบันทึกของคุณครูที่ได้บันทึกไว้ด้วยซึ่งข้อมูลก็ชัดเจนพอสมควร อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 แม่ลิ้มก็ยังออกตามหาลูกอยู่ตลอดเวลา

แม่ลิ้ม                ตามหา ไปทุกแห่ง  ถ้าหากสมมติเขามาบอกว่าพบเห็นที่ไหน จะไปทันที

ครูจินดา            ช่วงปี 2518 ไม่ค่อยมีคนมาหา แต่พอช่วงปี 19 ก็มีคนมาหาผมทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายป่าก็มาหา ฝ่ายบ้านเมืองก็มาหา ถ้าหากผมเคลื่อนไหวไปไหน ฝ่ายตำรวจ ทหารก็จะส่งคนคอยติดตาม แต่เราก็ไม่รู้ตัว แต่ก็มีพรรคพวกวงในบอกมาอีกที และย้ำว่าให้ผมระวังตัวสักนิด เพราะทางราชการคิดว่าเราปิดบังลูกไว้ เขาคิดว่าลูกเข้าป่าแล้วแต่เราปิดบังไว้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเราก็ไม่รู้ แต่เขาก็ยังคิดว่าเรารู้

แม่ลิ้ม                ไม่รู้ว่าเขาเสียแล้ว

ครูจินดา            ไม่รู้ว่าเสียแล้วด้วยซ้ำ เพิ่งแน่ชัดเมื่อ ปี 2539

แม่ลิ้ม                20 ปีแล้วถึงจะรู้

ครูจินดา            เมื่อนั้นรู้แน่ชัดเมื่อก่อนก็รู้ แต่ว่าไม่แน่นอน

พรไทย              รู้ว่าลูกเสียแล้วจากใครครับ

ครูจินดา            ที่ได้ยิน ก็จะได้ยินมาจากนักศึกษาใน ปี 2539

พรไทย              แล้วช่วงก่อนไม่คิดว่าเสียใช่มั้ยครับ

ครูจินดา             ยังคิดว่ายังอยู่

แม่ลิ้ม                ไม่เคยคิดว่าลูกเสียแล้วเลย

ครูจินดา            ไม่เคยคิดเพราะไม่ได้เห็นศพ  

พรไทย              คุณครูไม่เคยเห็นภาพ

ครูจินดา            ภาพนั่นเห็น แต่ว่าเป็นภาพที่เขาตั้งศพกองที่สนามฟุตบอลในธรรมศาสตร์ ดูแล้วไม่ชัด แต่ว่าลูกสาว ลูกแจ ลูกแหวน ลูก ชายๆ เขารู้กันหมดแล้ว เพราะเขาได้ไปร่วมตักบาตร แต่เขาก็ไม่กล้ามาบอก กลัวพ่อแม่รับไม่ได้

พรไทย              พี่แหวน พี่แจ เขารู้เมื่อตอนช่วงไหนครับ

ครูจินดา            เขารู้ตั้งแต่ปีแรก หลังจาก ปี19 แล้วเพราะเขาเรียนรามคำแหงอยู่ในช่วงนั้น

พรไทย              ช่วงที่ทำให้แน่ใจว่าเสียแล้วใน ปี 2539 เพราะอะไรครับ

ครูจินดา            รู้เพราะมีการเชิญให้เข้าร่วมพิธีในเดือนตุลาคม โดยให้ไปเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

พรไทย              ทราบว่าเคยมีคนส่งรูปพี่เกี๊ยะมาให้ดู คุณครูเชื่อมั้ยครับ

ครูจินดา            ไม่เชื่อ แต่ว่าผมไปหานะ

พรไทย              ช่วงปีไหนครับ

ครูจินดา            หลายปีแล้วครับ

ป้าลิ้ม                ราวๆ ปี 2520-21

ครูจินดา            เขาส่งจดหมายมาแล้วให้ผมไปดูด้วยว่ามีศพ อยู่ทั้งหมด 6 ศพ ที่วัดดอน แต่ว่าเมื่อช่วงขึ้นไปเขาฝังหมดแล้วเห็นแต่รูปถ่าย  แต่ก็ดูไม่ชัดเพราะถ่ายในขณะที่ ศพขึ้นอืดแล้ว

พรไทย              พอดูรูปไม่ชัดคุณครูก็ไม่ปักใจเชื่อ

ครูจินดา ไม่ปักใจ

แม่ลิ้ม                ไม่คิดนะลูก ใครมาบอกว่าเสียก็จะไม่ฟัง

ครูจินดา            แต่ว่าช่วงนั้น มันก็มีอยู่ 2 กระแส  เพราะมีคนฝ่ายป่ามาบอกว่าเขาเห็นลูกเกี๊ยะว่ามาลงรถไฟที่  สถานี นาสาร แล้วเข้าไปในช่องช้าง ตัดผมแบบไหนก็รู้ พูดก็เหมือนกัน

พรไทย              ช่วงนั้นปีไหนครับ

แม่ลิ้ม                 ปี 2519

ครูจินดา            ปี 2520 แล้วครับ โดยตอนนั้นมีข่าวว่านักศึกษาเข้าป่า จึงออกตามหา

แม่ลิ้ม               เหมารถไปตามหาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสตูล ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง ที่สตูลเข้าไปถามผู้ว่า ฯ แต่ก็ไม่พบ

พรไทย              ช่วงที่คุณครูตามหาลูกทางการเริ่มเพ่งเล็งมั้ยครับ เพราะคุณครูต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากฝ่ายป่าอยู่บ่อยๆ

ครูจินดา            เพ่งเล็งครับ

แม่ลิ้ม                เราก็ต้องให้เขาเพ่งเล็ง

ครูจินดา            ช่วงนั้น เราก็ไม่กลัวแล้ว

พรไทย              เขากดดันโดยวิธีไหนบ้างครับ

แม่ลิ้ม                เขาเชิญป้าลิ้มไปอบรมการเมืองที่ ต. คลองปราบ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

ครูจินดา            ทางการเขาเชิญเพราะเขาเห็นว่า คนไหนที่จะไปในทางนี้(คอมมิวนิสต์) เขาจะเชิญไปอบรม เขาก็เชิญหลายคนครับ ซึ่งเป็นช่วงที่คอมมิวนิสต์จะเลิกแล้ว ราวๆ ปี 2526 แล้วครับ เพราะ ทางการประกาศใช้นโยบาย 66/23 ออกมาแล้ว ช่วงนั้น พลเอกหาญ (ลีลานนท์) สามารถเที่ยวในป่าได้สบายแล้ว

พรไทย              แล้วช่วงก่อนหน้านั้นละครับ โดยเฉพาะช่วงแรกๆ

ครูจินดา            เขาก็จะตาม เช่นว่า ไปทำสวนเขาก็จะส่งคนไปดู

แม่ลิ้ม                เวลาแก (ครูจินดา) ออกจากตำบล อิปัน ออกไปตรวจโรงเรียนถ้าช่วงไหนออกไม่ได้ ฝ่ายป่าก็จะส่งข่าวมาบอกว่า อย่าไปเพราะอาจมีการดักยิง

ครูจินดา            ในช่วงนั้น ข้าราชการจะออกนอกพื้นที่ไม่ได้ เขาให้ผมออกได้ กับอาจารย์สุคนธ์ ตำรวจก็จ่าเพ็ญที่ออกได้

พรไทย               เรื่องนี้ทำให้ตำรวจยิ่งสงสัยเข้าไปอีกมั้ยครับ

แม่ลิ้ม                สงสัย

ครูจินดา            สงสัยไปมาก เพราะเขาคิดว่าผมทำไมออกนอกพื้นที่ได้ได้แต่คนอื่นออกไม่ได้

พรไทย              แม่ลิ้มเคยเล่าช่วงที่ผมมาเยี่ยมครั้งแรกว่าเคยคด (เตรียม) ข้าวห่อไปทำสวน แต่ทางการสงสัยว่าป้าลิ้มเอาไปให้ลูก

แม่ลิ้ม                เขาว่าเอาไปให้ลูกเกี๊ยะ ทั้งที่จริงเราออกไปตอนเช้า เลยเอาข้าวเที่ยงไปกินด้วย

พรไทย              แม่ลิ้มมาเชื่อสนิทใจว่าลูกเสียแล้วเพราะอะไร

แม่ลิ้ม                เพราะเพื่อนลูกเกี๊ยะที่เดี๋ยวนี้อยู่ชุมพร จำชื่อไม่ได้ และอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่าลูก รุณ มาบอกว่าลูกเกี๊ยะเสียแน่นอนแล้ว

ครูจินดา            เพื่อนๆ ทุกคนเขาเห็นชัดเจน เพื่อนเขาอยู่ในเหตุการณ์

แม่ลิ้ม                ถึงได้เชื่อ แต่มันก็เสียใจ มันแน่นไปหมด หลังจากนั้นก็ได้ไปร่วมงานเป็นครั้งแรก และเขาก็ให้ขึ้นพูดในหอประชุมของลูกเกี๊ยะ ก็ร้องไห้กันทั้งหมด

พรไทย              แม่ลิ้มพูดอะไรบ้างครับ

แม่ลิ้ม                “นี่แหละแม่ของจารุพงษ์ มันเจ็บ มันปวดเหลือเกินที่เขาทำได้ ฆ่าคนได้ เหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป ห้ามแล้วไม่ใช่ไม่ห้าม ลูกนั้นก็พูดแหละว่าแม่ไม่ต้องกลัว แต่มหาวิทยาลัยก็คุ้มครองไม่ได้ แต่หากเขาจะทำ ก็ทำได้ทั้งนั้น บอกแล้วว่าปืนก็อยู่กับเขา กฎหมายก็เขาครอง เก้าอี้เขานั่ง รถถังก็อยู่ที่เขา แล้วเขาก็พูดได้ทั้งนั้น เรามือเปล่า เด็กๆ มี่แต่ปากกาไม่ใช่มีอะไรนี่ลูก เขาทำอะไรเราก็ได้ คนที่เสียหายก็คือ แม่นี่แหละ ลูกๆ ทั้งหลายอย่าเอาตัวอย่างให้มีคุณธรรมบ้าง เราเป็นแม่ที่ให้ความเป็นธรรมนักหนากับลูก เลี้ยงมาตั้งแต่ตัวแดงๆ อยู่ในเบาะ ยุงก็ไม่เคยให้กัด เจ็บไข้ไม่สบายก็รักษาอย่างดี ทำอย่างดีไม่เคยยุยงให้ลูกทำในสิ่งที่เสียหาย ของกินก็ไม่เคยโกงมาให้ลูกกิน ไม่มีเลยไม่เคยทำ  ”

พรไทย              บรรยากาศในห้องประชุมร้องไห้กันทั้งหมด

แม่ลิ้ม                มันเจ็บนี่ลูก (ดวงตาแดงก่ำ เสียงสั่นเครือ) เหมือนกับว่าเรานอนหลับแล้วมาปลุกให้ตื่น มันนานเกินรอแล้ว เสื้อผ้าของต่างๆ ที่เป็นของเขาจะเก็บและล้างไว้อย่างดี ไม่ให้เสียหายจนทุกวันนี้ เสื้อผ้าเขายังอยู่ ไม่เคยให้ลูกแหวน ลูกแจ ไม่เคยให้  น้องๆ จะเอามาใส่แต่แม่บอกว่าอย่าเอามาใส่ เดี๋ยวพี่เกี๊ยะจะกลับมา  พวกลูกๆ น้องๆ ก็คอยว่าไม่รู้วันไหนพี่เกี๊ยะจะมาเคาะประตู

พรไทย              กลางคืนนอนรอบ้างไหมครับ

แม่ลิ้ม                บางทีนอนไม่หลับน่ะลูก นอนไม่หลับ เมื่อก่อนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ไม่ว่างานศพ หรืองานแต่งงาน แม้กระทั้งรับจ้างเก็บข้าวก็ไป แม่ลิ้มจะไปทุกที่เลย ไปแล้วสายตาไม่เคยพลาด ไปในเมืองไม่เคยพลาด สอดส่อง ดูไปตลอดเวลา “เห็นคนหมื่น คนแสน แต่ลูกเรา เราไม่เห็นว่าไปไหน ทำไมมันไม่ออกให้แม่เห็นสักที” คนอื่นเขาพูดว่าทำไมลูกเกี๊ยะ ไม่กลับมาหาแม่สักที แม่สั่งลูกแจคนที่เดี๋ยวนี้อยู่บ้านดอน (อ.เมือง สุราษฎร์ธานี) มันเรียนรามอยู่ 8 ปีปล่อยให้เที่ยวบอกว่า ถ้าหากพบพี่เกี๊ยะ  นุ้ยต่อยเลยนิลูก ต่อยเลย ต่อยให้อยู่(สลบหรือยอม) เลย แล้วเอามาให้แม่ แล้วตางค์ค่าเหมารถมาบอกแม่ แม่จะออกให้เอง ต่อยให้อยู่นิ (เน้นเสียงเข้ม)“แต่ลูกแจบอกว่า แม่ครับนุ้ยจะทำตามที่แม่สั่งไม่ได้ นุ้ยทำไม่ลง” แต่แม่ว่าเอาเลยลูก ให้มันกลับบ้าน แต่แล้วในที่สุดเราก็ต้องเชื่อ

พรไทย              ทุกวันนี้ทำใจได้หรือยังครับ

แม่ลิ้ม                ทุกวันนี้บางครั้งก็ไม่ดีนี่ลูก ไม่ดีขึ้นเลย คิดว่าวันไหนก็ตามหากหมดชีวิตก็จะลืม (เสียงสั่นเครือ) แต่นี่มันลืมไม่ลง แม่ลืมไม่ได้ เวลาลูกอู๊ด (อาจารย์สินิท สิทธิรักษ์) ส่งโทรเลขมาแม่วิ่งไปหยบ (ซ่อน) ไม่กล้าฟัง เพราะกลัวว่าเขาจะบอกว่าลูกเกี๊ยะเสียแล้ว สักพักค่อยเขามาถามพ่อ (ครูจินดา) โทรเลขนั้นอ่านว่าอะไรบ้าง

ครูจินดา            ลูกอู๊ดเค้าเขา เข้าไปค้นในทะเบียนของธรรมศาสตร์แล้วพบบ้านเลขที่ แต่ช่วงนั้นไม่มีโทรศัพท์เลยโทรเลขมา

แม่ลิ้ม                มีอยู่ครั้งหนึ่งราวปี 2539 ลูกอู๊ดโทรมาพี่ดารับคุยสักพักแม่อึดอัดเลยขอคุยเอง แม่พูดว่าลูกอู๊ด       ลูกอู๊ดเป็นเพื่อนกับลูกเกี๊ยะ บวกกับใจเราที่อยากให้ลูกยังอยู่ เลยคิดไขว้เขวว่า สังสัยลูกอู๊ดเป็นแฟนกับลูกเกี๊ยะ เขาคงจะมีลูกกันสักคน แล้วเที่ยวโทรตามหา ดูที่คนเราที่คิดไป สุดท้ายแม่พูดว่า “ลูกเกี๊ยะมันคงลืมแม่แล้วล่ะ” ลูกอู๊ดก็วางโทรศัพท์เลย (นิ่งคิด)

แม่ลิ้ม                ช่วงที่ลูกทุกคนไปเรียนหนังสือแม่จะสั่งย้ำเลยว่า เห็นลูกสาวใคร แล้วอย่าไปเที่ยวทำลายเขานะ ทำลายแล้วเราต้องรับผิดชอบ เราอย่าเที่ยวไปล่าผู้หญิงแม่ไม่ชอบให้ลูกทำแบบนั้น หากติด (ชอบ) หญิงเราจะแต่งให้ทันที ไม่เคยให้เขาผิดหวังในลูกเรา

พรไทย              แม่ลิ้มคิดว่าพี่เกี๊ยะอาจจะอยู่กับพี่สินิทธิ์

แม่ลิ้ม                นึกว่าเขายังอยู่ แต่ซ่อนแม่ไม่บอกให้รู้ เพราะว่าเราคิดในทางที่ไม่ลบ ลบไม่ลง ลบไม่ได้

ครูจินดา            ลูกอู๊ดสั่งว่าไม่ต้องเป็นห่วง เขาจะไม่ทำให้เรื่องนี้สูญเปล่าเขาจะทำให้พ่อกับแม่ได้ภูมิใจ

พรไทย              พอถึงช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีครูจินดาและแม่ลิ้ม รู้สึกอะไรบ้างครับ

ครูจินดา            หลังจากนี้ก็จะทำบุญให้ทุกปี แต่การไปร่วมที่กรุงเทพฯ ช่วงหลังไม่ค่อยได้ไปเพราะไปไม่ค่อยไหวแล้ว

พรไทย              ช่วงหลังเรื่องนี้เปลี่ยนเป็นความภูมิใจมั้ยครับ

ครูจินดา            ภูมิใจครับ ในด้านที่ว่า อย่างไรเสียเขาก็ได้ สร้างวีรกรรมไว้พอสมควร คุณค่าก็มากมาย หลายคนเห็นคุณค่าที่เขาได้ทำไว้ เมื่อก่อนเราคิดในทางที่หดหู่ เพราะคนเขาพูดว่าลูกเราฝักใฝ่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำลายชาติเราก็ไม่สบายใจ เพราะเราไม่เคยให้ลูกเราเป็นแบบนั้น แต่มานึกอีกที่ลูกเราไม่ใช่คนแบบนั้นแต่ลูกของเราอยากหาความเป็นธรรม หาความยุติธรรม และให้คนทุกคนได้รับสิทธิเสรีภาพ สมควรตามรัฐธรรมนูญ เพราะปกครองระบบประชาธิปไตย และประชาธิปไตยนั้นทุกคนต้องมีความคิด ความเห็น ไม่ใช่มีความคิดฝ่ายเดียว แต่หากใครเดือดร้อนต้องช่วยคนที่เดือดร้อน ซึ่งลูกเราก็ทำแบบนั้นเราเลยภูมิใจ

แม่ลิ้ม               เพื่อนๆ ญาติๆ เขาก็พูดว่าถ้าหากพี่เกี๊ยะยังอยู่ในช่วงนี้คงพูดหรอยแหละ เกี๊ยะเราหรอย(สนุก)แหละ (สีหน้าสดชื่นปนรอยยิ้ม) แม่ว่าเขาทำดีแล้ว เขาพูดว่า “แม่ นุ้ยตายชีวิตเดียว แต่คนเกิด 50 คนชีวิต ให้แม่ภูมิใจ แต่แม่ก็ยังยอมรับนะว่าลืมเขาไม่ลง เด็กๆ ทุกคนอย่าทำให้พ่อแม่เสียใจเหมือนแม่จารุพงษ์คนนี้เลย”

ครูจินดา            คิดว่าช่วงนี้เหตุการณ์ของเดือนตุลาคมคงสิ้นสุดลงเพราะมีการชำระประวัติศาสตร์แล้ว เราก็จะทำแต่การช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตที่มีความเดือดร้อน ส่วนกระดูกทราบจากคุณ ธงชัย วินิจจะกูล ว่า ได้จัดการล้างป่าช้าเผาเรียบร้อยแล้ว สำหรับผมยังเหลือเพียงอย่างเดียวก็คือ ต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งว่าลูกเกี๊ยะเป็นบุคคลสาปสูญและจะได้จำหน่ายทะเบียนบ้านเพราะทุกวันนี้ชื่อเขายังอยู่ในทะเบียนบ้าน และเพื่อไม่มีปัญหาเรื่องมรดก

พรไทย              สุดท้ายอยากให้คุณครูฝากอะไรไว้ให้แก่คนรุ่นใหม่ว่าในกรณีของพี่เกี๊ยะ มันควรจะสอนอะไรแก่เด็กรุ่นใหม่หรือคนที่กำลังอยู่ในยุคประชาธิปไตยในช่วงนี้บ้างครับ

ครูจินดา           คือผมอยากฝากถึงแนวความคิดของเขาว่า เราอย่าถือว่าเราตัวคนเดียว  เราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เป็นภาระเกี่ยวกับประเทศสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าเราจะวางมือให้คนหนึ่งคนใดทำ แต่ต้องร่วมกันทำ ร่วมกันคิด และต้องใช้ความคิดใช้สมองช่วยพัฒนา เพราะ เห็นว่าบ้านเมืองเราถ้าหากไม่ช่วยกันอย่างจริงจังแล้วก็จะไปไม่รอด หากเราช่วยกันปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ 40-50 ปีข้างหน้าบ้านเมืองเราก็จะไม่ถอยหลังแต่ถ้าเราละเลยก็จะเสียหายมาก ประเทศเราทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

 

หมายเหตุ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545 ที่บ้าน ต.อิปัน อ.พระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้สัมภาษณ์ได้ใช้ภาษาใต้ในการสนทนา  ดังนั้นคำบางคำจำเป็นต้องถ่ายทอดเป็นภาษาใต้ อย่างไรก็ตามผู้สัมภาษณ์จำเป็นปรับภาษาบางคำเพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน คุณครูจินดาและแม่ลิ้มอาศัยอยู่ที่บ้าน ใน ต.อิปัน อ. พระแสง จ. สุราษฎร์ธานี กับครอบครัวลูกสาวคนโต คือคุณจงดี

แม่ลิ้มเสียชีวิตในปี 2545 คุณครูจินดาเสียชีวิตในปี 2559