Documentation of Oct 6

เทปบันทึกเสียงทีวีช่อง 5 และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519

ธงชัย วินิจจะกูลได้รับเทป cassette ม้วนนี้มาจากเพื่อนคนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่ซิดนีย์เมื่อปี พ.. 2525 โดยผู้ให้ก็ไม่ทราบว่าต้นฉบับหรือผู้บันทึกเสียงหรือผู้ส่งรายแรกเป็นใครมาจากไหนเขาได้รับต่อๆกันมาอีกทอดหนึ่ง

เห็นได้ชัดว่าเป็นเทปบันทึกการออกอากาศเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 เป็นการถ่ายเทปมาจากเทปอื่นอีกทอดหนึ่ง เพราะเนื้อหาไม่เรียงตามลำดับเวลา  ความยาวเทปทั้งหมดเกือบ 90 นาที  โครงการบันทึก 6 ตุลาได้แปลงเสียงจากเทปแคสเซ็ทให้เป็นระบบดิจิตอล โดยถือตามต้นฉบับที่ได้รับมา ไม่มีการเรียงลำดับใหม่ให้ถูกต้องตามเวลาแต่อย่างใด เนื้อหาหลักของเทปเสียงนี้มีดังนี้

ด้าน A เริ่มต้นด้วยเสียงโฆษก ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ (นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ฝ่ายขวา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ร่วมกับโฆษกอีกคนหนึ่ง บรรยายเหตุการณ์หรือภาพที่ฉายอยู่บนจอทีวี* กล่าวหาว่านักศึกษาเป็นญวน, ประชาชนร่วมมือพร้อมใจกันเพราะทนไม่ได้ที่นักศึกษากระทำการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทำร้ายจิตใจคนไทย 

นาที 16:12 เป็นการสัมภาษณ์ตำรวจชุดแรกที่นำกำลังบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์นำโดย พ...สล้าง บุนนาค ตำรวจชุดนี้ต่อมาเป็นพยานโจทก์ในคดี 6 ตุลาทุกคน ดร.อุทิศเริ่มสัมภาษณ์สล้าง ณ นาทีที่ 18 จนถึงนาทีที่ 31:38  หลังจากนั้น เปลี่ยนเป็นบันทึกเสียงประกาศและคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไปจนจบด้าน A

ด้าน B มีเนื้อหาต่อจากด้าน A เป็นประกาศต่างๆของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

นาที 13:19 เป็นคำแถลงของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะรัฐประหาร (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน)นาที 14:07 เป็นเสียงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยซึ่งออกอากาศประมาณบ่าย 2 โมงของวันที่ 6 หรือก่อนหน้าด้าน A เป็นประกาศแถลงข่าวของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช กล่าวถึงการที่นักศึกษาแสดงละครดูหมิ่นองค์รัชทายาทและต่อมาผู้ชุมนุมใช้อาวุธปืนยิงออกมาจากธรรมศาสตร์ จนตำรวจและประชาชนข้างนอกได้รับบาดเจ็บล้มตาย แม้ตำรวจได้ห้าม ก็ไม่หยุด แต่ในที่สุดตำรวจสามารถรักษาความสงบไว้ได้

นาที 22:40 เป็นประกาศแถลงการณ์รัฐบาลอย่างเป็นทางการ ตามด้วยคำสัมภาษณ์ม...เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ซึ่งอ่านแถลงการณ์รัฐบาลด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยการตอบคำถามต่าง ๆ ของผู้สื่อข่าว นาที 38 เป็นประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซ้ำกับ 15นาทีสุดท้ายของด้าน A ไปจนถึงประมาณนาทีที่ 44 เทปก็จบลง

ทั้งนี้ การออกอากาศทางช่อง 5 และวิทยุประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ดำเนินไปในขณะที่เครือข่ายของ “ชมรมวิทยุเสรี” หรือสถานีวิทยุยานเกราะก็ออกอากาศควบคู่กันไป ท่านสามารถฟังเสียง “ยานเกราะ” วันที่ 6 ตุลา 2519 ได้จากเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลาเช่นกัน ที่ <https://doct6.com/archives/category/documents/clip>

_____________________________

หมายเหตุ *เข้าใจว่าภาพบนจอคือการบันทึกภาพของสถานีช่อง 5 ชื่อต่อมามีผู้พบเมื่อปี 2539 และกลายเป็นแหล่งเดียวที่แสดงภาพเหตุการณ์เช้าวันนั้นให้เราได้เห็น ซึ่งต่อมาเผยแพร่และมีผู้ทำเป็นซีดีต่าง ๆ อีกมาก การบันทึกภาพที่แพร่หลายอยู่นั้น ไม่มีคำบรรยาย แต่มีเสียงเพลงปลุกใจและเพลงหนักแผ่นดินเป็น background อยู่ตลอด