Documentation of Oct 6

เกษียร เตชะพีระ: บันทึกนักศึกษาคืนสภาพ

(พิมพ์ครั้งแรก  คณะกรรมการบัณฑิต ๒๕๒๖ . วันนี้ยังไม่ใช่ชัยชนะ . กรุงเทพ , ๒๕๒๖)

 

ผมใส่ชุดสุภาพที่สุดเท่าที่จะสุภาพได้  เสื้อขาวสะอาดรีดเรียบร้อยสอดในกางเกงขายาวสีดำสนิท  เดินถือใบเกรดภาคสุดท้ายเท่าที่เคยเรียน หมายถึง ภาคหนึ่งปีการศึกษา ๒๕๑๙  พยายามสำรวมจนเกร็งเพื่อไม่ให้มือสั่นเทา เข้าไปในห้องเลขานุการคณะ

“สวัสดีครับ ผมมาขอคืนสภาพนักศึกษา”

เจ้าหน้าที่คณะเป็นสตรีวัยย่างเข้ากลางคน  เหลียวขวับมามองดูผมด้วยท่าทีสนใจ เธอหยิบใบเกรดภาคสุดท้ายของผมไปอ่าน อุทานออกมาเบา ๆ กับเพื่อนร่วมงานของเธอว่า “เกรดดีนี่”

“กรุณารออีกสัปดาห์หนึ่ง  ค่อยมาตามผลนะคะ  เราต้องทำเรื่องขออนุมัติจากที่ประชุมคณบดี”

ผมถอนหายใจยาว  เดินออกมาสูดอากาศยามเช้าข้างนอก  รู้มาจากเพื่อนว่าทางการมีนโยบายพิเศษต่อนักศึกษาคืนสภาพของธรรมศาสตร์  ไม่ต้องไปให้ทางสันติบาลหรือกอ.รมน.สอบสวนต่อ

………………………………

 

ห้องบรรยายจุนักศึกษาแน่นขนัดกว่าร้อยคน  เพราะเป็นวิชาบังคับ  ผมยังไม่คุ้นต่อบรรยากาศเก่า ๆ ของมันนัก  พยายามหลบไปนั่งมุมห้องอย่างเก้ ๆ กังๆ หวังว่าคงไม่เป็นที่ผิดสังเกตของใคร ๆ  อาจารย์ผู้ใหญ่  รูปร่างท้วมขาว  ท่าทางใจดีเดินเข้าห้องมาหยอกล้อนักศึกษาอย่างกันเองแล้วเริ่มถามคำถาม

“การปฏิวัติคืออะไร?”  “คุณ…..เอ้อ…..๒๓๓๐๓๑ ตอบที”

คำตอบยังไม่เป็นที่ถูกใจ  อาจารย์ท่านนั้นเรียกใหม่

“คุณ ๑๘๙๔๒๐ ลองตอบหน่อย”

ใจผมเต้นตูมตามยิ่งกว่ารัวกลอง  ลุกขึ้นยืนด้วยความขัดเขินท่ามกลางสายตานับร้อยคู่ที่เหลียวขวับมาจับจ้องนักศึกษาโข่งอย่างผมด้วยความแปลกใจเป็นจุดเดียว  ผมสูดหายใจลึก ๆ  ตอบไปตามความถนัดเป็นสูตรว่า

“การปฏิวัติ คือ การลุกฮือขึ้นต่อสู้โค่นล้มอำนาจรัฐของมวลชนด้วยกำลังรุนแรง….”

………………………………

 

หญิงสาวสวยนั่งอยู่เบื้องหน้าผมเคยเป็นเด็กรุ่นน้อง  เป็นคนที่ผมรักและปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมมองดูเธอรับเอาใบเกรดภาคแรกหลังการกลับมาของผมไปอ่านอย่างหวาด ๆ อาย ๆ

“ทำไมคราวนี้พี่ได้  C  ล่ะ  วิชาการเมืองการปกครองไทยเสียด้วย  เป็นไปได้ยังไง?”

ใช่ มันไม่น่าเป็นไปได้  เป็นเกรด  C  ตัวแรกที่ผมได้ในชีวิต ผมเคยได้เกรด ๔ ในบางภาค และไม่เคยต่ำกว่า B ในทุกวิชา ผมอึก ๆ อัก ๆ จะตอบเธอว่าอย่างไรดีนะ  เธอจึงจะเข้าใจได้ว่าโลกทัศน์การเมืองของผมมันแปลกแยกจากเนื้อหาที่อาจารย์สอนไปนาน  นานจนผมปรับตัวปรับความคิดไม่ทัน

เพื่อนของเธอเดินเข้ามาทักทายขัดจังหวะการสนทนาได้สวยพอดี  ผมไม่ต้องตอบคำถามยาก ๆ ของเธอ  แต่กลับต้องตอบคำถามยากยิ่งกว่าของเพื่อนเธอ  ซึ่งถามว่า ผมเรียนที่ไหน

“คณะรัฐศาสตร์ ครับ”

“ปริญญาโทสินะคะ?”

ผมไม่ชอบการโกหก  แต่พระเจ้าโปรดจะให้ผมตอบว่าอย่างไรอื่นได้ ผมกลัวคำถามที่จะตามมาเป็นพรวนของเธอยิ่งกว่ากลัวการโกหกเสียแล้วอย่างน้อยก็เพื่อรักษาหน้าตาของคนที่ผมรัก

เพื่อนของเธอจากไปพร้อมกับการถอนหายใจอย่างโล่งอกของผม คนรักของผมซักไซ้ถึงความลำบากนานัปการที่ผมเผชิญอยู่  แล้วยัดเยียดเงินพันบาทมาให้ในมือ

“เอาไว้เป็นค่าหน่วยกิตนะคะพี่”

ผมสะอึกตื้นตันมาในลำคอ  อยากร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา

………………………………

 

พวกเรา – นักศึกษาคืนสภาพหลายคน – นั่งดื่มน้ำหวานแกล้มขนมอยู่ในโรงอาหารริมแม่น้ำ  รุ่นพี่ของผมคนที่อ้วนท้วนเหมือนเดิม  แต่ไม่เหมือนเดิมทั้งชื่อ นามสกุล ทรงผมและความคิดเปรยขึ้นว่า

“อั๊วล้างมือแล้ว หมดจด อั๊วเกิดใหม่แล้ว ไม่มีอดีตอะไรอีกแล้ว”

บางคนที่ยังฝังใจกับอดีตหยิบยกเรื่องสถานที่ที่เราเพิ่งจากมาขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุย  การอภิปรายเริ่มร้อนแรงจากพูดคุยเบา ๆ  เป็นถกเถียงตัดบทประชดประชันด้วยน้ำเสียงบาดแก้วหู  ฝ่ายหนึ่งว่าดำ ฝ่ายหนึ่งว่าขาว ไม่มีใครพูดถึงสีเทา

วงแตกก็เพราะสีต่างกันเกินไป  นับแต่นั้นเราคุยกันได้แต่เรื่องงาน  การทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  และหาเงินเป็นค่าหน่วยกิต  เป็นเรื่องเดียวที่พูดกันรู้เรื่อง สำหรับ “การเมือง” มันเจ็บเกินไป

………………………………

 

ผมหยิบหนังสือปกแข็งสีดำ  เก่าคร่ำคร่าออกมาจากชั้นวางหนังสือของห้องสมุด  ดูเหมือนใครมาลืมทิ้งไว้ตั้งแต่ทศวรรษก่อนมากกว่าจะถูกเรียงด้วยมือบรรณารักษ์  ตัวอักษรภาษาอังกฤษข้างในมีรอยขีดเส้นใต้เขียนแสดงความเห็นของผู้อ่านด้วยดินสอตัวเล็ก ๆ  เลือนราง  ผมพลิกไปดูปกหลังอ่านชื่อคุ้นหูของคนที่เคยยืมมันไปอ่าน

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

สมเกียรติ วันทะนะ

ผมถือมันไปหามุมเหมาะ ๆ  อ่านอย่างสงบ  แต่ห้องสมุดกับความสงบในยุคนี้ดูจะไม่ไปด้วยกัน นักศึกษาสาวคนหนึ่งหอบการ์ตูน “โดเรมอน” ปึกเบ้อเริ่มมานั่งอ่านติดกับผม  ไม่นานเพื่อนเธอก็ตามมาเป็นฝูง  ดูเหมือนความกระหายอ่านของผมจะเทียบไม่ติดความกระหายคุยของคุณเธอ  เธอคุยกันเรื่องโจวเหวินฟะ….นพพล โกมารชุน….แกรนด์เอ็กซ์ และ  ฯลฯ

ผมคว้าหนังสือเดินกระแทกส้นลงไปชั้นล่างอย่างหงุดหงิดเปิดบัตรยืมหนังสือออก เตรียมจะกรอกเลขทะเบียนหนังสือลงไป แต่ให้ตายสิผมยืมครบห้าเล่มเสียแล้ว

………………………………

 

ห้องบรรยายขนาดย่อมวันนี้  จบลงด้วยบรรยากาศของห้องสัมมนา  ผมตอบคำถามได้ค่อนข้างคล่องแคล่วกว่าเพื่อนนักศึกษา(หรือน้อง ๆ)คนอื่น ๆ  อาศัยจากที่ไปอ่านพิเศษนอกเหนือจากที่อาจารย์กำหนดมามาก  เลิกชั้นแล้วผมเดินเข้าห้องน้ำชาย  โดยบังเอิญนักศึกษาชายสองคนที่ออกจากชั้นเดียวกันเดินตามเข้ามาในห้องน้ำ พวกเขาคุยกันเสียงดังพอที่ผมจะได้ยินว่า

“พี่คนนั้นใครวะ”

“อ๋อ  รุ่นพี่เก่า  เขาว่าแกไปเรียนอินเดียแล้วกลับมา  แต่กูไม่แน่ใจน่าจะออกจากป่ามากกว่า เรียนเก่งฉิบหาย เทอมที่แล้วได้เกรด ๔ แน่ะ”

ผมเดินออกจากห้องน้ำมาก่อน  ตั้งใจว่าจะเอาใบเกรดไปให้คนรักผมดู  อย่างน้อยผมก็ไม่ได้ใช้เงินค่าหน่วยกิตที่เธอให้ผมมาอย่างไม่คุ้มค่า

………………………………

 

สงครามฟอล์คแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินาทำให้คณะคึกคักขึ้นอีกครั้ง  อาจารย์  นักศึกษา  แออัดเต็มห้องประชุมเพื่อฟังการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้  ผมปรี่เข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ยังว่างอยู่  ล้วงกระดาษ  ปากกา  ออกมาเตรียมจดเนื้อหาการอภิปราย แต่คำอภิปรายปลุกสำนึกผมจนเกินกว่าจะจดมันลงได้  ผมเขียนบทกลอนลงไปแทนด้วยแรงบันดาลใจจากคำอภิปรายของอาจารย์ท่านหนึ่ง ผมเอาบทกลอนดังกล่าวไปสอดไว้หน้าห้องอาจารย์ท่านนั้น ตอนหนึ่งของมันความว่า

 

“แล้วใครที่สวดอ้อนวอนพระเจ้า          ถึงญาติมิตรของเขาด้วยเสียขวัญ

         ใครท้องกิ่วหิวอดหดหู่ครัน                 ใครนอนกลัวตัวสั่นสุดข่มตา

         ใครเฝ้าครุ่นคำนึงถึงลูกผัว                  ใครร้องไห้เมื่อเสียหัวทหารกล้า

         ประชาชน….ประชาชนธรรมดา           ผู้ไหล่บ่าแบกหาบบาปสงคราม”

 

มิตรภาพล้ำค่าระหว่างผมกับอาจารย์ท่านนั้นเริ่มขึ้นด้วยกลอนบทนี้

………………………………

ออกจะเป็นเกียรติที่ขัดเขินอยู่บ้าง ที่ผมได้รับเชิญเป็นคู่สนทนากับอาจารย์ท่านหนึ่งในห้องสัมมนาวิชาทฤษฎีการเมือง  หัวข้อของเราคือความคิดสังคมนิยม  แว่วมาว่านักศึกษาบางคนหมั่นไส้ผมที่ได้รับเกียรติอันไม่สมควรจะได้เช่นนี้ จนไม่ยอมเข้าชั้นวันนั้น แต่ก็มีนักศึกษาอีกบางคนมาเข้าชั้นโดยไม่ได้ลงเรียน  การพูดคุยอาจจะพิสดารไปมาก  ผมต้องตอบคำถามที่ยิงมาเป็นชุด ๆ  อย่างพะอืดพะอมพอสมควร  เพราะก็ไม่ได้รู้มากวิเศษวิโสอะไร  ใกล้จะจบนักศึกษาคนหนึ่งก็ถามผมขึ้นว่า

“พี่คิดจะเข้าป่าอีกไหม?”

หะ…หะ, หะ….หะ

………………………………

ว่าจะไม่แล้วเชียว  แต่โลกก็หมุนพาผมมายังที่ที่ผมไม่คิดจะมาอีกจนได้  การถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้ประศาสน์การและงานธรรมศาสตร์  ๔๙  ปี  ทำให้ผมต้องลงมือทำกิจกรรมและจับไมโครโฟนอีกบนเวทีที่ไฟส่องหน้าจนมองไม่เห็นคนดูเรือนพันข้างล่างชัดตา  ผมพูดถึงท่านปรีดี , ๑๔ ตุลา , ๖ ตุลา และธรรมศาสตร์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจในฐานะชาวธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ข้างล่างเวทีเงียบกริบขณะผมพูดไป พูดไป เหมือนเพ้อเจ้อพูดอยู่คนเดียวจนจบนั่นแหละจึงได้ยินเสียงปรบมือของผู้คน จนไฟสว่างนั่นแหละจึงเห็นเพื่อนบางคนแอบเช็ดน้ำตา

ผมคืนสภาพนักศึกษามาได้ ๒ ปีแล้ว  แต่ผมรู้สึกว่าในวันที่ผมเห็นเพื่อนเช็ดน้ำตานั่นเอง ที่ผมได้คืนสภาพเป็นตัวผมอีกครั้งหนึ่ง

………………………………

 

“ที่รัก”

คงไม่ต้องบอกว่าตั้งแต่คุณจากมาเรียนต่อ  ผมคิดถึงคุณเพียงใดในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา  เกิดเรื่องราวกับผมมากมาย ผมได้ทำกิจกรรมจำนวนหนึ่ง  รู้จักผู้คนอีกมาก  ที่สำคัญผมค้นพบตัวตนของผมที่สูญหายไปในความสับสนหลงทางอีกครั้ง

ชะตาชีวิตเล่นตลกกับผมเหลือเกิน  นับดูสิบปีที่ผ่านมา เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตผม มันพิศวง พิสดาร ขึ้น ๆ ลง ๆ  จนเกินความคาดหมาย เมื่อผมเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง  ผมไม่เคยคิดว่าจะเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ลากผมถูลู่ถูกังเข้าไป  และเมื่อเข้าไปผมไม่เคยคิดว่าจะออกมาจนกว่าจะได้ชัยชนะ  ผมทำสงครามจนลืมไปว่า โอกาสแพ้ในทุกสงครามมีเท่ากับโอกาสชนะ  และผมก็กลับออกมาอย่างผู้พ่ายแพ้  ที่สำคัญเป็นผู้พ่ายแพ้ที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักตัวเอง กินเวลาอีกนานทีเดียว – ๓ ปี – กว่าที่ผมจะตระหนักว่าตัวเองเป็นใคร ไม่เป็นใคร และควรจะเป็นใคร

โกหกถ้าจะบอกว่าชีวิตผมได้กำไรอย่างเดียว  ต้นทุนที่ทุ่มไปนั้นขาดหายไปไม่น้อย เวลา , โอกาส ฯลฯ  หลุดลอยไปจากชีวิตอันเริ่มเยาว์ของผมเหมือนกับว่าวที่ขาดลอยไปในท้องฟ้า  แต่จะโทษใคร  ในเมื่อผมปล่อยมันไปเองอย่างตั้งใจ  หน้าที่ของคนที่ผิดพลาด  คือ  ยอมรับความผิดพลาด  แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง  ไม่ใช่ทั้งหมด  ผมหมายถึงเฉพาะที่เรารับผิดชอบเท่านั้น  มีหลายอย่างที่คนที่ผิดพลาดถูกโยนบาปเป็นกระโถนท้องพระโรง  และก็มีอีกหลายคนที่ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน  ผมไม่

ถ้าเราจะเอาชีวิตมาวัดเทียบกันกับใครสักคน – อาจเป็นผม – ที่ไม่ต้อง “คืนสภาพ” เพื่อถามว่า เสียใจไหม?  ผมขอหัวเราะ ขอร้องไห้ ขอหัวเราะอีกที เพื่อตอบดัง ๆ ว่า ไม่ ไม่เสียใจเด็ดขาด เพราะว่าสิ่งที่ผมได้มา ไม่ใช่เพียงประสบการณ์ที่นายทุนร้อยล้านก็หาซื้อไม่ได้ตามตลาดเท่านั้น  แต่คือจิตสำนึก อุดมคติ พันธกิจ ที่อยู่ข้างในชีวิตทั้งชีวิตของผม  ให้คุณค่าความหมายและบอกทิศทางแก่ชีวิตที่ดีบ้างชั่วบ้าง  สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ชนะบ้างแพ้บ้างนี้  ประทานโทษที ชีวิตของคนธรรมดาที่ไม่กบฏ – ไม่มี –

พร้อมกับจดหมายฉบับนี้  ผมแนบ TRANSCRIPT ภาคสุดท้ายของผมมาด้วย  ผมเรียนจบแล้ว ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง  จะดิ้นรนหาทางมาเรียนต่อ และพบคุณให้ได้ในเร็ววันที่สุด ให้สมกับที่คิดถึงและรอคอย

 

รักเสมอ.