คุณกฤษฎางค์ นุตจรัส 22 กันยายน 2543 ม้วน 1/3
อ.ชลธิรา คุณกฤษฎางค์ นุตจรัสใช่ไหมคะ แนะนำตัวเอง สถานภาพปัจจุบัน สถานภาพเมื่อ 2519 แล้วจากนั้นก็พูดในสิ่งที่ต้องการจะพูดใน 5 นาที แล้วดูนะคะ เราลองทำเวลานะคะ แล้วกรรมการอาจจะซักถามต่อเพิ่มเติม แต่ว่าสิ่งที่เตรียมในใจสิ่งที่อยากพูดมากที่สุดว่าขาดไม่ได้เลย ไหน ๆ อุตส่าห์เดินทางมา ลองดูนะคะใน 5 นาทีส่วนนั้น เชิญค่ะ
คุณกฤษฎางค์ ผมชื่อกฤษฎางค์ นุตจรัส ปัจจุบันอายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25/7 หมู่ 1 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. ขณะนี้มีอาชีพเป็นทนายความ จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2522 ในขณะเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นนักศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ปี 2 ทำกิจกรรมโดยขณะนั้นเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ชั้นปีที่ 2 ตำแหน่งเป็นประชาสัมพันธ์สภานักศึกษา มีเรื่องที่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เห็นว่าสำคัญและจะกล่าวถึงข้อเท็จจริงอยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณเที่ยง ซึ่งในขณะนั้นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกลุ่มอิสระได้จัดให้มีการแสดงละครชุมนุมที่บริเวณลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาปี 1 ซึ่งขณะนั้นกำลังจะเข้าสอบในตอนบ่ายชม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกรณีที่ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ไปติดโปสเตอร์คัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมแล้วถูกแขวนคอตายที่จังหวัดนครปฐม ผมอยู่ในเหตุการณ์ในขณะนั้น เป็นผู้ร่วมในการจัดตั้งเครื่องเสียง เวทีกระจายเสียง ขอให้การต่อคณะกรรมการอย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์ในขณะนั้นเนี่ยนักศึกษามีเจตนาที่จะแสดงละครให้เห็นถึงความโหดร้ายของผู้ที่ฆ่าช่างไฟฟ้าทั้งสองคน ไม่มีผู้ใดที่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ใด ๆ ทั้งสิ้น การชุมนุมในวันที่ 4 ตุลาเป็นไปอย่างโดยสงบ แล้วก็คณาจารย์หรือแม้แต่อาจารย์ที่อยู่ในคณะศิลปศาสตร์ทุกคนในขณะนั้นก็ได้เห็นเหตุการณ์ ไม่มีผู้ใดที่พูดถึงความผิดปกติ หรือการกล่าวหาว่าเป็นการดูหมิ่นราชวงศ์แต่อย่างใด นี่เป็นประเด็นที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ตลอดจนกระทั่งการชุมนุมสงบลง เลิกการชุมนุมไปเวลาประมาณสักบ่ายโมงหรือบ่ายสอง เพราะว่าทางอธิการบดีในขณะนั้นคือ อาจารย์ป๋วย ลงมาขอร้องให้เลิก
อ.ใจ ตอนที่เข้าไปร่วมจัดเวทีเครื่องขยายเสียงอะไรเหล่านี้ รู้จักนักศึกษาที่เล่นละครไหม รู้จักคุณอภินันท์ไหมตอนนั้น
คุณกฤษฎางค์ ผมรู้จักกับอภินันท์ บัวหะภักดีอย่างดี เพราะว่าผมเป็นคนชักชวนอภินันท์เขาให้มาทำกิจกรรม คืออภินันท์เดิมเนี่ยเขาเป็นนักศึกษาที่อยู่ชมรมกรีฑา ชมรมกรีฑานี่จะมีที่ตั้งอยู่หลังสภานักศึกษา อภินันท์เป็นคนนครนายก และเขาไม่มีความสนใจทางการเมืองมาก่อน ผมชักชวนให้เขามาเป็นนักดนตรี ตีฉิ่ง ตีกรับ อยู่ในวงดนตรีของชมรมศิลปะและการแสดง ผมเรียนอาจารย์ต่อไปนะฮะว่า เหตุที่อภินันท์เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ก็เพราะว่า ในฉากวันนั้นเนี่ยเราต้องการคนที่มีรูปร่างเล็ก เพราะเราต้องการจะทำมีการแขวนคอกับต้นไม้ซึ่งอยู่ติดกับลานโพธิ์ เพราะฉะนั้นเราต้องการคนที่มีรูปร่างเล็กที่จะใช้เชือกผูกข้างหลัง ก็เลยมีคนเสนอให้เอาอภินันท์หรือเจี๊ยบ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคุณอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ หรือเรียกอะไรฮะ จำไม่ได้
อ.ใจ ผมมี 3 รูปนะฮะ รูปแรก อันนี้เป็นรูปของคุณอภินันท์หรือเปล่าฮะ ในสมัย 2519
คุณกฤษฎางค์ เนี่ยฮะ คนกลางฮะ
อ.ใจ หน้าเหมือนไหมฮะ
คุณกฤษฎางค์ นี่คือคุณอภินันท์ อภินันท์เลยครับ
อ.ใจ อันนี้รูปถ่ายในขณะที่ติดคดีอยู่ อันนี้รูปที่สองนี่จากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม อันนี้รูปใบหน้าคุณอภินันท์หรือเปล่าฮะ
คุณกฤษฎางค์ ใบหน้าที่เห็นอยู่ในรูปในหนังสือพิมพ์ที่อาจารย์ให้ดูนี่ ไม่คล้ายอภินันท์
อ.ใจ ใบหน้าของคุณอภินันท์แต่งให้ดูเหมือนใบหน้าที่อยู่ในรูปนี้ได้ไหมฮะ
คุณกฤษฎางค์ อาจารย์ถามว่าอะไรนะฮะ
อ.ใจ ถ้า นักศึกษาจะเล่นละคร แล้วก็ละเลงหน้าคุณอภินันท์ให้เหมือนกับรูปนี้ เป็นไปได้ไหมฮะ
คุณกฤษฎางค์ เอ่อ…เป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ แต่ผมขอตอบอย่างนี้ เนื่องจากผมอยู่ในที่เกิดเหตุ ในวันนั้นไม่มีการแต่งหน้า
อ.ใจ ไม่มีการแต่งหน้าอะไรเลย
คุณกฤษฎางค์ ไม่มีการแต่งหน้าครับอาจารย์
อ.ใจ อันนี้รูปที่สาม มาจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อันนี้ก็คุณอภินันท์หรือเปล่าฮะ
คุณกฤษฎางค์ ใช่ครับ รูปนี้นะฮะ ใช่ครับ
อ.ใจ โอเคฮะ ขอบคุณมาก ช่วยเล่าต่อฮะ
คุณกฤษฎางค์ ครับ การชุมนุมก็ยุติลงประมาณสักบ่ายสองครึ่ง หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ซึ่งคนอื่น ๆ ก็คงจะเล่าไปแล้ว หลังจากวันที่ 4 ตุลาเนี่ยผมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอด เพราะว่าได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลสภานักศึกษาเนื่องจากขณะนั้นตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตึกเล็กสองชั้น ตึกศูนย์ประชุมของนักศึกษาก็อาศัยตึกอมธ. คือตึกกิจกรรมเนี่ยนะฮะชั้นสอง ในขณะที่สภานักศึกษาอยู่ชั้นล่าง ก็จะใช้ที่องค์การสภานักศึกษาเป็นที่ประชุมสำหรับนักศึกษาที่เป็นแกนนำในการชุมนุมนั้นในหลายครั้ง ซึ่งผมจะเป็นคนคอยดูแลสถานที่อยู่ เพราะว่ากุญแจสโมสรอยู่ที่ผม รวมทั้งในการแถลงข่าวต่าง ๆ ก็ใช้ตึกสภานักศึกษา ผมถึงต้องอยู่ในตึกสภานักศึกษาตลอด หลังจากที่มีการชุมนุมของประชาชนจากสนามหลวงแล้วเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคืนวันที่ 5 ตุลาต่อรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันพุธ มีคนชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณ คะเนด้วยสายตาคาดว่าไม่น่าจะเกินห้า หกพันคน มีเวทีการอภิปรายอยู่ที่สนามฟุตบอลด้านตึกโดม การชุมนุมก็เป็นไปโดยปกติ จนกระทั่งเย็นวันที่ 5 ตุลาคม มีข่าวที่เราได้รับทราบมาจากเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกัน ว่าทางสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามได้มีการตีพิมพ์ข่าวได้มีการกระจายเสียงในทำนองว่าได้มีการดูหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์บางท่าน แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและระดับสูง ผมก็ไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวด้วย ผมก็เห็นความตึงเครียดในการชุมนุม จนกระทั่งประมาณเที่ยงคืน เที่ยงคืนเนี่ยเราได้รับการชี้นำจากนิสิตนักศึกษาที่เป็นระดับแกนนำว่าน่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 แล้วก็ผมได้รับคำสั่งให้อยู่ที่ตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนคนอื่นที่ไม่มีหน้าทีเกี่ยวข้องก็ให้ล่าถอยออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บางส่วน เพราะเราคาดคะเนว่าอาจจะมีสถานการณ์ที่รุนแรง ผมได้ข่าวจากเพื่อนฝูงในขณะนั้นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกปิดตั้งแต่เที่ยงคืน เพราะว่ามีบางคนเพื่อนบางคนก็ไม่สามารถจะออกไปจากมหาวิทยาลัยได้ ในการให้การนี่บางครั้งผมอาจจะต้อง ไม่ทราบว่าจะเปิดเผยชื่อบุคคลอะไรต่าง ๆ ได้ ถ้าจำเป็นก็คงจะต้องพูด ผมจะพูดเฉพาะคนที่เขาอนุญาตนะ คือผมเองก็ ในคืนวันที่ 5 ต่อเช้าวันที่ 6 เนี่ย ก็ได้อยู่กับอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนหนึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเพื่อนสนิทกัน ในขณะที่ เพราะเขาเป็นประธานชมรมศิลปะและการแสดง ภายหลังถูกจับกุม อนุพงษ์อยู่กับผมตั้งแต่ประมาณห้าทุ่มจนสักตีหนึ่งกว่า ๆ อนุพงษ์ก็บอกว่าจะต้องไปพบนายกรัฐมนตรีกับคุณสุธรรมเลขาศูนย์ฯในขณะนั้น ก็แยกจากกัน ผมอยู่ที่ตึกองค์การนักศึกษาประมาณ หลับไปประมาณสักตีห้า ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นค่อนข้างแรง ตึกองค์การนักศึกษาสั่นไปหมดเลย เราก็วิ่งออกมาดู ปรากฏว่ามันเป็น เราเห็นคนที่อยู่ในสนามฟุตบอลเนี่ยแตกกระจายออกไปอยู่รอบสนามฟุตบอล แล้วมีพี่สุชีลา ตันชัยนันท์ เป็นรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาวิ่งมาบอกผมบอกว่า มันมีระเบิดลงมากลางที่ชุมนุม ให้ช่วยหารถตู้เพื่อที่จะไปรับคนบาดเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาล ผมวิ่งเข้าไปขณะนั้นคนก็หลบกันหมดเพราะมันน่ากลัวมาก ผมเห็นคนนอนอยู่หลายคนเหมือนกัน พอดีมีเพื่อนจากมหาวิทยาลัยมหิดลคนหนึ่ง คุณวิทยา แกมีรถตู้เอามาใช้ในการเคลื่อนไหว ซึ่งรถตู้คันนี้ก็จะพาคนเจ็บออกไปที่รพ.ศิริราช รถตู้คันนี้ก็สามารถออกไปได้ เพราะเราต้องไปเจรจาขอให้ตำรวจซึ่งในขณะนั้นเนี่ยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นเลยนะฮะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์มีตำรวจของสน.ชนะสงครามปิดล้อมอยู่ออกไปไม่ได้ ใครเข้าใครออกไม่ได้ เราไปเจรจาขอให้รถตู้คันนี้ออกไป เพื่อส่งคนออกไปส่งคนบาดเจ็บส่งไปโรงพยาบาล ซึ่งก็ออกไปได้ แล้วเขาก็ปิดเหมือนเดิม ส่วนทางหน้าประตูหอประชุมใหญ่ผมวิ่งไปดู ก็ปรากฏว่าเราไม่สามารถจะออกไปได้แล้ว เพราะว่ามันมีแสงไฟไหม้บางอย่าง แล้วก็เท่าที่ผมเห็นก็คือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือผมเห็นเพราะว่า ผมไม่สามารถออกไปบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ได้ ผมยืนอยู่ได้แค่ที่สนามฟุตบอลบริเวณหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ ผมเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งขณะนั้นเป็นรั้วเตี้ย ๆ แล้วก็ระดมยิงเข้ามาในตึกคณะนิติศาสตร์
อ.ใจ คุณเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากในพิพิธภัณฑ์
คุณกฤษฎางค์ ใช่ครับ
อ.ใจ ระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์
คุณกฤษฎางค์ ใช่ครับ
อ.ใจ ระดมยิงจากตึกของพิพิธภัณฑ์ หรือจากพื้นดิน
คุณกฤษฎางค์ ตรงรั้วของพิพิธภัณฑ์จะเป็นสนามหญ้าที่ติดกับรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นกำแพงประวัติศาสตร์ ซึ่งตรงนั้นเดิมเนี่ยในขณะเกิดเหตุมันจะเป็นรั้วเหล็กโปร่ง สามารถมองเห็นกันได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยืนอยู่บริเวณสนามหญ้าในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แต่ส่วนที่อยู่หน้าหอประชุมใหญ่ด้านสนามหลวงผมมองไม่เห็น เพราะว่าผมไม่สามารถจะยืนได้
อ.ใจ ใช้อาวุธชนิดไหน
คุณกฤษฎางค์ ผมอยู่ในระยะห่าง ผมสังเกตเห็นเป็นปืนยาว เป็นปืนยาว เป็นอาวุธปืนยาว ไม่ทราบว่า…
อ.ใจ ยิงที่ละนัด หรือเป็นพรืด
คุณกฤษฎางค์ เป็นสายเหมือนกับ เวลาปืนที่ยิง ผมก็เพิ่งเห็นครั้งแรกเพราะท้องฟ้ามันยังมืดอยู่ มันเป็นเหมือนลูกไฟที่ออกมา พุ่งเป็นสายออกมา เสียงปืนในขณะนั้นจะเริ่มดัง แล้วไม่ใช่ยิงทีละนัด ผมเองยอมรับว่าเพิ่งจะเคยเสียงปืน M16 เป็นครั้งแรกในชีวิตก็ตรงนั้น คือเสียงปืน M16 ไม่ใช่เสียงดังทีละนัด มันจะเป็นเสียงพรืดติดต่อกันยาว เขาก็ยิง แล้วเป็นแสงไฟออกมา ผมก็เลย
อ.ใจ รู้ได้ยังไงครับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
คุณกฤษฎางค์ แต่งตัวเป็นชุดสี…(ฟังไม่ออก) ใส่หมวกแบบหมวกเหล็กส่วนหนึ่ง แล้วก็หมวกแบเร่ต์ส่วนหนึ่ง ผมคาดเดาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเครื่องแบบและการแต่งตัว แล้วมีลักษณะยืนเป็นหมวดหมู่ ผมล่าถอยออกมาเพราะว่าผมคิดว่าไม่ปลอดภัย ก็ล่าถอยออกมา ในขณะนั้นผมเห็นทุกคนหมอบลงกับพื้นหมด ผมก็ล่าถอยออกมาที่บริเวณอาคารตึกกิจกรรม ตึกอมธ. แล้วขึ้นไปที่ อมธ. เพื่อที่จะปิดแล้วก็จะออกมา เพราะว่าในขณะนั้นเนี่ยมีผู้คนเริ่มมาบอกว่า มีนักศึกษาอาทิ เช่น จารุพงษ์ ทองสิน แล้วมาบอกพวกเราบอกว่าให้ออกจากตึก อมธ. เพราะว่า พวกมันกำลังบุกเข้ามาแล้ว เขาใช้คำว่าอย่างนี้
อ.ใจ ขอย้อนกลับไปถามนิดหนึ่ง ตอนที่ยืนอยู่ที่ตึกนิติศาสตร์มองเห็นตำรวจจำนวนมากระดมยิงเข้ามาจากพิพิธภัณฑ์ ตอนนั้นมีใครบุกเข้ามาในธรรมศาสตร์หรือยัง
คุณกฤษฎางค์ ตอนที่ผมยืนอยู่ตรงนั้นยังไม่มีใครบุกเข้ามา เพราะว่าผมเห็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยของนักศึกษาล้ม ยังนอน คือ ถูกยิงแล้วล้มลงบ้างเป็นบางส่วน หรือนอนหมอบอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ อยู่บริเวณถนนหน้าหอประชุมใหญ่ ผมคิดเข้าใจว่ายังไม่มีใครบุกเข้ามา
อ.ใจ แล้วตอนนั้นคุณเห็นประตูหน้าหอประชุมใหญ่ไหมฮะ
คุณกฤษฎางค์ ไม่เห็น เพราะมันจะถูกช่องระหว่างตึกนิติ ถ้าเรายืนอยู่ที่สนามฟุตบอลหน้าตึกนิติศาสตร์ด้านสนามฟุตบอล มองออกไปเนี่ย หอประชุมสมัยก่อนมันจะสูงและบังไม่ให้เราเห็น แต่เราเห็นแสงไฟที่ไหม้อยู่
อ.ใจ ตอนนี้ประมาณกี่โมงฮะ
คุณกฤษฎางค์ ผมเข้าใจว่าน่าจะอยู่ประมาณตีห้า ตีห้ากว่า ๆ ผมก็เข้ามาที่ตึกสโมสรนักศึกษา เอ่อ…ตึกอมธ.ครั้งสุดท้ายซึ่งค่อนข้างจะไม่ค่อยมีคนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังอยู่ เดินไปเดินมา ก็บอกกันให้ล่าถอยออกมา ยังมีบางท่านที่ผมจำได้ อย่างพี่ที่ตอนนี้ทำงาน ที่เดี๋ยวนี้ทำงานอยู่กับทักษิณ ที่เคยเป็นนายกสโมสรแพทย์ แกพยายามโทรศัพท์อยู่ ผมจำชื่อไม่ได้ อา..พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช พยายามโทรศัพท์อยู่ที่โทรศัพท์สาธารณะที่ตึกอมธ. ที่ในสภานักศึกษา โดยล้มโทรศัพท์แล้วนอนพูดโทรศัพท์อยู่กับพื้น ผมก็บอกแกว่าให้ออกมาเถอะ เพราะว่าเขามาแล้ว เขามาตาม แกก็วิ่งหนีออกมาด้วยกัน พอลงมาจากตึกสโมสรนักศึกษาก็จะมีเสียงระดมยิงแล้ว ซึ่งตอนนี้ผมไม่ได้หันกลับไปมองที่บริเวณหอประชุมใหญ่แล้ว แต่ผมรู้ว่ามีเสียงกระสุนปืนระดมยิงจากทางนู้นอย่างเดียว พวกเราประมาณสามสี่คน รวมกับนักศึกษาที่อยู่บริเวณสนามฟุตบอลก็วิ่งหนีออกมาทางตึกโดม สนามฟุตบอลด้านตึกโดม วิ่งมากันเป็น ผมเห็นวิ่งกันมาเยอะเลย แล้วแต่ว่าพอเสียงปืนดังมากขึ้น พวกเราก็ล้มลงแล้วคลานไปบนถนนรอบ ถนนที่อยู่รอบสนามฟุตบอล โดยคลานมาทางตึกโดม มาถึงบริเวณหน้าคณะวารสารศาสตร์ มีคนส่วนใหญ่ก็จะหลบหนีขึ้นไปบนตึกคณะวารสารฯ ผมมองขึ้นไปผมเห็นคนอยู่บนตึกคณะวารสารฯค่อนข้างเยอะ คือ ที่เห็นก็เพราะว่า คนวิ่งขึ้นไปแล้วก็จะบริเวณที่เป็น คณะวารสารศาสตร์มันจะเป็นห้องเรียนแล้วก็จะมีหน้าต่างที่เรามองเห็นterraceออกมา แต่ผมไม่ได้ขึ้นไปที่คณะวารสารศาสตร์เพราะเห็นว่าคนเยอะ ก็เลยคลานต่อมาบริเวณหัวมุมของสนามฟุตบอลด้านตึกโดม ซึ่งตรงนั้นมันก็จะเป็นชมรมถ่ายภาพ ชมรมถ่ายรูปขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากจุดนี้ผมมองไปที่ตึกศูนย์ภาษาอังกฤษ ตึกศูนย์ภาษาอังกฤษเราจะมองเห็นว่าชั้นล่างมันจะเป็นลานที่มองเห็นไปถึงรั้วพิพิธภัณฑ์ เห็นนะฮะ มองไปนี้ ที่รั้วพิพิธภัณฑ์ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนที่คล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหมือนที่ผมสันนิษฐานไว้ตอนที่มองจากคณะนิติเนี่ย โผล่หน้าออกมาแล้วยิงปืนเข้ามายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก เพราะฉะนั้นคนที่เราที่ยืนอยู่ในบริเวณนั้นทุกคนก็ต้องหมอบลง เขาก็ คนที่อยู่ตรงนั้นที่ใส่หมวกกะโล่ ใส่หมวกแบบหมวกทหาร แต่มันเป็นหมวกสี ผมไม่แน่ใจว่าสีอะไร แต่แต่งชุดเป็นตำรวจเนี่ยยิงเข้ามา เมื่อยิงเข้ามาทุกคนที่อยู่ในนั้นก็จะหลบ ทุกคนก็จะไปไหนไม่ได้ คนที่หนีมาไม่ขึ้นตึกวารสารก็จะไปไหนไม่ได้เลย เพราะตรงนั้นยังไม่มีสถานที่ก่อสร้าง มันจะเป็นที่โล่ง ๆ มันยังไม่มีที่เป็นอาคารของอาจารย์ปรีดีที่เป็นหลังคาออกมา แล้วบริเวณนั้นพอดีมันเป็นจุดที่จะอ้อมไปยังด้านหลังที่เป็นเวทีปราศรัย ซึ่งขณะนั้นธงชัยกำลังพูดอยู่ว่า พี่ครับ ๆ อย่ายิงเร็ว พี่ ๆ ตำรวจอย่ายิงเรา ทุกคนก็ ธงชัยก็อยู่ใต้เวที พวกเราก็หมอบอยู่กับพื้น ทางตำรวจที่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติก็ยังยิงปืนเข้ามา แล้วในขณะเดียวกันมีกระสุนปืนจากทางหอประชุมใหญ่ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไกลมากในขณะนั้นนะ ก็ยังยิงเข้ามาข้างหลังจนไปโดนกับตึกโดมเป็นรอยตลอด ซึ่งเราก็มองเห็น ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นจะมองเห็นหมด ก็มีนักศึกษาท่านหนึ่ง คือ คุณสุรศักดิ์ อยู่พรรคยูงทอง ถ้าผมจำไม่ผิดนะ แกก็พยายามที่จะวิ่งข้ามไปยังอาคารตึกโดมซึ่งปิดอยู่เพื่อไปทุบกระจกของชมรมถ่ายภาพ เพื่อที่จะขนคนหนีข้ามไป แต่ว่าก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าทุบไปแล้วมันก็จะเป็นเหล็ก ในที่สุดทุกคนก็เลยตัดสินใจคลานต่อไปยังหลังเวทีซึ่งคุณธงชัยพูดอยู่ ซึ่งตรงนั้นจะมีประตูให้ทุกคนสามารถกระโดดหนีไปยังแผนกวัดผล หน่วยวัดผลได้ เพื่อข้ามตึกโดมหนีออกไป เพราะว่าเราเชื่อว่ากระสุนปืนที่ยิงมาจากหอประชุมใหญ่จะไม่สามารถทำอันตรายเราได้ ถ้าเราข้ามไปอยู่ฝั่งตึกโดมได้ ฝั่งที่ติดด้านแม่น้ำ ในขณะที่ผมคลานออกไปเนี่ย ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งที่คลานอยู่หน้าผมก็ถูกยิงตายเพราะว่า ถูกยิงตายที่ศรีษะ เพราะเขาคลานอยู่ข้างหน้า แล้วเขาก็นอนหงายหลัง ก็จะมีนักศึกษาด้วยกันก็ช่วยกันลากเขาออกไป แล้วพวกเราก็คลานต่อไป พอเราคลานเข้าไปแล้วเราก็ ทุกคนที่ไปด้วยกันชุดนี้ประมาณ 30 คน ก็สามารถกระโดดหนีเข้าไปยังเข้าไปในตึกโดม เพื่อหลบออกไปทางสนามหญ้าหน้าโดมที่ติดกับบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พวกเราทั้งหมดก็หนีไป เมื่อเราข้ามไปเราก็จะเจอผู้คนที่หลบอยู่บริเวณนั้นเยอะ ก็ได้ไปเจอพวกคุณสุชีรา ตันชัยนันท์ เจอคนบาดเจ็บหลายคน ปรากฏว่าถึงตอนนั้นแล้วทางพวกเราก็มีคนบาดเจ็บอยู่ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่เฝ้าประตูอยู่ทางท่าพระจันทร์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม เท่าที่ผมรู้จัก ที่ผมคิดว่าเขาเป็นสน.ชนะสงครามเพราะว่าเขาแต่งชุดตำรวจธรรมดาที่ใส่หมวกแบบหมวกตำรวจที่รักษาความปลอดภัยอยู่ตามท้องถนนทั่วไป ไม่ได้แต่งชุดแบบตำรวจพลร่มอะไรต่าง ๆ พวกเราก็ไปขอเจรจาให้เขาเปิด เขาบอกเขาเปิดให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกเรา ผมเองแล้วก็หลาย ๆ คนก็เลยตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหลังตึกศิลปศาสตร์ แล้วก็ลำเลียงคนบาดเจ็บ ซึ่งตอนนั้นที่ผมเห็นก็มีหลายคน ยกตัวอย่างเช่น แสงจันทร์ พิลาไชย เขาก็ได้รับบาดเจ็บที่ขาจากระเบิด แล้วก็มีคุณโกศล คุณโกศลได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะ แล้วก็มีวีรชน 14 ตุลาคนหนึ่งซึ่งเดินไม่ได้ต้องใช้รถเข็นเนี่ย ซึ่งเขาไปอดอาหารประท้วงอยู่ในบริเวณลานโพธิ์ด้วย ชื่อพี่อะไรผมจำไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมางาน 14 ตุลาอยู่ ก็มีคนช่วยกันเข็นแกจะไปขอออกทางท่าพระจันทร์ ตำรวจไม่ให้ ก็เลยอุ้มแก ผมไม่ทราบว่าไปยังไงนะเพราะผมไม่เห็นแก แต่ผมไปเห็นแกอีกทีก็คือไปขึ้นที่ท่าพระจันทร์แล้ว แกก็ตามไปด้วย เมื่อไปถึงที่ท่าพระจันทร์ เราก็เข้าไปบริเวณท่าพระจันทร์กลางเพื่อเรียกให้เรือเนี่ยเข้ามา ช่วยกันตะโกน พวกเราช่วยกันตะโกนว่าให้เรือที่รับจ้างข้ามฟากมารับคนเจ็บ ปรากฏว่ามีเรือรับจ้างข้ามฟากมารับอยู่เหมือนกัน ก็วีรชน 14 ตุลา กับคุณโกศล กับคุณแสงจันทร์ก็ไปด้วยกัน ก็ไปชุดนี้ แล้วพวกเราก็ยังเรียกอีก เพราะเราไม่สามารถจะออกไปทางไหนได้ คิดว่าเราออกไปทางวัดมหาธาตุก็คงโดนจับ ปรากฏว่ามันมีเรือซึ่งเขาพูดกันนะฮะ ผมเห็นแต่ผมไม่ทราบว่าเป็นเรือของหน่วยราชการใด คนที่อยู่ตรงนั้นน่ะบอกผมว่าเป็นเรือของตำรวจน้ำ เข้ามากระจายเสียงพูดว่า เรือทั้งหลายอย่าเข้ามา คืออย่า กันไม่ให้เรือเข้ามารับนักศึกษาที่บริเวณ ที่ตรงนั้น เขาพูดเสียงเนี่ยเราได้ยินชัดเจน เขาบอกว่าอย่าเข้ามา ถ้าเข้ามา ถ้าขัดขืนจะมีการยิง พวกเราส่วนใหญ่ก็เลยชะลออยู่ที่นั่น แล้วก็ผมก็ตัดสินใจหนีออกมาทางวัดมหาธาตุ ตรงนั้นเป็นบริเวณศูนย์พระเครื่อง เมื่อผมออกมาถึงหน้าวัดมหาธาตุเนี่ย ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่แล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.ชนะสงคราม เนี่ยก็สั่งให้ทุกคน พอผมเดินจากตึกแถวออกมา ก็สั่งให้ทุกคนนอนลงกับพื้น แล้วก็ โดนจับ แล้วก็เอามือจับไว้ที่ศีรษะ ประคองไว้ที่ศีรษะ แล้วก็นอนก้มลง ก็เห็นพวกเรานอนกันยาวหมด ผมก็ลงไปนอนด้วย ซึ่งก็มีลูกเสือชาวบ้าน ผมจำได้ติดตาว่ามีลูกเสือชาวบ้าน เพราะว่าเขาเป็นผู้ชายไทยธรรมดาผูกลูกเสือชาวบ้าน แล้วเมา เขาถือระเบิดมือ บอกว่า ไอ้พวกเนี่ย พวกมึงหนักแผ่นดิน พวกมึงต้องตายแน่ แล้วเขาก็เอาระเบิดมือขึ้นมาถือ ซึ่งตำรวจยังได้ห้ามปรามไว้ ตอนนั้นผมก็คิดว่า นั่นมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากในเวลานั้น ขณะที่นอนอยู่ประมาณสักสามนาที เราก็จะถูกยิงอยู่ด้วยนะ คนที่นอนอยู่เนี่ย ยิงจากไหน ยิงจากกุฎิพระ วัดมหาธาตุเนี่ยมันจะมีกุฎิพระที่อยู่ติดถนน แต่ตรงเนี่ยผมไม่เห็นว่าใครยิง แต่มันเป็นเสียงปืนที่เหมือนกับ เป็นปืนน่ะเพราะมันดัง แป๊ะ แป๊ะ แป๊ะ คือมันไม่ใช่ปืนที่หนักน่ะนะ มันเป็นปืนเหมือนปืนลูกโม่ ปืนอะไรอย่างนี้ ยิงมา ผมก็นอนคว่ำหน้าอยู่ คิดว่าเราคงน่าจะโดนบ้าง มันดัง แป๊ะ แป๊ะ แป๊ะ อย่างนี้ตลอดเวลา ก็เลยตัดสินวิ่งหนีกลับออกมา วิ่งสวนหนีกลับมาเลย ผมหนีไม่ยอมอยู่ เพราะว่าคิดว่ายังไงคงต้องโดนจับ ก็เลยหนีกลับเข้ามาที่ศูนย์พระเครื่องอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็พอดีมีบ้านชาวบ้านเขาเปิดอยู่ ผมก็เลยหนีหลบเข้าไปอยู่ในบ้านชาวบ้าน แล้วบ้านชาวบ้านเนี่ยเขาก็ดูแล มีนักศึกษากับผม มีผู้หญิง มีเด็กผู้หญิงอยู่ประมาณสี่ห้าคน แล้วก็มีเรา เขาก็ดูแลเราอย่างดี เราก็เลยปิดประตูอยู่ในบ้านเขา เราก็ไม่ได้ออกมาจนกระทั่งสี่โมงเย็น แต่ตลอดเวลาเราจะได้ยินเสียง คนตะโกนด่านักศึกษา แล้วก็เอาของตีเอาไม้ตี ไล่ พูดคำหยาบคาย แล้วก็ไล่ตอนนักศึกษาออกไปเนี่ย เราจะนอน แล้วเราได้ยินได้ฟังอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ได้ยินเสียงปืน คือเสียงปืนที่พูดนี่ก็คือตั้งแต่ผมหนีออกจากธรรมศาสตร์จนกระทั่งผมมาอยู่บ้านหลังนี้ เสียงปืนจะดังตลอด ก็เราก็หลบอยู่ในนี้จนกระทั่งสี่โมงเย็น ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าอะไร คงจะต้อง เราได้ยินวิทยุว่าประกาศกฎอัยการศึก ได้ยินฟังวิทยุที่ในบ้านเขาเปิดว่าได้มีการยึดอำนาจ ผมเข้าใจว่ายังไม่ยึดนะตอนนั้น มีการประกาศกฎอัยการศึก แล้วก็มีการทหารประกาศเขตห้ามออกอะไรต่าง ๆ เราก็อยู่ในบ้านนั้นจนกระทั่งสี่โมงเย็น หลังจากสี่โมงเย็นแล้วเราก็ ผมออกมาก็ยังมีสภาพปรักหักพัง เนื่องจากวันนั้นฝนตกถ้าผมจำไม่ผิด ตอนเช้า ๆ เนี่ยฝนตกน้ำก็จะเจิ่งนอง แล้วก็มีกีตาร์ของนักศึกษา เสื้อผ้าของนักศึกษากองอยู่เต็มถนน ในท่าพระจันทร์เนี่ยเยอะแยะเลย แต่เมื่อเราออกมาแล้วเนี่ยก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีอะไรเลย ผมก็หลบออกมากับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นน้องธรรมศาสตร์ มีอีกนิดเดียวฮะจะจบแล้ว ก็เดินมาขึ้นเรือ มันมีเรือหางยาวรออยู่ ซึ่งตรงนั้นเป็นท่าเฉพาะเรือหางยาว ท่าพระจันทร์เหนือ หรือยังไงเนี่ยถ้าผมจำไม่ผิด มีเรือหางยาวที่จะไป ออกไปทางคลองเนี่ย เราก็คิดว่าจะนั่งเรือหางยาว เพราะเราไม่เสี่ยงที่จะเดินออกไปที่ถนนใหญ่ เราก็เลี่ยงขึ้นเรือหางยาว ผมกับน้องผู้หญิงคนนั้นชื่อ กุ้ง เป็นเด็กธรรมศาสตร์ปี 1 ในขณะนั้น เมื่อเราไปลงเราก็เจอนักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคนนั่งอยู่ในเรือ เราก็รู้สึกว่าท่าทางมันไม่ดี เหตุที่มันไม่ดีเพราะว่า มันมีลูกเสือชาวบ้าน มีลูกเสือชาวบ้านมันเดินมาที่ท่าเรือที่นักศึกษานั่งอยู่ แล้วมันมาพูดกับคนขับเรือว่า เฮ้ย มึงจะโชคไม่ดีนะเอาไอ้พวกนี้ไป ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขารู้ว่าผมเป็นนักศึกษา เพราะผมก็เปลี่ยนเสื้อมาแล้ว แต่มันอาจจะเป็นเพราะเราใส่แว่นตา แล้วเด็กที่นั่งอยู่ก็เป็นหน้าตาเหมือนเด็ก เขาบอก มึงจะโชคไม่ดีมึงรับพวกนี้ไป ผมก็เลยชวนกุ้ง บอกกุ้งขึ้นมาเถอะ แล้วเราก็ขึ้นเดินย้อนพยายามจะออกไปทาง มันมีแฟลตทหารบกที่เลยไปหน่อย ก็เดินเลียบแม่น้ำไป ทีนี้เราก็ไม่อยากออกถนนใหญ่ เดินคล้อยหลังได้สักพัก เราก็ได้ยินเสียงท้อปบู๊ตวิ่งมา ตึก ๆ ๆ ๆ ๆ คือเป็นเสียงตำรวจ อันนี้เป็นตำรวจ ผมจำแม่นเลย แต่งชุดสีน้ำเงิน มาสี่ห้าคน วิ่งไล่มา จะมาจับนักศึกษาที่นั่งอยู่ในเรือ นักศึกษาที่นั่งอยู่ในเรือคนหนึ่ง คือ พี่อ๋อง ที่อยู่แนวประชา จำได้ไหม แกก็โดดน้ำหนี เรือก็คว่ำกันใหญ่ ผมกับกุ้งก็เลยเดินหนีไปเลย พยายามจะเดินหนีไปโดยไม่หันกลับมามอง แต่ผมเห็นแล้วว่าเรือมันล่มคนโดดน้ำกัน ผมไม่เห็นว่าสุดท้ายเป็นไง แต่ทราบภายหลังว่าเขาไม่โดนจับนะ เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้นก็มาเจอเขาที่มหาวิทยาลัย เขาบอกเขาก็หนีได้ ในที่สุดเราก็ ผมกับกุ้งก็เดินออกมาแล้วขึ้นเรือที่ท่าช้างวังหน้ากลับบ้าน นี่คือส่วนที่ผมเห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันนั้นนะครับ
อ.ชลธิรา ตรงนี้น่าสนใจนะคะ คือยังจำบ้านที่เข้าไปหลบภัยได้ไหมคะ ขณะนี้ยังอยู่หรือเปล่าคะ
คุณกฤษฎางค์ ผมเคยไปเยี่ยมแกหลังเกิดเหตุปีที่หนึ่ง ปีที่สองนะฮะ แล้วหลังจากนั้นผมไม่ได้ไปอีกเลย แต่ยังจำได้ว่าบ้านหลังไหน
อ.ชลธิรา คนที่ต้อนรับนี่
คุณกฤษฎางค์ คนที่ต้อนรับเป็นผู้ชาย เป็นคนจีน อายุประมาณสักเกือบ 60 แล้ว ผมจำภาพเขาได้เลย ว่าเขาใส่เสื้อกล้ามนุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน เขาก็ฉุดเราขึ้นมา ตอนที่เขาฉุดผมเข้าไปเนี่ย ก็คือเขาเปิดประตู ประตูมันจะเป็นแบบประตูเหล็ก เขาเปิดนิดเดียว แล้วเขาก็ดึงอย่างนี้ ดึงเราเข้าไป แล้วก็ดึงกุ้งเข้าไป พอเข้าไป เราเห็นคนอยู่หลายคน นั่งอยู่ข้างล่างด้วย แล้วเขาก็บอกเดี๋ยวขึ้นไปข้างบนกัน ขึ้นไปชั้นสอง แล้วก็ไปนอน ผมก็หลับ ด้วยความเหนื่อย เขาก็ยัง ผมจำได้ เขาเอามันต้มมาให้กิน และก็ให้เปลี่ยนเสื้อผ้า คนที่อยู่กับเรามีประมาณสักห้าหกคนนะ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเขาร้องไห้ตลอดเวลา ผมต้องคอยปลอบเขา ไม่ได้ไปกับผมนะ ไปเจอ เขาบอกพี่ชายเขาถูกยิง เขาก็ร้องไห้อยู่อย่างนั้น เราก็บอกให้เงียบ ๆ แล้วก็เขาก็ดี ผู้ชายคนนี้ พอเราจะออกมาเขาก็ให้ลูกชาย ออกมาตอนสี่โมงเย็นนะ เขาให้ลูกเขาเปิดประตูแล้วออกมาเดินดูก่อน แล้วก็ให้เราออกไป ทยอยกันออกไป ผมเนี่ยจะเป็นชุดแรกที่ออกไป ตอนหลังผมถามเพื่อน มีเด็กธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่ติดอยู่ในบ้านหลังนี้พร้อมผม หลังจากผมเข้าไปแล้วเจอเขาเนี่ย หลังจากนั้นมาเจอเขา (เทปหมดม้วน)
คุณกฤษฎางค์ (เทปหน้า B) เขายังบอกเลย เนี่ยมีคนเอาศพไปเผานะพ่อ เราก็ถามว่าศพที่ไหน คือเราก็นึกว่ามีกองกำลังอีกฝ่ายหนึ่งมาช่วยพวกเรา คือเอาศพของผู้ตายไปแห่ เขาบอกไม่ใช่ มีคนเอาศพไปเผาอยู่ที่บริเวณที่แม่ธรณีบีบมวย เขาบอกอย่างนั้น เราก็รับรู้ข่าวจากเขากับวิทยุที่เขาเปิด แล้วเขาก็จะขึ้นมาดูเราทุก ๆ ชั่วโมง ว่าเป็นอะไร กินอะไรมั้ย เสร็จแล้วตอนเย็นพอผมบอกเขาจะออกไปเนี่ย เขาก็ยังบอกให้เปลี่ยน แต่งตัว ใส่รองเท้าแตะเขาด้วยนะ แล้วก็ให้ลูกเขามาดูก่อน เขาค่อนข้างดี
อ.ชลธิรา อันนี้นอกรอบนะ (off record)
อ.ใจ ตอนที่อยู่ในธรรมศาสตร์ ตำรวจพยายามที่จะเข้ามาเจรจาบ้างไหม
คุณกฤษฎางค์ ตอนไหนฮะ
อ.ใจ ช่วงเช้ามืดเนี่ยฮะ
คุณกฤษฎางค์ ในวันที่ 6 ถ้าเป็นเช้าวันพุธที่ 6 นี่ไม่มีเลยครับอาจารย์ ตั้งแต่ที่ผมว่าตั้งแต่เที่ยงคืนมาเนี่ย กระแสความรู้สึกของเราก็คือว่า เราถูกปิดล้อม แล้วก็เจรจาที่จะออกไปเนี่ย ก็ออกไปไม่ได้ มันมีอย่างนี้นะฮะ เท่าที่ผมไปสัมผัสที่ตรงประตูท่าพระจันทร์เนี่ย ไม่มีการเจรจา คือประตูหอใหญ่เนี่ยเขาไม่ให้พวกเราไปอยู่แล้ว ตรงนั้นจะเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่เป็นนักศึกษารามคำแหง หรือคนที่ค่อนข้างจะแข็งแรง คือเราเป็นเด็กธรรมศาสตร์ไม่ค่อยมีความแข็งแรง ตรงนั้นเขาค่อนข้างรุนแรง ตรงบริเวณท่าพระจันทร์เนี่ยในก่อนเที่ยงคืนเขาจะให้คนออก เขาเริ่มปิดล้อมเนี่ยเขาจะให้คนออก แต่ไม่ให้คนเข้า เขาจะให้คนออกเลยฮะ เพราะว่าเขาคงจะทำลายการชุมนุมเนี่ยเขาก็ให้คนออกตลอด พอหลังเที่ยงคืนตรงปุ๊บเนี่ยเขาจะไม่ให้คนออก แล้วก็เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง นายร้อยธรรมดาพวกนั้น ซึ่งไม่เคยมีการเจรจา แล้วก็สิ่งที่เกิดขึ้น คือ หลังจากระเบิดลูกแรกตูมตอนตีห้าเนี่ย คือธงชัยจะพยายามพูดตลอดในบนเวที ผมก็ว่าเขาก็พูดตลอดว่า ธงชัยว่า พี่ตำรวจหยุดยิงนะ เรามีแต่มือเปล่า ขอเรา เรากำลังเจรจากันอยู่ ขณะนี้ตัวแทนเรากำลังไปพบรัฐบาล ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีอะไรจากหน่วยงานของรัฐเลย ค่อนข้างรุนแรง ผมรู้สึก ความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างในอย่างผม ผมรู้สึกว่าเรากำลังถูกปิดล้อมเพื่อที่จะบุกเข้ามาฆ่า ใช้คำว่าฆ่าไม่ใช่จับนะ ก็ต้องหนีแบบกระเสือกกระสน คือถ้าคนอยู่ในที่นั้นจะจำได้ มันเหมือนกับ มันเหมือนกับเราอยู่ใกล้ชิดความตายค่อนข้างมาก มันเหมือนสงครามฮะอาจารย์ อย่างที่ตอนที่เราหมอบลงแล้วเขายิงปืนอยู่เหนือหัวเราไปโดน เหมือนในหนังโดนตึกโดมแล้วฝุ่นมันลงมา แล้วจะเห็น ฟิ้ว ๆ ๆ แล้วลงมา คือทุกคนก็ แล้วเสียงจะดังตลอด พูดอย่างนี้เราจะไม่ค่อยรู้สึกนะ แต่พอเราไปหลบอยู่บ้านชาวบ้าน แล้วพอเราตื่นมา เหมือนโลกมันขาดอะไรไปอย่าง คือมันเงียบ เพราะตั้งแต่ตีห้ามาเนี่ยมันจะดังตลอด มันจะตูมตาม ตูมเตี้ยว ๆ เสียงปืนเนี่ยจะดังตลอด ดังมาก ดังตลอดเวลา มันยิง มันยิงอะไรของมัน มันเอาอะไรของมันมายิงได้ มันยิงตลอดเวลา จนกระทั่งแปดโมงเช้าที่ผมไปอยู่ในบ้านชาวบ้านแล้วก็ยังดังตลอด ความรู้สึกเราใกล้ ๆ เรากำลังจะตาย เรากำลังจะตาย ไปถึงนั่นเราก็จะเห็นน้ำใจของคนหลายที เช่นเราไปถึงท่าน้ำก็จะมีเด็กผู้หญิงที่ว่า โทษฮะ เขามีประจำเดือนอย่างเนี่ย โดดลงน้ำไม่ได้ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ลงไปเลย โดดลงไปก่อน คือตรงนั้นก็จะ พอเราหลบไปอยู่ตรงบริเวณตึกโดมด้านที่อยู่ตึกแม่น้ำเจ้าพระยาเนี่ยก็ไม่ใช่ว่าปลอดภัย พอไปแล้วเราก็จะรู้สึก เพราะว่ามันก็ยังมีเสียงปืน แล้วมันก็มีคล้าย ๆ กับว่าเขากำลังไล่มาจากทางตึกโดมด้านนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าอาจารย์ถามอย่างนี้ ก็ตอบได้เลยว่าไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น ผมได้เคยไปคุยกับตำรวจ ขอคนออกเขายังไม่ให้ออก ตอนประมาณสักตีห้ากว่า ๆ หกโมงที่ผมหนีมาอยู่ฝั่งนี้แล้วเนี่ย บริเวณท่าพระจันทร์เนี่ย ประตูท่าพระจันทร์ก็ปิดตาย มีตำรวจยืนปิดหมด แต่มีข้อน่าสังเกตอย่างก็คือว่า ตอนที่ผมกับพวกเราว่ายน้ำไปขึ้นที่บริเวณท่าพระจันทร์ เลยอ้อมออกไปเพื่อออกประตูไปทางด้านนู้นเนี่ยนะ ตำรวจเป็นคนฉุดผมขึ้นมา คือเป็นตำรวจระดับแบบเฝ้าป้อมยามเนี่ยแหละ เอ้า..ขึ้นมา ไปนู้นเลย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมาช่วยเรา เขาก็ดึง ๆ ทุกคนขึ้นมา
อ.ใจ นี่ตำรวจหน่วยไหนฮะ
คุณกฤษฎางค์ ตำรวจ สน.ชนะสงครามฮะ ระดับที่ว่ารักษาความปลอดภัยธรรมดา คือด้านท่าพระจันทร์มันจะแตกต่างจากที่ผมเห็นด้านหอ ด้านพิพิธภัณฑ์ อย่างด้านพิพิธภัณฑ์เนี่ยชัดเจนเลยตอนที่ผม เท้าความถึงตอนที่ผมหลบมาอยู่ด้านบริเวณศูนย์ภาษาที่ผมบอกผมมองออกไปเห็นตำรวจยิงเข้ามา เนี่ยเป็นตำรวจแบบหน่วยรบเลยฮะ แล้วยิงเข้าเนี่ยยิงแบบกระจกของศูนย์ภาษา ศูนย์ภาษาอังกฤษของธรรมศาสตร์จะเป็นกระจกหมด แตกหมดเลย ก็ยิงปุ้ง ยิงเปรี้ยง ๆ ๆ เข้ามาเนี่ย คือปืนสั้น ที่อยู่ตรงศูนย์ภาษาเนี่ย ผมลืมบอกไป ที่อยู่ตรงศูนย์ภาษาอังกฤษที่อยู่ตรงท่าพระจันทร์ที่เขายิงเข้ามา เขาใช้ปืนสั้น ยิงเข้ามา เห็นเลย เห็นชัด ถ้าเรามองเรามองเห็น…
อ.ใจ ศูนย์ภาษาอังกฤษอยู่ไหน ช่วยชี้ที่แผนที่หน่อย มีตำรวจยิงปืนสั้นมาจากพิพิธภัณฑ์
คุณกฤษฎางค์ ครับพิพิธภัณฑ์จะอยู่รั้วสีแดงที่ยาวไปตลอด ถึงศูนย์ภาษาก็เป็นรั้ว มีรั้วเลย เยื้องเอ่อ…เพราะฉะนั้นถ้าผมไปอยู่หัวมุมวารสารเนี่ยเขาจะยิงเข้ามา เพื่อไม่ให้คนคลาน ไม่ให้คนสามารถคลานตรงช่วงนี้ได้ ที่ผมเรียนอาจารย์ครั้งแรกว่าผมอยู่ตรงพิพิธภัณฑ์ ผมอยู่ตรงจุดนี้ ผมจะไม่สามารถมองเห็นประตูตรงนี้ได้ แต่ผมจะเห็นเนี่ย เขาเข้าแถวกันอยู่เลย ที่เขายิงเข้ามาเนี่ย แล้วพอผมคลาน ผมมาจากอมธ.ผมก็คลานเข้าไปตรงนี้เพื่อที่จะหนีมาตรงนี้ ปรากฏว่าประตูตรงนี้มันปิด เราก็เลยมาหลบอยู่มุมนี้ เราสามารถมองเห็นเขายิงเข้ามาตลอดเวลา ในขณะที่ทางนี้ก็ยิงเข้ามา ฉะนั้นคนที่อยู่ตรงนี้จะมีโอกาสเสี่ยงมากถ้าวิ่งข้ามมาที่ตึกโดม เพราะตึกโดมเนี่ยมันจะมีประตูเปิดอยู่สองสามห้อง
อ.ชลธิรา หลังจากนั้นเนี่ยยังถูกคุกคามหรือถูกติดตามบ้างหรือเปล่าคะ แล้วดำเนินชีวิตอย่างไรคะ
คุณกฤษฎางค์ ผมไม่ถูกติดตาม เพราะว่า ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาติดตามหรือเปล่า แต่ใช้คำว่า คือผม หลังจากที่เกิดเหตุ 6 ตุลาแล้วเนี่ย พอดีพ่อผมเป็นข้าราชการ รับราชการอยู่ต่างจังหวัด หลังจากนั้นประมาณสองวัน พ่อก็มาพาผมไปที่อยู่ลำปางฮะ ไปอยู่สองเดือน จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเปิด เปิดเรียน ผมก็กลับมาเรียนตามปกติ ก็ไม่ได้เดินทางไกลไปป่าเขากับเพื่อนฝูง เพราะว่า มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ ก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และยังทำกิจกรรม หลังจากเหตุการณ์นั้นอีกสองปี ปีเดียวมั้ง ผมก็สมัคร ก็เป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชุดแรกหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็สมัครรับเลือกตั้ง ก็เป็นนายกฯในช่วงที่เกิดวิกฤต ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่มีการคุกคามนะ เว้นแต่ว่าเขามาคุกคามในฐานะที่เป็นองค์การนักศึกษา เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้ามาค้น มาอะไรอย่างนี้ ในช่วงที่เราเป็น ในช่วงปี 20,21,22 เราก็เจอ แต่โดยส่วนตัวเขาก็ไม่ได้มายุ่งกับผม เพราะเขาคงทราบว่าผมไม่มีอะไร
อ.ใจ ในฐานะทนายความคิดว่าถ้ามีความเป็นธรรมในสังคมไทยตอนนี้เนี่ย อยากเห็นรัฐบาลไทยทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่อง 6 ตุลา ในปัจจุบันนี้
คุณกฤษฎางค์ ตรงนี้ผมมีความเห็นอยู่สองประการ ประการแรก ผมเห็นว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่คณะ เขาเรียกคณะอะไรนะ คณะปฏิวัติ…คณะปฎิรูป คณะปฏิรูปที่เขาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ปราบปรามนิสิตนักศึกษาประชาชนในขณะนั้นเนี่ย มันเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่น่าจะใช้ได้ จริง ๆ พวกนั้นยังมีความผิดอยู่ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว สิ่งที่อยากให้พวกเราเรียกร้อง ซึ่งผมพูดกับพวกเราหลายครั้งว่า รัฐบาลไทยน่าจะขอโทษต่อผู้สูญเสีย อาจจะเป็นผู้ตาย หรือญาติของผู้ตาย ในนามของรัฐบาลไทย แล้วจ่ายเงินชดเชยทดแทนในเหตุการณ์ 6 ตุลานะฮะกับบรรดาผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในเมื่อกฎหมาย ถ้าเกิดรัฐบาลคิดว่ากฎหมายไม่สามารถที่จะยกเลิกเพิกถอนได้ ยังไงก็ตาม เอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้แล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะขอโทษต่อวีรชน 6 ตุลา หรือพ่อแม่ หรือลูกเมียของผู้ที่ตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วจ่ายเงินค่าทดแทนให้กับพวกเขา
อ.ใจ คือ คุณมองว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบตรงนี้คือ รัฐไทย
คุณกฤษฎางค์ คือ รัฐครับ
คุณวันทนีย์ สาสนรักกิจ 22 กันยายน 2543 ม้วน 1/3
อ.ใจ ช่วยแนะนำตัวเองว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ แล้วก็ตอนปี 19 ทำอะไรอยู่
คุณวันทนีย์ ชื่อวันทนีย์ สาสนรักกิจ ปัจจุบันอายุ 44 มีอาชีพเป็นนักบัญชี มีสำนักงานบัญชีส่วนตัว ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์นะคะ มีตำแหน่งหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคพลังธรรมของนักศึกษาสมัยนั้น วันที่เกิดเหตุเนี่ยก็อยู่ในธรรมศาสตร์ด้วย เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องนะคะที่เมื่อกี้คุณกฤษฎางค์เล่านะคะ คือว่า ก็อยู่บนตึกอมธ.ด้วยกัน แต่ว่าก็คงวิ่งขึ้นวิ่งลงเพราะจำไม่ได้ว่าเจอเขาด้วยหรือเปล่า แต่ว่ามีหน้าที่
อ.ใจ ได้ดูละครวันที่ 4 หรือเปล่าครับ
คุณวันทนีย์ วันที่ 4 ก็อยู่ในเหตุการณ์ เพราะว่า ตอนนั้นก็คือว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องการ เป็นวันสอบของนักศึกษาปี 1 เราต้องการให้นักศึกษา 700 คนเนี่ยหยุดสอบนะคะ ชุมนุมนาฏศิลป์และการละครเขาก็จัดละครขึ้นมา แล้วเราพวกนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็มีหน้าที่ที่ไปอยู่ในนั้น ไปช่วยทำเวทีอะไรบ้าง แต่ว่าตัวเองก็มีหน้าที่คอยอยู่สังเกตการณ์ทั่วไป แต่รวมอยู่ในกลุ่มของนักศึกษานะคะ
อ.ชลธิรา ช่วยกรุณาเล่าถึงบทบาทของพลังธรรม แล้วก็การดำเนินงานในฐานะเลขาธิการในช่วงนั้น
คุณวันทนีย์ คือพรรคพลังธรรมเป็นพรรคนักศึกษา ซึ่งสมัยนั้นนักศึกษาก็จะมีการจัดแบ่ง ก็คือว่า มีพรรคของนักศึกษาซึ่งทำงานเกี่ยวกับภายในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาก้าวหน้า แล้วก็สมัครรับเลือกตั้งได้เป็น อมธ. ก็คือเป็นกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็รู้สึกจะปีนั้นมันจะสามพรรคนะ ใช่ไหม เดิมเนี่ยพรรคนักศึกษาธรรมศาสตร์จะมีคู่แข่งกันเนี่ยก็มี พลังธรรม แนวประชา แล้วก็ยูงทอง แต่ช่วงหลังเนี่ย ช่วง 17 เนี่ยยังไม่ได้เข้าไป ตัวเองจริง ๆ เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์สองรุ่นปี คือ 2518 เข้าไปเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีแรก แต่ว่าก็ทำกิจกรรมจนโดนรีไทร์นะฮะ คือไม่ได้เรียนเลย ทำกิจกรรมเป็นหลัก เรียนเป็นรอง แล้วก็ทำจนไทร์ก็ยังไม่รู้ตัว วิชาอาจารย์ชลธิราก็สอบไม่ได้คะแนน เพราะไม่ได้เรียนเลย เลยไม่รู้จะตอบอะไร ตอบกระดาษเปล่าไป ก็เลยได้ศูนย์มา จำได้ เพราะเรียนอาจารย์ปีหนึ่ง ตอนนั้นยังเรียนปีหนึ่งอยู่ ทำจนรีไทร์ ก็กลับเข้ามาใหม่ ไปเอ็นทรานซ์ เอ็นทรานซ์กลับมาติดอีก ติดธรรมศาสตร์อีก ก็เป็นนักศึกษารหัส 199511 ตอนนั้น รุ่น 19 ก็กลับเข้ามาเรียนใหม่ สมัยนั้นก็คือว่านักศึกษามีความคิดก้าวหน้า ตอนแรกก็ขัดแย้งกัน แต่ตอนหลังก็เริ่มมีแนวคิดที่ตรงกัน ก็เลยรวมกันสมัครกรรมการเนี่ยคะ คือตอนนั้นมีสภานักศึกษากับองค์การบริหารนักศึกษาสองส่วน ซึ่งคุณกฤษฎางค์ก็ทำด้านสภา แต่ตัวเองทำพรรค อยู่ในพรรค แต่พรรคก็ส่งคนไปสมัครเป็นตัวแทนสภาแล้วก็ตัวแทนนักศึกษา แล้วก็มาบริหารงานของนักศึกษา บริหารกิจกรรมของนักศึกษาในตอนนั้น ก็ส่วนใหญ่แล้วเนี่ย ทางด้านอมธ.ก็จะมี คุณพิเชียร มีธงชัย มีคุณวัฒนาอะไรพวกนี้ที่เป็นคนของพรรค แต่ไปอยู่ประจำมีตำแหน่งเป็นนายกองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ รองนายกฯ รองนายกฯฝ่ายต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ ส่วนตัวเองก็ทำหน้าที่ดูแลด้านรายงานการประชุม จัดประชุม จัดอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ในพรรค เพราะว่าจะไม่ได้ คล้าย ๆ กับตัวปิด ไม่ใช่ตัวเปิด คือถ้าตัวเปิดก็คือต้องเป็นตัวแทนนักศึกษา
อ.ชลธิรา ในช่วงนั้นแม้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ยังถือว่าเลขาธิการนี่เป็นตัวปิดหรือคะ
คุณวันทนีย์ ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ถ้าไปถามพวกสมาชิกพรรคพลังธรรม คือถ้าใครไม่เข้าร่วมประชุมตอนนั้นก็อาจจะไม่รู้ แล้วจริง ๆ ก็มีเลขาธิการพรรคสองคน รู้สึกจะมีตัวเองเป็นตัวที่หนึ่ง แล้วก็เลขาฯ อีกคนก็คือ สมชาย เกียรติวิทย์ เลือกสองคนช่วยคน เพราะว่าตอนนั้นงานนักศึกษามันเยอะมาก และองค์กรจัดตั้งของพรรคก็จะแบ่งเป็นฝ่ายกรรมกรชาวนา นักศึกษาสถาบันต่าง ๆ คือนักศึกษาเนี่ยก็นักศึกษาในธรรมศาสตร์ ใครก็รับผิดชอบไป สัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นอย่างนั้น แต่ตัวเองจะค่อนข้างรับผิดชอบจะเกี่ยวสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยอื่น เพราะว่าเดิมมาจากศูนย์นักเรียนด้วย ทำกิจกรรมก่อนที่จะเข้าธรรมศาสตร์ ก็อยู่ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยนะคะ หรือ ศนท. แล้วก็
อ.ใจ เรียนอยู่โรงเรียนอะไรครับ
คุณวันทนีย์ ตอนอยู่ ม.ศ. 4, 5 อยู่โรงเรียนบดินทร์เดชา สิงหเสนีย์ ตรงลาดพร้าวค่ะ ม.ศ. 4 เนี่ยจริง ๆ ไม่ได้ร่วมกิจกรรมอะไร แต่พอ ม.ศ. 5 เนี่ยเผอิญในบดินทร์เดชามีรุ่นน้องที่เป็น คือ นันทวัน ขวัญใจ อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อีกหลายคนที่เป็น คือเขาทำกิจกรรมมาก่อนเรา แล้วเขาก็อยู่ศูนย์นักเรียนเป็นรองเลขาฯ บ้าง เป็นอะไรบ้าง ทีนี้มันมีกิจกรรมที่เขาต้องการให้นักเรียนบริจาคอะไรก็จำไม่ได้ แต่ว่าเผอิญว่าเราเป็นนักศึกษาที่สนใจปัญหาบ้านเมือง แต่ว่าตอนนั้นเราไม่มีกลุ่มอะไรต่าง ๆ เผอิญมาเจอสองคนนี้เขาก็มาชวนให้หาอะไรไปบริจาคที่ศูนย์นักเรียน แล้วก็ไปที่ศูนย์นักเรียน แล้วไปศูนย์นักเรียนเราไปเห็นแนวคิดอะไรต่าง ๆ เราก็ตรงใจกับเรา เราก็ร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่นั้นมานะคะ แต่ตอน..
อ.ชลธิรา ยังงี้หมายความว่าความตื่นตัวก้าวหน้า ความสนใจการเมือง เริ่มตั้งแต่เข้าไปร่วมกิจกรรมกับศูนย์นักเรียน ใช่ไหมคะ
คุณวันทนีย์ ค่ะ คือจริง ๆ เดิมตัวเองมีพื้นฐานเป็น ตอนเป็นนักเรียนทำงานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วปี 2516 ที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาเนี่ยนะคะ ก็ตอนนั้นก็สนใจเรื่องชมรมนี้อยู่ ก็ deal กับเพื่อน ๆ ที่เป็นนักเรียนด้วยกัน แล้วก็มาประชุมกับรุ่นพี่จุฬาอะไรอย่างนี้นะคะ แล้วก็เกิดเหตุการณ์เขาใหญ่ เอ๊ย..ไม่ใช่ ที่ทุ่งใหญ่ นั่นแหละคะ เป็นจุดเริ่มต้นให้มาฟังอภิปราย มาฟังอะไร ก็เข้าร่วมกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ด้วยตัวเองนะคะ ตอนนั้นไม่รู้จักกลุ่มไหนอะไรอย่างนี้ ก็คือรู้สึกว่ารับไม่ได้ แล้วก็มีความรู้สึกว่าตอนนั้นเนี่ยบ้านเราปกครองด้วย ระบอบ ถนอม ประภาส ณรงค์ แล้วมันเป็นเผด็จการ รู้สึกประชาชนพูดอะไรไม่ได้ จำได้เลยว่ามารู้จักจุฬาฯ แล้วมาหอประชุมจุฬาฯ เนี่ยมาฟังเรื่องทุ่งใหญ่ ตอนนั้นจัดเนี่ยคนจำนวนมากเลย มันเหมือนกับว่าเราถูกปิดกั้นอะไร แล้วเราประชาชนเพิ่งเริ่มมีสิทธิที่จะพูดอะไรตอนนั้น ตัวเองก็ตามข่าว พอรู้ว่ามีจัดอะไรก็มาฟังเอง ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ไปร่วมเอง โดยชวนพี่ ๆ น้อง ๆ ไปฟัง เพราะตอนนั้นทุกคนก็ไอ้นั่น แต่ว่าวันที่ 14 เนี่ย จริง ๆ แล้วกลับบ้านแล้ว คือ 13 ก็ร่วมเดินขบวนไป เสร็จแล้วก็ไปอยู่ที่หน้าสวนจิตรฯ พอตอนเช้าเขาก็บอกว่า เลิกแล้ว ปล่อยแล้ว แล้วก็ให้กลับบ้าน ทุกคนก็ทยอยกลับ ก็เดินเข้าสวนสัตว์ดุสิต ไม่ได้ไปผ่านทางที่เขาปะทะกัน ก็เข้าสวนสัตว์ดุสิตก็ไม่มีอะไร ก็เข้าไปแล้วก็เดินไปถึงศรีย่านเพื่อนั่งรถกลับเมืองนนท์ บ้านตอนนั้นอยู่เมืองนนท์ ก็กลับไปบ้านก็อาบน้ำอาบท่า ก็เหนื่อย ก็นอน ปรากฏว่าตื่นบ่ายขึ้นมา เปิดโทรทัศน์ อ้าว ทำไมยิงกันแล้วล่ะ เมื่อเช้าเลิกแล้วไม่ใช่เหรอ แล้วก็ชวนพี่ชายออกมา ไม่มีใครออกมาด้วย เขาเหนื่อยกัน เขาก็บอก เราก็โมโหออกมาเลยคนเดียว ออกมา นั่งรถเมล์มาลงที่บางลำภู ตอนนั้นมันปิดแค่ จากนนท์นั่งมาลงบางลำภู แล้วก็เดินเรื่อย ๆ ไปถึงอนุสาวรีย์ ไปหาที่ ตอนนั้นคือ ก็มีจิระนันท์มีอะไรกันที่เขาชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ ตอนนั้นนี่ 14 ตุลานะคะ แล้วก็โดนยิงตรงนั้นน่ะค่ะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามาร่วมนะคะ แล้วพอเข้าบดินทร์ก็มาเจอรุ่นน้องชักชวนมา ตั้งแต่นั้นมาก็มีความรู้สึกอยากทำเกี่ยวกับ อันนี้เล่า background นิดก็คือว่า ให้รู้ว่าเราเริ่มจากเราสนใจการเมือง แล้วเราเห็นปัญหาของประเทศชาติว่า ปกครองโดยระบอบเผด็จการมันไม่ดียังไง เราก็เข้ามาต่อสู้ แล้วก็เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยในช่วงนั้นน่ะค่ะ
ชายคนใต้ ตอนที่เป็นเลขาฯ พรรคพลังธรรม ที่บอกว่าเป็นตัวปิดนี่แปลว่าอะไร
คุณวันทนีย์ ไม่ใช่ พูดกันเล่น ๆ ก็คือ คล้าย ๆ กับว่า คือ ตัวปิด คนทำงานพรรคเนี่ยนักศึกษาไม่รู้จัก เพราะว่าเราไม่ได้แบบว่ามีตำแหน่งทาง… อย่างสมมติคุณกฤษฎางค์เขาก็เป็นอะไร เป็นสส. ถ้าพูดแล้วก็คือสส.ในปัจจุบัน ก็คือว่าสส.ของนักศึกษา มีชื่อติดป้ายติดอะไรไปทั่วมหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เป็นตัวเปิด แต่ว่าถ้าคนทำงานพรรค หรือคนทำงานในกลุ่มกิจกรรมทั้งหลาย จะเป็นตัวปิด คล้าย ๆ กับนักศึกษาทั่วไปจะไม่รู้จัก เพราะเราจะมีหน้าที่คือคอย organize อย่างเช่นจะมีชุมนุมมีอะไร เราไปประชุมกับคนอื่น จะทำอะไร อย่างเช่น จะไปปิดโปสเตอร์ เราต้องการกำลังจ่าย เราก็บอกต้องการกำลังจากชุมนุมนั้นเท่าไหร่ ชุมนุมนี้เท่าไหร่ อะไรอย่างนี้
ชายคนใต้ คือจริง ๆ ก็ทำงานปกติ แต่ไม่ค่อย..(ฟังไม่ออก)ตัวเอง อย่างนั้นใช่ไหม
คุณวันทนีย์ คือ นักศึกษาทั่วไปไม่รู้จักเรา ใช่ค่ะ
ชายคนใต้ อันนี้แปลว่าตัวปิด
คุณวันทนีย์ อย่างนี้เรียกว่าตัวปิด ถ้าตัวเปิดก็อย่าง ส่วนใหญ่นักศึกษาทั่วไปก็จะรู้จัก อย่าง คุณกฤษฎางค์ คุณอนุพงษ์ คุณพิเชียร คุณธงชัย อะไรพวกนี้ เพราะว่าเขามีตำแหน่งรองรับด้วยในแง่ที่เป็นตัวแทนนักศึกษาขึ้นไปบริหาร
ชายคนใต้ แล้วที่ความคิดก้าวหน้าตอนนั้นหมายความว่าอะไร คือความคิดมาร์กซิสต์ สังคมนิยม หรือว่าอะไร
คุณวันทนีย์ คือจริง ๆ มาร์กซิสต์หรืออะไรเนี่ยเราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเรามีจิตใจที่ต้องการทำอะไรเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน อย่างเช่น ตอนที่ 14 ตุลา มันเป็นลักษณะบรรยากาศของเผด็จการ เราต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ที่เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยเนี่ย มันก็ได้มา แล้วในช่วงสามปีนั้นเราก็ทำกิจกรรม พอทำกิจกรรม พอเข้าธรรมศาสตร์เนี่ย ช่วงนั้นคนก็ตื่นตัวทางการเมืองกัน นักศึกษาประชาชน
ชายคนใต้ ตอนนั้นคนที่ให้ความคิดเกี่ยวกับความคิดก้าวหน้าในพรรคพลังธรรมเป็นใครไม่ทราบของนักศึกษา
คุณวันทนีย์ คือตอนนั้นบรรยากาศในสภาพของนักศึกษาก็จะมีพวกพี่ที่มาคอยจัดสัมมนา ก็มี ตอนนี้เป็นพระนะคะ ก็มี พระสุเทพ พี่พิรุณ ฉัตรวณิชย์กุล พี่หมู นี่พี่วุฒิพงษ์ เวลานักศึกษาจะจัดอภิปรายสัมมนาในธรรมศาสตร์นี่แหละ แต่ว่ากลุ่มย่อย ๆ กลุ่มหนึ่งก็ยี่สิบสามสิบคนอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็จะเป็นลักษณะนั้นนะคะ คือที่เมื่อกี้บอกว่าก้าวหน้าก็หมายถึงว่า นักศึกษาเริ่มตื่นตัวเริ่มอะไรจากปัญหารูปธรรม และในช่วง 3 ปีนั้นเนี่ยมันเป็นเหมือนกับว่าเราต้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการตลอดเวลา เขาพยายามจะฟื้นกลับ จาก 14 ตุลามามันเหมือนกับว่าเขาพ่ายแพ้ไป และยอมออกไปชั่วคราว แต่ว่าในตลอดเวลาโดยเฉพาะปี 18, 19 18 ทั้งปีเนี่ยพวกเราก็ถูกทำลาย ถูกฆ่า ถูกเก็บ กันเยอะแยะ
คุณกฤษฎางค์ คือผมเข้าใจคำถามว่า ข้อที่หนึ่ง นักศึกษาตอนนั้นคิดยังไง ข้อที่สอง ในพรรคพลังธรรม ธรรมศาสตร์ขณะนั้นใครเป็นคนที่ชี้นำทางความคิด คือพูดเรื่องจริงก็คืออย่างนี้ คือถ้าพูดเรื่องจริงกันเลยก็คือว่า ในขณะนั้นนักศึกษาก็มีความตื่นตัวทางการเมือง ถ้าคิดว่านักศึกษาโน้มเอียงไปทางไหน ก็คือนักศึกษาเชื่อในสังคมนิยม ผมเข้าใจ สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็คือ พูดจากประสบการณ์ความคิดของผมนะ ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในขบวนการนักศึกษา ค่อนข้างมากด้วย คือผมคิดว่านักศึกษาค่อนข้างเชื่อเรื่องสังคมนิยม มีความโน้มเอียงไปน่ะว่าง่าย ๆ ถ้ามานั่งเลือกกันก็คงเลือกแนวทางทางสังคมนิยม หรือเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่อะไรอย่างนี้ แต่นักศึกษาไม่รู้ลึก ๆ ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่า คือจะหาคนที่ ผมเห็นในขณะนั้นมีคน ผมเป็นคนหนึ่งทำนิทรรศการจีนแดงที่สวนกุหลาบ เกิดมาผมไม่เคยอ่านสารนิพนธ์เหมาเกินสามหน้า แต่มีการพิมพ์ขาย ผมซื้อตั้งหลายเล่มมันสวยดี ผมเชื่อว่านักศึกษาไม่เข้าใจเรื่องที่ว่า ทุกวันนี้ผมยังอ่านไม่ครบเลย คือนักศึกษาค่อนข้างโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม แต่นักศึกษาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แล้วก็ไม่มีวันที่จะสละความรู้สึกของตัวเองไปสู่ขบวนการที่เป็นคอมมิวนิสต์ได้ ไม่มีทาง แล้วไม่มีความรู้สึกที่จะใช้ความรุนแรงด้วย นักศึกษาไทยในขณะนั้นนะครับ พูดจากความรู้สึกผมนะ เพราะว่ามันเคยมีการสัมมนาครั้งหนึ่ง เรื่อง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เมื่อยี่สิบปี 6 ตุลา สี่ห้าปีที่แล้วที่ธรรมศาสตร์ เขามีการวิเคราะห์กันว่านักศึกษาแบ่งเป็น สีเหลือง สีม่วง สีแดง ผมบอกไม่รู้หรอก แต่ผมรู้สึกว่า ผู้คน นักศึกษาคิดอย่างนี้ แต่มันไม่จริงไม่จังนักหรอก ข้อสอง ก็คือ ใครเป็นผู้นำความคิดในพรรคพลังธรรม หรือพูดทั้งขบวนการในธรรมศาสตร์ ผมคิดว่ามันก็มี คนอย่างที่คุณการ์ตูนคุณวันทนีย์เอ่ยชื่อไปเนี่ย ชื่อใครก็ตามแต่ แต่ปี พ.ศ. ที่ผมเข้ามาเรียนหนังสือ คือ ปี 18 มันไม่มีใครฟังใคร เพราะว่าผู้นำก็ไม่ค่อยรู้ ผู้นำนักศึกษาก็ไม่ค่อยรู้ว่าทฤษฎีสังคมนิยมที่แท้จริงมันเป็นยังไง สามโลก สี่โลก ห้าโลก มันเป็นยังไง แล้วไอ้เข้ามามันก็ไม่ได้สนใจ ทำแต่งาน คิดว่าถนอมมากูก็จะต่อต้านถนอม ชาวนามาเราก็เข้าข้างชาวนา ถ้าพูดให้ชัดเจนในพรรคพลังธรรมเวลามีการประชุมสัมมนากัน เวลามีผู้นำทางความคิดขึ้นมาพูดคนก็จะไม่ฟัง สมมติว่ามาวันหนึ่งคุณกฤษฎางค์จะมาวิเคราะห์สถานการณ์ว่าขณะนี้กำลังของฝ่ายปฏิวัติมันกำลังแข็งแกร่ง ฝ่ายศักดินากำลังล้มหายตายจากไป ไม่มีใครฟัง ทุกคนคุยกัน แต่พอบอกไปปิดโปสเตอร์ จะไปต่อต้านถนอม จริง เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องจริง คือถ้าคนรู้จักขบวนการนักศึกษาจริง ๆ ก็จะไม่กลัวหรอก เพราะมันอ่อนแอทางความคิดค่อนข้างมาก เวลาใครทะลุทะลวงตูมเข้าไปปุ๊บ ก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันค่อนข้างเยอะ ใช่ไหม จริง ๆ เพราะมันไม่มีใครเป็นผู้นำใครได้ แต่เนื่องจากมีกระแสแห่งความคิดที่ถูกต้องว่า เราจะต่อสู้เพื่อประชาชนนะ ชาวนาเขาถูกรังแกนะ เอ้า เฮ เราไปกัน คำตอบที่ไม่ได้ถาม ก็คือ ผมอยากจะสรุปว่า เบื้องหลังขบวนการนักศึกษาจะมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบงการอยู่หรือไม่เนี่ย ผมไม่ทราบ แต่ตอบได้ว่าอย่างน้อยผมเองที่เข้ามาทำงานขบวนการนักศึกษาในช่วงตั้งแต่เรียนสวนกุหลาบมาจนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เนี่ย ผมไม่เคยฟังใคร แล้วผมก็ไม่เชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นเนี่ยจะมีอำนาจเหนือเราได้ และผมก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวหลาย ๆ คนที่ผ่านมา ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา หรืออะไรที่ชุมนุมเป็นร้อย ๆ ครั้ง น้อยครั้งนักที่จะมีคนภายนอกมาสั่งให้เราทำได้ แต่โอเคล่ะ อาจมีคนพูดว่าเขากำลังมาหลอกคุณทำให้คุณเชื่ออย่างนั้น พวกคุณก็เลยทำ แต่ว่าจริง ๆ คือนักศึกษาไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมทำ เพราะผมอยากจะทำ
อ.ใจ อยากถามคุณกฤษฎางค์ว่า คิดว่านักศึกษา สิ่งที่นักศึกษาทำในการเคลื่อนไหวในช่วงนั้น และก็สิ่งที่นักศึกษาประกาศออกสู่สาธารณชน ทำให้ขบวนการนักศึกษาห่างเหินจากขบวนการประชาชนไหม หรือว่าประชาชนสนับสนุนนักศึกษาส่วนหนึ่ง
คุณกฤษฎางค์ มีผล ตอบอาจารย์ได้อย่างชัดเจน ณ วันนี้นะฮะ คือมีผลที่ทำให้นักศึกษากับประชาชนห่างเหินกัน เหตุผลก็คือเพราะว่า ในขณะนั้นเนี่ยเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดมันเป็นสิ่งที่ถูก ยกตัวอย่างนะ สมมติเราพูดถึงประเทศจีน เราบอกว่าเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงชนชั้นกรรมมาชีพมามีอำนาจในประเทศไทย แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็ยังฟังสิ่งทีเราพูดไม่เข้าใจ แต่เขามาร่วมกับเราเพราะว่าเราไปร่วมอยู่ในผลประโยชน์ของเขา แต่วันนึง ผมเห็นชัดเลยก็คือว่า วันนึงพอหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คือว่า นักศึกษากับประชาชนห่างเหินกันมาก นักศึกษาหมายความว่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวที่ทำกิจกรรมกับประชาชนหมายความถึงประชาชนทั่วไปในสังคม ค่อนข้างจะไม่เข้าใจกัน ผมยกตัวอย่างที่พูดให้ฟังเราพูดถึงประเทศจีน เขาไม่เข้าใจทำไมต้องปฏิรูป หรือง่าย ๆ ผมกับพ่อผมเนี่ย ซึ่งแกเลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็รักเราเป็นทุนมากกว่าคนอื่น แกกับเราก็ไม่เข้าใจกัน ก็มีการแตกแยกทางความคิดกันค่อนข้างมาก เพราะว่าเรายังไม่สามารถอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมเราถึงมี ทำไมเราถึงต่อต้านอเมริกา ที่เราไปเดินต่อต้านกัน จำได้ไหม คนทั่วไปก็รู้สึกว่าอเมริกาก็ดี
อ.ใจ คุณวันทนีย์มองยังไงเกี่ยวกับคำถามนี้ คิดว่าประชาชนสนับสนุนนักศึกษาไหมฮะ
คุณวันทนีย์ มองอาจจะต่างนิดหนึ่ง คือว่า ในสภาพหลัง 14 ตุลาเนี่ยนะคะ นักศึกษามีบทบาทมาก แล้วก็อย่างธรรมศาสตร์ในช่วงปี 18 ทั้งปีชาวนามาอยู่ในธรรมศาสตร์ตลอดเลย เราต้องหุงข้าวกระทะกันแบบกระทะใหญ่ ๆ กรรมกร คือตอนนั้นเนี่ยตัวเองไม่ได้คิดถึงขั้นชนชั้น หรือรับทฤษฎีมาร์กซิสต์อะไร แต่มันเป็นไปตามกระแสนะคะ แต่ว่า โอเค ด้านความเห็นใจคนทุกข์คนยากเนี่ยตอนนั้น หลัง 14 ตุลามาเราก็รู้ว่าความเดือดร้อนของประชาชนมันผุดขึ้นทุกจุดทั่วประเทศ แล้วก็ชาวนาก็โดน (เทปหมดม้วน)
คุณกฤษณพล ศิริสัมพันธ์
คุณวันทนีย์ สาสนรักกิจ
คุณกฤษฎางค์ นุตจรัส
- กันยายน 2543 ม้วน 2/3
คุณวันทนีย์ (ม้วน 2/3 หน้า A ต่อจาก ม้วน1/3 หน้า B) ซึ่งจริง ๆ เรามาจากชนชั้นกลาง ชนชั้นนายทุนด้วยซ้ำ ที่บ้านเป็นโรงงานก็มีคนงานเยอะแยะนะคะ คือเรามาอยู่ในขบวนการนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ก็คือว่า มีการ นักศึกษาแบ่งออก เมื่อกี้พูดถึงว่าในพรรคพลังธรรมเนี่ยก็แบ่งเป็นฝ่ายชาวนา แบ่งเป็นฝ่ายกรรมกร ใครสนใจงานด้านไหน ก็ไปทำงานด้านนั้น
ชายคนใต้ ตอนนั้นใครจำได้ ใครเป็นคนโปสเตอร์ตัวนี้ สามประสาน มันมายังไงโปสเตอร์ตัวนี้ นักศึกษา ชาวนา กรรมกร พอจะจำได้ไหม
คุณวันทนีย์ คือจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนชูคำขวัญอันนี้ แต่ว่ามันเข้าไปตอนนั้นเนี่ย คือเข้าไปตอนนั้นเนี่ยคือจริง ๆ แล้วชาวนาเขาเดือดร้อน เขามาหวังพึ่งนักศึกษาในแง่ให้เป็นตัวแทน เราก็เป็นตัวแทนที่ว่า คอยต้อนรับให้เขาอยู่ในโรงยิมให้เป็นที่นอน แล้วก็หุงข้าวหลังตึก อมธ. นั่นน่ะ บางคนก็ลงไปชนบทไปทำงานกับชาวนา ไปรับรู้ปัญหา ไปช่วยเหลือ เหมือนกับปัจจุบันนี้ที่ก็ยังมีเพื่อนเราบางคนเนี่ยยังทำงานสมัชชาคนจน ก็ลักษณะเดียวกัน ตอนนั้นเราทำในฐานะของนักศึกษา บทบาทของนักศึกษา ส่วนกรรมกรนี่ก็คือตอนนั้นมีปัญหาเหมือนปัจจุบัน ที่ว่ากรรมกรถูกกดค่าแรง ถูกอะไรต่าง ๆ เดือดร้อนก็มาขอกำลังช่วย บางคนก็ไปทำงานแบบอยู่กินนอนอยู่ในโรงงานเลย ตัวเองเนี่ยบทบาทคือจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย คอยจัดประชุม จัดอะไรอย่างนี้น่ะค่ะจะเป็นลักษณะอย่างนี้มากกว่า ซึ่งไม่มีบทบาทเด่นอะไรต่าง ๆ ทีนี้จะต่อถึงวันที่ 6 ตุลานะคะ วันที่ 6 ตุลาก็คือ
อ.ใจ เดี๋ยวก่อนนะฮะขอย้อนกลับไปวันที่ 4 ที่เล่นละคร เห็นการเล่นละครไหมฮะ
คุณวันทนีย์ เห็นค่ะ
อ.ใจ รู้จักคุณอภินันท์ไหมฮะ ตอนนั้นรู้จักไหมฮะ
คุณวันทนีย์ รู้จักค่ะ คือตอนนั้นก็ไม่สนิทนะคะ แต่รู้ว่าเขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยกัน เขาเข้าธรรมศาสตร์ 18 ด้วยกัน แล้วก็เห็น คือรู้ว่าเขาจะแสดงละคร แล้วก็ต้องเอาคนตัวเล็ก ๆ ไปแสดง
อ.ใจ แล้วเห็นเขาเล่นละครไหมฮะ
คุณวันทนีย์ เห็นค่ะ
อ.ใจ แล้วใบหน้าเขามีอะไรผิดปกติไหมฮะ
คุณวันทนีย์ คือใบหน้าเขาเนี่ยนะคะ ก็เหมือนกับ ไม่แน่ใจว่าแต่งหรือไม่แต่ง แต่เผอิญอันนี้ได้ฟังเทปเลยไม่รู้ข้อมูลจะถูกต้องหรือเปล่า แต่ฟังเทปที่อาจารย์วิโรจน์พูดเมื่อยี่สิบปี 6 ตุลาเนี่ยว่า ก็คิดนึกกันตอนนั้น แล้วมีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า ถ้าเอาหุ่นมันไม่ดึงดูดนักศึกษา ต้องเอาคนจริง ๆ ทีนี้คนจริง ๆ ก็คือต้องเอาตัวเล็ก ๆ แล้วก็ ก็มีอาจารย์วิโรจน์ยืนพื้น เขาก็ลองกัน ลองเสร็จแล้วไม่ไหว แกเจ็บ ก็บอกว่าต้องมีคนคอยเปลี่ยน พอดีอภินันท์เดินเข้ามา ก็เลยโดนเรียก
อ.ใจ พอรู้จักใบหน้าอภินันท์ไหมฮะ
คุณวันทนีย์ รู้จักค่ะ
อ.ใจ และถ้าดู 3 รูปภาพนี้เนี่ย คิดว่าเป็นรูปภาพของอภินันท์ไหมฮะ
คุณวันทนีย์ เออ…รูปนี้ใช่นะคะ
อ.ใจ นี่รูปถ่ายจากคดี รูปที่สองนี่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ คิดว่าใช่ ใช่ไหมฮะ
คุณวันทนีย์ ค่ะ
อ.ใจ แล้วรูปนี้ รูปนี้รูปที่สาม หนังสือพิมพ์ดาวสยาม
คุณวันทนีย์ คือรูปนี้เห็นเมื่อเย็นวันที่ 5 เราก็คุยกันแล้วว่ามันมีการแต่งฟิล์ม เพราะว่าวันที่แสดงละครเนี่ย ดูยังไงก็ไม่ใช่ว่าเป็นหน้าองค์รัชทายาท แต่ว่าวันนั้นพอฟิล์มออกมาเนี่ย เราก็รู้แล้วว่าเป็นแผนที่เขาจะเล่นงานเรา แต่ว่ารูปนี้ดูแล้วมันมีเค้าหน้าเขา แต่ว่ามันมีการจงใจที่เหมือนจะแต่งให้ออกมา แล้วก็ตามข้อความข้างล่างที่เขาเขียน แต่เจตนาของนักศึกษาวันนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย
อ.ใจ โอเค เชิญเล่าต่อถึงคืนวันที่ 5
คุณวันทนีย์ ก็ คือตัวเองก็อยู่ในธรรมศาสตร์ตลอด ตั้งแต่คืนวันที่ 4, 5, 6 ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ก็นอนกินอยู่ใน อมธ. น่ะค่ะ ทีนี้วันที่ 5 ต่อจากคุณกฤษฎางค์ที่เมื่อกี้ว่า จารุพงษ์ ทองสิน ตอนประมาณตีห้ากว่า เขาเข้ามาบอกเราแล้วว่า พวกเราถูกยิงเยอะ เสียชีวิตกันเยอะนะคะ
อ.ใจ ตอนนี้กี่โมงนะฮะ
คุณวันทนีย์ ประมาณเช้ามืด ตีห้าค่ะ คือหลังจากระเบิดลูกแรกลงที่สนามฟุตบอล ที่เมื่อกี้พูดถึงโกศล พูดถึงแสงจันทร์ สองคนนี้เขาโดนกลุ่มแรกเลย พอตูมแรกเขาก็บาดเจ็บ แต่ว่าตัวเองไม่ได้ลงไปอยู่ในนั้นหรอก อยู่ในอมธ. เพราะว่าได้รับมอบหมายว่าให้ประจำ คอยรับคำสั่งว่ามีอะไร ซึ่งอยู่กับพวกกลุ่มม่วงเหลืองบางคนที่เหลืออยู่
อ.ใจ ตอนที่คุณจารุพงษ์มาบอกปุ๊บ ว่ามีคนถูกยิงแล้ว ก่อนหน้านั้นคุณเห็นใครยิงปืนอะไรไหมฮะ
คุณวันทนีย์ ไม่เห็นเพราะว่าตัวเองอยู่ในอมธ. ซึ่งถ้าอยู่ในจุดอมธ.แล้วจะมองไม่เห็นประตูใหญ่ ไม่เห็นหอใหญ่นะคะ แต่ส่วนใหญ่จะได้รับทราบข่าวจากการที่ทางด้านหน้าเนี่ย คือ ด้านหน้านั้นก็เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็จะมาแจ้งข่าว
อ.ใจ เป็นเพื่อนสนิทกับคุณจารุพงษ์หรือเปล่าฮะ
คุณวันทนีย์ เป็นเพื่อนที่ทำกิจกรรมด้วยกัน แต่ว่าเขาอยู่คนละพรรค เขาอยู่ยูงทอง พรรคยูงทอง นี่อยู่พลังธรรม แล้วจารุพงษ์มีตำแหน่งเป็นรองนายกอมธ.ฝ่ายกิจการนักศึกษา แต่ว่าเราร่วมต่อสู้ด้วยกันตลอด ทีนี้ตอนจารุพงษ์มาเนี่ย ตอนนั้นเขาค่อนข้างเคียดแค้นมาก เห็นเพื่อนตายต่อหน้านะคะ แล้วเขาก็วิ่งมาบอกว่าให้พวกเราเนี่ยถอยออกจาก อมธ.
อ.ใจ ในคืนวันนั้น จารุพงษ์ทำหน้าที่อะไร
คุณวันทนีย์ หน่วยรักษาความปลอดภัย
อ.ใจ มีปืนไหมฮะ
คุณวันทนีย์ ตัวจารุพงษ์ตอนนั้นมีหรือไม่มีเนี่ยไม่แน่ใจ แต่คิดว่าเขาน่าจะมี เพราะว่า คือตอนนั้นขบวนการนักศึกษาก็ถูกคุกคามชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกนักศึกษาระดับนำจะมีปืนกันทั้งนั้น แต่จะเป็นปืนพกเล็ก ๆ คือปืนป้องกันตัวนะคะ แต่ว่าเอาไว้ใช้ป้องกันตัว แต่ว่าไม่ได้เอาไปยิงสู้กับ
อ.ใจ คิดว่าในคืนวันที่ 5 ในธรรมศาสตร์เนี่ย ฝ่ายนักศึกษามีปืนประมาณกี่กระบอกฮะ สิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ หรือมากกว่านั้น
คุณวันทนีย์ ที่ตัวเองเห็นจริง ๆ นะคะ มีประมาณสี่ห้ากระบอกที่ตึกวารสาร คือหลังจากที่พอจารุพงษ์บอกแล้วนะคะ แล้วเมื่อกี้ที่คุณกฤษฎางค์เล่าว่าคุณพรหมมินทร์นอนโทรศัพท์อะไรยังงี้ ตอนนั้นพอโทรศัพท์ถูกตัด เรารู้แล้วว่า แล้วก็จารุพงษ์มาเตือน พวกเราก็ต้องถอย ก็ปิดประตูอมธ.เรียกว่าเป็นกลุ่มสุดท้าย เสร็จแล้วพอถอยเนี่ย คืออมธ. มันจะติดกับตึกวารสาร เราก็ถอยมาได้แค่ตึกวารสาร ก็เห็นคนจำนวนมากอยู่ในตึกนั้น แล้วตัวเองก็เข้าไปในตึกนั้น ไม่ได้วิ่งตามออกไปที่ตึกโดมหรือตึกไหน ก็โดนจับอยู่ในตึกวารสารนะคะ แต่จุดที่เข้าไป ก็คือนักศึกษาเนี่ยเต็มทุกชั้น รู้สึกจะสี่ชั้น มีนักศึกษาอยู่เต็มหมด แล้วก็เจอพวกหน่วยรักษาความปลอดภัย คือมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่อาชีวะชื่อ พรสรวง เขาก็เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย เขามีปืนสั้น พี่โป๊ะ วัชรพันธ์ แกก็มีปืน ซึ่งตอนนั้นคือพวกนี้เนี่ยเป็นหน่วยที่ถอยมาจากด้านหอประชุมใหญ่ ก็ไปเตือนแกว่า พี่ต้องทิ้งปืน คือตอนนั้นรู้แล้วว่ายังไงเราถูกจับแน่ แต่ถูกจับในสภาพที่เราเป็นนักศึกษาตัวเปล่า ๆ ดีกว่าถูกจับในสภาพที่มีปืนนะคะ แล้วเขายิงเนี่ย ยิงตึก อย่างที่บอกนะคะ ยิง ๆ ๆ เขามาตลอด เรียกว่าผงปูนเนี่ยอยู่ในหัวเต็มเลย อยู่ในตัวเต็มเลย คือ ก็เลยบอกพี่ บอกว่า พี่โป๊ะกับสรวงเนี่ยต้องทิ้งปืนนะ ต้องคุยอยู่หลายรอบ เพราะว่าตอนนั้นมันก็เหมือนกับว่าไม่รู้จะทำยังไง คุยจนเขายอม ยอมทิ้งปืน ก็วิ่งขึ้นวิ่งลงระหว่างชั้นสองชั้นสามชั้นสี่ แล้วก็บอกพี่เขาว่า พวกหน่วยรักษาความปลอดภัยคนอื่นเราไม่รู้จักนะคะ แต่ว่าก็คงมีอยู่ในตึกนั้นด้วย ก็บอกพี่เขาว่า ให้บอกทุกคนนะให้ทิ้งปืน ก็ตะโกนอย่างนี้ตลอดนะคะ ก็เขาก็ไปทิ้งโถส้วม ก็โอเค เราก็ลงมาชั้นสอง ก็มาเจอนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งเสียขวัญมาก ตะโกนร้อง คือเขายิงใส่ตึกตลอดเวลา เรียกว่ากระสุนเนี่ยคงยิงเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ นัด เพราะว่ายิงไม่หยุดเลย ตลอดหลายชั่วโมง ตั้งแต่ตีห้ากว่าที่เขาเริ่มบุกเนี่ย จนมาถึง รู้สึกว่าเสียงปืนสงบ เมื่อเขามายึดได้ทั้งหมดเนี่ยก็ประมาณเก้าโมง แต่เขาเข้าแล้วเนี่ย เขาก็ยิงตามตึกต่าง ๆ นะคะ หมายถึงว่า อย่างที่บอก เขาเข้ามาทีละคืบ ทีละคืบ จนเขามั่นใจว่านักศึกษาไม่มีทางปะทะอะไรเขาได้แล้วเนี่ย เขาก็ยังยิง ยิงไม่หยุด
อ.ใจ คุณวันทนีย์เห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐครั้งแรกเมื่อไหร่ ประมาณกี่โมง
คุณวันทนีย์ ประมาณเก้าโมงกว่าค่ะ สายแล้ว
อ.ใจ อันนี้คือครั้งแรกที่คุณวันทนีย์เห็นเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบ
คุณวันทนีย์ ใช่ค่ะ คือเขามาจับพวกเราแล้ว
อ.ใจ ตอนที่เข้ามาจับ
คุณวันทนีย์ ค่ะ เห็นคนที่มาจับ
อ.ใจ ไอ้ที่พูดถึงการที่ยิงปืน ระดมยิง ไม่เห็นว่าใครยิงใช่ไหมครับ
คุณวันทนีย์ ค่ะไม่เห็น เพราะว่าอยู่แต่ในอมธ.ไม่ได้ออกไปข้างนอกค่ะ
อ.ใจ เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาจับคุณวันทนีย์แต่งชุดอะไรฮะ
คุณวันทนีย์ คือ มันมีใส่หมวกแบเร่ต์ ใส่ชุดสีน้ำเงินก็มีนะคะ เป็นสีกากีก็มี แต่พวกนี้ถือปืนคาไบน์ ถือปืนอาวุธสงคราม แล้วพวกนี้เข้ามาเนี่ย มีหลายแบบ มีใส่สีกากีก็มี พอเข้ามาแล้ว
อ.ใจ มีใส่ชุดสีกากีกับชุดสีน้ำเงิน
คุณวันทนีย์ ค่ะ ก็มาบังคับให้พวกเราถอดรองเท้า ผู้ชายถอดเสื้อ ก็ด่าด้วยคำหยาบคาย ด่าสาดเสียเทเสียเลย แล้วก็ให้เราคลาน คลานลงบันไดมาจากชั้นสอง คือทุกคนต้องคลานหมด เขาไม่ให้เดิน
อ.ใจ เดี๋ยวขอย้อนกลับไปเรื่องรายละเอียดของหน่วยงานของรัฐหน่อยนะฮะ เห็นชุดสีน้ำเงิน เห็นชุดสีกากี เห็นหมวกอะไรบ้างฮะ
คุณวันทนีย์ ก็หมวกแบเร่ต์นี้ก็มี
อ.ใจ สีอะไรฮะ
คุณวันทนีย์ สีน้ำเงินค่ะ แล้วก็หมวกทหารก็มี
อ.ใจ หมวกทหารหมายความว่าไงฮะ
คุณวันทนีย์ คือ ไม่ใช่หมวกทหารค่ะ คือ หมวกแบบ
อ.ใจ หมวกแข็ง หมวกเหล็ก
คุณวันทนีย์ ค่ะ หมวกเหล็กค่ะ
อ.ใจ ถือปืนอะไรฮะ
คุณวันทนีย์ ถือปืนคาไบน์ค่ะ
อ.ใจ รู้ได้ยังไงว่าเป็นคาไบน์
คุณวันทนีย์ มารู้ตอนเข้าป่าค่ะ เมื่อก่อนไม่รู้ แต่รู้ว่าเป็นปืนยาว แล้วไอ้ปืนยังงี้ปืนคาไบน์ค่ะ รู้ที่หลัง ตอนหลังก็ถือ
อ.ใจ ในขณะที่เจ้าหน้าที่จับกุมนักศึกษา เมื่อกี้บอกว่ามีการด่ามีการอะไร
คุณวันทนีย์ ค่ะ ด่าด้วยคำหยาบคาย
อ.ใจ มีการทำร้ายนักศึกษาไหมฮะ
คุณวันทนีย์ มีค่ะ
อ.ใจ เห็นกับตา
คุณวันทนีย์ เห็นกับตา คือ เขาไม่พอใจใครเขาก็เตะเสยขึ้นมาเลย บางคนคลาน ๆ อยู่นี่หงายมาเลยนะคะ แล้วก็ใช้พานท้ายปืนกระแทกเข้าไปที่หลังที่ตัว แล้วแต่อยากจะเตะตรงไหนก็เตะ จะตีตรงไหนก็ตี มีเด็กศูนย์นักเรียนคนหนึ่งชื่อรัตน์นะคะ โดนพานท้ายปืนกระแทกจนตรงเนี่ย สายตาสั้นทันทีเลย โดนจับด้วย พอออกมาก็ต้องตัดแว่น จากเดิม ทนไม่ได้ คือโดนกระแทกอย่างแรกตรงนี้นะคะ แล้วผู้หญิงเนี่ยเขาไม่ตี คือพวกนี้ยังมีความคิดที่ โอเค ไม่ทำร้ายผู้หญิง เพราะว่าจะโดนตราหน้าว่า เป็นคนทำร้ายผู้หญิง หรือหน้าตัวเมียอะไรพวกนี้นะคะ แต่เขาด่าด้วยคำหยาบคายว่า ทำไมมาอย่างนี้ มาขายตัวหรือเปล่า หรือมาอะไรอย่างนี้ หรือด่าด้วย สัตว์ คือนึกอยากจะด่าอะไรก็ด่า แล้วทำไมมา เป็นผู้หญิงไม่รู้จักอยู่บ้าน อะไรอย่างนี้ คือทำนองนี้ โดน เขาก็ให้คลานจากตึกวารสารเนี่ยนะคะไปตรงโรงยิม คือหลังตึก อมธ. หลังตึกวารสารเป็นโรงยิม ก็ให้พวกเราไปนอนหมอบอยู่ตรงนั้น แล้วก็นอนอยู่นาน คือทุกอย่างให้นอน แล้วก็เอามือประสานมือตรงศีรษะ ไม่ให้เงยหน้า ไม่ให้อะไร ให้นอนนิ่ง ๆ อยู่ตรงนั้น เสร็จแล้วก็มีการเคลื่อนย้าย ตอนที่จะพาพวกเราไปบางเขนก็ให้ไปรวมตัวกันตรงริมถนน
อ.ใจ ไอ้ตอนที่ถูกจับเขาทำอะไรที่นอกเหนือจากด่า นอกเหนือจากทุบตีไหมฮะ
คุณวันทนีย์ ไม่มีค่ะ คือตอนจะขึ้นรถ ตอนที่โดนจับครั้งแรกก็โดนไปรอบนึง พอขึ้นรถ เขาเอารถเมล์มารับพวกเรา ก็โดนด่า โดนต่อย โดนตี แต่ผู้หญิงเขาไม่ทำ
อ.ใจ ตอนนี้มีทรัพย์สินส่วนตัวครบ
คุณวันทนีย์ ก็คือตอนนั้นพอโดนจับใช่ไหมคะ เราก็บอกต่อ ๆ กันว่า ใครมีนาฬิกาก็เก็บ เก็บใส่กระเป๋ากางเกง คือไม่ติดที่มือ มีสร้อยมีอะไรก็เอาออก
อ.ใจ ทำไมล่ะ
ชายคนใต้ แล้วไม่ถอดเสื้อ ผู้หญิงไม่ถอดเสื้อ
คุณวันทนีย์ คือทางตึกวารสารไม่โดน แต่ตึกบัญชีโดน
อ.ใจ ทำไมถึงต้องถอดสร้อย ถอด
คุณวันทนีย์ ถอดเพราะว่าเขาสั่งเลยค่ะ
อ.ใจ อ๋อ…ตำรวจ
คุณวันทนีย์ ตำรวจค่ะ บอกเลย ไอ้คนนี้เอาสร้อยมา เอานาฬิกามา อะไรอย่างนี้ เราก็เห็นมันดังมาตั้งแต่ตอนนั้น เราก็รีบ ๆ เก็บกัน แล้วก็กระซิบ ๆ
อ.ใจ เอามาทำอะไรฮะ
คุณวันทนีย์ เอาไปซิคะ คือ เอามานี่หมายถึงว่า คือ เจ้าหน้าที่สั่งว่าให้เอาไปให้เขา
อ.ใจ เจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบสั่งว่าให้เอาสายสร้อยให้
คุณวันทนีย์ ให้ เอานาฬิกาไป คือ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็มีติดตัวแค่นาฬิกา หรือแหวน หรือสร้อย แค่นั้นน่ะค่ะ แล้วก็ผู้ชายให้ถอดเสื้อ ผู้หญิงไม่ได้ให้ถอด แต่ให้ถอดรองเท้า ไม่ให้ใส่รองเท้าสักคนนะคะ ตัวเองก็เลย ไอ้ตรงตึกวารสารมันเป็นกระจกโดนยิงใช่ไหมคะ พื้นมันก็มีเศษแก้ว ก็ได้เลยแก้วฝังอยู่ในขา ขาซ้ายมาตลอดค่ะ
อ.สุธาชัย คือจะถามว่า ได้เห็นคนที่เสียชีวิตบ้างไหมฮะ ได้เห็นศพคนตายไหม
คุณวันทนีย์ คือตอนที่เห็นกับตา เหมือนที่คุณกฤษฎางค์เล่าว่าคนคลานข้างหน้าโดนยิง ไม่เห็น แต่เห็นศพ แล้วก็จำได้ว่าเป็น แจ๊ค เป็นรุ่นพี่ รุ่น 17
อ.สุธาชัย เห็นศพ หลายศพมั้ยครับที่เห็น
คุณวันทนีย์ เยอะเลยค่ะ นอนเรียงกันเป็นสิบกว่าศพได้ ตรงไอ้ตึกโรงยิมน่ะค่ะหลังอมธ. เพราะเขาให้เราคลานจากวารสารไปใช่ไหมคะ แล้วก็ไปข้าง ๆ อมธ. และจากข้าง ๆ อมธ.เนี่ยข้างหลังคือโรงยิม ก็เห็นมีศพนอนเรียงกันเป็นสิบ เป็นพรืดเลย ทีนี้เผอิญคลานไปเนี่ยเจอคนรู้จักคนหนึ่งคือ แจ๊ค พี่แจ๊คเนี่ย อนุวัตร อ่างแก้ว
อ.สุธาชัย ถูกกองอยู่ตรงนั้นแล้ว
คุณวันทนีย์ ใช่ เสียชีวิตแล้ว แต่เผอิญเขานอนหงาย บางศพก็นอนคว่ำ เผอิญเราเห็นหน้าเขาเราจำได้ เราแบบ อุ๊ยในใจแจ๊คเสียแล้วเหรอ อะไรอย่างนี้ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจารุพงษ์เสียนะคะ
อ.ใจ ตอนนั้นแจ๊คเขาทำหน้าที่อะไร
คุณวันทนีย์ แจ๊คเขาก็เป็นนักศึกษาชุมนุมวรรณศิลป์
อ.ใจ ไม่ได้รักษาความปลอดภัย
คุณวันทนีย์ ค่ะ ก็คือคงไม่ได้รักษา เผอิญเมื่อไม่กี่วันนี้นะคะได้เจอกับคนที่ได้อยู่กับแจ๊ค แล้วเล่าสาเหตุว่าทำไมแจ๊คถึงโดนยิง โดนยิงบริเวณท้อง คือเขา แจ๊คเนี่ยเขาอยู่ตึกบัญชี แล้วเขาหลบเข้าไปได้กับเพื่อนคนนี้นะคะ ซึ่งอยู่ชุมนุมวรรณศิลป์ด้วยกัน ทีนี้เขาก็ต้องการให้คนที่อยู่ข้างนอกตึกที่จะเข้ามา ทีนี้ห้องมันปิดประตู เขาก็นอนถีบอยู่นานแล้วล่ะประตูมันก็ไม่เปิดออก เขาก็เลยบอกว่า คือคนที่เล่าเขาก็บอกว่า มันถีบมันไม่ได้ผล แจ๊คเขาเลยบอกว่า เอ้า เขาถีบเอง เขาเอง เขาเอง เขาก็ยืนขึ้นมาโดนยิงบริเวณท้อง ก็เลยเสีย แล้วก็
ชายคนใต้ คิดว่าศพที่อยู่ที่โรงยิมนั้นคือมีคนเอาไปตั้งใช่ไหม
คุณวันทนีย์ ใช่ค่ะ มันเป็นการเคลื่อนย้าย
ชายคนใต้ มีคนฆ่าแล้วก็เอาไปกอง ๆ ไว้
คุณวันทนีย์ ใช่ค่ะ ไม่ใช่ศพแบบเพิ่งนอนเสียนะคะ เหมือนกับว่าเอามาเรียง ๆ กัน ซึ่งตอนนั้นเรากว่าจะออกมาจากตึกอมธ.ก็เรียกว่าสายมากแล้ว สว่างจ้าแล้วอะไรอย่างนี้ แล้วก็ให้เรานอนตั้งนานแบบเป็นชั่วโมง ๆ กว่ารถจะมารับพวกเราไปที่บางเขน พอไปถึงบางเขนเราก็โดนตำรวจด่าอีก ที่นั่นเอาอีกแล้ว หมายถึงต่อยเข้ามาในรถบ้าน เอาพานท้ายปืนบ้าง ไอ้ตำรวจก็ยืนรอบรถก็ด่าพวกเราขึ้นมาในรถ ก็เจออีกรอบหนึ่งก่อนเข้าห้องขังน่ะค่ะ
อ.ใจ ที่บางเขนนี่เขาเตรียมรับนักโทษไหมครับ
คุณวันทนีย์ คือที่บางเขนเนี่ย นักศึกษาโดนจับไปเยอะเหมือนกัน จำไม่ได้ว่า แต่คิดว่าเป็นพันคนนะ เพราะว่าไปเจอเพื่อน ๆ ที่เป็นนักศึกษาทั้งธรรมศาสตร์ ทั้งจุฬาฯ ทั้งราม ทั้งศูนย์นักเรียน อะไรอยู่ในนั้น โดนจับเข้าไปรวมกันหมดอยู่ในนั้น
อ.สุธาชัย เอ่อ..เมื่อกี้ตูนบอกว่าถูกจับที่ตึกวารสาร เพราะว่าคราวนี้เราได้ทราบมาว่า คนที่อยู่ที่ตึกวารสารจริง ๆ มีการได้พยายามลำเลียงคนออกไปทางด้านตึกโดม ทำไมไม่ได้ไปกับเขา หรือยังไงครับ
คุณวันทนีย์ ก็คือตอนนั้นมีความรู้สึกว่า เดี๋ยวมันคง คือนึกไม่ถึงว่าจะเข้ามายิง หรือข้างหน้าเสียชีวิตอะไร ไม่ได้ ตอนนั้นไม่ได้รับรู้แล้วว่ามันโหดร้ายอะไรกันข้างนอก แต่ว่าเราก็มีความคิดว่า ถ้าหนีต่อไปเนี่ย มันคง คือ คงไปไม่รอดน่ะ เราก็อยู่กับที่ เพราะว่าเห็นนักศึกษาหลายร้อยคนอยู่ในวารสารน่ะ เยอะเลยตั้งแต่ชั้นสองยันชั้นสี่ อัดกันอยู่ ชั้นละหลายสิบคน แล้วก็คิดว่าอยู่กลุ่มใหญ่เนี่ยมันไม่ทำอะไรเรา คิดว่ายังงั้น
อ.สุธาชัย แล้วมีคนตกค้างอยู่เยอะไหมฮะ ตอนที่ถูก ขณะถูกจับเนี่ย
คุณวันทนีย์ เยอะค่ะ
อ.สุธาชัย ตอนนั้นตูนถูกจับอยู่ชั้นไหนฮะ
คุณวันทนีย์ คือ ตอนที่ตำรวจยังไม่เข้ามาถึงตัวตึกก็จะวิ่งขึ้นชั้นสองชั้นสามชั้นสี่ตลอด วิ่งขึ้นวิ่งลง เพื่ออย่างที่เมื่อกี้นี้บอกว่า พวกเราก็ไม่ แล้วก็คอยดูไอ้นั่น แต่เสร็จแล้วก็ตอนหลังก็มาโดนจับตรงชั้นสอง
อ.สุธาชัย ถูกชั้นสอง เพราะว่าเท่าที่สัมภาษณ์มาแล้ว มีหลายกลุ่มบอกว่าได้มีการบอกให้นักศึกษาจากวารสารออกไปข้างหลังให้หมด ออกไปด้านหลัง
คุณวันทนีย์ ออกไปด้านหลัง เพื่อจะเคลียร์ออกไป
อ.สุธาชัย คือหมายถึงว่า
คุณวันทนีย์ หมายถึงพวกเรากันเองใช่ไหมค่ะ
อ.สุธาชัย ใช่ฮะ
คุณวันทนีย์ คือมันมีค่ะ มีคนบอกว่าไปตึกโดม คือกระแสข่าวมันว่าบางคนโดนยิง ระหว่างทางที่จะไป ระหว่างวารสารไปโดมเนี่ย โดนยิงไงค่ะ เราก็เลยบอกกันว่า ก็คือตอนนั้นก็เหลือกันที่เป็นแกนนำนักศึกษาก็คุยกันว่า อย่าหนีเลย เพราะหนีเนี่ย ถ้าออกไปเราไม่รู้ว่าจะโดนยิงแค่ไหน ยังไง ก็เลยบอกว่าให้อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ กัน คือถ้าเขามาเคลียร์เนี่ยเขาคงไม่ยิงเราทั้งหมด ตายพร้อมกันก็คิดยังงั้น แต่ถ้าวิ่งไปที่ละคนสองคน ก็เพราะว่ามันมีกระแสว่าพอวิ่งออกไปปุ๊บโดนยิง วิ่งออกไปโดนยิงไงค่ะ แล้วมันก็มีคนตาย คนนั้นโดนยิงตายไปแล้วคนนี้โดนยิงตายไปแล้ว เราก็เลยบอกว่ายังงั้นไม่ต้องหนีแล้ว อยู่กับที่
อ.ใจ ตอนที่ถูกจับนี่เห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐติดป้ายกำกับว่ามาจากหน่วยไหนบ้างไหมฮะ
คุณวันทนีย์ คือ คงเห็นไม่ชัด เพราะว่าเราไม่สามารถมองอะไรได้เลย เขาให้เราก้มหน้านะคะ แล้วถ้าใครเงยหัวขึ้นมาก็โดนปืนตีหัว หรือถ้าใครไม่เชื่อฟังก็โดนเหยียบบนหลัง กระทืบบนหลัง คือถึงแม้เราทำตาม ไม่พอใจเขายังทำเลย ไม่มีใครกล้าที่จะไปมองหน้าเขาว่าเป็นใครยังไง
อ.ชลธิรา หลังจากผ่านเหตุการณ์ไปแล้วนะคะ เคยมีการรวบรวมไหมคะว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์เนี่ยตายกี่คน มีรายชื่อไหมคะ
คุณวันทนีย์ คือธรรมศาสตร์เท่าที่รู้นะคะมีสามคน คือมี จารุพงษ์ ทองสิน อนุวัตร อ่างแก้ว แล้วก็ภาวดี
อ.ชลธิรา ภาวดีนี่ผู้หญิง
คุณวันทนีย์ ผู้หญิงค่ะ เป็นนักศึกษากลุ่มผู้หญิง
อ.ชลธิรา ตายในลักษณะไหน นี่ชัดเจนไหมคะ
คุณวันทนีย์ คือ ไม่ทราบ แต่เขาบอกว่าเหมือนกับโดนยิงค่ะ โดนยิง แต่ว่าตรงจุดไหนยังไง เผอิญไม่ได้เป็นเพื่อนสนิทกับเขา ก็เลยไม่รู้ว่าจุดที่เขาเสียนี้ตรงไหน แต่ในวันนั้นเห็นอยู่สองคนแน่ ๆ แต่ในธรรมศาสตร์เองเราก็ไม่ได้รวบรวม แต่คิดว่าคงไม่มีใครเสีย ยกเว้นว่า คือคงไม่มีใครเสียนอกเหนือจากนี้ คือส่วนใหญ่แล้วธรรมศาสตร์เองไม่ได้อยู่หน่วยรักษาความปลอดภัยเยอะ แต่ว่าคนที่อยู่ พวกโดมทักษิณ หรือพวกอีสาน เราก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าคงไม่น่าใช่ เพราะว่าหลังจากนั้นแล้วก็มีการมาเจอพบปะสังสรรค์ก็ไม่ได้พูดถึงนอกเหนือจากสามคนนี้ที่เสีย
อ.ใจ ขอให้คุณกฤษณพลช่วยเล่าบ้าง เล่าเหตุการณ์บ้าง ถ้าคิดอะไรออกเดี๋ยวค่อยเสริมนะ
คุณกฤษณพล ผมชื่อกฤษณพล ศิริสัมพันธ์ ปัจจุบันอายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102/53 ชลลดา บางบัวทอง นนทบุรี ปัจจุบันทำงานบริษัท เป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดบริษัทกิฟท์แลนด์และแฟนซีอาร์ต ผมจะเล่าให้ฟังในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องในสมัยที่เป็นนักศึกษารามคำแหงปี 2518 เริ่มตั้งแต่กระผมอยู่ในศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ประมาณปี 2516 นะครับ ก็ได้ทำกิจกรรมทางด้านประชาธิปไตยในโรงเรียน เผยแพร่ประชาธิปไตยในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วก็รับบริจาคหนังสือเพื่อนำไปให้นักเรียนในต่างจังหวัดนะครับ ตั้งแต่ปี 2516เป็นต้นมา จนถึงปี 2518 ก็ไปอยู่ที่รามคำแหง ก็ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคสัจธรรม ซึ่งในขณะนั้นพรรคสัจธรรมได้ส่งผู้แทนของพรรคไปสมัครองค์กรนักศึกษาในนามสภานักศึกษา ซึ่งในปี2518ปรากฏว่าพรรคสัจธรรมได้รับชัยชนะ ได้ผู้แทนจำนวนข้างมาก จึงสามารถจัดตั้งเป็นกรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ แล้วก็ลักษณะการทำงานระหว่างพรรคสัจธรรมกับองค์การนักศึกษามีลักษณะคล้าย ๆ กัน เหมือนกับพรรคพลังธรรมของธรรมศาสตร์กับองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นในปี 2518 การทำงานระหว่างพรรคของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกับองค์การนักศึกษาเนี่ยเป็นไปอย่างกว้างขวาง เท่าที่ผมจำได้ เกือบทุกมหาวิทยาลัยในพ.ศ.2518 พรรคฝ่ายที่เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม พรรคที่เป็นฝ่ายที่เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในทุกระดับชั้นตั้งแต่โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยนั้น ได้รับชัยชนะ ได้รับการเลือกตั้ง นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยนะครับเท่าที่ผมจำได้ ตรงนี้เป็นจุดแรกนะครับที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า การที่พรรคนักศึกษาที่ก่อตั้งกันเล็ก ๆ แล้วขยายตัวใหญ่ ได้รับเสียงข้างมาก จนได้รับชัยชนะ สามารถไปเป็นตัวแทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้นั้นเนี่ย ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งกันเอง ไม่ได้มาจากการอุปโลกกันเองแล้วขึ้นมาเป็นองค์การนักศึกษา จะเห็นได้ว่าพรรคนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยนั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยนะครับ
อ.ใจ มีคู่แข่งจากพรรคอื่นที่ไม่ค่อยสนใจความเป็นธรรมในสังคมไหมฮะ
คุณกฤษณพล คือในสมัยนั้นเนี่ย โดยทั่วไปจะไม่ค่อยปรากฏชัดเจนว่ามีนักศึกษาที่ไม่สนใจเรื่องสังคม แต่อาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปนะครับ อย่างเช่น บางพรรคก็เป็นพรรคอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างเดียว แต่ประเภทที่จะมาต่อต้านกันโดยตรงจะไม่มีนะครับ ในรามคำแหงสมัยนั้นจะส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย ทุกคนไม่ชอบถนอม ประภาส มาตั้งแต่อดีต ถึงแม้เขาจะมีความคิดทางด้านสังคมแตกต่างกัน หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ในเวลานั้นยังไม่ถึงขนาดเป็นศัตรูกัน
อ.ใจ แล้วในการเลือกตั้งเท่าที่คุณประเมิน คิดว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีส่วนในการเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงไหม
คุณกฤษณพล มีการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นธรรมด้วยนะครับ ผมคิดว่ามีการลงคะแนนเสียงที่สะอาดที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมไทยนะครับ ปัจจุบันผมยังไม่เชื่อว่าการลงคะแนนเสียงในประเทศไทยจะมีความใสสะอาดเท่ากับการลงคะแนนเสียงในปี 2518 แล้วหลังจากนั้นเนี่ยผมได้อยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงและได้เป็นสมาชิกพรรคสัจธรรม พรรคสัจธรรมได้เป็นกรรรมการเสียงข้างมากและได้จัดตั้งเป็นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้าว…องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงนะครับ โทษครับ เราได้มีการทำงานเชื่อมโยงกันเกือบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในเวลานั้น เท่าที่ผมจำได้ก็คือเราติดต่อกันครบหมดทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งกระทั่งครูก็ติดต่อ แม้กระทั่งในวงการนักเรียนอาชีวะ หรือแม้กระทั่งในวงการนักเรียนมัธยมก็ยังติดต่อกันตลอด เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในลักษณะที่ มีอะไรต้องเกิดมีการทำงานร่วมกันก็ใช้ระบบประชุมกัน มีการนัดประชุมกัน ซึ่งเราก็จะเลือกใช้แล้วแต่ว่าที่ไหนจะสะดวก มีสถานที่ให้เราประชุม การประชุมกันเนี่ยเกิดขึ้น บางขึ้นก็เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ บางครั้งก็เกิดขึ้นในรามคำแหง บางครั้งก็เกิดขึ้นในจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2517, 18 เนี่ย ผมได้พบว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา มีความพยายามของผู้ที่สูญเสียอำนาจไปหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาเนี่ย มีความพยายามที่จะกลับมารื้อฟื้นระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกขบวนการประชาชนไล่ไปแล้ว เหตุการณ์ที่ผมเท่าที่ผมจำได้ก็คือ การเริ่มใช้ความรุนแรง เริ่มมีการฆ่าคนบางคนที่ต่อสู้ทางด้านแนวคิดเพื่อความเป็นธรรมในสังคม อย่างเช่น อาจารย์บุญสนอง แล้วก็ผู้นำชาวนาในอดีตเท่าที่ผมจำได้ ก็คือ เขาเคยเข้ามาเรียกร้องในกรุงเทพฯ เคยเข้ามานอนอยู่ในธรรมศาสตร์ พวกเราก็เคยเข้าไปคุย ชาวนาหลายคน เราเคยได้พบด้วยซ้ำไปว่า ก็เป็นคนธรรมดานี่เองนะครับ เป็นชาวบ้านที่ในอดีตเขาไม่มีโอกาสได้พูดถึงความทุกข์ยากของเขา ในเวลานั้นเขาได้มาพูด ได้เข้ามากรุงเทพฯ ก็เข้านอนที่พัก ได้เจอนักศึกษา แล้วเราก็ช่วย คุยกับเขา เป็นเพื่อนเขา แล้วก็หลังจากนั้นเขากลับไป ปรากฏว่าได้ข่าวว่าถูกยิงตาย
อ.สุธาชัย เดี๋ยวขอคั่นนิดหนึ่งนะครับ รู้จักคุณแสง นิรันดรกุล หรือเปล่า
คุณกฤษณพล เป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อ.สุธาชัย รู้จักกันเป็นส่วนตัวหรือเปล่า
คุณกฤษณพล ก็เห็นหน้ากัน เพราะว่าทำงานอยู่ ก็เดินกันไปเดินกันมาฮะ รู้จักว่านี่คือรุ่นพี่ที่เคยอยู่กันมาก่อน และก็เป็นผู้นำคนหนึ่งในพรรคสัจธรรม
อ.สุธาชัย เท่าที่ทราบ ลองเล่าย่อ ๆ นิดหนึ่งครับว่าคุณแสงตายอย่างไรครับ
คุณกฤษณพล ผมไม่ทราบเรื่องรายละเอียดจริง ๆ ครับ เรื่องพี่แสง แต่ว่าเคยมีคนใกล้ชิดเคยบอกว่า บทบาทของพี่แสงในเวลานั้นเนี่ยกำลังอยู่ในอันตราย แล้วมีคนเตือนว่าต้องระวังตัว เคยพูดกันอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งการพูดอย่างนี้เนี่ยในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยที่ไหน ผู้ที่เคยมีบทบาทเป็นผู้นำนักศึกษาจะต้องถูกข่าวออกมาว่ากำลังจะถูกหมายหัว ในเวลานั้นก็ที่ เท่าที่ผมจำได้ ก่อนที่คุณแสงจะถูกลอบสังหารเนี่ย ก่อนหน้านั้นก็มีคนถูกลอบสังหารมาก่อนแล้ว ก็คือ คุณอมเรศ ที่เป็นนักศึกษามหิดลนะครับ ก่อนหน้านั้นก็มีผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารมาแล้ว ก่อนหน้านั้นก็มีผู้นำกรรมกรถูกลอบสังหารมาแล้ว คือกระแสการลอบฆ่าเนี่ยเกิดขึ้นอย่างหาคำตอบไม่ได้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรุนแรงมากในช่วงปี 2518 นะครับ ทั้งปีเนี่ยเราจะได้ข่าวผู้นำชาวบ้านที่เป็นชาวนา ผู้นำกรรมกรที่เคยนำกรรมกรเรียกร้องค่าแรงเนี่ย ถูกเก็บถูกฆ่า นักศึกษาที่อยู่ที่มีบทบาทในองค์กรนักศึกษาหรือในพรรคนักศึกษาก็มีถูกคุกคามตลอดเวลาครับ
อ.ใจ คุณกฤษณพลเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มม่วงใช่ไหม
คุณกฤษณพล ครับผม
อ.ใจ เหลืองหรือม่วงฮะ
คุณกฤษณพล คือส่วนของม่วงเหลืองเนี่ย ผมเล่าให้ฟังนิดนึงนะครับ เท่าที่ผมจำได้ (เทปหมดม้วนด้าน A)
คุณกฤษณพล (เทปหน้า B) ไม่มีการใช้ชื่อนี้เลยนะฮะ แล้วคนก็สงสัยว่ามันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ผมว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ผมจะสามารถเล่าและยืนยันได้ว่า คำว่าม่วงเหลืองไม่ใช่รหัสลับ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น สาเหตุที่มาอย่างที่ผมเรียนให้ฟังแล้วว่า การต่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของพรรคนักศึกษามีกันอยู่ทั่วไป แล้วเราก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ในการประชุม แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เราพบว่าเริ่มมีความยุ่งยากของการประชุม เนื่องจากจำนวนของพรรคนักศึกษาในแต่ละที่เนี่ยมีจำนวนมาก แล้วการคุยครั้งหนึ่ง ๆ มันสับสนไปหมด ระหว่างการคุยของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา แนวร่วมประชาชน อะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมากมาย กับพรรคนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่กำลังสำคัญในการทำงานต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การปิดโปสเตอร์ ในการเตรียมการประชุม ในการเตรียมการชุมนุมต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มาจากพื้นฐานก็คืผู้ปฏิบัติงานจากพรรคนักศึกษา ก็เลยมีการคิดกันว่าจะทำยังไงให้การประชุมในส่วนของพรรคนักศึกษาเนี่ยมันกระชับมีประสิทธิภาพ พร้อมกับทำให้องค์กรเปิดเผย อย่างเช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แนวร่วมประชาชน แนวร่วมศิลปิน หรือแนวร่วมต่าง ๆ ที่เป็นของประชาชนก็สามารถทำงานได้และมีความเชื่อมโยงกัน วันนั้นผมจำวันที่ไม่ได้ มีการประชุมที่นี่เองครับ ที่จุฬาฯ ตึกสจม.หรืออะไรเนี่ยฮะ ตึกเล็ก ๆ ตรงนี้ฮะ ตึกจุลจักรพงษ์ชั้นสอง วันนั้นก็มีการคุยกันว่า เราจะหาวิธียังไงที่จะทำให้การทำงานระหว่างแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละพรรคการเมืองของนักศึกษา และก็ศูนย์นิสิตเนี่ยกระชับและต่อเนื่องกัน เพราะว่าการเคลื่อนไหวเดี๋ยวนี้เนี่ยมันมีความรุนแรงเกิดขึ้นเสมอ เสี่ยงอันตรายมากที่เราจะประชุมกันทีละเยอะ ๆ ก็มีการเสนอกันในที่ประชุม โดยมีคนหนึ่งเขียนบนบอร์ดแบบกระดานอย่างนี้นะครับว่า ถ้าพรรคนักศึกษาส่งตัวแทนเข้ามาสักสองคน คนหนึ่งทำหน้าที่ไปคุยระหว่างองค์กรเปิด อีกคนหนึ่งทำหน้าที่ประสานงานให้พรรคนักศึกษาด้วยกันรู้ คือเอาเรื่องที่ประชุมไปคุยกับพรรคนักศึกษาโดยตรง โดยไม่ต้องไปยุ่งกับทางองค์กรเปิด งานจะเร็วขึ้น ตอนนั้นมันมีชอล์กอยู่สองสี ก็คือ ชอล์กหนึ่งสีม่วง ชอล์กหนึ่งสีเหลือง ก็แค่นั้นเองนะครับ
อ.ชลธิรา นี่คือตำนาน ตำนานความเป็นมา ของพวก…
คุณกฤษณพล นี่คือตำนานเลยนะครับ เพราะชอล์กในขณะนั้นมันมีสองสีจริง ๆ
อ.ใจ แล้วใครม่วงใครเหลืองครับ
คุณกฤษณพล ก็เป็นการเลือกกันระหว่างแต่ละมหาวิทยาลัย ในรามคำแหงก็มีการคัดเลือกกัน ก็คือคนทำงานในพรรคสัจธรรมก็คัดเลือกกันว่า คนที่ถนัดที่จะทำงานนโยบาย วางแผน แล้วก็คุยกับทางคนที่เปิดเผยในสังคมได้ อย่างเช่น คุยกับทางศูนย์นิสิตได้ แนวร่วมประชาชนได้ ก็คือ เป็นคนที่เป็นรุ่นพี่ และทำงานมานาน เป็นที่รู้จัก เป็นที่ well known ในสังคม ก็ไปทำงานทางนู้นซะ ซึ่งอันนี้เราถือว่าคือม่วง บังเอิญชอล์กอันนั้นก็คือเขียนว่า กลุ่มนี้นะเป็นม่วง แล้วอีกกลุ่มหนึ่งก็คือพวกที่มาจากแกนของผู้ปฏิบัติงานในพรรคนักศึกษา ไปฟังอะไรมา ไปคุยอะไรมา รีบกลับมาประสานงาน ทำให้เกิดงาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ ก็เลือกกันเองว่าใครถนัดทำอะไร ผมในฐานะที่เพิ่งอยู่ตอนนั้นปี 2 ก็มาทำงานในส่วนที่เป็นเหลืองนะครับ
อ.ใจ แล้วเวลาขบวนการนักศึกษาลงมติเรื่องนโยบาย หรือว่าเรื่องการเคลื่อนไหวอะไรต่ออะไร ส่วนในเป็นส่วนที่ลงมติ
คุณกฤษณพล ผมไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นการลงมตินะครับ ผมไม่เคยเห็นการโหวต ไม่เคยเห็นการเรียกว่าเสียงข้างน้อยแพ้เสียงข้างมาก ไม่เคยเห็น และผมเชื่อว่า เท่าที่ผมมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา
อ.สุธาชัย เดี๋ยวผมลองยกตัวอย่างก่อนนะฮะ อย่างการตัดสินใจที่ว่า วันที่ 4 ตุลาคมจะชุมนุมยืดเยื้อ หรือจะสลายวันนั้นเนี่ย ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนกำหนด และมีการโหวตหรือไม่ฮะ
คุณกฤษณพล คือ ถ้าพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 4 ตุลาเนี่ยนะครับ พวกเราที่เป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเวลานั้นอยู่ที่ธรรมศาสตร์กันหมด ทุกองค์กรอยู่ที่ธรรมศาสตร์กันหมด เท่าที่จำได้ เดิมเรามีการประชุมกันในปี 2518 ทั้งปีเนี่ย ถ้าใช้ อมธ.จะใช้ชั้นสองนะครับ แต่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาเป็นเรื่องที่แปลกมาก เราใช้ชั้นล่างในการทำงานตลอด ตั้งแต่วันที่ 3 เราย้ายจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง เพราะจากเหตุการณ์เราเห็นว่ามันมีปัญหา แล้วก็มีความตึงเครียดสูงมาก เราได้ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอมธ.ทั้งหมดเป็นที่ประชุมนะครับ แล้วก็มีการกั้นไม่ให้มีการเข้าออกอย่างสะดวกเหมือนแต่ก่อน ทั้งชั้นบน และชั้นล่างด้วย แต่การประชุมนั้นก็มีการเข้าออกระหว่างตัวแทนนักศึกษา องค์กรประชาชน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาก็เข้าออกในการประชุมตลอด ผมจำได้ว่าตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นมา ไม่มีคำว่า นอน ไม่เคยมีการนอนกันเลย มีการประชุม การเข้าออก มีการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ตลอด พวกเราไม่ได้นอนกันเลยตั้งแต่คืนวันที่ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 เนี่ยนะครับ ก็เป็นเรื่องที่ธรรมศาสตร์เป็นคน run เป็นคนทำงานตลอด ซึ่งเราก็รับทราบ แต่เหมือนว่าในเวลานั้นเนี่ยชั้นล่างของอมธ.เป็นอิสระจากธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์ที่รวมของการประชุม ตัวแทนต่าง ๆ ของผู้ที่เดินทางเข้าออกทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พวกที่เป็นองค์การนักศึษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพรรคพลังธรรม ทำงานอีกที่หนึ่งนะครับ ไม่ได้ทำงานตรงนั้น เขาก็จะมีหน้าที่ เป็นพรรคก็ดูแลการชุมนุม เรื่องน้ำ เรื่องอาหาร เรื่องอะไรต่าง ๆ
อ.ใจ แล้วใครเป็นคนกำหนดเรื่องวิธีการชุมนุมในคราวนั้น จะเป็นชั้นล่างของตึกอมธ. หรือว่าพรรคพลังธรรมครับ
คุณกฤษณพล คือจริง ๆ แล้วเนี่ย การประชุมกำหนดการเคลื่อนไหว ได้ดำเนินวิธีอย่างนี้มาตั้งแต่เวลา ตั้งแต่ที่ผมจำได้ปี 2517 ก็คือ ถึงเวลาที่มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เราเห็นว่าบ้านเมืองประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม มีอะไรที่เราเห็นว่าประเทศชาติเราจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็จะมีการเรียกประชุมกัน การเรียกประชุมนั้นส่วนใหญ่จะเริ่มจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นผู้เรียกประชุม แล้วก็มีการกระจายข่าวไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ link กัน เหมือนกับ internet เดี๋ยวนี้เขาก็ link กันไปยังไง แล้วก็มาประชุมพร้อมหน้ากัน ในที่ประชุมส่วนใหญ่ก็จะให้คนที่พูดเนี่ยส่วนใหญ่ก็เป็นคนของศูนย์นิสิตนักศึกษา ซึ่งในเวลานั้นก็มีหลายคน เป็นตัวเริ่มที่จะพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการใช้ความรุนแรงฆ่าประชาชนโดยตำรวจจับไม่ได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น พอพูดถึงประเด็น พูดถึง issue มันแล้วเนี่ย ก็จะมีคนอภิปราย พอมีคนอภิปรายก็เสนอความเห็นกัน แล้วก็ถึงจุดหนึ่งว่าจะชุมนุม จะเคลื่อนไหว หรือจะติดโปสเตอร์ อาจจะมีคนค้าน อาจจะมีคนแสดงความคิดเห็นบ้าง แต่พูดกันไปกันมาปั๊บเนี่ย เราถือว่าถ้าประเด็นสุดท้ายไม่มีใครพูดอะไรต่อเนี่ยเราเอาตามนั้น อาจจะมีคนสรุปการประชุมบ้างว่า ตกลงสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เราจะเคลื่อนไหวอย่างนี้ รามคำแหงรับงานอะไรไปทำ ธรรมศาสตร์รับอะไรไปทำ เชียงใหม่จะต้องทำอะไรบ้าง ก็อาจจะมีคนสรุปการประชุมแบบนี้เท่านั้นเอง นอกนั้นผมเชื่อว่า
อ.ใจ เดี๋ยวผมขอถามคำถามกว้าง ๆ นิดนึงก่อน คือม่วงเหลืองถือว่าเป็นแกนนำลับของขบวนการนักศึกษา หรือถือว่าเป็นโครงสร้างเพื่อให้มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และแกนนำก็คือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหมด
คุณกฤษณพล คือเวลานั้นในปี 2518, 19 เนี่ย ในปี 2518 เนี่ย ผมเชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นเป็นแกนนำลับ ก็ถือว่ามันเริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ แต่พอถึงปี 2519 เป็นต้นมา เนื่องจากเราเห็นว่าการทำงานของหน่วยงานใหม่อันนี้เนี่ย ชื่อ ม่วงเหลืองเนี่ย อยู่ท่ามกลางการถูกคุกคามโดยอะไรไม่ทราบในเวลานั้น การทำงานของพวกเราจึงเริ่มที่จะทำงานแบบปิดลับมากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้สถานที่ประชุมตามมหาวิทยาลัย ก็เริ่มไปใช้ตามบ้านคน บ้านเช่า แล้วก็ยอมรับว่าผู้ที่เป็นตัวแทนเข้ามาในการทำงานในส่วนนี้เนี่ย ถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่เปิดเผยให้ใครทราบ แล้วเรื่องนี้มันมาจากความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น เราไม่เคยคิดต้องทำงานลับ แต่เราเชื่อว่าถ้าเราทำงานเปิดเผยเราจะต้องอยู่ในอันตราย
อ.ใจ โอเค ทำงานลับ แต่ว่าทำงานสั่งหน่วยที่เปิดเผยได้ไหม
คุณกฤษณพล คือ ไม่สามารถสั่งได้ครับ แต่เป็นการทำงานโดยใช้ความคิดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยร่วมกัน
อ.ใจ เพราะฉะนั้น ไม่ได้เป็นแนวนำ
คุณกฤษณพล ไม่ใช่ครับ
อ.ใจ แต่ว่าเป็นส่วนที่ปิด
คุณกฤษณพล ครับ แต่เราจะมีความคิดความเห็นที่ทางส่วนใหญ่เนี่ย โดยเฉพาะองค์กรเปิดเขาต้องฟังเรา เพราะว่าม่วงเหลืองมาจากพื้นฐานที่เป็นพรรคนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั่นคือกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง เพราะถ้าเขาเห็นว่าพวกนี้ไม่เห็นด้วยเมื่อไหร่ งานมันจะเกิดไม่ได้ ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วการทำงานก็คือต้องรับฟังความคิดเห็นจากพรรคนักศึกษาเป็นหลัก
อ.ชลธิรา เหนือจากม่วงเหลืองเนี่ยมีใครมานำไหมคะ
คุณกฤษณพล ไม่มีครับ
อ.ชลธิรา มีที่ปรึกษาไหมคะ
คุณกฤษณพล ไม่มีครับ
อ.ชลธิรา ใครเป็นประธานในที่ประชุมกลุ่มม่วงเหลือง เวลาประชุม
คุณกฤษณพล ส่วนใหญ่เนี่ยนะครับ นักศึกษามันเหมือนกับเป็นประเพณี รุ่นพี่ คนที่จะมีอาวุโสมากหน่อย คนนั้นจะได้รับการเคารพให้ถือว่าเป็นคนนำความคิดบ้าง เป็นคนนำการอภิปรายบ้าง แต่เขาก็ไม่สามารถจะ dominate ความคิดพวกเราได้ เพราะเราถือว่า อย่างผมมาจากรามคำแหงเนี่ยยังไงก็ต้องทำให้พรรคสัจธรรมเดินแนวทางถูกต้องเหมือนกัน เราจะไม่ยอมให้ใครจากธรรมศาสตร์หรือเกษตรมาทำให้เกิดแนวทางผิดพลาด เพราะฉะนั้นก็ลักษณะนี้ก็จะเกิดจากตัวแทนของแต่ละที่ ก็ต้องคิดเหมือนกัน แต่โดยทั่วไปจะมีรุ่นพี่ที่มีอาวุโสมากหน่อยจะเป็นคอยเป็นคนคอยพูด จำได้ว่าคุณวิสูตรก็เป็นนักศึกษาปีที่ 10 ปีที่ 9 ของธรรมศาสตร์หรือยังไงไม่ทราบ ก็จะมีประสบการณ์ในเรื่อง ปัจจุบันเป็นทนายความอยู่ที่ลำปางนะครับ
อ.ใจ มีความสัมพันธ์อะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์ไหมครับ ม่วงเหลือง
คุณกฤษณพล ไม่มีครับ ผมว่าผมรู้จักคอมมิวนิสต์จากหนังสือ จากเอกสาร จาก รู้จักแนวคิดมาร์กซ์ เลนิน จากหนังสือทั้งหมด ยังไม่มีใครที่จะมาบอกว่าคนนั้นคนนี้คือคอมมิวนิสต์ แล้วพยายามจะคุยให้เรา หรือให้เราทำตาม
อ.สุธาชัย คิดว่าอยากให้อธิบายให้ชัดเจนช่วง
คุณกฤษณพล คืนนั้นใช่ไหมครับ
อ.สุธาชัย ตั้งแต่ก่อนคืนนั้น ตั้งแต่ 3, 4, 5 เลยเพราะว่า เพราะว่าช่วงนี้นะฮะ การตัดสินใจแต่ละช่วง ๆ มันค่อนข้างที่จะสำคัญมากกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่วยเราละเอียดนิดนึงตรงช่วงนี้ฮะ
คุณกฤษณพล คือหลังจากที่เรา คือการชุมนุมในช่วงวันที่ 3, 4, 5 ตุลาคม เราถือว่าเป็นการชุมนุมแบบปกติเหมือนกันนะครับ แต่ว่าการชุมนุมช่วงนี้เนี่ยเราค่อนข้างเครียด เพราะว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่เราเชื่อว่าสูญเสียอำนาจเนี่ย เขาได้ก่อนหน้านั้นเขาได้ก่อตั้งขบวนการขวาพิฆาตซ้าย แล้วเขาได้ระบุแล้วว่าการชุมนุมของนักศึกษาเป็นพวกซ้ายนะครับ มีการตั้งกลุ่มกระทิงแดง เพื่อขว้างระเบิดเข้ามาในที่ชุมนุม ก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่าสองสามหน มีการปาระเบิดขบวนการที่เขาเดินไปที่ถนนวิทยุแล้วก็เสียชีวิต มีการใช้อาวุธสงครามยิงปืนเข้ามาในที่ชุมนุม เราเชื่อว่าวันที่ 3 วันที่ 4 นั้นเนี่ย เราก็เชื่อว่าต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีการใช้ความรุนแรงอย่างขนานใหญ่ในวันที่ 6 ตุลา เราจำได้ว่าคืนวันที่ 3 เราพูดถึงความรุนแรงที่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมอาจจะต้องได้รับอีกครั้งหนึ่ง มีการพูดถึงอยู่ แล้วก็มีการเตรียมพร้อมเหมือนมีการเตรียมพร้อมทุกครั้งเมื่อมีการชุมนุม แต่เที่ยวนี้มีการเตรียมพร้อมมากกว่าปกติ เพราะว่า เราเชื่อว่าครั้งนี้จะรุนแรง การชุมนุมเที่ยวนี้จะรุนแรง เพราะว่าเราก็ยื่นคำขาดเกี่ยวกับเรื่องการกลับมาของถนอม แล้วเรารู้สึกว่ามันมีการต่อต้านที่รุนแรงมากขึ้นจากกลุ่มอย่างที่บอกว่าขวาพิฆาตซ้าย รามคำแหงได้ส่งผู้ปฏิบัติงานเข้ามาเป็นจำนวนมากอยู่ในธรรมศาสตร์ เพื่อคุ้มกันความปลอดภัยให้แก่ผู้มาชุมนุม ไม่ให้ใครลอบเข้ามาปาระเบิด ไม่ให้ใครลอบเข้ามาวางยาพิษในถังน้ำ ไม่ให้ใครลอบเข้ามาเพื่อก่อความวุ่นวายแล้วเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาปราบปราม นักศึกษารามคำแหงในนามพรรคสัจธรรมได้ใช้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนเท่าที่ผมจำได้เกือบร้อยคนนะครับ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยส่วนอื่น ๆ ก็ได้เข้ามาทำ แล้วก็ส่วนใหญ่แล้วเนี่ยเราก็จะเตรียมการตั้งบังเกอร์ บังเกอร์ในความหมายที่ผมพูดถึงก็คือ เอาโต๊ะของนักศึกษาเนี่ยมาต่อกันหลาย ๆ ชั้น แล้วก็ปิดทางเข้าที่เข้าได้สะดวก ไม่ให้กลุ่มกระทิงแดงเนี่ยบุกเข้ามา ก็คือบังเกอร์ที่เราเรียกกัน ถามว่าปืนมีไหม ผมพกปืนตั้งแต่ปี 2517 ปืนผมซื้อมากระบอกละ 300 บาท ผมเคยทดสอบยิง ผมไม่เคยยิงปืนสั้นมาก่อน เคยแต่ฝึก รด. นิดหน่อย หลับตาแล้วก็ยิงไปที่กำแพงสังกะสี ปรากฏว่าปืนที่ผมซื้อมาเนี่ยลูกกระสุนมันยังไม่ทะลุสังกะสีเลยครับ แต่ผมก็พกใส่ในยามผมเวลามาที่ชุมนุมเพื่อความอุ่นใจ เพราะตอนนั้นทุกคนบอกว่ามีสิทธิจะโดนเสียบ คือ เอามีดจิ้มพุงเวลาขึ้นรถเมล์ มีสิทธิจะโดนยิงเวลากลับบ้านได้ทุกเมื่อ เราก็เลยหาซื้อปืนเขาเรียกว่า ฆ้อนตราควาย น่ะครับ ปืนเถือนน่ะครับ กระบอกละ 300 บาท ยิงปุ๊งไปเนี่ยลูกโม่มันตกลงมากับพื้นเลยนะครับ ปืนในเวลานั้นเนี่ย เท่าที่ผมเห็นและมีกันอยู่ในนักศึกษารามคำแหงเนี่ย ก็คือปืนแบบผมนี่แหละครับ เพราะซื้อมาจากแหล่งเดียวกัน คือเป็นปืนที่เป็นปืนทำเอง เป็นปืนไทยประดิษฐ์ แล้วก็ซื้อแจก ๆ กันไป ก็คือปืนสั้น
อ.สุธาชัย แล้วคุณกฤษณพลคิดว่ามีเยอะไหมฮะ ในคืนวันที่ 5
คุณกฤษณพล ผมคิดว่านักศึกษารามคำแหงที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยครึ่งหนึ่งมีอาวุธ ผมเชื่อตอนนั้นมีนักศึกษารามคำแหงที่ทำหน้าที่นี้ประมาณ 60-70 คน ครึ่งหนึ่งมีอาวุธก็คือปืนสั้นครับ ไม่มีใครมีปัญญาหาปืนสงครามมาได้ ในเวลานั้นเราคิดเหมือนกันว่าอยากจะหามาเพื่ออุ่นใจ แต่เราไม่มีทางหาได้ครับ นอกจากปืนที่เราไปซื้อกันเองก็คือปืนไทยประดิษฐ์ เรามีผู้ที่มีความรู้ทำเรื่องระเบิดขวด ระเบิดเพลิง เรามีการทำจริงครับ แต่เราทำไว้เนี่ยใส่ขวดวางไว้เนี่ย คืนวันที่ 5 ตุลาคม เป็นคืนที่ซีเรียสที่สุด เพราะเรารู้ว่าตัวแทนที่เราส่งไปเจรจากับรัฐบาลนั้นเนี่ยไม่ได้กลับเข้ามา แล้วเราก็วิเคราะห์กันแล้วว่า เที่ยวนี้เนี่ยท่าทางเราจะรอดยาก ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการคุยกันแล้วว่า เราต้องยุติการชุมนุมให้เราที่สุดในคืนวันที่ 5 ตุลาคม เรามีการประชุมกันมาอย่างต่อเนื่อง แล้วเราก็คิดว่า เราจะให้ เมื่อประมาณตีสี่เนี่ยนะฮะ เราจะเริ่มให้ประชาชนออกจากที่ชุมนุม โดยคืนนั้นที่ประชุมได้วิเคราะห์กันแล้วว่ารัฐบาลในขณะนั้น หรือผู้มีอำนาจในขณะนั้น จงใจที่จะใช้การชุมนุมครั้งนี้เนี่ยสร้างความรุนแรงแล้วก็ยึดอำนาจ ทำการรัฐประหารแน่นอน ข่าวจากข้างนอกมา หรือมีข่าวกรองที่พวกเราวิเคราะห์เอง นักข่าวหนังสือพิมพ์โทรศัพท์เข้ามาบอกเหตุการณ์ภายนอก ที่ประชุมใต้ตึกอมธ.วันนั้นก็คือ เราได้แบ่งหน้าที่ของผู้ทำงานออกเป็นสองส่วน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ส่วนหนึ่ง ศูนย์ครูส่วนหนึ่ง ต้องอยู่เขตที่ชุมนุมเพื่อทำให้การชุมนุมเนี่ย เป็นเพื่อนของผู้ที่มาชุมนุม แล้วก็นำการสลายในช่วงเช้า นอกนั้นให้ทยอยเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อไปอยู่ที่มหิดล ซึ่งเราถือว่ามหิดลเป็นที่หนึ่งที่เราจะต้องไปทำงานที่นั่น เพื่อหวังว่าถ้าทางนี้ถูกล้อมก็ยังมีอีกที่หนึ่งที่จะกระจายข่าว หรือบอกนักข่าว หรือบอกประชาชนทั่วไปได้ว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายที่ทำอะไรที่มันรุนแรง
อ.ใจ แล้วคุณกฤษณพลอยู่ส่วนไหน
คุณกฤษณพล คือในวันนั้นเนี่ยนะครับ มันไม่มีม่วงเหลืองแล้วครับ มันมีแต่คนที่มีปัญญามานั่งประชุมได้โดยที่ไม่หลับได้ ก็คือนั่งฟังกันทุกคน ที่ยังมีแรงอยู่ ก็คือมาช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์ คนที่ทำงานเขาก็ไม่มีเวลามานั่งฟังพวกเรา ก็อย่างคุณวันทนีย์เนี่ยเขาก็จะอยู่ตามที่ชุมนุม เพราะฉะนั้นมันจะแบ่งกันโดยชัดเจนว่าคนที่เคยประชุมก็ประชุมกันไป คนที่นอกห้องประชุมก็ไม่เคยคิดว่าไอ้พวกนี้เป็นชนชั้นนำ ทำไมต้องมาอะไรต่าง ๆ ไม่เคยคิด เพราะถือว่าแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไร แล้วก็เขาก็ฟังตามนั้น ในวันนั้นเราถือว่า เราพยายามจะหลีกเลี่ยงนะครับ ผมจำได้ว่า ดร.เทียนชัยเข้ามาในที่ประชุมคืนวันที่ 5 บอกว่าพวกเราจะต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง พวกเราจะต้องเป็นฝ่ายที่ไม่แสดงออกถึงการใช้ความรุนแรง ระเบิดเพลิง ปืนทุกกระบอกที่มี บังเกอร์ที่เรากัน ๆ ๆ ๆ เตรียมไว้เนี่ยขอให้รื้อออกไปให้หมด ก็มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายรักษาความปลอดภัยเหมือนกันว่า การทำเช่นนี้มันยิ่งส่อไปในเรื่องความเสียหายมากขึ้น แต่ในที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันว่า เราควรจะต้องรื้อบังเกอร์ออก เปิดทางให้กว้างไว้เหมือนกับว่า เราเปิดหน้าบ้านแสดงเจตนาดี ใครจะเข้าออกได้โดยไม่ปิดกั้น ระเบิดเพลิงก็ได้ข่าวมา หลังจากคุยแล้วเนี่ย พวกเราก็เทน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดที่อยู่ในขวดลงในท่อระบายน้ำทั้งหมด ปืนเท่าที่มีอยู่เนี่ยส่วนหนึ่งก็โยนทิ้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา
อ.ชลธิรา โทษนะคะ ในช่วงนั้นเนี่ยมีปัญหาการต่อสู้ทางแนวทางไหมคะ แนวทางความคิดตรงนี้น่ะค่ะ ทีฝ่ายหนึ่งคิดว่าต้องขจัดอาวุธอะไรต่ออะไรให้หมด กับอีกฝ่ายหนึ่งที่คิดว่าเราต้องเตรียมต่อสู้เพราะว่ามันถูกปิดล้อม มีการต่อสู้ความคิดตรงนี้ไหม
คุณกฤษณพล มีครับ ในขณะที่มีการพูดว่าให้เรารื้อบังเกอร์ออก ให้เราเทน้ำมันทิ้งท่อ หรือให้เราทิ้งอาวุธเนี่ยนะครับ ส่วนของรามคำแหงก็มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ก็กลัวว่ามันจะยิ่งไปกันใหญ่ แต่อย่างที่ผมเล่าให้ฟังแล้วเมื่อกี้ว่า พอถึงที่สุดแล้วที่ประชุมทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด ทุกคนก็บอกว่าเราเนี่ยชุมนุมที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งไหน ๆ ก็ตามจนมาถึงครั้งนี้เนี่ย เราก็ประกาศตัวเองว่าเป็นการชุมนุมโดยเปิดเผยนะครับ แล้วก็ประเด็นที่พูดก็ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดีเลย เป็นเรื่องดีทั้งสิ้น แต่เหตุการณ์มันพาไปในแง่ที่ว่าเราถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยการที่ว่า ที่ชุมนุมเนี่ยไปผูกพันกับเรื่องของภาพเชื้อพระวงศ์ ซึ่งเราก็งงว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง เราก็เลยเห็นว่ายังไงก็ต้องปฏิบัติตัวเหมือนที่เราเคยทำ ก็คือ เปิดหน้าบ้าน ทำลายบังเกอร์ เททิ้งส่วนที่น่าจะเป็นอาวุธ แล้วแสดงออกซึ่งความบริสุทธิ์ใจในการชุมนุม แล้วเตรียมที่จะเลิกการชุมนุมตอนตีสี่ตีห้า พวกเราได้ออกจากธรรมศาสตร์เป็นจำนวนมากนะครับตั้งแต่ สามทุ่ม สี่ทุ่ม แล้วมีการพูดกันบอกว่า ให้พวกเราทยอยออก ต้องสั่งให้ออก องค์กรที่ถูกสั่งให้ออกก็ต้องออกจริง ๆ
อ.ชลธิรา ก็คือมีการสั่งให้ออก
คุณกฤษณพล สั่งให้ออกไป ทยอยออกไป เพื่อลดจำนวน ลดความเสียหาย
อ.ใจ แล้วคุณอยู่ที่ธรรมศาสตร์จนถึงกี่โมงฮะ
คุณกฤษณพล ผมอยู่ที่นั่นจนถึงประมาณห้าทุ่ม แล้วก็ผมคือส่วนหนึ่งต้องออก ในที่ประชุมมีมติให้ออกไปอยู่ที่มหิดล
อ.ชลธิรา มตินี้หมายถึงให้ม่วงเหลืองออกหรือเปล่าคะ
คุณกฤษณพล คือจริง ๆ แล้วนี่นะครับ จะมีม่วงเหลืองส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ธรรมศาสตร์ มันคือ ตอนนี้มันไม่มีม่วงเหลืองแล้วครับ มันกลายเป็นว่า
อ.ชลธิรา เมื่อกี้คุณบอกว่า มีการสั่งเลยนะคะว่ากลุ่มไหนออก ใครต้องออกเนี่ย มันสั่งกันยังไง ใครต้องออก ใครต้องอยู่ การจัดกำลังทัพตรงนี้เนี่ย
คุณกฤษณพล มันแปลกมากเลยนะครับอาจารย์ ในที่ประชุมตอนนั้นเนี่ยนะครับ คืนนั้น แล้วตอนที่ออกเป็นคำสั่งนี้ออกมา ผมว่ามีคนที่อยู่ในนั้นเกือบยี่สิบกว่าคน เยอะมาก คุณสุธรรม แสงประทุมก็อยู่ที่นั่นด้วย พี่อ้วน พี่ที่อยู่พรรคไทยรักไทยเนี่ยฮะ พี่วัฒนชัย …(ฟังไม่ออก) ก็อยู่ที่นั่นด้วย โอ้โห…หลายคนมากครับ รวมทั้งม่วงเหลืองที่เป็นนักศึกษาอย่างพวกเรา คือเหมือนกับเป็นองค์กร เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ว่า คุยกันไปคุยกันมาเนี่ยมันก็ได้ข้อสรุปร่วมกัน ไม่มีใครสั่งเลยครับว่า อะไรยังไง กำหนดว่าธงชัยกับชวลิต พี่ธงชัยกับหัวโตต้องอยู่ในเวที แล้วพูด เริ่มพูดกับประชาชนเวลาตีสองนะว่า เตรียมจะต้องเลิกนะ เพราะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมเลิก จะไม่ยอมกลับบ้าน ถ้าไม่ได้รับความแน่นอนจากรัฐบาล จำได้ว่ามีประชาชนโดยเฉพาะกรรมกรเนี่ยส่วนหนึ่งที่เขาเด็ดขาด เด็ดเดี่ยวมากว่าจะไม่ยอมสลาย ธงชัยและคุณชวลิต คือคุณหง่าวเนี่ย สองคนเป็นตัวยืนสองคนของพวกเราในห้องประชุมว่า หง่าวนะ ธงชัย ธงชัยก็อยู่ในที่ประชุมด้วย แป๊บเดียว แล้วก็ทำหน้าที่บอกประชาชนตั้งแต่ตีสองเป็นต้นไปนะว่า เตรียมใจ แล้วทยอยออกตอนตีสี่ หลังจากนั้นพวกพลังธรรม พวกธรรมศาสตร์ พวกอะไรทั้งหลาย ผมจำได้ว่า เขาก็ต้องออกไปวางแผนกันเองว่าวิธีการจะสลาย จะเริ่มอะไรยังไง จะออกทางประตูไหน อันนั้นเราไม่ทราบแล้ว
อ.ใจ ที่บอกว่ากลุ่มกรรมกรไม่อยาก ไม่ยอมสลายเนี่ยกลุ่มไหนฮะ
คุณกฤษณพล คือผมจำได้ว่า มีหลายกลุ่มที่มาอยู่ในที่ชุมนุมที่สนามหญ้านะครับ มีทั้งส่วนของชาวนา มีทั้งส่วนกรรมกร ส่วนของนักศึกษา นักเรียน มีหมดน่ะครับ แล้วก็จะมีคนมาบอกว่า มีชาวบ้านมีประชาชนส่วนหนึ่งเนี่ยเขาไม่อยากจะสลาย เขาอยากจะอยู่สู้ต่อไป เพราะว่าสลายไปแล้วมันเป็นเหมือนเราเป็นฝ่ายพ่ายแพ้นะครับ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่เราก็เชื่อว่า นายธงชัย กับนายชวลิตเนี่ยสองคนเนี่ยจะพูดให้ประชาชนยอมเคลื่อนตัวออกไปตอนตีสี่ตีห้าได้ เราจะไม่ยอมให้ถึงเช้าแน่ เพราะเราคิดว่าเราคงต้านไม่ถึงเช้าแน่ ในขณะที่ผมออกจากธรรมศาสตร์ไปเนี่ย ขึ้นแท็กซี่ไปเนี่ย แท็กซี่ก็บอกแล้วว่า ตอนนี้เนี่ยมีการชุมนุมครั้งใหญ่ มีรถบัสเป็นร้อย ๆ คันจอดรอเพื่อจะเคลื่อนขบวนมาที่ธรรมศาสตร์ ตอนนี้จอดรออยู่ที่อนุสาวรีย์ เอ่อ..ลานพระรูปน่ะนะครับ เป็นจำนวนมากเลย เขาไม่เคยเห็นรถอะไรมากมายขนาดนี้มาก่อน เขาก็บอกพวกเราว่า พวกเราเนี่ยรู้ไหมกำลังอันตรายนะ เราบอกเราทราบครับพี่แต่ว่าเราก็จะเลิก เราจะไม่ชุมนุมต่ออยู่แล้ว พรุ่งนี้เช้าเราก็สลายตัวอยู่แล้ว
อ.ใจ ตอนนี้ใกล้จะหมดเวลาแล้วนะฮะ คือมีคำถาม คืออยากถามว่า คิดว่าขบวนการนักศึกษาตอนนั้นเนี่ยสะท้อนความรู้สึกของประชาชนหรือว่าห่างเหินจากประชาชนฮะ
คุณกฤษณพล ผมต้องถามว่าคำว่าประชาชนในเวลานั้นคืออะไร ประเด็นที่เราเชื่อว่าผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า ตั้งแต่ผมทำงานในขบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2516 จนถึง 2519 การเคลื่อนไหวทุกอย่างของขบวนการนักศึกษา นักเรียนเนี่ย มีประเด็นที่สำคัญก็คือ เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ในอดีตเราเชื่อว่าประชาชนทุกอาชีพได้รับความไม่เป็นธรรมจากระบบเผด็จการ และผมก็เชื่อว่าผู้ที่สูญเสียอำนาจจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนั้นคือผู้ที่เริ่มก่อความรุนแรงจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม ผู้ที่เคยมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แล้วสูญเสียอำนาจนั้นไปก็คือพวกผู้เผด็จการทั้งหลาย เจ้าของที่ดิน เจ้าของโรงงานที่เคยกดขี่ข่มเหงประชาชนได้ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยสมคบกับอเมริกา จำได้ว่าขบวนการนักศึกษาประชาชนต่อต้านอเมริกาสองสามเรื่อง ก็คือต่อต้านเรื่องฐานทัพ การต่อต้านเรื่องการผูกขาดอำนาจร่วมกับข้าราชการฉ้อฉล เปิดทางให้อเมริกาใช้ประโยชน์จากประเทศไทยไประรานเพื่อนบ้าน ในเวลานั้นเนี่ย รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช มีความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในขณะนั้นเป็นสังคมนิยมไปหมดแล้ว ลาว เวียดนาม กัมพูชา เรากำลังดีใจว่าประเทศเราเดินไปถูกทาง ไม่เป็นศัตรูกับชาวบ้านเขา แต่ปรากฏว่าคณะรัฐประหารทำให้ คือนโยบายตรงนี้เนี่ยมันเปลี่ยนไปหมด เราก็ต่อต้านตรงนี้นะครับ เพราะฉะนั้นผมถือว่า ผมยืนยันได้ว่าเราไม่เคยมีเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเคลื่อนไหว ประเด็นที่เราเคลื่อนไหวในการชุมนุมแต่ละครั้ง ถ้าไปสืบค้นดูได้ก็คือประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทั้งนั้น
อ.สมศักดิ์ อยากให้น้องสรุปความคิดเห็นทั้งสองท่านว่า จริง ๆ ผู้มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดเหตุการณ์ เมื่อกี้ฟังได้ว่าเป็นการจงใจเนี่ย มีขบวนการ ใครบ้าง นะครับ ไม่ว่าจะพูดเป็นบุคคล พูดเป็นคณะ
อ.ใจ คุณกฤษณพลเองช่วยตอบคำถามผมหน่อยว่า ผมถามว่าขบวนการนักศึกษาเนี่ยสะท้อนความเห็นของประชาชนหรือห่างเหินจากประชาชน แล้วก็เริ่มตอบว่าจะจำกัดความว่าประชาชนยังไง โอเค อยากทราบว่าประชาชนส่วนไหนอยู่ข้างนักศึกษา ประชาชนส่วนไหนไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา
คุณกฤษณพล ผมเชื่อว่ามันเหมือนกับสมัยนี้นะครับ ประชาชนส่วนที่เข้าใจเรื่องของประชาธิปไตย ประชาชนส่วนที่เข้าใจเรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคม ประชาชนส่วนที่ต่อต้านการคอรัปชั่นโกงกินของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ประชาชนคนที่เกลียดเผด็จการ ประชาชนเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดกับเรา
อ.ใจ ฉะนั้นถือว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาถูกโดดเดี่ยวได้ไหมฮะ มีบางคนวิเคราะห์อย่างนี้
คุณกฤษณพล ผมว่าการโดดเดี่ยวเนี่ยเกิดจากการพยายามของผู้สูญเสียอำนาจหลัง 14 ตุลาคม บิดเบือน สร้างภาพ สร้างข่าว กุข่าว จ้างหนังสือพิมพ์เขียนบทความโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี
อ.ใจ แล้วสำเร็จไหม ในการทำให้ขบวนการนักศึกษาห่างจากประชาชน
คุณกฤษณพล ค่อย ๆ สำเร็จครับ ค่อย ๆ สำเร็จมากขึ้น แล้วเราเห็นว่าถ้าเขาไม่ใช้เรื่องของราชวงศ์เข้ามาเนี่ย ผมว่าเขาก็ยังไม่ทำสำเร็จ
อ.ใจ ทีนี้ก็คำถามพี่สมศักดิ์ ช่วยถามใหม่
คุณกฤษณพล คำถามพี่สมศักดิ์นะครับ คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเราจะสืบกันดี ๆ คือใครบ้าง ก็คือ คนที่มีอำนาจหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคมนั่นเอง คนที่รับประโยชน์จากการเข่นฆ่านักศึกษาหลัง 6 ตุลาคม แล้วขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดิน คนที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมคนที่เข่นฆ่าประชาชนเนี่ย ก็คือคนเหล่านั้นแหละครับเป็นคนที่สมควรจะต้องได้รับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่าใครบ้างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
อ.สมศักดิ์ ก็คือจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลหอย อะไรพวกนี้
คุณกฤษณพล ทั้งหมดครับ ต้องรับผิดชอบทั้งหมด
คุณวันทนีย์ คืออันนี้ หลังจากที่ปัจจุบันเนี่ย ที่อ.สมศักดิ์หรือหัวโตเขาเขียนเนี่ยคะ อันนั้นคือชัดเจนมีข้อมูล (เทปหมดม้วน ด้าน B)
คุณวันทนีย์ (เทปม้วนที่ 3/3 ด้าน A) สามปีนั้นเป็นช่วงที่ เรานักศึกษาเนี่ยเข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แล้วเราเองเนี่ย อย่างขบวนการนักศึกษาเองเนี่ยมีจิตใจที่ดี ที่ต้องการทำเพื่อสังคม ต้องการให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตย มีความเป็นธรรม ประชาชน แล้วมันก็ได้รับแนวคิดความคิดสังคมนิยมเข้ามา ซึ่งโอเค แนวคิดนั้นเนี่ย ถ้ามันเป็นไปตามนั้น เราก็ต้องการสังคมแบบนั้น เราไม่ต้องการสังคมที่อย่างงี้ค่ะ