เลขาฯ – ขอเสนอเรื่องด่วนเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นการจรในวันนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พ.ศ….. และกระผมขอเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 เพื่อเทียบเคียงกับร่างฯ นี้ นอกจากนี้กระผมขอเรียนว่า มาตรา 3 ของร่างฯ นี้ ได้ใช้ถ้อยคำใกล้เคียงกับถ้อยคำในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันครับ
ประธาน – ผมอ่านดูร่างฯ นี้แล้ว รู้สึกว่าร่างฯ นี้มิได้ล้อถ้อยคำจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 แต่ใช้ถ้อยคำใกล้กับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ผมมีความเห็นว่า หลักการนิรโทษกรรม คือ มีการกระทำความผิด แต่ยกโทษให้ มิใช่เขียนอย่างร่างฯ นี้ ซึ่งเขียนว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลใดจะนำมาฟ้องมิได้
เลขาฯ – ขอเรียนว่า ทราบมาว่าในการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้พิจารณาถึงประเด็นนี้ครับ โดยความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519ไปในตัวแล้ว แต่ความเห็นฝ่ายข้างน้อยยังไม่เห็นด้วยครับ
นายอรรถ – ในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้แล้วว่า เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประธาน – ต้องมีความผิดแล้ว จึงจะนิรโทษได้ ใครเป็นผู้ยกร่างฯ นี้
เลขาฯ – กระผมเข้าใจว่า ทางกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ยกร่างขึ้นมาครับ ทางกระทรวงกลาโหมได้ส่งผู้แทนมาชี้แจงด้วยครับ
ประธาน – เรื่องทำนองนี้ทำได้ 2 วิธี คือ 1. นิรโทษ 2. อภัยโทษ ซึ่งหมายถึงว่ามีโทษอยู่ แต่ยกโทษให้
เลขาธิการฯ – เข้าที่ประชุมเพื่อร่วมประชุมด้วย
ที่ประชุมมีมติให้แจ้งแก่ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมาประชุมเรื่องร่างพระราชบัญญัติป้องกันฝ่ายพลเรือนว่า งดการประชุมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะต้องพิจารณาเรื่องอื่นเป็นการด่วน
ประธาน – ผมพิจารณาแล้ว เห็นว่าร่างฯ นี้ได้ล้อถ้อยคำจากมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ได้เพิ่มเติมให้คลอบคลุมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยคลอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งด้วย ผมคิดว่า เขาคงเกรงว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนและกว้างขวางพอที่จะคุ้มครองเขาได้
เลขาธิการฯ – ผมพิจารณาร่างฯ นี้แล้ว เห็นว่ายังขาดอะไรสักอย่างซึ่งสำคัญ ด้วยมิได้ครอบคลุมถึง “การตระเตรียมการ” ซึ่งได้กระทำก่อนเข้ายึดอำนาจ ซึ่งผิดกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 ซึ่งมีข้อความรวมถึง “การกระทำก่อนและหลังการยึดอำนาจ”
หลวงวิชัยนิตินาท – การกระทำอันเดียวกันนี้ รวมถึงการตระเตรียมด้วย ซึ่งเมื่อการกระทำไม่มีความผิดแล้ว การตระเตรียมก็ไม่มีความผิดด้วย แต่ประมวลกฎหมายอาญา ยังมีอีกมาตราหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าแม้เพียงตระเตรียมการเพื่อกบฏก็มีความผิดแล้ว (ป.อ. มาตรา 113 และ 114)
เลขาธิการฯ – ผมเห็นว่า ควรใช้ถ้อยคำตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับก่อน โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำบางคำ เช่นเปลี่ยนเป็น “ปฏิรูป” ด้วยเหมาะสมกว่า ตามร่างฯ นี้ซึ่งเขียนว่า “….เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลใดจะนำคดีมาฟ้องร้องมิได้” กลายเป็นการห้ามฟ้องร้อง แต่ผู้กระทำยังผิดอยู่ เพียงแต่ฟ้องร้องไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ใช่นิรโทษกรรม ซึ่งผิดกับถ้อยคำตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับก่อน ซึ่งบัญญัติให้ “ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” ซึ่งเป็นไปตามหลักนิรโทษกรรมว่า มีความผิดแต่ยกโทษให้
ประธาน – ใช่ อย่างนี้กลายเป็น “มีความผิดแต่ห้ามฟ้อง”
เลขาธิการฯ – การนิรโทษกรรมนั้นต้องคุ้มครองเฉพาะเรื่องส่วนรวม คือเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการยึดอำนาจเพื่อส่วนรวม มิได้คุ้มครองถึงการกระทำที่ได้กระทำไปเพื่อส่วนตัวเช่น กระทำไปเพราะความโกรธแค้น ฆ่าคนตายในเรื่องส่วนตัว ในวันที่มีการยึดอำนาจ เป็นต้น หลักการนี้มาจากท่านพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ มิฉะนั้นจะรวมการกระทำทุกอย่าง และควรจะเป็นเรื่องที่ให้บุคคลผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิด มิใช่ให้การกระทำเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประธาน – ใช่ หลักการ amnesty นี้ เป็นเรื่องที่มีการกระทำผิด แล้วยกโทษให้ ไม่ใช่ไป legalize การกระทำนั้น ขืนเขียนตามร่างฯนี้ จะกลายเป็นว่า สิ่งที่ทำไปนั้น “ถูก” แต่ผู้กระทำยังมี “ความผิด” อยู่ ยังไม่ได้ชำระตัว
เลขาธิการฯ – ให้เลขานุการอ่านหนังสือนำจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เลขานุการ – อ่านหนังสือนำ ซึ่งมีใจความว่าร่างฯนี้เสนอโดยประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาล่วงหน้า เพื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519
นายพจน์ – มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็บัญญัติว่า “การกระทำ ประกาศ เพราะคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย” แล้ว
ประธาน – เราร่างให้เขา เราไม่แปลกฎหมาย ความจริงเมื่อการกระทำไม่ผิด ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด แต่เราจะแก้ถ้อยคำเพื่อให้ถูกต้องกับหลัก amnesty
เลขาธิการฯ เสนอร่างที่แก้ไขแล้ว และให้นำไปพิมพ์เพื่อเสนอในที่ประชุม
ประธานฯ – ให้พิจารณาร่างฯ ของท่านเลขาธิการฯ
เลขานุการ – อ่านร่างฯ
นายพจน์เสนอร่างฯของตนเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา เมื่อพิมพ์ร่างฯ ของนายพจน์เสร็จแล้ว ที่ประชุมจึงได้พิจารณาร่างฯของเลขาธิการฯ กับของนายพจน์ร่วมกัน
เลขาธิการฯ – เหตุการณ์ในวันนั้นมี 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มนักศึกษา ซึ่งชุมนุมเพื่อปฏิรูปเช่นกัน 2.คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
นายพจน์ – นั่นละซิครับ ผมเกรงว่าร่างฯของท่านเลขาธิการฯจะรวมการกระทำของบุคคลอื่นด้วย
เลขาธิการฯ – ถ้าอย่างนั้น ก็ควรเพิ่ม “ยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปการปกครอง….” ร่างฯ ของผมแยกเป็น 2 ตอน คือตอนแรกเป็นเรื่อง “ก่อนปฏิรูป” และตอนหลังเป็นเรื่อง “หลังปฏิรูป” ก่อนปฏิรูปยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จึงใช้ “บุคคลใด ๆ” หลังปฏิรูปแล้วจึงเรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”
ที่ประชุมมีมติให้เชิญผู้แทนเข้าที่ประชุมได้
เมื่อผู้แทนได้รับแจกร่างฯ ที่แก้ไขแล้ว
เลขาธิการฯ – ขอให้ท่านผู้แทนพิจารณาดูว่า ร่างฯ ใดจะเหมาะสมกว่า
ผู้แทน – ขอเรียนว่า ร่างฯ ที่แก้ไขดีแล้วครับ จุดมุ่งหมายของเรา คือต้องการให้มีกฎหมายออกมาคุ้มครองบุคคลตั้งแต่พลทหารขึ้นไปครับ
ประธาน – คงเป็นเพราะว่า ทางฝ่ายทหารยังไม่แน่ใจว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำในการยึดอำนาจว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายนั้น จะคุ้มครองได้ทั่วถึงและพอเพียงไหม ใช่ไหม?
เลขาธิการฯ – บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่รวมถึง “การตระเตรียมการ” เมื่อขาดส่วนนี้ จึงไม่ครบถ้วน ก่อน 6 โมงเย็นของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยังไม่เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” รัฐธรรมนูญจึงไม่คุ้มครองถึงการตระเตรียมการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน รัฐธรรมนูญซึ่งเขียนว่า “….การกระทำ ประกาศและคำสั่งนั้น ชอบด้วยกฎหมาย” นั้นไม่ทำให้ผู้กระทำบริสุทธิ์ “คือการกระทำชอบก็จริง แต่ตัวไม่ได้บริสุทธิ์”
ผู้แทน – ขอเรียนว่า จุดประสงค์ของเรา คือต้องการว่า “ไม่ผิด” ครับ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บัญญัติเรื่องทำนองนี้ในรัฐธรรมนูญ เราถึงไม่แน่ใจครับ
ประธาน – ใช่ นักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างกันก็ได้
นายพจน์เสนอร่างฯ ซึ่งเป็นร่างฯที่ผสมระหว่างร่างฯที่เสนอโดยท่านเลขาธิการฯกับร่างฯของท่านพจน์เอง เมื่อพิมพ์เสร็จและเสนอที่ประชุมแล้ว ที่ประชุมจึงได้พิจารณาร่างฯใหม่นี้
นายอรรถ – ผมเห็นว่าควรเพิ่ม “จากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นอกเหนือจาก “ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ”
เลขาธิการฯ – เห็นด้วย
เลขานุการฯ – อ่านร่างฯ ในที่ประชุม
ขอเรียนว่า ควรจัด “คณะปฏิรูปฯ” หรือ “หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ” ขึ้นก่อนครับ
ที่ประชุมมีมติให้ “คณะปฏิรูปฯ” ขึ้นก่อน
เลขาธิการฯ – ควรเพิ่ม “หรือในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน” ต่อท้าย “วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519” และเห็นว่าควรตัด “เพื่อปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ออก แล้วต่อด้วย “ด้วยความมุ่งหมาย….” เพื่อให้ถ้อยคำเข้ากันได้
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย และได้แก้คำว่า “ของรัฐ” เป็น “ของราชอาณาจักร” นอกจากนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เพิ่มคำว่า “หรือ” และเรื่องวรรคตอน เป็นต้น แต่โดยที่มีปัญหาว่า ข้อความ “กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน” นั้น จะขยายข้อความตอนใด ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้เป็น “การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว”
นายนาม – ข้อความที่ว่า “ด้วยความมุ่งหมายที่จะบังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร…” นั้น จะทำให้เกิดภาระต้องพิสูจน์ไหมว่า ต้องมีความมุ่งหมายนั้นๆ จึงจะเข้าข่าย มิฉะนั้นไม่เข้า เช่นกรณีย้ายอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
เลขาธิการฯ – เรื่องย้ายอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นการกระทำภายหลังการยึดอำนาจ
เลขาธิการฯ – ผู้แทนเห็นชอบด้วยกับร่างฯ หรือไม่
ผู้แทน – กระผมยังไม่พบข้อบกพร่องครับ
ประธาน – ร่างฯ นี้ครอบจักรวาล คุ้มครองทุกคน
เลขานุการฯ อ่านทบทวนร่างฯ ที่แก้ไขแล้ว
นายนาม – ผมเห็นว่า มาตรา 3 นี้ ขึ้นต้นด้วยการกล่าวถึงตัวบุคคล ฉะนั้นการที่เพิ่มเติมในความต่อมาว่า “การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน” ความอาจจะไม่รับกัน ผมจึงขอเสนอแก้เป็นดังนี้ “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำการหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดอำนาจ…”
นายพจน์ – เราต้องกล่าวถึงว่า “กระทำอะไรก่อน”
นายนาม – ถ้าอย่างนั้น ก็ควรเติมคำว่า “บุคคลใด ๆ” ต่อท้าย “การกระทำที่เกี่ยวเนื่อง…” เพราะข้อความตอนต้นกล่าวถึง “บุคคล”
เลขาธิการฯ – เสนอเป็น “…การกระทำของบุคคลดังกล่าว”
หลวงวิชัยนิตินาท – เสนอเป็น “การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำ…”
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
ผู้แทน – ขอเรียนถามว่า ความที่ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลาย…” นั้น หมายรวมถึง “การตระเตรียม” ด้วยไหมครับ
หลวงวิชัยนิตินาท – หมายถึงการยึดอำนาจโดยตรง การตระเตรียมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
นายนาม – ในร่างฯก็มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึง “การกระทำก่อนหรือหลังอยู่แล้ว”
เลขาธิการฯ – ผมขอเสนอเป็น “…ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจ…” ซึ่งกว้างกว่าและซึ่งรวมถึง “การตระเตรียม” ด้วย
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
เลขานุการ – ขอเรียนเสนอเพิ่ม ความว่า “ซึ่งได้กระทำ” ก่อนข้อความ “ด้วยความมุ่งหมาย…” เพื่อให้รับกับความข้างต้น
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
เลขาธิการฯ – เสนอเพิ่ม “มาทั้งหมดนี้” ต่อท้าย “การกระทำดังกล่าว…ไม่ว่าจะทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ…” ทั้งนี้จะทำให้รวมการกระทำทั้งหมดตั้งแต่บรรทัดแรกลงมาทีเดียว
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
เลขานุการฯ – ขอเรียนเสนอแก้ “อันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้น…” เป็น “ซึ่งได้กระทำไปเพื่อ…”
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
เลขานุการฯ – ขอเรียนว่าข้อความในตอน “ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน…” นั้น กระผมเห็นว่า ยังไม่รับกับข้อความที่มาก่อน ซึ่งกล่าวถึงการกระทำครับ
เลขาธิการฯ – เสนอเพิ่ม “กระทำ”..เป็น “ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ…”
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
นายอรรถ – ขอเสนอ เพิ่มข้อความ “รวมถึงการเตรียมการนั้น” ต่อจาก “เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลดังกล่าว”
นายนาม – ผมเห็นว่าความว่า “เนื่องในการ…” ก็คลอบคลุมถึงการตระเตรียมการแล้ว
นายพจน์ – ใช่ มิฉะนั้น เกรงว่าจะคลอบไปถึงกลุ่มบุคคลอื่นที่ตระเตรียมการยึดอำนาจการปกครองด้วย
ประธาน – ผู้แทนเห็นว่าอย่างไร
ผู้แทน – พอใจแล้วครับ
นายพจน์ – ผมเกรงว่าจะกว้างเกินไปด้วยซ้ำ
หลวงวิชัยนิตินาท – ผู้ที่กล่าวอ้าง ต้องพิสูจน์
ผู้แทน – ที่เป็นห่วงคือ พวกพลทหารซึ่งปฏิวัติตามคำสั่ง
ประธาน – ตามร่างฯ ที่แก้ไขนี้ รวมทั้งหมด ไม่ต้องห่วง
ผู้แทน – ขอเรียนถามปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย แล้วมีกฎหมายออกมาเช่นนี้ จะขัดกับรัฐธรรมนูญไหมครับ
ประธาน – เราเขียนให้กฎหมายเข้ากัน คือรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย…” แต่มิได้บัญญัติว่า ผู้กระทำนั้นก็ “ชอบ” ด้วย เราจึงออกกฎหมายมาล้างความผิด ให้พ้นโทษไปตามหลักการนิรโทษกรรม คือได้มีการทำผิดแล้ว แต่ให้พ้นผิดไป
เลขาธิการฯ – รัฐธรรมนูญกล่าวเฉพาะแต่การกระทำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” แต่กฎหมายนิรโทษกรรมจะล้างผู้กระทำให้พ้นผิดไปให้บริสุทธิ์เลย เพื่อให้ถือว่า ไม่เคยทำผิดเลย
ประธาน – ใช่ ผิดกับเรื่องล้างมลทิน ซึ่งถูกลงโทษแล้ว จึงมาล้างความผิดทีหลัง
เลขานุการฯ – ขอเรียนเสนอให้ที่ประชุมรับร่างฯนี้ สำหรับแบบกฎหมายนั้น ขอรับไปแก้ไขให้สอดคล้องกับแบบที่ประชุมมีมติรับร่างฯและเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของเลขานุการฯ
ปิดประชุม 12.05 น.
(เซ็นชื่อ)
ผู้จัดการประชุม
(เซ็นชื่อ) เลขานุการ