Documentation of Oct 6

จินตนาการของนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

แหล่งข่าวเหล่านี้ได้รายงานพฤติกรรมที่สายโซเวียตจะก่อให้เกิดการจลาจลขนานใหญ่ใน กทม. ในวันที่ 14 ต.ค. 2519 โดยวันที่ 4,5,6,7 ต.ค. 19 เป็นการเข้าที่รวมพลของนักศึกษา วันที่ 8,9,10 ต.ค. 19 เป็นวันเข้าเพิ่มเติมกำลังของกลุ่มกรรมการ วันที่ 11, 12, 13 ต.ค. 19 เป็นวันเพิ่มเติมกำลังจากกลุ่มนักศึกษาต่างจังหวัดและมวลชนในชนบทที่สายโซเวียตได้ปลุกระดมไว้จากภาคอีสาณและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ๋งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการกลับสู่ชนบทเหล่านี้อยู่ และพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นยึดกุมอำนาจรัฐตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2519 และกลุ่มฝ่ายซ้ายได้ขนานนามวันนี้ล่วงหน้าไว้แล้วว่า “วันมหาปิติ” หรือวันมหาปฏิวัติ

บางส่วนจาก “บันทึกคำให้การ” ของพ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ยศในขณะนั้น) ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2519 (เอกสารอัยการคดี 6 ตุลา หอจดหมายเหตุสำนักงานอัยการสูงสุด, ตัวสะกดเป็นไปตามต้นฉบับ)

พ.ท.อุทาร มีบทบาทสำคัญในงานโฆษณาชวนเชื่อและสงครามจิตวิทยาต่อต้านขบวนการนักศึกษาในช่วง 6 ตุลา โดยมีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีที่มีเครือข่ายสมาชิกถึง 260 สถานีเป็นเครื่องมือสำคัญ

จากเอกสารคำให้การข้างต้น อุทารชี้ว่าหลัง 14 ตุลา 2516 มีการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงระหว่างคอมมิวนิสต์สายจีนและสายโซเวียตเพื่อมีอิทธิพลต่อฝ่ายซ้ายในไทย ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้อิทธิพลของสายโซเวียต ซึ่งต้องการคุกคามสถาบันกษัตริย์ สายจีนพยายามรุกกลับด้วยการป้อนข่าวให้แก่ทางราชการ เพื่อเสี้ยมให้ขบวนการนักศึกษาปะทะรุนแรงกับมวลชนฝ่ายขวา แล้วสายจีนจะได้รับประโยชน์ “การวิเคราะห์ที่ดูเพ้อเจ้อเหลือเชื่อนี้เป็นแบบแผนการอธิบายเบื้องหลังเหตุการณ์ในช่วง 2516-2519 โดยผู้เขียนที่เคยเป็นวิทยากรของ กอ.รมน. เช่นกัน (ธงชัย วินิจจะกูล,6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง. หน้า 117)

ที่น่าขำขื่นคือ อุทารกล่าวว่าเขาได้พยายามใช้เครื่องมือสื่อของตนเพื่อ “ผ่อนคลายความกราดเกรี้ยวของประชาชน” ที่มีต่อนักศึกษาหลังภาพข่าวการแสดงล้อเลียนการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าเผยแพร่ออกไป:

ได้มีประชาชนทั่วไปจำนวนมาก และองค์กรประชาชนฝ่ายขวาทั้งที่เปิดตัวแล้วและยังปิดตัวอยู่หลายสิบองค์กรได้มาพบข้าฯที่สถานีวิทยุยานเกราะ เกี่ยวกับรูปภาพนี้และมีแนวความคิดที่จะปฏิบัติการต่อต้านอย่างรุนแรงอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้ ข้าฯ จึงผ่อนคลายความกดดัน โดยรับว่าจะจัดรายการพิเศษนี้ขึ้น เพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าวและเพื่อเตือนให้มวลชนทั่วไป ซึ่งจะต้องทราบเรื่องนี้ในไม่ช้าอยู่ในความสงบหรือชุมนุมกันโดยสงบและจะใช้สถานีวิทยุในชมรมวิทยุเสรีทั้ง 260 สถานีเสนอแนะให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปฏิบัติการตามกฎหมาย เพื่อผ่อนคลายความกราดเกรี้ยวของประชาชน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลลังเลใจและไม่สั่งการแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าควบคุมสถานะการณ์แต่เริ่ม

(ตัวสะกดเป็นไปตามต้นฉบับ)

ที่น่าสนใจคือ คำให้การของอุทาร ชี้ว่าทหารได้ใช้สื่อในเครือข่ายและมวลชนทำงานให้กับฝ่ายรัฐอย่างไร

สถานีวิทยุยานเกราะจึงได้เริ่มผนึกกำลังกับผู้บริหารสถานีวิทยุต่าง ๆ สองร้อยหกสิบสถานี พร้อมกับผู้จัดรายการจำนวนมาก ซึ่งเป็นชมรมวิทยุเสรีและด้านมวลชนมหาศาล ซึ่งเป็นผู้ฟังเป็นกำลังร่วมปฏิบัติการ ไม่ว่าจะในด้านการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายจัดรุนแรงในพื้นที่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้ฟังและในกลุ่มสังคมของผู้ฟัง

ปฏิบัติการจัดตั้งประชาชนให้คอยสอดส่องประชาชนด้วยกันเอง เพื่อเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นงานสำคัญของ กอ.รมน. ตลอดมา แม้ว่าคอมมิวนิสต์จะสูญสิ้นพลังไปจากสังคมไทยนานแล้ว แต่ภารกิจด้านนี้ของ กอ.รมน. ก็ยังดำเนินต่อไป