Documentation of Oct 6

พงษ์พันธ์ เพรามธุรส

อายุ 20 ปี คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ
เสียชีวิตเนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดขณะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

พงษ์พันธ์เกิดในครอบครัวใหญ่ย่านบางยี่เรือ ฝั่งธนบุรี ครอบครัวมีพี่น้องหลายคน เขาเป็นคนที่ 3 และเป็นลูกชายคนแรกของบ้าน คนใกล้ชิดเรียกพงษ์พันธ์สั้นๆ ว่า “เซี้ยะ” เนื่องจากครอบครัวมีฐานะไม่ดีนัก ขณะที่พี่น้องคนอื่นไม่ได้เรียนหนังสือ พงษ์พันธ์เริ่มทำงานตั้งแต่เด็กๆ เพื่อส่งเสียตัวเองและน้องๆ คนอื่นให้ได้ไปโรงเรียน ขณะอยู่ชั้นประถมสี่ เขาเริ่มต้นขายไอศครีม จากนั้นขายโรตีสายไหม และเมื่อเริ่มเรียนชั้นมัธยม พงษ์พันธ์เริ่มทำอาหารคือปอเปี๊ยะขายบริเวณหน้าโรงเรียน พี่สาวของพงพันธ์เล่าว่า พงพันธ์เป็นคนมีน้ำใจ รักครอบครัว ดูแลช่วยเหลือคนในบ้านและเผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้างโดยเฉพาะคนยากไร้ บางครั้งเพื่อนๆ มาหาพงษ์พันธ์ที่บ้านขณะกำลังเตรียมทำอาหารไปขาย เขาจะแบ่งอาหารให้เพื่อนๆ กลับไปฝากคนที่บ้าน สิ่งหนึ่งที่พงษ์พันธ์ย้ำกับน้องๆ ที่ยังเล็กคือ พวกเขาต้องเรียนหนังสือ

พงษ์พันธ์เลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ขณะนั้นพี่สาวคนที่สนิทกับเขามากที่สุดเริ่มค้าขายในตลาดสดช่วยส่งเสียด้านการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เป็นพี่สาวรู้สึกติดค้างมาตลอดว่า “ถ้าตอนนั้นไม่ให้แกเรียน แกคงไม่ตาย” ขณะเรียนที่รามคำแหง พงษ์พันธ์เริ่มทำกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ เช่น การเข้าร่วมค่ายพัฒนา และเดินทางไปภาคอีสานหลายครั้ง เขาชอบกลับมาเล่าถึงสถานการณ์และปัญหาบ้านเมืองให้คนในบ้านฟัง เช่น ปัญหาของชนบทอีสาน และมักจะร้องเพลงที่นักศึกษาสมัยนั้นร้องกันให้พี่ๆ น้องๆ ฟัง เช่น เพลงคนกับควาย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พี่สาวท่านนี้สนใจสถานการณ์บ้านเมือง และเข้ามาร่วมชุมนุมกิจกรรมนักศึกษารวมทั้งกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

วันสุดท้ายที่ในบ้านได้มีโอกาสเจอพงษ์พันธ์คือช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาคม ณ บริเวณสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นพี่สาวของพงษ์พันธ์ได้มาร่วมชุมนุมด้วย พงษ์พันธ์ได้เตือนให้พี่สาวระวังตัวเพราะอาจเกิดเหตุรุนแรง คืนนั้น พี่สาวของพงษ์พันธ์กลับบ้านประมาณเที่ยงคืนเพราะต้องเตรียมขายของในตลาด

ช่วงตีห้าของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ข่าวการปราบปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มเผยแพร่ทางวิทยุ คนค้าขายในตลาดสดเริ่มร้องเพลงหนักแผ่นดิน และหลายคนรู้ว่าพี่สาวของพงษ์พันธ์ไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษาบ่อยครั้ง ช่วงสายของวันนั้น เมื่อน้องชายไม่กลับบ้าน พี่สาวจึงนั่งรถเมล์จากละแวกบ้านย่านบางยี่เรือไปท่าพระจันทร์เพื่อตามหาน้องชาย เธอลงรถเมล์บริเวณหน้ากรมการรักษาดินแดนและเดินข้ามสนามหลวงมายังธรรมศาสตร์และได้เห็นการเผาศพบริเวณถนนหน้าสนามหลวง ช่วงเวลานั้นเธอไม่สามารถเข้าไปข้างในมหาวิทยาลัยได้เลย

ขณะเดียวกับที่น้องชายของพงษ์พันธ์ซึ่งกำลังเรียนชั้นประถมกำลังวิ่งเล่นกับเพื่อนบ้าน เขาได้ยินเสียงประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากวิทยุ หนึ่งในสามคนนั้นมีพี่ชายของเขาอยู่ด้วย พงษ์พันธ์เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตรายแรกๆ ของเช้าวันนั้น

เมื่อพี่สาวกลับมาถึงบ้าน ไม่นานนักมีทหารมาที่บ้าน พี่สาวกับน้องชายจำได้ว่า พวกเขาใส่เครื่องแบบเต็มยศท่าทางเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามาค้นที่บ้าน หาเอกสารและหนังสือต่างๆ และซักถามคนในบ้านเกี่ยวกับพงษ์พันธ์

ในเวลาเดียวกันที่ครอบครัวอยู่กับความหวาดกลัว ครอบครัวเผชิญกับความเศร้าอย่างที่สุดตามที่พี่สาวบอกว่า “แม่รักน้องคนนี้มาก เพราะว่าเป็นลูกชายคนโต แกรักมาก” ส่วนพ่อได้แต่เก็บความเสียใจไว้เงียบๆ “พ่อเสียใจไหม ก็คือเสียใจ แต่เสียใจแบบว่าเป็นผู้ชายเขาไม่แสดงออก ไม่เหมือนแม่” หากแต่ความเศร้าของพ่อและแม่เต็มไปด้วยความอดกลั้นเหมือนว่าไม่มีการตายเกิดขึ้น ตามธรรมเนียมจีนที่ว่าพ่อแม่จะไม่ไปงานศพลูก “คนจีนเขาจะไม่ส่งศพลูก เขาจะไม่รับศพลูก ถ้าลูกเสีย เขาจะไม่ไป เขาบอกให้เผา แม่ไม่ให้เผา ให้ไปฝังที่ชลบุรี แล้วก็ไม่ได้ไปส่งศพ เพราะว่าธรรมเนียมจีน เขาจะไม่ไปกัน เหมือนว่าเขาจะรับไม่ได้ เหมือนว่ายังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ต้องมาตายเสียก่อน”

ความเสียใจของผู้เป็นแม่ส่งผลต่อสุขภาพ แม่ของพงษ์พันธ์ล้มป่วยหลังจากนั้น อีกทั้งอายุมากขึ้นจึงเสียชีวิตเร็วกว่าที่ควรเป็น “แม่ก็รักของเขามาก เขาเสียใจ เขาล้มป่วย พอล้มป่วยไม่สบาย พักหลังๆ ก็อายุด้วยนะแกก็เลยเสีย”

ทุกวันนี้ครอบครัวยังไปเคารพศพที่สุสานของพงษ์พันธ์ทุกปี และเมื่อครบรอบวันที่ 6 ตุลา พี่สาวของพงษ์พันธ์จะมาร่วมทำบุญใส่บาตรทุกปีเงียบๆ ไม่เคยเว้น “ทุกวันนี้ที่ไปใส่บาตรเพราะว่า น้องเราเสีย คนก็ยังไปจัดให้ทุกปี เราก็ไปใส่บาตรที่ธรรมศาตร์ หน้าหอใหญ่ทุกปี”

เทปบันทึกการสัมภาษณ์

เสียงสัมภาษณ์จากพี่สาวและน้องชาย

พี่เป้ง เพื่อนของพงษ์พันธ์