Documentation of Oct 6

อับดุลรอเฮง สาตา

อับดุลรอเฮง สาตา นั่งอยู่แถวหน้าซ้ายสุด
อับดุลรอเฮง สาตา นั่งอยู่แถวหลังขวาสุด

 

อับดุลรอเฮง สาตา 

นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 23 ปี เป็นคนจากบ้านบาลูกา อ. สุไหงปาดี จ. นราธิวาส

อับดุลรอเฮง สาตา หรือ  Abdul Rahim Sata  อับดุลรอเฮง หรือ อับดุล ตามการเรียกของคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ พ่อเป็นครูสอนศาสนาและแม่มีอาชีพขายข้าวยำ ฐานะยากจน เขาเป็นลูกชายคนที่สาม มีพี่ชายสองคน และน้องชายอีกหนึ่งคน ขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ เรียนในโรงเรียนศาสนากันหมด อับดุลเป็นคนแรกของครอบครัวและของตำบลที่เข้าเรียนโรงเรียนสายสามัญและมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งอับดุลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เขาจะได้กลับมาทำงานที่หมู่บ้านและช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของชุมชน

เมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ อับดุลเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมการเมืองอย่างแข็งขัน เขายังเป็นสมาชิกของกลุ่มสลาตัน ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษามลายูปัตตานีที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างปี พ.ศ. 2515-2520

จากความทรงจำของเพื่อนๆ อับดุลเป็นคนร่างเล็ก ไว้ผมยาวประบ่า เป็นคนเงียบและเรียบง่าย สุภาพ สุขุม ขยันเรียน ชอบใช้เวลากับการคิดและช่วยเหลือเพื่อนๆ เสมอ แม้ว่าไม่ได้เป็นคนโดดเด่น แต่เพื่อนๆ รู้ว่า เขาเป็นคนแข็งแกร่งและมุ่งมั่นในอุดมการณ์ ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล อับดุลเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนๆ ที่มาจากภาคใต้ด้วยกันที่ชุมชนบ้านครัว

อับดุลและเพื่อนๆ กลุ่มสลาตันไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม เมื่อถึงตอนเย็นวันนั้น ทุกคนกลับมายังบ้านเช่าเพื่อรับประทานอาหารเย็นและพักผ่อนเอาแรงเพื่อจะได้กลับไปร่วมกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งในวันถัดไป หากแต่อับดุลกลับไปธรรมศาสตร์ในวันที่ 5 นั้นเอง หน้าที่ของอับดุลขณะนั้นคือ ทำหน้าที่ในหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนของมหิดล อับดุลถูกยิงที่ศรีษะขณะหลบอยู่ในตึกคณะบัญชี เขาเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนๆ จากมหิดลอีกสองคน คือ วีระพล โอภาสวิไล และสัมพันธ์ เจริญสุข

ร่างของอับดุลถูกส่งไปชันสูตรที่โรงพยาบาลตำรวจ  ผู้ไปรับมัยยิดหรือศพของเขาคือ เพื่อนๆ ในกลุ่มสลาตัน ได้แก่ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, มุข สุไลมานและสะอุดี ละบายดีมัญ ร่างของอับดุลถูกนำไปที่มัสยิดพญาไทเพื่อทำพิธีละหมาดญะนาซะห์ เขาถูกฝังที่สุสานในมัสยิดพญาไท เมื่อครอบครัวที่บ้านบาลูกาทราบข่าว พวกเขาพยายามเดินทางมากรุงเทพให้เร็วที่สุด หากแต่พี่ชายทั้งสองคนของอับดุลมาไม่ทันร่วมพิธีศพ ครอบครัวของอับดุลทำพิธีละหมาดที่บ้านบาลูกาอีกครั้ง

จากคำบอกเล่าของหลานสาว การเสียชีวิตของอับดุลไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียของครอบครัว หากยังเป็นการสูญเสียของหมู่บ้านและตำบลที่มีชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่มีโอกาสทางการศึกษาดีที่สุด ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญด้านสาธารณสุขขณะนั้น

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ หลานสาวของอับดุลรอเฮง สาตา, คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, คุณมุข สุไลมาน และคุณสะอุดี ละบายดีมัญ

วันที่สัมภาษณ์ 22 กันยายน 2559, 4 พฤศจิกายน 2559 และ 24 มกราคม 2560

สถานที่สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และสำนักงานมูลนิธิคุณภาพชีวิตเพื่อการศึกษา กรุงเทพฯ