Documentation of Oct 6

ความทรงจำ/ความเงียบงันของประวัติศาสตร์บาดแผล : ธงชัย วินิจจะกูล

ความทรงจำอิหลักอิเหลื่อเรื่องการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 [1]

อัญชลี มณีโรจน์ แปล

ประมาณตีสองของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตำรวจและมวลชนติดอาวุธที่กำลังเดือดดาลรวมตัวกันปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ซึ่งประชาชนราวสี่ถึงห้าพันคนมาชุมนุมกันอย่างสงบตลอดทั้งคืน เพื่อประท้วงการกลับมาของอดีตเผด็จการที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศเมื่อสามปีก่อนโดยการลุกฮือของประชาชนในปี 2516 ไม่นานหลังจากนั้นเสียงปืนพกดังขึ้นเป็นระยะ และมีการปาระเบิดขวดเข้ามายังตึกต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งคืน มันเป็นเช้าที่ตึงเครียดสองสัปดาห์หลังจากนักกิจกรรมสองคนถูกฆ่าแขวนคอระหว่างออกไปติดโปสเตอร์ประท้วง และไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษาถูกทหารออกข่าวกล่าวหาว่าเล่นละครเสียดสีแขวนคอหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช นักศึกษาไม่มีโอกาสได้โต้แย้งข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยนี้เลย

เวลา 5.30 น. ระเบิดถูกยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ระเบิดลูกนี้เป็นสัญญาณการเริ่มต้นระดมยิงของทหารอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเวลา 9.00 น.[2] จรวดต่อสู้รถถังยิงเข้าใส่ตึกคณะบัญชีซึ่งในขณะนั้นหนึ่งในสามของผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ นอกรั้วมหาวิทยาลัย หลังจากกองกำลังที่ปิดล้อมมหาวิทยาลัยบุกเข้ามาในรั้วแล้ว พวกเขาลากนักศึกษาบางคนออกไป การรุมประชาทัณฑ์เริ่มต้นขึ้น นักศึกษาสองคนถูกทรมาน แขวนคอ และทุบตีแม้เสียชีวิตแล้วที่ใต้ต้นไม้รอบสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่แยกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกจากพระบรมมหาราชวังด้วยการเดินเพียงสองนาที นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกไล่ล่าจนล้มลงกับพื้น ถูกทารุณกรรมทางเพศและทรมานจนเสียชีวิต บนถนนหน้ากระทรวงยุติธรรม อีกฟากหนึ่งของท้องสนามหลวงตรงข้ามธรรมศาสตร์ ร่างของนักศึกษาสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่หมดสติไปแล้ว ถูกนำมากองสุมกับท่อนฟืน ราดด้วยน้ำมันแล้วจุดไฟเผา ฆาตกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนเหล่านี้เกิดขึ้นในฐานะการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจต่อหน้าธารกำนัล ผู้ชมจำนวนมากรวมถึงเด็กชายตัวเล็กๆ ปรบไม้ปรบมือด้วยความเบิกบานสำราญใจ

ภายในมหาวิทยาลัย นอกจากผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ไม่ทราบจำนวนจากอาวุธสงครามแล้ว ยังมีคนจำนวนมากถูกรุมประชาทัณฑ์ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาถูกลากผ่านสนามฟุตบอลโดยผ้าที่พันอยู่รอบคอของเขา หลังจากนั้นหกร่างถูกนำมากองรวมกันที่พื้นเพื่อให้ชายคนหนึ่งตอกลิ่มไม้ลงตรงกลางอก ราวกับว่าพวกเขาเป็นปีศาจซาตานอย่างที่เห็นกันในหนังฝรั่ง ตามรายงานของตำรวจ มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมด 46 คน[3] และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ตามข้อมูลจากแหล่งอื่น จำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 100 คน และไม่ทราบจำนวนผู้สูญหาย (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา 2521, 81-83)

มันเป็นเช้าวันพุธที่การตายด้วยกระสุนปืนดูเหมือนเป็นการฆาตกรรมที่เจ็บปวดน้อยที่สุดและศิวิไลซ์มากที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือจุดสูงสุดของกระบวนการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ดำเนินเรื่อยมานับตั้งแต่การลุกฮือในปี 2516 ขบวนการนักศึกษาซึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับมูลฐานมากขึ้นได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ทว่าก็ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นจากประชาชนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ขณะที่ทหารและขบวนการฝ่ายขวาซึ่งได้ประโยชน์เต็มที่จากความเหนื่อยหน่ายที่ประชาชนมีต่อข้อเรียกร้องสุดขั้วที่ไม่หยุดหย่อนของนักศึกษา ก็ต้องการเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (Morell and Chai-anan 1981, 161-76, 235-52, 276) ในตอนแรกสาธารณชนรู้สึกกังวล ต่อมาจึงเริ่มหวาดวิตกกับการเมืองแบ่งขั้วและความรุนแรง พวกเขาค่อยๆ ผละหนีจากกลุ่มพลังทั้งสองฝ่ายที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ เป็นเหตุให้ขบวนการฝ่ายซ้ายสูญเสียแรงสนับสนุนจากประชาชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้า ขณะเดียวกันนั้นโฆษณาชวนเชื่อของทหารได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักศึกษา ตีตราว่าเป็นพวก “หนักแผ่นดิน” เป็นศัตรูของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือลูกสมุนของคอมมิวนิสต์ต่างชาติ (โดยเฉพาะเวียดนาม) พระสงฆ์ฝ่ายขวารูปหนึ่งออกมายืนยันว่าการสังหารฝ่ายซ้ายไม่ถือว่าบาปเพราะเป็นการปราบมาร (Keyes 1978, 153) หากมองย้อนกลับไป ดูเหมือนว่าการกวาดล้างนักศึกษาหัวรุนแรงและการหวนกลับมาของการปกครองระบอบทหารเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระนั้นก็ตาม ความอัปลักษณ์อย่างถึงที่สุดของเช้าวันพุธนั้นก็ไปไกลเกินกว่าที่คนไทยคนไหนจะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่ามนุษย์คนไหนจะโหดเหี้ยมได้ถึงเพียงนั้น การที่เรารู้จักผิดชอบชั่วดีและมองการเมืองในแง่ดีได้ปิดกั้นขอบฟ้าจินตนาการของเราเสียสิ้น ทว่าความเป็นจริงไม่เคยปรานีใคร เหตุการณ์ทารุณโหดร้ายในเช้าวันนั้นยังเป็นเรื่องยากเกินเข้าใจในมโนธรรมสำนึกของใครหลายคน

กรณีประวัติศาสตร์ที่เงียบงัน

การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในปี 2519 เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ดังที่บทความนี้จะแสดงให้เห็น มันสั่นคลอนความคิดจิตใจอย่างบาดลึก ทว่าก็ยังไม่ได้รับการสะสาง และยังส่งผลกระทบเรื้อรังต่อทั้งปัจเจกบุคคลและสังคม เรายังต้องการคำอธิบาย การลงมติ หรือการลงเอยในบางลักษณะที่จะช่วยให้ปัจเจกและสังคมทำความเข้าใจกับอดีตอันเป็นบาดแผลนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ความทรงจำและการเมืองที่ยังขัดแย้งกันอยู่ได้ปิดกั้นการแก้ไขปัญหาและยืดระยะเวลาของความสงสัยในตัวเอง ความรู้สึกผิด และบางทีก็เป็นความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมในหมู่ปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำรงอยู่ต่อไป หากภารกิจของวิชาประวัติศาสตร์ในฐานะองค์ความรู้แบบหนึ่งคือการค้นหาความจริงเกี่ยวกับอดีต ประวัติศาสตร์จะจัดการสะสางประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างไร ?

เหตุการณ์ 6 ตุลาต่างจากประวัติศาสตร์บาดแผลหลายกรณีซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ซึ่งผู้รอดชีวิตนับพันได้เปิดเผยความทรงจำส่วนตัวของพวกเขาต่อสาธารณะ การสังหารหมู่ในปี 2519 ในประเทศไทยได้สร้างบาดแผลเจ็บปวดทรมานให้กับสังคมของเรามากจนกระทั่งตลอด 20 ปีหลังการสังหารหมู่มีแต่ความเงียบงันเกี่ยวกับเหตุการณ์ อาจเป็นเพราะว่าจำนวนประชาชนผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มีค่อนข้างน้อย การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์อาจเทียบได้กับการสังหารหมู่ในเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกปี 2511 หรือเหตุการณ์ “2/28” ในไต้หวันปี 2490 ในกรณีนี้ใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าที่ความเงียบงันจะได้เปล่งเสียง และเรื่องราวทั้งหมดของเหตุการณ์ก็ไม่เคยถูกรวบรวมเป็นชิ้นเป็นอัน (ดู Chin 1995 สำหรับกรณีไต้หวัน และ Poniatowska 1992 สำหรับกรณีเม็กซิโก) ในกรณีประเทศไทย นอกจากจำนวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จำกัดแล้ว บทความนี้เสนอว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ อีกที่ทำให้ปัจเจกบุคคลรวมถึงสังคมไทยทั้งหมดรู้สึกอิหลักอิเหลื่อในการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ ดังนั้นความเงียบงันจึงยืดระยะเวลาออกไป นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เลยจนกระทั่งงานรำลึก 6 ตุลาในปี 2539 ในความเป็นจริงเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในวาทกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยไทย กระนั้นก็เป็นการอธิบายอย่างคลุมเครือหรือลึกลับซ่อนเร้นจนเป็นปกติวิสัย มีเพียงในวรรณกรรมนักศึกษาบางชิ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในสิ่งพิมพ์นักศึกษาเนื่องในงานรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองเหตุการณ์ที่การสังหารหมู่ถูกพูดถึงอย่างครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น (บัณฑิตย์ 2526 ; บัณฑิตย์และปรีชา 2528 ; บัณฑิตย์และคณะ 2529 ; ศิโรตม์ 2534) หาไม่แล้วจะมีเรื่องเล่าหรือการวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่เขียนเป็นภาษาไทย[4] ในทางกลับกัน เรื่องสั้นเป็นรูปแบบการเขียนที่แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ได้ดีที่สุด[5] การอภิปรายเกี่ยวกับการสังหารหมู่คลุมเครือและหลบเลี่ยงมาโดยตลอด หลายแง่มุมถูกกดทับไว้ ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่สามารถจัดวางความหมายของเหตุการณ์นั้นโดยเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ ดูเหมือนยังไม่มีวิธีการสืบสวนทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่จะสะสางเหตุการณ์ในอดีตเช่น 6 ตุลาคม 2519 ของประเทศไทยได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดที่ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางคนยังรู้สึกลังเลใจที่จะพูดถึงประสบการณ์ของตนเอง ดังนั้น กระทั่งทุกวันนี้รายละเอียดมากมายของเหตุการณ์ยังคงเป็นเงื่อนงำที่ปิดบังซ่อนเร้นไว้ภายใต้การสงวนท่าที[6]

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำลายความเงียบงัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นก้าวแรกในการเขียนประวัติศาสตร์บาดแผล ร่างแรกของบทความนี้ทั้งในพากย์ภาษาไทยและอังกฤษเขียนขึ้นเพื่องานรำลึกการสังหารหมู่ 2519 ที่จัดขึ้นในปี 2539 (Thongchai 1996 ; ธงชัย 2539ก) งานรำลึกครั้งนั้นเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเปลี่ยนวาทกรรมต่อเหตุการณ์ในแบบที่ไม่มีทางย้อนกลับคืน ผู้คนวงกว้างได้ยินเสียงของเหยื่ออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้รับการจดจำอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรกในฐานะอาชญากรรมที่รัฐไทยกระทำต่อประชาชนของตนเอง กระนั้นก็ตาม อย่างดีที่สุดการทำลายความเงียบงันก็ทำได้อย่างกระท่อนกระแท่นและมีข้อจำกัด การต่อต้านขัดขืนและความลังเลใจที่จะให้ความหมายที่ชัดเจนกับเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงอยู่อย่างเข้มข้น ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการเขียนความจริงเกี่ยวกับเช้าวันนั้นในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น บทความนี้จึงไม่ได้พยายามที่จะเล่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนจะสำรวจข้อจำกัดของวาทกรรมการสังหารหมู่ครั้งนั้นซึ่งยังดำรงอยู่ในความคิดจิตใจของคนไทย และปัจจัยหรือเหตุผลว่าทำไมจึงไม่มีความพยายามแสวงหาความจริง เหตุใดการได้มาซึ่งความจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลาจึงยากเย็นแสนเข็ญ ขณะที่ความเงียบและความทรงจำหลบเลี่ยงกลับยังคงแข็งแกร่ง บทความนี้เสนอว่า ประการแรก ผลกระทบทางการเมืองจากความจริงน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่อาจยอมรับได้อย่างแท้จริง เนื่องจากหลายคนและหลายสถาบันซึ่งทรงอำนาจและได้รับความเคารพเทิดทูนในสังคมอาจจะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม อย่างไรก็ตาม ส่วนหลักของบทความนี้สำรวจความทุกข์ทรมานจากบาดแผลบอบช้ำทางใจ ความละอายแก่ใจ และความสำนึกผิดของทั้งผู้กระทำและเหยื่อในทางที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น บทความนี้ยังเสนอด้วยว่าการสังหารหมู่ครั้งนั้นไม่เข้าร่องเข้ารอยกับอุดมการณ์ปกติเกี่ยวกับอดีตที่พึงจดจำในสังคมไทย ในบริบทของอุดมการณ์ดังกล่าว การสังหารหมู่ขัดฝืนกับความเข้าใจได้และจดจำได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การครอบงำอย่างน้อยที่สุด 3 รูปแบบยังทำหน้าที่ปิดปากประวัติศาสตร์อยู่ กล่าวคือ (1) คำขู่เรื่องผลกระทบทางการเมือง (2) ความรู้สึกผิดไม่ว่าจะเป็นของผู้ก่อกรรมทำเข็ญหรือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ และ (3) อุดมการณ์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติที่คอยกดปราบ “สิ่งที่ผิดจากปกติ” หรือผลักไสไปสู่ความเงียบงัน นำไปสู่ความทรงจำอิหลักอิเหลื่อซึ่งสะท้อนให้เห็นในการจัดการโครงการสร้างอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นที่ขัดแย้งถกเถียงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในปี 2516 และ 2519 บทความนี้แตกต่างจากต้นฉบับดั้งเดิมที่เคยนำเสนอในปี 2539 เมื่อนำงานรำลึก 6 ตุลาที่จัดขึ้นในปี 2539 มาประกอบการอภิปราย เนื้อหาสาระของบทความนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการจัดงานที่มีต่อวาทกรรมและความทรงจำของการสังหารหมู่ครั้งนั้น

ผู้เขียนเองมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์วันนั้นในฐานะหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่จัดการชุมนุมประท้วง ได้เป็นประจักษ์พยานของโมงยามแห่งการสังหารหมู่ เห็นเพื่อนหลายคนล้มตายลงต่อหน้าต่อตา ผู้เขียนถูกจับกุมในเช้าวันพุธนั้นและถูกคุมขังเป็นเวลาสองปี ผู้เขียนเป็นผู้ริเริ่มจัดงานรำลึกในปี 2539 และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตลอด ดังนั้นผู้เขียนอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่เหมาะสมที่สุดในฐานะประจักษ์พยานของเหตุการณ์และยังเป็นนักประวัติศาสตร์เองอีกด้วย ในอันที่จะเขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างน้อยที่สุดจากมุมมองและความทรงจำของผู้เขียนเอง ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนอาจเป็นคนที่เหมาะสมน้อยที่สุดที่จะประเมินเหตุการณ์นั้นอย่างเป็นภววิสัย ผู้เขียนคงไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีอคติใดๆ เลยในการอภิปรายถึงความทรงจำ/ความเงียบงันของประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะปิดฉากความเงียบงันของความทรงจำต่อประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ลงได้ ก็คือการบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดจากทุกฝ่ายและทุกแง่มุม สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะทำในระดับหนึ่งในบทความนี้เป็นสิ่งที่คนไทยคนไหนก็น่าจะทำได้ในอนาคตอันใกล้ สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้นำมาจากงานวิจัยเชิงวิชาการ แต่ก็จะถือว่าเป็นงานเขียนเพื่อการรำลึกด้วย โดยเขียนจากความทรงจำ ความรู้และข้อมูลจากการติดต่อสื่อสารส่วนตัว และจากการครุ่นคิดของผู้เขียนเอง

น้ำท่วมปากทางการเมือง

กว่า 20 ปีหลังการสังหารหมู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในเช้าวันพุธที่โหดร้ายป่าเถื่อนและการสมคบคิดทั้งหมดที่นำไปสู่เหตุการณ์ยังซ่อนตัวอยู่ในเมฆหมอก ความหฤโหดของการฆาตกรรมหมู่โดยตัวมันเองและรัฐบาลขวาจัดที่ขึ้นสู่อำนาจไม่นานหลังจากนั้นได้กำราบไม่ให้ผู้คนพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันควัน ดังที่จะแสดงให้เห็นในรายละเอียดต่อไป การที่สาธารณชนปรารถนาที่จะเห็นความสามัคคีปรองดองหลังจากรัฐบาลซึ่งปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกถูกเขี่ยพ้นอำนาจไป มีส่วนช่วยสืบทอดความเงียบงันให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างสำคัญด้วยเช่นกัน จากจุดยืนนี้ ความสงสัยใคร่รู้และความพยายามที่จะรื้อฟื้นประเด็นนี้ หรือความพยายามใดๆ ที่จะให้ความกระจ่างกับเรื่องที่ยังลี้ลับซับซ้อน ถือเป็นความพยายามบ่อนเซาะทำลายล้างความสมัครสมานสามัคคีในสังคม แม้กระทั่งงานรำลึกที่จัดขึ้นในปี 2539 ก็ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะสร้างความแตกแยก[7] ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับรัฐไทย[8] กระนั้นก็ตาม อย่างที่เราจะได้เห็นต่อไปคือเกิดการโต้เถียงขึ้นเป็นพักๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่และการสมคบคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม โอกาสดังกล่าวรวมถึงงานรำลึกครั้งนั้นประสบความสำเร็จแค่เพียงเตือนให้ผู้คนตระหนักว่าในวันนั้นรัฐก่ออาชญากรรมอัปลักษณ์ เป็นเวลานานหลายปีที่ยากจะพูดถึงข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัด อีกทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้มีอำนาจในวันนั้นยังไม่เคยยอมรับอย่างเปิดเผย การโต้เถียงกันทุกครั้งได้ช่วยขยับเพดานข้อจำกัดของวาทกรรมออกไปทีละนิดทีละหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการจัดงานรำลึก กระนั้นก็ตาม ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราไม่รู้และไม่สามารถอภิปรายได้ ข้อจำกัดยังดำรงคงอยู่

ความจริงขั้นต่ำสุดคือ ผู้มีอำนาจหลายคนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พร้อมทั้งสถาบันแห่งชาติที่สำคัญที่สุดบางสถาบัน อาจเข้าไปพัวพันกับการสังหารหมู่และสมคบคิดที่รายล้อมเหตุการณ์นั้นในทางใดทางหนึ่ง ในที่นี้ผู้เขียนจะอธิบายถึงเหตุการณ์ใกล้ชิดเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่นำไปสู่การสังหารหมู่ เพื่อชี้ให้เห็นเงื่อนงำซ่อนเร้นที่ยังไม่เปิดเผย และความจริงที่ยังพูดไม่ได้ว่าใครอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในบางแง่กับอาชญากรรมคราวนั้น[9]

หลังจากรัฐบาลเผด็จการชุดก่อน 14 ตุลาถูกขับไล่พ้นจากอำนาจด้วยการลุกฮือของมวลชนในปี 2516 นับจากกลางปี 2518 ถึงเดือนกันยายน 2519 มีหลายเหตุการณ์ที่ส่งสัญญาณว่าทหารสมคบคิดกันพยายามที่จะกลับคืนสู่อำนาจ และแล้ววันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอม กิตติขจร เผด็จการที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศและลี้ภัยอยู่ที่เมืองบอสตันตั้งแต่ปี 2516 ก็กลับเข้ามาภายในประเทศ ถนอมห่มผ้าเหลืองบวชเณร สัญญิงสัญญาต่อสาธารณชนว่าปลงใจแล้วที่จะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ละทิ้งทั้งความมั่งคั่งและอำนาจวาสนาทางโลกย์ มีความจริงใจที่จะกลับมาเพียงเพื่อเยี่ยมบิดาที่ใกล้ถึงแก่กรรม เขาอ้างว่าตนไม่มีวาระซ้อนเร้นใดๆ ในทางการเมือง หากมองย้อนกลับไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกลับมาของถนอมเป็นการสมคบคิดที่วางแผนกันมาอย่างดี กระสุนนัดเดียวยิงนกยักษ์ร่วงถึง 2 ตัวด้วยกัน กล่าวคือสามารถปิดฉากขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหัวก้าวหน้าและล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้ในคราวเดียว บิดาของถนอมเสียชีวิตหลังจากนั้น 10 ปี ขณะที่การสละชีวิตฆราวาสของถนอมกินเวลาเพียงแค่ 3 เดือนหลังการสังหารหมู่ เขาสลัดผ้าเหลืองทิ้งในเดือนมกราคม 2520 และเรียกร้องให้คืนทรัพย์สมบัติที่ถูกยึดไปด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น (สยามรัฐ, 8-17 มกราคม 2520) ใครบ้างเกี่ยวข้องในแผนการนำถนอมกลับมา ? นับจากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงหรือตั้งคำถามใดๆ เลย

ขบวนรถยนต์อารักขาพระถนอมจากสนามบินตรงดิ่งไปยังวัดบวรนิเวศฯ อารามหลวงซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนวงกว้าง ที่ซึ่งกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาได้รับการอุปสมบท ถนอมบวชเป็นเณรอยู่ก่อนแล้วตอนเข้าประเทศ จากนั้นได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุทันทีโดยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการเคารพมากที่สุดรูปหนึ่งในประเทศไทย และเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะอุปสมบทในปี 2499 ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาภายหลังในปี 2530 เจ้าอาวาสรูปนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย พระอุปัชฌาย์ในพิธีบวชของถนอมชื่อว่า พระมหาระแบบ เป็นเลขานุการเจ้าอาวาสและเป็นแกนนำฝีปากกล้าของกลุ่มชาวพุทธอนุรักษนิยมขวาจัดที่ชื่อกลุ่มเปรียญธรรมสมาคม หนึ่งวันหลังการอุปสมบทของถนอม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถบินตรงจากพระราชฐานในภาคใต้มายังกรุงเทพฯ ตรงดิ่งไปยังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อเยี่ยมเจ้าอาวาสและพระบวชใหม่เป็นการส่วนพระองค์ ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่วัดซึ่งไม่ได้อยู่ในหมายกำหนดการ ราชินีอ้างว่ามีบุคคลบางกลุ่มจ้องจะทำลายพุทธศาสนาในประเทศไทย และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนช่วยกันปกป้องศาสนาโดยเฉพาะวัดบวรนิเวศฯ แม้ราชินีจะไม่ได้ระบุชื่อศัตรูของพุทธศาสนา แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกฝ่ายซ้ายตกเป็นผู้ต้องสงสัย

นี่เป็นการอุปสมบทพิเศษที่ได้รับการปกป้องและให้ความเห็นชอบโดยอำนาจทางศีลธรรมที่อาจถือได้ว่าได้รับการเชิดชูสูงสุดบนผืนแผ่นดินไทย ในทางกลับกัน ดูเกือบจะเหลือเชื่อที่สองสถาบันสำคัญสูงสุดของประเทศคือสถาบันกษัตริย์และสถาบัน­สงฆ์จะมีส่วนร่วมในแผนการครั้งนี้ แทบจะไม่มีการเอ่ยถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องของสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชินีในฐานะข้ออ้างเพื่อการสังหารหมู่ ยกเว้นในสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่ฉบับ (Morell and Chai-anan 1981, 270-73) แต่ก็ยังไม่มีและคงไม่อาจมีการสืบสวนประเด็นเหล่านี้ นับจากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีใครตั้งคำถาม ชูประเด็น หรือแม้แต่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงพวกนี้ เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ในช่วงการจัดงานรำลึกในปี 2539 ผู้จัดและผู้เข้าร่วมทุกคนต่างตระหนักเป็นอย่างดีว่า เพื่อรักษาหัวของทุกคนไม่ให้หลุดจากบ่า ต้องพึงสำเหนียกถึงข้อจำกัดนี้และผลที่จะตามมาจากการละเมิดข้อจำกัดดังกล่าว

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกลับมาของถนอมอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษเช่นนี้เป็นความตั้งใจอย่างเปิดเผยที่จะทำลายความชอบธรรมของการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาหัวก้าวหน้า กระนั้นก็ยังเกิดการประท้วงขึ้นอีกหลายครั้งในหลายจังหวัด หากพิจารณาผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้ถ้าการเผชิญหน้าขยายตัวลุกลาม การให้ความชอบธรรมกับการกลับมาของถนอมยังเป็นการชิงลงมือก่อนที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จะทันได้พยายามแก้วิกฤตที่เป็นผลมาจากการสมคบคิดนี้ด้วยการบังคับให้ถนอมออกนอกประเทศอีกครั้งก่อนจะเกิดการเผชิญหน้าขึ้น วันที่ 24 กันยายน นักกิจกรรมสองคนคือ นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปติดโปสเตอร์ที่จังหวัดนครปฐมประท้วงการกลับมาของถนอม มีหลักฐานว่าตำรวจเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมแขวนคอนี้ วันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาแสดงละครแขวนคอเพื่อประท้วงความโหดร้ายป่าเถื่อนของตำรวจ และต่อต้านความพยายามทำรัฐประหารใดๆ ก็ตามเพื่อกลับไปสู่ระบอบเผด็จการทหาร

ข้ออ้างฉับพลันสำหรับการสังหารหมู่คือรูปหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพวกฝ่ายขวาที่เผยแพร่ในบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม ระบุว่านักศึกษาหัวรุนแรงแสดงละครแขวนคอหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช ดาวสยาม เป็นหนังสือพิมพ์ประเภทเล่นข่าวฉาว เป็นกระบอกเสียงของขบวนการฝ่ายขวาสุดขั้ว และเรียกร้องให้บดขยี้ขบวนการนักศึกษามาโดยตลอด หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์วันนั้นระบุอย่างไม่คลุมเครือว่าพวกหัวรุนแรงต้องการล้มสถาบันกษัตริย์ ในการชกแค่หมัดเดียว การเผชิญหน้าได้เปลี่ยนรูปไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่ใช่เรื่องการหวนกลับมาของเผด็จการอีกต่อไป แต่กลายเป็นความพยายามของพวกคอมมิวนิสต์ที่จะทำลายชาติและสถาบันกษัตริย์

ความจริงเกี่ยวกับภาพถ่ายนี้ยังคลุมเครือกระทั่งทุกวันนี้ คนจำนวนมากรวมถึง ม.ร.ว. เสนีย์และบางคนในคณะรัฐมนตรีของเขาเชื่อว่าภาพถ่ายใบนี้ถูกตกแต่งดัดแปลง (มติชน, 16 กุมภาพันธ์ 2522) ม.ร.ว. เสนีย์ตั้งข้อสังเกตอย่างเฉพาะเจาะจงว่า กรณีนี้ไม่ใช่แค่การตกแต่งฟิล์ม แต่เป็นการสร้างภาพหลอกลวง เป็นภาพที่ถ่ายขึ้นใหม่ในสถานที่เดิม (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา เล่ม 2 2522, 429) หากเป็นเช่นนั้นจริง ใครเป็นคนทำ ? พวกเขาคาดคะเนล่วงหน้าหรือไม่ว่าผลลัพธ์จะเลวร้ายรุนแรง ? รูปถ่ายละครแขวนคอที่คล้ายคลึงกันตีพิมพ์วันเดียวกันในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาอังกฤษโดยไม่มีการเสนอเป็นนัยว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีข้อกังขาว่า Bangkok Post และ ดาวสยาม มีส่วนสมคบคิดกันในเรื่องภาพถ่ายดังกล่าวหรือไม่ ตัว ม.ร.ว. เสนีย์เองพูดถึงภาพที่เขาเห็นใน Bangkok Post ไม่ใช่ใน ดาวสยาม เวลาล่วงเลยมาถึง 20 ปีกว่าบรรณาธิการของ Bangkok Post ในท้ายที่สุดจะพูดถึงประเด็น 6 ตุลาในงานรำลึกในปี 2539 ว่าพวกเขารู้สึกเสียใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาพถ่ายใบนั้น ทว่าปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในแผนสมคบคิดใดๆ ในเรื่องดังกล่าว พวกเขายืนยันว่าไม่มีการตกแต่งภาพ และกองบรรณาธิการในปี 2519 ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติในภาพนั้น จึงส่งไปตีพิมพ์ในฐานะข่าวเกี่ยวกับละคร (“หน้าแรกของบทบรรณาธิการ”) ยังเป็นเรื่องเร้นลับว่ารูปถ่ายใบนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสมคบคิดที่วางแผนกันมาอย่างดีหรือเป็นความบังเอิญที่น่าเศร้าเหลือเกิน[10] ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม วิธีที่รูปถ่ายนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามขบวนการนักศึกษาด้วยการใช้ความรุนแรงนับเป็นอุบายที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีอย่างไร้ข้อกังขา

ในช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม ภาพจากหนังสือพิมพ์ ดาวสยามจำนวนมากกระจายออกไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ เดินขบวนประท้วงนักศึกษา พวกเขาเข้าล้อมธรรมศาสตร์ในเวลาเที่ยงคืนและไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสลายตัว ตามคำให้การของสิบตำรวจเอกอากาศ ชมภูจักร ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในการพิจารณาคดี 6 ตุลาในปี 2521 ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ประจำการอยู่ที่หัวหิน ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 300 กิโลเมตร ได้รับคำสั่งซึ่งปราศจากคำอธิบายตอนตีสองให้เร่งรุดเข้ากรุงเทพฯ หน่วยปฏิบัติการของเขาซึ่งมีตำรวจราว 50-60 นาย แต่ละนายติดอาวุธครบมือ มีปืนเอชเค 33 พร้อมกระสุนคนละ 70-80 นัด เดินทางด้วยรถบรรทุกและรถจี๊ปถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 6 โมงเช้า (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา เล่ม 2 2522, 345-46) กระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่ง ตชด. เพราะรัฐบาลไม่ได้สั่ง[11] เมื่อถึงเวลาตีสองของคืนนั้น เท่าที่ผู้เขียนจำได้ สถานการณ์ที่ธรรมศาสตร์ตึงเครียด แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะต้องมีการเผชิญหน้ากันของกองกำลัง นอกจากนี้ ไม่มีเหตุผลที่กองกำลังใดๆ ซึ่งอยู่ห่างออกไปด้วยการเดินทางทางรถยนต์ 4 ชั่วโมงจะต้องถูกเรียกให้เข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ตชด. และลูกเสือชาวบ้านกลายเป็นกองกำลังที่ร้ายกาจที่สุดในการสังหารหมู่ครั้งนั้น (Bowie 1997, 28-29) แม้ไม่มีหลักฐานเช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีการสืบสวนถึงความเกี่ยวข้องของสถาบันกษัตริย์ในการสังหารหมู่ครั้งนี้ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ตชด. มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนัก (Lobe and Morell 1978, 169) ตชด. ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาด้วย (Bowie 1997, chapter 2 and 3) อันที่จริงแล้วสมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์กระตือรือร้นอย่างสูงในการระดมขบวนการลูกเสือชาวบ้านในช่วงเวลานั้น (Bowie 1997, 82-86, 97-99, 108 ; Morell and Chai-anan 1981, 242-44)

ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ยังมีอำนาจอยู่หรือไม่ หรือมีมากเท่าไรในช่วงรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม กลุ่มผู้นำนักศึกษาซึ่งมีสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. รวมอยู่ด้วย เห็นพ้องกับตัวแทนเจรจาจากรัฐบาลที่จะเข้าพบนายก­รัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรม ตามคำบอกเล่าของสุธรรม พวกเขาถูกตำรวจหน่วงเหนี่ยวไว้พักหนึ่ง แล้วจึงถูกนำตัวไปยังที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ครั้นเดินทางไปถึงที่นั่นแล้ว พวกเขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากรถ หลังจากลังเลอยู่พักหนึ่ง อาจเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแผนทางการเมือง ในที่สุดตำรวจในรถก็นำนักศึกษาตัวแทนการเจรจาตรงไปยังห้องคุมขัง การพบปะกับนายกฯ จึงไม่เคยเกิดขึ้น (สุธรรม 2522, 37-43) สิ่งที่ยังไม่กระจ่างชัดก็คือ เป็นคำสั่งของใครที่ทำให้การเจรจาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้จำต้องล้มเลิกไป

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลล่าช้าในการสนองตอบต่อเหตุฆาตกรรมซึ่งห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรเพราะพัฒนาการที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดไม่ถึง และรัฐบาลก็มีวิกฤตของตนเองที่ต้องแก้ไข ตามคำบอกเล่าของรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมพิเศษในเช้าวันนั้นเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (สุรินทร์ 2529, 126) วัตถุประสงค์คือเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด กล่าวคือ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มฝ่ายขวาที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย และลูก­เสือชาวบ้านกับกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังชุมนุมประท้วงอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขับไล่รัฐบาล รัฐมนตรีที่คัดค้านมาตรการดังกล่าวคือชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย (เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2531-2534) และประมาณ อดิเรกสาร (เป็นรองนายกรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลระหว่างปี 2518-2530) (สุรินทร์ 2529, 126 ; วัฒนชัย 2531, 144-45) พวกเขาคัดค้านมาตรการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการให้การชุมนุมประท้วงของลูกเสือ­ชาวบ้านดำเนินต่อไป ชาติชายนำ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้ร่วมก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน เข้ามาในห้องประชุมเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งของตน ตำรวจอีกคนคือ พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ เข้ามาพร้อมน้ำตานองหน้าเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่านักศึกษาติดอาวุธหนักส่งผลให้ตำรวจบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เจริญฤทธิ์และประมาณเสนอว่า นี่เป็นโอกาสที่จะปราบปรามนักศึกษาและ “ลบชื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรนักศึกษาแนวหน้าให้หายไปจากประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม อธิบดีกรม­ตำรวจ พล.ต.อ. ศรีสุข มหินทรเทพ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่มีส่วนร่วมในแผนสมคบคิด รายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่าไม่มีตำรวจเสียชีวิตและมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บ คณะรัฐมนตรียังได้รับแจ้งด้วยว่าตำรวจพบเพียงปืนพกขนาดเล็ก 3 กระบอกในหมู่ผู้ชุมนุม (สุรินทร์ 2529, 126-27) กระนั้นรัฐบาลก็ยังลังเลใจ แม้จะรู้ว่ารายงานเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นตำรวจนั้นเป็นเท็จ รัฐบาลก็ยังออกแถลงการณ์กล่าวโทษนักศึกษาสำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น[12] รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นอีกเลย ต่อมาในบ่ายวันนั้น ลูกเสือชาวบ้านเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรี 3 คนที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ลาออก หนึ่งในนั้นคือชวน หลีกภัย ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2535-2538 และ 2540-2544 ในที่สุดการชุมนุมประท้วงของลูกเสือชาวบ้านสลายตัวไปหลังการรัฐประหารด้วยการปรากฏตัวของพระบรมโอรสาธิราชที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขอร้องให้พวกเขากลับบ้าน

รัฐประหารโดยทหารประกาศอย่างเป็นทางการเวลา 18.00 น. แม้ว่าเรื่องราวทั้งหมดของการรัฐประหารครั้งนี้ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เชื่อกันว่าทหารกลุ่มหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในแผนการที่นำไปสู่การสังหารหมู่ แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นจริงนั้นนำโดยทหารอีกกลุ่ม ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มหลังนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่หรือไม่ หรือผู้สมคบคิดกลุ่มอื่นๆ ในการสังหารหมู่เช้าวันนั้น เช่น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังลูกเสือชาวบ้านและตชด. มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารเย็นวันนั้นหรือไม่อย่างไร กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงสำคัญก็คือบุคคลกลุ่มเดียวกันนี้หลายคนยังทรงอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองไทยในทศวรรษ 1990

สุดท้ายทว่าสำคัญมาก จนถึงเดี๋ยวนี้ยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สถานการณ์บานปลายเกินควบคุมอย่างนั้นหรือ ? ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวาอยู่ในภาวะสับสน ไม่สามารถควบคุมฝูงชนฝ่ายขวาได้ และความโหดร้ายป่าเถื่อนก็เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนอย่างนั้นหรือ ? หรือว่ามันถูกคาดการณ์และวางแผนไว้แล้วล่วงหน้า ? มีใครพยายามจะหยุดมันบ้างไหม ?

มีการกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อาจตั้งใจวางแผนสมคบคิดที่จะยุติการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายในเมืองเพื่อบีบให้นักศึกษาเข้าร่วมกับการต่อสู้ติดอาวุธในเขตป่า ตามข้อสันนิษฐานนี้ ละครแขวนคอและภาพถ่ายนั้นอาจไม่ใช่อุบัติเหตุ (Zimmerman 1976, 66-67)

…พคท. ได้แทรกซึมอยู่ในการนำ [ของขบวนการนักศึกษา] และเลือกที่จะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบนั้นจากพวกฝ่ายขวา ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้นำพรรคอาจให้เหตุผลว่าความรุนแรงที่ขยายวงกว้างต่อนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงอยู่ที่ธรรมศาสตร์คือสิ่งจำเป็นเลยทีเดียวที่จะช่วยชักพาให้กลุ่มแกนนำนักศึกษาซึ่งมีศักยภาพจำนวนมากปฏิเสธการปฏิรูปตามระบอบรัฐสภาในท้ายที่สุด และเข้าร่วมกับแนวทางการปฏิวัติของพรรคในเขตป่าเขา นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องมีนัยว่า พคท. จงใจจัดฉากการแสดงละครแขวนคอนั้นเพื่อกระตุ้นความโกรธแค้นของฝ่ายขวาโดยคิดคำนวณไว้แล้วล่วงหน้า (Morell and Chai-anan 1981, 282)

ยิ่งไปกว่านั้น มีการกล่าวหาด้วยว่าผู้นำนักศึกษาปฏิเสธที่จะสลายมวลชนเพื่อปล่อยให้การฆาตกรรมเกิดขึ้น[13] การที่ พคท. เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการสังหารหมู่ในท้ายที่สุดกลายเป็นความรู้ทั่วไปซึ่งแม้แต่กองทัพก็ยังยอมรับ ตามคำบอกเล่าของผู้นำนักศึกษาหลายคนซึ่งต่อมาได้พบกับผู้นำ พคท. พคท. รับรู้เรื่องดังกล่าวและแสดงความพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในความคิดของผู้เขียน แผนสมคบคิดที่กล่าวหา พคท. นี้เป็นจินตนาการเพ้อพกที่ไม่มีหลักฐานรองรับ แนวคิดนี้ตั้งสมมติฐานว่า พคท. มีความสามารถที่จะทำนายเหตุการณ์และชักใยสถานการณ์ทุกขั้นตอน ซึ่งในความเป็นจริงคาดคะเนล่วงหน้าไม่ได้ เช่น การที่ละครแขวนคอไม่ได้ทำให้ผู้ชมแม้แต่คนเดียวคิดสงสัยว่าการแสดงนั้นเกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Puey 1977, 5) จนกระทั่งภาพถ่ายเผยแพร่ผ่านทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ พคท. การถูกปิดล้อมโดยตำรวจซึ่งไม่สามารถ (หรือไม่ได้รับมอบหมาย) ควบคุมลูก­เสือชาวบ้านได้ ฝูงชนที่โกรธแค้นซึ่งอยู่เหนือการควบคุม ระดับของความโหดร้ายป่าเถื่อนที่คาดไม่ถึง และอื่นๆ ในแง่หนึ่ง ข้อกล่าวหานี้ยกเกียรติภูมิให้กับ พคท. มากเกินจริงสำหรับความสำเร็จและ/หรือล้มเหลวของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในยุคนั้น

หากมองย้อนกลับไป แน่นอนว่า พคท. มีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะแนวคิดสุดขั้วไม่ประนีประนอมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขบวนการนักศึกษา ซึ่งส่งผลในแง่ของการที่ผู้นำนักศึกษาจะคิดและตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์ที่อ่อนไหวครั้งนั้น ในนาทีวิกฤตเท่าที่ผู้เขียนจำได้ ไม่มีผู้นำนักศึกษาคนไหนเลยที่จะทำนายได้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น การสังหารหมู่เป็นเพียงทฤษฎีที่พวกเขาเรียนรู้จากการอ่านเรื่องราวประสบการณ์ของขบวนการนักศึกษาในที่อื่นๆ การคาดคะเนใดๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่เป็นเรื่องนามธรรมอย่างถึงที่สุด เมื่อมันเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แกนนำทุกคนรู้สึกตกตะลึงอย่างถึงที่สุดและไม่รู้เลยว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า อย่าว่าแต่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่จะส่งเสริมการต่อสู้ติดอาวุธของ พคท. อย่างที่ถูกกล่าวหา

ควรจะชัดเจนแล้วในตอนนี้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 นั้นมีมากมายก่ายกอง ข้อเท็จจริงเหล่านี้สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อย่างแน่นอน กระนั้นก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความพยายามใดๆ เลยที่จะสอบสวนเหตุการณ์ และเป็นการยากที่จะโทษว่าใครกันแน่เป็นผู้กระทำความผิด ประการแรก ดูเหมือนไม่สามารถหาหลักฐานได้อย่างเพียงพอ เพราะดูเหมือนว่าคนที่เกี่ยวข้องไม่อยากจะพูดถึงมัน ประการที่สอง สมมติว่ามีการรวบรวมหลักฐานได้อย่างเพียงพอ ความจริงนั้นอาจทำลายล้างบุคคลจำนวนมากและสถาบันต่างๆ กล่าวคือ สถาบันทหาร สถาบันสงฆ์ และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาและกุมอำนาจในสังคมไทย ความจริงอาจนำไปสู่หายนะทางการเมืองและสังคม ซึ่งจะส่งผลทำลายผู้ซึ่งพยายามแสวงหาความจริงเองด้วย ดังนั้น ความเงียบงันไม่ว่าจะเกิดจากความกลัวหรือความวิตกกังวลถึงผลอันไม่อาจคาดเดาได้ต่อประเทศชาติ จึงเป็นภาคบังคับโดยตัวมันเองไปโดยปริยาย ประวัติศาสตร์บาดแผลในปี 2519 จึงยังเงียบงันอยู่ในราชอาณาจักรที่การพูดถึงเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ ประวัติศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ของเหตุการณ์ไม่อาจเขียนขึ้นได้ภายใต้ระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน

แต่เหตุผลของความเงียบงันนี้ไม่ได้มาจากการอภิปรายไม่ได้ในทางการเมืองเท่านั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์การเมืองและวาทกรรมการสังหารหมู่ 6 ตุลาจะเปลี่ยนแปลงไป กลับกลายเป็นว่าทั้งผู้ก่อกรรมทำเข็ญและเหยื่อของเหตุการณ์ต่างรู้สึกอิหลักอิเหลื่อและทุกข์ทนจากบาดแผลไปในทางที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เป็นการยากที่พวกเขาจะทลายกำแพงแห่งความเงียบงันที่ตนเองสร้างขึ้นได้

ความอิหลักอิเหลื่อของผู้กระทำ : จากปรีดาปราโมทย์สู่ความอดสู

บ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สถานีวิทยุยานเกราะซึ่งในวันนั้นเข้าควบคุมคลื่นวิทยุทั่วทั้งประเทศ ออกอากาศสัมภาษณ์สดตำรวจหลายนายที่บุกทะลวงเข้าไปในธรรมศาสตร์ในช่วงเช้า[14] พ.ต.ท. สล้าง บุนนาค ตำรวจกองปราบฯ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจยศสูงซึ่งนำกำลังบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ อธิบายปฏิบัติการโจมตีที่ประสบความสำเร็จด้วยอารมณ์ปรีดาปราโมทย์ สล้างและผู้ดำเนินรายการพูดเยาะเย้ยเสียดสีนักศึกษาที่ถูกทุบตีจนพูดไม่ได้ พวกเขากล่าวว่า นักศึกษาเหล่านั้นต้องเป็นคนญวน ไม่เช่นนั้นจะต้องพูดได้ แล้วพวกเขาก็หัวเราะ ความบ้าคลั่งในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และอารมณ์ปรีดาปราโมทย์ต่อความสำเร็จในเช้าวันนั้นทำให้พวกเขาและผู้ฟังตามืดมัว ใจดำอำมหิต และทำลายความเป็นมนุษย์ของตนเองพอๆ กับที่ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักศึกษาฝ่ายซ้ายด้วยการโฆษณาชวนเชื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา

หลังการสังหารหมู่ บทความในหนังสือพิมพ์นับจากปี 2519 ถึงเดือนมกราคม 2520 มักเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “การจลาจล” หรือ “การก่อความวุ่นวาย” แต่ไม่เคยเรียกว่า “การสังหารหมู่” เหยื่อถูกทำให้เป็นเหยื่อต่อไปอีก พวกเขาถูกเรียกว่าผู้ก่อการจลาจล ผู้ก่อความวุ่นวาย คอมมิวนิสต์ กบฏ ผู้หลงผิด หรือศัตรูของชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ อันเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์ไทย พวกเขาคืออาชญากรผู้สังหารตำรวจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าในความเป็นจริงตำรวจเพียงไม่กี่รายที่บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ชุมนุมป้องกันตนเองหรือตอบโต้ต่อการสังหารหมู่ เห็นได้ชัดว่านักศึกษาเป็นทั้งเหยื่อและอาชญากร

อย่างไรก็ตาม หลายปีผ่านไปวาทกรรมต่อเหตุการณ์วันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทางที่การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในเช้าวันนั้นกลายเป็นมูลเหตุของความอัปยศอดสูอย่างถึงที่สุด นอกจากข้อสังเกตปลีกย่อยหลายอย่าง ความอัปยศนี้สะท้อนให้เห็นเด่นชัดใน 2 เหตุการณ์ขัดแย้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ครั้งนั้น กรณีแรกคือ การพิจารณาคดี 6 ตุลา ในปี 2520-2521 และกรณีที่สองคือ กรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในปี 2531

คดี 6 ตุลา

ในหมู่นักศึกษา 3,000 คนที่ถูกจับกุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม มี 19 คนที่ถูกตั้งข้อหาและนำขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหารในเดือนกันยายน 2520 เกือบหนึ่งปีหลังจากถูกจับ[15] ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้น หลังจากหนึ่งปีภายใต้รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษานิยมเจ้าผู้จงรักภักดี การพิจารณาคดี 6 ตุลา ระหว่างปี 2520-2521 เปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนนักศึกษาได้แสดงพลัง เพราะการไต่สวนกลายเป็นโอกาสอันชอบธรรมสำหรับการรวมตัวทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในศาลที่ตั้งอยู่ในเขตทหาร รัฐบาลของหลายประเทศส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นหลักประกันว่าจะมีความยุติธรรมในการพิจารณาคดี แรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เพิ่มมากขึ้นนี้เปิดโอกาสให้กับวาทกรรมคู่แข่งของเหตุการณ์ ซึ่งในวาทกรรมนี้นักศึกษาไม่ใช่ผู้ก่อการจลาจลและยิ่งไม่ใช่อาชญากร

บรรยากาศทางการเมืองเปิดขึ้นอีกหน่อยหลังจากที่รัฐบาลธานินทร์ถูกขับพ้นจากอำนาจโดยการรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2520 หนึ่งเดือนให้หลังนักวิชาการและผู้นำฝ่ายพลเรือนจำนวนมากลงชื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดี ตามด้วยปฏิบัติการที่คล้ายกันในส่วนของทนายความชั้นนำนับร้อยคนจากทั่วทั้งประเทศ คนไทยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รัฐบาลและองค์กรต่างประเทศ เหตุผลหลักที่อ้างถึงในการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมคือเพื่อความปรองดองของชาติ (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา เล่ม 1 2521, 302-21 ; หนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2521) ในระหว่างนั้น การพิจารณาคดีที่ดำเนินไปกลับกลายเป็นภัยคุกคามทางการเมืองต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในแผนสมคบคิด มากกว่าชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันในการก่ออาชญากรรม ไม่เพียงแต่พยานในการฟ้องร้องหลายคนล้มเหลวที่จะชี้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดใดๆ แต่ศาลทหารยังกลายเป็นสถานที่ซึ่งข้อเท็จจริงและความจริงที่ปรากฏขึ้น ชี้ให้เห็นแผนสมคบคิดและความลึกลับซับซ้อนที่ห้อมล้อมการสังหารหมู่ มุมมองของสาธารณชนต่อการสังหารหมู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การไต่สวนดำเนินไป ผู้เขียนจำความรู้สึกในหมู่พวกเราซึ่งเป็นจำเลยได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐกลับกลายเป็นผู้ถูกไต่สวนเสียเอง

ในเดือนกันยายน 2521 รัฐบาลเร่งผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ล้างโทษให้ทุกคนในทุกความผิดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้ตามที่ได้ระบุไว้คือสมานรอยร้าวในสังคมไทย แม้ว่าผลที่เกิดขึ้นทันทีคือการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดที่ถูกฟ้องในคดี 6 ตุลา ไม่ยากเลยที่จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของการนิรโทษกรรมตกอยู่กับรัฐ ตำรวจ และผู้ก่อกรรมทำเข็ญทั้งหมด เนื่องจากพ.ร.บ. ดังกล่าวขจัดความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาคดีใดๆ ได้อีกในอนาคต ประกาศของทางการรวมถึงตัว พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนั้นระบุว่า จำเลยได้กระทำความผิดเนื่องจากด้อยประสบการณ์แต่ได้ถูกกักขังนานพอแล้ว (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา เล่ม 2 2522, 415) เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ย้ำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมโอรสาธิราชเป็นผู้พระราชทาน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนี้ จำเลยที่ถูกปล่อยตัวควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เขาสั่งสอนเราและเตือนเรา “ไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก” (มติชน, 22 กันยายน 2521)

ในการตอบโต้ต่อประกาศของทางราชการฉบับนี้ สุธรรม แสงประทุม ผู้นำของฝ่ายจำเลยประกาศว่า “เราคือผู้บริสุทธิ์” เป็นยุทธวิธีที่แสดงนัยว่าอาชญากรตัวจริงยังไม่เคยถูกนำตัวมาไต่สวน ผู้นำนักศึกษาที่ได้รับการปล่อยตัวซึ่งเป็นตัวแทนทางสัญลักษณ์ของขบวนการนักศึกษาทั้งหมดจึงไม่ใช่บุคคลน่ารังเกียจของสังคม ผู้ก่อจลาจล อาชญากร ผู้ทรยศ หรือศัตรูของชาติอีกต่อไป มีการจัดงานรับขวัญนักศึกษาที่ได้รับการปล่อยตัวในหลายมหาวิทยาลัย ในแง่หนึ่งการจัดงานแบบนี้เป็นการเผยแพร่วาทกรรมสวนทาง (counter discourse) รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง สั่งให้มหาวิทยาลัยยกเลิกการจัดงานโดยให้เหตุผลว่า การจัดงานอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มขัดแย้ง และการปรองดองไม่อาจเริ่มต้นขึ้นได้หากทุกฝ่ายและสาธารณชนไม่หยุดพูดถึงเหตุการณ์ จึงควรปล่อยให้เหตุการณ์ 6 ตุลาจางหายไป (มติชน, 22-27 กันยายน 2521) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวาทกรรมการสังหารหมู่ กระนั้นก็ตาม หัวใจสำคัญของการปรองดองนี้คือการที่รัฐบาลขอให้สาธารณชนลืมเลือนและปล่อยให้การสังหารหมู่ครั้งนั้นค่อยๆ จางหายไปโดยไม่มีการชี้ตัวผู้กระทำความผิด เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จุดยืนของรัฐบาลคือการเพิกเฉยต่อผู้กระทำการสังหารหมู่และสนับสนุนส่งเสริมให้ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

หลัง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมา วาทกรรม 6 ตุลาผสมผเสปนเปกัน โดยทั่วไปแล้วรัฐพยายามกดปราบการเปิดเผยหรือการอภิปรายใดๆ ในวงกว้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ ตำรวจเข้ายึดและปิดนิตยสารข่าว โลกใหม่ ซึ่งตีพิมพ์รูปการสังหารหมู่หลายรูปเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2522 เมื่อไรก็ตามที่ 6 ตุลาปรากฏขึ้นในหน้าสาธารณะ เจ้าหน้าที่จะขอให้ประชาชนลืมมันเสียเพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยกในสังคม (สยามใหม่, 16 ตุลาคม 2525, 21) มีเพียงในชุมชนมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่การสังหารหมู่ได้รับการรำลึกถึงในรูปแบบที่แตกต่างกัน (ดูคำพูดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มติชน, 7 ตุลาคม 2526)

กรณีจำลอง ศรีเมือง

จำลอง ศรีเมืองเป็นนายทหารนอกราชการและอดีตผู้นำกลุ่ม “ยังเติร์ก” กลุ่มนายทหารผู้มีอิทธิพลกลุ่มเล็กๆ ซึ่งควบคุมหน่วยทหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดระหว่างการรัฐประหารปี 2519, 2520 และการรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2524 (Chai-anan 1982, 22-29) ในฐานะสาวกของสันติอโศก ลัทธิพุทธที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจเก่าในสถาบันสงฆ์ ต่อมาจำลองจึงได้รับความนิยมอย่างสูงเพราะมีชื่อเสียงว่าเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชั่น และมีศีลธรรม เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่า­ราชการกรุงเทพมหานครในปี 2529 ด้วยชัยชนะถล่มทลาย จำลองอาศัยความนิยมที่ได้รับก่อตั้งพรรคพลังธรรมในปี 2531 ซึ่งมีนโยบายมุ่งขจัดการเมืองคอร์รัปชั่น ในช่วงการรณรงค์หาเสียงในเดือนกรกฎาคม 2531 นี่เองที่เกิดการปะทะถกเถียงขึ้น

จงกล ศรีกาญจนา หนึ่งในผู้สมัครสังกัดพรรคพลังธรรมของจำลอง กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะว่า ขณะที่เธอเป็นแกนนำฝ่ายขวาในการชุมนุมประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จำลองซึ่งพรางตัวมาเป็นคนกำกับเวทีและให้นำแนะนำกับผู้ปราศรัยว่าควรพูดอะไรกับฝูงชนที่มารวมตัวกันเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ (หลักไทย, 30 มิถุนายน 2531, 26-28) เห็นได้ชัดว่าเธอตั้งใจคุยโอ่ถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางการเมืองที่ยาวนานของตนกับจำลอง แต่การเปิดเผยใสซื่อส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ การเปิดเผยนี้ถูกมองว่าเป็นข้อกล่าวหาที่น่าตระหนกในเมื่อจำลองมีชื่อเสียงในด้านการเป็นคนเคร่งศีลธรรม จำลองปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการสังหารหมู่ ในช่วงเวลานั้นจงกลซึ่งยังคงเห็นว่าบทบาทของตนในปี 2519 เป็นวีรกรรม[16] จึงถูกพรรคสั่งให้หุบปาก

หลายคนก้าวออกมาทั้งเพื่อยืนยันและล้มล้างข้อปฏิเสธของจำลอง ในหมู่คนเหล่านั้นมีอยู่คนหนึ่งเป็นอดีตเพื่อนของจำลอง ได้อ้างว่าจำลองเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของกองทัพผู้มีความกระตือรือร้นในการจัดตั้งการชุมนุมประท้วงของฝ่ายขวา (ข่าวพิเศษ, 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2531, 16-17) ในอีกด้านหนึ่ง ชัยอนันต์ สมุทวณิช ออกโรงในฐานะผู้พิทักษ์ที่ดีที่สุดของจำลองโดยอ้างอิงคำพูดจากงานวิจัยของตนเองว่า แม้จำลองจะแสดงบทบาทแข็งขันในการต่อต้านนักศึกษาหัวรุนแรง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในการสังหารหมู่ (Chai-anan 1982, 32-33) คำปฏิเสธของจำลอง รวมถึงในครั้งที่กล่าวต่อหน้าคนนับหมื่นในวันก่อนการเลือกตั้งอย่างเก่งก็เป็นได้แค่การตอบไม่ตรงประเด็น เขาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เฉียดเข้าไปใกล้ธรรมศาสตร์เลยในเช้าวันนั้น แต่ยอมรับว่ามีส่วนร่วมในขบวนการฝ่ายขวาในช่วงเวลานั้น และอยู่ในการชุมนุมประท้วงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ลานพระบรมรูป­ทรง­ม้าซึ่งอยู่ห่างจากธรรมศาสตร์ไม่กี่กิโลเมตรในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่พอใจนักศึกษาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความไร้ระเบียบอย่างเห็นได้ชัดในประเทศชาติ จำลองโต้แย้งว่า เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมสับสนอลหม่านอย่างยิ่ง เขาเป็นแค่หนึ่งในหลายคนที่พยายามให้คำแนะนำกับคนบนเวที จำลองปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ หรืออำนวยความสะดวกใดๆ เป็นพิเศษในการชุมนุมนั้น นอกจากนี้ เขายังโต้แย้งด้วยว่า การชุมนุมประท้วงของฝ่ายขวาไม่เกี่ยวอะไรกับการสังหารหมู่ในเช้าวันเดียวกันนั้น (“คำปราศรัยของจำลองฉบับเต็ม,” มติชน, 19 กรกฎาคม 2531)

ระหว่างการปะทะถกเถียงนั้น แกนนำทางการเมืองในปี 2519 อีกหลายคน รวมทั้งชาติชายถูกสื่อมวลชนตั้งคำถาม ทุกคนปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ใกล้ธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น ราวกับว่าการสมคบคิดกันในเหตุการณ์สังหารหมู่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่หรือใกล้ธรรมศาสตร์ และอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวคือการยิงด้วยมือของตนเองเท่านั้น แต่พวกเขาหลบเลี่ยงที่จะพูดถึงบทบาทของตนหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ในขบวนการฝ่ายขวา (ข่าวพิเศษ, 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2531) คนเหล่านี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเรื่องราวที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่นั้นเป็นแผนสกปรกทางการเมืองเพื่อหวังผลโดยตรงในการเลือกตั้ง นักศึกษาที่ผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงมากขึ้นถูกกล่าวหาว่าเป็นหมากทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไม่มีการสืบสวนใดๆ ว่าแกนนำทางการเมืองเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์โหดร้ายป่าเถื่อนในปี 2519 หรือไม่อย่างไร อันที่จริงแล้วข้อแก้ตัวของพวกเขาเป็นการหลบเลี่ยงทางการเมืองชนิดไม่ควรให้ราคาเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดูเหมือนว่าแกนนำทางการเมืองเหล่านี้ซึ่งรวมถึงชาติชายและจำลองเห็นว่าปฏิบัติการของตนในขบวนการฝ่ายขวาเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 2531 พวกเขาพยายามที่จะปกปิดอดีต ขณะที่ตะเกียกตะกายที่จะรักษาเดิมพันทางการเมืองเฉพาะหน้าด้วยการตอบคำถามอย่างหลบเลี่ยงและข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น พวกเขาไม่แม้กระทั่งจะประณามการสังหารหมู่ในปี 2519 คนเหล่านี้พยายามฝังอดีตไว้ในราชอาณาจักรแห่งความเงียบงันต่อไปด้วยการกล่าวหาว่า ความพยายามที่จะเปิดโปงเรื่องราวนั้นเป็นแผนสกปรกทางการเมืองและไม่ควรรื้อฟื้นเหตุการณ์ในปี 2519 ขึ้นมาอีกเพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยกในสังคม

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี การปะทะถกเถียงนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวาทกรรม 6 ตุลาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทบาทของจำลองในวันนั้นย่อมต้องถูกขับเน้นว่าเป็นบทบันทึกแห่งเกียรติยศหากได้รับการเล่าขานเมื่อ 10 ปีก่อน เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์สล้างที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ เมื่อถึงปี 2531 การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของฝ่ายขวาในวันนั้นยังถูกมองว่าเป็นวีรกรรมโดยคนอย่างจงกล แต่ถูกมองว่าเป็นความอัปยศอดสูจากสายตาของสื่อมวลชนและคนจำนวนมากในแวดวงการเมืองสาธารณะ อาชญากรรมคราวนั้นได้รับการตำหนิติเตียนมากขึ้นตามสมควร แม้จะไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเสาะหาตัวผู้กระทำผิดรายบุคคล เหยื่อได้รับการจดจำในฐานะเหยื่อมากขึ้น ไม่ใช่ในฐานะอาชญากรอีกต่อไป แม้ในความเป็นจริงความเงียบงันจะหวนกลับมาอีกในท้ายที่สุด ทว่าในทัศนะของผู้เขียน อย่างน้อยที่สุดนี่ก็เป็นทัศนะเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่มีเหตุมีผลมีสติมากขึ้นกว่าเดิม

ในปี 2537 พ.ต.อ. มนัส สัตยารักษ์ นายตำรวจนักเขียนชื่อดัง ได้เขียนบันทึกความทรงจำขนาดสั้นสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 มนัสเล่าว่าเช้าวันนั้นเขาตื่นขึ้นด้วยความวิตกกังวลห่วงใยนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่อนุญาตให้ตำรวจใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัว เขาอยู่ในธรรมศาสตร์คืนก่อนที่จะมีการสังหารหมู่และเขาพูดว่า เขารู้ว่าผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นนักศึกษานั้นไม่มีอาวุธ ทันทีที่เขามาถึงที่เกิดเหตุในเช้าวันนั้น เขาพยายามอย่างไร้ผลที่จะให้ตำรวจหยุดยิง มนัสคาดเดาว่าตำรวจอาจอยู่ในภาวะสับสนหรือไม่ก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัดของผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด ตำรวจก็ไม่ได้หยุดยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัย มนัสช่วยชีวิตชายคนหนึ่งจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปขวาง ผลก็คือเขาเองเกือบถูกยิง สันนิษฐานว่าโดยผู้ที่กำลังบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มนัสก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ เขาขอให้เพื่อนตำรวจปฏิบัติต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมอย่างมีอารยะ จนกระทั่งชายคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเขาไม่ได้ระบุว่าเป็นใครโกรธเขาและพูดจาข่มขู่ จากนั้นเขาเป็นหัวหน้าควบคุมขบวนรถเมล์ซึ่งบรรทุกนักศึกษาเต็มคันรถไปยังสถานที่คุมขังที่จังหวัดนครปฐม เมื่อไปถึงเขาพบว่า “เชลย” คนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตระหว่างพยายามหลบหนี ด้วยความเป็นคนสองจิตสองใจอย่างเคย มนัสตัดสินใจแก้ตัวแทนลูกน้อง “ผิวขาวเป็นหยวก” เขาพูดเสียงดังต่อหน้าคนอื่นในที่นั้น “น่าจะเป็นญวน” พลบค่ำของวันอันมืดมนนั้นเขาเขียนว่า “เหตุการณ์สงบแล้ว เหลือไว้แต่ซากปรักหักพังยับเยินทั้งทางวัตถุและจิตใจ” (มนัส 2537)

เรื่องเล่านี้มีโทนเสียงเห็นอกเห็นใจเหยื่อจากการสังหารหมู่ ฟังดูแล้วน่าชื่นชม แต่คนก็อาจสงสัยได้ว่าเรื่องเล่าอันหาญกล้าของตำรวจผู้นี้ควรที่จะได้รับการบอกเล่าก่อนหน้านี้หรือไม่ หากเรื่องนี้เขียนขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ไม่กี่ปี นึกไม่ออกว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร ตำรวจนักเขียนนายนี้อาจกลายเป็นผู้รับเคราะห์ไปอีกคนก็เป็นได้ เวลาเปลี่ยน เรื่องเล่าถึงชัยชนะในการสังหารหมู่ของตำรวจเช่นสล้างจึงเปิดทางให้กับเรื่องเล่าแนวแสดงความเสียใจสำนึกผิดเช่นของมนัส แน่นอนว่าเรื่องเล่าทั้งของสล้างและมนัสสะท้อนทัศนคติส่วนตัวของตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา กระนั้นก็ตาม เรื่องเล่าดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงของเงื่อนไขปัจจัยทางวาทกรรม ซึ่งกำหนดช่วงเวลาการเล่าเรื่องที่กลับตาลปัตรของพวกเขาต่อสาธารณะ

เวลาเปลี่ยนวาทกรรมสาธารณะ เห็นได้ชัดว่าเวลายังเปลี่ยนความทรงจำและประวัติศาสตร์อีกด้วย เวลาไม่ใช่การล่วงไปที่ว่างเปล่าของเหล่าทวยเทพที่โคจรไป และเวลาก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดด้วย เวลามีประธานหลายคน แล้วความทรงจำของคนเหล่านั้นก็เกี่ยวพันแนบแน่นอยู่ในความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน คนเรามักรู้สึกสำนึกผิดและละอายแก่ใจเมื่อนึกย้อนกลับไป ไม่แปลกที่คนเราจะรู้สึกสำนึกผิดหลังจากที่คิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งจากมุมมองในปัจจุบันเท่านั้น สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาจไม่กลายเป็นเรื่องน่าละอาย หากโรคหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมองไม่หลีกทางให้ในระดับที่ว่าเมื่อมาถึงปัจจุบันความกลัวคอมมิวนิสต์เมื่อ 20 ปีที่แล้วดูเหมือนเป็นเรื่องวิปริต หากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของฝ่ายขวายังครองอำนาจอยู่ หากสงครามเย็นยังดำเนินต่อไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อยุทธศาสตร์ลดทอนความเป็นมนุษย์จนคอมมิวนิสต์กลายเป็นปีศาจ และหากภัยคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่จริง บรรดาผู้กระทำผิดและผู้สนับสนุนคงไม่มีโอกาสที่จะสะท้อนย้อนคิดถึงความคิดและการกระทำของตน และเหยื่อของเหตุการณ์ 6 ตุลาคงยังถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร แต่เพราะเป็นนักโทษของกาลเวลา อาชญากรจึงกลับกลายเป็นเหยื่อของการกระทำในอดีตของตน

การจัดงานรำลึก 6 ตุลาในปี 2539 นับเป็นจุดเปลี่ยนของวาทกรรมการสังหารหมู่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะอภิปรายถึงเรื่องนี้ ขอให้เราได้พิจารณาผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์สังหารหมู่กันเสียก่อน พวกเขาเองก็รู้สึกอิหลักอิเหลื่อกับอดีตของตนและติดกับอยู่ในบาดแผลที่ซับซ้อนเสียยิ่งกว่า

ความอิหลักอิเหลื่อของผู้ถูกกระทำ : จากเคียดแค้นสู่เศร้าเสียใจ

ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อในหมู่อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายยิ่งซับซ้อนและอธิบายลำบากกว่า ในเกือบทุกกรณี บาดแผลของพวกเขาไม่ได้รับการบันทึกในทางสาธารณะที่ไหนเลย ผู้เขียนมีความรู้สึกร่วมในความอิหลักอิเหลื่อของพวกเขาในบางแง่มุม และเป็นเวลาหลายปีที่ผู้เขียนเองได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากมัน ความเจ็บปวดของพวกเขาถูกซ้ำเติมด้วยความรู้สึกฝันสลายจากขบวนการคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้าย ในท้ายที่สุดได้บีบคั้นความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น หรือความรู้สึกว่าขบวนการเคลื่อนไหวในอดีตของตนถูกต้องชอบธรรมออกไปจนเหือดแห้ง เมื่อปราศจากความภาคภูมิใจ ความเจ็บปวดและหมองเศร้าจากการสูญเสียมิตรสหายไปในการสังหารหมู่และหลังจากนั้น ได้กลายเป็นปีศาจแห่งความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมที่ตามมาหลอกหลอน ซึ่งอาจไม่มีวันขจัดปัดเป่าให้จางหายไปได้เลย ความทรงจำที่เต็มไปด้วยบาดแผลนี้ไม่ใช่เรื่องของความอับอาย ทว่ามันยากเสียยิ่งกว่าที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด

หลังการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ ประชาชนมากกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจำต้องหาที่หลบภัยด้วยการเข้าร่วมกับ พคท. ในเขตป่าเขา แม้ว่าจำนวนมากจะไม่เคยมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ พคท. มาก่อน การสังหารหมู่และการล่าแม่มดที่ตามมาทำให้นักศึกษานักกิจกรรมไม่เหลือที่หลบภัยใดๆ อีก ในเวลาเดียวกันนั้น พวกเขาเห็นว่าการที่ พคท. ปฏิเสธความเป็นไปได้ของช่องทางรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว การสังหารหมู่ได้ผลักไสคนหนุ่มสาวซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้ายเข้าสู่อ้อมกอดของ พคท. ซึ่งปฏิบัติการในหมู่นักศึกษามีความเข้มแข็งขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ ที่อันตรายมากขึ้นหลังการสังหารหมู่ สำหรับหลายๆ คน ความโหดร้ายป่าเถื่อนและการสูญเสียมิตรสหายทิ้งไว้เพียงความขมขื่นและเคียดแค้นในความคิดจิตใจ ทางเลือกของคอมมิวนิสต์ดูเหมือนให้ระบบเศรษฐกิจการเมืองในอุดมคติ พอๆ กับที่ให้ความเป็นไปได้ที่จะแก้แค้น ว่ากันว่านักศึกษาหลายคนที่กลายมาเป็นนักปฏิวัติได้รับแรงบันดาลใจจากการสละชีพของเพื่อนๆ ในวันพุธนั้น ได้ต่อสู้อย่างหาญกล้าและตายเยี่ยงวีรบุรุษในสงครามการปฏิวัติ

ในขบวนการปฏิวัติ ผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่ถือเป็นวีรชนผู้สละชีพเพื่อการปฏิวัติที่จะมาถึงในอนาคต อดีตผู้นำนักศึกษาที่เข้าร่วมการต่อสู้ติดอาวุธคนแล้วคนเล่าพูดออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุใต้ดินของ พคท. กล่าวโทษรัฐไทยและสถาบัน­พระมหากษัตริย์ว่ามีส่วนในการก่ออาชญากรรมที่ธรรมศาสตร์และปรักปรำนักศึกษา พวกเขาสัญญาว่าจะแก้แค้นเมื่อชัยชนะแห่งการปฏิวัติไปถึงกรุงเทพฯ ในอนาคต ดังเช่นเพลงเพลงหนึ่งซึ่งเขียนและขับร้องโดยขบวนการปฏิวัติของนักศึกษา

จักแก้แค้นแทนสหายคนกล้า
จักต่อสู้เพื่อประชาไปตลอดกาล
จักสร้างสรรค์สังคมแห่งอุดมการณ์
อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร

(“สหาย” โดย กรรมาชน)

หากพรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงครามปฏิวัติ ผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่คงได้รับการยกย่องสรรเสริญในฐานะ “วีรชน 6 ตุลา” อย่างแน่นอน นักศึกษาเห็นว่าการสังหารหมู่ตามที่ พคท. เคยกล่าวไว้ได้พิสูจน์ถึงความจริงเกี่ยวกับแนวทางของพรรคที่ พคท. สนับสนุนตลอดมาและนำพาพวกเขามาเข้าร่วมกับการปฏิวัติ กล่าวได้ว่าวีรชนเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนุ่มสาวนักปฏิวัติมากเสียยิ่งกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นดังจุดเปลี่ยนสำหรับหนุ่มสาวนักปฏิวัติ ขณะที่เหตุการณ์ปี 2516 เป็นเพียงชัยชนะของกระฎุมพี หากธงแดงได้ปักลงที่ธรรมศาสตร์ ความแค้นจักได้รับการชำระสะสาง และหนี้บุญคุณของผู้สละชีพจะได้รับการชดใช้

ในความเป็นจริง พคท. และขบวนการฝ่ายซ้ายทั้งหมดล่มสลายลงในต้นทศวรรษ 1980

ความล่มสลายนี้เกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ประการแรก คือความขัดแย้งระหว่างจีน-เวียดนาม ที่นำไปสู่การเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีนในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากเวียดนามที่รับรู้กันในช่วงนั้น พคท. ซึ่งเดินตามก้นรัฐบาลจีนมานานนับทศวรรษและถือว่าลัทธิเหมาเป็นลัทธิสังคมนิยมที่จริงแท้ ตกสู่ห้วงสับสนทางอุดมการณ์และการเมืองอย่างฉับพลันทันที เนื่องจากบัดนี้ผู้อุปถัมภ์และศัตรูของพวกเขาได้มาอยู่ฟากเดียวกันเสียแล้ว พวกเขายังพบด้วยว่าจีนได้ตัดการส่งกำลังบำรุงพวกเขาแล้ว (Gawin 1990, 37-41)

ประการที่สอง คือรัฐบาลไทยเปลี่ยนทัศนคติและยุทธศาสตร์ที่มีต่อลัทธิคอมมิวนิสม์ หลังรัฐประหารปี 2520 รัฐไทยเริ่มถอยห่างจากยุทธศาสตร์ที่ใช้ทหารนำในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และการปราบปรามการก่อกบฏในรูปแบบเก่า รัฐบาลเรียนรู้จากความล้มเหลวว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้ทหารนำหมายถึงการเพิ่มจำนวนคอมมิวนิสต์ (Chai-anan et al. 1990) จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามนักศึกษา ซึ่งยิ่งส่งผลสร้างความแข็งแกร่งและความชอบธรรมให้กับ พคท. มากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะเดียวกัน วาทกรรมสาธารณะเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสม์ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน รัฐไทยใช้เวลานับทศวรรษระหว่างช่วงสงครามเย็นวาดภาพคอมมิวนิสต์ว่าเป็นปีศาจ เป็นลัทธิก่อการร้ายต่างด้าวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่าอาณานิคมและทำลายประเทศชาติ คอมมิวนิสต์จึงต้องไม่ใช่คนไทยอย่างแน่นอน ระหว่างปี 2516-2519 วาท­กรรมนี้ได้รับการท้าทาย ปรากฏว่าคอมมิวนิสต์จำนวนมากเป็นชาวบ้านชนบทที่ถูกละเลยหรือกดขี่ และเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจในทางมิชอบ (Morell and Chai-anan 1981, 169-72, 213-28) ดังนั้น ยิ่งถูกข่มเหงรังแกมาก ก็ยิ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์กันมาก ด้วยเหตุนี้ การสังหารหมู่ในเดือนตุลาคม 2519 จึงเป็นการพุ่งสู่จุดสูงสุดของยุทธศาสตร์แบบเก่า และในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของยุทธศาสตร์นั้นด้วย คอมมิวนิสต์ในเมืองส่วนมากเป็นลูกหลานของกระฎุมพี ซึ่งอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสม์ดึงดูดใจพวกเขาตรงกันข้ามกับรัฐเผด็จการ หลายคนกลายเป็นคอมมิวนิสต์เพราะการที่รัฐใช้อำนาจในทางมิชอบอย่างเลวร้ายที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่คนต่างด้าว ฉะนั้น พคท. ก็ไม่ใช่อำนาจต่างด้าวไปในทันทีด้วยเหมือนกัน การนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาและวาทศิลป์เรื่องการปรองดองสะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ในการโต้กลับนักปฏิวัติ มันตกผลึกในเอกสารที่รู้จักกันในชื่อว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ในปี 2523 (Suchit 1987, 49-76, 90-104) คำสั่งนี้เริ่มต้นสร้างหลักการและแนวปฏิบัติแบบใหม่ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการตระหนักว่า “ปัญหา” คอมมิวนิสต์เป็นปัญหาการเมืองภายในเป็นหลัก ไม่ใช่ปัญหาทางการทหาร ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมกับ พคท. โดยอนุญาตให้กลับไปศึกษาต่อโดยไม่มีทั้งการตั้งเงื่อนไขหรือสอบสวน

ประการที่สาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภายใน พคท. นักศึกษาฝ่ายซ้ายกำลังรู้สึกคับข้องใจพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาพบว่าขบวนการปฏิวัตินั้นทั้งยึดมั่นในกฎเกณฑ์อย่างไร้เหตุผลและเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ สายบังคับบัญชาของพรรคตั้งแต่ระดับบนลงล่างไปจนถึงผู้บังคับบัญชาในเขตงานท้องถิ่นพยายามที่จะควบคุมชีวิตและพฤติกรรมของพวกเขาในทุกๆ เรื่อง นักศึกษาถูกบังคับให้ทำตามคำสั่งของพรรคแม้ว่านั่นจะหมายถึงการบดขยี้ความคิดสร้างสรรค์และความกระตือรือร้นของพวกเขาก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นคำสั่งของพรรคทั้งในเรื่องอุดมการณ์และการปฏิบัตินั้นนำไปใช้ให้เกิดผลไม่ได้จริง เพราะหลายอย่างมาจากตำราซึ่งเขียนจากประสบการณ์ของกุนซือชาวจีน นักศึกษาจำนวนมากท้าทายการยึดติดกับลัทธิเหมาอย่างตายตัวของพรรคและการชี้นำจากจีนเช่นนี้ นั่นคือท้าทายตั้งแต่การวิเคราะห์สังคมไทยและยุทธศาสตร์การปฏิวัติของพรรคไปจนถึงความไร้ประสิทธิภาพและขาดหลักการประชาธิปไตยภายในพรรค นักศึกษาเหล่านี้เสนอให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรคตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง แต่กลับพบว่าพรรคไม่อินังขังขอบกับข้อเสนอของพวกเขา สำหรับคนที่พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ปฏิกิริยาจากแกนนำพรรคคือไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและใส่ร้ายป้ายสีด้วยใจผูกพยาบาท ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและแกนนำพรรคในทุกระดับแทบจะนำไปสู่การแข็งข้อในหลายเขตจัดตั้ง ความไม่พอใจขยายตัวเหมือนไฟลามทุ่ง การสนองตอบต่อปัญหาของ พคท. ล่าช้าเกินไปและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนปฏิกิริยาโดยทั่วไปของรัฐไทย (Gawin 1990, 27-33, 43-64, 70-76) ในที่สุดนักศึกษาส่วนใหญ่ก็สรุปว่า หาก พคท. ขึ้นสู่อำนาจ อาจก่อให้เกิดหายนะยิ่งกว่า เมื่อฝันสลายจากพรรคคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์ของพรรคแล้ว นักศึกษาเกือบทั้งหมดคว้าโอกาสการนิรโทษกรรมที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ด้วยการทยอยละทิ้งฐานที่ตั้งในเขตป่าทีละคน จากนั้นจึงออกมาเป็นกลุ่มใหญ่

แต่มันเป็นการกลับบ้านด้วยความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง นักศึกษาเหล่านี้ได้ประณามรัฐไทยด้วยความตั้งใจมั่นว่าจะไม่กลับไปจนกว่าจะปฏิวัติสำเร็จ ชีวิตในป่าถึงแม้ยากลำบากทว่าในช่วงเริ่มต้นก็หมายถึงความหวังใหม่ อุดมคติกล้าแกร่ง และความคาดหวังว่าจะแก้แค้นให้สาสม บัดนี้พวกเขาหวนคืนสู่อ้อมกอดของรัฐด้วยการประณามการปฏิวัติของ พคท. ด้วยอาการตาสว่างอย่างที่สุด ขณะเดียวกันก็รู้สึกอับอายอย่างถึงที่่สุดด้วยเช่นกัน ความรู้สึกหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันหลังออกจากป่าคือ ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่แน่ใจว่าผู้คนอาทิเช่น เพื่อนฝูง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และนายจ้างในอนาคตจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่ออดีตของพวกเขา หลังจากอุทิศช่วงวัยหนุ่มสาวหลายปีให้กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถูกต้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะนำความผาสุกอันยั่งยืนมาสู่ปวงประชา บัดนี้พวกเขาส่วนใหญ่รู้สึกเคว้งคว้างหลงทางอย่างสิ้นเชิงและยังรู้สึกผิดหวังเสียใจกับความผิดพลาดของตนเองอีกด้วย หลายคนรู้สึกว่าตัวเองได้อุทิศเวลาในชีวิตให้กับจุดหมายที่น่าสิ้นหวังในท้ายที่สุด ชีวิตของพวกเขากลายเป็นความว่างเปล่า สิ่งที่พกพากลับมาบ้านมีเพียงการถูกสังคมตีตราและไข้มาลาเรีย พวกเขาเพิ่งอายุ 20 กว่าๆ แต่พ่ายแพ้สงครามประวัติศาสตร์มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในเมืองที่จบลงด้วยการที่เพื่อนๆ ของพวกเขาถูกสังหารหมู่ อีกครั้งคือสงครามในป่าเขาที่จบลงด้วยการสูญสิ้นศรัทธา จะไม่ให้พวกเขารู้สึกขยะแขยงตัวเอง อับอายขายหน้า และละอายต่อความผิดพลาดถึงขั้นหายนะที่กระทำลงไปได้อย่างไร แล้วจากนั้นยังต้องวอนขอความปรานีจากรัฐซึ่งพวกเขาเคยหยามเหยียดมาก่อน หลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง กล่าวหลังออกจากป่าในปี 2524 ไม่นานว่า “ผมเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” คำกล่าวนี้กลายเป็นประโยคจับใจนักศึกษาที่ออกจากป่า

สำหรับนักศึกษาที่ยังทำงานใต้ดินอยู่ในเมือง ประสบการณ์ความรู้สึกอาจรุนแรงน้อยกว่าแต่ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันเมื่อเห็นการล่มสลายลงทีละน้อยของ พคท. พวกเขาพ่ายแพ้ในสองสงครามเดียวกันกับเพื่อนๆ ที่เข้าป่า บางครั้งบางคราวพวกเขาพยายามอย่างไร้ผลที่จะปกป้องอุดมการณ์สังคมนิยมของตน บางคนปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ระหว่างทางไปสู่จุดสุดท้ายของความปราชัยย่อยยับ โดยพยายามที่จะเริ่มต้นการอภิปราย การศึกษา และกิจกรรมเคลื่อนไหวรอบใหม่[17] ในท้ายที่สุดฝ่ายซ้ายในเมืองเหล่านี้ก็หันไปตั้งคำถามและท้าทายพรรคและอุดมการณ์ของพรรคที่เขาเคยเทิดทูนบูชาเช่นเดียวกัน เมื่อเพื่อนๆ เริ่มออกจากป่า พวกเขาเองก็สูญสิ้นความเชื่อถือศรัทธาไปด้วยเช่นเดียวกัน บางคนหันไปหาอุดมการณ์อื่นที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับมูลฐาน รวมถึงความเชื่อที่พวกเขาเองก็เคยวิพากษ์วิจารณ์มาก่อน เช่น พุทธแนวก้าวหน้า (radical Buddhism) และเอ็นจีโอแนวประชานิยม (populist NGOs) ไม่ว่าจะหันไปทางใด เช่นเดียวกับสหายที่ออกจากป่า พวกเขาไม่สามารถมองอดีตในแบบเดิมได้อีก

สำหรับอดีตฝ่ายซ้ายเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่จะพิจารณาการเมืองในอดีตอย่างมีเหตุมีผล แต่หลักเหตุผลก็ไม่มีคำตอบให้กับความอิหลักอิเหลื่ออันเนื่องมาจากความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่เกิดจากความสิ้นศรัทธา สำหรับผู้พ่ายแพ้ในสองสงคราม การสูญเสียเพื่อนๆ ไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และในสงครามปฏิวัติกลายเป็นบาดแผลส่วนตัวที่ยากจะอธิบาย ราคาของการเสียสละแพงขึ้นอย่างฉับพลันทันที สำหรับอุดมคติไร้เดียงสาของพวกเขาแล้ว ประโยชน์ทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนซึ่งแลกมาด้วยความเจ็บปวดอาจหาความหมายใดๆ ไม่ได้เลย มองจากมุมฝันสลาย การสูญเสียดูว่างเปล่าไร้ความหมายและราคาที่จ่ายไปแพงลิบก็ไม่อาจหาความชอบธรรมใดๆ ได้เลย มันไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

อดีตฝ่ายซ้ายจำนวนมากไม่รู้สึกว่าจะสามารถปัดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงต่อผู้สูญเสียได้ไม่ว่าพวกเขาจะเกี่ยวข้องโดยอ้อมหรืออย่างห่างๆ นักศึกษาจำนวนมากไม่เฉพาะผู้นำนักศึกษาที่มีชื่อเสียงเท่านั้นต่างกระตือรือร้นในขบวนการซึ่งนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและความตาย หลายคนกระตือรือร้นในการหาสมาชิกให้ พคท. หรือส่งคนเข้าสู่ป่าโดยที่หลายคนไม่ได้กลับออกมาอีกเลย ความอิหลักอิเหลื่อของความรับผิดชอบตกเป็นภาระหนักอึ้งยิ่งขึ้นสำหรับคนเหล่านี้ ความจริงที่ว่าการเสียสละอย่างที่ถูกมองในตอนนั้นว่าเป็นไปเพื่ออุดมคติอันสูงส่ง และไม่ว่าอุดมคตินั้นจะสวยงามเพียงไร ก็ไม่มีน้ำหนักที่จะคานความจริงอีกข้อหนึ่งที่ว่า หากเพื่อนๆ เหล่านั้นรอดชีวิตในเช้าวันพุธนั้นมาได้ พวกเขาจะได้รับโอกาสในชีวิตอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับอดีตฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ครอบครัวของพวกเขาจะไม่ต้องแบกรับความเจ็บปวด ภาระของการรอดชีวิตขณะที่เพื่อนๆ ของพวกเขาจากไปแล้วจะยังติดตรึงอยู่กับผู้ยังมีชีวิตอยู่รวมถึงผู้เขียนด้วย เราอาจต้องแบกมันไปตลอดชีวิต หากพิจารณาจากบาดแผลและความอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว การสังหารหมู่ไม่ใช่หัวข้อที่อดีตฝ่ายซ้ายสามารถพูดถึงโดยปราศจากการสะท้อนย้อนคิดถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรมอันรบกวนจิตใจนี้ได้

ประการสุดท้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับความรุนแรงเป็นผลมาจากความจงเกลียดจงชังกันอย่างเข้มข้นที่หล่อเลี้ยงเรื่อยมาในการเผชิญหน้ากันของทั้งสองฝ่ายในช่วงระยะเวลายาวนาน ขณะที่กลุ่มจัดตั้งเพื่อโฆษณาชวนเชื่อของพวกฝ่ายขวาและวาทกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์ของพวกเขาลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกฝ่ายซ้าย ฝ่ายหลังเองก็แสดงความเป็นอริไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และกระทั่งถึงขั้นคุกคามอยู่บ้างแม้จะเป็นเพียงทางอุดมการณ์ ทางคำพูด และไม่เคยคุกคามในทางปฏิบัติจริงเลยก็ตาม หมายความว่าอดีตฝ่ายซ้ายจำนวนมากยังรู้สึกว่าตนเองมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ในเหตุการณ์นั้นพวกเขาจะเป็นเหยื่อ ไม่ใช่อาชญากร

ความทุกข์ทรมานเชิงศีลธรรมของเหยื่อไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะจนกระทั่งงานรำลึก 6 ตุลาที่จัดขึ้นในปี 2539 ในฐานะที่เป็นวิธีหวนกลับไปพิจารณาอดีตกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะอภิปรายต่อไปในบทนี้ งานรำลึกครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญที่สุดที่เปิดพื้นที่ให้กับอดีตฝ่ายซ้ายหลายคนได้ทำความเข้าใจกับอดีตอันเจ็บปวดของตน

ประวัติศาสตร์ที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ

ในความอิหลักอิเหลื่อทั้งสองกรณีดังที่ได้อภิปรายข้างต้น ปัจจุบันทำหน้าที่หักล้างอดีต อดีตและความหมายของมันถูกมองผ่านกรอบและทำความเข้าใจผ่านมุมมองในปัจจุบัน ในขณะที่เวลาเหลื่อมซ้อนกัน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการสังหารหมู่และชั่วขณะของการจดจำก็ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองและความทรงจำเสียใหม่ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความทรงจำเป็นการฉายภาพจากห้วงเวลาปัจจุบันไปในอดีต แต่ปกติแล้วมุมมองในปัจจุบันก่อรูปและได้รับข้อมูลจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ ซึ่งอนุญาตให้เหตุการณ์หนึ่งๆ ถูกเข้าใจและอภิปรายไปในทางใดทางหนึ่ง และหากไร้ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวแล้ว เราอาจจะไม่สามารถพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งๆ หรือเข้าใจมันได้เลย กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรามีตัวบทคือความรู้ทางประวัติศาสตร์ก่อน จากนั้นตัวบทนี้จึงไปกำหนดและก่อรูปว่าในปัจจุบันเราจะจดจำอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและจดจำอย่างไร

ไม่ว่าผู้นำรัฐไทยในปัจจุบันจะมีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับอาชญากรรมในอดีตหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง ในที่นี้คำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอุดมการณ์ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความทรงจำเป็นอีกคำถามหนึ่ง นั่นคือ อาชญากรรมรัฐเป็นมโนทัศน์ที่เข้าใจได้หรือไม่ และเข้ากันได้กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากมากคือ การขาดวาทกรรมประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับการที่รัฐสังหารหมู่ประชาชนของตนเอง ไม่ว่าในความเป็นจริงรัฐไทยในอดีตจะเคยกระทำรุนแรงกับประชาชนสักเพียงไรก็ตาม

ผู้เขียนเคยอภิปรายในที่อื่นแล้วว่า (Thongchai 1994, 159-61) ประวัติศาสตร์­นิพนธ์สมัยใหม่ของไทย คือมหากาพย์การผจญภัยที่เล่าขานเกี่ยวกับความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนคนไทยภายใต้ผู้ปกครองทรงธรรม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือกษัตริย์ในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามและความทุกข์ยากที่ตามมาซึ่งเกิดจากต่างชาติ เรื่องเล่าแบบฉบับ (master narrative) ตามขนบจะขึ้นต้นด้วยราชอาณาจักรไทยที่เป็นอิสระและสงบสันติกำลังเผชิญภยันตรายจากการล่าอาณานิคมของต่างชาติเสมอ จากนั้นปัญหาและความทุกข์ยากก็ตามมา โชคดีที่นักรบวีรบุรุษผู้กล้าหาญและทรงธรรมจะโผล่ขึ้นมาปกป้องและกอบกู้เอกราชได้เสมอ ภายใต้ผู้นำที่กอปรด้วยคุณธรรมเช่นนี้ ประเทศชาติก็สงบสุขวัฒนาสถาพรสืบไป ตามเรื่องเล่าแบบฉบับนี้ ปกติแล้วผู้ปกครองจะเอื้ออารีและใส่ใจในทุกข์สุขของประชาราษฎร์ การทำร้ายทำลายมวลชนหากไม่อยู่ในรูปของสงครามที่ชอบธรรมในการต่อสู้กับศัตรูคู่อริ ก็อยู่ในรูปการปราบปรามผู้ก่อการกบฏที่ชั่วร้ายเลวทราม ดังนั้นจึงไม่ใช่อาชญากรรมรัฐ หากผู้ปกครองกลับกลายเป็นทรราช ไม่ช้าจะถูกท้าทายและโค่นล้มโดยผู้สืบทอดที่มีคุณธรรม ด้วยเหตุนี้ การสังหารหมู่โดยรัฐจึงเป็นมโนทัศน์ต่างด้าว ซึ่งปกติแล้วจะได้ยินได้ฟังจากรายงานข่าวต่างประเทศ หรือบรรยายไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ

เหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชนเมื่อไม่นานมานี้ทั้งหมด กล่าวคือ การลุกฮือในเดือนตุลาคม 2516 การสังหารหมู่ในเดือนตุลาคม 2519 และพฤษภาเลือดในปี 2535 เบี่ยงเบนไปจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ปกติอย่างมาก

ประการแรก ในเหตุการณ์เหล่านี้ เอกราชของชาติไม่ได้อยู่บนความเสี่ยงและไม่มีภัยคุกคามจากต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่ยอมรับกันในทางสาธารณะอยู่ช่วงหนึ่งว่าการสังหารหมู่ในปี 2519 เป็นมาตรการต่อต้านภัยคุกคามจากต่างชาติ ทว่าการให้เหตุผลโดยรัฐเช่นนี้ก็ล้มเหลวไปในท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถเขียนเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้กับผู้รุกรานต่างชาติ หรือเป็นข้อพิพาทกันในหมู่ชนชั้นนำที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายได้ อธิบายได้อย่างเดียวคือเป็นอาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อประชาชนของตนเอง

ประการที่สอง ทั้งสามเหตุการณ์เป็นการที่มวลชนลุกขึ้นต่อต้านทรราชและการใช้อำนาจในทางมิชอบของพวกเขา โดยที่ผู้นำในหมู่ชนชั้นนำไม่ได้ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทท้าทายเพื่อความถูกต้องเที่ยงธรรมแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมอันน่ากังขาที่ลดความสำคัญของระดับการต่อสู้ของประชาชนให้เหลือแค่การแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ชนชั้นปกครอง โดยฝูงชนเป็นเพียงหมากที่ถูกฉวยใช้ แม้กระนั้นก็ไม่อาจลดทอนความสำคัญของพลังประชาชนลงได้

ประการที่สาม เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าประเทศไทยเป็นอะไรก็ได้ยกเว้นเป็นดินแดนสงบสันติ ความรุนแรงและความโหดร้ายป่าเถื่อนที่คนไทยกระทำต่อคนไทยด้วยกันเองในระดับที่กว้างขวางปะทุขึ้นถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี 6 ตุลา 2519 ความรุนแรงกระทำในนามของความเป็นไทยเพื่อปกป้องสามเสาหลักของอัตลักษณ์ไทย คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์นองเลือดทั้ง 3 ครั้งนี้จะถูกรวมเข้าไว้ในเรื่องเล่าแบบฉบับของประวัติศาสตร์ไทย ทั้งสามเหตุการณ์ไม่เข้าร่องเข้ารอยกับความมุ่งหมายของนิยายวีรบุรุษแห่งชาติว่าด้วยความเจริญรุ่งเรืองอันเนื่องมาจากความสมัครสมานสามัคคีภายใต้ผู้ปกครองทรงธรรม ทั้งสามเหตุการณ์ทำให้ชีวประวัติอันสูงส่งของประเทศชาติแปดเปื้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ปรากฏว่ามีวาทกรรมประวัติศาสตร์ใดๆ ก่อนหน้านี้ที่จะอนุญาตให้เราเข้าใจทั้งสามเหตุการณ์นี้อย่างถูกต้องเหมาะสม กระนั้นก็ตาม ในขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วม และผลกระทบของเหตุการณ์ก็มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเกินกว่าจะแค่ลืมเลือนมันไป ดังนั้น การต่อสู้ของประชาชนจึงปรากฏอยู่ได้แค่เพียงบริเวณชายขอบรอบริมของปริมณฑลอดีตที่พึงจดจำเท่านั้น และเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะคอยท้าทายประวัติศาตร์แห่งชาติฉบับปกติอยู่เสมอ ยังมีคนไม่ลืมแม้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นนานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม วาทกรรมต่อเหตุการณ์ถูกจำกัด ความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่เคยได้รับการบอกเล่าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และที่ทางในประวัติศาสตร์ของทั้งสามเหตุการณ์นี้ยังคงไม่ชัดเจน

ในสามเหตุการณ์นี้ การสังหารหมู่ในปี 2519 น่าจะเข้าใจได้ยากที่สุด เนื่องจากเรื่องเล่าแบบฉบับของประวัติศาสตร์ไทยยังมีแก่นเรื่องเกี่ยวกับประเทศชาติที่วัฒนาไปข้างหน้าเสมอ การพัฒนาและความก้าวหน้าเป็นนัยที่ปรากฏอยู่เป็นนิจ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 เป็นการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยครั้งสำคัญในประเทศไทย เนื่องจากในทั้ง 2 กรณี ระบอบเผด็จการทหารถูกโค่นล้มลงโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน นี่เป็นสิ่งที่สาธารณชนจดจำกันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าทหารอาจมองต่างออกไป จากมุมมองนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จะถูกนับเป็นการพัฒนาการเมืองกรณีหนึ่งได้ด้วยหรือไม่ ? ผลงานด้านบวกที่ 6 ตุลามีต่อประชาธิปไตยคืออะไร ? หรือว่า 6 ตุลา 2519 คือความสูญเสียสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ? เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปี 2516 และ 2535 ดูเหมือนว่าการสังหารหมู่ในปี 2519 จะอยู่ชายขอบของอดีตที่เข้าใจได้ หรืออาจตกไปอยู่ในปริมณฑลของความอิหลักอิเหลื่อและเงียบงัน ความวิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากความแปลกแยกของเหตุการณ์เหล่านี้ ความไม่เข้าร่องเข้ารอยกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับนี่เอง ที่เผยให้เห็นความผิดพลาดและข้อจำกัดของประวัติศาสตร์แห่งชาติ มุมมองของแมรี สตีดลีย์ (Mary Steedly) ต่อความทรงจำสาธารณะของเหตุการณ์นองเลือดในอินโดนีเซียในปี 2508 นำมาปรับใช้ในที่นี้ได้ กล่าวคือ “อนุสาวรีย์ที่สร้างไม่ได้ เรื่องเล่าที่พูดไม่ได้ เป็นเพียงคำจารึกที่มองไม่เห็นบนชายขอบที่เงียบงันของประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นข้อจำกัดอย่างเป็นทางการที่ปัจจุบันทำหน้าที่จัดวางอดีต” (Steedly 1993, 238)

ประการสุดท้ายที่สำคัญไม่น้อยคือ ความโหดร้ายป่าเถื่อนของเช้าวันนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการสังหาร และความเป็นจริงที่ว่าฝูงชนรวมถึงเยาวชนจำนวนมากรู้สึกบันเทิงเริงใจไปกับการฆาตกรรมหมู่ที่น่าสยดสยองนั้น สร้างความตกตะลึงให้แก่คนไทยจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่ผู้คนอาจปรารถนาที่จะเชื่อว่าฝูงชนฝ่ายขวาบ้าคลั่งเพราะถูกยั่วยุโดยโฆษณาชวนเชื่อ ทว่าความเป็นไปได้ที่ว่าการสังหารหมู่นั้นถูกคาดการณ์หรือวางแผนไว้แล้วล่วงหน้าก็ไม่อาจขจัดออกไปได้[18] คนไทยโดยทั่วไปรู้สึกภูมิใจในประวัติศาสตร์เท่าที่พวกเขารับรู้ ซึ่งบันทึกเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่รุนแรงนักในเชิงเปรียบเทียบ การสังหารหมู่ครั้งนั้นบดขยี้ความภาคภูมิใจของพวกเขา สั่นคลอนความเชื่อ ความมั่นใจ หรือความไว้เนื้อเชื่อใจว่าการสังหารหมู่แบบนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะอธิบาย หรือให้เหตุผลว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่คนไทยประสบและประวัติศาสตร์ไทยตามที่พวกเขารับรู้ สาหัสสากรรจ์เกินกว่าจะยอมรับได้ นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการหลบเลี่ยงและความเงียบงัน

เรื่องราวไร้ถ้อยคำปรากฏขึ้นอย่างเลือนรางและสงบนิ่งอยู่ในอดีต แต่ยังไม่พบหนทางที่จะแทรกตัวเข้าไปในประวัติศาสตร์ การจัดงานรำลึกในปี 2539 สี่ปีหลังการสังหารประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสที่สาธารณชนจะได้จดจำและรำลึกถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนในอดีต เหตุการณ์สังหารประชาชนเหล่านั้นโดยตัวมันเองได้ก่อรูปประวัติศาสตร์สวนทาง (counter-history) ซึ่งไม่สามารถเขียนขึ้นจากชีวประวัติของชาติได้อีกต่อไป

เวทีที่ความทรงจำปะทะกัน : อนุสาวรีย์ของความอิหลักอิเหลื่อ

หลักฐานที่อาจชัดเจนที่สุดของความทรงจำสาธารณะที่หลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงเกี่ยวกับการลุกฮือและการสังหารหมู่ คือชื่อของเหตุการณ์ที่กลายเป็นที่รู้จัก และสถานที่เตะตามากที่สุดที่ความทรงจำปะทะกัน คือการขัดแย้งโต้เถียงกันเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานของเหตุการณ์

เหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชนทั้ง 3 เหตุการณ์มีชื่อซึ่งรู้จักกันในทางสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เราอาจเห็นความกระอักกระอ่วนที่เหตุการณ์เหล่านั้นสร้างให้เกิดขึ้นกับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์แบบปกติได้จากชื่อเลยทีเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรียก 14 ตุลา 2516 ว่า “วันมหาวิปโยค” ในเย็นวันนั้นเมื่อความวุ่นวายสงบลง ไม่นานหลังจากนั้นชื่อดังกล่าวถูกท้าทายโดยนักศึกษา ซึ่งในเวลานั้นรู้สึกปีติยินดีจึงเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “วันมหาปีติ” เห็นได้ชัดว่าชื่อทั้งสองแสดงให้เห็นถึงจุดยืน ทัศนคติ และนัยทางการเมืองที่ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงพันธะใดๆ ต่อการแบ่งขั้วดังกล่าว จึงเลือกที่จะเรียกชื่อซึ่งฟังดูกลางๆ กว่า คือเรียกแค่ว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลา” การสังหารหมู่ในปี 2519 อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นถูกเรียกว่า “การจลาจล” และในตอนแรกนักศึกษาถูกเรียกว่า “ผู้ก่อจลาจล” หรือ “ผู้หลงผิด” ต่อมาภายหลังจึงถูกเรียกในชื่ออื่นๆ ขึ้นอยู่กับวาทกรรมต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน พคท. ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ไปในทางตรงกันข้ามด้วยการเรียกเหตุการณ์เดียวกันนั้นว่า “การปราบปรามประชาชน” และเรียกผู้เสียชีวิตว่า “วีรชน” นิตยสารข่าวบางครั้งใช้คำที่ให้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเช่น “การสังหารโหด” แต่จนกระทั่งปัจจุบันป้ายชื่อที่รู้จักกันดีที่สุด คืออันที่ชัดเจนน้อยกว่าและผูกมัดกับจุดยืนใดๆ น้อยกว่ามาก นั่นคือชื่อ “เหตุการณ์ 6 ตุลา” ในหมู่คำที่ใช้เอ่ยถึงการสังหารหมู่ในปี 2519 ที่เปี่ยมจินตนาการและเฉไฉมากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนประสบพบเจอมาคือ การเอ่ยถึงอย่างอ้อมๆ โดยไม่มีแง่มุมเฉพาะเจาะจงใดๆ เลยโดยอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเคยเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการเรียกว่า “ตอนอวสานที่ปิดฉากอย่างฉับพลัน” (Anand 1996)[19]

เราอาจกล่าวได้ว่า ชื่อที่ไร้ข้อผูกมัดเช่นนี้ว่างเปล่าทางความหมาย ในทางกลับกัน ผู้เขียนอยากจะโต้แย้งว่า ชื่อแบบนั้นบรรจุความหมายมากมายที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งแสดงนัยผ่านการหายไปของข้อผูกมัดใดๆ ก็ตาม ถ้อยคำที่พูดไม่ได้และเสียงข่มขู่แสดงนัยผ่านการหลบเลี่ยงดังกล่าว และในความเงียบงันนี้ การตั้งชื่อก็ปรากฏขึ้น (Trouillot 1995, 114-15) คำอุปมาอันหลบเลี่ยงของอานันท์เป็นตัวอย่างหนึ่ง (เกษียร 2539, 8) ดังนั้น การเรียกขานเหตุการณ์แบบนั้นจึงทำให้อดีตคลุมเครือ เพราะอดีตบรรทุกเสียงต่างๆ ที่ปะทะขัดแย้งกันไว้หนักอึ้งเกินไป วันและเดือนเก็บงำความเจ็บปวดและปริศนาลี้ลับมาโดยตลอด ในท้ายที่สุด การตั้งชื่ออย่างไม่ผูกมัดจะจัดวางบทตอนเหล่านี้ไว้บริเวณชายขอบรอบริมระหว่างสิ่งซึ่งพึงจดจำกับการไม่ปรากฏนาม (anonymity) ระหว่างประวัติศาสตร์กับอดีตที่เงียบงัน และระหว่างความทรงจำกับความลืมเลือน

การปะทะกันของความทรงจำอิหลักอิเหลื่อครั้งที่โดดเด่นที่สุดและดุเดือดที่สุดคือกรณีอนุสาวรีย์ “วีรชนเดือนตุลา” เมื่อการลุกฮือในปี 2516 สิ้นสุดลง ทุกค่ายการเมืองต่างโห่ร้องอวยชัยให้กับชัยชนะ อาจยกเว้นก็แต่เพียงกองทัพ ผู้เสียชีวิตได้รับการจดจำในฐานะ “วีรชน 14 ตุลา” ในเดือนตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธานพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพิธีฌาปนกิจวีรชนซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยรัฐ รัฐบาลในเวลานั้นตกลงเป็นเจ้าภาพร่วมกับนักศึกษาในการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์และวีรชน[20] ตึก กตป. ซึ่งถูกเผาและเคยเป็นที่ทำงานของณรงค์ กิตติขจร หนึ่งในสามของทรราชที่ประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ ถูกเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ ในปี 2518 รัฐบาลในช่วงเวลานั้นตกลงซื้อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งในปี 2517 ระบุว่าไม่ติดขัดอะไรนอกจากปัญหาทางเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในเดือนตุลาคม 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และสมเด็จ­พระสังฆราชเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ ณ สถานที่แห่งนั้น อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางการเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล ขณะที่การแบ่งขั้วทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่เพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การชะลอการสร้างอนุสาวรีย์ เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2519 การลุกฮือสามปีก่อนหน้านั้นถูกประเมินในแง่มุมใหม่ ในฐานะการก่อความไม่สงบที่ได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์ ในไม่ช้าวีรชน 14 ตุลา 2516 ก็ถูกหมางเมินและไม่ได้รับการจัดประเภทว่าเป็นวีรชนแล้วด้วยซ้ำ จะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกนึกถึงพวกเขาไปทำไม ? สร้างให้ผู้ยุยงก่อความวุ่นวายน่ะหรือ ?

ไม่นานหลังรัฐบาลธานินทร์ขึ้นสู่อำนาจ โครงการนี้ก็ถูกยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ ต้นปี 2521 รัฐบาลริบบัญชีของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รวมถึงกองทุนที่ระดมและกันไว้สำหรับสร้างอนุสาวรีย์ เช่นเดียวกับความทรงจำอิหลักอิเหลื่อที่อยู่เบื้องหลัง ไม่มีอะไรที่สามารถหยุดยั้งไม่ให้โครงการนี้พัฒนาต่อไปได้

หลายปีต่อมาเมื่อความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์บรรเทาเบาบางลง องค์กรนักศึกษาก็เริ่มจัดงานประจำปีเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะแห่งปี 2516 สาธารณชนได้รับการเตือนให้นึกถึงอนุสรณ์สถานที่สัญญาว่าจะสร้างอยู่ทุกปี[21] ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จนกระทั่งปี 2531 อันที่จริงแล้วเบื้องหลังโครงการที่ถูกระงับยับยั้งระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว คือสถานการณ์ซึ่งความทรงจำที่ขัดแย้งแข่งขันกันไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ กรณีแรก ในปี 2521 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา­กษัตริย์เริ่มพิจารณาโครงการพัฒนาสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการค้า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ โต้แย้งว่า พวกเขาไม่เคยอนุญาตให้นักศึกษาวางศิลาฤกษ์ ณ สถานที่ดังกล่าว (อาทิตย์, 11 ตุลาคม 2521, 27) ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดโครงการดังกล่าวจึงไม่เคยสร้างสำเร็จ มีการกล่าวอ้างอย่างน่าอัศจรรย์ใจว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่กล้าดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเพราะเกรงว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทางการเมือง สถานที่แห่งนั้นจึงถูกปล่อยเช่าให้กับกองทัพแทน และกองทัพก็ให้สมาคมผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเช่าต่อ นี่เป็นการตบหน้าวีรชน 14 ตุลา และเป็นการกระทำผิดต่อจิตวิญญาณของการลุกฮือในปี 2516 เนื่องจากอาคารสำนักงานสลาก­กินแบ่งรัฐบาลเป็นหนึ่งในอาคารที่ถูกเผาในการลุกฮือครั้งนั้น กระนั้นก็ตาม ราวกับว่าผู้ค้าสลากกินแบ่งเองก็ตระหนักว่าตนเป็นผู้ร่วมเล่นในเกมชักเย่อทางประวัติศาสตร์ จึงกล้าเพียงตั้งเต๊นท์ขายล็อตเตอรี่ชั่วคราวอยู่บริเวณรอบๆ พื้นที่แห่งนั้น แท่นศิลาฤกษ์ถูกปล่อยทิ้งไว้ตรงกึ่งกลางลานภายใต้ฟ้าไร้หลังคาปิดกั้น ราวกับว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เช่า กระนั้นก็ดีแท่นศิลาฤกษ์กลับเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อผู้ขายล็อตเตอรี่มากราบไหว้บูชาขอโชคลาภอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครสนใจไยดีความหมายดั้งเดิมทางการเมืองของตัวแท่นศิลาฤกษ์เลย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี คนขายล็อตเตอรี่จะหยุดทำการค้าครึ่งวันเช้าเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาจัดงานรำลึกประจำปี พวกเขามักจะยืนดู ไม่เข้ามาร่วม ปล่อยให้พิธีกรรมต่างๆ ดำเนินไปจนจบ

ในปี 2532 ประเด็นอนุสรณ์สถานสำหรับวีรชนเดือนตุลาปะทุขึ้นมาอีกครั้งอันเป็นผลมาจากการปะทะถกเถียงกรณีจำลอง ศรีเมือง ครั้งนี้เป็นตลกร้ายเพราะรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ซึ่งสนับสนุนการเดินขบวนประท้วงของฝ่ายขวาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตกลงที่จะดำเนินโครงการต่อ เงินกองทุนกว่าสี่ล้านบาทสำหรับโครงการสร้างอนุสาวรีย์ซึ่งถูกริบไปในปี 2521 ถูกโอนกลับคืนมายังคณะ­กรรมการพิเศษผู้ดูแลโครงการจัดสร้างอนุสาวรีย์ กระนั้นก็ดี พื้นที่นั้นก็ยังนำมาใช้ไม่ได้ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน อุปสรรคเกี่ยวข้องกับการที่สำนักงานทรัพย์­สินฯ ปล่อยเช่าให้กับกองทัพ แล้วกองทัพนำไปให้ผู้ค้าล็อตเตอรี่เช่าต่ออีกทอด ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โครงการไม่มีความก้าวหน้าจนกระทั่งการลุกฮือในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของประชาชนอีกครั้ง การสร้างอนุสาวรีย์สำหรับวีรชนประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมยิ่งขึ้นไปอีกอย่างฉับพลันทันที แต่ครั้งนี้ข้อเสนอคืออนุสรณ์สถานนี้จะสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติผู้สละชีพทั้งในเหตุการณ์ปี 2516, 2519, และ 2535 ผู้คัดค้านการก่อสร้างอนุสาวรีย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหารและนักการเมืองฝ่ายขวาบางคนส่งเสียงประท้วงทันที พวกเขามองว่าทั้งสามเหตุการณ์เป็นการจลาจล ก่อความสับสนวุ่นวาย และกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุการณ์ไหนสมควรรำลึกถึงเลย กองทัพเตือนด้วยว่าอนุสาวรีย์นี้จะสร้างความแตกแยก

แม้ว่าการถกเถียงขัดแย้งรอบใหม่จะปะทุขึ้น แต่ก็มีการคัดเลือกพื้นที่ใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคคาราคาซังในพื้นที่ก่อนหน้านี้ พื้นที่ใหม่คือบริเวณซึ่งเคยเป็นตึกของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน และถูกเผาในเหตุการณ์ปี 2535 เพื่อประท้วงบทบาทของหน่วยงานนี้ที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับสาธารณชนและพูดโกหกเพื่อสนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร แผนการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งใหม่เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 ถูกร่างขึ้นใหม่ และพื้นที่ที่ได้รับเลือกซึ่งประกาศออกมาก็ไร้ข้ออุปสรรคด้านกฎหมาย สมเด็จพระสังฆราชในเวลานั้นตั้งชื่ออนุสรณ์สถานที่จะสร้างขึ้นว่าสวนสันติพร ทั้งๆ ที่การสร้างอนุสรณ์สถานในพื้นที่ใหม่มีความก้าวหน้าอยู่บ้าง ในปี 2538 ขณะที่แผนการสร้างอนุสรณ์สถานเริ่มต้นขึ้นด้วยเงินสนับสนุนที่รัฐบาลกันไว้ให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำริแผนบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีปัญหาจราจรเลวร้ายที่สุดในกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการพระราชดำริ พื้นที่ซึ่งวางแผนจะสร้างอนุสรณ์สถานจะกลายเป็นถนนเลี่ยงทางจราจรและขอบถนน เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย การโต้แย้งจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานในที่แห่งใหม่จึงถูกยกเลิกไปอย่างเงียบๆ ทว่าอย่างฉับพลันทันที โครงการสร้างอนุสาวรีย์จำเป็นต้องส่งกลับไปยังคณะกรรมการยกร่าง และพื้นที่เก่าก็ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นพิจารณากันใหม่อีกครั้งในที่ประชุม

การปะทะกันของความทรงจำยังเกิดขึ้นในประเด็นที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ควรปฏิบัติอย่างไรกับเผด็จการทหารที่ถูกขับพ้นจากอำนาจในปี 2516 ? หลังออกจากประเทศในปี 2516 ปรากฏว่าสามทรราช “ร่ำรวยผิดปกติ” เชื่อกันโดยทั่วไปว่าความร่ำรวยของพวกเขาเป็นผลมาจากการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางมิชอบ ในปี 2517 รัฐบาลชั่วคราวใช้อำนาจบริหารยึดทรัพย์เผด็จการทหารเหล่านี้โดยไร้กระบวนการที่เหมาะสม หลังการสังหารหมู่ในปี 2519 เมื่อพิจารณาแรงเหวี่ยงกลับทางการเมืองซึ่งกลับมาอยู่ที่ฝ่ายขวา เผด็จการเหล่านั้นทุกคนจึงหวนกลับสู่ประเทศไทยและเรียกร้องให้คืนทรัพย์สินของตนที่ถูกยึดไป ขณะที่รัฐบาลฝ่ายขวาซึ่งแปะป้ายนักศึกษาว่าเป็นศัตรูและภัยคุกคามของชาติก็กระตือรือร้นที่จะทำตามความต้องการของอดีตเผด็จการ กระนั้นก็ตาม รัฐบาลมีเวลาไม่มากพอก่อนที่จะถูกรัฐประหารอีกครั้ง นับจากนั้นเป็นต้นมา ทุกรัฐบาลต่างลังเลที่จะสนองตอบต่อข้อเรียกร้องซ้ำๆ ให้คืนทรัพย์สินที่ยึดมาแก่เผด็จการทหารทั้งสาม เพราะสาธารณชนส่งเสียงประท้วงอยู่เสมอ

ต้นปี 2540 รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ คืนยศทหารรวมถึงเงินบำนาญและผลประโยชน์อื่นๆ ให้กับ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของถนอม หนึ่งในสามทรราชที่ถูกขับพ้นจากอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 รัฐบาลประเมินพลังปฏิกิริยาของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยต่ำเกินไป ในท้ายที่สุดจึงถูกกดดันให้ยกเลิกการตัดสินใจดังกล่าว ต้นปี 2542 รัฐบาลชวน หลีกภัย ก็ทำผิดพลาดในทำนองเดียวกัน ชวนแต่งตั้งถนอมเป็นราชองครักษ์พิเศษ ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศระดับสูงสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารเกษียณอายุราชการ โดยอ้างว่าถนอมทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพและประเทศชาติ การประท้วงนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่เกือบจะทำให้รัฐบาลล้มลง ประเด็นการยึดทรัพย์สินและการแสดงว่าให้คุณค่ากับอดีตเผด็จการพัวพันกันยุ่งเหยิงอยู่ในพื้นที่ซึ่งความทรงจำปะทะขัดแย้งกัน เช่นเดียวกับกรณีอนุสาวรีย์วีรชนเดือนตุลา

ประเด็นการสร้างอนุสาวรีย์ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งระหว่างงานรำลึก 6 ตุลาในปี 2539 ไม่มีสัญญาณความก้าวหน้าใดๆ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่การจัดงานประสบความสำเร็จและสื่อมวลชนให้ความสนใจรายงานข่าวเป็นพิเศษ ดูเหมือนว่าอนุสาวรีย์วีรชนเป็นโครงการที่เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถสร้างได้ กระนั้นก็จะไม่ถูกลืมด้วยเช่นกันตราบใดที่ความทรงจำยังปะทะขัดแย้งกันอยู่และส่งผลให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยันกันอยู่แบบนี้ แท่นศิลาฤกษ์ยังรายล้อมไปด้วยเต๊นท์ขายล็อตเตอรี่ ราวกับว่าความทรงจำถึงการต่อสู้ของประชาชนและอาชญากรรมรุนแรงโดยรัฐจะยังถูกคุกคามตลอดเวลาภายใต้ฟ้าเปิด

ต่อมาในปี 2541 ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ การจัดงานรำลึกการลุกฮือในปี 2516 ก่อให้เกิดผลที่ไม่คาดคิด กล่าวคือ ในท้ายที่สุดอนุสาวรีย์วีรชนเดือนตุลาก่อสร้างได้สำเร็จ ตลกร้ายคือพลังเบื้องหลังความสำเร็จนี้ไม่ใช่การกดดันจากประชาชน แต่คือความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างธีรยุทธ บุญมี ผู้นำในการลุกฮือปี 2516 กับอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเจรจาทำสัญญาเป็นการส่วนตัวกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในที่สุดสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงเห็นด้วยกับอานันท์ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข่าวดีและส่งมอบอนุสาวรีย์นี้ให้แก่สาธารณชน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ บังเอิญว่าอนุสาวรีย์นี้สร้างสำหรับวีรชน 14 ตุลา 2516 เท่านั้น เหตุการณ์และรายชื่อของเหยื่อในการสังหารหมู่ปี 2519 หรือในพฤษภาเลือด 2535 จึงไม่รวมอยู่ด้วย ตามรายงานข่าว สุนทรพจน์และการอภิปรายระหว่างการจัดงานรำลึกชัยชนะของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็ไม่ได้ทุ่มเทความสนใจให้กับอีกสองเหตุการณ์มากนักเช่นกัน ในทัศนะของเพื่อนผู้เขียนหลายคนซึ่งเป็นคนเดือนตุลา นี่เป็นก้าวแรกเพื่อนำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญของอีกสองเหตุการณ์ ในทัศนะของผู้เขียน นั่นอาจไม่ใช่ประเด็น ผู้เขียนได้อภิปรายในบทความนี้มาโดยตลอดว่า ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นความผิดปกติของประวัติศาสตร์ไทย อันที่จริงแล้วอย่างที่เราจะได้เห็นต่อไป ทั้ง 3 เหตุการณ์ไม่ได้บ่อนเซาะประวัติศาสตร์ไทยในระดับเดียวกัน ผู้เขียนอยากจะโต้แย้งว่า ที่อนุสาวรีย์สำหรับวีรชน 14 ตุลา 2516 เป็นไปได้ส่วนหนึ่งเพราะเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 2519 โดยจำเพาะเจาะจงถูกกันออกจากโครงการสร้างอนุสรณ์สถานนี้

การสังหารหมู่ปี 2519 ในเรื่องเล่าประชาธิปไตยไทย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ข้างต้นมีจุดเน้นหลักอยู่ที่การลุกฮือในปี 2516 เนื่องจากอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ความทรงจำและมุมมองต่อเหตุการณ์ปี 2516 ถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ที่เกิดตามมา กล่าวคือ ขบวนการฝ่ายซ้ายที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากสามปีซึ่งจบลงด้วยการสังหารหมู่ ตามด้วยการลุกขึ้นต่อสู้และล่มสลายลงของขบวนการสังคมนิยม เหตุการณ์ปี 2516 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ปี 2519 ตามปกติแล้วจะไม่ถูกมองว่าแยกขาดจากกัน[22] ความทรงจำเกี่ยวกับการสังหารหมู่ปี 2519 ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ดูเหมือนทำให้ความทรงจำถึงเส้นทางสู่ประชาธิปไตยอันรุ่งโรจน์ต้องแปดเปื้อนมัวหมอง หากความทรงจำและความหมายของเหตุการณ์ปี 2519 ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในการอภิปรายเป็นลำดับต้นๆ ในการสร้างอนุสาวรีย์ โครงการนี้คงจะเป็นที่ขัดแย้งถกเถียงมากกว่านี้อีก อย่างที่เราจะได้เห็นต่อไป ตำแหน่งแห่งที่ของการสังหารหมู่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับการประเมินคุณค่า และโดยทั่วไปแล้วได้รับการจัดวางอย่างผิดๆ ไว้ในระนาบเดียวกับอีกสองเหตุการณ์ที่ได้รับชัยชนะ

ความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตที่ขึ้นอยู่กับบริบทเสมอ นั่นก็คือ เรื่องราวหนึ่งจะเข้าใจได้หรือมีความหมายในทางใดทางหนึ่งก็ต่อเมื่อเราหยุดความต่อเนื่องของเหตุการณ์ต่างๆ ในกระแสเวลาที่เป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยการขีดวงรอบจุดเริ่มต้นและจุดจบของเรื่องราวนั้นๆ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลาอย่างไม่ขึ้นกับกฎเกณฑ์เท่าใดนัก ในลักษณะนี้ เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยพยายามที่จะจัดการกับเหตุการณ์ปี 2519 อย่างค่อนข้างกระอักกระอ่วน แม้กระทั่งในหมู่อดีตฝ่ายซ้ายและผู้เห็นอกเห็นใจเหยื่อ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของการสังหารหมู่ปี 2519 ไว้ในวาทกรรมเรื่องเล่าประชาธิปไตยไทยก็ไม่เคยเป็นภารกิจง่าย

สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนมากที่เห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ การสังหารหมู่ปี 2519 เข้าใจได้โดยง่ายว่าเป็นการปราบปรามอันตรายจากคอมมิวนิสต์ในเมืองที่มีความชอบธรรม อดีตผู้นำกระทิงแดง กลุ่มกำลังรบกึ่งทหารฝ่ายขวาซึ่งนำตำรวจบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์เช้าวันนั้น และ พล.ต. สุตสาย หัสดิน นายทหารชื่อเสียงฉาวโฉ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังกลุ่มดังกล่าวยังคงภาคภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไปเพื่อปกป้องประเทศชาติในปี 2519 (สารคดี 2539, 159-61, 166-69) อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าสำหรับ พล.ต. สุตสาย การลุกฮือในปี 2516 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ (สารคดี 2539, 169) กลุ่มนักศึกษาหัวอนุรักษนิยมมีทัศนะที่คล้ายคลึงกันในการแยกสองเหตุการณ์เดือนตุลาออกจากกัน กล่าวคือ เหตุการณ์หนึ่งเพื่อประชาธิปไตย อีกเหตุการณ์เพื่อปราบปรามฝ่ายซ้าย (ข้อโต้แย้งที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มติชน, 14-15 ตุลาคม 2525) ควรตั้งข้อสังเกตไว้ในที่นี้ด้วยว่า ในการลุกฮือปี 2516 เผด็จการทหารทั้งสามคนถูกขับพ้นจากอำนาจหลังการแทรกแซงของราชสำนัก สมาชิกราชวงศ์เสด็จออกมาในที่สาธารณะเพื่อรับนักศึกษาที่กำลังหลบหนีจากการถูกทุบตีเข้าสู่เขตพระราชฐาน หลังจากนั้นยังได้เสด็จเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และในท้ายที่สุดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ก็หยุดความโกลาหลวุ่นวายลงได้ หนึ่งปีหลังจากนั้น พระองค์เป็นประธานในงานฌาปนกิจศพวีรชน ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ ดำเนินไปในทางที่ผิดพลาดหลังจากการลุกฮือครั้งนั้น

สำหรับผู้ที่ถือว่าช่วงปี 2516-2519 เป็นกระบวนการประชาธิปไตย ชัยชนะของปี 2516 เป็นเรื่องน่าจดจำและมีคุณค่าที่จะเฉลิมฉลอง เนื่องจากมีส่วนช่วยให้เกิดความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง พวกเขาเห็นว่าการสังหารหมู่ปี 2519 เป็นการเสื่อมถอยที่เป็นโศกนาฏกรรม เป็นการปิดฉากลงของสามปีแห่งการทดลองประชาธิปไตย ดังนั้นจากมุมมองนี้ คำถามทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2519 จึงไม่ใช่เพียงการสังหารหมู่และปริศนาของมัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นกับขบวนการนักศึกษาหลังปี 2516 เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการสังหารหมู่เป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการที่นักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกโดดเดี่ยวจากสาธารณชนคนชั้นกลาง กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ นักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเหยื่อของการกระทำของตนเองในแง่ที่ว่ากิจกรรมของพวกเขาทำให้ฝ่ายขวามีข้ออ้างที่จะตีกลับได้ นี่น่าจะเป็นทัศนะเกี่ยวกับช่วงปี 2516-2519 ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่สุดหลังการล่มสลายลงของขบวนการฝ่ายซ้าย (Morell and Chai-anan 1981 และ คนึงนิตย์ 2530 เป็นตัวแทนของทัศนะเช่นนี้) ดังนั้น คนเหล่านี้จึงตีความสองเหตุการณ์เดือนตุลาที่แยกขาดจากกันไม่ได้นี้ว่าเป็นโศกนาฏกรรม เริ่มต้นด้วยวีรบุรุษผู้เกรียงไกรกำราบยักษ์ได้ในสมรภูมิที่ได้รับการเฉลิมฉลองใหญ่โต แต่จบลงด้วยความล้มเหลวของตัววีรบุรุษเองที่เห็นได้ชัดว่าสูญเสียคุณงามความดีและมนต์ขลัง เหมือนหนังเรื่อง Star Wars สามภาค ที่ยังไม่มีภาคจบ ในแง่นี้เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นตัวแทนความสำเร็จ ขณะที่อีกตุลาหนึ่งคือการสังหารหมู่ปี 2519 เป็นตัวแทนความล้มเหลว แม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีทัศนะเช่นนี้จะสนับสนุนแนวคิดที่ว่าอนุสาวรีย์ดังกล่าวควรจะให้คุณค่ากับทั้งสองเหตุการณ์ และคำว่า “วีรชนเดือนตุลา” ควรจะหมายรวมถึงผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 อนุประโยคหลังดูเหมือนถูกรวมเข้ามาเพียงเพราะถูกมองว่าเชื่อมโยงแยกขาดจากกันไม่ได้ เป็นจุดสิ้นสุดที่น่าสะทกสะท้านสิ้นหวังของลำดับเหตุการณ์ที่เปิดฉากด้วยคำมั่นสัญญาถึงความหวัง คุณค่าของ 6 ตุลา 2519 โดยตัวมันเองจึงน่าคลางแคลงใจ แน่นอนว่าเทียบไม่ได้กับคุณค่าของเหตุการณ์ตุลา 2516 ไม่มีด้านบวกใดๆ ให้ต้องรำลึก มีเพียงด้านลบให้สะท้อนย้อนคิด นั่นคือ ความผิดพลาด ความล้มเหลว และการเสียสละเพื่อลัทธิสุดขั้ว นี่เป็นการตีความประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ยังได้รับการยอมรับกันในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การลุกฮือในเดือนพฤษภา 2535 อดีตเริ่มได้รับการมองในบริบทที่แตกต่างออกไปเนื่องจากการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์นี้ การสังหารหมู่ปี 2519 ไม่ได้รับการตีความว่าเป็นตอนจบของเรื่องราวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกต่อไป เรื่องเล่าใหม่เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโผล่ขึ้นมาแทนที่ โดยถือว่าเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นความต่อเนื่องของกระบวนการที่เริ่มต้นในปี 2516 บางคนโต้แย้งว่ากระบวนการประชาธิปไตยเริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นอีกด้วยการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 กล่าวกันว่าจิตวิญญาณของการต่อสู้ในปี 2516 ได้รับการส่งต่อมาสู่ชนรุ่นหลังสิบเก้าปีหลังจากนั้น ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องเล่านี้จริงหรือไม่จริง แต่อยู่ที่อดีตถูกมองในบริบทใหม่และวางโครงเรื่องใหม่อย่างไร เรื่องเล่าฉบับใหม่คือโครงเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2475 แต่ทรุดถอยลงหรือถูกปราบปรามด้วยการปกครองของทหารอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในปี 2516 ซึ่งแม้ว่าจะเกิดการสังหารหมู่ในปี 2519 ทว่าก็ดำเนินต่อไปได้ใหม่ในปี 2535 แม้ว่าเหตุการณ์ลุกฮือในปี 2535 จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นแท้จริง แต่ก็เป็นหลักหมายสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยไทย ขณะที่ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน นี่เป็นวาทกรรมประชาธิปไตยที่ฟื้นคืนพลังขึ้นอีกครั้งซึ่งส่งผลดีต่อประเทศชาติ แต่การสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 มีที่ทางอยู่ตรงไหนในโครงเรื่องใหม่นี้ ?

นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เช่นเดียวกับแผนการสร้างสวนสันติพรโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์สำหรับ “วีรชนประชาธิปไตย” เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูเกียรติไม่เพียงแต่ผู้เสียสละในเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองเหตุการณ์เท่านั้น แต่รวมถึงในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ด้วย ปรากฏว่าตอนนี้ความทรงจำและความหมายของการสังหารหมู่ปี 2519 ได้เข้าไปมีส่วนแบ่งในชัยชนะของประชาชนในทั้งสองเหตุการณ์ด้วย พิจารณาจากมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ปี 2519 อาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคขวากหนามที่ต้องเผชิญบนถนนไปสู่ประชาธิปไตยที่ขรุขระและยาวไกล โชคร้ายที่มันส่งผลให้เกิดการนองเลือดมากเกินไป (ชาญวิทย์ 2539) เหตุการณ์ 6 ตุลานับว่าอยู่ชายขอบในเชิงเปรียบเทียบเมื่อไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชัยชนะที่ได้รับการเฉลิมฉลองแม้ในหมู่ผู้คนในฟากประชาธิปไตยเอง น่าสนใจว่าขณะที่มีการรำลึกการลุกฮือในปี 2516 เป็นประจำทุกปี และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในเชิงเปรียบเทียบ การจัดงานเล็กๆ ประจำปีเพื่อรำลึกการสังหารหมู่เริ่มต้นขึ้นในปี 2521 หลังการปล่อยตัวจำเลยคดี 6 ตุลา กลับยิ่งมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมเมื่อถึงกลางทศวรรษ 1980 และจางหายไปในต้นทศวรรษ 1990 ผู้เขียนเสนอว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ทางอันคลุมเครือของการสังหารหมู่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

หากการสร้างอนุสรณ์สถานเป็นไปได้จริง เหตุใดจึงต้องยกย่องเชิดชูเหยื่อของการสังหารหมู่ปี 2519 ซึ่งไม่เหมือนวีรชนปี 2516 และ 2535 ตรงที่สาธารณชนมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง (radicals) ไม่ใช่วีรบุรุษ ? มีเหตุผลอะไรที่ต้องรวมพวกเขาเข้าไปด้วย ? ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะกีดกันพวกเขาออกไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความจริงที่ว่าพวกเขาแตกหน่อออกมาจากคนรุ่นตุลา 2516 และความตายของพวกเขาก็ดูเหมือนชี้ไปที่ศีลธรรมของเรื่องเล่า แผนการที่ผุดขึ้นมาคือการไปขอให้วีรชนปี 2516 และ 2535 แบกรับสหายแห่งปี 2519 ร่วมทางไปกับพวกเขาด้วยในความทรงจำและเรื่องเล่าเกี่ยวกับประชาธิปไตย ข้อบกพร่องในโครงเรื่องแบบนี้ คือการที่มันจัดวางประวัติศาสตร์ของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 2519 เป็นตัวแทน ไว้ตรงชายขอบรอบริม หรือไม่ก็ขจัดทิ้งไปเสียเลยจากโครงเรื่อง กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หนทางเดียวที่ความทรงจำถึงการสังหารหมู่อาจอยู่รอดปลอดภัยอย่างเป็นตลกร้ายคือต้องถูกย่อส่วนลงในเรื่องเล่าประชาธิปไตยไทย ในประเทศและวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับแนวคิดนามธรรมเกี่ยวกับ “อุดมคติอันสูงส่ง” (noble cause) ซึ่งผู้คนที่ใฝ่ฝันถึงอุดมคตินี้สละตนเพื่อความผาสุกและประโยชน์ของส่วนรวม จึงไม่มีเหตุผลชัดเจนอันใดที่จะจัดงานรำลึกที่เหมาะควรให้แก่การสังหารหมู่ในปี 2519 และขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในประเทศไทย

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ตำแหน่งแห่งที่อันน่ากระอักกระอ่วนใจของการสังหารหมู่ในเรื่องเล่าประชาธิปไตยไทยก็เป็นประเด็นขึ้นมาอีกในปี 2541 เนื่องจากงานฉลองครบรอบ 25 ปีของการลุกฮือในปี 2516 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาอย่างเป็นทางการทุกปีในฐานะ “วันเสรีภาพ” การเคลื่อนไหวนี้นำไปสู่การถกเถียงอภิปรายในหมู่อดีตฝ่ายซ้ายเกี่ยวกับความหมายทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ปี 2516 หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ อะไรคือนัยของชื่อที่ถูกเสนอขึ้นมา ในด้านหนึ่ง การลุกฮือในปี 2516 ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยอย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งของข้อถกเถียง มีผู้โต้แย้งว่าชื่อนี้ไม่ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างถูกต้องถึงองค์ประกอบต่างๆ ของอุดมคติที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐาน (radical idealism) เช่น สังคมนิยม, สมภาคนิยม (egalitarianism) และชาตินิยมมวลชน (popular nationalism) (ในฐานะที่ตรงกันข้ามกับชาตินิยมของชนชั้นนำ) ซึ่งเป็นพื้นฐานให้กับการเติบโตของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในช่วงสามปีต่อมา ดังที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว ประเด็นในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะวันที่เกิดการลุกฮือขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อนโดยตัวมันเอง แต่คือการพิจารณาวันนั้นจากมุมมองของการคลี่คลายทางประวัติศาสตร์หลังจากนั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ชื่อและความหมายทางประวัติศาสตร์ของวันที่ 14 ตุลาคมขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาปรองดอง หรือล้มเหลวที่จะปรองดองกับหลายปีที่ผ่านมารวมถึงการสังหารหมู่อย่างไร

ดังนั้น แผนการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่คาดคิดจึงน่าประหลาดใจน้อยลง ตราบใดที่การสังหารหมู่ปี 2519 ถูกกีดกันออกไป หรือลดความสำคัญลงให้อยู่ในฐานะจุดจบอันมัวหม่นหลังจุดเริ่มต้นอันรุ่งโรจน์ แน่นอนว่าไม่ใช่ในฐานะอาชญากรรมรัฐที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และตราบใดที่เรื่องเล่าอันเรืองรองเกี่ยวกับการลุกฮือในปี 2516 ยังครอบงำความหมายของอนุสาวรีย์นี้ ก็เป็นไปได้ที่อนุสรณ์สถานสำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จะถือเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การยอมรับประชาธิปไตยของประชาชน (popular democracy) ในความเห็นของผู้เขียน นี่คือการก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นดัชนี้ชี้วัดว่าการสังหารหมู่ปี 2519 จะได้รับการยอมรับในแบบที่มันเป็นจริงๆ ที่สำคัญที่สุด บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทั้งสองเหตุการณ์ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าอนุสรณ์สถานสำหรับเหตุการณ์ปี 2516 จะช่วยเสริมส่งเกียรติภูมิและความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ขณะที่อนุสรณ์สถานสำหรับการสังหารหมู่ที่ซื่อสัตย์และซื่อตรงอาจนำไปสู่ผลในทางตรงกันข้าม

กระนั้นก็ตาม ความสำคัญแท้จริงของการสังหารหมู่ปี 2519 อาจได้รับการประเมินค่าอย่างดีที่สุดในบริบทที่แตกต่างออกไป เช่นในประวัติศาสตร์ของเอ็นจีโอไทย หลังการสังหารหมู่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการล่มสลายลงของขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายในเมือง ในต้นทศวรรษ 1980 นักศึกษานักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับ พคท. และการต่อสู้ติดอาวุธ กลุ่มประชาสังคมจำนวนไม่น้อยที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิทธิผู้หญิง หรือทำงานเพื่อการพัฒนาชนบทและเพื่ออุดมการณ์อื่นๆ เฟื่องฟูขึ้น ทั้งๆ ที่หรืออันเนื่องมาจากการล่มสลายลงของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานตามแนวทางมาร์กซิสต์ ปรากฏว่าเอ็นจีโอเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์การเมืองไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในกรณีนี้ การสังหารหมู่ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนเหล่านี้ตาสว่างจากทั้งรัฐและขบวนการฝ่ายซ้าย และเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาทางเลือก นี่คือสิ่งที่ Charles Keyes เรียกว่า “อวสานของความไร้เดียงสา” (จากการสนทนาส่วนตัว)

การจัดงานรำลึกการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ในปี 2539

การจัดงานรำลึกในปี 2539 อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญที่หยุดความเงียบงันซึ่งห้อมล้อมการสังหารหมู่ 6 ตุลาลงได้พักหนึ่ง การจัดงานครั้งนี้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงเนื่องจากปัจจัยหลายประการที่มาบรรจบกัน กระนั้นก็ตาม อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินผลของการจัดงานที่มีต่อความทรงจำของการสังหารหมู่ในวันพุธนั้น ในส่วนนี้ ผู้เขียนอยากจะเสนอความคิดเห็นสองสามข้อเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ และประเมินเบื้องต้นว่าอะไรที่สำเร็จและอะไรที่ไม่สำเร็จ รวมถึงข้อจำกัดของความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะขจัดปริศนาและความเงียบงัน

เมื่อมองย้อนกลับไป การจัดงานรำลึกที่ริเริ่มขึ้นในปี 2538 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากอดีตฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ของคนรุ่นนั้นผ่านช่วงความไม่มั่นคงในชีวิตและลงหลักปักฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ปัจจุบันพวกเขาส่วนใหญ่มีโอกาสและทรัพยากรสำหรับการกลับมาทำกิจกรรมการเมือง อันที่จริงแล้วเชื่อกันว่า คนกลุ่มใหญ่ของรุ่น 2516-2519 ซึ่งเชื่อว่าตนมีพันธกิจทางการเมืองร่วมกันได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการประท้วงเผด็จการทหารในปี 2535 (เอนก 2536, 87-88, 127) การจัดงานรำลึกอาจเป็นไปไม่ได้หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยเร็วกว่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยในปี 2538 เปิดกว้างมากขึ้นต่อทัศนะวิพากษ์ที่สดใหม่ในเรื่องจุดด่างพร้อยอัปลักษณ์ในประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดังที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว วาทกรรมการสังหารหมู่เองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในลักษณะที่เป็นคุณต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ

ระหว่างหนึ่งปีก่อนถึงเดือนตุลา 2539 อดีตฝ่ายซ้ายหลายคนได้จัดกิจกรรมรำลึกขึ้นหลายครั้ง โครงการซึ่งในตอนแรกเริ่มต้นด้วยความคิดที่จะทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตพัฒนาไปสู่การจัดงานใหญ่ มีการอภิปราย พูดคุย และประชุมกันเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (oral histories) ของขบวนการฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 1970 และในเขตป่า สื่อมวลชนให้ความสนใจรายงานข่าวติดต่อกันหลายสัปดาห์ทั้งก่อนและระหว่างกิจกรรมเหล่านี้เกินความคาดหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบปีที่แล้วได้รับการบอกเล่าอีกนับครั้งไม่ถ้วน แม้จะไม่มีการเอ่ยถึงส่วนที่อภิปรายไม่ได้ของประวัติศาสตร์อย่างไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ปฏิกิริยาจากฝ่ายขวาหรือความพยายามใดๆ ที่จะขัดขวางการจัดงานหายไปอย่างเห็นได้ชัด นอกจากใบปลิวจำนวนไม่มากนักซึ่งแจกจ่ายโดยกลุ่มใดก็ไม่ทราบ ไม่มีปฏิกิริยากระทั่งความคิดเห็นใดๆ เลยจากทหารหรือกลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มใดเลย งานรำลึกซึ่งจัดขึ้นสองวันประกอบด้วยเสวนาวิชาการ สุนทรพจน์สาธารณะ ดนตรีและการแสดง นิทรรศการศิลปะ สิ่งพิมพ์ นิทรรศการเล่าเรื่องราวการสังหารหมู่ และอื่นๆ อีกมากมาย กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นโดยปราศจากการปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านแม้แต่เพียงน้อยนิด

ต่างจากงานรำลึกประจำปีก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นโดยนักศึกษา ในครั้งนี้วาทกรรม 6 ตุลา 2519 ไม่ข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย งานรำลึกครั้งนี้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อเรื่องการสังหารหมู่ด้วยการเผชิญหน้ากับประเด็นอาชญากรรมรัฐ ขณะที่จัดให้ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอยู่ในบทบาทรอง เทปบันทึกภาพเช้าวันสังหารหมู่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาสองวัน[23] มีการจำหน่ายวีซีดีหลายพันแผ่น กระนั้นก็ตาม มีการแถลงอย่างชัดเจนว่าการจัดงานรำลึกครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหมายและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการล้างแค้นอย่างที่โจษจันกัน การประณามอาชญากรรมรัฐนี้หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวหาปัจเจกบุคคลใดเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ แทนที่จะให้ความสำคัญกับความสำเร็จหรือคุณูปการของขบวนการเคลื่อนไหวที่มีต่อประชาธิปไตยไทย การจัดงานครั้งนี้กลับมุ่งเน้นไปที่การเชิดชูเกียรติการเสียสละตนของเหยื่อแม้ว่าจะอยู่ในรูปอุดมคติตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสม์ก็ตาม ในการรำลึกลักษณะนี้ ประสบการณ์บาดแผลในช่วงเข้าป่าของอดีตฝ่ายซ้ายก็ถูกทำความเข้าใจอย่างเห็นอกเห็นใจด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุที่หลายคนในหมู่คนเหล่านี้เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และการสังหารหมู่ในปี 2519 ก็ได้หันเหทิศทางความเชื่อของพวกเขาอย่างสำคัญ ขณะที่การอุทิศตนให้กับอุดมคติค่อยๆ จางหายไปในท้ายที่สุดเนื่องจากฝันสลายจาก พคท. ดังนั้น สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ที่พวกเขาจะสามารถร่วมรำลึกถึงและยกย่องได้นั้นจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย แต่เป็นประวัติศาสตร์ของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในทศวรรษ 1970

ในทัศนะของผู้เขียน ผลสำเร็จสำคัญที่สุดเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า อีกทั้งไม่ได้ตระหนักถึงจนกระทั่งการจัดงานเสร็จสิ้นลงแล้ว นั่นคือ โอกาสที่อดีตฝ่ายซ้ายจะได้เริ่มต้นทำความเข้าใจกับความทรงจำอันเจ็บปวดของตน เห็นได้ชัดว่าในหมู่ผู้เข้าร่วมการเยียวยาเกิดขึ้นในหลายระดับ กิจกรรมหลายอย่างทั้งก่อนหน้าและระหว่างการจัดงานรำลึกค่อยๆ ชักพาอดีตฝ่ายซ้ายเหล่านี้ให้กลับมาทบทวนอดีตอันเจ็บปวดที่พวกเขาดิ้นรนเยียวยาตัวเองเป็นเวลาหลายปี เป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถพูดถึงมันและบอกเล่าเรื่องราวต่อสาธารณะ และครั้งนี้ผู้คนรับฟังด้วยความเข้าใจ ความเห็นร่วมกันข้อหนึ่งจากอดีตฝ่ายซ้ายเหล่านี้คือความเป็นจริงที่ว่า นี่เป็นครั้งแรกในที่สาธารณะที่พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนทั้งความทรงจำร่วมและความทรงจำส่วนตัวอันเจ็บปวดของนักเคลื่อนไหวรุ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมีบทบาทในประวัติศาสตร์ที่ถูกละเลยตลอดมา บันทึกความทรงจำหลายชิ้นของอดีตฝ่ายซ้ายได้รับการตีพิมพ์ในปี 2539 และหลังจากนั้น มีการจัดงานรำลึกในทางสาธารณะและงานฌาปนกิจ ณ สถานที่ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท. ในเขตป่าอีกหลายครั้ง หากเราจะถือว่าสื่อมวลชนเป็นตัวแทนของสาธารณชน ปฏิกิริยาของพวกเขาก็ท่วมท้นไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ สำหรับหลายๆ คน การถูกตีตราหรือความกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับจางหายไปในที่สุด อดีตอันเจ็บปวดของพวกเขาได้รับการปัดเป่า อันที่จริงแล้วตอนนี้หลายคนสามารถพูดถึงอดีตของตนได้ด้วยความภูมิใจและมั่นใจด้วยซ้ำ ในวัฒนธรรมซึ่งปกติแล้วไม่รู้จักวิธีการทำความเข้าใจกับอดีตด้วยการพูดมันออกมา หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะวิธีเยียวยา สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดงานรำลึกเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง

กิจกรรมที่น่าจดจำที่สุดน่าจะเป็นการจัดพิธีศพในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ผู้เสียชีวิตเมื่อยี่สิบปีก่อน แตกต่างจากวีรชนของอีกสองเหตุการณ์ ซึ่งได้รับการฌาปนกิจพิเศษและครอบครัวของพวกเขาได้รับการยกย่องให้เกียรติจากสาธารณชน ในหมู่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ซึ่งบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ 41 คน มีเพียงแค่ 6 ศพเท่านั้นที่มีครอบครัวหรือญาตินำไปประกอบพิธีฌาปนกิจ ที่เหลือไม่เคยได้รับการฌาปนกิจไม่ว่ารูปแบบไหน ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศพที่เหลือ มีไม่กี่คนที่ยังไม่ได้รับการระบุว่าเป็นใครแม้จะผ่านมายี่สิบปีแล้วก็ตาม ในกรณีของจารุพงษ์ เพื่อนคนที่ผู้เขียนเอ่ยถึงเมื่อตอนต้นของบทความนี้ พ่อแม่ของเขาไม่ทราบหรือไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบถึงการเสียชีวิตของลูกชายจนกระทั่งกลางปี 2539 ก่อนหน้านี้เป็นเวลาถึงยี่สิบปีที่พวกเขายังคงหล่อเลี้ยงความหวังว่าจะได้พบกับลูกชายอีกครั้ง (สารคดี 2539, 137-40) เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2539 มีการจัดพิธีฌาปนกิจเชิงสัญลักษณ์ให้กับผู้เสียชีวิตทั้ง 41 คนที่สนามฟุตบอลซึ่งการสังหารหมู่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีร่างของพวกเขา เราจึงใช้กระดาษแต่ละแผ่นเขียนชื่อของแต่ละคนแยกกันแทน บางคนมีรูป ส่วนมากไม่มีอะไรเลย ทุกคนได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีใบหน้า มีชื่อ มีครอบครัวเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทว่าพวกเขาจบชีวิตลงอย่างกะทันหันเนื่องจากอุดมคติที่พวกเขายึดถือ พระสงฆ์และผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอื่นๆ เป็นผู้ประกอบพิธีฌาปนกิจเชิงสัญลักษณ์นี้ มันเป็นพีธีกรรมที่ขรึมขลังทว่าสง่างาม ในทัศนะของผู้เขียน ยี่สิบปีให้หลังอดีตฝ่ายซ้ายของทศวรรษ 1970 บรรลุหนึ่งในภารกิจสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือได้จัดพิธีฌาปนกิจในทางสาธารณะและกล่าวคำอำลาเพื่อนๆ ผู้ซึ่งใช้หนี้ชีวิตไปในเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตคนนับพันในรุ่นนั้นไปตลอดกาล กิจกรรมนี้นำความสงบมาสู่จิตใจของอดีตฝ่ายซ้ายยิ่งกว่ากิจกรรมอื่นใดที่ผ่านมา น้ำตาในที่สาธารณะที่พวกเขาหลั่งให้กับขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในอดีต อาจเป็นสัญญาณว่าไม่มีผู้รอดชีวิตคนใดอีกแล้วที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับบาดแผนส่วนตัวตามลำพัง พิธีฌาปนกิจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการจัดงานรำลึกในปี 2539 และการบรรลุทั้งเป้าหมายร่วมและเป้าหมายเชิงปัจเจก

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ความทรงจำเกี่ยวกับการสังหารหมู่ในบริบทที่กว้างขวางยิ่งขึ้นของประวัติศาสตร์ไทยล่าสุดได้เปลี่ยนแปลงไปจริงๆ หรือไม่ และในทิศทางใด และความอิหลักอิเหลื่อยังคงอยู่ในหมู่ผู้กระทำความผิดและเหยื่ออย่างไร แน่นอนว่าการจัดงานรำลึกครั้งนี้เป็นการหยุดความเงียบงันครั้งสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมการสังหารหมู่ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการพลิกกลับของวาทกรรมซึ่งเหยื่อได้รับการยอมรับและเชิดชูเกียรติ ขณะที่ผู้กระทำความผิดถูกบังคับให้ตกอยู่ในความเงียบ ในที่สุดอาชญากรรมและความเจ็บปวดก็ถูกเข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตาม งานรำลึกครั้งนี้ไม่ใช่พิธีกรรมมหัศจรรย์ที่จะมีอิทธิฤทธิ์ปัดเป่าความอิหลักอิเหลื่อให้ปลาสนาการไปได้ทั้งหมด แม้ว่าการเมืองจะเปิดกว้างกว่ายุคใดๆ ก่อนหน้านี้ ทว่างานรำลึกครั้งนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความเสี่ยงทางการเมืองหลายประการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการเกี่ยวกับการสังหารหมู่และข้าวของอื่นๆ ทุกชิ้นที่ใช้ในการจัดงานได้รับการตรวจตราให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไม่พึงประสงค์ ผลก็คือ แม้เนื้อหาของงานจะมุ่งเน้นไปที่การก่ออาชญากรรมโดยรัฐและการเสียสละอันสูงส่งของเหยื่อ ปริศนาลึกลับก็ยังดำรงคงอยู่ อีกทั้งการจัดงานครั้งนี้ก็ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาความไม่เข้าร่องเข้ารอยของการสังหารหมู่ในเรื่องเล่าประชาธิปไตยไทย ประเด็นอนุสรณ์สถานสำหรับวีรชนประชาธิปไตยได้รับการหยิบยกขึ้นมาหลายครั้งหลายคราระหว่างการจัดงานรำลึก แต่ไม่มีการอภิปรายว่าการสังหารหมู่ควรได้รับการจดจำอย่างไรในโครงการสร้างอนุสาวรีย์[24]

ขณะที่ความพยายามแสวงหาความจริงอย่างรอบด้านและกำหนดที่ทางอันเหมาะสมของเหตุการณ์สังหารหมู่ในเรื่องเล่าแห่งชาติจะยังอยู่ในสภาวะที่หาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้เสมอ การจัดงานรำลึกครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีหลากหลายหนทางที่ปัจเจกบุคคลสามารถหวนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์บาดแผลจากแง่มุมใหม่และหาทางที่จะเยียวยา แม้กิจกรรมร่วมจะเป็นไปภายใต้ข้อจำกัด ประวัติศาสตร์ส่วนตัวไม่ว่าจะเขียนออกมาหรือก่อตัวขึ้นภายในจิตใจเมื่อปัจเจกแต่ละคนเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการจัดงานรำลึกร่วมกันครั้งนี้ ก็มีศักยภาพที่จะช่วยเยียวยาประวัติศาสตร์บาดแผลและการครอบงำในปัจจุบัน

ความอิหลักอิเหลื่อแห่งชาติ

การสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 เป็นตัวอย่างของอดีตที่ตามมาหลอกหลอนปัจจุบัน แม้ว่าในตอนนี้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตอาจผ่อนพักอยู่ในอีกโลกหนึ่งแล้ว ความทรงจำต่อเหตุการณ์ก็ยังเฝ้าหลอกหลอนคนนับพัน เหตุการณ์นี้แตกต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ไม่ใช่เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากมายมหาศาล หรือเพราะคนทั้งชาติรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น ทว่าอย่างที่บทความนี้ได้อธิบายไปแล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับการสังหารหมู่ยังคงต่อสู้แข่งขันกัน หาข้อยุติไม่ได้ และเฝ้ารบกวนจิตใจ ความสลับซับซ้อนของความทรงจำที่ต่อสู้แข่งขันกันเช่นนี้ถูกสำทับด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายไปในเวลาต่อมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของประเทศ ไม่เฉพาะในด้านการเมืองเท่านั้น แต่ในด้านอื่นๆ ด้วย ค่อนข้างชัดเจนด้วยเช่นกันว่าความทรงจำที่ต่อสู้แข่งขันกันซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้ ในหลายๆ ด้านก็เป็นผลมาจากธรรมชาติของการเมืองในระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นไปได้ว่าความอิหลักอิเหลื่อจะคงอยู่ต่อไปอีกนานหลายปี เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วประเด็นต่างๆ ของความทรงจำยังปะทะขัดแย้งกันอยู่มาก และสังคมของเราพยายามที่จะหล่อเลี้ยงความสมานฉันท์ด้วยการหลบเลี่ยงมากกว่าการถามหาความจริง

หากพิจารณาความเป็นจริงที่ว่ามีคนเพียงไม่กี่พันที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารหมู่ในทางใดทางหนึ่ง ยุทธศาสตร์การหลบเลี่ยงเช่นนี้อาจทอดระยะเวลาต่อไปได้เรื่อยๆ ความอิหลักอิเหลื่ออาจอยู่กับคนเหล่านั้นไปอีกหลายทศวรรษ แตกต่างจากวีรชนของเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในจีน หรือเหตุการณ์ 8888 ในพม่า ซึ่งจะได้รับการจดจำเพราะอุดมคติของการต่อสู้ยังไม่บรรลุผล แต่อุดมคติของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในประเทศไทยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ผู้ที่ไม่อยากจะยอมรับประวัติศาสตร์ของขบวนการฝ่ายซ้ายไทยรวมทั้งประวัติศาสตร์บาดแผลอาจกำลังซื้อเวลา ด้วยหวังว่าความอิหลักอิเหลื่อแห่งชาตินี้อาจจางหายไปได้เอง

ผู้เขียนเชื่อว่า ในท้ายที่สุดอนุสาวรีย์สำหรับวีรชนประชาธิปไตยจะสร้างได้สำเร็จ เมื่อประเทศมีความก้าวหน้า เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีวันที่อาชญากรรมรัฐได้รับการประณามอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือประวัติศาสตร์ของขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในประเทศไทยจะมีวันได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญอย่างเต็มที่หรือไม่ เป็นไปได้ว่าการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 จะยังเป็นเงามืดของประวัติศาสตร์ไทยไปอีกนานหลายปี ขณะเดียวกันนั้น อนุสาวรีย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรืออนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงเฉพาะการลุกฮือในปี 2516 เท่านั้น จึงเป็นอนุสรณ์สถานที่พอเหมาะพอดีที่สุดแล้วสำหรับความอิหลักอิเหลื่อแห่งชาติเช่นนี้

เชิงอรรถ

[1] งานศึกษาวิจัยในโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนบางส่วนจากบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison ในปี 2539 สถาบันวิจัยมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Wisconsin เปิดกว้างอนุมัติให้ผู้เขียนทำวิจัยในโครงการนี้ และนำเสนอที่ประเทศไทยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2539 ขณะที่ผู้เขียนเป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันดังกล่าว ระหว่างปี 2538-2539 ผู้เขียนนำเสนอหลายร่างของบทความนี้ในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำอันมีค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ไชยันต์ รัชชกูล, จามรี พิทักษ์วงศ์, Charles Keyes, Shigeharu Tanabe, Mary Steedly, Hue-tam Ho Tai, ตลอดจนนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกในวิชาสัมมนาของผู้เขียนในช่วงฤดูใบไม้ผลิเรื่อง “ประวัติศาสตร์บาดแผลในประเทศไทย”

[2] เรื่องเล่าย่อๆ จนถึงจุดนี้มาจากความทรงจำในเช้าวันนั้นของผู้เขียน ลำดับเหตุการณ์อาจไม่เหมือนกับที่มาจากแหล่งอื่นๆ เช่น Puey (1977, 5-7). เรื่องเล่าส่วนที่เหลือมาจากการสนทนากับนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ขณะที่พวกเราอยู่ในคุก และได้รับการยืนยันด้วยภาพถ่ายที่หาได้ในภายหลัง (วัฒนชัย 2531)

[3] ในรายงานชันสูตรพลิกศพ รายงานการตรวจศพ และภาพถ่ายศพ ระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายเจ้าพนักงาน 5 คน (2 คนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีก 3 คนเป็นพลเรือน) ขณะที่อีก 41 คนเป็นฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่เป็นผู้ต้องหา ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่ทราบชื่อและผู้ที่ถูกเผาอีกอย่างน้อย 4 ศพ รวมในนั้นด้วย รวมทั้งมีการฆ่าตัวตายของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย ดู ภาคผนวกที่ 4 ในบทที่ 3

[4] แม้จะมีงานวิเคราะห์เหตุการณ์นี้หลายชิ้นในภาษาอังกฤษ กล่าวคือ Anderson (1977), Puey (1977), Mallet (1978), และ Morell and Chai-anan 1981 มีเพียงงานเขียนของป๋วยในปี 1977 และคำให้การของเขาต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ เท่านั้นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย (ใน ป๋วย 2524) นอกจากสิ่งพิมพ์นักศึกษาแล้ว เรื่องเล่าอีกแหล่งหนึ่งที่รู้จักกันดีในพากย์ภาษาไทยอยู่ในหนังสือ เราคือผู้บริสุทธิ์ ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์และข้อเขียนบางชิ้นโดยผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับกุมและไต่สวน (หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำโดยหลายสำนักพิมพ์) กล่าวได้ว่าสิ่งพิมพ์ในพากย์ภาษาไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมของนักเคลื่อนไหว ซึ่งเขียนขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อเปิดโปงเรื่องการสังหารหมู่และสนับสนุนนักศึกษาที่อยู่ในคุก งานศึกษาวิเคราะห์อย่างครอบคลุมเช่นของ Morell and Chai-anan (ยังไม่เคยได้รับการแปล) และ Anderson (มีแปลเป็นไทยแล้ว) แทบไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เคยตั้งข้อสังเกตว่า ความเงียบงันโดยเปรียบเทียบของการสังหารหมู่ในปี 2519 แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของวาทกรรมวิชาการในประเทศนี้ (ชัยวัฒน์ 2529)

[5] หนึ่งในงานที่มีชื่อเสียงคือ ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง โดยอัศศิริ ธรรมโชติ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2524

[6] แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ถูกสร้างและรักษาไว้ด้วยการทำให้บางเหตุการณ์ในอดีตเงียบงันอยู่เสมอมาจาก Trouillot (1995).

[7] ในหมู่คณะกรรมการจัดงานเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในทั้งในทางส่วนตัวและการเมือง ในบรรดาความขัดแย้งต่างๆ ประเด็นการเมืองที่แหลมคมสุดคือความวิตกกังวลว่าการจัดงานรำลึกครั้งนี้จะถูกมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยกอีก กลุ่มหนึ่งพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหว เช่น การเผชิญหน้ากับการสังหารหมู่ในฐานะอาชญากรรมรัฐ และการทบทวนขบวนการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานในอดีต บางส่วนพยายามทำให้การจัดงานรำลึกเป็นไปเพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีของสังคม ขณะที่คนอื่นๆ ต้องการเผชิญกับอดีตอย่างตรงไปตรงมา

[8] รายงานของหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐอเมริกาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี 2537 จัดทำรายชื่อประเด็นต้องห้ามซึ่งไม่สามารถเอ่ยถึงในหนังไทย มีเรื่องตำรวจและพระสงฆ์ที่ประพฤติมิชอบ และเหตุการณ์ปี 2519 อย่างหลังไม่ปรากฏในรายงานก่อนหน้านั้น หรือว่านี่เป็นความผิดพลาดของรายงานปี 2537 ?

[9] ข้อมูลในการบรรยายต่อจากนี้ หากไม่ได้ระบุว่ามาจากแหล่งอื่น ผู้เขียนนำมาจากหนังสือพิมพ์รายวันในประเทศไทย เช่น ประชาธิปไตย และ ประชาชาติ (ภาษาไทย) Nation Review และ Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ) ส่วนข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียน. ดู Morell and Chai-anan (1981, 257-77) สำหรับบริบททางการเมืองที่กว้างขวางยิ่งขึ้นของการสังหารหมู่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ รัฐบาล และรัฐสภา

[10] Morell and Chai-anan (1981, 274, 281-82) เสนอความเป็นไปได้ของแผนการ 4 แบบ กล่าวคือ เป็นอุบัติเหตุ, นักศึกษาตั้งใจเสียดสีสถาบันกษัตริย์, แผนสมคบคิดของขบวนการฝ่ายขวา, และแผนสมคบคิดของ พคท. ทั้งคู่ดูจะให้น้ำหนักกับแผนการสุดท้าย แม้จะปฏิเสธว่าไม่มีเครื่องชี้บอกใดๆ เลยว่าละครนั้นเป็นการเคลื่อนไหวอย่างจงใจของ พคท. หากผู้เขียนจะได้รับอนุญาตให้พูดในฐานะแหล่งข้อมูลบ้าง ก็ต้องขอบอกว่าละครดังกล่าวไม่ได้ตั้งใจที่จะพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย ในเนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไป ผู้เขียนจะอภิปรายอย่างละเอียดถึงความไม่น่าจะเป็นไปได้ของแผนการแบบที่สี่

[11] จากบันทึกแถลงการณ์ของรัฐบาลซึ่งเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เห็นได้ชัดว่า ม.ร.ว. เสนีย์พยายามรักษาระยะห่างของตัวเขาและรัฐบาลของเขาจากความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ เขากล่าวว่ารัฐบาลเพียงสั่งให้จับกุมนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับละครเสียดสีแขวนคอหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช แต่ไม่ได้สั่งให้ยิงนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เสนีย์พูดประโยคนี้ซ้ำอีกหลายครั้งในปีต่อๆ มา โดยกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กระทั่งการจับกุมนักศึกษารัฐบาลของเขาก็ไม่ได้เป็นคนออกคำสั่ง (สยามรัฐ, 9 กันยายน 2520, คำแถลงการณ์ของเสนีย์ ; วัฒนชัย 2531, 145)

[12] จากแถลงการณ์ที่อ่านออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยบ่ายวันนั้น ปรากฏว่ารัฐบาลยอมรับรายงานเท็จเรื่องการซ่องสุมอาวุธในธรรมศาสตร์ แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะถูกปฏิเสธโดยผู้บัญชาการตำรวจ และถูกท้าทายโดยสมาชิกรัฐสภาบางคน เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไร้ความสามารถในการตัดสินใจอย่างไร และประสบความยากลำบากแค่ไหนในการบรรลุข้อตกลงร่วมกับคู่แข่งฝ่ายตรงข้าม

[13] ในฐานะผู้รับผิดชอบการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ผู้เขียนถูกตั้งคำถามว่าได้รับคำสั่งจาก พคท. และเป็นส่วนหนึ่งของแผนสมคบคิดหรือไม่ (สู่อนาคต 2531, 17 กรกฎาคม 1-3) ข้อสมมติฐานว่าละครแขวนคอเป็นส่วนหนึ่งของแผน พคท. ดูเป็นข้อกล่าวหาที่ประหลาดเหลือเชื่อตามความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง (ตุลากาล 2539, 34-36) ข้อกล่าวหาดังกล่าวยังอ้างข้อมูลที่เป็นเท็จจำนวนมากด้วย ตัวอย่างเช่น มีการกล่าวกันว่ากลุ่มหัวรุนแรงสุดขั้วในหมู่นักศึกษาปฏิเสธที่จะยุติการชุมนุมประท้วง ขณะที่กลุ่มที่เป็นกลางๆ ซึ่งนำโดยสุธรรมพยายามคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ด้วยการเจรจากับรัฐบาล สุธรรมปฏิเสธว่าไม่มีการแบ่งแยกในหมู่นักศึกษาดังที่กล่าวอ้าง (สุธรรม 2522, 42-43)

[14] คำพูดออกอากาศส่วนนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ในภายหลังตำรวจส่วนใหญ่ที่ไปพูดออกอากาศในรายการดังกล่าวอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ของพยานโจทก์ในการไต่สวนคดี 6 ตุลา แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้บันทึกเสียงรายการออกอากาศของสถานีวิทยุยานเกราะในบ่ายวันนั้นและของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เขามอบเทปบันทึกเสียงให้แก่ผู้เขียนในปี 2525

[15] จำเลยเป็นพลเรือน ทว่าผลของคำสั่งข้อหนึ่งของคณะรัฐประหารทำให้ทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาคอมมิวนิสต์และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องขึ้นศาลทหาร ในคดี 6 ตุลา จำเลยทุกคนยกเว้นแค่คนเดียวถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และมี 7 คนที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นฯ ด้วย

[16] ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในปี 2521 มีการเผยแพร่ใบปลิวในนาม “กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและชมรมแม่บ้านในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519” กล่าวโจมตีการนิรโทษกรรม ใบปลิวนั้นเรียกปฏิบัติการของพวกเขาในวันสังหารหมู่ว่า “ปฏิบัติการวีรกรรมในวันที่ 6 ตุลา” ผู้สมัครสังกัดพรรคของจำลองเป็นผู้นำฝีปากกล้าของชมรมแม่บ้านในเหตุการณ์ปี 2519

[17] นิตยสารรายเดือน ปริทัศน์สาร เป็นหนึ่งในความพยายามครั้งใหญ่เหล่านี้ ช่วงเวลานี้เองที่อดีตฝ่ายซ้ายหลายคนหันไปทำงานเป็นเอ็นจีโอรากหญ้า ซึ่งต่อมาปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

[18] หากพิจารณาดีๆ จะพบชายคนเดียวกันปรากฏในทั้งสามรูปในที่เกิดเหตุแขวนคอ เผา กระทำทารุณกรรม (และข่มขืน ?) ผู้หญิง เขาเสียสติไปชั่วคราวหรือเปล่า ? หรือว่าเขาเป็นสายลับที่ถูกส่งตัวมาเพื่อยั่วยุปลุกปั่นให้คนอื่นๆ กระทำทารุณโหดร้ายเช่นนั้น ?

[19] ผู้เขียนต้องขอขอบคุณเกษียร เตชะพีระ ที่เล่าเรื่องปาฐกถานี้ของอานันท์ให้ฟัง

[20] หากไม่ได้ระบุเป็นอย่างอื่น ข้อมูลด้านล่างเกี่ยวกับโครงการสร้างอนุสาวรีย์รวบรวมมาจากสามแหล่งคือ Bangkok Post, 6 April, 1997 ; The Nation, 13 October, 1998  ; และ สายธารเดือนตุลา 2533.

[21] การสังหารหมู่ปี 2519 ได้รับการกล่าวถึงแบบผ่านๆ อยู่เสมอในงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกือบทุกปีในวันที่ 6 ตุลาจะมีการจัดงานรำลึกโศกนาฏกรรมแห่งปี 2519 แยกออกมาต่างหาก ทว่าในระดับที่เล็กกว่ามาก และค่อยๆ จางหายไปในต้นทศวรรษ 1990 สิ่งนี้สะท้อนถึงระดับความสำคัญที่ต่างกันของสองเหตุการณ์เดือนตุลาในความทรงจำของสังคม

[22] เนื่องจากทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม บางครั้งชื่อเหตุการณ์ “14 ตุลา 2516” และ “6 ตุลา 2519” จะถูกเรียกผสมกันจนมั่ว กลายเป็น “16 ตุลา”

[23] หลายปีก่อน เทปบันทึกภาพเหตุการณ์นี้หมุนเวียนอยู่ในแวดวงคนกลุ่มเล็กๆ ผู้เขียนไม่เคยได้ดู แต่ได้รับการบอกเล่าว่ามันเป็นการรวบรวมคลิปข่าวโดยนักข่าวต่างชาติจากหลายแหล่ง โชคร้ายที่คุณภาพของภาพค่อนข้างแย่ กลางปี 2539 มีการค้นพบเทปบันทึกภาพเหตุการณ์เช้าวันนั้นที่คุณภาพดีกว่า ว่ากันว่ามาจากศูนย์ข้อมูลของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) เป็นสารคดีโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุุลาที่ถูกผลิตขึ้นและแพร่ภาพไปทั่วประเทศในช่วงสั้นๆ หลังเกิดเหตุการณ์ ผู้เขียนไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลนี้ อีกทั้งไม่ทราบด้วยว่ามันถูกค้นพบได้อย่างไรหรือว่าถูกผลิตซ้ำขึ้นใหม่กันแน่ ผู้เขียนได้ดูคลิปสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่แสดงให้เห็นปฏิบัติการของตำรวจนอกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเพลงปลุกใจของกองทัพคลอเป็นฉากหลัง ตลกร้ายก็คือ วีซีดีเวอร์ชั่นนี้นี่เองที่จำหน่ายเป็นพันๆ แผ่นที่งานรำลึก 6 ตุลาในฐานะหลักฐานของการกระทำทารุณกรรม

[24] ผู้เขียนเขียนถึงประเด็นนี้ในหนังสือฉบับทางการเกี่ยวกับเหตุการณ์ (ธงชัย 2539ข) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้จงใจที่จะกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอภิปราย