มนัส เศียรสิงห์
ม โนมอบแด่ด้าวชาวดิน
นัส เยี่ยมเอี่ยมโสภิณจิตเจ้า
เศียร ศาสตร์และวาดศิล-ปยุทธ์
สิงห์ ผงาดฉกาจกร้าวกลับเย้ยทมิฬมาร
มนัส เศียรสิงห์ เป็นนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ได้ส่งผลให้ชายหนุ่มจากรั้วเพาะช่าง เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสังคมที่ดีกว่ากับขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง 14 ตุลา
ที่บ้านเรียกมนัสว่า “ปุ๊ก” แต่เพื่อน ๆ เรียกเขาว่า “แดง” เขามีน้องชายหนึ่งคน เติบโตมากับตาและยายที่บ้านสวน จังหวัดปทุมธานี พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อของมนัสเป็นชาวอินเดียนามสกุลเศียรสิงห์ มีอาชีพขายผ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนแม่ชื่อ สงกรานต์ เกาะทอง เสียชีวิตตั้งแต่มนัสยังเป็นเด็ก
มนัสขาดการติดต่อกับครอบครัว ตากับยายและญาติๆ พยายามตามหาเขาอยู่หลายปีโดยไม่รู้ว่าเขาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ครอบครัวก็คิดว่าเขาคงเสียชีวิตไปแล้ว เพราะทราบดีว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา และร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ดี ครอบครัวอยากได้ศพของมนัสมาประกอบพิธีทางศาสนา
มนัสได้ใช้ความถนัดทางศิลปะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาประชาชนหลัง 14 ตุลา และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” นอกจากกิจกรรมด้านศิลปะแล้ว มนัสได้อาสาเข้าไปแบกรับหน้าที่ “หน่วยรักษาความปลอดภัย” ให้กับการชุมนุมของเพื่อนนักศึกษา และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตาม เมื่อครอบครัวของมนัสไม่ทราบว่าเขาเสียชีวิต จึงไม่มีญาติไปรับศพ ร่างของมนัสถูกระบุไว้ในเอกสารชันสูตรพลิกศพว่าเขาเป็น “ชายไทยไม่ทราบชื่อ”
ในวาระครบรอบ 25 ปี 6 ตุลา ในปี 2544 ภายใต้การริเริ่มของนายสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย และอดีตสมาชิกคนอื่น ๆ ของกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงได้จัดตั้งรางวัล “มนัส เศียรสิงห์(แดง) ขึ้นเพื่อมอบเป็นเกียรติแก่ศิลปินทัศนศิลป์ ชาวไทย ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านสันติภาพประชาธิปไตยและความเป็นธรรมเพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูศิลปินผู้สะท้อนปัญหาสังคม โดยมีการมอบรางวัลทุก 5 ปี
“ประวัติศาสตร์ศิลปะ จากอดีตถึงศิลปะสมัยปัจจุบันผมเชื่อว่ามีศิลปะทั้งแบบการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อผู้เสพศิลปะโดยตรงและศิลปะเพื่อสังคมเพื่อความเป็นธรรมเพื่อคนเล็กคนน้อยและเพื่อสะท้อนความขัดแย้งในบางโอกาส แต่วัตถุประสงค์ต่างๆเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับศิลปินผู้สรรค์สร้างว่าจะทำงานศิลปะเพื่ออะไร แต่รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง” เป็นรางวัลที่มุ่งประกาศเกียรติคุณ ให้กำลังใจและเชิดชูศิลปินที่สะท้อนปัญหาให้กับสังคม และเพื่อรำลึกถึงมนัส เศียรสิงห์ ” สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินกล่าวถึงเหตุผลในการก่อตั้งรางวัล ฯ
ข้อมูลจาก
- สัมภาษณ์ นภาพร เกาะทอง หลานสะใภ้ของครอบครัวเศียรสิงห์ และ ลุงจุ๋ม ลูกพี่ลูกน้องของมนัส เศียรสิงห์ เมื่อวันที่ .23 และ 25 พฤษภาคม 2560
- เว็บไซต์ 2019.net/newsite/2016/มนัส-เศียรสิงห์/
- สำนักข่าวชายขอบ. “เสียงสะท้อนจากเจ้าของรางวัล “มนัส เศียรสิงห์” ปี 60 “ศิลปะไม่ใช่แค่ความสุนทรีย์” 24 กันยายน 2560.
http://transbordernews.in.th/home/?p=17731 .http://transbordernews.in.th/home/?p=17731 .
ภาพวาดมนัส เศียรสิงห์ และงานศิลปะ ได้รับมาจากคุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย