Documentation of Oct 6

คำให้การพยานโจทก์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

คำให้การพยานโจทก์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

เอกสารชุดนี้เป็นคำให้การพยานจำนวน 224 คน ที่ให้ปากคำไว้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนการฟ้องคดี 6 ตุลาคม 2519 ความยาวรวมมากกว่าหนึ่งพันหน้า ต้นฉบับของเอกสารชุดนี้อยู่ที่หอจดหมายเหตุ สำนักงานอัยการสูงสุด คือเอกสารในกล่องหมายเลข 17-19 ของเอกสารคดี 6 ตุลา 2519 (ดูหมายเหตุต่อท้ายคำนำนี้)

เมื่อทำสำนวนเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งคำให้การพยาน 224 คนนี้ให้แก่พนักงานอัยการ เพื่อคัดเลือกจำนวนหนึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในการปรักปรำผู้ต้องหาในชั้นศาล  คดี 6 ตุลาคม 2519 นี้ถูกฟ้องในศาลทหาร สำนวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถูกส่งให้อัยการศาลทหาร ซึ่งต่อมาได้คัดเลือก 82 คนเป็นพยานฝ่ายโจทก์  มีการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้เพียง 11 คนในการพิจารณา 29 ครั้ง (ครั้งแรก 23 มกราคม 2521 ครั้งสุดท้าย 14 กันยายน 2521) ก่อนที่การสีบพยานจะหยุดกลางคันเพราะคดียกเลิกตาม พรบ. นิรโทษกรรม คำให้การของพยาน 11 คนในชั้นศาลได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือ “คดีประวัติศาสตร์: คดี 6 ตุลาคม” 2 เล่ม (บพิธการพิมพ์, 2521 และ 2522) แต่คำให้การพยานจำนวน 224 คนที่ให้ปากคำไว้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่รวบรวมมาไว้ในที่นี้ ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

ในบรรดา 224 คนนี้ประกอบด้วยคนต่าง ๆอาชีพและเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วยเหตุผลและบทบาทต่าง ๆกัน ดังพอจำแนกได้คร่าวๆตามตารางข้างล่างนี้ หลายคนเป็นที่รู้จักกันดี หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงถูกเรียกเป็นพยาน เช่น บุคคลในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผู้บริหารของธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าปฏิบัติการในเช้าวันนั้น และผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ แต่ส่วนข้างมากของ 224 คนเป็นผู้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมาให้การ แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าเลือกมาจากไหนอย่างไร สังเกตได้แต่เพียงว่าหลายคนเคยเป็นข่าวอยู่ฝ่ายต่อต้านนักศึกษามาก่อน บางคนปรากฏในรูปถ่ายจากเหตุการณ์เช้าวันนั้น

ดังนั้น แม้ว่าการดำเนินคดีกับจำเลยคดี 6 ตุลา 18 คนจะยุติลง แต่เอกสารชุดนี้จึงมีความสำคัญต่อการเข้าใจความคิดทางการเมืองของฝ่ายขวา ตลอดจนทัศนะและความรู้สึกที่พวกเขามีต่อขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนในขณะได้เป็นอย่างดี

พยานที่ให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจคดี 6 ตุลาคม 2519: จำแนกประเภทตามบทบาท

– ทหาร  (รวม พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ฯ)  รวม  18  คน

– ตำรวจ                                                                                                 รวม                  72 คน

ตชด., กองปราบ, สันติบาล, นครบาล ท้องที่ต่าง ๆ

(สน.ชนะสงครามมากที่สุด), แผนกอาวุธ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ

– บุคลากรของธรรมศาสตร์                                                                     รวม                  46 คน

อาจารย์ นักศึกษา ยาม/นักการ ข้าราชการอื่น ๆ รวมคนขายน้ำ อาหารด้วย

– อาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมอื่น ๆ                    รวม                 17 คน

– ฝ่ายขวากลุ่ม “จิปาถะ” ต่าง ๆ และไม่สังกัดกลุ่ม                                      รวม                 32 คน

รวมทั้ง ลูกเสือชาวบ้าน นวพล ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ประสิทธิ์ ไชยทองพันธุ์

ทนง เหล่าวณิช  อำนวย พานประเสริฐ

– ช่างภาพ นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว                                                            รวม                13 คน

– เจ่าหน้าที่ธนาคารต่าง ๆ ที่มีบัญชีเงินฝากของศูนย์กลางนิสิตฯ                 รวม                13 คน

– ญาติผู้ถูกจับกุม                                                                                      รวม                 4 คน

– บุคคลในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช                                                                              2 คน

– “ช้ายกลับใจ”                                                                                                                 2 คน

– จัดไม่ได้/อื่น ๆ                                                                                                                4 คน

– ไม่พบคำให้การ                                                                                                              4 คน

                                                                                                                   รวม         224 คน

มี 82 คนจากพยานในตารางนี้ถูกเลือกเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในชั้นศาล ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 44 คน (เป็นตำรวจจากสน.ชนะสงคราม 19 คน สน.อื่น ๆ 4 คน ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 9 คน ตชด. 8 คน ตำรวจกองปราบฯ 2 คน และตำรวจสันติบาล 2 คน) อาจารย์ธรรมศาสตร์ 14 คน อาจารย์สถาบันอื่น 4 คน ผู้นำแรงงาน 2 คน ผู้เชี่ยวชาญจาก กอ.รมน. 1 คน นักข่าว ช่างภาพ นสพ. 3 คน บุคคลในรัฐบาลรวมทั้งนายกรัฐมนตรี 2 คน แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพจากโรงพยาบาลต่าง ๆ 5 คน และอื่น ๆ

ธงชัย วินิจจะกูลให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกสารชุดนี้ไว้ (มาจากบทที่ 3 “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549” ของหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, ฟ้าเดียวกัน 2558, หน้า 197-199) ซึ่งขอยกมาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้

“คำให้การของฝ่ายขวาเหล่านี้น่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างไร ในฐานะเป็นหลักฐานของความทรงจำที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา ภายหลังเหตุการณ์เพียงไม่ถึง 3 เดือน?

เราคงไม่สามารถถือเอาทุกคำพูดของเขาเป็นข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น ดังได้วิเคราะห์ให้เห็นในรายงานแล้วว่า คำให้การของหลายคนเป็นไปตามเรื่องเล่า 6 ตุลาตามแบบฉบับของฝ่ายขวาที่แพร่หลายหลัง 6 ตุลา บางคนมีการเสริมแต่งจนเหลือเชื่อ  แต่เราสามารถเข้าใจเรื่องเล่าแบบฉบับได้ชัดเจนขึ้นเพราะคำให้การเหล่านี้ผลิตซ้ำเรื่องเล่าดังกล่าว  เมื่อพิจารณาประกอบกับบริบทของสถานการณ์ในขณะนั้น เราจะเห็นคุณลักษณะที่น่าสนใจหลายประการของคำให้การของฝ่ายขวาในฐานะที่เป็นความรับรู้ ความทรงจำ หลังเหตุการณ์ใหม่ ๆ

คำให้การของฝ่ายขวาในขณะนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือในแง่ที่พวกเขาต้องการปรักปรำฝ่ายซ้ายโดยทั่วไปหรือเพื่อเล่นงานคนที่เขาเกลียดชังเป็นรายบุคคล บางคนต้องการแสดงออกเกินจริงว่าตนมีส่วนร่วมหรือมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายซ้าย บางคนต้องการให้วีรกรรมของตนได้บันทึกไว้  แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ คำให้การเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่พวกเขาเจตนาโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงภัยที่อาจมาสู่ตน

หากเปรียบเทียบกันก็จะพบว่าคำให้การของผู้ต้องหา 3 พันกว่าคนเชื่อถือแทบไม่ได้เลยในฐานะข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะพวกเขาให้การเพื่อหลีกเลี่ยงการรับผิด คนจำนวนมากนัดหมายร่วมมือกันว่าควรให้การตำรวจอย่างไรเพื่อช่วยเพื่อนฝูง เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์ต่อตำรวจหรือกระทั่งจงใจก่อกวนให้ตำรวจสับสน หลายคนไม่เปิดเผยชื่อสกุลจริงแก่ตำรวจด้วยซ้ำไปโดยตำรวจไม่รู้  ตัวอย่างเช่น หลายร้อยคนให้การแก่ตำรวจว่าพวกเขาไปฟังเพลงในธรรมศาสตร์ โดยไม่สนใจการเมืองอะไรเลย ไม่เห็นคนที่ตำรวจต้องการให้ระบุชื่อ ไม่ได้สนใจฟังว่าปราศรัยกันเรื่องอะไรและไม่รู้จักคนพูด หลายคนบอกว่าเป็นแค่ไทยมุงที่เข้าไปหลบนอนโดยไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย หากเชื่อถือคำให้การเหล่านี้ จะพบว่าแทบไม่มีฝ่ายซ้ายหรือผู้ที่ต้องการมาชุมนุมขับไล่จอมพลถนอมในธรรมศาสตร์คืนนั้นเลยสักกี่คน  คำให้การของฝ่ายขวาอาจไม่น่าเชื่อถือด้วยเหตุผลคนละอย่างกัน คือ ต้องการบอกว่าตนรู้ตนเห็นและมีส่วนร่วมในวีรกรรมตามที่คิดในขณะนั้น

 ประเด็นต่อมาที่ควรทราบเกี่ยวกับคำให้การเหล่านี้ก็คือ วิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการซักพยานและการจดบันทึก พนักงานสอบสวนจะมีคำถามชุดหนึ่งที่เขาต้องการทราบและต้องการบันทึก เพราะถึงที่สุดคำให้การเหล่านี้คือพยานหลักฐานเพื่อประกอบคดี เพื่อสนับสนุนคำฟ้องตามข้อหาต่าง ๆ ซึ่งต้องการหลักฐานประกอบที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อนแล้ว ดังนั้นพนักงานสอบสงวนจึงมักถามนำด้วยคำถามที่เขาต้องการ   ในกรณีที่ปล่อยให้พยานเล่าหรืออธิบายยืดยาว พนักงานสอบสงวนจะพยายามสรุปด้วยถ้อยคำที่มีที่มีนัยทางกฎหมายตามที่เขาต้องการ กล่าวได้ว่าคำให้การทั้งหมดมิใช่ถ้อยคำของพยานเองโดยตรง แต่เป็นข้อความที่ถูกปรุงแต่งโดยพนักงานสอบสวนแล้ว

 เราจึงจะพบว่า สาระพื้นฐานทั่วไปเช่น ภูมิหลัง ประวัติย่อของพยาน จะใช้ถ้อยคำแทบจะเหมือนกันหมดตามที่พนักงานสอบสวนคุ้นเคย แต่ด้วยเหตุนี้จะพบว่า เรื่องเล่า ความเห็น  หรือคำอธิบายซึ่งอยู่นอกเหนือคำถามที่พนักงานสอบสวนเตรียมไว้ล่วงหน้า ทว่าเป็นประโยชน์ต่อสำนวนคดี จะได้รับการบันทึกไว้มากมาย แม้พนักงานสอบสวนจะบันทึกด้วยถ้อยคำสำนวนของตน แต่จะรักษาสาระของคำให้การไว้ตามที่พยานต้องการ บ่อยครั้งอาจจะเป็่นการบันทึกคำต่อคำด้วยซ้ำไป เพราะพนักงานสอบสวนไม่มีสำนวนแบบฉบับไว้ล่วงหน้า

ผู้เขียนจึงพบว่าคำให้การของผู้ต้องหา “ฝ่ายซ้าย” ว่าตน เข้าไปฟังเพลง ไม่สนใจการเมือง และไม่รู้เรื่องราวใด ๆ ทั้งสิ้น ได้รับการบันทึกด้วยถ้อยคำสำนวนที่แทบจะเหมือนกัน  ในกรณีนี้ คงไม่ใช่เพราะพนักงานสอบสวนมีสำนวนแบบฉบับไว้ล่วงหน้า  แต่เป็นไปได้ว่าภายหลังบันทึกคำให้การคล้าย ๆ กันจำนวนหนึ่ง พนักงานสอบสวนคงรู้ว่าคำให้การเหล่านั้นเชื่อถือไม่ได้ และมีการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้าในหมู่ผู้ต้องหา แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนสนใจเฉพาะตัวการสำคัญตามที่มีชื่อระบุไว้  ไม่สนใจคนอื่นๆเท่าไรนัก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงสร้างแบบฉบับคำให้การของผู้ต้องหาฝ่ายซ้ายขึ้นมาเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถ้อยคำให้การของฝ่ายซ้ายจึงน่าจะเป็นของพนักงานสอบสวนเช่นกัน โดยรักษาสาระตามที่ผู้ต้องหาต้องการจะโกหก

ภายหลังการบันทึกปากคำ ผู้ให้การทุกคน (ทั้งพยานและผู้ต้องหา)จะอ่านทบทวนข้อความทุกตัวอักษรที่พนักงานสอบสวนบันทึก ทำการแก้ไขจนกว่าจะพอใจ แล้วลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าตนได้ให้ปากคำเช่นนั้นจริง ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นถ้อยคำสำนวนของพนักงานสอบสวน พยานฝ่ายขวาเหล่านั้นยอมรับว่าตนพอใจกับถ้อยคำและสาระที่ตำรวจบันทึก ผู้ต้องหาฝ่ายซ้ายพอใจกับบันทึกคำให้การตามที่ตนโกหก

คุณลักษณะและปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักในการใช้เอกสารชุดนี้ ความน่าเชื่อถือของเอกสารขึ้นอยู่กับว่าเรามีคำถามอะไร แล้วใช้เอกสารเป็นการวิเคราะห์ตีความหรือเป็นข้อมูลอย่างไร”

(ธงชัยยังตั้งข้อสงสัยต่อเอกสารบางชื้นอีกด้วย ซึ่งกรุณาหาอ่านความเห็นฉบับเต็มได้ในหนังสือดังกล่าว)

 

หมายเหตุ:

เอกสารคดี 6 ตุลา 2519 ที่หอจดหมายเหตุ สำนักงานอัยการสูงสุด

เอกสารคดี 6 ตุลามีทั้งหมด 73 กล่อง รวมเอกสารทั้งหมดมากกว่า 30,000 หน้า มีแผนที่ ภาพถ่าย แผนผังอีกจำนวนมาก ดังรายการคร่าว ๆ ที่แสดงให้เห็นในในตารางข้างล่างนี้ มากกว่าครึ่งของเอกสาร 73 กล่องเป็นคำสั่ง คำร้อง หมายฟ้อง จดหมายราชการ และแบบฟอร์มต่าง ๆ เช่น เอกสารพิมพ์ลายนิ้วมือหลังการจับกุมและประวัติย่อของผู้ต้องหา ใบสัญญาประกันตัว เป็นต้น เอกสารเหล่านี้มีข้อมูลน่าสนใจมากมายตามแต่คำถามและวิธีการของผู้ทำการศึกษา อาทิ เช่น รายงานการชันสูตรศพ คำให้การผู้ต้องหา (กล่อง 1-16) ซึ่งสะท้อนว่าผู้ถูกจับกุมนับพันนัดหมายกันให้การแก่ตำรวจอย่างไร หลายคนถูกตำรวจข่มขู่หลอกล่ออย่างไร  นอกจากนี้แผนที่ภาพถ่ายที่ตำรวจทำขึ้นระหว่างที่ธรรมศาสตร์ถูกปิดหลังเหตุการณ์  เป็นสภาพของธรรมศาสตร์ที่สาธารณชนไม่เคยเห็น เพราะกองเลือดและรอยกระสุนถูกชำระล้างหรือปิดกลบไปเกือบหมดก่อนเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

รายการเอกสารคดี 6 ตุลาคม 2519

หมายเลขกล่อง

สาระสำคัญของเอกสาร        

จำนวนหน้า

1-16

17-19

20-50

51

52-65

66

67

68

69

70

71

72

73

 

73 กล่อง

– คำให้การผู้ต้องหาหมายเลข 1-3152

– คำให้การพยานหมายเลข 1-224

– คำขอกันตัวผู้ต้องหาเป็นพยาน, พยานญาติ, พยานแพทย์ ภาพถ่ายประกอบคำให้การ  และเอกสารประกอบคำให้การ

– ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาหมายเลข 1-3160

– รายงานการสอบคดีและรายงานการสอบสวนนายวันจักร อำนรรฆมณี กับพวก

– ผู้ต้องหาไม่มีสัญญาประกันตัว

– รายชื่อผู้ต้องหาที่มีสัญญาประกันตัวและไม่มีสัญญาประกันตัว

– สัญญาประกันตัวผู้ต้องหา

– คำร้องฝากขังครั้งที่ 1-6

– คำร้องปล่อยผู้ต้องหา

– เอกสารคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวน บันทึกการตรวจค้น รายงานการตรวจค้น บันทึกการจับกุม รายชื่อผู้ต้องหาที่ถูกจับ

บันทึกภาพการสอบสวนและการควบคุมผู้ต้องหา

–  แผนที่แสดงที่เกิดเหตุ 5 แผ่น (ใหญ่)

– รายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง ตรวจอาวุธ รายงานสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่าย

– รายงานการชันสูตรพลิกศพ รายงานชันสูตรบาดแผล  รายงานการตรวจสอบสภาพศพ

– เอกสารและภาพถ่ายประกอบคำให้การพยาน (รวมทั้งแถลงการณ์ โฆษณาใบปลิว และรายงานของตำรวจที่บันทึกการชุมนุม สัมมนา อภิปรายของนักศึกษา)

– รายงานการสอบสวนคดี

– คดีฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เป็นกบฏ ฯลฯ

 

รวม

(3000+)

1066

12802

439

9900

800

750

750

450

650

650

31

208

 

มากกว่า 30,000