Documentation of Oct 6

ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย

ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย

ภูมิศักดิ์ หรือภูมิ เป็นลูกชายคนโตและคนเดียวของครอบครัวเชื้อสายจีน มีน้องสาวสี่คน ครอบครัวทำธุรกิจขนมแบบคนจีนเล็ก ๆ ในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางโพ ขณะนั้น ภูมิศักดิ์อายุ 22 ปีกำลังเรียนชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน

ผู้เล่า อัญชลี ศิระศุภฤกษ์ชัย  และ รุ่งทิพย์ วงศ์งามดี น้องสาว

ภูมิศักดิ์เป็นคนพูดน้อย ใจเย็น แต่รักน้อง ๆ มาก พวกเขาสนิทกันโดยเฉพาะกับน้องสาวที่อายุไล่เลี่ยกัน เดินไปโรงเรียนด้วยกัน  เขาเรียนที่โรงเรียนวิมลวิทยาใกล้บ้าน  “พี่ภูมิคอยดูแลพี่ เพราะพี่ยังเป็นเด็กเล็ก ไปโรงเรียนก็ไม่อยากจะไป ร้องไห้ มีพี่ภูมินี่แหละคอยดูแล” คุณอัญชลีเล่า

“พี่ภูมิตอนเล็กๆ เป็นคนน่ารัก อ้วนน่ารัก คนแถวนั้นก็รัก เขาก็ชอบเล่นตามประสาเด็กผู้ชาย เล่นว่าว ชอบว่ายน้ำ เขาว่ายน้ำเก่ง ตอนเล็กๆ ก็ว่ายน้ำกับแกนี่แหละ เพราะว่าบ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชอบว่ายน้ำกันมากที่สุด เกาะเรือพ่วง นั่นแหละชีวิตวัยเด็กด้วยกันกับพี่ภูมิ”

“บางทีพี่ภูมินึกสนุก เขาไปซื้อลูกเจี๊ยบลูกเล็กๆ สี่ห้าตัว เท่าจำนวนพี่น้อง ตัวดำๆ ขี้ริ้วหน่อยเป็นพี่ชายคนโต จิ้มลิ้มหน่อยตัวเล็กๆ มีขนด่างๆ ให้เป็นคนเล็ก คนที่สอง คนที่สาม จนถึงคนเล็ก สมัยก่อนน้องคนเล็กจะไม่ค่อยแข็งแรง เวลาเขาทำอะไรดูนุ่มนิ่ม เหมือนคนอ่อนแอขี้โรค ก็จะมีเจ้าลูกเจี๊ยบตัวนี้ ตัวเล็กที่สุดเลย พี่ภูมิก็บอกว่า ตัวนี้ของน้องเล็กนะ เฮียเนี้ยวให้เป็นน้องเล็ก”

น้องสาวเล่าว่าภูมิศักดิ์ถอดแบบคุณพ่อมาหมดทุกอย่าง เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เคยต่อว่าใคร เป็นคนดีมาก พ่อรักมาก เพราะเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวคนจีน ย่าก็รักแกมาก ส่วนใหญ่ พ่อก็จะใช้พี่ภูมิให้ไปสั่งขนม สั่งพวกของที่ต้องมาทำขนม พวกต้นหอม พวกน้ำตาลทรายอะไรอย่างนี้ ก็ต้องช่วยเหลือกัน ภูมิศักดิ์เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ขนาดแกจบจากเกริก แกมาเรียนต่อที่ราม ได้เกรดจีถึงสี่ห้าตัว ซึ่งปกติจะได้ยากมาก เพื่อที่จะได้เรียนฟรี

ตอนที่ภูมิศักดิ์เริ่มทำกิจกรรมของชมรมในรามคำแหง เขาเริ่มไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน  บางครั้งเขาลงทุนไปขายน้ำเต้าหู้ตามงานวัด เพื่อจะได้เอาเงินมาเข้าชมรม เพื่อมาสอนมาเลี้ยงเด็ก กลับบ้านมาดึกๆ ไม่มีข้าวกิน ข้าวเย็นๆ ก็กินได้ “แล้วก็ทอดไข่เจียวของแกเอง คือจะไม่ให้ลำบากพ่อแม่พี่น้อง ย่าก็รักเพราะเป็นหลานชาย แกก็รักของแก เวลากลับมาดึกๆ ย่าก็ต้องตื่นขึ้นมาดู”

“พี่ภูมิแอบไปทำกิจกรรมนี่พ่อไม่รู้ รู้ตอนมาเสียชีวิต ตอนที่มีการสลายการชุมนุม พ่อเขาก็ตามหาศพ ญาติก็ออกหา ตามโรงพยาบาล ตามโรงพัก ตามอะไรๆ ก็ไม่มี แล้วไปเจอรายชื่อในกรมพลา นั่นคือเสียชีวิตไปแล้ว เราไปรับศพที่โรงพยาบาลศิริราช”

“พี่ภูมิเป็นความหวังของพ่อแม่ เพราะเป็นลูกชายคนโต พ่อก็ยังไม่อยากยอมรับ จนมีเรื่องขึ้นมา เห็นพ่อร้องไห้ ไม่เคยเห็นพ่อร้องไห้มาก่อน เพราะตอนนั้นใหม่ๆ พ่อก็รับไม่ได้ ไหนจะแม่อีก แม่ยิ่งรับไม่ได้ใหญ่ หลังจากนั้น พ่อกับแม่กลายเป็นคนไม่ค่อยพูดไม่ค่อยไร ทั้งพ่อและแม่ ก็เงียบ คือความเสียใจมันออกมาในรูปของไม่ค่อยคุย จากที่เคยกลับเข้ามาแล้วมีการยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะอะไรกันมั่ง พ่อเปลี่ยนไป พูดน้อยลง แม่ก็พูดน้อยลง”

“พ่อนี่เรียกว่าซึมไปเลย เขาคาดหวังไว้มาก พี่ภูมิเรียนอยู่ปีสองแล้ว อีกไม่กี่ปีแค่นั้นเอง ความหวังของครอบครัว พอไม่มีพี่ภูมิพ่อต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องไปทำที่โรงงาน ไหนต้องส่งน้องเรียนอีก นานเหมือนกันกว่าจะทำใจได้  แม่นี่บางวันใส่บาตรเสร็จ นั่งรถเมล์สายเก้าสิบตั้งแต่ต้นสายจนไปถึงปลายสาย นั่งจากศรีย่านไปถึงปทุมแล้วนั่งกลับ เหมือนไม่อยากกลับบ้าน”

หากพี่ภูมิยังมีชีวิตอยู่ ก็คงเรียบง่ายเหมือนกับพ่อ ถ้ามีครอบครัวก็คงดูลูกหลาน เป็นคนรักสงบ ใจเย็น สุขุม ชีวิตคงอยู่ที่บ้าน ดูแลลูกหลาน ดูแลพี่น้อง คิดว่า พ่อกับแม่คงไม่เสียชีวิตเร็วขนาดนี้ถ้าพี่เขาอยู่  คุณพ่อเสียยังไม่หกสิบ คุณแม่เสียก็ยังไม่ห้าสิบเหมือนกัน

“ที่บ้านไม่ค่อยยุ่งกับการเมืองเท่าไหร่ บอกตรงๆ ว่าไม่ค่อยชอบ เราเองไม่ชอบยุ่งเรื่องนี้มาก พูดถึงก็เสียใจ พูดตรงๆ คือว่า คนชั่วยังลอยนวลอยู่  พี่เสียเราก็เสียใจ ขนาดเขาเป็นอย่างนี้ หาคนมาลงโทษ จับคนมาลงโทษไม่ได้ ได้แต่เสียใจ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรพี่ไม่เข้าใจว่า ทำไม 6 ตุลาถึงไม่ใช่วีรชน ในสายตาของคนไทย จริงๆ แล้ว เขาเป็นวีรชนของคนไทยทุกๆ คน พี่มองว่าเป็นของคนไทยทุกๆ คน รวมทั้งพี่ชายพี่ ภูมิศักดิ์ ศิรศุภฤกษ์ชัย เขาเป็นวีรชนของคนไทยทุกคนและเป็นวีรชนของน้องๆ ทั้งสี่คนด้วย” คุณรุ่งทิพย์กล่าว

วันที่สัมภาษณ์ 21 สิงหาคม 2559

สถานที่สัมภาษณ์ บ้านพักของครอบครัวคุณรุ่งทิพย์ วงศ์งามดี นนทบุรี

เทปบันทึกการสัมภาษณ์

ความทรงจำจากเพื่อนและน้องสาว