Documentation of Oct 6

วิชิตชัย อมรกุล

วิชิต พิชิตแม้                       ความตาย

ชัย  แห่งตุลาหมาย              ชาตินี้

อมร  ไม่วางวาย                   เป็นอื่น

กุล  กอปรกุลเช่นนี้              ชัดไว้อยุติธรรม

เปี๊ยกไม่ใช่คนผิดอะไร    เขาเป็นนิสิตนักศึกษาคนหนึ่งที่มองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นแล้วทนไม่ได้    เปี๊ยกจึงโดดเข้าร่วมเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและเป็นธรรมในวันที่  6  ตุลา   แล้วเขาก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาเพื่อนผู้เสียสละของเราที่ได้ตกเป็น  “เหยื่ออธรรม”  อันโหดร้ายป่าเถื่อน….เป็นเหยื่อของการฆ่าหมู่อย่างทารุณใจกลางเมืองหลวงของบ้านเรา     ประเทศไทย  ซึ่งเรียกตัวเองว่าเมืองพุทธ…..

เผด็จการได้เหยียบร่างของเพื่อนผู้เสียสละจำนวนมากมายและหนึ่งในจำนวนนั้น   คือ  เปี๊ยก เพื่อเป็นบันไดไปสู่การยึดอำนาจ

สุรชาติ  บำรุงสุข :  หลังกำแพงสูง : มิถุนายน  2520

ด.ช.วิชิตชัย   อมรกุล  หรือ  เปี๊ยก   กำเนิดและใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่จังหวัดอุบลฯ      ในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะดี  คุณพ่อเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม    เขาจบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ   จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์จอห์น    ในระดับชั้นมัธยมปลาย    เปี๊ยกได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอันเป็นความใฝ่ฝันของเด็กหลายคน……   เตรียมอุดมศึกษา   ที่นี่เขาเล่นกีฬารักบี้ด้วย     การเล่นกีฬาได้เริ่มฝึกฝนให้เขาเข้มแข็ง  อดทนและกล้าเสียสละ

ปี  2518   วิชิตชัยผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์   สาขาการปกครอง   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และเขาก็ยังคงมุ่งมั่นเล่นกีฬารักบี้ต่อไป     เปี๊ยกมีกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมและมักจะทำกิจกรรมกีฬาด้วยกัน

คุณฐิตินันท์    พัฒนกำจร   เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า    “ผมกับเปี๊ยกเริ่มรู้จักกันตั้งแต่อยู่เตรียมฯ    แต่ว่าเรียนกันคนละแผนก    แต่เผอิญทำงานกิจกรรมให้กับทางโรงเรียนด้วยกัน    เขาเป็นนักกีฬาของโรงเรียนเป็นนักรักบี้   เป็นประธานชมรมรักบี้ด้วย    ก็ไม่ถึงกับสนิทสนมมาก   เรียนกันคนละห้อง มาสนิทกันจริง ๆ  ก็ตอนเข้ารัฐศาสตร์  จุฬาฯ  ปีเดียวกัน    พอเข้ามาเขาก็ยังเล่นกีฬาอยู่   ตอนหลังเป็นประธานชมรมรักบี้ที่รัฐศาสตร์   จุฬาฯ  ด้วย   ถ้าถามผม   ผมมองว่าวิชิตชัยเป็นนักกีฬา    เข้าใจความเป็นนักกีฬาไหม   คือเรื่องความเสียสละ   มันอยู่ในสปิริตของนักกีฬา    ไม่พูดมาก   คือ  เขาจะทำ   แล้วก็รักพวกพ้อง   รักเพื่อน  รักสถาบัน”

เพื่อนอีกคนในกลุ่ม   คุณชำนาญ   วัฒนศิริ  เล่าถึงเปี๊ยกว่า  “นิสัยส่วนตัวเขาเป็นคนตรง    อาจจะเพราะเป็นคนต่างจังหวัด    หรือเป็นนักรักบี้    แล้วก็เป็นคนขวานผ่าซาก   แบ็คกราวด์ครอบครัวเขาเป็นลูกคนรวย    พ่อแม่ซื้อบ้านให้อยู่ที่กรุงเทพฯ    แต่ตัวเขาเอง   เป็นคนสมถะ   นักกีฬามันก็อยู่ง่าย   กินง่าย   ไม่ใช่คนสำอาง    แต่งตัวง่าย ๆ    ไปค่ายหรือไปไหนด้วยกัน   เขาจะอยู่กับลูกรักบี้   นอนกอดลูกรักบี้”

เปี๊ยกมีชีวิตผูกพันกับลูกรักบี้     และทำกิจกรรมกีฬาตลอดปีแรก   จนกระทั่ง….

“มาปีที่ 2  เกิดเหตุการณ์คือ    เขาเล่นกีฬาจนเส้นเอ็นที่ข้อเท้าขาด    หมอก็สั่งห้ามเล่นกีฬา   เขาก็เลยต้องพักจากการเล่นรักบี้ของมหาวิทยาลัยและของคณะด้วย      เล่นได้เบา ๆ   แต่สรุปคือ    ลงแข่งไม่ได้  ปกติรักบี้ต้องซ้อมทุกวัน   ทุกเย็น    เมื่อเขาเริ่มว่างไม่มีอะไรทำ    อันนี้เป็นจุดหักเห  คือ  เขาเป็นคนรักความยุติธรรมอยู่แล้ว     แต่ติดที่เล่นกีฬาและไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง     เขามีความคิดเรื่องความยุติธรรมของสังคม    แต่เขาไม่ได้ไปคลุกคลีกับกลุ่มทางการเมือง”

คุณชำนาญเล่าให้เราฟังต่อว่า   “ผมว่าปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งคือ   เขาป่วย    เขาเล่นกีฬาไม่ได้   หมอต้องให้ใส่รองเท้าเสริมส้น    เป็นรองเท้าหุ้มข้อนิด ๆ   สมัยก่อนเรียกว่า  Czecho  เสริมข้างเท้าเพื่อไม่ให้เท้าบวม   พอเขาว่าง   เขาก็ไปฟังไฮด์ปาร์ค   ปัจจัยที่สอง    นอกจากความป่วยแล้วก็คือ   เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน     เป็นคนเวียดนาม   (นักศึกษาแลกเปลี่ยน)    ชื่อวิรัติ   เตริ่น  เป็นคนเรียนเก่ง    น่ารัก   และแอ็คทีฟทางการเมือง    เขาเป็นคนชวนเปี๊ยกไปธรรมศาสตร์”      เขาเริ่มไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์บ่อยขึ้น    ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะในปี   2519    การชุมนุมอย่างสงบสันติของนักศึกษา    เริ่มถูกก่อกวน   ถูกปาระเบิด   จากกลุ่มฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีการจัดตั้งอย่างดี    ที่สำคัญ  ได้แก่   กลุ่มกระทิงแดง   กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน   และกลุ่มนวพล      ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งด้วยความรู้เห็นเป็นใจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์   กระทั่งวันนั้น…….

“ไปมาแล้ว    เดี๋ยวจะกลับไปอีก    จะซื้อข้าวไปให้เขากิน”   เปี๊ยกคุยกับคุณฐิตินันท์    และเพื่อนในกลุ่มว่าจะขอยืมรถไปขนข้าวไปให้พวกที่ธรรมศาสตร์     เป็นอาหารมื้อเที่ยงของวันที่  5  ตุลาคม  2519  พอช่วงบ่าย ๆ  เปี๊ยกเอารถมาคืน   แล้วก็จากไป     นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เพื่อน ๆ   ได้เห็นหน้าเขาขณะที่ยังมีลมหายใจ

คืนวันที่  5  นักศึกษาและประชาชนชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่าสามพันคน     จนกระทั่งใกล้รุ่ง    ระเบิดเอ็ม  79  ลูกแรกก็วิ่งฝ่าอากาศด้วยความเร็ว     ตกลงกลางสนามฟุตบอล   เสียงระเบิดดังสนั่น     และกลิ่นคาวเลือดก็เริ่มคละคลุ้ง    การฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์  คนไทยต่อคนไทย ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นพร้อมกับการออกบิณฑบาตของพระสงฆ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่  6  โมงครึ่งจนถึง  8  โมงเช้า  เสียงจากเวทีพร่ำพูดข้อความซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า    “พี่ ๆ  ตำรวจครับ  กรุณาหยุดยิงพวกเราเถิดครับ   เราชุมนุมอย่างสงบสันติ   เราไม่มีอาวุธ   ตัวแทนของเรากำลังเจรจากับรัฐบาลอยู่    อย่าให้เสียเลือดเนื้อมากกว่านี้เลย   ขอความกรุณาหยุดยิงเถิดครับ”

“วันนั้น    เราไปอยู่บ้านรุ่นพี่คนหนึ่ง    ไปนั่งคุยกันทั้งกลุ่ม    ดูถ่ายทอดทีวีอยู่เรื่อย ๆ    ที่ผมรู้สึกสะดุดมาก ๆ    เลยก็คือ   เห็นภาพตอนที่เขาทะลักกันออกมา….แล้วมาเจอกับพวกลูกเสือชาวบ้านที่ประตูหน้าสนามหลวง    ภาพในทีวีเห็นคนทะลักออกมา    แล้วก็มีผู้หญิงออกมา     แล้วก็มีคนวิ่งเข้าไปทำร้าย    เลยทะลักออกมาไม่ได้….ก็เลยถอย     ในภาพรู้สึกว่ามีการกันผู้หญิงเข้าไปข้างหลัง   มีการทำร้ายร่างกาย    ผมจำไม่ได้ว่าตอนนั้น….ผมเห็นวิชิตชัยหรือเปล่า    แต่คิดว่าไม่ใช่    ในใจผมตอนนั้น    คิดถึงเขา….เพราะเขาเป็นคนที่รักความยุติธรรม    ใครแกล้งใครที่อ่อนแอกว่า   ถ้าเห็น…..     เขาทนไม่ได้   ใจผมตอนนั้น    มันแว้บขึ้นมาว่า  ถ้าเป็นวิชิตชัย…..เขาต้องตาย     เพราะเขาจะยอมไม่ได้     เขาต้องฮึด   เพราะเขาเป็นนักรักบี้     นักรักบี้มันต้องฮึดอยู่แล้ว      ถ้าเกิดมีการทำร้ายผู้หญิง   แล้วเขาอยู่     เขาจะต้องตายแน่     ผมรู้ว่าเขาไม่หนี”     คุณชำนาญ   เล่าเสมือนภาพนั้นได้เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

วิชิตชัย   อมรกุล    ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณโหดร้ายที่สุด    เขาถูกแขวนคอที่ใต้ต้นมะขามที่สนามหลวง    ถูกคนไทยด้วยกันรุมประชาทัณฑ์   ทั้งเตะ   ทั้งถีบ   กระทั่งเอาเก้าอี้ฟาดร่างอันไร้วิญญาณของเขา    โดยมีคนยืนมุงดูอย่างไม่รู้สึกรู้สมกระทั่งพึงพอใจ     ราวกับเห็นการกระทำรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเช่นนี้เป็นเรื่องปกติวิสัย

ภายหลังวันเวลาแห่งพายุร้ายผ่านพ้นไป    คุณชำนาญเล่าให้ฟังว่า    “พวกเราในกลุ่มของผมเอง   เราจะไม่พูดถึงวิชิตชัย    คือเรามีข้อสรุปว่า    เราจะพูดในสิ่งที่ดี   มีเพื่อนบางคนพยายามเอาหนังสือเล่มที่มีภาพวิชิตชัยโดนแขวนคอ….   พยายามให้กลุ่มเราดูกัน    เจตนาพยายามกระตุ้นให้กลุ่มเราเคียดแค้น…   โมโหมีอารมณ์อยากจะทวงถาม….    ความยุติธรรมคืนมา    พวกเราก็ไล่เตลิดเปิดเปิงไป    เราบอกว่ามึงอย่ามาทำอย่างนี้เลย    ถ้าเราจะจำไอ้เปี๊ยก    ก็จำดี  ๆ  ดีกว่า….    รูปนี้ดูไม่เห็นสร้างสรรค์เลย    เราก็ไล่เขาไป     ไม่ต้องมากระตุ้นหรอก   ไม่มีผล    เราปฏิเสธที่จะไปแก้แค้น    หรือกระตุ้นตัวเองให้แค้นโดยการไปมองภาพศพนั้น     เราพยายามจำในสิ่งที่ดี   สิ่งสวยงาม  ในแง่ดี   Good  memory   มากกว่า”

กาลเวลาล่วงเลยมา  20  ปี  ปัจจุบัน   คุณชำนาญ   วัฒนศิริ   เป็นข้าราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย     หนุ่มใหญ่ผู้พกพาดีกรีปริญญาเอกจากประเทศแคนาดามาหมาด ๆ     ส่วนคุณฐิตินันท์    พัฒนกำจร  ปัจจุบันเป็นพนักงานระดับผู้บริหารของบริษัทเทเลคอมเอเซีย    รวมทั้งเพื่อนคนอื่น ๆ  ในกลุ่มก็ประกอบอาชีพมีหน้ามีตาในสังคมและประสบความสำเร็จในชีวิต    หากวันนี้ยังมีคนชื่อ  วิชิตชัย  อมรกุล  อยู่  มีบัณฑิตผู้รักความยุติธรรมจากคณะรัฐศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่    เขาจะอยู่ส่วนไหนของสังคม

*************************

ผมกับ  “เปี๊ยก”   รู้จักกันก่อน  6  ตุลา  2519  ไม่นาน    เขาเข้ามาร่วมกับขบวนการนักศึกษาในฐานะหน่วยรักษาความปลอดภัยเวลามีการชุมนุมทางการเมือง      ซึ่งน้อยคนนักที่จะรับหน้าที่เช่นนี้     ผมทำงานกับเขาครั้งแรก  ๆ  ในการเดินยามในจุฬาฯ    ตอนกลางคืนด้วยมือเปล่า     ในขณะที่คนอื่น  ๆ    ออกไปติดโปสเตอร์กัน    เราเดินด้วยกันในบางครั้งแต่ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมากนัก     พอถึงการชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาสตร์   ผมกับเปี๊ยกก็ถูกจัดให้อยู่หน่วยเดียวกันอีก    หน่วยรักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ    มีไม่ถึง  10  คน   ถูกจัดให้ดูแลพื้นที่บริเวณแท้งค์น้ำหน้าตึกพาณิชยศาสตร์ครอบคลุมถึงด้านหลังตึกด้วย     จำได้ว่าเหตุการณ์มันเครียดมาก    หน่วยรักษาความปลอดภัยมีแต่มือเปล่า    ไม่รู้จะรักษาด้วยอะไร    เปี๊ยกไปได้ปืนสั้นลูกโม่มาจากญาติกระบอกหนึ่ง    คืนวันที่  4  ตุลา   เขายื่นปืนให้ผมแล้วขอตัวกลับบ้าน    ผมเอาปืนซุกในพุ่มไม้ใต้แท้งค์น้ำแล้วอยู่ยามแถวนั้นตลอดทั้งคืนเลยมาถึงวันที่  5  ตอนเย็น   พอมืด  เปี๊ยกก็มาเจอผม   ผมบอกกับเปี๊ยกว่าเราจะผลัดกันอยู่คนละคืนแล้วขอตัวกลับไปนอนและดูหนังสือสอบพร้อมกับคืนปืนให้เปี๊ยกไป

เช้าวันที่  6  ขณะที่เพื่อน  ๆ   มาบอกข่าวความป่าเถื่อนที่สนามหลวงและธรรมศาสตร์     ผมไม่เคยนึกถึงหน่วยรักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ เลย    ไม่คิดว่าจะมีใครเป็นอะไร    วันต่อมา   ผมถึงเห็นเปี๊ยกในหน้าหนังสือพิมพ์   ไม่น่าเชื่อว่าการผลัดกันครั้งนั้นเป็นการผลัดกันตาย

ผมคิดว่าเปี๊ยกไม่ค่อยพูดมาก     แต่เขาต้องเป็นคนใจเด็ด    อย่างน้อยจริยธรรมในความกล้าหาญร่วมคัดค้านอำนาจเผด็จการของเขามีค่าควรแก่การนับถือ     ไม่เช่นนั้น    ผมก็คงไม่พบเขาครั้งแรกในหน่วยรักษาความปลอดภัย

คุณประดิษฐ์    ดาวมณี  ปี  2519  เป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์

ชั้นปีที่ 3  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    เป็นสมาชิกพรรคจุฬาประชาชน  ฝ่ายชนบท

ที่มา : คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม 2539, หน้า 389-396

เอกสาร