Documentation of Oct 6

ความรู้สึกผิด ความหวัง และบาดแผลในความเงียบของเหยื่อ 6 ตุลา

ความรุนแรงทางการเมืองมักก่อผลกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ทั้งคนที่เสียชีวิตและคนใกล้ชิดของพวกเขา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ปัจเจกแต่ละคนรับมือและจัดการกับความเจ็บปวดทางใจไม่เหมือนกัน ยังไม่นับว่าระดับของความรุนแรงกับแต่ละคนก็ต่างกัน

ในกรณีการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 เป็นที่ทราบกันดีว่าความกลัวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องทนทุกข์อยู่กับความเงียบ  แม้ว่าจะผ่านไปแล้วกว่า 40 ปีหลายครอบครัวก็ยังไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนของตน เพราะพวกเขามองว่ากลุ่มอำนาจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังคงมีอำนาจต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เมื่อคนทำผิดไม่ต้องรับผิด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจึงต้องถูกลงฑัณฑ์ซ้ำสองให้ก้มหน้ากล้ำกลืนกับความอยุติธรรมต่อไป

คุณสมทัด บุญทะพาน ย้อนรำลึกถึงวันที่เขาต้องไปที่ว่าการอำเภอเพื่อแจ้งการตายของน้องชาย และได้พบกับญาติของผู้เสียชีวิตคนอื่น ๆ แต่ละคนได้แต่มองตากันแล้วก้มหน้า  “เพราะทุกคนก็เหมือนกับคนที่เป็นญาติพี่น้องของคนเลวเหล่านั้น คนที่เหมือนกับทรยศต่อชาติมาเจอกันอะไรอย่างนี้ ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกแบบนี้กับสังคม ตัวเราเองเรารู้ดีว่า ญาติของเรานี่เป็นคนยังไง แต่ขณะนั้นมันเหมือนกับเป็นคนที่ถูกสังคมตราหน้าเอาไว้”[1]

ในช่วงที่ทีมงาน “บันทึก 6 ตุลา” (www.doct6.com) สัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อทำภาพยนตร์สารคดี “ด้วยความนับถือ” (Respectfully yours) ญาติของผู้เสียชีวิตรายหนึ่งรู้สึกดีใจที่ยังมีคนที่คิดถึงน้องชายของเขา เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีใครพยายามติดต่อหาเขาเลย เขายินดีให้สัมภาษณ์ แต่หลังจากนั้นสองวัน เขาโทรหาทีมงาน ขอร้องว่าอย่าเปิดเผยใบหน้าและชื่อจริงของเขา เพราะเขากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในปัจจุบันเราอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอีกครั้ง

แต่ความเงียบของเหยื่อในกรณี 6 ตุลาไม่ได้เกิดจากความกลัวเสมอไป ความกลัวอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหยื่อต้องเงียบ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง ผ่อนคลายมากขึ้น ความกลัวก็ลดไป แต่ความเงียบกลับยังดำรงอยู่ต่อมาเนิ่นนาน

ความรู้สึกผิด

­­สุพล พาน เข้าร่วมการชุมนุมขับไล่ถนอมที่ธรรมศาสตร์ในเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม และอยู่ในธรรมศาสตร์จนถึงเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เขาขับรถตู้ของที่บ้านช่วยพาคนบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล แต่เมื่อเขาพยายามกลับเข้ามาในธรรมศาสตร์อีกครั้ง เขาก็ถูกยิงสามนัด  จากเอกสารชันสูตรพลิกศพ สุพลเสียชีวิตด้วยบาดแผลถูกกระสุนปืนที่ศีรษะและหน้าอก ขณะนั้นเขาอายุ 24 ปี เขาเป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัวที่มีลูกห้าคน พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี  ลูกทั้งหมดอยู่กับแม่ที่หย่าร้างกับพ่อ ครอบครัวมีรายได้จากการต้มถั่วและมันขาย เขาต้องออกจากโรงเรียนหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เพื่อช่วยเหลือทางบ้าน และเพื่อให้พี่น้องอีกสี่คนได้เรียนหนังสือ เมื่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ ครอบครัวเปลี่ยนมาถักเสื้อไหมพรมขาย โดยสุพลทำหน้าที่ขับรถตู้ส่งของให้กับร้านค้าต่าง ๆ  และบางครั้งเขาก็เปิดแผงขายเองตามตลาด

ความตายของสุพลทำให้พี่ชายของเขา คุณสมทัด บุญทะพาน รู้สึกว่าตนเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องชายเสียชีวิตและนำความเจ็บปวดแสนสาหัสมาสู่ทุกคนในครอบครัว  โดยเฉพาะต่อแม่ เพราะเขาเป็นคนชักชวนให้น้องชายไปฟังการปราศรัยของนิสิตนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ราว 6 เดือน สุพลเคยเกลียดชังและต่อต้านขบวนการนักศึกษา เพราะในช่วงที่เขาเป็นทหารเกณฑ์ เขาได้รับฟังแต่เรื่องเลวร้ายของนักศึกษาจากค่ายทหาร แต่เมื่อได้ฟังการปราศรัยของนักศึกษาไม่นาน สุพลก็หันมาสนับสนุนนักศึกษา

 “ผมมีความรู้สึกผิดต่อครอบครัว มันเหมือนกับผมเป็นคนหนึ่งที่ชักจูงเขา ถ้าเขาเป็นฝ่ายขวาของเขาในลักษณะอย่างนั้น ครอบครัวเราก็ไม่ได้สูญเสีย … เป็นเพราะผมหรือเปล่าที่ทำให้ครอบครัวเราสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่”

“ผมมีความรู้สึกผิดต่อคุณแม่ผมมาก ทุกคืนนะครับ ดึกๆ คุณแม่ผมจะร้องไห้เสียงดังออกมา มันเป็นเสียงเหมือนกับที่เขาบรรยายเอาไว้ว่า เสียงร้องไห้อย่างโหยหวน คือความเจ็บปวดมันถึงที่สุดแล้วคุณแม่ผมจะร้องออกมา แล้วร้องคนเดียวกลางคืน ผมต้องตื่นขึ้นมาแล้วค่อยมาปลอบคุณแม่ … มันเป็นอย่างนี้เป็นเดือนนะครับที่คุณแม่ผมลุกขึ้นมาร้องไห้ แล้วก็ค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ”

“น้องๆ เขาก็มีความรู้สึกว่าเมื่อคุณแม่ร้องไห้เขาก็ร้องไห้ด้วย แต่เขาเด็กๆ นะครับ เขาก็ปรับตัวง่ายขึ้น … คนที่มีกระทบหลักๆ เลยคือ น้องสาวคนเล็กคนหนึ่งที่เขาใกล้ชิดกับพี่ชายคนนี้มาก และก็คุณแม่ และตัวผมซึ่งมีความรู้สึกผิดกับครอบครัว …. ที่ทำให้แม่ต้องเจ็บปวด”

“…ผมว่าไม่น่าน้อยกว่าสิบปี ในความรู้สึกที่ผมมีว่า ผมผิดกับครอบครัว คือผมไปสนใจสิ่งที่มันเกินตัวเรา เกินกำลังที่เราจะเปลี่ยนแปลง…. ถึงวันที่ 6 ตุลาก็จุดธูปไหว้ คุณแม่ทำตลอดที่ผ่านมา แล้วก็คนที่ทำตลอดอย่างเหนียวแน่นคือ น้องสาวคนเล็กสุดที่ว่า เรามีหิ้งรูปของเขา น้องสาวเขามี แต่ของผมนี่ผมไม่ได้ทำไว้เลย คือผมเหมือนกับคนที่มีความผิดกับเขา ผมเลยอยากจะลืม ๆ เหตุการณ์พวกนี้”[2]

คุณสมทัดเก็บความรู้สึกผิดไว้ใต้ความเงียบถึง 40 ปีจนกระทั่งเขาได้ทราบข่าวว่าโครงการบันทึก 6 ตุลา กำลังติดตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อบันทึกเรื่องราวและความทรงจำของพวกเขาต่อผู้เสียชีวิต คุณสมทัดจึงเห็นว่าถึงเวลาที่ตนพร้อมจะทำลายความเงียบ-บอกเล่าความเจ็บปวดของตนและครอบครัวให้สังคมได้รับรู้

ความเงียบกับความหวัง

ในบทความ “ตามหาลูก จดจำและหวังด้วยความเงียบ” โดยธงชัย วินิจจะกูล[3] เขาได้บอกเล่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวทองสินธุ์ พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ ที่ใช้เวลาถึง 20 ปีติดตามค้นหาและรอคอยการกลับมาของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อจะรับรู้ในเวลาต่อมาว่าลูกชายคนโตของครอบครัวจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว

จารุพงษ์เป็นนักศึกษาชั้นปี 2 คณะศิลปะศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขาเสียชีวิตจากกระสุนปืน แต่ร่างที่ไร้ชีวิตของเขาถูกพวกอันธพาลฝ่ายขวาลากถูด้วยผ้าขาวม้าไปมาบนสนามฟุตบอลในธรรมศาสตร์ ราวกับเขาไม่ใช่คน

ธงชัยได้พาเราไปอ่านบันทึกตามหาลูกที่ไม่มี “บทจบ” ของพ่อจินดา ที่ได้บอกเล่าเส้นทางการตามหาจารุพงษ์ ที่เริ่มด้วยความทุกข์ทรมาน ความกระวนกระวายใจ ความเศร้า แต่เมื่อไม่มีใครไปแจ้ง ไม่มีหลักฐานแน่ชัดมายืนยันว่าจารุพงษ์ได้เสียชีวิตไปแล้ว ท่านทั้งสองไม่เคยละทิ้งความหวังที่จะได้ต้อนรับจารุพงษ์กลับบ้านสักวัน ธงชัยมองว่าบันทึกที่ไม่มี “บทจบ” ของพ่อจินดาคือความเงียบ ที่เป็นเสมือนความหวังของท่านทั้งสอง บางทีท่านอาจจะรอเขียนบทจบที่เป็น happy ending ก็ได้ แม้จะเป็นการรอคอยที่แสนทรมาน แต่ก็ยังมีความหวังที่ช่วยหล่อเลี้ยงการรอคอยนั้นอยู่ตลอดมา แต่การรอคอยและความหวังของท่านทั้งสองก็ต้องยุติลงในปีที่ 20 เมื่อท่านได้รับยืนยันจากเพื่อนของจารุพงษ์ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

ธงชัยทำให้เราตั้งคำถามว่าความจริงคือสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนจริงหรือ  บางครั้งความเงียบก็อาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ความจริงอาจจะโหดร้ายเกินไปจนเราไม่อยากจะรับรู้ก็ได้  ในกรณีของพ่อจินดาและแม่ลิ้ม ความเงียบคือบ่อน้ำที่หล่อเลี้ยงความหวังไว้ เมื่อความเงียบถูกทำลาย ความจริงถูกทำให้ประจักษ์ ความหวังก็จบสิ้นลง

ความเงียบกับบาดแผลที่ยากจะเยียวยา

ทีมงาน “บันทึก 6 ตุลา” เคยพยายามติดต่อกับครอบครัวของเหยื่อรายหนึ่งที่เสียชีวิตจากการถูกทรมานและแขวนคอ แต่จากการติดต่อกับเพื่อนฝูงของเหยื่อเพื่อให้ช่วยติดต่อครอบครัวดังกล่าว ก็ได้รับการยืนยันปฏิเสธว่าทางครอบครัวไม่ต้องการและไม่มีวันให้สัมภาษณ์อย่างแน่นอน โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลอะไรทั้งสิ้น  กระนั้น ทีมงานก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะติดต่อ เพราะมองว่าเวลาที่ผ่านไป 40 ปีอาจจะทำให้บาดแผลทางใจได้รับการเยียวยามากขึ้น สมาชิกในครอบครัวที่เป็นพี่น้องหรือรุ่นหลาน อาจจะยินดีเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง  อีกทั้งครอบครัวของเหยื่อรายนี้เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีฐานะดีในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน การจะตามหาก็ไม่อยากนัก หลังจากนั้นไม่นาน ทีมงานได้รู้จักหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่เป็นสะใภ้ เธอรับอาสาว่าจะลองพูดเลียบเคียงกับสามีของเธอให้ แต่สามีของเธอซึ่งเป็นมีสถานะเป็นหลานของเหยื่อ และในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาก็ยังเป็นเด็กมาก ก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ และยืนยันว่าไม่มีใครในครอบครัวของเขายินดีให้สัมภาษณ์ เขาบอกว่าเขาจำได้ดีถึงผลกระทบต่อครอบครัวของเขา พ่อแม่ของเขาต้องส่งเขาไปเรียนหนังสือที่จังหวัดอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่เกิดขึ้น

เมื่อเจอกับการปฏิเสธเช่นนี้ ผู้เขียนได้กลับไปดูรายงานชันสูตรพลิกศพและภาพถ่ายจำนวนมากของเหยื่อคนดังกล่าว แล้วก็ตัดสินใจว่าจะไม่ขอรบกวนครอบครัวนี้อีก เพราะสภาพศพของเหยื่อแสดงให้เห็นการถูกทำทารุณอย่างเหี้ยมโหด เขาเสียชีวิตเพราะถูกแขวนคอ หลังจากเสียชีวิตแล้ว ร่างของเขายังถูกฝูงชนกลุ้มรุมทำร้ายต่อ  ตั้งแต่เอาเก้าอี้ฟาด ใช้ของมีคมกรีดไปตามร่างกายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถูกรองเท้าแขวนคอและยัดปาก ใบหน้าถูกทุบตีจนเละ จนคุณพ่อของเขาไม่สามารถจดจำใบหน้าของเขาได้ ไม่สามารถระบุร่างที่ไร้ชีวิตที่โรงพยาบาลได้จนต้องให้เพื่อนของลูกไปดูด้วยกันอีกครั้ง เพื่อนคนนั้นจดจำรองเท้าที่เขาสวมใส่อยู่ได้

หากใครสักคนที่เรารักอย่างสุดหัวใจถูกทำร้ายขนาดนี้ เวลานานแค่ไหนกันที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลเช่นนี้ได้ ต้องใช้คำพูดสักกี่ล้านคำที่จะบอกเล่าถึงความเจ็บปวดนี้ได้  …..บางที… ความเงียบอาจเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดน้อยที่สุดก็เป็นได้

ยิ่งรุนแรง ยิ่งเงียบงัน

ในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตฝ่ายประชาชนจำนวน 40 คนนี้ มีหลายคนที่เรายังไม่รู้ว่าเขาคือใครแม้ว่าเราจะเห็นรูปถ่ายของพวกเขาจนชินตา ได้แก่  ชายไทย 3 คนที่อยู่ในเอกสารชันสูตรพลิกศพแต่ไม่ทราบชื่อ  ผู้ชายที่ถูกแขวนคอสองคนที่ถ่ายโดยช่างภาพของสำนักข่าวเอพีนายนีล อูเลวิช และหนึ่งในภาพถ่ายนั้นได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 2520 (คนที่ถูกแขวนคอมีทั้งหมด 5 คน อูเลวิชถ่ายภาพได้ 2 คน)  ร่างที่ถูกเผาจนเหลือแต่กระดูกและระบุเพศไม่ได้ 4 คนบนถนนราชดำเนินใกล้กับรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผม  เราไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร ครอบครัวของเขาอยู่ที่ไหน รับรู้หรือไม่ว่าลูกหลานของตนเสียชีวิตแล้ว หรือยังเฝ้ารอการกลับมาของพวกเขาอยู่อย่างเงียบงัน

เสียงของแม่

แต่ก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะตกอยู่ในความเงียบ ในบางกรณีความเจ็บแค้นต่อความอยุติธรรมก็ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังต่อสู้ในนามของลูกและเหยื่อคนอื่น ๆ  ดังกรณีแม่เล็ก แม่ของมนู วิทยาภรณ์

มนู วิทยาภรณ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เขาเป็นลูกคนที่ 2 จากจำนวน 5 คนของนายดำรัสและนางเล็ก วิทยาภรณ์ อาชีพค้าขาย เขาเสียชีวิตด้วยกระสุนนัดเดียวตัดขั้วหัวใจในวันที่ 6 ตุลา เขาเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะเสียชีวิตมนูเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เขาใฝ่ฝันอยากเป็นนายอำเภอมาตั้งแต่เด็ก

แม่เล็กมาร่วมงานรำลึก 6 ตุลาทุกปีจนกระทั่งในปีหลัง ๆ นี่เองที่สุขภาพเธอเริ่มไม่ดี เดินทางลำบาก จึงมาร่วมงานไม่ได้ แม่เล็กไม่เคยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์และร่วมอภิปรายบนเวทีสาธารณะ เธอกล้าวิจารณ์ต่อความอยุติธรรมและความโหดเหี้ยมในกรณี 6 ตุลาอย่างตรงไปตรงมา

หากเปรียบเทียบการเสียชีวิตของมนูกับเหยื่อหลายคนที่ถูกทำทารุณกรรมอย่างรุนแรง การเสียชีวิตด้วยกระสุนนัดเดียวที่ตัดขั้วหัวใจ ดูจะเป็นการตายที่โหดเหี้ยมน้อยที่สุดแล้ว อย่างน้อยมันก็คือสิ่งที่ปลอบประโลมผู้เป็นแม่ว่าลูกไม่ได้ทรมานมากนัก “แม่ดูศพลูก เห็นใบหน้าลูกอมยิ้ม ก็คิดในใจว่าลูกตายอย่างภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม่จะได้ไม่ต้องเสียใจ เราเช็ดน้ำตาจนแห้ง…ไม่มีน้ำตาจะไหลอีกแล้ว เขาถูกกระสุนนัดเดียวยิงตัดขั้วหัวใจเลย แต่ความจริงเขาจับลูกแม่แล้วนะ เพราะตอนที่ไปรับศพ แขนเสื้อทั้งสองข้างยังผูกอยู่กับเอว เขาจับแล้วทำไมต้องฆ่ากัน ยิงทำไม เขาจับคนไม่ผิดอย่างนั้น ใครจะรับผิดชอบ” แม่เล็กกล่าว[4]

ทุกครั้งที่แม่เล็กพูด ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงความคิดถึงลูกที่ควบคู่ไปกับความเจ็บแค้นต่อความอยุติธรรมที่ยังเข้มข้นรุนแรงของแม่เล็กอยู่เสมอ ดูเหมือนความสูญเสียดวงใจของตนไปทำให้หัวใจของเธอไม่กลัวต่ออำนาจใด ๆ  จนกล่าวได้ว่าเธอได้กลายเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองคนหนึ่ง เป็นภารกิจที่เธอแบกรับและสานต่อจากลูกชายของเธอโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน

การต่อสู้ของนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาสมัคร หนึ่งในผู้เสียชีวิต 6 คนที่ถูกทหารยิงในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553[5]  ก็ดูจะเป็นในทำนองเดียวกันกับแม่เล็ก  สามัญชนมือเปล่าที่ไม่ยอมศิโรราบให้กับความอยุติธรรม

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์
ตุลาคม 2561

 

————————————————-

[1] สัมภาษณ์ สมทัด บุญทะพาน (https://doct6.com/archives/4085)

[2] เพิ่งอ้าง. (https://doct6.com/archives/4085)

[3] ธงชัย วินิจจะกูล. “ตามหาลูก จดจำและหวังด้วยความเงียบ,” (5 ตอน) มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 36 ฉบับที่ 1880-1884 (26 สิงหาคม-29 กันยายน 2559).

[4] http://www.2519.net/newsite/2016/%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C/

นอกจากนี้ ดูบทสัมภาษณ์แม่เล็กได้ในภาพยนตร์สารคดี “ความทรงจำไร้เสียง” (Silence-memories) โดยภัทรภร ภู่ทอง

[5] กมนเกด อัคฮาด และสมาพันธ์ ศรีเทพ เสียชีวิตจากปฏิบัติการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม  2553