อ.ใจ สวัสดีครับคุณพิเชียร ขอบคุณมากที่มาร่วม ช่วยแนะนำตัวว่าตอนนี้ทำอะไร และในปี 2519 ทำอะไร
คุณพิเชียร ผมชื่อ พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาโดยตลอด ปัจจุบันนี้เป็นพิธีกรรายการทิศทางเศรษฐกิจ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ออกอากาศทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เที่ยงครึ่ง-บ่ายโมง เป็นพิธีกรรายการวิทยุ 2 รายการ คือ รายการเสียงเพื่อผู้บริโภค ทาง FM 97.5 จันทร์ – ศุกร์ 7 โมงครึ่ง – 10 โมง และรายการวิสัยทัศน์นักบริหาร ทางวิทยุ INN FM 99.5บ่ายสองโมงครึ่ง – สี่โมงเย็น ทุกวันจันทร์-ศุกร์
อ.ใจ ช่วยเริ่มต้นจากการเล่าว่าวันที่ 4-5-6 ตุลาคม คุณพิเชียร อยู่ที่ไหนและเห็นอะไรบ้าง
คุณพิเชียร อยากจะย้อนไปสักนิดหนึ่งว่าผมขึ้นมาเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2519 ในช่วงนั้นมีท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองตอนนั้นก็ค่อนข้างจะมาก ความจริงก็รุนแรงตั้งแต่ปี 2518 เป็นปีที่นักศึกษาของพวกเราจะรณรงค์ต่อต้านฐานทัพอเมริกามากที่สุด เราเริ่มรณรงค์กันมาตั้งแต่ต้นปี เดือนมกราคม แต่ไปดุเดือดรุนแรงในวันที่ 20 มีนาคม 2518 ถ้าจำไม่ผิด มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชน แล้วก็เดินผ่านสยามสแควร์ ก็ถูกคนมาปาระเบิด มีนักศึกษาเสียชีวิตไป 4 คน และก็บาดเจ็บอีกประมาณ 20-30 คน ระเบิดลงตรงหน้าโรงภาพยนตร์ลิโด ตอนนั้นผมอยู่บนรถที่เคลื่อนขบวนไป แล้วก็คุณพินิจ จารุสมบัติ อยู่บนรถคันที่หน้าโรงภาพยนตร์สยาม ระเบิดมันหล่นลงตรงหน้าโรงภาพยนตร์สยาม คุณพินิจก็โดนสะเก็ดระเบิด แล้วก็มีคนเสียชีวิต 4 คน ตรงนั้นเลย แต่ว่าเราก็ยังเคลื่อนขบวนต่อไปตรงหน้าสถานทูตอเมริกา แล้วก็ชุมนุมกันจนกระทั่งยุติในวันรุ่งขึ้น แล้วเราก็ผลักดันสถานทูตอเมริกาออกไปได้ มีหลายคนบอกว่าจากเหตุการณ์ตรงนั้น เป็นจุดกระตุ้นให้กลุ่มทหารที่เขาอาจสูญเสียผลประโยชน์จากการถอนฐานทัพอเมริกาออกไป ร่วมมือกับองค์กรที่เขาเรียกว่า ก.อ.รมน. ตอนนั้นก็มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆขึ้นมา ที่สำคัญก็มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน พอหลังจากเราไล่ฐานทัพอเมริกาออกไป ก็รู้สึกว่าความรุนแรงมันทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็มาถึงเดือนกรกฎาคม 2518
อ.ใจ ก็ขอย้อนถามนิดหนึ่งครับ คนที่ขว้างระเบิดที่สยามสแควร์ คิดว่าเป็นใคร หรือ เป็นพวกไหน
คุณพิเชียร ก็คงเป็นพวกกระทิงแดง
อ.ใจ ทำไมถึงคิดอย่างนั้น
คุณพิเชียร ก็เพราะว่าเขาประกาศก่อนหน้าที่เราจะเดินขบวน 1 วัน คือ วันที่ 19 มีนาคมถ้าพวกเราจะเดินขบวนวันที่ 20 จะต้องมีการตายเกิดขึ้น แล้วก็คืนวันที่ 19 พวกเราก็ประชุมกันที่ อ.ม.ธ. ที่ธรรมศาสตร์ ประชุมกันทั้งคืนเลยว่าจะเดินดีหรือไม่เดินดี เพราะเขาก็ขู่แล้วว่าถ้าใครเดินขบวนเขาจะขว้างระเบิด แต่ในท้ายที่สุดเราก็ตกลงตัดสินใจว่าเราจะเดินกัน
อ.ใจ จากเหตุการณ์ขว้างระเบิดครั้งนี้มีคนถูกจับและก็ถูกลงโทษโดยรัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไหมครับ
คุณพิเชียร ไม่มีเลย จับใครไม่ได้เลย ก็กลุ่มกระทิงแดงก็ยังลอยนวลนอกจากลอยนวลแล็วก็ยังมาก่อกวนนักศึกษาอยู่เรื่อย ๆ ในปีนั้นก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก ถ้าผมจำไม่ผิดเกิดขึ้นวันที่ 20 สิงหาคม 2518 กลุ่มกระทิงแดง นวพลก็บุกมาเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังโชคดีว่าตอนนั้นนักศึกษาและอาจารย์บอกให้ถอนตัวออกจากธรรมศาสตร์ให้หมด ก็เสียหายแต่เฉพาะข้าวของและหอประชุมใหญ่เท่านั้น
อ.ใจ ถึงกรกฎาคม 2519
คุณพิเชียร กรกฎาคม 2518 พอหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการยิง ทำร้าย ผู้นำนักศึกษา ผู้นำประชาชนอีกหลายคน ในปีนั้นถ้าผมจำไม่ผิด มีการยิง อ.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย มีการยิงผู้นำนักศึกษา คือ คุณอัมเรศ ชัยสะอาด เป็นผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เสียชีวิตทั้ง 2 คน แล้วก็มีการยิงคุณเทิดภูมิ ใจดี ผู้นำกรรมกรที่หน้าสำนักงานทนายความธรรมรังสีบางลำภู แต่โชคดีที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ถึงที่ตาย บาดเจ็บนิดหน่อย และมีการยิงชาวนาชาวไร่ทั่วประเทศเลย ถูกฆ่าไปเยอะมาก สิบกว่า ยี่สิบคน พอมาถึงปี 2519 นักศึกษาก็มีความรู้สึกว่าพวกกระทิงแดง นวพลก็เพิ่มการปฏิบัติการทางทหารของเขารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในเมือง มีการอพยพและหลบออกไปจากตัวเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ เรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2519 เป็นเวลาถึงแปดเดือนก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในหมู่ผู้นำนักศึกษามีการพูดคุยกันมากว่าใครจะยังอยู่ในเมือง ใครอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะว่าถูกข่มขู่คุกคาม ทั้งจากที่บ้านก็มีโทรศัพท์มาข่มขู่ หลายคนถูกติดตาม ถูกสะกดรอยตาม ซึ่งรู้สึกได้เลย
อ.สุรชัย แล้วคุณพิเชียรถูกข่มขู่ มีใครโทรมาขู่ที่บ้านหรือทำนองนี้ไหมครับ
คุณพิเชียร ก็มีครับ ก็มีเหมือนกัน แต่ว่าของผมก็ยังไม่ค่อยรุนแรงมาก คือขู่ด้วยจดหมาย ถือเป็นปกติ ก็มีจดหมายเขียนส่งมาขู่อยู่เรื่อย ๆ แล้วก็โทรศัพท์มาขู่ก็มีบ้าง แต่สำหรับผมเองก็ไม่ถือว่ามันรุนแรงอะไรมากมาย ทุกคนก็ต้องระมัดระวังตัวหมด
อ.ใจ เริ่มต้นเล่าจากวันที่ 4 ได้ไหมครับว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง
คุณพิเชียร เหตุการณ์รุนแรงมาตั้งแต่คุณประภาส จารุเสถียรเข้ามาในประเทศไทย ถ้าผมจำไม่ผิด คือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เราก็ต่อต้านแล้วก็ไล่จอมพลประภาสออกไป ก็สำเร็จ ก็ยอมออกไปเดือนสิงหาคม ต่อมาเดือนกันยายน จอมพลถนอม กิตติขจรบวชเป็นเณรเข้ามา เรารู้สึกว่าครั้งนี้เขาอาศัยผ้ากาสาวพัตร์ อาศัยศาสนามาเป็นเครื่องบังหน้า ตอนนั้นผมก็พาเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปประท้วงจอมพลถนอม ตอนวันที่เขาจะบวชเณรเลยที่วัดบวรนิเวศ ผมก็ไปกันสักยี่สิบกว่าคนที่หน้าวัดบวรนิเวศ จะเอาป้ายไปชูเพื่อคัดค้านการบวชเณรของจอมพลถนอม พอไปถึงที่เจอทหารเต็มไปหมดเลย แล้วก็ถือปืน M16 พวกเราก็สงสัยว่าเที่ยวนี้มันคงรุนแรงแล้ว ก็ไปชูป้ายได้แป๊บเดียวก็กลับออกมา เพราะรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย แล้วเหตุการณ์มันก็บานปลายมาจนกระทั่งมีการชุมนุม ทางพวกเราเอง คุณสุธรรม แสงประทุม กับพวกเราก็ประชุมกัน ก็บอกว่าครั้งนี้อาจจะรุนแรงนะ ก็รู้ตัว ตอนแรกก็ไม่พยายามจะไม่ชุมนุมถ้าไม่จำเป็น แต่ตอนท้ายที่สุดก็มีการชุมนุมกันปลายเดือนกันยายน แล้วก็ต่อมาถึงวันที่ 2 กันยายน ถ้าผมจำไม่ผิด เราชุมนุมที่ท้องสนามหลวง มันมีพวกกระทิงแดงขี่รถปิคอัพมาขว้างระเบิดไปที่ท้องสนามหลวงวันที่ 2 ตุลาคม เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยแล้ว ก็เลยสลายตัว และข้ามถนนมาหอประชุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 4 ตุลาคม อ.ป๋วย ตอนนั้นเป็นอธิการบดีอยู่ ได้รายงานเรื่องนี้ให้ อ.ประกอบ หุตะสิงห์ ซึ่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ก็ปิดมหาวิทยาลัยโดยปริยาย
อ.ใจ ขอขัดจังหวะนิดหนึ่ง เคยได้ยินใครวางแผนจะไปเผาวัดบวรไหม
คุณพิเชียร ในหมู่พวกเรายืนยันว่าไม่มี แต่ว่าช่วงนั้นวิทยุยานเกราะเขาก็ปล่อยข่าวว่านักศึกษาจะไปเผาวัดบวร จริง ๆ แล้วไม่มี เราไม่เคยมีมีความคิดจะไปเผาวัดบวร เผาทำไม มันเป็นวัดของพวกเรา เราไม่เคยคิดอย่างนั้น ตรงนี้ขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเลย ในเที่ยงวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม มีการชุมนุมกันที่บริเวณลานโพธิ์ มีนักศึกษาประมาณ 500 คน จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มีคุณสุขุมเพื่อนผมเป็นประธานชมรม แล้วก็มีเพื่อน ๆ แต่งตัวเลียนแบบเป็นนายช่างไฟฟ้าของนครปฐมที่ถูกจับแขวนคอไป มี 2 คน คือ คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิช และคุณอภินันท์ บัวหภักดี สองคนนี้ก็มาเล่นเป็นตัวละครที่ถูกแขวนคอที่ใต้ต้นโพธิ์
อ.ใจ คุณพิเชียร ตอนนั้นรู้จักคุณอภินันท์ไหมครับ
คุณพิเชียร คุณอภินันท์ไม่รู้จักนะ คือคุณอภินันท์เป็นนักศึกษาศิลปศาสตร์ ปีที่2 เขาเพิ่งเข้ามาที่ชมรมการละคร แต่ว่าพี่วิโรจน์นี้รู้จัก คุณวิโรจน์นี้อยู่กับสุขุมตั้งแต่ตังชมรมนี้ขึ้นมา
อ.ใจ แล้วคุณพิเชียรได้ดูละครนี้ไหม
คุณพิเชียร ผมเดินลงไปดูอยู่พักหนึ่ง ดูแล้วก็ไม่เห็นว่าอภินันท์จะมีใบหน้าไปเหมือนสมเด็จพระบรมฯ คือดูรอบ ๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร
อ.ใจ ละครตอนที่คุณอภินันท์ถูกแขวนคอ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นคุณอภินันท์
คุณพิเชียร คุณสุขุมเขาบอก ผมก็ยังบอกเขาเลยว่า ไม่จำเป็นก็อย่าไปแสดงแขวนคออะไรอย่างนี้เลย
อ.ใจ เพราะอะไรครับ
คุณพิเชียร เรื่องการแขวนคอนี่เราดูแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่ทารุณ โหดร้าย แล้วผมเองก็มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ถ้าเอามาแสดงอีก เป็นการตอกย้ำความโหดร้าย ทารุณ ซึ่งผมคิดว่า เราก็ไม่อยากจะให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ผมเองก็โดยความบริสุทธิ์ใจ ผมก็ไม่ได้คิดว่าเราควรจะเอาเรื่องนี้มาจุดชนวนให้เกิดความเคียดแค้น ผมยังพูดกับสุขุมเลยว่า จริงๆแล้วตรงนี้ไม่น่าเอามาทำ แต่เขาบอกว่าก็ทำไปแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร มีอาจารย์หลายท่านเดินลงมาดู กลุ่มนักศึกษาก็ชุมนุมกันอยู่ตรงนั้น ก็ไม่เห็นมีอะไร มีผู้สื่อข่าวก็มาถ่ายภาพไป
อ.ใจ ผู้สื่อข่าวที่ไปถ่ายภาพนี่ รู้ไหมว่ามาจากหนังสือพิมพ์อะไร
คุณพิเชียร ไม่ทราบครับ เขามาถ่ายภาพกันไปเหมือนปกติทั่วไป แล้วก็ผู้คนที่ชุมนุมกันอยู่ ประมาณ 500-600 คน ก็ไม่เห็นว่าใบหน้าจะไปเหมือนใคร ยิ่งเจตนาที่ว่าเราจะไปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอะไรนี้ ไม่มีเด็ดขาด เพราะว่าตอนนั้นผมเองก็เป็นนายก อมธ. อยู่ เราก็ระมัดระวังเรื่องนี้มากที่สุดยู่แล้ว พูดกันทุกครั้ง ทุกกลุ่ม ทุกองค์กรที่เคลื่อนไหวว่า ต้องระมัดระวังเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นะ อย่าไปแตะต้อง หรืออย่าไปทำอะไรที่จะให้เกิดปัญหา เราระมัดระวังที่สุด เรารู้สึกว่าการชุมนุมนี้ไม่ค่อยปลอดภัย ตอนแรกก็พูดกันว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากชุมนุม แต่ก็ถูกบังคับว่าต้องให้ชุมนุม เมื่อชุมนุมไปแล้วก็มีปัญหาว่าคนที่จะมาพูดบนเวทีมันก็มีไม่มากในช่วงนั้น ในบางช่วงคนที่อยู่ในที่ชุมนุมก็มีน้อย ช่วงเช้า ช่วงกลางวันมักจะคนน้อย แต่ว่าตกเย็นก็จะมีคนมาร่วมชุมนุมกันมาก วันที่ 4 นี่ก็เป็นการเล่นละครอย่างที่ว่าในช่วงเที่ยง ๆ บ่าย ๆ พอหลังจากนั้นเราก็ประชุมกันตามปกติก็ไม่มีอะไร แต่พอรุ่งขึ้นวันที่ 5 หนังสือพิมพ์สองฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ดาวสยามกับบางกอกโพสต์ ลงรูปและลงเรื่องที่ตรงกัน โดยดาวสยามจะพาดหัวทำนองว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แสดงละครโดยเอาคนที่ละม้ายกับสมเด็จพระบรมฯ มาแสดงละครแขวนคอ พอเราเห็นอย่างนี้เราก็ตกใจ ประชุมกัน แล้วก็บอกว่าต้องรีบแก้ไข ให้คุณสุธรรม คุณประยูร อัครบวร กับกรรมการศูนย์ฯอีก 6 คนแถลงข่าววันนั้นเลย คือ วันที่ 5 ว่านักศึกษาไม่มีเจตนา เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยว เราไม่มีเจตนาใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วเราก็แสดงความประหลาดใจด้วยว่า ใบหน้าไปละม้ายคล้ายคลึงได้อย่างไร วันนั้นยังมีคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต แต่ผมไม่ทราบว่าเป็นคุณประยูรหรือเป็นกรรมการศูนย์ฯ ท่านใดท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการไปแต่งฟิล์มหรือเปล่า หนังสือพิมพ์ที่ลงก็ลงแค่ 2 ฉบับเท่านั้น คือ ดาวสยามกับบางกอกโพสต์ นี้ยืนยันได้เลย พอหลังจากเราแถลงข่าววันที่ 5 ไปแล้ว คุณสุธรรมก็บอกว่า เราแค่แถลงข่าวคงไม่เพียงพอแล้ว เพราะว่าทางวิทยุยานเกราะของพันเอกอุทาร สนิทวงศ์ เขาก็รับลูกเลย คือ เอาเรื่องจากดาวสยามมาพูดทั้งวันเลย ปลุกระดมให้พวกลูกเสือชาวบ้าน นวพล กับกระทิงแดง ว่าต้องร่วมกันมาจัดการกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ใจ คุณพิเชียรฟังวิทยุยานเกราะเองหรือเปล่าครับ
คุณพิเชียร ฟังครับ ฟังตลอดวัน
อ.ใจ ฟังว่าเขาจะต้องมาจัดการ หมายความว่าอะไรครับ
คุณพิเชียร คำพูดนอกจากคำว่าจัดการแล้ว ยังใช้คำพูดที่รุนแรงมาก ไม่ใช่แค่จัดการอย่างเดียว
อ.ใจ คืออะไร
ตอบ เขาบอกว่าคล้ายกับจะปราบปรามนักศึกษาทำนองนี้ คือ จะขจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน หาว่า พวกนักศึกษาเป็นพวกหนักแผ่นดิน จะมาล้มล้างราชบัลลังก์ ก็ปลุกระดมตรงนี้หนักมากตลอดทั้งวันเลย สุธรรมกับพวกเราก็บอกว่า อย่างนี้ไม่ได้แล้ว คนจะยิ่งเข้าใจผิด ก็เลยนัดหมายไปที่นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช บอกว่าพวกเราจะเข้าไปพบท่าน ไปแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเราไม่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเด็ดขาด ก็นัดหมายกันอย่างดี แล้วก็รีบไป ตอนนั้นก็แบ่งหน้าที่แบ่งงานกันไป พวกเราไปกันทั้งหมด 6 คน คือ คุณสุธรรม คุณประพนธ์ ตันตริยานนท์ แล้วก็ประยูร อัครบวร ต้องดูในรายละเอียด…
อ.ใจ คุณพิเชียรไปเองใช่ไหมครับ
คุณพิเชียร คุณสุธรรมไป ผมไม่ได้ไป
อ.ใจ ที่คุณสุธรรมไปนี้ ไปตามที่นัดหมายกับนายก?
คุณพิเชียร ไปตามที่นัดหมายกับนายกฯ เสนีย์ ปราโมชย์
อ.ใจ นัดหมายเวลากี่โมงครับ
คุณพิเชียร ถ้าผมจำไม่ผิดนะจะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ประมาณ 5 โมงเย็น ก็นั่งรถปิคอัพไปที่หน้าทำเนียบเลย พอเข้าไปจะเจรจาก็ถูกตำรวจรวบตัวเลย ประมาณ 6 โมงเย็น
อ.สุรชัย แล้วช่วงนั้นคุณพิเชียรทำอะไร อยู่ตรงไหน ทำให้ไม่ได้ไปด้วย
คุณพิเชียร ช่วงนั้นผมก็อยู่ในธรรมศาสตร์นี่แหละ ถ้าผมจำไม่ผิด ผมอยู่ในธรรมศาสตร์มาตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 5 พอวันที่ 5 บ่าย ๆ เย็น ๆ ผมก็กลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะว่าผมอยู่ที่ธรรมศาสตร์มา 3-4 คืนแล้ว ตอนนั้นเพลียมาก ก็ตั้งใจจะกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้านอน ผมก็กลับออกไปช่วงเย็น ดูเหมือนว่าประมาณ 6 โมงหรือทุ่ม ช่วงนั้นธงชัยก็อยู่ประจำอยู่ที่เวที เขาก็พูดไฮปาร์คที่เวทีกับเพื่อน ๆ กลุ่มของพวกเราอีกหลายคน
อ.ใจ ตอนที่คุณพิเชียรออกไปจากธรรมศาสตร์จะกลับบ้าน ข้างนอกธรรมศาสตร์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
คุณพิเชียร ช่วงนั้นก็ยังไม่มีอะไรมากนัก ยังไม่มีพวกนวพล พวกกระทิงแดง หรือพวกลูกเสือชาวบ้าน แต่มีตำรวจ มีตำรวจมารักษาการอยู่ที่ท่าพระจันทร์ ผมว่าก็มีหลายคันรถอยู่นะ อาวุธครบมือ เพราะผมออกมาทางท่าพระจันทร์ ไม่ได้ออกมาทางหอประชุมใหญ่
อ.ใจ ที่ท่าพระจันทร์มีตำรวจประมาณกี่นายครับ
คุณพิเชียร กี่นายนี้ผมจำไม่ได้ นับไม่ได้ แต่เท่าที่ดูเห็นรถปิคอัพนี้ก็หลายคัน อย่างน้อย 4-5 คัน แล้วก็อาวุธครบมือ อาวุธนี้ก็มีทั้งปืนสั้นประจำกาย แล้วก็ปืนยาวด้วย แล้วมีตำรวจสวมหมวกแดง เป็นตำรวจ ต.ช.ด. ถือปืนเอ็ม 16 ด้วย
อ.ใจ ที่ท่าพระจันทร์?
คุณพิเชียร ช่วงเย็นวันนั้นก็เริ่มที่จะมีบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่รุนแรงมาก ผมก็ฟังวิทยุมาตลอด มาเริ่มรุนแรงเอาหลังเที่ยงคืนวันที่ 5 ตุลาคม
อ.ใจ อันนี้ฟังวิทยุ?
คุณพิเชียร ครับ ผมยังไม่ได้กลับไปที่ธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นก็อยู่ที่ธรรมศาสตร์หลายคืน แล้วก็ไม่สบายด้วย เป็นหวัด กลับไปก็นอนซมอยู่พักหนึ่ง กลับมาก็ช่วงเที่ยงคืน ก็เปิดวิทยุฟัง ก็เริ่มมีเสียงปืนยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ แล้วก็บอกคล้าย ๆ กับว่ามีการระดมคนเข้าไปล้อมธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์
อ.ใจ อันนี้ฟังวิทยุอะไร
คุณพิเชียร เยอะแยะเลย ก็มียานเกราะ แล้วก็สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ แล้วก็มีอีกหลายสถานี เราก็พยายามฟังไปเรื่อย ๆ
อ.ใจ ได้ยินข่าวว่ามีการยิงปืนเข้าไปในธรรมศาสตร์ รู้ได้อย่างไรว่ายิงเข้าไป ไม่ใช่ยิงออกมาหรือ
คุณพิเชียร ยิงออกมานี่ เนื่องจากว่าผมอยู่ข้างใน ผมรู้ คือ กำชับกำชากันว่าไม่ให้ใช้อาวุธ แล้วก็อาวุธของนักศึกษา ข้อเท็จจริงก็คือว่า มีเฉพาะพวก ร.ป.ภ. คือนักเรียนอาชีวะ หรือว่าทางสายที่เราให้เป็น ร.ป.ภ. ของนักศึกษานี่ก็อาจจะมีอาวุธประจำกาย คือ เป็นปืนพกบ้าง แต่เท่าที่ผมดูมีไม่กี่กระบอกหรอก อย่างมากก็สัก 2-3 กระบอก ก็บางคนเท่านั้นเอง ซึ่งก็มีเอาไว้ป้องกันตัว แต่ว่าอาวุธปืนยาวไม่มีเด็ดขาด เพราะผมก็เดินดูอยู่ ผมอยู่ข้างใน ผมรู้ว่าตรงนี้นี่มีไม่ได้ ถ้ามี มันก็อันตรายต่อพวกเราด้วย เขาก็จะมาหาว่าเราซ่องสุมอาวุธ ผมเองก็ย้ำแล้วย้ำอีก บอกทุกคน บอกว่าไม่ให้มีอาวุธ ซึ่งอาวุธที่มีจริง ๆ ก็มีเฉพาะ รปภ. บางคนเท่านั้นเอง ซึ่งมีไม่กี่คน เราก็รู้อยู่ แล้วก็เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ที่ว่าเข้าไปจับกุม พบอาวุธอะไรมากมาย อันนี้พูดก็พูดเลยนะ คนที่มีอาวุธอยู่นั่นก็ไม่ได้ถูกจับกุม อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหลบออกไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นพวกที่เหลืออยู่ไม่มีอาวุธเลย ซึ่งพวกที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีอาวุธประจำกายอยู่ก็ไม่ได้ถูกจับ
อ.ใจ คุณพิเชียรได้กลับไปที่ธรรมศาสตร์ไหม
คุณพิเชียร วันนั้นประมาณตีสามตีสี่ ผมก็พยายามไปที่ธรรมศาสตร์ แต่ว่าคุณแม่ผมก็รั้งเอาไว้ ไม่ยอมให้ไป บอกว่าหัวเด็ดตีนขาดไม่ยอมให้ผมไป ผมพยายามจะออกนอกบ้านให้ได้ทุกวิถีทาง แม่ผมก็ไม่ยอม อย่างไรก็ไม่ยอม ก็สัญชาตญาณของความเป็นแม่ ก็คงรู้ว่าภัยมันมี มีอันตรายมาก ก็ไม่ยอม หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ยอม คุณพ่อผมไม่ห้าม คุณพ่อบอกแล้วแต่ผมก็จะไปให้ได้ แม่ผมก็ไม่ยอม ผมก็อยู่ที่บ้านจนถึงช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลา ก็ทีวีช่อง 9 ก็ถ่ายทอดออกมาทางทีวี คุณสรรพสิริ วิริยสิริ ก็ถ่ายทอดออกมา เช้าวันที่ 6 ตุลานี้แหละ รู้สึกว่าจะ 7 โมงกว่าทหารก็เข้าไปแล้วก็บังคับให้นักศึกษาถอดเสื้อออกให้หมด ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงก็ให้ถอดเสื้อ แล้วก็ให้คลานอยู่บริเวณสนามฟุตบอล เราก็รู้แล้วว่าเข้าไปจับกุม แล้วก็จะปราบปราม เห็นภาพคนวิ่งออกมาทางหอประชุมใหญ่ แล้วก็ถูกรุมซ้อมเตะต่อยอยู่ตรงนั้น แล้วก็เอายางรถยนต์โยนเข้า 2-3 เส้น แล้วก็เผาเลย ภาพมันก็ออกมาทางทีวีหมด พอเกิดเหตุการณ์นี้ปั๊บ แม่ผมก็นั่งแท็กซี่ไปกับผมก็ไปอยู่กับญาติคนหนึ่ง ยังอยู่ใน กทม. เราก็ไปหลบอยู่พักหนึ่ง วันนั้นทั้งวันผมก็ดูทีวี มันก็รู้สึกจะมีถ่ายทอดถึงสักประมาณเที่ยงหรือว่าบ่ายโมงนิดหนึ่งแล้วก็ถูกตัดไป แล้วก็หลังจากนั้นช่วงเย็น ๆ ก็ทราบว่ามีคำสั่งปลดคุณสรรพสิริออกจากผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9 ก็ยังดีเราได้เห็นภาพช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลา
อ.ใจ มันมีข้อกล่าวหาว่าขบวนการ…(ไม่ชัดเจน)…
คุณพิเชียร นี้เป็นคำถามที่ดีนะครับ คือตอนนี้นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสังคมนิยม เป็นพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิส ผมก็อยากจะย้ำว่าจริง ๆ แล้วนักศึกษาส่วนใหญ่ ผมคิดว่า 80-90% เพียงแต่มีความต้องการระบอบประชาธิปไตย ต้องการสิทธิเสรีภาพ มีความรุนแรง คือเราก็ต้องการต่อสู้กับเผด็จการอย่างเต็มที่ แต่ว่าอาจจะมีนักศึกษาบางส่วน ซึ่งผมคิดว่าสักสิบกว่าเปอร์เซนต์ไม่มากกว่านี้ที่มีแนวทางที่ต้องการที่จะไปในทางสังคมนิยมหรือลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งเราก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร แต่ว่าผมยืนยันว่านักศึกษาส่วนใหญ่ 80-90% อยู่ในแนวทางของประชาธิปไตย แล้วก็ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นไปถึงว่าปกครองประเทศไทยเป็นสังคมนิยมหรือว่าเป็นแบบมาร์กซ์ ส่วนการที่ว่ามีนักศึกษาหรือกลุ่มอะไรมาบงการหรือชี้นำนักศึกษาหรือเปล่า ตรงนี้ผมก็ขอยืนยันว่า ช่วงที่ผมเป็น อมธ. อยู่ไม่มีนะครับ คือเราพอจะ sense ได้เหมือนกันว่าอาจจะมีบางคนที่ต้องการจะมาชี้นำพวกเรา หรือมาบอกว่าคุณต้องทำอย่างนี้อย่างนี้นะ คุณต้องเดินขบวนนะ แต่ว่านักศึกษาส่วนใหญ่ แกนนำนักศึกษาส่วนใหญ่ ก็จะถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล
อ.ใจ ที่มาชี้นำนี้มาจากไหน
คุณพิเชียร ที่มาชี้นำนี้ก็เป็นนักศึกษาด้วยกันนั่นแหละ แต่ว่าพวกเราคุยกันว่าเป็นพวกเจ้าทฤษฎีทั้งหลาย เรายกให้เป็นอาจารย์ เป็นเจ้าทฤษฎี เป็นเจ้าลัทธิ เขาก็จะมาชี้นำแล้วบอกว่าตามทฤษฎีต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้นะ ซึ่งพวกเรานักศึกษาก็มาถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล อย่างเช่นที่มีการถกเถียงกันมากมาย คือการเดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา ในวันที่ 20 มีนาคม 2518 ตอนนั้นถกเถียงกันว่าจะเดินดีไหม เพราะว่ารู้ว่าถ้ามีการเดิน มันอาจจะมีคนตายได้ เพราะว่าเขาขู่มาแล้วว่าเขาจะเอาแน่ เขาจะปาระเบิด เขาจะยิงแน่นอน พวกเราบางส่วนก็บอกว่าไม่อยากจะให้เดิน เพราะว่ากลัวคนตาย เสียชีวิตมันไม่คุ้ม ผมเองก็ไม่เห็นด้วยให้เดินขบวนในช่วงนั้น ผมก็พยายามที่จะหาเหตุผลมาคุยมาพูดกัน รู้สึกประชุมกัน 3 วัน 3 คืนเลยในตอนนั้นก่อนที่จะเดินขบวน
อ.ใจ แล้วในเรื่องการชุมนุมต่อต้านถนอมที่สนามหลวง แล้วก็ยืดเยื้อไปสู่การชุมนุมในธรรมศาสตร์นี้ มีการชี้นำตรงนั้นไหมครับในการตัดสินใจอย่างไรให้ชุมนุมแล้วก็ยืดเยื้อ
คุณพิเชียร ตรงนี้ในความเห็นของผม ผมคิดว่าไม่มีการชี้นำนะครับ คือเป็นวิจารณญาณของแกนนำนักศึกษาในตอนนั้น ทั้งคุณสุธรรม ทั้งหลาย ๆ คนนะครับ ก็มองกันว่ากลายเป็นภาวะจำยอมมากกว่า คือจริง ๆ แล้วเราไม่ต้องการที่จะชุมนุมตั้งแต่ต้น เพราะเราอ่านเกม เราก็รู้อยู่ว่าเขาจ้องที่จะปราบพวกเราอยู่ ถ้าหากเราชุมนุม มันก็มีช่องโหว่ มันก็มีจุดอ่อน ชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ปัญหาก็คือ ไม่มีรั้วรอบขอบชิด มันเปิดกว้างหมด 360 องศา เขาขี่รถมา เขาก็เอาระเบิดปาเข้ามาได้ตลอด หรือยิงได้ตลอด เราก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ถนนมันรอบสนามหลวงเลย แต่ว่าตอนนั้นเหตุที่เราชุมนุมกันที่สนามหลวงเพราะว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามพวกเราไม่ให้เข้าไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่า อ.ป๋วย อ.เสน่ห์ อ.นงเยาว์ อ.อรวิทย์ เขาก็รู้ว่าถ้าไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือมีแนวโน้มกลิ่นไอของความรุนแรงทางการเมือง กลุ่มไอความรุนแรงทางทหารมันมีมาก ทุกคนก็รู้ว่าถ้ามีการชุมนุมเที่ยวนี้มันต้องมีการปราบ การฆ่าเกิดขึ้นแน่นะครับ ก็เลยมีคำสั่งออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนแล้วว่าห้ามชุมนุม ห้ามใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการชุมนุม พวกเราก็เข้าไปชุมนุมไม่ได้ เราก็เลยจำเป็นจำใจ ตอนแรกเราก็พยายามดึงถ่วงเวลา ถนอมเข้ามาถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนกระมัง ตั้งแต่กลางเดือนแล้ว เราก็พยายามดึงถ่วงมาตลอด ไม่ยอมชุมนุม จนถึงปลายเดือนกันยายนก็มีช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ถูกแขวนคอ นี้ก็เลยเป็นกระแสกดดัน มีบางส่วนบอกว่าไม่ชุมนุมไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ต้องชุมนุมก็เลยบอกว่าไหน ๆ ชุมนุมก็ชุมนุมที่สนามหลวงแล้วกัน เพราะว่าไม่รู้ว่าจะไปชุมนุมที่ตรงไหนดี ก็เลยชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ทีนี้พอชุมนุมที่ท้องสนามหลวงแล้ว มันถูกปาระเบิด พอถูกปาระเบิดมันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยแตกฮือวิ่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยที่หอใหญ่หน้าประตูเหล็ก ตามจริงเขาก็เอาโซ่ล่ามไว้นะ ไม่ให้เข้ามา ก็ไม่รู้ใครไปแกะโซ่นั้นออกมา ก็เปิดประตูมา ก็เข้ามากันหมด ตอนนั้นก็สักหมื่นกว่า เกือบ 2 หมื่นคนได้ ช่วงนั้นชุมนุมนี้คนเยอะ ยุคนั้นนี้ขณะน้อย ๆ ก็มี 4-5 พันคนแล้ว เรียกว่าน้อยแล้ว ถ้ามากนี้บางครั้ง 5-6 หมื่นคนก็มี ก็คืนนั้นที่แตกเข้ามาในธรรมศาสตร์ผมคิดว่าต้องมีอย่างน้อยหมื่นกว่าคน เกือบ 2 หมื่นกว่าคน
อ.ใจ ทำไมต้องประท้วงถนอมครับ
คุณพิเชียร ก็คือเราดูว่าการที่คุณถนอมเข้ามานี้ มันก็เป็นแผนที่เขาต้องการที่จะให้จอมพลถนอมเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของพวกเขาว่าทหารสามารถกลับเข้ามาได้แล้ว อันที่สอง ถ้าเกิดนักศึกษาชุมนุมประท้วงรุนแรงก็มีเงื่อนไขที่เขาจะมาปราบนักศึกษาได้ เราก็รู้ 2 เรื่องนี้อยู่ เราก็พยายามประท้วงแบบเงียบ คือประท้วงแบบไม่ชุมนุม อยู่ได้สัก 2 อาทิตย์มังครับ แต่ว่ามันก็ถูกกระแสกดดัน เขาก็พยายามจุดชนวนให้มันเกิดความรุนแรงขึ้นมา โดยเฉพาะที่แขวนคอช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ตรงนี้ก็เกิดเป็นชนวน ให้บางคนเกิดความเคียดแค้น ก็ไม่ยอม บอกว่าอย่างไรก็ต้องชุมนุม ถึงเขาจะปราบจะอย่างไรก็ต้องสู้ มันก็กดดันให้กลุ่มนักศึกษา แกนนำนักศึกษาไม่มีทางเลือก เราก็ต้องชุมนุม
อ.สุรชัย ในส่วนของนักศึกษาในขณะนั้นช่วยอธิบายโครงสร้างการนำของนักศึกษานิดหนึ่งได้ไหมครับว่าเป็นอย่างไร เห็นว่ามีแกนเปิดแกนปิดอย่างไรบ้างครับ
คุณพิเชียร มันก็คงจะมีนะแกนเปิดแกนปิด จริง ๆ เราก็ไม่ต้องการที่จะทำทุกคน ก็เป็นแกนเปิดหมด เพราะว่าเป็นสันติบาล มันรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร ชื่อไหน อะไร มันก็รู้หมดอยู่แล้ว มันจะปิดมันก็คงปิดไม่ได้หรอก แต่ว่าที่ว่าเป็นแกนปิดแกนเปิด คือ แกนปิดส่วนหนึ่งก็เป็นพวกเขา ถนัดทำงานทางด้านการจัดตั้ง ทำงานทางด้านความคิด ส่วนพวกเปิด คือพวกไฮปาร์ค พวกที่ชอบพูดมาก ๆ ชอบพูดต่อสาธารณะ อย่างนี้ก็ปิดไม่มิดอยู่แล้ว เพราะอย่างไรก็ต้องขึ้นไปพูดบนเวที จริง ๆ เวลาประชุมกันนี้ผมเชื่อว่าเขาก็รู้หมดว่าใครประชุม ไม่ประชุม เพราะว่าระบบของนักศึกษามันไม่เข้มงวด ใครก็สามารถประชุมได้ ถ้าเห็นว่า เห็นหน้าว่าเคยมาประชุม เราก็ไม่ได้ไปห้ามอะไรเขา คือมันก็ไม่มีระบบจัดตั้งเหมือนพรรคการเมือง ว่าเหมือนอย่างในพวกที่อยู่ในพรรคในป่าในเขาสมมติอย่างนี้นะ อันนั้นก็ต้องมีการจัดตั้งหรือว่ามีระบบห้ามคนนอกเข้าไปยุ่ง แต่นักศึกษาไม่มี ประชุมก็ประชุมที่ธรรมศาสตร์ ตรงห้อง อมธ. ตอนนั้นก็มี 2 ชั้น ชั้นสองเป็น อมธ. คนก็เข้าไป ก็เข้าออกได้ตลอด คนก็รู้หมดว่าใครประชุมหรือไม่ประชุมอะไร
อ.สุรชัย แล้วการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นว่าจะชุมนุมหรือไม่ชุมนุม ว่าจะเดินขบวนหรือไม่เดินขบวน ใครเป็นคนตัดสินใจ หมายถึงที่ประชุมอะไร…(ไม่ชัดเจน)…
คุณพิเชียร คนที่ประชุมเป็นกลุ่มก็ไม่มีใครชี้นำหรือว่าบอกสั่งอะไร ผมยืนยัน เพราะว่าผมก็อยู่ในที่ประชุมโดยตลอด อย่างคุณสุธรรม คุณประยูร ผม หรือว่าธงชัย หรือว่า
หลาย ๆ คนก็ร่วมกันเป็น Collective Leader ไม่มี Individual Leader ไม่มีใครสั่งว่าวันนี้ชุมนุม วันนี้ย้ายไปโน้นไหม ช่วยกันนะครับ ก็จะมีการประชุมแล้วก็มีมติออกมาว่าทำอย่างไร ก็จะทำไปตามมตินั้น
อ.ใจ เคยได้ยินเกี่ยวกับพวกม่วงเหลืองไหมครับ
คุณพิเชียร ม่วงเหลือง? ไม่เคย ไม่มี
อ.ใจ ใกล้จะหมดเวลาคุณพิเชียร มีอะไรที่อยากจะเพิ่มเติมหรือฝากไว้ไหมครับ
คุณพิเชียร ก็ผมก็อยากจะฝากอยู่สัก 2-3 เรื่อง คือ เรื่องแรก ผมอยากจะย้ำว่านักศึกษาที่ไปทำงานในยุค 6 ตุลาคม 2519 ส่วนมากมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ที่ดีงาม ไม่มีใครที่มุ่งหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นลัทธิคอมมิวนิสต์นะครับ ผมคิดว่าส่วนมากเกือบทั้งหมดเลยไม่มีในจุดนี้ เพราะฉะนั้นการที่กล่าวหาว่านักศึกษามีอาวุธ สวมรองเท้าแตะ ขุดอุโมงค์ หรือฝักใฝ่พวกญวนอะไรนี้ ยืนยันเลยว่าไม่มีนะครับ เพราะว่าผมอยู่ในเหตุการณ์ อยู่ในที่ตรงนั้นมาโดยตลอด นักศึกษาส่วนใหญ่มีจิตใจที่บริสุทธิ์ที่ดีงาม ต้องการต่อสู้คัดค้านเผด็จการ ต้องการสิทธิเสรีภาพ ต้องการความเป็นธรรมในสังคมให้กับคนยากคนจน ชาวนาชาวไร่ กรรมกร ต้องการ Social Justice สำคัญที่สุดนะครับ นี่เรื่องที่หนึ่ง
เรื่องที่สอง เหตุการณ์ 6 ตุลานี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของฝ่ายที่ต้องการจะล้มล้างประชาธิปไตย โดยคิด plot วางแผนที่จะนำจอมพลถนอม คือ นำจอมพลประภาสเข้ามาครั้งหนึ่งแล้ว fail ในเดือนสิงหาคม แล้วครั้งที่สองนำจอมพลถนอมเข้ามา รู้ทั้งรู้ว่ามันต้องเกิดการประท้วงต่อต้าน ต้องเกิดความรุนแรง แต่ก็ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะอันนี้เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจเลย ไม่ใช่ความบังเอิญ แล้วเขาก็ประเมินแล้วว่าสุกงอมที่เขาสามารถปราบนักศึกษาได้ ก่อนหน้านั้นก็มีการปิดล้อมสื่อมวลชนมาโดยตลอด
แล้วอันที่สาม มีการปลุกระดม ใช้สื่อสารมวลชนของรัฐ ปลุกระดมให้คนไทยเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน โดยใช้เงื่อนไขของสถาบันพระมหากษัตริย์มาปลุกระดมด้วย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีในระยะยาว จะบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย และก็จะบั่นทอนสื่อสารมวลชนของไทยด้วยนะครับ เพราะว่าถ้ามีการใช้สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์บิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วก็ปลุกระดมให้คนออกมาใช้ความรุนแรง เข่นฆ่ากันแล้วนี้ ในระยะยาวแล้วสื่อสารมวลชนก็จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ แล้วก็ไม่มีอิสระ และในท้ายที่สุดก็อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมขึ้นอีกก็ได้นะครับ
ข้อสุดท้ายก็คือ ผมไม่อยากจะเห็นความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีก ถ้าต้องการยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง ขอให้ยุติด้วยความสันติ แล้วก็ยึดหลักความยุติธรรมในสังคมเป็นหลัก มากกว่าที่จะใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารกัน เพราะว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาพ่ายแพ้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายทหารหรือพวกที่นิยมเผด็จการณ์พ่ายแพ้ มันก็เป็นสิ่งไม่ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วก็เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาเกิดขึ้นอีกในอนาคต อยากจะให้มีทางออกว่า ถ้ามีเหตุการณ์ขัดแย้งในสังคม ให้แสวงหาทางออกที่เป็นทางออกที่สันติ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็อาจจะเกิดความรุนแรงอย่างนี้ขึ้นได้อีก อย่างกรณีโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ หรือว่าวางท่อก๊าซที่สงขลา มันก็มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา และถ้าไม่นำบทเรียนอย่างกรณี 6 ตุลา มันก็อาจจะเกิดการปะทะกัน เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็น 2 ฝ่าย แล้วก็ใช้สื่อมวลชนปลุกระดม ยุยงส่งเสริมเข้าไป เติมเชื้อไฟเข้าไป มันก็อาจจะมีการตีกัน ฆ่ากันกลางเมืองได้อีก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์ แล้วก็อยากจะฝากถึงฝ่ายทหารด้วยว่า เหตุการณ์ข้างหน้าทหาร ตำรวจไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของใครที่จะมาใช้เพื่อปราบปรามนักศึกษาหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ในอนาคต เหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้ที่เสียชีวิตก็จะไม่เสียชีวิตเปล่า ก็จะเป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลังได้
อ.ใจ ขอบคุณครับ มีคำถามสั้น ๆ นิดหนึ่ง คือ ที่บอกว่าตำรวจ ทหาร ถูกใช้เป็นเครื่องมืออะไรนี่ คุณพิเชียรคิดว่าใครอยู่เบื้องหลัง หรือไม่อยากจะพูดถึงตัวบุคคล
คุณพิเชียร คนที่อยู่เบื้องหลังนี้ก็คิดว่าคือผู้ที่แสวงหาอำนาจทางการเมืองและทางการทหาร เราก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่า พอเขาปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาได้ คืนวันนั้น 6 โมงเย็น เขาก็ปฏิวัติเลย คือยึดอำนาจรัฐประหารไปเลย แล้วก็ตั้งคณะทหารปกครองประเทศ มันก็เห็นชัดเลย คณะทหารก็ได้ประโยชน์จากการปราบปรามนักศึกษา สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลไปได้ คือตอนแรกวางแผนจะปฏิรูปการเมืองไทยตั้ง 12 ปี แต่ก็ถูกต่อต้านจากกระแสทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็อยู่ได้แค่ปีเดียวก็ต้องล้มเลิกไป
อ.สุรชัย ผมลืมถามไป เมื่อกี้นี้คุณพิเชียรเล่าว่ามีการติดต่อกับรัฐบาลนี้ ในช่วงนั้นติดต่อผ่านใคร สมมติจะนัดเจอ ม.ร.ว. เสนีย์นี้ นัดผ่านใคร และมีกรรมวิธีในการนัดอย่างไร
คุณพิเชียร ช่วงนั้นเราก็ติดต่อได้หมด ทั้งเลขานายกฯ ผมจำไม่ได้ รู้สึกจะมีหลายคน ก็มีคุณรัฐมนตรีสุรินทร์ มาศดิตถ์ ก็มีการติดต่ออยู่ คุณพ่อของคุณหญิงสุพัตรา มาศดิสก์นี้ แล้วก็คุณชวน หลีกภัย เราก็มีการติดต่ออยู่ตลอดเวลา แล้วก็รู้สึกมีพี่วีระ มุสิกะพงศ์ ตอนนั้นแกก็อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ เราก็มีการติดต่อ เพราะฉะนั้นการติดต่อกับรัฐบาลนี้มันติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีปัญหาอะไร