Documentation of Oct 6

ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ และ memo โดย Neal Ulevich

ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer prize 1977) ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยช่างภาพ AP ชื่อ Neal Ulevich บันทึกเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ท้องสนามหลวง แต่ภาพนี้ถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลในสมัยนั้น คนไทยจึงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพนี้ อ่านเรื่องราวเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากวิกิพีเดีย

บันทึกส่วนตัวของเทพชัย หย่อง จากหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

“10.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม 2519 สองวันหลังเหตุการณ์หฤโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเชื่อว่าเช้าวันนั้นทุกคนในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นยังคงรู้สึกสลดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครคิดว่าคนไทยจะโหดร้ายต่อกันได้มากขนาดนี้

สำหรับคนทำข่าวที่นี่ คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่เลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว

พวกเขาได้เห็นการกระทำทารุณกรรม ได้ยินเสียงร้องขอชีวิต ได้เห็นใบหน้าและท่าทีที่เต็มไปด้วยความกระเหี้ยมกระหือรือของฝูงชน เห็นร่างไร้ชีวิตถูกลากไปตามสนามหญ้าของสถาบันการศึกษาที่ก่อนหน้านี้เพียงสามปีเป็นจุดกำเนิดของขบวนการประชาธิปไตย

มันน่าเศร้าตรงที่พวกเขาได้เพียงแต่ได้เห็นและได้ยิน หรืออย่างดีที่สุดก็บันทึกความโหดร้ายของวันนั้นไว้บนแผ่นฟิล์มและในสมุดโน้ตเท่านั้น

แต่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดความโหดร้ายที่พวกเขาได้เห็นให้สังคมได้รับรู้

เพราะวันนี้เป็นวันที่สามแล้วที่หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นไม่สามารถทำการพิมพ์และจำหน่ายได้ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน

มันเป็นครั้งแรกที่คนไทยไม่มีหนังสือพิมพ์อ่านเป็นเวลาสามวันเต็ม ๆ สื่อมวลชนไม่สามารถทำหน้าที่ในภาวะที่สังคมต้องการรับรู้ข่าวสารมากที่สุด

ทหารในนามของคณะปฏิรูปยึดอำนาจจากรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในเย็นวันเดียวกัน พร้อม ๆ กับออกคำสั่งห้ามการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

แต่คำสั่งนี้ช้าเกินไปที่จะหยุดยั้ง ดร.สรรพสิริ วิริยสิริ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9

ภาพของนักศึกษาที่ถูกรุมกระทืบจนตาย ภาพของศพที่ถูกทำทารุณกรรม ไม่ว่าจะถูกแขวนคอกับต้นไม้ ถูกจุดไฟเผา หรือถูกลากไปตามสนามหญ้า ช็อคคนไทยทั้งประเทศที่เปิดช่อง 9 เช้าวันนั้น

มันเป็นครั้งแรก ที่โทรทัศน์ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์กว่าหนังสือพิมพ์ในภาวะวิกฤติ แต่คำสั่งแบนภาพโหดร้ายเหล่านี้ตามมาทันที พร้อม ๆ กับคำสั่งปลด ดร.สรรพสิริ

เช้าวันนั้นพนักงานเกือบทุกคนที่รวมตัวกันในกองบรรณาธิการมีความรู้สึกหดหู่ใจมากกว่าสองวันที่ผ่านมา

อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าอนาคตการทำงานของพวกเขาเองจะถูกตัดสิน สุทธิชัย หยุ่นเพิ่งเดินทางกลับจากเยอรมนี พร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในวงการอีกหลายคนที่ได้รับเชิญไปเยือนประเทศนั้น

ในเมืองไทยขณะนี้ คงไม่มีใครใหญ่ไปกว่าสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สด ๆ ร้อน ๆ อนาคตของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับอยู่ในมือของนักการเมืองผู้นี้

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหนึ่งในคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาใบอนุญาตหนังสือพิมพ์เป็นกรณีพิเศษ สมัครมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะเปิดใหม่ได้ หนังสือพิมพ์อย่างไทยรัฐ ดาวสยาม ตะวันสยาม บ้านเมือง และ Bangkok Post ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในข่ายของการเป็นหนังสือพิมพ์ที่เชื่อฟังรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์และจำหน่ายได้หลังจากถูกปิดเพียงสามวัน

สมัครเป็นหนึ่งในนักการเมืองหลายคนที่แสดงความยินดีอย่างเห็นได้ชัดที่ขบวนการนักศึกษาถูกบดขยี้ แถมยังสนุกสนานกับบทบาทของตัวเองในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อนักศึกษาที่ถูกเขาตราหน้าเป็น “คอมมิวนิสต์”

และสมัครไม่ลังเลใจที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อขจัดใครก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู และ “ศัตรู” ที่เหลือของสมัครในขณะนั้นก็คือเหล่าหนังสือพิมพ์ “ฝ่ายซ้าย” ที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อดั้งเดิมว่า The Voice of The Nation ที่มีสุทธิชัย หยุ่นเป็นบรรณาธิการก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เป็นเป้าของสมัคร

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครประหลาดใจที่สมัครไม่ยอมให้หนังสือพิมพ์อย่างเดอะ เนชั่น และหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าอย่าง ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย และจตุรัส ได้ตีพิมพ์และจำหน่ายต่อไป

เช้าวันนี้ ทุกคนกำลังรอคอยการตัดสินใจของสุทธิชัย หยุ่น เขาจะสู้ต่อไปหรือเขาจะยอมถอย การถอยย่อมหมายถึงว่าพนักงานกว่าสามร้อยคนจะต้องตกงานทันที ทุกคนรู้ดีกว่าสุทธิชัยเองก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เขาเป็นเป้าหมายของสมัครและของ “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” ซึ่งทำหน้าที่ตามล่าใครก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน ชื่อของสุทธิชัยถูกเอ่ยผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุทหารพร้อมกับชื่อของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความคิดเอียงซ้าย ทุกคนรู้ดีว่ามันมีความหมายอย่างไร มันเป็นสัญญาณเตือนว่าคนกลุ่มนี้อาจจะถูกจับเมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นไฟเขียวให้กับใครก็ได้ที่คิดว่าตัวเองรักชาติ “จัดการ” กับคนเหล่านี้

สุทธิชัยประกาศกับพนักงานว่าสมัครไม่ยอมให้เดอะ เนชั่นตีพิมพ์และจำหน่ายอีกต่อไป แต่เขาขอให้พนักงานมีความหวัง เพราะเขาและหม่อมราชวงศ์สุนิดา บุญรัตพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อีกคนหนึ่งกำลังหาทางไม่ให้พนักงานต้องตกงาน แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าทางออกนั้นคืออะไร…”

(ที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/เทพชัย_หย่อง)