ในปัจจุบัน คนจำนวนมากคงเห็นร่วมกันว่า 6 ตุลา 2519 คืออาชญกรรมที่อัปลักษณ์ที่สุดของสังคมไทย เป็นความรุนแรงโดยรัฐและมวลชนฝ่ายขวาที่ถูกปลุกระดมให้เกลียดชังผู้ที่คิดต่าง ผู้ถูกกระทำไม่เคยได้รับความยุติธรรม และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย แต่นั่นอาจไม่ใช่ความเห็นของฝ่ายขวา-อนุรักษ์นิยมไทย แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 4 ทศวรรษ คนจำนวนไม่น้อยกลับไม่คิดว่า 6 ตุลาเป็นสิ่งผิดแต่ประการใด
โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ขอเชิญผู้สนใจอ่านเอกสารที่สะท้อนความคิดของฝ่ายขวาไทยต่อ 6 ตุลาที่แสดงออกมาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซีรีย์ชุดนี้มี 4 ตอนคือ
- คณะรัฐประหาร 2519: นักศึกษายั่วยุ ยิงกันเอง มวลชนผู้ใช้ความรุนแรงคือผู้รักชาติ
- สมัคร สุนทรเวช: “ไม่ประณาม 6 ตุลา ตายเพียงคนเดียว เป็นฝ่ายขวาผิดตรงไหน”
- ไชยันต์ ไชยพร: ผิดด้วยหรือที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา
- เสื้อชมพูชุมนุมต้านเสื้อแดง ใช้สัญลักษณ์แขวนคอ 6 ตุลา
ผู้สนใจการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวควรอ่านงานวิจัยของ ธงชัย วินิจจะกูล “6 ตุลาในความของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)” ใน “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” (ฟ้าเดียวกัน, 2558)
////////////////////////////
ซี่รีย์ “6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวา” ตอนที่ 1
คณะรัฐประหาร 2519: นักศึกษายั่วยุ ยิงกันเอง มวลชนผู้ใช้ความรุนแรงคือผู้รักชาติ
บางตอนของสมุดปกขาว “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519″ จัดพิมพ์โดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ผู้ทำรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ระบุว่า
“ประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นับจำนวนเกือบแสนคนได้ร่วมใจกันไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพยายามบุกเข้าไปทำลายการปลุกระดมมวลชนภายในมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรักษาการณ์อยู่นั้นได้พยายามห้ามปรามประชาชนไม่ให้บุกเข้าไป เพราะทราบดีว่ามีกำลังติดอาวุธอยู่ภายใน”
“ฝ่ายที่ยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดฉากการยิงขัดขวางอย่างดุเดือดด้วยอาวุธที่ใช้ในสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงโต้ตอบเข้าไปบ้าง เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บ และเสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย ปรากฎด้วยว่ามีผู้ที่ได้เข้าร่วมชุมนุมยึดอยู่ภายใตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนไม่น้อยซึ่งได้ถูกฝ่ายเดียวกันเองยิงข้างหลังขณะที่พยายามหนีออกมาภายนอก นักศึกษาและผู้ที่ทำการปลุกระดมอยู่ภายในได้หลบหนีออกไปได้บ้าง พร้อมทั้งอาวุธ บ้างก็เข้ามอบตัวกับเจ้าที่ ฝ่ายประชาชนผู้รักชาติซึ่งท่ามกลางเสียงปืนได้เกิดอารมณ์คั่งแค้นจนกระทั่งนำเอาศพของผู้เสียชีวิตมาแขวนคอ และนำศพไปเผาที่บริเวณท้องสนามหลวงรวม 4 ศพ”
เอกสารชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นแบบแผน (pattern) คำอธิบายของฝ่ายขวาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมได้เป็นอย่างดี ดูเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://doct6.com/archives/10302
/////////////////////////////////
ซี่รีย์ “6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวา” ตอนที่ 2
สมัคร สุนทรเวช: “ไม่ประณาม 6 ตุลา ตายเพียงคนเดียว เป็นฝ่ายขวาผิดตรงไหน”
ข้อความที่คัดมานี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต่อบทบาทของเขาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ให้กับนายแดน ริเวอรส์ ผู้สื่อข่าว CNN ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2551
ถาม: คุณต้องการที่จะใช้โอกาสตรงนี้ในการประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2519 รึเปล่า?
ตอบ: ที่จริงแล้วมันเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาบางส่วน พวกเขาไม่ชอบรัฐบาล
ถาม: แต่มีคนหลายสิบคน หรือบางทีอาจจะหลายร้อยคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ตอบ: ไม่ มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว มีนักศึกษาราว 3.000 คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนนั้น
ถาม: ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 46 ราย และหลายคนบอกว่าจริงๆ แล้วมันสูงกว่านั้นมาก
ตอบ: ไม่ สำหรับผม ไม่มีใครเสียชีวิตยกเว้นชายผู้โชคร้ายคนหนึ่งที่ถูกทำร้ายและถูกเผาที่สนามหลวง มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวในวันนั้น
…..
ถาม: ผู้คนบอกว่าความเป็นพวกขวาจัดของคุณทำให้สถานการณ์ลุกเป็นไฟ
ตอบ: เป็นฝ่ายขวาแล้วผิดตรงไหน ฝ่ายขวาจงรักภักดีกับในหลวง ฝ่ายซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์
ถาม: คุณคิดว่าเป็นเรื่องที่ให้อภัยได้หรือในการฆ่าผู้บริสุทธิ์เพื่อปกป้องประเทศไม่ให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์?
ตอบ: ใครฆ่านักศึกษาล่ะ ถ้าการต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างกองทัพ กองทัพก็มีหน้าที่ต้องป้องกันประเทศ ใครบางคนต้องการที่จะนำระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามาในเมืองไทย มันขึ้นอยู่กับกองทัพ จำนวนผู้เสียชีวิตนั้น… คุณต้องไปตรวจสอบดูว่าเกิดอะไรขึ้น
อ่านคำสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ “คำต่อคำ สมัครพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปชป.จี้อย่าบิดเบือนตัวเลขคนตาย” มติชน 12 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ที่ https://doct6.com/archives/14095
///////////////////////////////////
ซี่รีย์ “6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวา” ตอนที่ 3
ไชยันต์ ไชยพร: ผิดด้วยหรือที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา
บทความ “ผิดด้วยหรือที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา” โดย ศ. ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 กรกฎาคม 2543 กล่าวว่า
“ดังนั้นการปราบปรามคนที่คิดร้ายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ พระ รวมถึงพลเมืองผู้รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์จึงร่วมมือร่วมใจผนึกกำลังปกป้องสถาบันสำคัญของปวงชนชาวไทย การนองเลือดจึงต้องเกิดขึ้น และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกวาดล้างพวกหนักแผ่นดินให้สิ้นซาก ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้น ทุกวันนี้เมืองไทยคงเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว
ผมมีโอกาสได้คุยกับคนขับรถแท๊กซี่คนหนึ่ง ที่คุยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างภาคภูมิใจวา เขาได้ฆ่าพวกนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ไปหลายคน เขาอ้างว่าเขาได้ใช้ปืนยิงพวกมันตาย เขาไม่ได้รู้สึกผิด และเขาคิดว่าเขาได้ทำหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีด้วย ผมฟังแล้วก็เก็บมาคิด และเห็นว่าถ้าทำใจให้เป็นกลาง จะพบว่าเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นมิได้เป็นสิ่งผิดในความรู้สึกของคนไทยหลายคน และจนทุกวันนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ประการใด แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเช่นนั้น”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://doct6.com/wp-content/uploads/2019/10/สมัคร-กับ-6-ตุลา-ในการเลือกตั้งผู้ว่า-กทม-2543-3.pdf
/////////////////////////////////////////
ซี่รีย์ “6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวา” ตอนที่ 4
เสื้อชมพูชุมนุมต้านเสื้อแดง ใช้สัญลักษณ์แขวนคอ 6 ตุลา
บทความ Enough for god’s sake” (พอซะที เพื่อเห็นแก่พระเจ้า) โดย Bangkok Pundit วันที่ 2 เมษายน 2553 อ้างข่าวจาก Asian Correspondent, สำนักข่าวเอพี, นสพ.บางกอกโพสต์ และนสพ. เดอะเนชั่น ซึ่งระบุถึงการประท้วงของกลุ่มเสื้อหลากสี ซึ่งส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีชมพู ราว 4,000 คน เพื่อต่อต้านการชุมนุมอันยืดเยื้อของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ การชุมนุมครั้งนี้นำโดยพลเอกวสิษฐ์ เดชกุญชร ณ อยุธยา และศาสตราจารย์จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯในขณะนั้น สิ่งที่น่าตกใจคือ ผู้ชุมนุมได้ทำหุ่นใส่เสื้อสีแดงแขวนไว้กับต้นไม้ พร้อมตัวอักษร “พอซะที” ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นตีความว่านี่คือการลอกเลียนแบบเหตุการณ์แขวนคอนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519
คลิ๊กอ่านบทความฉบับเต็มที่ https://doct6.com/wp-content/uploads/2019/10/เสื้อชมพูชุมนุม-2-เมย-2553-มีการแขวนคอหุ่น.pdf